คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.อ. ม. 158 (5)

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 1,524 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3647/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องคดีป่าไม้ จำเลยกระทำความผิดฐานแปรรูปและมีไม้แปรรูปไว้ในครอบครอง แต่ไม้ดังกล่าวไม่ใช่ไม้หวงห้าม จึงไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าไม้
โจทก์บรรยายฟ้องข้อ 2 ก. และ ข. ว่าจำเลยมีไม้แปรรูปไว้ในครอบครองจำนวน 2,488 ท่อน ปริมาตรรวม 24.58 ลูกบาศก์เมตร เป็นสองกระทงความผิด โดยตามฟ้องข้อ 2 ก. ยังบรรยายอีกว่า นอกจากจำเลยทำการแปรรูปไม้แล้วยังมีไม้แปรรูปจำนวนเดียวกันตามคำฟ้องข้อ 2 ข. อยู่อีกจำนวน 2,488 ท่อน ปริมาตรรวม 24.58 ลูกบาศก์เมตร เพื่อต้องการแยกการกระทำความผิดของจำเลยให้ชัดแจ้ง และบรรยายองค์ประกอบความผิดของแต่ละฐานความผิดให้ครบถ้วน คือ ฐานแปรรูปไม้ และมีไม้แปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ดังนั้น แม้ไม้ดังกล่าวจะเป็นจำนวนเดียวกันก็ตาม โจทก์ก็จะต้องบรรยายฟ้องให้มีรายละเอียดต่าง ๆ ของจำนวนไม้ท่อน และปริมาตรของไม้แปรรูป เพื่อให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) มิใช่เป็นการบรรยายฟ้องซ้ำซ้อนแต่อย่างใด ฟ้องโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว
พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 50 บัญญัติว่า "บทบัญญัติแห่งมาตรา 48 มิให้ใช้บังคับในกรณีดังต่อไปนี้ (1)...(2)...(3)...(4) การแปรรูปไม้หรือมีไม้แปรรูปไว้ในครอบครองที่มิใช่ไม้หวงห้าม" การแปรรูปไม้และการมีไม้แปรรูปไว้ในครอบครองอันจะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 48 วรรคหนึ่ง จึงต้องเป็นการกระทำต่อไม้หวงห้ามตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 7 วรรคหนึ่ง ซึ่งในกรณีที่เป็นไม้ที่ขึ้นในป่านั้น ไม้ชนิดใดจะเป็นไม้หวงห้ามประเภทใดจะต้องกำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา คดีนี้โจทก์บรรยายมาในฟ้องว่าภายในเขตควบคุมการแปรรูปไม้ จำเลยทำการแปรรูปไม้และมีไม้แปรรูปชนิดอื่น ซึ่งมิใช่ไม้หวงห้ามประเภท ก. และประเภท ข. ตาม พ.ร.ฎ.กำหนดไม้หวงห้าม พ.ศ. 2530 จำนวน 2,488 ท่อน รวมคำนวณปริมาตรไม้ได้ 24.58 ลูกบาศก์เมตร และไม้แปรรูปที่เป็นสิ่งประดิษฐ์ บานประตู 5 บาน วงกบหน้าต่าง 10 วง และบานหน้าต่าง 6 บาน ซึ่งเป็นไม้แปรรูปชนิดอื่นเป็นจำนวนเกินสองลูกบาศก์เมตรไว้ในความครอบครองของจำเลย ตามฟ้องโจทก์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าไม้ที่จำเลยแปรรูปและมีไว้ในครอบครองนั้นมิใช่ไม้หวงห้าม การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิด ตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 48 วรรคหนึ่ง, 73 วรรคสอง (2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3417/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำฟ้องไม่สมบูรณ์ขาดองค์ประกอบความผิดฐานแจ้งความเท็จ ศาลฎีกายกฟ้อง
