คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.อ. ม. 158 (5)

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 1,524 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 20038/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องอาญาฐานแสดงบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นเท็จ ต้องมีองค์ประกอบการกระทำผิดตาม พ.ร.บ.บริษัทฯ มาตรา 42 ที่ชัดเจน
โจทก์บรรยายฟ้องเพียงว่า จำเลยได้แสดงบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นบริษัท ก. อันเป็นเท็จว่าโจทก์ทั้งสองไม่ได้ถือหุ้นในบริษัทดังกล่าวแล้ว ทำให้โจทก์ทั้งสองเสียหายขาดประโยชน์อันควรได้จากหุ้นเท่านั้น ทั้งที่ พ.ร.บ.กำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ.2499 มาตรา 42 (1) (2) มิได้บัญญัติว่าการแสดงเอกสารอันเป็นเท็จเช่นนี้เป็นความผิดแต่อย่างใด โดยโจทก์กลับไม่บรรยายฟ้องแสดงให้เห็นว่าจำเลยเป็นผู้ที่ลงข้อความอันเป็นเท็จในบัญชีผู้ถือหุ้นหรือยินยอมให้มีการลงข้อความอันเป็นเท็จในบัญชีผู้ถือหุ้นดังกล่าว โดยจำเลยมีเจตนาพิเศษเพื่อลวงให้โจทก์ทั้งสองในฐานะผู้ถือหุ้นขาดประโยชน์อันควรได้ อันเป็นองค์ประกอบเกี่ยวกับการกระทำที่จะเป็นความผิดตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ จึงเป็นการบรรยายฟ้องที่ขาดองค์ประกอบความผิด แม้จะฟังว่าจำเลยแสดงบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นเป็นเท็จตามฟ้อง การกระทำเช่นนั้นก็ไม่เป็นความผิดที่จะลงโทษจำเลยตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18806/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบรรยายฟ้องความผิด พ.ร.บ.ภาพยนตร์ฯ ต้องระบุว่าจำเลยมีหน้าที่นำภาพยนตร์เข้าตรวจพิจารณา มิฉะนั้นฟ้องไม่ชอบ
การกระทำที่จะเป็นความผิดฐานนำภาพยนตร์ออกฉาย ให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายโดยไม่ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 78 และมาตรา 25 วรรคหนึ่ง ผู้กระทำความผิดต้องมีหน้าที่นำภาพยนตร์ที่จะนำออกฉาย ให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายในราชอาณาจักรไปผ่านการตรวจพิจารณาอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ก่อน แต่โจทก์มิได้บรรยายฟ้องให้เห็นว่าจำเลยเป็นผู้มีหน้าที่ดังกล่าว คงบรรยายฟ้องแต่เพียงว่า จำเลยมีแผ่นวีซีดีและดีวีดีภาพยนตร์และวีดีทัศน์ที่ไม่ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ไว้ในครอบครองเพื่อที่จะใช้ขาย เสนอขาย ให้เช่า เสนอให้เช่า และเผยแพร่แก่บุคคลทั่วไปเท่านั้น เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยเป็นผู้มีหน้าที่ต้องนำวีซีดีและดีวีดีภาพยนตร์และวีดิทัศน์ดังกล่าวไปผ่านการตรวจพิจารณาอนุญาต การกระทำของจำเลยตามที่โจทก์บรรยายฟ้องย่อมไม่อาจเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 25 วรรคหนึ่ง อันจะเป็นความผิดตามมาตรา 78 ได้ ฟ้องของโจทก์ในความผิดฐานนี้จึงเป็นฟ้องที่มิได้บรรยายข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิด อันเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) แม้จำเลยให้การรับสารภาพ ก็ไม่อาจพิพากษาลงโทษจำเลยในข้อหาความผิดฐานนี้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17836/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกระทำอนาจารเด็กโดยปราศจากความยินยอม และการพรากเด็กเพื่ออนาจาร ศาลพิจารณาจากคำเบิกความของผู้เสียหาย
