คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.อ. ม. 158 (5)

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 1,524 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 255/2563 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 255/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานกระทำอนาจารเด็ก ครูใช้อำนาจหน้าที่ล่วงละเมิดทางเพศศิษย์ ศาลพิจารณาโทษตามกฎหมายอาญา
โจทก์บรรยายฟ้องระบุวันเวลากระทำความผิดของจำเลยว่าเกิดขึ้นประมาณกลางเดือนพฤษภาคม เดือนมิถุนายน เดือนกรกฎาคม 2560 เวลากลางวัน และระหว่างวันที่ 1 ถึงวันที่ 25 สิงหาคม 2560 เวลากลางวัน วันใดไม่ปรากฏชัด ซึ่งรวมเอาวันเสาร์และวันอาทิตย์เข้าไปด้วย แต่ก็เป็นเพราะโจทก์ไม่อาจทราบวันกระทำความผิดที่แน่ชัดของจำเลยได้ อย่างไรก็ดี ถือเป็นเรื่องที่โจทก์สามารถนำสืบในชั้นพิจารณาได้ว่าการกระทำนั้นเกิดขึ้นในวันที่โรงเรียนมีการเรียนการสอนตามปกติในเวลาราชการในช่วงระหว่างวันที่ซึ่งบรรยายไว้ในฟ้อง อันเป็นเพียงรายละเอียด การบรรยายฟ้องของโจทก์จึงเป็นอีกลักษณะหนึ่งของการกล่าวถึงข้อเท็จจริงและรายละเอียดเกี่ยวกับเวลากระทำความผิด ดังที่ ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) บังคับไว้ ซึ่งเพียงพอที่จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5581/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ครูอนาจารนักเรียนชั้นประถม ศาลฎีกายืนโทษ จำเลยต้องรับผิดชอบต่อพฤติกรรมที่ไม่สมควร
โจทก์บรรยายฟ้องระบุช่วงเวลาซึ่งจำเลยกระทำผิด ช่วงแรกระหว่างเดือนพฤษภาคม 2559 ถึงเดือนกันยายน 2559 และช่วงที่สองระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2559 ถึงเดือนมีนาคม 2560 แม้จะรวมช่วงปิดภาคการศึกษาในวันที่ 1 ถึง 15 พฤษภาคม 2559 เข้าไว้ด้วย ก็มีผลทำให้รับฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำผิดในช่วงเวลาที่ปิดภาคการศึกษาเท่านั้น แต่ยังมีช่วงระยะเวลาหลังจากที่โรงเรียนเปิดภาคการศึกษาแล้ว ที่โจทก์สามารถนำสืบวันที่จำเลยกระทำผิดได้ เหตุที่โจทก์ระบุวันและเวลากระทำผิดเป็นช่วงเวลาก็เนื่องมาจากไม่ทราบวันและเวลากระทำผิดที่แน่นอน การระบุวันเวลากระทำผิดเป็นช่วงเวลาดังกล่าวถือว่าเป็นการระบุวันและเวลากระทำความผิดของจำเลยในอีกลักษณะหนึ่งโดยชอบ ฟ้องโจทก์ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) แล้ว
จำเลยฎีกาขอให้ลดค่าสินไหมทดแทนลงอีกนั้น เมื่อในชั้นอุทธรณ์จำเลยมิได้อุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นในเรื่องนี้ ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องค่าสินไหมทดแทนจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ฎีกาจำเลยจึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 5 ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง และมาตรา 252 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2510/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องอาญาฐานโกงเจ้าหนี้ไม่สมบูรณ์ หากการฟ้องไม่ได้แสดงถึงการใช้สิทธิเรียกร้องบังคับทรัพย์มรดกของลูกหนี้
โจทก์ฟ้องคดีนี้โดยอาศัยสิทธิการเป็นเจ้าหนี้ของ ส. ตามสัญญากู้ยืมเงิน เมื่อ ส. ถึงแก่ความตาย สิทธิหน้าที่และความรับผิดตามสัญญากู้ยืมเงินย่อมเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาททุกคนของ ส. โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องตามสัญญากู้ยืมเงินบังคับเอาแก่ทรัพย์มรดกของ ส. ที่ตกทอดแก่ทายาท แต่คดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ม. ที่ศาลจังหวัดชลบุรี เป็นเรื่องที่โจทก์อ้างว่า โจทก์เป็นผู้รับมรดกที่ดินตามพินัยกรรมซึ่ง ส. ทำไว้ก่อนตาย จึงฟ้องติดตามเอาคืนซึ่งทรัพย์ที่ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของตนจากทายาทของ ส. ซึ่งไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ หาใช่คดีที่โจทก์ฟ้องทายาทของ ส. ให้รับผิดชำระเงินตามสัญญากู้ยืมเงินที่ ส. ทำไว้ต่อโจทก์ไม่ การฟ้องคดีของโจทก์ในคดีที่ศาลจังหวัดชลบุรี จึงถือไม่ได้ว่าเป็นกรณีที่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลเพื่อจะบังคับเอาแก่ทรัพย์มรดกของ ส. ลูกหนี้การบรรยายฟ้องของโจทก์จึงขาดองค์ประกอบความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ ในส่วนของข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลเพราะโจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ประสงค์จะบังคับเอาทรัพย์สินของ ส. ลูกหนี้ซึ่งตกทอดแก่ทายาท เป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)
ปัญหาว่าฟ้องโจทก์เป็นฟ้องที่ขาดสาระสำคัญอันเป็นองค์ประกอบความผิดหรือไม่ เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลอุทธรณ์ภาค 2 มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8761-8763/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เบิกความเท็จต้องเป็นข้อสำคัญแห่งคดี หากเป็นเพียงข้อเท็จจริงที่ไม่กระทบองค์ประกอบความผิด ไม่ถือเป็นความผิดฐานเบิกความเท็จ
โจทก์ทั้งสามบรรยายฟ้องเป็นทำนองเดียวกันว่า จำเลยเบิกความเท็จต่อศาลในการพิจารณาคดีอาญาหมายเลขดำที่ 3745/2546 ของศาลอาญากรุงเทพใต้ ซึ่งจำเลยเป็นโจทก์ฟ้องโจทก์ทั้งสามกับพวกเป็นจำเลย ในข้อหาหรือฐานความผิดร่วมกันแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงาน โดยรู้ว่ามิได้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น แต่แจ้งว่ามีการกระทำความผิด เพื่อจะแกล้งให้บุคคลอื่นต้องรับโทษหรือรับโทษหนักขึ้นตาม ป.อ. มาตรา 83, 173, 174 โดยมีรายละเอียดข้อความที่จำเลยเบิกความ กับความจริงเป็นอย่างไร ประเด็นสำคัญของคดีเป็นข้อความที่โจทก์ทั้งสามกับพวกแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่จำเลยในความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 ว่า จำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งสามกับพวกเพื่อชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินและหนังสือรับสภาพหนี้ แต่จำเลยเบิกความว่าเป็นการออกเช็คเพื่อแลกเงินสด ซึ่งคำเบิกความของจำเลยดังกล่าวเป็นข้อสำคัญในคดี ดังนี้ เป็นการแจ้งชัดแล้วว่า คดีที่จำเลยเบิกความอันเป็นเท็จนั้นมีข้อหาหรือฐานความผิดอะไร ประเด็นสำคัญของคดีว่าอย่างไร และคำเบิกความของจำเลยเป็นข้อสำคัญในคดีอย่างไร ถือว่าโจทก์ทั้งสามได้บรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิดพอสมควรที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี จึงเป็นฟ้องที่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)
ความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 ต้องเป็นการออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย ที่จำเลยเบิกความว่าจำเลยออกเช็คพิพาทเพื่อแลกเงินสด เป็นข้อเท็จจริงเกี่ยวกับองค์ประกอบความผิดว่าจำเลยออกเช็คเพื่อก่อหนี้ มิใช่การชำระหนี้ที่มีอยู่จริง ซึ่งข้อเท็จจริงนี้ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีเดิมที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยต่อศาลแขวงปทุมวันตามคดีอาญาหมายเลขดำที่ 800/2544 หมายเลขแดงที่ 3023/2545 ว่า จำเลยออกเช็คพิพาทชำระหนี้เงินกู้ให้แก่โจทก์ทั้งสามกับพวก แต่การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดเนื่องจากเป็นเช็คที่รวมดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ด้วย อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 มาตรา 3 (ก) เป็นโมฆะ ไม่อาจบังคับได้ตามกฎหมาย เท่ากับว่าองค์ประกอบความผิดเรื่องการออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงไม่ใช่ประเด็นข้อสำคัญในคดี การที่จำเลยเบิกความว่า โจทก์ทั้งสามกับพวกแจ้งความเท็จเพราะจำเลยออกเช็คพิพาทเพื่อแลกเงินสด มิใช่เป็นการชำระหนี้เงินกู้ แม้ข้อความนั้นจะเป็นเท็จก็ไม่ใช่ความเท็จในข้อสำคัญแห่งคดี จึงไม่เป็นความผิดฐานเบิกความอันเป็นเท็จตาม ป.อ. มาตรา 177

