คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.อ. ม. 7 ทวิ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 3 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2015/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานชิงทรัพย์และฆ่าผู้อื่น ร่วมกันกระทำผิด การรับฟังพยานหลักฐาน และการระงับคดีเนื่องจากการตายของผู้ต้องหา
พยานโจทก์ทุกปากไม่มีสาเหตุกับจำเลยที่ 1 ทั้งเบิกความและให้การได้สอดคล้องเชื่อมโยงกัน มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ แม้โจทก์ไม่มีประจักษ์พยานที่รู้เห็นในขณะเกิดเหตุว่าจำเลยที่ 1 เป็นคนร้ายที่ร่วมชิงทรัพย์และใช้อาวุธปืนยิงผู้ตาย แต่ตามพฤติการณ์แห่งคดีที่ก่อนเกิดเหตุมีชาย 2 คน ซึ่งคล้ายจำเลยทั้งสองว่าจ้างผู้ตายขับรถยนต์รับจ้างออกไปจากโรงแรม ร. หลังจากนั้นไม่นานผู้ตายถูกคนร้ายใช้อาวุธปืนยิงถึงแก่ความตาย และทิ้งศพไว้ในที่เกิดเหตุ และต่อมาในวันเดียวกันจำเลยทั้งสองได้นำรถยนต์ของผู้ตายไปใช้เป็นยานพาหนะในการชิงทรัพย์ร้านทอง ทั้งในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวน จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพว่าได้ร่วมกับจำเลยที่ 2 ว่าจ้างผู้ตายให้ขับรถยนต์รับจ้างจากกรุงเทพมหานครไปส่งที่จังหวัดสระบุรี เมื่อไปถึงก็ได้ร่วมกันชิงทรัพย์รถยนต์คันดังกล่าวและฆ่าผู้ตาย เพียงแต่จำเลยที่ 1 บ่ายเบี่ยงว่าจำเลยที่ 2 เป็นคนใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายเท่านั้น บ่งชี้ชัดว่า จำเลยที่ 1 ร่วมเป็นคนร้ายรายนี้จริง ที่จำเลยที่ 1 นำสืบต่อสู้ว่าไม่เคยไปพักที่โรงแรม ร. กับได้ลงลายมือชื่อในบันทึกการจับกุมและบันทึกคำให้การโดยไม่ได้อ่านข้อความเนื่องจากถูกเจ้าพนักงานตำรวจทำร้ายนั้น เมื่อพิจารณาคำให้การรับสารภาพของจำเลยที่ 1 ตามบันทึกคำให้การแล้ว ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ให้การกล่าวถึงการกระทำโดยละเอียดและยังนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพตามบันทึกการนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพ ข้อนำสืบของจำเลยที่ 1 จึงไม่น่าเชื่อ พยานหลักฐานของจำเลยที่ 1 ไม่สามารถหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ ข้อเท็จจริงรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยที่ 1 เป็นคนร้ายร่วมกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์และฆ่าผู้ตายตามฟ้อง ส่วนที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า จากบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 พนักงานสอบสวนไม่ได้ปฏิบัติตาม ป.วิ.อ. มาตรา 7 ทวิ วรรคสอง โดยการแจ้งให้จำเลยที่ 1 ทราบถึงสิทธิของผู้ต้องหาตามวรรคหนึ่ง จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการสอบสวนที่ชอบ ไม่ควรรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้นั้น เห็นว่า การแจ้งสิทธิของผู้ต้องหาไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายบังคับให้ต้องระบุไว้ในบันทึกคำให้การชั้นสอบสวน ทั้งจำเลยที่ 1 เพิ่งยกเรื่องการไม่แจ้งสิทธิดังกล่าวขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์และฎีกาโดยในชั้นพิจารณาจำเลยที่ 1 มิได้นำสืบว่าพนักงานสอบสวนไม่ได้แจ้งสิทธิของผู้ต้องหาให้จำเลยที่ 1 ทราบ อันจะเป็นเหตุให้การสอบสวนไม่ชอบและไม่อาจรับฟังบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 เป็นพยานหลักฐานได้
