คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
เอกชัย เหลี่ยมไพศาล

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 28 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14645/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบวกโทษจำคุกที่รอการลงโทษในคดีก่อนเข้ากับโทษในคดีหลังตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 58
ข้อเท็จจริงปรากฏตามสำเนาคำพิพากษาท้ายอุทธรณ์ของจำเลยว่า คดีที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษนั้น ศาลอุทธรณ์ลงโทษจำคุกและปรับ แต่โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ จึงเป็นกรณีที่ความปรากฏแก่ศาลจากอุทธรณ์ของจำเลยว่า ภายในเวลาที่ศาลรอการลงโทษไว้ในคดีก่อน จำเลยมากระทำความผิดเป็นคดีนี้อีก จึงต้องนำโทษจำคุกที่รอการลงโทษไว้ในคดีก่อนมาบวกเข้ากับโทษในคดีนี้ แม้โจทก์มิได้ขอให้บวกโทษก็ตาม ทั้งกรณีมิใช่การพิพากษาเกินคำขอและไม่เป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลยเพราะกฎหมายบัญญัติให้ศาลที่พิพากษาคดีหลังบวกโทษที่รอการลงโทษไว้ในคดีก่อนเข้ากับโทษในคดีหลังด้วยเสมอ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14645/2558 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบวกโทษจำคุกที่รอการลงโทษในคดีก่อนเข้ากับโทษในคดีหลัง แม้โจทก์มิได้ขอ
เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงตามสำเนาคำพิพากษาท้ายอุทธรณ์ของจำเลย และตามฎีกาของโจทก์ซึ่งจำเลยไม่ได้แก้ฎีกาให้ปรากฏข้อเท็จจริงเป็นอย่างอื่นว่าคดีที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษจำเลยนั้น ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็น ให้ลงโทษปรับจำเลย 5,000 บาท อีกสถานหนึ่งและโทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี กับคุมความประพฤติจำเลยไว้ โดยศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้จำเลยฟังเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2555 และคดีถึงที่สุดแล้ว ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า ก่อนคดีนี้เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2555 จำเลยเคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษ จำคุก 3 เดือน และปรับ 5,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี ในความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีน กับจำเลยแถลงรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีอาญาดังกล่าว จึงเป็นกรณีที่ความปรากฏแก่ศาลเองจากอุทธรณ์ของจำเลยดังกล่าว เมื่อภายในกำหนดระยะเวลาที่รอการลงโทษไว้ในคดีก่อนจำเลยกระทำความผิดคดีนี้อีก จึงต้องนำโทษจำคุกที่รอไว้ในคดีก่อนมาบวกเข้ากับโทษในคดีนี้ตามบทบัญญัติดังกล่าวข้างต้น แม้โจทก์มิได้บรรยายฟ้องและขอให้บวกโทษในคดีดังกล่าวเข้ากับโทษของจำเลยในคดีนี้ก็ตาม กรณีนี้มิใช่เป็นการพิพากษาเกินคำขอ และไม่ใช่เป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลยเพราะกฎหมายบัญญัติให้ศาลที่พิพากษาคดีหลังบวกโทษที่รอการลงโทษไว้ในคดีก่อนเข้ากับโทษในคดีหลังด้วยเสมอ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14634/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำสั่งให้วางเงินประกันเพื่อคัดค้านการขายทอดตลาด: ศาลไม่จำเป็นต้องไต่สวนก่อน, คำสั่งยกคำร้องเป็นที่สุด
การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาด โดยอ้างว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์ในราคาต่ำเกินสมควรอันเนื่องมาจากความไม่สุจริตหรือการฉ้อฉลหรือความประมาทอย่างร้ายแรงของเจ้าพนักงานบังคับคดีในการปฏิบัติหน้าที่ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 309 ทวิ วรรคสอง นั้น ในวรรคสามของมาตราดังกล่าวให้นำวรรคห้าของมาตรา 296 มาใช้บังคับโดยอนุโลม ซึ่งมาตรา 296 วรรคห้า บัญญัติว่า "ในการยื่นคำร้องต่อศาลตามมาตรานี้ หากมีพยานหลักฐานเบื้องต้นแสดงว่าคำร้องนั้นไม่มีมูลและยื่นเข้ามาเพื่อประวิงให้ชักช้า เมื่อศาลเห็นสมควรหรือเมื่อเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือบุคคลอื่นที่อาจได้รับความเสียหายเนื่องจากการยื่นคำร้องดังกล่าวร้องขอ ศาลมีอำนาจที่จะสั่งให้ผู้ยื่นคำร้องวางเงินหรือหาประกันต่อศาลตามจำนวน และภายในระยะเวลาที่ศาลเห็นสมควรกำหนด เพื่อประกันการชำระค่าสินไหมทดแทนแก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือบุคคลนั้นได้ ถ้าผู้ยื่นคำร้องไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลให้ศาลมีคำสั่งยกคำร้องนั้นเสีย คำสั่งของศาลที่ออกตามความในวรรคนี้ให้เป็นที่สุด" บทบัญญัติดังกล่าวไม่ได้บัญญัติไว้ว่า