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6794/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ องค์ประกอบความผิดหมิ่นประมาท, การอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง, และการเปลี่ยนแปลงกฎหมายคอมพิวเตอร์
ฟ้องโจทก์มิได้บรรยายว่าจำเลยหมิ่นประมาทโจทก์อันเป็นการกระทำโดยการโฆษณา ซึ่งเป็นองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 328 จึงเป็นฟ้องที่ไม่ครบองค์ประกอบความผิด คำฟ้องของโจทก์ในความผิดตาม ป.อ. มาตรา 328 เป็นคำฟ้องที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)
คดีอาญาเรื่องใดจะต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาอัตราโทษตามที่บัญญัติไว้สำหรับข้อหาแต่ละกระทงความผิดเป็นสำคัญ เมื่อความผิดในกระทงนั้นมีความผิดหลายบทรวมอยู่ด้วย ถ้าบทหนักไม่ต้องห้ามก็ถือว่าทุกบทไม่ต้องห้าม คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ฐานดูหมิ่นซึ่งหน้า และฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน ตาม ป.อ. มาตรา 326, 393 พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (1) เห็นได้ว่าเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท เมื่อความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (1) ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90 มีอัตราโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 ทวิ ดังนั้น แม้ความผิดฐานหมิ่นประมาทมีอัตราโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และฐานดูหมิ่นซึ่งหน้ามีอัตราโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ก็ย่อมไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงด้วย
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (1) เดิม แต่ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา ได้มี พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 มาตรา 8 ให้ยกเลิกความในมาตรา 14 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ซึ่งมาตรา 14 (1) ที่แก้ไขใหม่ใช้กับกรณีกระทำการโดยทุจริตหรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ทางอินเทอร์เน็ตหรือทางออนไลน์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมหรือเท็จ ที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชนแต่ไม่ใช้กับกรณีนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์เพื่อเป็นการใส่ความผู้อื่นโดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ซึ่งมีบทบัญญัติตาม ป.อ. ระบุไว้ว่าเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทแล้ว การกระทำของจำเลยตามฟ้องจึงไม่มีมูลเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (1) ที่แก้ไขใหม่ อีกต่อไป ตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5765/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำฟ้องข่มขืนใจไม่สมบูรณ์หากไม่บรรยายถึงการกระทำของผู้ถูกข่มขืนใจ