แม้ข้อเท็จจริงตามทางนำสืบของโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองจะปรากฏว่า ขณะกระทำความผิดจำเลยถือไม้ขนาดใหญ่กว่าแขนของโจทก์ร่วมที่ 1 โจทก์ร่วมที่ 1 จึงจำต้องทำตามที่จำเลยบอกเพราะกลัว แต่โจทก์ก็มิได้บรรยายข้อเท็จจริงดังกล่าวมาในคำฟ้อง การกระทำอนาจารของจำเลยจึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 279 วรรคหนึ่ง เท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12665/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานกระทำชำเรา, กระทำอนาจาร, พาเด็กไปเพื่อการอนาจาร: ศาลฎีกาปรับบทและพิพากษา
ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 คำว่า "พราก" หมายความว่าจากไป พาเอาไปเสีย แยกออกจากกัน เอาออกจากกัน ดังนั้น ความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล เพื่อการอนาจารตาม ป.อ. มาตรา 317 วรรคสาม จึงหมายถึง การพาหรือแยกเด็กออกไปจากอำนาจปกครองดูแลของบิดามารดา ทำให้อำนาจปกครองดูแลของบิดามารดาเด็กถูกรบกวนหรือถูกกระทบกระเทือนโดยบิดามารดาเด็กไม่รู้เห็นยินยอมด้วย อันเป็นการล่วงละเมิดอำนาจปกครองของบิดามารดาเด็ก แต่เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ผู้ร้องอนุญาตให้ผู้เสียหายที่ 2 ทำงานเป็นพนักงานเก็บเงินค่าโดยสารให้จำเลย หากรถยนต์โดยสารของจำเลยถึงจังหวัดตรังเวลาค่ำ จำเลยและผู้เสียหายที่ 2 จะนอนค้างคืนที่ห้องเช่า อีกทั้งผู้ร้องเคยไปพักกับผู้เสียหายที่ 2 ที่ห้องเช่าดังกล่าวด้วย แสดงว่าผู้ร้องรู้เห็นยินยอมให้ผู้เสียหายที่ 2 พักอยู่ห้องเช่าจังหวัดตรังกับจำเลย จำเลยจึงไม่มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 317 วรรคสาม
การกระทำอนาจาร หมายถึง การกระทำที่ไม่สมควรทางเพศ เช่น กอดจูบ ลูบคลำ แตะต้องเนื้อตัวร่างกายในทางไม่สมควร การกระทำชำเราจึงรวมถึงการกระทำอนาจารอยู่ในตัว เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยปลุกปล้ำ กอดจูบ ถอดเสื้อผ้า และกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 การกระทำของจำเลยย่อมเป็นความผิดฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีโดยใช้กำลังประทุษร้ายตาม ป.อ. มาตรา 279 วรรคสอง และฐานข่มขืนกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งมิใช่ภริยาของตนโดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม ตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคหนึ่ง เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท
โจทก์บรรยายฟ้องในข้อ 1 ก ข้อ 2 ก ข้อ 3 ก และข้อ 4 ก ว่า จำเลย...ได้บังอาจพราก...ผู้เสียหายที่ 2...ด้วยการพาตัวผู้เสียหายที่ 2 ไปเสียจากความปกครองดูแลของ...ผู้เสียหายที่ 1 เพื่อการอนาจาร ทั้งโจทก์ได้อ้างฐานความผิดไว้ในตอนต้นว่าพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร และคำขอท้ายฟ้องอ้าง ป.อ. มาตรา 283 ทวิ ไว้ด้วย ฟ้องของโจทก์จึงบรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิด ฐานความผิด และอ้างมาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิด ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (2) (5) และ (6) แล้ว ถือได้ว่าฟ้องของโจทก์ได้บรรยายครบองค์ประกอบความผิดฐานพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจารตาม ป.อ. มาตรา 283 ทวิ วรรคสอง แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12085/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเสพยาเสพติดขณะขับขี่: การพิจารณาความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก และองค์ประกอบความผิด
พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 ทวิ บัญญัติว่า "ห้ามมิให้ผู้ขับขี่เสพยาเสพติดให้โทษตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษหรือเสพวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทตามกฎหมายว่าด้วยวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ทั้งนี้ ตามที่อธิบดีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา" แม้บทบัญญัติดังกล่าวจะบัญญัติไว้ในลักษณะ 3 ว่าด้วยการใช้ทางเดินรถ แต่ก็ไม่ได้บัญญัติว่าผู้ขับขี่ซึ่งเสพยาเสพติดให้โทษอันจะเป็นความผิดตามมาตรา 43 ทวิ ต้องขับรถในทางเดินรถด้วย และเห็นได้ว่าบทบัญญัติดังกล่าวประสงค์ที่จะเอาผิดและลงโทษผู้ขับขี่ที่เสพยาเสพติดให้โทษเข้าร่างกายเนื่องจากฤทธิ์ของยาเสพติดให้โทษทำให้เกิดปฏิกิริยาต่อสมองซึ่งควบคุมระบบประสาทของผู้ขับขี่ซึ่งจะทำให้สมรรถภาพในการควบคุมยานพาหนะด้อยประสิทธิภาพลง อันอาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ชีวิตและทรัพย์สินของบุคคลอื่นได้ ดังนี้ จึงต้องพิจารณาเพียงว่าผู้เสพยาเสพติดให้โทษเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่ขับรถหรือไม่ หากผู้เสพยาเสพติดให้โทษเป็นผู้ขับรถไม่ว่าจะเสพในขณะขับรถหรือก่อนหน้านั้น ผู้นั้นก็ได้กระทำความผิดในข้อหาดังกล่าวแล้ว คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยขับรถจักรยานยนต์ในขณะที่จำเลยเสพเมทแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ปริมาณไม่ปรากฏชัด โดยวิธีสูดดมควันเข้าสู่ร่างกาย อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ฟ้องโจทก์จึงครบองค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 ทวิ ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11975/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ องค์ประกอบความผิดฐานกระทำชำเราต้องมีเจตนาเพื่อสนองความใคร่ ฟ้องไม่ครบองค์ประกอบถือเป็นฟ้องที่ไม่ชอบ
ความผิดฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปีซึ่งมิใช่ภริยาของตนและเป็นศิษย์ซึ่งอยู่ในความดูแลนั้น ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคสอง บัญญัติว่า "การกระทำชำเราตามวรรคหนึ่ง หมายความว่าการกระทำเพื่อสนองความใคร่ของผู้กระทำโดยการใช้อวัยวะเพศของผู้กระทำกระทำกับอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือช่องปากของผู้อื่น หรือการใช้สิ่งอื่นใดกระทำกับอวัยวะเพศหรือทวารหนักของผู้อื่น" จากบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว เห็นได้ว่า การกระทำชำเราผู้กระทำจะต้องมีเจตนาพิเศษเพื่อสนองความใคร่ของผู้กระทำด้วย เช่นนี้การกระทำโดยมีเจตนาเพื่อสนองความใคร่ของผู้กระทำจึงเป็นองค์ประกอบสำคัญของความผิดดังกล่าว แต่โจทก์บรรยายฟ้องถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยกระทำผิดฐานกระทำชำเราเพียงว่าจำเลยใช้นิ้วมือของจำเลยแหย่เข้าไปในอวัยวะเพศของผู้เสียหาย ซึ่งมิใช่การกระทำเพื่อสนองความใคร่โดยปกติทั่วไป เมื่อฟ้องโจทก์มิได้กล่าวว่าจำเลยกระทำโดยมีเจตนาเพื่อสนองความใคร่ของจำเลยด้วย ฟ้องโจทก์จึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคสาม เป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11974/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกระทำชำเราเด็ก: องค์ประกอบความผิดฐานกระทำชำเราต้องมีเจตนาเพื่อสนองความใคร่ และความผิดฐานกระทำอนาจาร
จำเลยเป็นครูประจำชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 แต่ผู้อำนวยการโรงเรียนได้มอบหมายให้จำเลยทำการสอนวิชาคอมพิวเตอร์ ภาษาไทย ศิลปะ และการงานอาชีพหรือเกษตรกรรมในชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ที่ผู้เสียหายเรียนอยู่ด้วย จำเลยจึงมีหน้าที่อบรมสั่งสอนว่ากล่าวตักเตือนผู้เสียหายหรือนักเรียนร่วมชั้นให้อยู่ในระเบียบของทางราชการ ฐานะของผู้เสียหายจึงเป็นศิษย์ซึ่งอยู่ในความดูแลของจำเลยตามความหมายของ ป.อ. มาตรา 285
