คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ม. 6 (3)

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 26 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4603/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เครื่องหมายการค้าไม่คล้ายกัน แม้มีบางส่วนเหมือนกัน ผู้บริโภคไม่สับสน
เครื่องหมายการค้าของโจทก์กับจำเลยที่ 2 มีภาคส่วนที่เป็นสาระสำคัญคืออักษรโรมันที่มีลักษณะประดิษฐ์ เมื่อเปรียบเทียบรูปลักษณะระหว่างเครื่องหมายการค้า ของโจทก์กับ ของจำเลยที่ 2 จะมีจำนวนอักษรเท่ากันคือ 9 ตัว กับมีตัวอักษรที่ 1, 3, 4 และ 5 เหมือนกัน อักษรตัวแรกแม้จะเหมือนกัน แต่การประดิษฐ์ลายเส้นของตัวอักษรแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ ส่วนอักษรตัวที่ 6 ถึง 9 นั้นแตกต่างกัน คือระหว่างอักษรโรมันคำว่า lite กับคำว่า trim และเมื่อพิจารณาโดยรวมทั้งเครื่องหมาย ซึ่งเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 2 ยังมีรูปคนประดิษฐ์และรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าเป็นส่วนประกอบด้วย ก็จะเห็นความแตกต่างระหว่างรูปลักษณะของเครื่องหมายการค้าได้อย่างชัดเจน เมื่อพิจารณาต่อไปถึงเสียงเรียกขานก็เห็นได้ว่ามีความเหมือนกันใน 2 พยางค์แรก แต่ต่างกันในพยางค์สุดท้าย หากเรียกทั้งสามพยางค์แล้ว เสียงเรียกขานของเครื่องหมายการค้าดังกล่าวก็จะมีความแตกต่างกันและยังไม่อาจสันนิษฐานได้ว่าผู้บริโภคในสังคมจะเรียกหาสินค้าของโจทก์และของจำเลยที่ 2 สั้นๆ เหมือนกันว่า "ไฮโดร" ส่วนสินค้าที่ใช้กับเครื่องหมายการค้ารวมตลอดถึงบรรจุภัณฑ์ของสินค้า แม้จะเป็นสินค้าจำพวกเดียวกันและรายการสินค้าอาจเหมือนหรือคล้ายกัน คือ เครื่องหมายการค้าของโจทก์ใช้กับสินค้าสิ่งที่สกัดจากพืชใช้เป็นอาหาร ส่วนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 2 ใช้กับสินค้าอาหารเสริมที่ทำจากผลส้มแขกที่ไม่ได้ใช้ในทางการแพทย์ แต่สินค้านี้มีราคาสูง ใช้บริโภคเพื่อสุขภาพของบุคคลเชื่อว่าผู้บริโภคสินค้านี้จะศึกษาอย่างรอบคอบและระมัดระวังทั้งทำความเข้าใจอย่างดีก่อนที่จะตัดสินใจเลือกซื้อสินค้า การที่สินค้ามีขนาดบรรจุเท่ากันหรือมีราคาเท่ากันนับเป็นเรื่องของการแข่งขันในการประกอบธุรกิจ ไม่ถึงขนาดที่จะเป็นเจตนาไม่สุจริตจงใจลอกเลียนสินค้าเพื่อหลอกลวงผู้บริโภค ดังนั้น เครื่องหมายการค้าของโจทก์กับของจำเลยที่ 2 จึงไม่คล้ายกันจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า
สำหรับกรณีของเครื่องหมายการค้า ของโจทก์กับ ของจำเลยที่ 2 นั้น เมื่อเปรียบเทียบรูปลักษณะจะเห็นได้ว่า ยังมีความแตกต่างกันทั้งในรูปลักษณะ เสียงเรียกขาน และจำพวกสินค้าที่ใช้กับเครื่องหมายการค้าโดยเครื่องหมายการค้าของโจทก์จะมีอักษรโรมันจำนวน 13 ตัว และมีอักษรไทยคำว่า "ไฮโดรไลท์สลิม" กำกับอยู่ เสียงเรียกขานมี 5 พยางค์ และใช้กับสินค้าจำพวก 5 รายการสินค้า อาหารควบคุมน้ำหนักใช้ในทางการแพทย์ ในขณะที่เครื่องหมายการค้า สินค้า อาหารควบคุมน้ำหนักใช้ในทางการแพทย์ ในขณะที่เครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 2 มีอักษรโรมันจำนวน 9 ตัว โดยมีรูปคนประดิษฐ์และรูปสี่เหลี่ยนมผืนผ้าเป็นส่วนประกอบ เสียงเรียกขานมี 3 พยางค์ และใช้กับสินค้าจำพวก 29 รายการสินค้า อาหารเสริมที่ทำจากผลส้มแขกที่ไม่ได้ใช้ในทางการแพทย์ ความแตกต่างเหล่านี้เห็นได้ชัดเจน ทำให้เครื่องหมายการค้าของโจทก์กับของจำเลยที่ 2 ไม่คล้ายกัน สาธารณชนไม่สับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2041/2552 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิจารณาความเหมือนหรือความแตกต่างของเครื่องหมายการค้า คำสามัญทั่วไป ไม่ทำให้สับสน
