คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ม. 119 วรรคหนึ่ง (2)

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3459/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การสอบสวนของพนักงานตรวจแรงงานต้องเป็นไปตามกฎหมาย และการพิจารณาความเสียหายต่อนายจ้างจากลูกจ้าง
การที่ศาลแรงงานภาค 2 กำหนดประเด็นพิพาทข้อแรกว่า คำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ แต่ปรากฏว่าศาลแรงงานภาค 2 ไม่ได้กล่าวถึงข้อเท็จจริงที่ฟังได้โดยสรุปและคำวินิจฉัยถึงประเด็นนี้พร้อมด้วยเหตุผลแห่งคำวินิจฉัย ทั้งที่มีประเด็นตามคำฟ้องว่าจำเลยที่ 4 ในฐานะพนักงานตรวจแรงงานใช้เวลาสอบสวนข้อเท็จจริงและทำคำสั่งเกินกำหนด 42 วัน ตามประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงงาน เรื่อง การกำหนดระยะเวลาแล้วเสร็จของงาน พ.ศ.2551 จะมีผลทำให้การทำสอบข้อเท็จจริงและทำคำสั่งชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และการที่ศาลแรงงานภาค 2 วินิจฉัยข้อเท็จจริงต่อมาว่า ส. ลูกจ้างของโจทก์ไม่ได้เบียดบังเอาทรัพย์สินของโจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างไป กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยว่าลูกจ้างจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหายหรือไม่จึงพิพากษายกฟ้องนั้น ก็ยังไม่ได้ตอบประเด็นข้อพิพาทข้อที่ 2 ที่ว่า ลูกจ้างจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหายหรือไม่ พร้อมทั้งยังไม่ได้แสดงเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยถึงประเด็นข้อนี้ไว้ด้วย ดังนี้ คำพิพากษาศาลแรงงานภาค 2 จึงไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 51 วรรคหนึ่ง อย่างไรก็ตามเมื่อมีข้อเท็จจริงในสำนวนเพียงพอที่จะวินิจฉัยได้ ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยให้โดยไม่ย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานภาค 2 พิพากษาใหม่
กำหนดระยะเวลาสอบสวนข้อเท็จจริงและทำคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 124 วรรคหนึ่ง ที่กำหนดให้พนักงานตรวจแรงงานต้องทำคำสั่งภายในกำหนด 60 วัน นับแต่วันรับคำร้อง และวรรคสอง ที่กำหนดว่าในกรณีที่มีความจำเป็นไม่อาจมีคำสั่งได้ภายในกำหนด ก็ให้พนักงานตรวจแรงงานขอขยายเวลาต่ออธิบดีหรือผู้ที่อธิบดีมอบหมายพร้อมด้วยเหตุผล หากมิได้สอบสวนข้อเท็จจริงหรือทำคำสั่งเสร็จภายในกำหนด 60 วัน หรือภายในเวลาที่ได้รับอนุญาตให้ขยาย ย่อมเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบ ดังนี้เมื่อจำเลยที่ 4 ในฐานะพนักงานตรวจแรงงานใช้เวลาทำการสอบสวนข้อเท็จจริงและทำคำสั่งรวม 57 วันนับแต่วันที่รับคำร้องจาก ส. ลูกจ้างของโจทก์ จึงชอบด้วย พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 124 วรรคหนึ่ง
ส่วนการที่จำเลยที่ 4 สอบสวนข้อเท็จจริงและทำคำสั่งภายใน 60 วัน นับแต่วันที่รับคำร้อง แต่เกินกำหนด 42 วัน ตามประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง การกำหนดระยะเวลาแล้วเสร็จของงาน พ.ศ.2551 ข้อ 4 ที่กำหนดว่า ระยะเวลาการดำเนินการแล้วเสร็จของงานให้เป็นไปตามรายละเอียดที่ปรากฏแนบท้ายประกาศนี้ โดยเอกสารแนบท้ายกำหนดว่า การรับและพิจารณาวินิจฉัยคำร้องรวมทั้งแจ้งคำสั่งกฎหมายคุ้มครองแรงงานกรณีแสวงหาพยานหลักฐานได้ ไม่ซับซ้อนหรือคู่กรณีมาชี้แจงตามกำหนดและให้การครบถ้วน ให้ใช้เวลา 42 วันนั้น ไม่มีผลทำให้คำสั่งของจำเลยที่ 4 ในฐานะพนักงานตรวจแรงงานเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะประกาศดังกล่าวออกโดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.ฎ.ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ.2546 มาตรา 37 และ 38 เพื่อให้การบริหารราชการอำนวยความสะดวกและตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน ซึ่งจะใช้เป็นข้อพิจารณาส่วนหนึ่งในเรื่องการประเมินผลการปฏิบัติงานของราชการและจัดสรรเงินเพิ่มเป็นบำเหน็จความชอบแก่ส่วนราชการหรือจัดสรรเป็นเงินรางวัลแก่ข้าราชการเท่านั้น