ป.วิ.อ. มาตรา 158 บัญญัติว่า "ฟ้องต้องทำเป็นหนังสือ และมี (1) ....(5) การกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้น ๆ อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี" โดยในส่วนของการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิดนั้น หมายถึง ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลย สำหรับความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานตามคำฟ้องของโจทก์ ป.อ. มาตรา 137 บัญญัติว่า "ผู้ใดแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย ต้องระวางโทษ..." จึงเป็นกรณีซึ่งกฎหมายกำหนดให้ถือเอาความเสียหายที่อาจเกิดแก่ผู้อื่นหรือประชาชนเป็นองค์ประกอบของความผิด ซึ่งโจทก์ต้องบรรยายให้ปรากฏในคำฟ้องด้วย แต่ฟ้องโจทก์บรรยายเพียงเฉพาะข้อความที่จำเลยแจ้งแก่ ส. อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ ว. ผู้เสียหาย ซึ่งอ้างว่าเป็นความเท็จ แม้โจทก์จะระบุมาในคำฟ้องด้วยว่า ข้อความอันเป็นเท็จดังกล่าวอาจทำให้ผู้เสียหาย เจ้าหน้าที่ นิติกรของผู้เสียหาย ผู้อื่น หรือประชาชนได้รับความเสียหาย ก็เป็นเพียงการหยิบยกถ้อยคำของกฎหมายมาบรรยายให้ปรากฏแบบกว้าง ๆ โดยมิได้กล่าวถึงข้อเท็จจริงและรายละเอียดเพื่อให้สามารถเข้าใจได้ชัดแจ้งว่าผู้เสียหายหรือผู้ใดอาจได้รับความเสียหายหรือผลกระทบจากการแจ้งข้อความดังกล่าวของจำเลยอย่างไร แม้จะพิจารณาฟ้องโจทก์ทั้งเรื่องก็ยังไม่สามารถจะเข้าใจได้ว่าโจทก์ร่วมหรือผู้ใดอาจได้รับความเสียหายอย่างไรจากการกระทำของจำเลย คำฟ้องโจทก์จึงบรรยายไม่ครบองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 137 ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3414/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานฉ้อโกงหรือยักยอก: ฟ้องไม่ขัดแย้งหากศาลเลือกลงโทษฐานใดฐานหนึ่ง
แม้คำฟ้องจะบรรยายความผิดฐานฉ้อโกงมาด้วย แต่การกระทำอันเดียวกันอาจเป็นความผิดฐานฉ้อโกงหรือยักยอกฐานหนึ่งฐานใดก็ได้ และเป็นเรื่องในใจของจำเลยว่าจำเลยมีเจตนาปลอมใบส่งของและใบเสร็จรับเงินเพื่อการหลอกลวงให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินอันเป็นความผิดฐานฉ้อโกงหรือเพื่อปกปิดการกระทำความผิดฐานยักยอกของตน กรณีจึงไม่ทำให้จำเลยไม่เข้าใจฟ้องหรือหลงต่อสู้ ทั้งฟ้องของโจทก์ประสงค์ให้ศาลเลือกลงโทษจำเลยฐานใดฐานหนึ่งเท่านั้นจึงไม่เป็นฟ้องที่ขัดแย้งกันเองหรือเคลือบคลุม ฟ้องโจทก์ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2676/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำหน่ายสินค้าโดยอ้างตราสัญลักษณ์โดยไม่ได้รับอนุญาต มีเจตนาหลอกลวงผู้ซื้อ ศาลฎีกาพิพากษากลับให้มีความผิด
ป.วิ.อ. มาตรา 158 บัญญัติว่า "ฟ้องต้องทำเป็นหนังสือ และมี...(5) การกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิด ข้อเท็จจริง และรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้น ๆ อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี" คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ 10 มิถุนายน 2549 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2550 เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน จำเลยโดยเจตนาก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในแหล่งกำเนิด สภาพ และคุณภาพอันเกี่ยวกับสินค้า โฆษณา เสนอขาย และขายสินค้าชุดเทิดพระเกียรติเพื่อร่วมเผยแพร่แสดงความจงรักภักดี "โครงการมหามงคลครองราชย์ 60 ปี หนังสือดี "ชีวิตสมถะ" "พระจิตรลดา" "ซึ่งในชุดประกอบด้วย หนังสือดี "ชีวิตสมถะ" "พระจิตรลดา" สายข้อมือ (ริสต์แบนด์) วิดีโอซีดีพระราชกรณียกิจพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ พระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ สติกเกอร์ "เรารักในหลวง" บัตรถวายพระพร บัตรคาถาเงินล้าน สติกเกอร์ตราสัญลักษณ์ทรงครองราชย์ 60 ปี และพระจิตรลดาหรือพระสมเด็จมหามงคล รุ่นทรงครองราชย์ 60 ปี (มวลสารจิตรลดา) รวม 9 รายการ บรรจุอยู่ในกล่องเดียวกัน โดยมีการพิมพ์ตราสัญลักษณ์ฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ติดไว้บนสินค้าดังกล่าว โดยเสนอขายและขายแก่ผู้ซื้อและประชาชนทั่วไปในราคาชุดละ 299 บาท ทั้งนี้ เพื่อหลอกลวงให้ผู้ซื้อและประชาชนทั่วไปหลงเชื่อว่าเป็นสินค้าที่มีแหล่งกำเนิดที่ได้รับอนุญาตให้ผลิตและจำหน่ายอย่างถูกต้องจากสำนักราชเลขาธิการ หรือเกี่ยวข้องกับสำนักราชเลขาธิการซึ่งเป็นผู้อนุญาตให้ใช้ตราสัญลักษณ์ฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี อันเป็นความเท็จ ซึ่งความจริงสำนักราชเลขาธิการไม่เคยอนุญาตให้จำเลยใช้ตราสัญลักษณ์ฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี กับสินค้าดังกล่าว ทั้งนี้ จำเลยแสวงหาผลกำไรและประโยชน์ให้แก่ตนเองโดยมิชอบ ซึ่งตาม ป.อ. มาตรา 271 บัญญัติว่า "ผู้ใดขายของโดยหลอกลวงด้วยประการใด ๆ ให้ผู้ซื้อหลงเชื่อในแหล่งกำเนิด สภาพ คุณภาพหรือปริมาณแห่งของนั้นอันเป็นเท็จ ถ้าการกระทำนั้นไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง ต้องระวางโทษ..." เมื่อพิจารณาจากคำฟ้องของโจทก์ประกอบมาตรา 271 ดังกล่าวแล้ว ในส่วนของการกระทำโดยการหลอกลวงซึ่งเป็นองค์ประกอบความผิดมาตรา 271 เมื่ออ่านคำฟ้องโดยตลอดแล้ว เห็นได้ว่าโจทก์ได้บรรยายระบุการกระทำหรือวิธีการหลอกลวงไว้แล้วว่า จำเลยโฆษณา เสนอขาย และขายสินค้าชุดเทิดพระเกียรติ โดยพิมพ์ตราสัญลักษณ์ฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ติดไว้บนสินค้าดังกล่าว เพื่อหลอกลวงให้ผู้ซื้อและประชาชนทั่วไปหลงเชื่อว่าเป็นสินค้าที่มีแหล่งกำเนิดที่ได้รับอนุญาตให้ผลิตและจำหน่ายอย่างถูกต้องจากสำนักราชเลขาธิการ อันเป็นความเท็จ ย่อมทำให้เข้าใจได้ว่าการหลอกลวงขายของของจำเลยคือการที่จำเลยพิมพ์ตราสัญลักษณ์ฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ลงบนกล่องสินค้า โดยที่รู้อยู่แล้วว่าความจริงมิได้รับอนุญาตให้ใช้ตราสัญลักษณ์ในการขาย แต่ทำไปเพื่อหลอกลวงให้ผู้ซื้อหลงเชื่อว่าเป็นสินค้าที่ได้รับอนุญาตให้ขายโดยถูกต้องจากสำนักราชเลขาธิการ จึงถือได้ว่าโจทก์บรรยายฟ้องเกี่ยวกับการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิดตาม ป.อ. มาตรา 271 พอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีแล้ว นอกจากนี้ข้อเท็จจริงได้ความตามคำให้การจำเลยฉบับลงวันที่ 25 เมษายน 2559 โดยขณะนั้นจำเลยยังไม่มีทนายความว่า จำเลยขอให้การปฏิเสธ เพราะไม่ได้กระทำความผิดตามข้อกล่าวหา และตามคำให้การของจำเลยฉบับลงวันที่ 2 พฤษภาคม 2559 โดยจำเลยได้แต่งตั้งทนายความในวันดังกล่าวแล้วปรากฏว่า จำเลยขอให้การปฏิเสธฟ้องโจทก์ รายละเอียดจะได้นำสืบพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในชั้นพิจารณาต่อไป ซึ่งแสดงว่าจำเลยทราบข้อเท็จจริงและข้อหาตามคำฟ้องแล้ว จึงให้การปฏิเสธ ประกอบกับตามรายงานกระบวนพิจารณา ลงวันที่ 2 พฤษภาคม 2559 