ก่อนที่ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งให้ผู้ร้องวางเงินหรือหาประกันต่อศาลเพื่อประกันการชำระค่าสินไหมทดแทนแก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือบุคคลที่อาจได้รับความเสียหายเนื่องจากการยื่นคำร้องดังกล่าวร้องขอศาลชั้นต้นจะต้องไต่สวนก่อน แต่กำหนดให้ศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจโดยพิจารณาว่ามีพยานหลักฐานเบื้องต้นที่แสดงว่าคำร้องของผู้ร้องไม่มีมูลและยื่นเข้ามาเพื่อประวิงให้ชักช้าหรือไม่ เมื่อทนายโจทก์แถลงว่า คำร้องของผู้ร้องไม่มีมูลและผู้ร้องยื่นคำร้องเพื่อประวิงคดีให้ชักช้า ขอให้ผู้ร้องนำเงินมาวางเพื่อเป็นประกันค่าเสียหายจำนวน 300,000 บาท การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ผู้ร้องวางเงินประกันค่าเสียหายจำนวน 300,000 บาท ภายใน 15 วัน โดยไม่ไต่สวนก่อนไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ชอบด้วยบทบัญญัติดังกล่าว ดังนั้น เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ผู้ร้องวางเงินเพื่อเป็นประกันการชำระค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา แต่ผู้ร้องไม่ปฏิบัติตามคำสั่งและศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของผู้ร้องที่ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาดนั้นแล้ว คำสั่งยกคำร้องดังกล่าวของศาลชั้นต้นจึงเป็นที่สุดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคห้า

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14451/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลงโทษปรับรายวันในคดีประกอบธุรกิจโรงแรมโดยไม่ได้รับอนุญาต ชอบด้วยกฎหมายเมื่อสอดคล้องกับบทบัญญัติ พ.ร.บ.โรงแรม
บันทึกการฟ้องคดีอาญาด้วยวาจาและบันทึกคำฟ้อง คำรับสารภาพ คำพิพากษาตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 20 ได้ความว่า เมื่อระหว่างต้นเดือนธันวาคม 2556 ถึงวันที่ 29 กันยายน 2557 เวลากลางวันต่อเนื่องกันจำเลยประกอบธุรกิจโรงแรมโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ดังนี้ การฟ้องด้วยวาจาของโจทก์ได้กล่าวถึงข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับวันเวลาซึ่งเกิดการกระทำความผิดของจำเลยพอที่จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีแล้วว่าจำเลยกระทำความผิดตั้งแต่ต้นเดือนธันวาคม 2556 ถึงวันที่ 29 กันยายน 2557 คำขอท้ายฟ้องด้วยวาจาของโจทก์ที่ให้ปรับจำเลยเป็นรายวันตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2556 จึงมิได้ขัดแย้งกับวันเวลากระทำความผิดตามที่โจทก์ฟ้องด้วยวาจาแต่อย่างใด การฟ้องด้วยวาจาของโจทก์จึงชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 19 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3 แล้ว
จำเลยกระทำความผิดฐานประกอบธุรกิจโรงแรมโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ซึ่ง พ.ร.บ.โรงแรม พ.ศ.2547 มาตรา 59 บัญญัติว่า "ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 15 วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และปรับอีกวันละไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่" ดังนี้ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ลงโทษปรับจำเลยเป็นรายวันจึงเป็นการลงโทษปรับตามบทบัญญัติดังกล่าว มิได้นำบทบัญญัติตาม พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ.2535 และ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาใช้บังคับเพื่อปรับบทลงโทษจำเลยแต่อย่างใด กรณีจึงมิใช่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 นำกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งมาใช้เป็นผลร้ายแก่จำเลย ทั้งคำว่าต้นเดือนธันวาคม มีความหมายถึงวันที่ 1 ธันวาคมด้วย การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ปรับจำเลยเป็นรายวันตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2556 จนถึงวันฟ้องจึงมิใช่เป็นการตีความที่เป็นผลร้ายแก่จำเลยเช่นกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14252/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาต้องห้าม: ฎีกาคัดค้านคำสั่งระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 6 หลังมีคำสั่งให้แก้ไขฟ้อง