หน้าที่หลักของเครื่องหมายการค้า คือ หน้าที่บอกแหล่งที่มาของสินค้า และหน้าที่บอกความแตกต่างระหว่างสินค้า หมายความว่า เครื่องหมายการค้าจะต้องบ่งบอกได้ว่า สินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวมีแหล่งกำเนิดมาจากที่ใด และสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้านั้นแตกต่างจากสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าอีกเครื่องหมายหนึ่ง
การที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าหยิบยกเครื่องหมายการค้าหลายเครื่องหมายมาพิจารณาประกอบกันในการพิจารณารับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าย่อมจะต้องกระทำด้วยความระมัดระวังและอยู่ภายใต้กรอบหน้าที่ของเครื่องหมายการค้า
ที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์มีอักษรโรมันคำว่า "California" และ "WOW" ซึ่งเป็นคำเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของผู้อื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว ย่อมจะเกิดความสับสนหลงผิดได้ แต่เมื่อพิจารณาเครื่องหมายการค้าดังกล่าวจะเห็นได้ว่า อักษรโรมันคำว่า "California" และ "WOW" เป็นคำสามัญทั่วไปที่มีความหมายในพจนานุกรมโดยคำว่า "California" เป็นชื่อมลรัฐในประเทศสหรัฐอเมริกา ส่วนคำว่า "WOW" เป็นคำอุทานแสดงความสำเร็จยอดเยี่ยม ดังนั้น บุคคลทั่วไปจึงสามารถนำคำไปใช้เป็นเครื่องหมายการค้าได้ตราบเท่าที่ไม่เป็นการลอกเลียนเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่น หรือเหมือนหรือคล้ายกันจนเป็นเหตุให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า
ส่วนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ทั้งเครื่องหมายมีรูปลักษณะและเสียงเรียกขานแตกต่างจากเครื่องหมายการค้าทั้งสองเครื่องหมายที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ายกขึ้นเปรียบเทียงเป็นอย่างมาก แม้เครื่องหมายการค้าเหล่านี้มีคำซ้ำกันอยู่บ้าง ซึ่งก็เป็นคำสามัญที่มีการใช้อยู่ทั่วไป ไม่ได้เป็นคำเฉพาะพิเศษและไม่ทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าสำหรับเสียงเรียกขาน การจะถือว่าเสียงเรียกขานบางคำซ้ำกันจนเป็นเหตุให้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวเหมือนหรือคล้ายกันจนไม่อาจรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าให้น่าจะไม่ได้ เพราะการเรียกขานสินค้าย่อมขึ้นอยู่กับผู้บริโภคว่าจะเรียกขานเช่นใด ทั้งการเรียกขานก็ไม่ใช่สาระสำคัญประการเดียวที่จะใช้ในการพิจารณา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5594/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิจารณาความคล้ายคลึงของเครื่องหมายการค้า ต้องพิจารณาทั้งเครื่องหมาย, เสียงเรียกขาน, และประเภทสินค้า เพื่อป้องกันความสับสนแก่ผู้บริโภค
ในการพิจารณาเปรียบเทียบเครื่องหมายการค้าว่าคล้ายกันหรือไม่นี้ จะต้องพิจารณาจากเครื่องหมายการค้าทั้งเครื่องหมาย มิได้พิจารณาเฉพาะส่วนใดส่วนหนึ่งเท่านั้น และยังต้องพิจารณาในส่วนของเสียงเรียกขาน ตลอดจนจำพวกและรายการสินค้าที่ขอจดทะเบียนด้วยเพราะต้องคำนึงถึงกลุ่มผู้บริโภคสินค้านั้นๆ เป็นสำคัญว่าเครื่องหมายการค้าดังกล่าวจะช่วยให้กลุ่มผู้บริโภคสามารถแยกแยะเจ้าของสินค้าหรือแสดงความเชื่อมโยงระหว่างสินค้ากับเจ้าของสินค้านั้นได้หรือไม่
สำหรับคดีนี้ หากกลุ่มผู้บริโภคไม่ได้พิจารณาเครื่องหมายการค้าโดยละเอียดหรือไม่ได้นำเครื่องหมายการค้านั้นมาพิจารณาเปรียบเทียบพร้อมกัน หรือใช้แต่เสียงเรียกขานของเครื่องหมายการค้าในการเลือกสินค้า โดยไม่ได้สังเกตลักษณะของเครื่องหมายการค้าโดยตรงแล้ว อาจเกิดความสับสนในการเลือกสินค้าหรือแยกแยะเจ้าของสินค้าได้ ถือว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์คล้ายกับเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว คำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ เพราะคล้ายกับเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วนั้นจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2600/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เครื่องหมายการค้าไม่คล้ายกันจนสับสน แม้มีรูปถ้วยและตัวอักษร ศาลยืนยกฟ้อง
แม้เครื่องหมายการค้าของโจทก์และจำเลยต่างประกอบด้วยรูปถ้วยและตัวอักษร แต่ลักษณะรูปถ้วยแตกต่างกัน กล่าวคือ รูปถ้วยในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ส่วนหูมีลักษณะโปร่งเป็นรูปโค้งงอจับได้ ขาของถ้วยเป็นแนวตรง และฐานของถ้วยมีลักษณะเป็นรูปวงกลม แต่รูปถ้วยในเครื่องหมายการค้าของจำเลยส่วนหูจะมีลักษณะทึบคล้ายสามเหลี่ยม ขาของถ้วยสั้นและฐานของถ้วยมีขนาดใหญ่ แตกต่างกับของโจทก์ที่ฐานของถ้วยมีขนาดเล็กมาก นอกจากนี้เมื่อดูในภาพรวมเครื่องหมายการค้าของโจทก์เน้นที่ตัวอักษรโรมันคำว่า Golden Cup เพราะมีขนาดใหญ่กว่าและเด่นกว่ารูปถ้วย ในขณะที่เครื่องหมายการค้าของจำเลยเน้นที่รูปถ้วยมากกว่าตัวอักษรเพราะรูปถ้วยมีขนาดใหญ่กว่าและเด่นกว่าตัวอักษร ตัวอักษร A.P.P. ในเครื่องหมายการค้าของจำเลยแตกต่างกับคำว่า "Golden Cup" ในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ทั้งการเขียนและการอ่านออกเสียง คำว่า Golden Cup แปลว่า ถ้วยทอง ในขณะที่ตัวอักษร A.P.P. แปลความหมายไม่ได้ เครื่องหมายการค้าของจำเลยจึงมิได้คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1794/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เครื่องหมายการค้าคล้ายคลึงกันในประเภทเดียวกัน อาจทำให้สาธารณชนสับสนถึงความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดสินค้าได้
เครื่องหมายการค้ารูปและคำว่า "ยาสตรีนิสิงเหจอมทอง" กับเครื่องหมายการค้าคำว่า "ยาสตรีสิงเห" มีการเรียกขาน และรูปลักษณะที่คล้ายกัน เมื่อเป็นการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าสำหรับสินค้าจำพวกเดียวกันจึงอาจทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าได้ ส่วนความแตกต่างอื่น เช่นคำว่า "จอมทอง" ก็มีขนาดเล็ก ไม่เป็นสาระสำคัญของเครื่องหมายการค้า เช่นเดียวกับความแตกต่างของข้อความประกอบเครื่องหมายการค้าว่า "สำหรับช่วยในการอยู่ไฟ" และ "ยาแผนโบราณสำหรับแทนการอยู่ไฟ" รวมทั้งโบ และวงกลมประกอบด้านล่างซึ่งมีอักษรอยู่ภายในหาใช่สาระสำคัญถึงขนาดที่จะทำให้สาธารณชนสามารถแยกแยะความแตกต่างระหว่างเครื่องหมายการค้าได้ จึงมิใช่สาระสำคัญแห่งเครื่องหมายการค้าเช่นกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1793/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า: ความแตกต่างของเครื่องหมาย, ประเภทสินค้า, เจตนาใช้, และความสับสนของสาธารณชน