ปรากฏว่า จำเลยแถลงว่า วันนี้ได้แต่งตั้งทนายความเพื่อต่อสู้คดีแล้ว และได้พบปรึกษากับทนายความแล้ว ศาลจึงอ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟัง จำเลยแถลงว่าเข้าใจข้อหาโดยตลอดแล้ว ยืนยันให้การปฏิเสธ ดังนี้ ฟ้องของโจทก์ได้มีการบรรยายเกี่ยวกับการกระทำของจำเลยที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิดครบถ้วนพอสมควรที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีแล้ว จึงเป็นฟ้องที่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2534/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องไม่ชัดเจน ขาดข้อเท็จจริงสนับสนุนการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ศาลยกฟ้อง
โจทก์บรรยายเพียงว่าจำเลยนำคำพูดที่โจทก์พูดกับจำเลยทางโทรศัพท์ไปแจ้งเจ้าพนักงานตำรวจแล้วจำเลยส่งภาพถ่ายรายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐานไปในโปรแกรมไลน์ให้ผู้ปกครองนักเรียนในกลุ่มนักเรียนที่เป็นเพื่อนกับบุตรจำเลย โดยตามคำฟ้องไม่ปรากฏว่ารายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐานและข้อความที่จำเลยพิมพ์ส่งไปในโปรแกรมไลน์นั้นเป็นข้อมูลที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 (1) อย่างไร และข้อความจริงมีอยู่อย่างไร จึงเป็นฟ้องที่ขาดข้อเท็จจริงและรายละเอียดเกี่ยวกับการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยกระทำความผิดพอสมควรเท่าที่จะทำให้จำเลยจะเข้าใจข้อหาได้ดี จึงเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2311/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความสมบูรณ์ของฟ้องอาญา: การบรรยายฟ้องที่ชัดเจนเพียงพอต่อการเข้าใจข้อหา
ฟ้องใดจะเป็นฟ้องที่เคลือบคลุมหรือไม่ต้องพิจารณาจากฟ้องที่โจทก์ยื่นต่อศาล คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องเป็นใจความสำคัญว่า เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2561 เวลากลางวัน จำเลยกับ ช. จำเลยที่ 1 และ ส. จำเลยที่ 2 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ 1990/2562 ของศาลชั้นต้น ซึ่งให้การรับสารภาพและศาลพิพากษาลงโทษแล้ว ร่วมกันบุกรุกเข้าไปก่นสร้าง แผ้วถาง หรือกระทำด้วยประการใด ๆ บริเวณป่าบ้านผักกาด โดยการใช้รถไถ 1 คัน ทำการโค่นล้มทำลายต้นไม้ขนาดต่าง ๆ และต้นไม้อื่น ๆ ปรับไถพื้นที่ป่าและทำการแผ้วถางต้นไม้ออก เพื่อปรับพื้นที่ซึ่งเป็นป่าในบริเวณดังกล่าว เป็นเนื้อที่ 2 ไร่ 54 ตารางวา คิดเป็นค่าเสียหายของรัฐ 145,722.73 บาท อันเป็นการร่วมกันทำลายป่าและร่วมกันเข้าไปยึดถือครองครองป่าเพื่อตนเองหรือผู้อื่นโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ฟ้องโจทก์ได้ระบุชัดแล้วว่าจำเลยกับ ช. จำเลยที่ 1 และ ส. จำเลยที่ 2 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ 1990/2562 ของศาลชั้นต้น ซึ่งให้การรับสารภาพและศาลพิพากษาลงโทษแล้ว ร่วมกันเข้าไปก่นสร้าง แผ้วถาง หรือกระทำด้วยประการใด ๆ บริเวณป่าบ้านผักกาดซึ่งเพียงพอที่จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี ส่วนข้อเท็จจริงอื่นและพยานหลักฐานเป็นเรื่องที่โจทก์สามารถทำสืบได้ในชั้นพิจารณาไม่จำต้องกล่าวมาในฟ้อง การบรรยายฟ้องของโจทก์จึงสมบูรณ์ ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) ไม่ใช่เป็นฟ้องที่เคลือบคลุมตามที่จำเลยอ้างในฎีกา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1368/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดพ.ร.บ.ศุลกากร: การนำเงินตราออกนอกราชอาณาจักรโดยไม่สำแดง และการริบของกลาง