จำเลยยื่นคำร้องขอให้วินิจฉัยชี้ขาดปัญหาข้อกฎหมายเบื้องต้น ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 15 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 24 เมื่อศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 2 แล้ว จึงต้องถือว่าคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 6 แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 6 จะวินิจฉัยคำร้องของจำเลยดังกล่าวในรูปแบบของคำพิพากษาก็ตาม แต่การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 มีคำสั่งคำร้องขอให้ชี้ขาดปัญหาข้อกฎหมายเบื้องต้นของจำเลยดังกล่าวเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 6 ทั้งการที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 ยกคำสั่งศาลชั้นต้นที่มีคำสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 2 ก็ไม่ทำให้คดีเสร็จสำนวนไปจากศาลอุทธรณ์ภาค 6 เพราะศาลอุทธรณ์ภาค 6 ยังต้องพิจารณาต่อไป เนื่องจากศาลอุทธรณ์ภาค 6 มีคำสั่งให้ศาลชั้นต้นดำเนินการให้ลงชื่อผู้อุทธรณ์ให้ถูกต้องตามกฎหมายเสียก่อนแล้วมีคำสั่งใหม่ จึงไม่ใช่กรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 มีคำพิพากษาหรือคำสั่งในประเด็นแห่งคดีแล้ว การที่จำเลยฎีกาขอให้ชี้ขาดปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวข้างต้นอีก จึงเป็นฎีกาคัดค้านคำสั่งระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 6 ซึ่งต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 225 ประกอบมาตรา 196

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13983/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีอาญาหลังคณะกรรมการฟื้นฟูฯ ไม่ดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมายฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด
การฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตาม พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 มาตรา 19 เป็นมาตรการของรัฐที่ต้องการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติดไม่ว่าผู้นั้นจะยินยอมเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดหรือไม่ก็ตาม โดยศาลจะมีคำสั่งให้ส่งตัวผู้ติดยาเสพติดไปตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติดก่อน และคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดมีอำนาจวินิจฉัยว่าผู้เข้ารับการตรวจพิสูจน์ผู้ใดเป็นผู้เสพหรือติดยาเสพติด จากนั้นต้องจัดให้มีแผนการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามมาตรา 22 โดยคำนึงถึงความหนักเบาของการเสพหรือติดยาเสพติดของผู้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามมาตรา 23 ซึ่งผู้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดต้องถูกบังคับให้อยู่รับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามแผนการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดเป็นเวลาไม่เกินหกเดือน ซึ่งอาจขยายหรือลดระยะเวลาการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามความเหมาะสมตามมาตรา 25 หากผู้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดไม่ปฏิบัติตามหรือฝ่าฝืนระเบียบ เงื่อนไข หรือข้อบังคับที่กำหนด ให้พนักงานเจ้าหน้าที่จับตัวผู้นั้นกลับเข้าไว้ในศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด สถานที่เพื่อการตรวจพิสูจน์ การฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด หรือการควบคุมตัวได้ โดยให้ถือว่าผู้นั้นหนีการคุมขังตามมาตรา 190 แห่งประมวลกฎหมายอาญา พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจติดตามจับกุมผู้นั้นได้ด้วยตามมาตรา 29 วรรคหนึ่ง และมีอำนาจลงโทษตามมาตรา 32 ได้อีกด้วย การฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตาม พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 จึงมีวัตถุประสงค์แก้ไขฟื้นฟูผู้เสพหรือผู้ติดยาเสพติดทุกคนเพื่อประโยชน์ของสังคมเป็นส่วนรวม โดยไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงว่าผู้เสพหรือผู้ติดยาเสพติดจะเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดแบบไม่ควบคุมตัวหรือไม่ ดังนี้ พนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติดังกล่าวจึงต้องดำเนินการตามมาตราดังกล่าวก่อน แล้วคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจึงจะมีอำนาจพิจารณาผลการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด
เมื่อคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจังหวัดจันทบุรีมีคำวินิจฉัยให้จำเลยเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพแบบไม่ควบคุมตัว ในโปรแกรมคุมประพฤติ เป็นเวลา 6 เดือน รายงานตัว 1 เดือนต่อครั้ง ทำงานบริการสังคม 12 ชั่วโมง และห้ามเกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้โทษทุกชนิด แต่จำเลยไม่เข้ารับการฟื้นฟูตามแผนการฟื้นฟูโดยขาดการรายงานตัว 2 ครั้ง และยังคงเกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้โทษ จึงเป็นกรณีที่จำเลยไม่ปฏิบัติตามแผนการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดที่คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจังหวัดจันทบุรีกำหนดไว้ เมื่อมาตรา 33 บัญญัติให้คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดรายงานความเห็นไปยังพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการเพื่อประกอบการพิจารณาดำเนินคดีผู้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด เมื่อผู้นั้นเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดครบถ้วนตามกำหนดเวลาแล้ว แต่ผลการฟื้นฟูยังไม่เป็นที่พอใจ การที่ได้ตัวจำเลยมาหลังจากที่จำเลยไม่ปฏิบัติตามแผนการฟื้นฟูดังกล่าว พนักงานเจ้าหน้าที่จึงมีหน้าที่นำตัวจำเลยกลับไปบำบัดแก้ไขตามแผนการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดของคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจังหวัดจันทบุรี อันเป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายให้ครบถ้วนตามมาตรา 25 ก่อน เมื่อคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดดังกล่าวไม่ได้ดำเนินการตามขั้นตอนที่กฎหมายบัญญัติไว้ดังกล่าวข้างต้น โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13138/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดียาเสพติดหลังเข้ารับการฟื้นฟู: ผลการฟื้นฟูไม่สำเร็จเป็นเหตุให้ดำเนินคดีได้
จำเลยได้เข้าสู่กระบวนการบำบัดฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตาม พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 มาตรา 22 วรรคหนึ่ง แล้ว และจำเลยได้อยู่รับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ตามแผนการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดเป็นเวลาหกเดือนตามมาตรา 25 วรรคหนึ่ง ครบกำหนดแล้ว เพียงแต่จำเลยประสงค์จะขอโอกาสในการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจังหวัดอ่างทองจึงให้ขยายระยะเวลาการฟื้นฟูออกไปอีก 120 วัน โดยให้มารายงานตัวต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เดือนละ 1 ครั้ง ห้ามเกี่ยวข้องกับยาเสพติด แต่จำเลยมารายงานตัวไม่ครบและยังเกี่ยวข้องกับยาเสพติดอีก คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด จึงมีความเห็นให้ส่งจำเลยคืนพนักงานสอบสวนดำเนินคดีต่อไป ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยได้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจนครบกำหนดเวลาตามมาตรา 25 แล้ว แต่ผลการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดยังไม่เป็นที่พอใจ คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจังหวัดอ่างทองจึงมีหน้าที่รายงานความเห็นไปยังพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการแล้วแต่กรณี เพื่อประกอบการพิจารณาดำเนินคดีต่อไปตามมาตรา 33 วรรคสอง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12868/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำแถลงการณ์หลังพิพากษาศาลอุทธรณ์: ไม่ถือเป็นส่วนหนึ่งของอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่ย้อนสำนวน
แม้ก่อนวันที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีคำพิพากษา จำเลยยื่นคำแถลงการณ์เป็นหนังสือตาม ป.วิ.อ. มาตรา 205 วรรคสอง แต่ตามวรรคสามของบทบัญญัติดังกล่าวกำหนดว่า คำแถลงการณ์เป็นหนังสือมิให้ถือเป็นส่วนหนึ่งของอุทธรณ์ ให้นับว่าเป็นแต่คำอธิบายข้ออุทธรณ์เท่านั้น การที่จำเลยยื่นคำแถลงการณ์เป็นหนังสือว่า จำเลยได้วางเงินชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหายทั้งสองเพื่อประกอบการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 3 ในการรอการลงโทษให้แก่จำเลย จึงเป็นแต่เพียงคำอธิบายข้ออุทธรณ์ของจำเลยเพิ่มเติมเท่านั้น เมื่อศาลชั้นต้นส่งคำแถลงการณ์เป็นหนังสือนั้นไปยังศาลอุทธรณ์ภาค 3 และศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีคำสั่งว่า คดีนี้จำเลยยื่นคำแถลงการณ์เพิ่มเติมหลังจากที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ทำคำพิพากษาเสร็จและส่งไปให้ศาลชั้นต้นเพื่ออ่านให้คู่ความฟังแล้ว จึงไม่อาจเปลี่ยนแปลงผลคำพิพากษาไปในทางที่เป็นคุณหรือเป็นโทษแก่จำเลยได้นั้น ถือว่าศาลอุทธรณ์ภาค 3 ได้พิจารณาคำแถลงการณ์เป็นหนังสือของจำเลยแล้ว แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 จะไม่ได้แก้ไขคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 โดยยังคงระบุว่า จำเลยไม่เคยชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหายทั้งสอง ก็มิใช่กรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 มิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกระบวนพิจารณา อันเป็นเหตุให้ศาลฎีกาต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิจารณาและพิพากษาใหม่ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 208 (2) ประกอบมาตรา 225
of 3