คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พระราชบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ม. 33

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 1 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5876/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การถอนคำให้การรับสารภาพในคดีอาญาต้องเป็นไปตามขั้นตอนกฎหมาย หากไม่ปฏิบัติตาม ศาลมีสิทธิไม่รับฟัง
แม้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาจะบัญญัติรับรองสิทธิพื้นฐานของบุคคลผู้ตกเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญาไว้หลายประการกล่าวคือให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบุคคลดังกล่าวเป็นผู้บริสุทธิ์ รวมทั้งให้สิทธิแก่จำเลยที่จะให้การต่อศาลหรือไม่ให้การก็ได้ แต่ในกรณีที่จำเลยให้การต่อศาลแล้วหากประสงค์จะขอแก้หรือเพิ่มเติมคำให้การนั้น จำเลยจะต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ในมาตรา 163 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ทั้งนี้ ศาลย่อมมีอำนาจที่จะอนุญาตหรือไม่อนุญาตก็ได้ โดยพิจารณาถึงเหตุผลที่จำเลยอ้างว่าเป็นเหตุผลอันสมควรหรือไม่
จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นได้บันทึกคำให้การของจำเลยไว้ และได้เลื่อนการอ่านคำพิพากษาหลายครั้ง เพื่อให้โอกาสจำเลยบรรเทาผลร้ายโดยชดใช้เงินตามเช็คให้แก่โจทก์ แต่จำเลยกลับผัดผ่อนตลอดมา จนในที่สุดจำเลยได้ยื่นคำให้การขอให้การใหม่เป็นปฏิเสธฟ้อง โดยมิได้ยื่นคำร้องขอแก้คำให้การ อันเป็นการไม่ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 163 วรรคสองดังนั้น เมื่อศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้จำเลยแก้คำให้การ จึงต้องถือว่าจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องของโจทก์ เมื่อข้อหาตามฟ้อง ไม่ใช่คดีที่มีข้อหาในความผิดที่กฎหมายกำหนดอัตราโทษอย่างต่ำไว้ให้จำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไป ซึ่งต้องฟังพยานโจทก์จนกว่าจะพอใจว่าจำเลยได้กระทำผิดจริงจึงจะพิพากษาลงโทษจำเลยได้ตามมาตรา 176 วรรคหนึ่ง ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาคดีโดยไม่สืบพยานหลักฐานต่อไปจึงชอบแล้ว