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยเฉพาะความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 มาตรา 244 โดยบรรยายฟ้องว่า เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2561 เวลากลางวัน จำเลยนำธนบัตรเงินตราไทยที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมายในประเทศไทย รวมมูลค่าทั้งสิ้น 2,000,000 บาท อันเป็นของต้องห้ามหรือของต้องกำกัดออกไปนอกราชอาณาจักรเพื่อไปยังสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดยไม่มีการสำแดงแจ้งรายการนำเงินตราที่กฎหมายกำหนดออกนอกราชอาณาจักรต่อเจ้าพนักงานศุลกากรในขณะผ่านด่านศุลกากรตามแบบที่เจ้าหน้าที่กำหนด อันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายและหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงบทกฎหมายและข้อจำกัดหรือข้อห้าม ตามข้อห้ามอันเกี่ยวกับการนำของออกนอกราชอาณาจักร จำเลยลงมือกระทำความผิดแล้ว แต่กระทำไปไม่ตลอดเพราะเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองตรวจพบและทำการจับกุมจำเลยเสียก่อน จึงไม่อาจนำธนบัตรเงินตราไทยจำนวนดังกล่าวอันเป็นของต้องห้ามของต้องกำกัดออกไปนอกราชอาณาจักรสมดังเจตนาของจำเลย และอ้าง พ.ร.บ.ควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน พ.ศ.2485 มาตรา 8 ทวิ ซึ่งบัญญัติให้ธนบัตรเงินตราไทยเป็นของตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร อันเป็นการบรรยายว่าธนบัตรเงินตราไทยเป็นของต้องห้ามหรือต้องกำกัด ครบองค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 มาตรา 244 จึงเป็นการบรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิดพอสมควรเท่าที่จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีแล้ว ส่วนการที่โจทก์ไม่ได้บรรยายว่าธนบัตรเงินตราไทยเป็นของต้องห้ามหรือต้องกำกัดตามกฎหมาย ระเบียบหรือประกาศของกฎหมายฉบับใดหรือเป็นสิ่งของชนิดใด หรือไม่ได้แนบประกาศหรือระเบียบมาท้ายฟ้องนั้น เป็นเพียงรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบในชั้นพิจารณาได้ ไม่ใช่สาระสำคัญอันจะทำให้ฟ้องโจทก์ไม่สมบูรณ์ คำฟ้องโจทก์จึงชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)
แม้จำเลยจะไม่สามารถนำธนบัตรเงินตราไทยจำนวนดังกล่าวอันเป็นของต้องห้ามหรือของต้องกำกัดออกไปนอกราชอาณาจักร แต่กฎหมายให้ถือเป็นความผิดและศาลอาจใช้ดุลพินิจสั่งริบของนั้นก็ได้ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 มาตรา 244 วรรคหนึ่ง การกระทำของจำเลยที่ไม่สำแดงรายการต่อเจ้าหน้าที่ให้ถูกต้องแสดงให้เห็นถึงเจตนาของจำเลยที่พยายามหลีกเลี่ยงกฎหมายและลักลอบนำเงินตราซึ่งเป็นของต้องห้ามหรือต้องกำกัดออกนอกราชอาณาจักร จึงเป็นพฤติการณ์ที่สมควรริบธนบัตรของกลาง ที่จำเลยแก้ฎีกาว่า ธนบัตรของกลางไม่ใช่ของจำเลย จึงไม่สมควรริบนั้น เป็นเรื่องที่เจ้าของแท้จริงจะต้องร้องขอคืนของกลางต่อศาลไม่เกี่ยวกับจำเลย