เครื่องหมายการค้าโจทก์ขอจดทะเบียนเป็นอักษรโรมันเขียนว่า "HIGHER" ส่วนเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วเป็นภาษาไทยและอักษรโรมันว่า "ไฮเออร์ HI-ER" มีความแตกต่างอยู่ที่เครื่องหมายที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วมีทั้งภาษาไทยและอักษรโรมัน แม้การเรียกขานอาจจะมีส่วนเหมือนกัน แต่การเรียกขานย่อมขึ้นอยู่กับสินค้าว่าแต่ละคนจะเรียกขานสินค้าอย่างไร สินค้าโจทก์และจำเลยแม้จะจำพวกเดียวกัน แต่เป็นคนละประเภทเมื่อพิจารณาองค์ประกอบอื่น ๆ เช่น การจัดจำหน่าย คุณภาพ และราคาสินค้าของโจทก์ ซึ่งแตกต่างจากสินค้าของจำเลย นอกจากนี้โจทก์มีเจตนาใช้เครื่องหมายการค้าโดยสุจริต มิได้มุ่งอ้างอิงหรือแสวงหาประโยชน์จากเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว สาธารณชนจึงไม่สับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าเนื่องจากการใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์ เครื่องหมายการค้าที่โจทก์ขอจดทะเบียนจึงไม่มีลักษณะต้องห้ามรับจดทะเบียนตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 6 (3), 13

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 385/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่คล้ายกันจนสับสน และมีผลต่อชื่อเสียงของเครื่องหมายการค้าเดิม
คำว่า ROZA เป็นสาระสำคัญของเครื่องหมายการค้าทั้งในลักษณะของภาษาเขียนและภาษาพูด โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าย่อมมุ่งหวังให้สาธารณชนรู้จักด้วยการอ่านและออกเสียง เสียงอ่านของคำว่า ROZA เป็นสำเนียงไทยว่า โรซ่า เมื่อพิจารณาคำว่า ROZA ของโจทก์กับคำว่า ROSA จะเห็นว่ามีอักษรโรมัน 4 ตัวเรียงกัน คงแตกต่างกันเฉพาะตัวที่ 3 คือ ตัว Z กับตัว S เท่านั้น ที่สำคัญคือตัวอักษรที่เป็นสระและมีผลต่อการออกเสียงคือตัว O และตัว A ทั้ง 2 คำใช้เหมือนกันและอ่านออกเสียงเป็น 2 พยางค์เช่นกัน ส่วนตัว S และ Z นั้น แม้จะเขียนแตกต่างกัน แต่การออกเสียงเป็นสำเนียงไทยก็คล้ายคลึงกันมาก ทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในเครื่องหมายการค้าทั้งสองได้
โจทก์จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า ROZA สำหรับสินค้าประเภทซอสมะเขือเทศ ซอสพริก ปลากระป๋อง น้ำมะเขือเทศ ส่วนเครื่องหมายการค้าคำว่า ROSA จดทะเบียนใช้กับสินค้าประเภทกาแฟ ชา ลูกกวาด น้ำผึ้ง เค้ก เมื่อเครื่องหมายการค้าคำว่า ROZA เป็นเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปตามนัยมาตรา 8 (10) ของ พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 แม้จะเป็นการจดทะเบียนกับสินค้าต่างจำพวกกับที่โจทก์ได้จดทะเบียนไว้ โจทก์ก็มีสิทธิที่จะร้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวเสียได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9041/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เครื่องหมายการค้าคล้ายคลึงกันจนสับสน ห้ามรับจดทะเบียน