การที่ ส. ลูกจ้างของโจทก์มีหน้าที่ควบคุมดูแลการจัดเก็บขยะของพนักงานเก็บขยะจากองค์การบริหารส่วนตำบลห้วยยางแล้วปล่อยให้พนักงานเก็บขยะดังกล่าวเก็บเอาสิ่งของที่มีสภาพไร้ประโยชน์ไม่มีมูลค่าหรือราคาของโจทก์ที่วางอยู่บริเวณจุดทิ้งขยะออกไปจากโรงงานของโจทก์ และนำไปทิ้งบริเวณหลุมขยะหลังวัดห้วยยางตามปกติ โดยโจทก์ไม่มีส่วนเบียดบังเอาสิ่งของดังกล่าว แสดงว่า ส. ลูกจ้างของโจทก์ไม่ได้ประสงค์หรือตั้งใจให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ จึงไม่เป็นการจงใจทำให้โจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างได้รับความเสียหาย และไม่เป็นการทำประการอื่นอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต กรณีไม่มีเหตุเพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานที่ให้โจทก์จ่ายค่าชดเชยและค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่ ส. ลูกจ้างของโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1538/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างที่ไม่แจ้งเหตุในหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้าง ทำให้ต้องจ่ายค่าชดเชยและค่าวันหยุดพักผ่อนตามกฎหมาย
การเลิกจ้างโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 วรรคท้ายนั้น นายจ้างต้องระบุข้อเท็จจริงอันเป็นเหตุที่เลิกจ้างหรือแจ้งเหตุที่เลิกจ้างให้ลูกจ้างทราบในขณะที่เลิกจ้างเมื่อวันที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2551 และตามหนังสือของจำเลยฉบับลงวันที่ 10 มิถุนายน 2551 ซึ่งในวันดังกล่าวจำเลยมิได้แจ้งเหตุและระบุข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำของโจทก์ที่จงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหายเนื่องจากโจทก์ไปทำงานให้บริษัทอื่นที่เป็นคู่แข่งขันทางการค้าของจำเลยให้โจทก์ทราบแต่อย่างใด จึงไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นที่จำเลยจะไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามมาตรา 119 วรรคหนึ่ง (4)
พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 67 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ในกรณีที่นายจ้างเลิกจ้างโดยมิใช่กรณีตามมาตรา 119 ให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีในปีที่เลิกจ้างตามส่วนของวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่ลูกจ้างพึงมีสิทธิได้รับตามมาตรา 30" และมาตรา 119 วรรคท้าย บัญญัติว่า "การเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยตามวรรคหนึ่ง ถ้านายจ้างไม่ได้ระบุข้อเท็จจริงอันเป็นเหตุที่เลิกจ้างไว้ในหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้างหรือไม่ได้แจ้งเหตุที่เลิกจ้างให้ลูกจ้างทราบในขณะที่เลิกจ้าง นายจ้างจะยกเหตุนั้นขึ้นอ้างในภายหลังไม่ได้" แม้ศาลแรงงานกลางจะฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์จงใจทำให้จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างได้รับความเสียหายตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 วรรคหนึ่ง (2) แต่เมื่อจำเลยมิได้ระบุข้อเท็จจริงดังกล่าวไว้ในหนังสือที่แจ้งให้โจทก์ทราบว่าโจทก์พ้นสภาพจากการเป็นพนักงาน ฉบับลงวันที่ 10 มิถุนายน 2551 และไม่ได้แจ้งข้อเท็จจริงดังกล่าวให้โจทก์ทราบในขณะที่เลิกจ้าง จำเลยจึงยกข้อเท็จจริงดังกล่าวขึ้นอ้างเพื่อปฏิเสธความรับผิดตามมาตรา 67 ไม่ได้และยังต้องถือว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยมิใช่กรณีตามมาตรา 119 จำเลยจึงต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามมาตรา 67 ให้แก่โจทก์