ตาม พ.ร.บ.ให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ.2489 มาตรา 8 กำหนดให้จ่ายรางวัลร้อยละยี่สิบห้าของราคาของกลางหรือค่าปรับ ไม่ใช่ร้อยละสิบห้าตามประกาศที่ลงในราชกิจจานุเบกษาซึ่งสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรขอแก้ไข แต่ไม่สามารถแก้ได้เพราะเป็นบทกฎหมายที่ตราไว้แล้ว ประกอบกับฟ้องโจทก์ก็มิได้ขอให้ศาลสั่งจ่ายรางวัลเพียงร้อยละสิบห้า ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จ่ายรางวัลแก่เจ้าพนักงานผู้จับร้อยละสิบห้าของค่าปรับนั้น จึงไม่ต้องด้วยบทกฎหมายดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 815/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิพากษาคดีอาญาเกี่ยวกับความผิดตาม พ.ร.บ.บริษัทฯ และความผิดทางแพ่ง การฟ้องที่ไม่ชัดเจนและข้อเท็จจริงที่ไม่ครบถ้วน
จำเลยที่ 6 เป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท น. จำเลยที่ 6 ย่อมมีสิทธิเข้าประชุมในที่ประชุมใหญ่ได้เสมอไม่ว่าจะเป็นประชุมชนิดใดคราวใด แต่หากจำเลยที่ 6 มีส่วนได้เสียเป็นพิเศษในข้ออันใดซึ่งที่ประชุมจะลงมติแล้ว จำเลยที่ 6 ย่อมไม่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนด้วยในข้อนั้น ทั้งนี้ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1176 และ 1185 แห่ง ป.พ.พ. ดังนั้น การที่จำเลยที่ 6 ได้ออกเสียงลงคะแนนในกรณีดังกล่าว จึงมีผลเพียงทำให้มีข้อพิจารณาว่ามติพิเศษของที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นดังกล่าวเป็นมติพิเศษชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ แต่หาได้เป็นการลวงว่าตนเป็นผู้ถือหุ้นแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยที่ 6 จึงไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.กำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ.2499 มาตรา 47
การกระทำความผิดตามมาตรา 42 และมาตรา 46 แห่ง พ.ร.บ.กำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ.2499 ผู้กระทำความผิดจะต้องมีเจตนาพิเศษเพื่อลวงให้ผู้ถือหุ้นหรือผู้มีส่วนได้เสียในบริษัทขาดประโยชน์อันควรได้ แต่โจทก์ทั้งสิบเอ็ดมิได้บรรยายฟ้องว่าโจทก์ทั้งสิบเอ็ดซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นขาดประโยชน์อันควรได้อย่างไรบ้าง จึงเป็นฟ้องเคลือบคลุมไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)
การทำให้เสียหาย เปลี่ยนแปลง หรือตัดทอนหลักประกันของบริษัทตาม พ.ร.บ.กำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ.2499 มาตรา 42 (1) นั้น หมายถึงหลักประกันที่บริษัทได้รับเข้ามา หาใช่ทรัพย์สินของบริษัทที่นำไปใช้เป็นหลักประกันแก่เจ้าหนี้แต่อย่างใด การกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ตามฟ้องข้อนี้จึงไม่เป็นความผิด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 78/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องอาญาไม่สมบูรณ์-ศาลแพ่งเกินอำนาจ: การพิจารณาคดีอาญา-แพ่งที่เกี่ยวข้องกัน