เครื่องหมายการค้าของโจทก์กับเครื่องหมายการค้าของผู้ขอจดทะเบียนทั้งสองคำขอนั้น ต่างมีตัวอักษรโรมันคำว่า "VALENTINO" จัดวางไว้อย่างเด่นชัดเช่นเดียวกัน ปรากฏว่าโจทก์ได้นำคำว่า "VALENTINO" และคำว่า "COUTURE" มาใช้ประกอบเป็นส่วนหนึ่งในเครื่องหมายการค้าของโจทก์และใช้กับสินค้านำออกจำหน่ายเป็นที่แพร่หลายทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย ซึ่งได้มีการจดทะเบียนไว้ด้วยแล้วก่อนที่ผู้ขอจดทะเบียนได้นำคำว่า "VALENTINO" และคำว่า "COUPEAU" มาจัดวางในเครื่องหมายการค้าของตน ดังนี้ แม้ผู้ขอจดทะเบียนจะมีสิทธิใช้คำว่า "VALENTINO" มาเป็นส่วนหนึ่งในเครื่องหมายการค้าของตนก็ตาม แต่ก็ต้องกระทำโดยสุจริตป้องกันความสับสนต่อผู้บริโภคโดยออกแบบเครื่องหมายการค้าให้มีลักษณะแตกต่างกันซึ่งมีโอกาสทำได้ แต่กลับปรากฏว่าผู้ขอจดทะเบียนได้ออกแบบลักษณะเครื่องหมายการค้าที่นอกจากจะใช้คำที่เหมือนของโจทก์แล้วยังออกแบบวางรูปและคำในรูปแบบเดียวกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ทั้งยังมีสำเนียงที่เรียกขานใกล้เคียงกัน โดยนำไปใช้กับสินค้าต่าง ๆ อย่างเดียวกัน จึงมีโอกาสทำให้ผู้ซื้อหรือผู้ใช้สินค้าหลงผิดว่าสินค้าของผู้ขอจดทะเบียนเป็นสินค้าของโจทก์ได้ง่าย ส่อแสดงว่าผู้ขอจดทะเบียนมีเจตนาที่จะใช้เครื่องหมายการค้าที่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์เพื่อประโยชน์ในการขายสินค้าของตนโดยอาศัยชื่อเสียงเกียรติคุณในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วสำหรับสินค้าอย่างเดียวกัน จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า ย่อมไม่เป็นเครื่องหมายการค้าอันพึงรับจดทะเบียนได้และต้องห้ามมิให้นายทะเบียนรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตาม พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 6 (3) และมาตรา 13 วรรคหนึ่ง (2)
เครื่องหมายการค้าของผู้ขอจดทะเบียนเมื่อนายทะเบียนยังมิได้มีคำสั่งให้รับจดทะเบียน จึงไม่จำต้องพิพากษาเพิกถอนคำขอจดทะเบียนแต่อย่างใด เพราะเครื่องหมายการค้าที่ศาลพิพากษาว่าเครื่องหมายการค้าที่ไม่พึงรับจดทะเบียนได้ ก็เป็นการต้องห้ามมิให้นายทะเบียนรับจดทะเบียนให้อยู่แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7631/2547 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การใช้เครื่องหมายการค้าที่มีรูปช้างเป็นองค์ประกอบ มิอาจตัดสิทธิผู้อื่นโดยเด็ดขาด หากเครื่องหมายมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน
แม้เครื่องหมายการค้าของโจทก์และจำเลยที่ 1 จะมีรูปช้างเป็นสาระสำคัญส่วนหนึ่งของเครื่องหมายการค้าเช่นเดียวกัน แต่การนำรูปช้างซึ่งเป็นสัตว์ตามธรรมชาติหรือช้างเอราวัณซึ่งเป็นสัตว์ในวรรณคดีมาใช้เป็นเครื่องหมายการค้านั้น บุคคลใดก็อาจนำไปใช้ได้การที่บุคคลใดเลือกนำรูปช้างหรือรูปช้างเอราวัณไปใช้เป็นเครื่องหมายการค้าของตนก็มิได้หมายความว่าจะเป็นการตัดสิทธิบุคคลอื่นไม่ให้ใช้รูปช้างหรือรูปช้างหรือรูปช้างเอราวัณโดยเด็ดขาดเพียงแต่ผู้ที่จะนำรูปช้างหรือรูปช้างเอราวัณไปใช้เป็นเครื่องหมายการค้าของตนในภายหลังจะต้องทำเครื่องหมายการค้าให้มีความแตกต่างจากเครื่องหมายการค้าของผู้อื่นที่ได้ใช้มาก่อนมากพอที่จะไม่ทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดสินค้าเมื่อส่วนประกอบต่าง ๆ ของเครื่องหมายการค้าของโจทก์และจำเลยที่ 1 มีรูปลักษณะแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดไม่มีเหตุที่จะทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดว่าสินค้าของจำเลยที่ 1 ที่ใช้เครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 นั้น เป็นสินค้าเจ้าของเดียวกันกับโจทก์หรือบริษัทในเครือของโจทก์ เครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 ที่ขอจดทะเบียนไว้จึงไม่คล้ายเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่จดทะเบียนไว้ก่อนจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าอันจะถือว่าเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 มิใช่เครื่องหมายอันพึงรับจดทะเบียนได้ตาม พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้าฯ มาตรา 6 (3)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7631/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เครื่องหมายการค้า: การใช้รูปช้างเป็นเครื่องหมายการค้าต้องไม่ทำให้สาธารณชนสับสน