ตาม ป.อ. อาญา มาตรา 309 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ผู้ใดข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด ไม่กระทำการใดหรือจำยอมต่อสิ่งใด โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียงหรือทรัพย์สินของผู้ถูกข่มขืนใจนั้นเองหรือของผู้อื่น หรือโดยใช้กำลังประทุษร้ายจนผู้ถูกข่มขืนใจต้องกระทำการนั้น ไม่กระทำการนั้น หรือจำยอมต่อสิ่งนั้น ..." ดังนี้ การที่ผู้ถูกข่มขืนใจต้องกระทำการนั้น ไม่กระทำการนั้น หรือจำยอมต่อสิ่งนั้นตามที่ถูกข่มขืนใจจึงเป็นองค์ประกอบของความผิดฐานนี้ด้วย ซึ่งโจทก์ต้องบรรยายให้ปรากฏในคำฟ้อง เมื่อฟ้องโจทก์บรรยายเพียงว่า จำเลยบังอาจถืออาวุธปืนพร้อมกับชี้นิ้วและพูดจาข่มขู่เพื่อมิให้ผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 4 กระทำการก่อสร้างที่พักคนงาน อันเป็นการข่มขืนใจผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 4 ให้กระทำการใด ไม่กระทำการใด หรือจำยอมต่อสิ่งใด โดยทำให้ผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 4 เกิดความกลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิตและร่างกาย โดยโจทก์มิได้บรรยายว่า ผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 4 ผู้ถูกข่มขืนใจต้องกระทำการนั้น ไม่กระทำการนั้น หรือจำยอมต่อสิ่งนั้นหรือไม่ จึงเป็นการบรรยายฟ้องที่ไม่ครบองค์ประกอบของความผิดตามกฎหมายดังกล่าวที่โจทก์ขอให้ลงโทษ คำฟ้องของโจทก์ในความผิดฐานนี้จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1691/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เบิกความเท็จต่อศาล – อำนาจสอบสวน – แก้ไขโทษ – กฎหมายใหม่ไม่เป็นคุณ
โจทก์บรรยายฟ้องถึงเนื้อหารายละเอียดทั้งหมดแห่งคำเบิกความของจำเลยที่แตกต่างจากที่จำเลยเคยให้การไว้ในชั้นสอบสวนว่าคำเบิกความเป็นเท็จ การที่จำเลยไม่ได้เบิกความระบุชื่อคนร้ายเป็นการเบิกความเท็จในข้อสำคัญ เป็นการช่วยเหลือจำเลยในคดีดังกล่าวมิให้ต้องรับโทษอาญา ถือว่าฟ้องโจทก์บรรยายข้อเท็จจริงและรายละเอียดพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีแล้ว ฟ้องโจทก์ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) แล้ว
พฤติการณ์แห่งคดีที่จำเลยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญาแก่พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรป่าพะยอม กับการเบิกความอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีต่อศาลจังหวัดพัทลุง ซึ่งอยู่ในท้องที่สถานีตำรวจภูธรเมืองพัทลุง ถือว่าเป็นการไม่แน่ว่าการกระทำของจำเลยในความผิดฐานแจ้งความเท็จและเบิกความเท็จได้กระทำในท้องที่ใดในระหว่างหลายท้องที่ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 19 (1) พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรป่าพะยอมจึงมีอำนาจสอบสวน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1638/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ วิ่งราวทรัพย์ – การแย่งสร้อยคอทองคำ – เจตนาเอาทรัพย์ผู้อื่น – ฟ้องไม่เคลือบคลุม
จำเลยยื่นคำฟ้องฎีกาพร้อมคำร้องขอให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3 อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง แต่ไม่ได้รับอนุญาตให้ฎีกา ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งในคำฟ้องฎีกาว่า ไม่รับฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ให้รับฎีกาเฉพาะปัญหาข้อกฎหมาย ซึ่งจำเลยอาจฎีกาเป็นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นต่อศาลฎีกาได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 224 แต่ศาลชั้นต้นมิได้แจ้งคำสั่งไม่รับฎีกาในข้อดังกล่าวให้จำเลยทราบ ซึ่งเป็นกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ เมื่อคดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 336 วรรคสอง จำคุก 2 ปี ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 336 วรรคแรก (เดิม) จำคุก 1 ปี เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้วรรคของความผิดในบทมาตราเดียวกัน ไม่ถือเป็นการแก้บทความผิด แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 จะแก้โทษด้วยก็เป็นการแก้ไขเล็กน้อย