อนึ่ง คดีนี้ จำเลยที่ 2 มิได้ฎีกา คดีในส่วนของจำเลยที่ 2 จึงเป็นที่สุด แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่า จำเลยที่ 2 ได้ถึงแก่ความตายในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์จึงระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (1) แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มิได้มีคำสั่งจำหน่ายคดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 จึงไม่ชอบ ปัญหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาจึงมีอำนาจพิพากษาไปถึงจำเลยที่ 2 ได้ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 และให้จำหน่ายคดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6541/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การครอบครองเมทแอมเฟตามีนเพื่อจำหน่าย: ศาลฎีกาวินิจฉัยตามพยานหลักฐานและคำรับสารภาพ แม้ศาลอุทธรณ์พิพากษาผิดฐาน
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย โดยวินิจฉัยว่า ศาลชั้นต้นฟังพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบโดยโจทก์ไม่ได้ยื่นบัญชีระบุพยาน ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ต่อมาศาลฎีกามีคำสั่งให้ศาลชั้นต้นไต่สวนและฟังได้ว่า โจทก์ยื่นบัญชีระบุพยานพร้อมสำเนาแบบขอหมายจริง ดังนั้น แม้ศาลอุทธรณ์ยังไม่ได้วินิจฉัยว่าจำเลยกระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายหรือไม่ และการวินิจฉัยความผิดของจำเลยสมควรเป็นไปตามลำดับก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ยื่นฎีกาในปัญหาดังกล่าวประกอบกับได้มีการนำสืบพยานหลักฐานประกอบคำรับสารภาพของจำเลยแล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหานี้ไปโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยอีก
การจับกุมจำเลยเกิดจากเจ้าพนักงานตำรวจให้สายลับติดต่อล่อซื้อเมทแอมเฟตามีน เมื่อจำเลยนำเมทแอมเฟ -ตามีนมาส่ง จึงถูกจับกุมได้พร้อมเมทแอมเฟตามีนจำนวน 100 เม็ด ซึ่งเป็นจำนวนมากเกินกว่าที่บุคคลจะมีไว้เพื่อเสพประกอบกับจำเลยให้การรับสารภาพในชั้นพิจารณาว่า จำเลยซื้อเมทแอมเฟตามีนเพื่อนำไปให้ช่างซ่อมรถยนต์คน อื่นๆ อันเป็นการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครอง เพื่อจำหน่าย
การแจ้งข้อหาให้จำเลยทราบในชั้นจับกุมก็เพื่อประสงค์จะให้จำเลยทราบและเข้าใจถึงการกระทำความผิด ของตน แม้ชั้นจับกุมผู้จับกุมแจ้งข้อหาแก่จำเลยว่ามีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต แต่เมื่อพนักงานสอบสวนทำการสอบสวนแล้ว ปรากฏว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ก็ไม่ทำให้พยานหลักฐานของโจทก์เป็นพิรุธ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6262/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแจ้งสิทธิผู้ต้องหา: การลงชื่อรับทราบสิทธิถือเป็นการแจ้งสิทธิแล้ว แม้จะไม่มีการระบุความต้องการใช้สิทธิ
จำเลยที่ 2 ลงชื่อรับทราบสิทธิตามบันทึกการแจ้งสิทธิของผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหาแล้ว แม้จะไม่ปรากฏในบันทึกดังกล่าวว่าจำเลยที่ 2 ต้องการใช้สิทธิหรือไม่ก็ตาม ก็ถือได้ว่าพนักงานสอบสวนได้แจ้งสิทธิดังกล่าวแก่จำเลยที่ 2 แล้ว และแม้ตามบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 2 จะปรากฎถ้อยคำว่า "ข้าฯ สามารถให้การหรือไม่ให้การใน ชั้นสอบสวน" โดยไม่ปรากฎคำว่า"ก็ได้" ต่อท้ายอาจเป็นการพิมพ์ตกหล่นของพนักงานสอบสวนก็เป็นได้ ทั้งถ้อยคำ ดังกล่าวก็มีความหมายเป็นนัยว่า จำเลยที่ 2 สามารถให้การหรือไม่ให้การในชั้นสอบสวนอยู่แล้วนั่นเอง ข้อเท็จจริง จึงฟังไม่ได้ว่าการสอบสวนกระทำโดยไม่ชอบ