แม้เครื่องหมายการค้า และ ของโจทก์ที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วจะมีรูปช้างเป็นสาระสำคัญเช่นเดียวกับเครื่องหมายการค้า ของจำเลยที่ 1 แต่การนำรูปช้างซึ่งเป็นสัตว์ตามธรรมชาติหรือช้างเอราวัณซึ่งเป็นสัตว์ในวรรณคดีมาใช้เป็นเครื่องหมายการค้านั้นบุคคลใดก็อาจนำไปใช้ได้ เพราะการที่บุคคลใดเลือกนำรูปช้างหรือรูปช้างเอราวัณไปใช้เป็นเครื่องหมายการค้าของตนก็มิได้หมายความว่าจะเป็นการตัดสิทธิบุคคลอื่นไม่ให้ใช้รูปช้างหรือรูปช้างเอราวัณโดยเด็ดขาด เพียงแต่ผู้ที่จะนำรูปช้างหรือรูปช้างเอราวัณไปใช้เป็นเครื่องหมายการค้าของตนในภายหลังจะต้องทำเครื่องหมายการค้าให้มีความแตกต่างจากเครื่องหมายการค้าของผู้อื่นที่ได้ใช้มาก่อนมากพอที่จะไม่ทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า เครื่องหมายการค้าตามคำขอจดทะเบียนของจำเลยที่ 1 มีข้อแตกต่างจากเครื่องหมายการค้าของโจทก์หลายประการ ทั้งลักษณะของรูปช้างและส่วนประกอบอื่นของเครื่องหมายการค้าแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด และโดยเฉพาะอย่างยิ่งคำว่า "TUSCO TRAFO" ในเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 เป็นชื่อบริษัทจำเลยที่ 1 และมีขนาดใหญ่พอ ๆ กับรูปช้าง จึงเป็นจุดเด่น นับได้ว่าเป็นสาระสำคัญส่วนหนึ่งของเครื่องหมายการค้าและอาจเรียกขานเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 ได้ว่า ตราช้างทัสโก้ หรือตราทัสโก้ เมื่อเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 มีส่วนสำคัญที่สามารถสังเกตเห็นความแตกต่างจากเครื่องหมายการค้าของโจทก์โดยง่ายเช่นนี้ จึงไม่มีเหตุที่จะทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดว่าสินค้าของจำเลยที่ 1 ที่ใช้เครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวนั้นเป็นสินค้าเจ้าของเดียวกันกับของโจทก์หรือบริษัทในเครือของโจทก์แต่อย่างใด ดังนั้น เครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 ที่ขอจดทะเบียนไว้จึงไม่คล้ายเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่จดทะเบียนไว้ก่อนจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าอันจะถือว่าเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 มิใช่เครื่องหมายการค้าอันพึงรับจดทะเบียนได้ตาม พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 6 (3) ประกอบด้วยมาตรา 13
คดีนี้เป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ซึ่งอัตราค่าทนายความที่ศาลจะกำหนดให้แก่ผู้ชนะคดีในศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ ต้องไม่เกิน 3,000 บาท ตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ พ.ศ. 2539 มาตรา 26 ประกอบด้วยตาราง 6 ท้าย ป.วิ.พ. ดังนั้น ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ กำหนดให้โจทก์ใช้ค่าทนายความแทนจำเลยทั้งสิบเอ็ดเป็นเงินจำนวน 5,000 บาท จึงไม่ถูกต้อง
of 3