และคงให้ลงโทษจำคุกไม่เกินห้าปี จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ส่วนความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่น ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 295 จำคุก 2 เดือน ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 391 (เดิม) จำคุก 1 เดือน เป็นการแก้ไขทั้งบทและโทษอันเป็นการแก้ไขมาก แต่มิได้เพิ่มเติมโทษจำเลย ทั้งศาลอุทธรณ์ภาค 3 ยังคงลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินสองปี จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 219 จำเลยฎีกาในข้อที่ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฎีกาว่า พยานหลักฐานของโจทก์ฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 เป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 3 อันเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามฎีกาตามบทบัญญัติดังกล่าว แม้ศาลชั้นต้นไม่ได้แจ้งคำสั่งไม่รับฎีกาในข้อนี้ให้จำเลยทราบ แต่เมื่อฎีกาในข้อนี้ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามที่วินิจฉัยมาแล้ว จึงไม่เป็นการจำเป็นที่ศาลฎีกาจะสั่งให้ส่งสำนวนคืนศาลชั้นต้นเพื่อแจ้งคำสั่งไม่รับฎีกาในข้อดังกล่าวให้จำเลยทราบ
จำเลยฎีกาข้อกฎหมายว่า ผู้เสียหายและจำเลยต่างมีเรื่องทะเลาะวิวาทกัน จำเลยไม่มีเจตนามุ่งเอาทรัพย์ของผู้เสียหายมาตั้งแต่แรก จำเลยไม่ผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ เห็นว่าคดีนี้ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัย จำเลยแย่งการครอบครองสร้อยคอทองคำไปจากผู้เสียหายโดยจำเลยมีเจตนาเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไป อันเป็นการกระทำเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองอันเป็นลักษณะการฉกฉวยเอาทรัพย์ของผู้อื่นไปซึ่งหน้าโดยทุจริต จำเลยย่อมมีความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์
โจทก์บรรยายฟ้องว่า เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2558 เวลากลางวัน จำเลยกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือจำเลยทำร้าย บ. ผู้เสียหาย โดยใช้มือบีบคอ 1 ครั้ง แล้วใช้ฝ่ามือตบบริเวณใบหน้าและริมฝีปาก 2 ครั้ง เป็นเหตุให้ผู้เสียหายเกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ หลังจากกระทำความผิดดังกล่าวแล้ว จำเลยลักสร้อยคอทองคำลายเกล็ดมังกรด้านหน้าลายปล้องอ้อย หนัก 1 บาท 1 เส้น พร้อมจี้ทองคำรูปใบไม้ด้านในมีรูปพระนั่งสมาธิ 1 อัน ราคา 27,500 บาท ของผู้เสียหายไปโดยฉกฉวยเอาซึ่งหน้า ใช้กำลังกระชากสร้อยคอพร้อมจี้ดังกล่าวไปจากคอผู้เสียหายเป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ เหตุเกิดที่ตำบลนาเรือง อำเภอนาเยีย จังหวัดอุบลราชธานี เห็นได้ชัดว่าคำฟ้องได้บรรยายข้อเท็จจริงและรายละเอียดต่าง ๆ ดังที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) ซึ่งเพียงพอที่จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีแล้ว ส่วนเหตุการณ์และรายละเอียดของการทะเลาะวิวาทระหว่างผู้เสียหายกับจำเลยนั้นเป็นข้อเท็จจริงที่โจทก์อาจนำสืบในชั้นพิจารณาได้ ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม เมื่อผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์ระบุว่า ผู้เสียหายมีบาดแผลถลอกและบาดแผลฟกช้ำบวม ซึ่งแพทย์เห็นว่าใช้เวลารักษาประมาณ 5 วัน หากไม่มีภาวะแทรกซ้อน การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานใช้กำลังทำร้ายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจตาม ป.อ. มาตรา 391 แม้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานทำร้ายร่างกายตาม ป.อ. มาตรา 295 ก็ตาม แต่เมื่อตามทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยกระทำผิดตาม ป.อ. มาตรา 391 ศาลย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยในการกระทำความผิดตามที่พิจารณาได้ความตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้ายได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7243/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สนับสนุนการกระทำผิดคดียาเสพติด: ความผิดฐานสนับสนุนและบทลงโทษ