การกระทำชำเราโดยการใช้อวัยวะเพศของผู้กระทำกระทำกับอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือช่องปากของผู้อื่น หรือการใช้สิ่งอื่นใดกระทำกับอวัยวะเพศหรือทวารหนักของผู้อื่น ตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคสอง ผู้กระทำจะต้องมีเจตนาพิเศษเพื่อสนองความใคร่ของผู้กระทำด้วย แต่โจทก์บรรยายฟ้องถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยกระทำผิดฐานกระทำชำเราเพียงว่าจำเลยใช้นิ้วมือของจำเลยแหย่เข้าไปในอวัยวะเพศของผู้เสียหาย ซึ่งมิใช่การกระทำเพื่อสนองความใคร่โดยปกติทั่วไป เมื่อฟ้องโจทก์มิได้กล่าวว่าจำเลยกระทำโดยมีเจตนาสนองความใคร่ของจำเลยด้วย ฟ้องโจทก์จึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคสาม เป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11959/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความชอบด้วยกฎหมายของฟ้อง, แบบพิมพ์ฟ้อง, และอำนาจฟ้องในคดีเช็ค - การจับกุมและการแจ้งข้อหา
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยออกเช็คธนาคาร ก. สาขาย่อยเซ็นทรัลปิ่นเกล้า รวม 2 ฉบับ เพื่อชำระหนี้เงินกู้ ซึ่งเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย ต่อมาธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน ทั้งนี้จำเลยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค ฟ้องโจทก์จึงได้บรรยายการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้น ๆ อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีแล้ว ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 และ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3 ส่วนที่ว่าหนี้เงินกู้ได้ทำหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อของจำเลยและวันที่ลงในเช็คพิพาท จำเลยมีเงินในบัญชีหรือไม่ เป็นรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบในชั้นพิจารณาได้
แม้การยื่นหรือส่งคำคู่ความต้องทำตามแบบพิมพ์ที่จัดไว้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 67 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 และ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3 และโจทก์ยื่นฟ้องโดยมิได้ใช้กระดาษแบบพิมพ์ฟ้อง แบบ อ.ก. 20 ก็ตาม แต่ก็ไม่ทำให้ฟ้องของโจทก์เป็นคำฟ้องที่ไม่ชอบถึงขนาดที่จะรับไว้พิจารณาไม่ได้
การจับบุคคลใดจะกระทำมิได้ เว้นแต่มีหมายจับหรือคำสั่งของศาล หรือผู้นั้นได้กระทำความผิดซึ่งหน้า หรือมีเหตุจำเป็นอย่างอื่นให้จับได้โดยไม่มีหมายจับหรือคำสั่งศาลดังที่บัญญัติไว้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 78 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 และ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3 เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2553 จำเลยมาปรากฏตัวต่อหน้าพนักงานสอบสวนและพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อหาแก่จำเลยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 134 จึงยังถือไม่ได้ว่าจำเลยถูกจับเพราะยังไม่มีหมายจับหรือคำสั่งของศาล และไม่เข้าข้อยกเว้นตามบทบัญญัติดังกล่าว เมื่อจำเลยยังไม่ถูกจับ จึงไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 7 และมาตรา 9 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 ที่โจทก์ต้องฟ้องจำเลยภายในกำหนดเวลาสี่สิบแปดชั่วโมงนับแต่เวลาที่จำเลยถูกจับ หรือต้องผัดฟ้อง หรือได้รับอนุญาตให้ฟ้องคดีจากอัยการสูงสุด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11339/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความชอบด้วยกฎหมายของฟ้องอาญาที่ไม่ระบุเวลาเกิดเหตุ หากรายละเอียดในฟ้องทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้
