คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.พ.พ. ม. 193/33 (5)

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 41 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3358/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความค่าจ้างงาน: ข้อยกเว้น 5 ปี สำหรับงานที่ทำเพื่อกิจการของลูกหนี้
จำเลยที่ 1 อ้างว่า ฟ้องโจทก์ที่เรียกเอาค่าจ้างงวดสุดท้ายและค่าจ้างงานเพิ่มเติมจากจำเลยที่ 1 ขาดอายุความ 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (1) ดังนั้น การวินิจฉัยเรื่องอายุความตามฟ้องของโจทก์นั้น ศาลจึงต้องพิจารณาตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวได้ทั้งหมด เมื่อตอนท้ายมาตรา 193/34 (1) ได้บัญญัติเป็นข้อยกเว้นไว้ว่า เว้นแต่การใช้สิทธิเรียกร้องค่าการงานที่ได้ทำเพื่อกิจการของลูกหนี้ ให้มีอายุความ 5 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (5) ศาลจึงมีอำนาจวินิจฉัยว่า หนี้ค่าการงานในส่วนนี้ของโจทก์มีอายุความตามหลัก 2 ปี หรือมีอายุความตามข้อยกเว้น 5 ปี แม้โจทก์เพิ่งยกขึ้นกล่าวอ้างในชั้นอุทธรณ์ก็ตาม ก็ไม่เข้าข่ายเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นตามที่จำเลยที่ 1 อ้าง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19692/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องของพนักงานอัยการ และอายุความของสิทธิเรียกร้องค่าก๊าซและเบี้ยปรับ
โจทก์มีสภาพเป็นรัฐวิสาหกิจตาม พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ.2502 ถือว่าโจทก์เป็นหน่วยงานของรัฐตาม พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ.2545 มาตรา 46 (9) และ พ.ร.ฎ.แบ่งส่วนราชการสำนักงานอัยการสูงสุด พ.ศ.2540 มาตรา 4 กำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของสำนักงานอัยการสูงสุดเข้าว่าต่างและแก้ต่างคดีแทนโจทก์ได้ และพนักงานอัยการเป็นผู้ปฏิบัติราชการให้สำนักงานอัยการสูงสุด โดยอำนาจและหน้าที่ตาม พ.ร.บ.พนักงานอัยการ พ.ศ.2498 (เดิม) มาตรา 11 กำหนด เมื่อโจทก์แต่งตั้งพนักงานอัยการให้ทำหน้าที่ทนายความ พนักงานอัยการจึงมีอำนาจฟ้องและดำเนินคดีแทนโจทก์ได้ตาม พ.ร.บ.พนักงานอัยการ พ.ศ.2498 มาตรา 11 (2)
จำเลยประกอบกิจการอุตสาหกรรมการผลิตและจำหน่ายกระดาษ จำเลยซื้อก๊าซจากโจทก์เพื่อนำไปใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าและความร้อนภายในโรงงานของจำเลยเพื่อผลิตกระดาษอันเป็นกิจการของจำเลย จึงเป็นกรณีโจทก์ ผู้ประกอบการค้าเรียกเอาค่าของที่ได้ส่งมอบให้จำเลยทำเพื่อกิจการของฝ่ายจำเลยนั้นเอง สิทธิเรียกร้องของโจทก์ในเงินค่าก๊าซที่จำเลยค้างชำระแก่โจทก์ จึงมีกำหนดอายุความ 5 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (5)
แม้พฤติการณ์ที่โจทก์ปิดวาล์วก๊าซ ถือว่าโจทก์ในฐานะคู่สัญญาได้ใช้สิทธิเลิกสัญญาซื้อขายก๊าซแล้วคู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่ง แต่กรณีก็เป็นการเลิกสัญญาเพราะจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระเบี้ยปรับซึ่งเป็นค่าเสียหายจากการผิดสัญญาซื้อขายก๊าซของจำเลย ซึ่งได้เกิดขึ้นและยังมีอยู่ตลอดไปจนกว่าโจทก์จะได้รับชำระหนี้จากจำเลยโดยสิ้นเชิง การเลิกสัญญาดังกล่าวหาได้ทำให้สิทธิเรียกร้องเอาเบี้ยปรับจากจำเลยระงับไปไม่ ดังนั้น โจทก์จึงมีสิทธิเรียกเอาเบี้ยปรับตามที่กำหนดไว้ในสัญญาซื้อขายก๊าซจากจำเลยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11294/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความสิทธิเรียกร้องจากการซื้อขายต้นกล้ายางพารา: เกษตรกร, การเพาะเลี้ยง, และระยะเวลาตามกฎหมาย