เมื่อพิจารณาองค์ประกอบความผิดฐานฉ้อโกงตามคำบรรยายฟ้องของโจทก์แล้ว ลำพังเพียงการที่จำเลยแจ้งโจทก์ว่าไม่มีรางวัลของจำเลยตามใบรับรองการถูกรางวัลและไม่มีหลักฐานการดำเนินการทางกฎหมายของจำเลยแก่บริษัทต่างประเทศชื่อ E ทำให้โจทก์ไม่ได้รับเงินรางวัล ก็ยังไม่อาจสรุปข้อเท็จจริงจากคำบรรยายฟ้องได้ว่า จำเลยมีพฤติการณ์ใด ๆ อันแสดงถึงการกระทำโดยทุจริตหลอกลวงโจทก์ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง โดยจำเลยเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องเกี่ยวกับการออกใบรับรองการถูกรางวัลที่บริษัท E ส่งมาให้แก่โจทก์อย่างไร และการกระทำของจำเลยประการใดที่ทำให้จำเลยได้รับทรัพย์สินไปจากโจทก์ หรือทำให้โจทก์ต้องทำ ถอนหรือทำลายเอกสารสิทธินั้น ฟ้องโจทก์จึงขาดข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญขององค์ประกอบความผิดฐานฉ้อโกง เป็นฟ้องที่ไม่สมบูรณ์ตามกฎหมาย ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)
คดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ในกรณีศาลที่พิจารณาคดีอาญาไม่รับฟ้องคดีส่วนอาญาไว้พิจารณาหรือพิพากษายกฟ้องคดีส่วนอาญา การพิจารณาว่าศาลนั้นมีอำนาจรับฟ้องคดีส่วนแพ่งไว้พิจารณาพิพากษาต่อไปหรือไม่ ต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. ว่าด้วยเขตอำนาจศาล ตามมาตรา 2 (1) ว่าศาลนั้นมีอำนาจที่จะพิจารณาพิพากษาคดีนั้นได้ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรมหรือไม่ คดีนี้ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องคดีส่วนอาญา และโจทก์ขอให้บังคับจำเลยชดใช้เงินรางวัล 18,117,213.87 บาท พร้อมดอกเบี้ย 90,586.06 บาท ซึ่งเกินกว่าอำนาจที่ผู้พิพากษาคนเดียวจะพิจารณาพิพากษา การที่ศาลชั้นต้นโดยผู้พิพากษานายเดียวพิพากษายกฟ้องในคดีส่วนแพ่งซึ่งมีทุนทรัพย์เกิน 300,000 บาท เท่ากับเป็นการใช้อำนาจวินิจฉัยประเด็นแห่งคดีในทางเนื้อหาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคท้าย จึงเป็นการไม่ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 25 (4) และทำให้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ในส่วนนี้ไม่ชอบไปด้วย ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 252 และ ป.วิ.อ. มาตรา 40

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 70/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความชอบด้วยกฎหมายของฟ้องอาญาที่ระบุวันเวลาผิดพลาด และการพิจารณาโทษจำคุกที่ไม่รอการลงโทษ
โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2562 โดยบรรยายฟ้องในข้อ 1 ว่าจำเลยกระทำความผิดเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2562 แต่ตามคำร้องขอฝากขังคดีหมายเลขดำที่ ฝ.210/2562 ระบุพฤติการณ์แห่งคดีว่า เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2562 ช. พนักงานรักษาความปลอดภัยของผู้เสียหายตรวจค้นรถคันที่จำเลยเป็นผู้ขับพบสิ่งผิดปกติ จึงใช้กล้องจากโทรศัพท์เคลื่อนที่ถ่ายภาพวัตถุต้องสงสัย ทั้งฟ้องข้อ 2 บรรยายว่าเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2562 เวลากลางวัน เจ้าพนักงานจับจำเลยได้ ต่อมาวันที่ 21 พฤษภาคม 2562 จำเลยได้รับการปล่อยตัวไป จึงเป็นที่เข้าใจได้ว่า เหตุคดีนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2562 มิใช่วันที่ 29 พฤศจิกายน 2562 ซึ่งพออนุโลมได้ว่าคำร้องขอฝากขังถือเป็นส่วนประกอบของคำฟ้อง และถือว่าฟ้องระบุรายละเอียดเกี่ยวกับวันเวลาโดยผิดหลง เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพ แสดงว่าจำเลยมิได้หลงต่อสู้ ฟ้องโจทก์จึงชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)
of 153