โจทก์บรรยายฟ้องข้อ 1.1 และข้อ 1.2 แยกต่างหากจากกัน โดยฟ้องโจทก์ข้อ 1.1 เป็นการบรรยายฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานสมคบโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 8 ส่วนฟ้องโจทก์ข้อ 1.2 เป็นการบรรยายฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ในความผิดฐานสนับสนุนหรือช่วยเหลือผู้กระทำความผิดก่อนหรือขณะกระทำผิดตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 6 เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องข้อ 1.1 เพียงว่าจำเลยที่ 1 กับพวกที่หลบหนีไปยังไม่ได้ตัวมาฟ้องสมคบกันกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด โดยมิได้บรรยายฟ้องระบุว่าจำเลยที่ 2 สมคบกับจำเลยที่ 1 ด้วย แสดงให้เห็นว่าโจทก์ไม่ประสงค์ที่จะให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ในความผิดฐานสมคบโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ทั้งกรณีไม่อาจนำเอาการบรรยายฟ้องข้อ 1.2 มาประกอบฟ้องข้อ 1.1 ได้ เพราะเป็นการฟ้องคนละฐานความผิดกัน ฟ้องโจทก์ข้อ 1.1 สำหรับจำเลยที่ 2 จึงไม่ได้บรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยที่ 2 ได้กระทำความผิดพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยที่ 2 เข้าใจข้อหาได้ดี ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3
ส่วนฟ้องโจทก์ข้อ 1.2 นั้น โจทก์ได้บรรยายฟ้องครบองค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 6 แล้ว แม้โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 2 ช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่จำเลยที่ 1 จำหน่ายเมทแอมเฟตามีนมาในคำฟ้องด้วยก็ตาม แต่เมื่อฟ้องโจทก์ข้อดังกล่าวได้บรรยายว่าจำเลยที่ 2 กระทำการดังกล่าวโดยการสนับสนุนหรือช่วยเหลือจำเลยที่ 1 กับพวกก่อนหรือขณะกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ซึ่ง พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 3 ได้ให้คำนิยาม ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ว่าหมายความว่า การผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งยาเสพติด และให้หมายความรวมถึง การสมคบ สนับสนุน ช่วยเหลือหรือพยายามกระทำความผิดดังกล่าวด้วย จึงพอเป็นที่เข้าใจได้ว่าจำเลยที่ 2 ช่วยเหลือและให้ความสะดวกแก่จำเลยที่ 1 จำหน่ายเมทแอมเฟตามีนแล้ว ฟ้องโจทก์ดังกล่าวได้บรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยที่ 2 ได้กระทำความผิดพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยที่ 2 เข้าใจข้อหาได้ดีตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว
เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่าจำเลยที่ 2 รู้ว่าจำเลยที่ 1 กับพวกจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนและนำเมทแอมเฟตามีนของกลางมาจำหน่ายให้แก่สายลับในที่เกิดเหตุ การที่จำเลยที่ 2 ขับรถกระบะของกลางพาจำเลยที่ 1 กับ จ. ไปดูเงินที่จะใช้ล่อซื้อและมารับจำเลยที่ 1 ในที่เกิดเหตุ จึงเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่จำเลยที่ 1 ก่อนหรือขณะจำเลยที่ 1 กระทำความผิดแล้ว การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นการสนับสนุนหรือช่วยเหลือจำเลยที่ 1 ก่อนหรือขณะกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 6 วรรคหนึ่ง (1)
of 153