โจทก์กับจำเลยต่างอยู่ในฐานะผู้ประกอบเกษตรกรรมตามความหมายของ ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (2) แต่เนื่องจากลักษณะการดำเนินการระหว่างกันเป็นเรื่องที่โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ได้ส่งมอบต้นตอยางพาราและวัสดุแก่จำเลยผู้เป็นลูกหนี้ เพื่อให้จำเลยนำไปเพาะเลี้ยงให้เป็นต้นกล้ายางพาราชำถุงแล้วนำมาขายคืนแก่โจทก์ โดยหักราคาค่าต้นตอยางพารากับค่าวัสดุที่รับไปก่อนนั้นกับต้นกล้ายางพาราที่นำมาส่งมอบ ต้นตอยางพาราที่จำเลยรับไปจากโจทก์เพื่อให้จำเลยเพาะเลี้ยงแล้วนำมาขายคืนแก่โจทก์นั้นเป็นการที่ได้ทำเพื่อกิจการของจำเลยผู้เป็นลูกหนี้นั้นเอง สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงไม่ตกอยู่ในบังคับอายุความ 2 ปี ตามบทกฎหมายดังกล่าว แต่ตกอยู่ในบังคับอายุความ 5 ปี ตามมาตรา 193/33 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8032/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องเรียกค่าจ้างจากการรับเหมาก่อสร้าง: โจทก์ไม่ใช่ช่างฝีมือ อายุความ 2 ปีนับจากวันชำระหนี้
จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ว่าจ้างโจทก์ให้รื้อถอนและต่อเติมโครงหลังคาเหล็กโรงสีข้าวของจำเลยที่ 1 โดยจ้างเหมาค่าแรงต่อตารางเมตร โจทก์เป็นฝ่ายจัดหาเครื่องมือสำหรับใช้ในการทำงาน ส่วนจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายจัดหาสัมภาระ การทำงานของโจทก์จึงเป็นการรับเหมาก่อสร้างเป็นลักษณะของการรับจ้างทำของชนิดหนึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 587 แม้โจทก์ลงมือทำงานด้วยก็หาทำให้โจทก์เป็นช่างฝีมือตามมาตรา 193/34 (1) ไม่ ความรับผิดของผู้ว่าจ้างจึงไม่อยู่ในอายุความ 5 ปี ตามมาตรา 193/33 (5) โจทก์ฟ้องเรียกเอาค่าจ้างจากผู้ว่าจ้างจึงเป็นผู้ประกอบธุรกิจรับทำการงานเรียกเอาสินจ้างอันจะพึงได้รับจากการนั้น ต้องเรียกร้องเอาภายใน 2 ปี นับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไปตามมาตรา 193/34 (7)
โจทก์ส่งมอบงานก่อสร้างประมาณเดือนมีนาคม 2545 และจำเลยที่ 1 ชำระค่าจ้างครั้งสุดท้ายวันที่ 17 พฤษภาคม 2545 อายุความจึงเริ่มนับใหม่ตั้งแต่วันที่จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ครั้งสุดท้ายตามมาตรา 193/14 (1) ประกอบมาตรา 193/15 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2547 เกิน 2 ปี แล้ว คดีโจทก์จึงขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19744/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความหนี้จากการซื้อขายปูนซีเมนต์: พิจารณาวัตถุประสงค์การใช้สินค้าเพื่อขยายอายุความตามกฎหมาย
จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีวัตถุประสงค์ซื้อ จัดหา รับเช่า เช่าซื้อ ถือกรรมสิทธิ์ ครอบครอง ปรับปรุง ใช้ จัดการโดยประการอื่นซึ่งทรัพย์สินใด ๆ ตลอดจนดอกผลของทรัพย์สินนั้นรวมทั้งประกอบกิจการรับเหมาก่อสร้างอาคาร อาคารพาณิชย์ อาคารที่พักอาศัย ฯลฯ การที่จำเลยที่ 1 สั่งซื้อปูนซีเมนต์จากโจทก์เป็นระยะเวลาติดต่อกันนานและเป็นจำนวนมากประกอบกับมีการชำระค่าสินค้าเป็นราคาตามกำหนด แสดงว่าจำเลยที่ 1 นำสินค้าที่ซื้อมานั้นไปจำหน่ายแก่บุคคลอื่น รวมทั้งรับเหมาก่อสร้างอาคารตามวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 1 และที่จำเลยที่ 1 สั่งซื้อปูนซีเมนต์ในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤศจิกายน 2540 นำไปก่อสร้างอาคารพาณิชย์ ซึ่งอาคารดังกล่าวจำเลยที่ 1 