คำว่า เวลา ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) หมายความถึง วันเดือนปีด้วย ไม่ใช่หมายความเฉพาะเวลากลางวันหรือกลางคืน ฟ้องที่ไม่ได้กล่าวถึงเวลากลางวันหรือกลางคืนจะไม่ชอบด้วยบทบัญญัติดังกล่าวหรือไม่ ต้องพิจารณาเป็นเรื่อง ๆ ไปว่าฟ้องนั้นกล่าวถึงเวลาพอให้จำเลยทั้งสองเข้าใจข้อหาได้ดีหรือไม่ คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า ระหว่างวันที่ 10 ตุลาคม 2551 ถึงวันที่ 15 ตุลาคม 2551 จำเลยทั้งสองร่วมกันลักเครื่องปรับอากาศยี่ห้อมิตซูบิชิ พร้อมอุปกรณ์ติดตั้ง จำนวน 59 ชุด รวมราคา 1,482,119.83 บาท ไปจากคลังสินค้าเอกมัยของโจทก์ โดยจำเลยที่ 2 แสร้งขออนุมัติการขายต่อเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจอนุมัติ ณ บริษัทโจทก์ ด้วยการขอเปิดสำเนาใบส่งของ/ใบกำกับภาษี 5 ชุด อ้างว่าลูกค้ารายห้างหุ้นส่วนจำกัด ป. ห้างหุ้นส่วนจำกัด พ. ห้างหุ้นส่วนจำกัด ส.ห้างหุ้นส่วนจำกัด ต. และห้างหุ้นส่วนจำกัด อ. ประสงค์จะซื้อสินค้า 59 ชุด ข้างต้น ซึ่งไม่เป็นความจริงเพราะลูกค้าโจทก์ทั้งห้ารายดังกล่าวไม่ได้สั่งซื้อสินค้าข้างต้นแต่อย่างใด ความจริงแล้วจำเลยที่ 1 ได้ขอให้จำเลยที่ 2 เปิดบิลขออนุมัติขายสินค้าเครื่องปรับอากาศ 59 ชุดข้างต้น เพื่อประสงค์หักล้างสต๊อกสินค้าในคลังสินค้าเอกมัยที่ขาดจำนวน เมื่ออ่านฟ้องของโจทก์ดังกล่าวโดยตลอดแล้วย่อมเป็นที่เข้าใจได้ว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันลักทรัพย์ของโจทก์ในช่วงเวลาใด
ส่วนที่โจทก์บรรยายฟ้องเกี่ยวกับจำเลยที่ 2 ขออนุมัติการขายเครื่องปรับอากาศ 59 ชุด ต่อเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจอนุมัติเพื่อหักล้างสต็อกสินค้าในคลังสินค้าเอกมัยที่ขาดจำนวนนั้น ก็เป็นเพียงการบรรยายฟ้องให้เห็นการปกปิดการกระทำความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์ของจำเลยทั้งสองเท่านั้น ไม่ถึงกับทำให้ฟ้องมีความขัดแย้งกันดังที่จำเลยที่ 2 ฎีกา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10215/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีอาญา: ข้อผิดพลาดวันเวลาในฟ้องไม่ถึงสาระสำคัญ หากจำเลยเข้าใจข้อหาและให้การรับสารภาพ
บันทึกการฟ้องด้วยวาจาของโจทก์และคำฟ้องด้วยวาจาที่ศาลชั้นต้นบันทึกไว้ แม้จะระบุว่าเหตุเกิดเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2555 ก็ตาม แต่บันทึกการฟ้องด้วยวาจาของโจทก์ระบุว่าเจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยทั้งสามได้พร้อมยึดของกลางปรากฏตามบัญชีของกลางท้ายฟ้อง ซึ่งบัญชีของกลางคดีอาญาท้ายบันทึกการฟ้องด้วยวาจาของโจทก์ระบุวันเดือนปีที่ยึดของกลางว่า ยึดเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2555 จึงเห็นได้ชัดแจ้งว่าเป็นการพิมพ์รายละเอียดเกี่ยวกับวันเวลาซึ่งเกิดการกระทำผิดผิดพลาดไป มิใช่ข้อสาระสำคัญ ทั้งจำเลยทั้งสามย่อมจะเข้าใจได้ดีว่าเหตุเกิดวันที่ 21 พฤษภาคม 2555 และมีการยึดของกลางในวันที่ 22 พฤษภาคม 2555 มิได้หลงต่อสู้ จึงให้การรับสารภาพ เมื่อโจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2555 ภายในกำหนดเวลา 48 ชั่งโมง นับแต่เวลาที่จำเลยทั้งสามถูกจับ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
of 153