ใช้เป็นสำนักงานในการบริหารงานการค้าขายที่ค้าขายในต่างประเทศ จึงเป็นการกระทำเพื่อกิจการของจำเลยที่ 1 ฝ่ายลูกหนี้เอง อันเข้าข้อยกเว้นตอนท้ายของมาตรา 193/34 (1) ฉะนั้น สิทธิเรียกร้องของโจทก์ในการเรียกค่าสินค้าจากจำเลยที่ 1 จึงมีกำหนดอายุความ 5 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (5) หาใช่มีอายุความเพียง 2 ปี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7848/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความสิทธิเรียกร้องค่าสินค้า และผลของการรับสภาพหนี้ต่ออายุความ
สิทธิเรียกร้องจากการที่จำเลยทั้งสามซื้อสินค้าจากโจทก์ เพื่อส่งขายให้แก่ลูกค้าอันมิใช่ซื้อไปเพื่อใช้เป็นการเฉพาะภายในบริษัทจำเลยที่ 1 ย่อมมีอายุความ 5 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (5) มิใช่อายุความ 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (1)
การที่จำเลยที่ 2 เชิดตัวเองออกแสดงเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 ทำหนังสือรับสภาพหนี้ต่อโจทก์ขอผ่อนชำระหนี้งวดแรกภายในเดือนมกราคม 2543 ย่อมมีผลทำให้อายุความสะดุดหยุดลงโดยระยะเวลาที่ล่วงไปนั้นไม่นับเข้าในอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (1) และมาตรา 193/15 เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ไม่ชำระเงินงวดแรกแก่โจทก์ตามที่รับสภาพหนี้ไว้ เหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงจึงสิ้นสุดลงในวันที่ 31 มกราคม 2543 และเริ่มนับหนึ่งตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2543 เป็นต้นไป เมื่อโจทก์ฟ้องคดีวันที่ 30 ธันวาคม 2547 ฟ้องโจทก์เฉพาะจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงไม่ขาดอายุความ ส่วนจำเลยที่ 3 ไม่ปรากฏว่ายอมให้จำเลยที่ 2 เชิดตัวเองออกแสดงเป็นตัวแทน กรณีจึงไม่อาจถือว่าจำเลยที่ 3 ได้รับสภาพหนี้ต่อโจทก์ด้วย ฟ้องโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 3 จึงขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4751/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความสิทธิเรียกร้องซื้อขายสินค้า การซื้อขายเพื่อกิจการกับบริโภคเอง และการชำระหนี้เป็นเงินตราต่างประเทศ
สิทธิเรียกร้องตามสัญญาซื้อขายที่ไม่เข้าข้อยกเว้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (1) ตอนท้าย ต้องเป็นการซื้อขายเพื่อบริโภคของลูกหนี้เองโดยไม่เกี่ยวข้องกับกิจการหรือธุรกิจหลักของลูกหนี้ เมื่อจำเลยเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าให้โจทก์ในประเทศไทย กิจการของจำเลยคือการซื้อและรับมอบสินค้ามาขายต่อให้แก่ลูกค้าการที่จำเลยซื้อสินค้าจากโจทก์เพื่อขายต่อ ย่อมเป็นการที่ได้ทำเพื่อกิจการของจำเลยซึ่งเป็นฝ่ายลูกหนี้นั้นเองอันเข้าข้อยกเว้นตอนท้ายของมาตรา 193/34 (1) สิทธิเรียกร้องของโจทก์ในการเรียกค่าสินค้าจากจำเลยจึงไม่ได้มีกำหนดอายุความ 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (1) แต่มีกำหนดอายุความ 5 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (5)
ราคาสินค้าพิพาทกำหนดเป็นเงินปอนด์สเตอร์ลิง โจทก์จึงฟ้องขอให้ชำระหนี้เป็นเงินปอนด์สเตอร์ลิงได้ แต่จำเลยมีสิทธิจะส่งใช้หนี้ดังกล่าวเป็นเงินไทยก็ได้ โดยให้คิดอัตราแลกเปลี่ยนเงิน ณ สถานที่และในเวลาที่ใช้เงินตาม ป.พ.พ. มาตรา 196

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2221/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความหนี้ซื้อขายสินค้า (ป.พ.พ. มาตรา 193/34) และอำนาจฟ้อง-สถานที่ฟ้องคดี
จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทสหกรณ์การธนกิจ มีวัตถุประสงค์ประการหนึ่งในการจัดหาวัสดุการเกษตรและเครื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็นมาจำหน่ายแก่สมาชิก การที่จำเลยซื้อปุ๋ยทั้งสองรายการไปจากโจทก์ก็เพื่อที่จะนำไปจำหน่ายแก่สมาชิกอีกทอดหนึ่งจึงมีลักษณะเป็นการที่ได้ทำเพื่อกิจการฝ่ายลูกหนี้หรือจำเลยนั้นเอง เมื่อจำเลยมิได้ซื้อปุ๋ยไปจากโจทก์เพื่อใช้เอง แต่ได้ใช้ประกอบกิจการของจำเลยเพื่อแสวงหาประโยชน์ต่อไปอีกทอดหนึ่ง จึงตกอยู่ในบังคับของ ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (1) ตอนท้ายซึ่งเป็นข้อยกเว้นให้มีอายุความห้าปีตามมาตรา 193/33 (5) ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
ที่ศาลชั้นต้นส่งประเด็นไปสืบพยานจำเลยที่ศาลจังหวัดนครนายกซึ่งเป็นภูมิลำเนาของจำเลยนั้น เป็นการให้ความสะดวกแก่จำเลยและพยานจำเลยในการที่จะมาเบิกความต่อศาล แต่เมื่อถึงวันนัดสืบพยานประเด็นจำเลย ทนายจำเลยกลับแถลงว่าพยานจำเลยปาก ส. และ ว. กรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยซึ่งเป็นพยานนำไม่มาศาลโดยไม่แจ้งเหตุขัดข้อง ส่วนพยานอีก 2 ปากคือ ช. และ พ. ซึ่งเป็นพยานหมายไม่มาศาลโดยไม่ทราบผลการส่งหมาย และแถลงรับว่าไม่ได้เตรียมพยานมาให้พร้อมสืบในวันดังกล่าว ขอเลื่อนคดี หากศาลไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีและส่งประเด็นคืนก็จะเตรียมพยานจำเลยไปสืบที่ศาลเดิม ศาลจังหวัดนครนายกมีคำสั่งไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีและให้ส่งประเด็นคืนศาลเดิม ในวันนัดฟังประเด็นกลับทนายจำเลยขอสืบพยานจำเลยทั้งสี่ปากโดยจะนำพยานสืบเองและขอเลื่อนอีก กรณีดังกล่าวมิใช่เหตุจำเป็นที่จะต้องขอเลื่อนการนั่งพิจารณาต่อไปตาม ป.วิ.พ. มาตรา 40 วรรคหนึ่ง การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีโดยให้งดสืบพยานจำเลยนั้นชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9931/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความสิทธิเรียกร้องค่างานรับเหมา: กรณีทำเพื่อกิจการของลูกหนี้
คดีนี้โจทก์และจำเลยต่างเป็นผู้ประกอบการค้ารับจ้างก่อสร้าง จำเลยรับจ้างก่อสร้างถนนและสะพานจากกรมทางหลวงแล้วจำเลยนำงานก่อสร้างสะพานไปว่าจ้างโจทก์ก่อสร้างอีกต่อหนึ่ง งานก่อสร้างสะพานเป็นการที่ได้ทำเพื่อกิจการของจำเลยซึ่งเป็นผู้รับจ้างจากกรมทางหลวงอยู่ด้วย กรณีจึงเป็นเรื่องที่โจทก์ผู้ประกอบการค้ารับจ้างก่อสร้างเรียกเอาค่างานที่ได้ทำให้แก่จำเลยเพื่อกิจการของจำเลย เข้าข้อยกเว้นไม่อยู่ในบังคับอายุความ 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (1) ตอนท้ายที่ว่า เว้นแต่เป็นการที่ได้ทำเพื่อกิจการของฝ่ายลูกหนี้นั้นเอง อายุความสิทธิเรียกร้องของโจทก์ย่อมมีกำหนด 5 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2484/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความสิทธิเรียกร้องค่าจ้างซ่อมรถยนต์: การซ่อมรถยนต์ที่เอาประกันภัยให้บริษัทประกันภัยถือเป็นการทำเพื่อกิจการของลูกหนี้
รถยนต์ที่โจทก์ซ่อมให้จำเลยเป็นรถยนต์ของผู้อื่นที่เอาประกันไว้กับจำเลยและรถยนต์ของบุคคลภายนอกที่จำเลยต้องรับผิดชอบตามเงื่อนไขของกรมธรรม์ประกันภัยซึ่งผู้อื่นทำไว้กับจำเลยมิใช่รถยนต์ของจำเลยเอง ดังนี้ การที่โจทก์ซ่อมรถยนต์ให้จำเลยจึงเป็นการที่ได้ทำเพื่อกิจการของจำเลยซึ่งเป็นฝ่ายลูกหนี้นั่นเอง ตามความใน ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (1) ตอนท้าย อันมีอายุความห้าปีตามมาตรา 193/33 (5) คดีจึงไม่ขาดอายุความ
of 5