คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ม. 5 วรรคหนึ่ง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 74 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8347-8401/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การใช้สิทธิโดยไม่สุจริตของโจทก์ที่รู้เห็นการออกโฉนดที่ดินโดยมิชอบ ทำให้ไม่มีอำนาจฟ้อง
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 รับผิดเป็นการส่วนตัวในผลแห่งละเมิดที่เจ้าหน้าที่ได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 5 วรรคหนึ่ง ของ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 โจทก์ฎีกาแต่เพียงว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ในฐานะเจ้าพนักงานที่ดินกระทำการประมาทเลินเล่อ โดยโจทก์มิได้ฎีกาโต้แย้งคัดค้านคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ดังกล่าว ซึ่งเมื่อโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 รับผิดเป็นการส่วนตัวในผลแห่งละเมิด กรณีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 กระทำละเมิดหรือไม่
โจทก์มีส่วนเกี่ยวข้องหรือมีส่วนรู้เห็นกับจำเลยที่ 5 ถึงที่ 7 ซึ่งรับทำการจัดซื้อที่ดินผืนใหญ่ให้โจทก์ สนับสนุนให้จำเลยที่ 3 เจ้าหน้าที่ที่ดินกระทำโดยทุจริตในการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์แปลงพิพาท ซึ่งเมื่อโจทก์มีส่วนก่อให้เกิดการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์โดยไม่ชอบ โจทก์ไม่อาจอ้างสิทธิใด ๆ ได้ ที่โจทก์ฟ้องคดีนี้จึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 5 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสี่สิบเก้า

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3462/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแถลงข่าวของอธิการบดีเพื่อรักษาชื่อเสียงมหาวิทยาลัยและประโยชน์ของทางราชการได้รับการคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่
การที่จำเลยจัดแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนและบุคลากรของมหาวิทยาลัย อ. รวมทั้งนักศึกษาของมหาวิทยาลัยบางส่วน ในฐานะเป็นอธิการบดีซึ่งทำการแทนมหาวิทยาลัย อ. มิได้กระทำเป็นส่วนตัว เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัย อ. ที่ทำให้มหาวิทยาลัย อ. จำต้องตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพื่อหาตัวผู้กระทำผิดทางวินัย รวมถึงสาเหตุของการเผยแพร่ใบปลิวและความวุ่นวายที่เกิดจากการชุมนุมปราศรัยของโจทก์กับพวก เพื่อให้ทราบความจริงที่เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัย อ. อันเป็นการรักษาชื่อเสียงของมหาวิทยาลัย อ. และปกป้องประโยชน์ของทางราชการย่อมถือเป็นการให้ข่าวสารข้อมูลของทางราชการเกี่ยวกับมหาวิทยาลัย อ. อันเป็นการกระทำในการปฏิบัติหน้าที่ตามที่ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการให้ข่าวและบริการข่าวสารของทางราชการ พ.ศ.2529 ให้อำนาจจำเลยไว้ โจทก์จึงไม่อาจฟ้องจำเลยให้รับผิดทางแพ่งในมูลละเมิดแก่โจทก์ได้ เพราะต้องห้ามตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 5 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 520/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฐานะทางกฎหมายของจำเลยในคดีละเมิดและการฟ้องหน่วยงานตามพรบ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 65 นิติบุคคลจะมีขึ้นได้ก็แต่ด้วยอาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือกฎหมายอื่นเท่านั้น ดังนั้น คณะบุคคลหรือหน่วยงานใด หากไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายรับรองสถานะว่ามีฐานะเป็นนิติบุคคล ย่อมไม่อาจมีสภาพเป็นนิติบุคคลได้ ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2550 มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการจัดตั้งองค์กร อยู่ในหมวดที่ 2 สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง โดยมาตรา 30 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ให้มีสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นหน่วยงานที่เป็นอิสระตามรัฐธรรมนูญ มีฐานะเป็นนิติบุคคลและอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการการเลือกตั้ง โดยมีประธานกรรมการการเลือกตั้งเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุด" ส่วนบทบัญญัติในหมวด 1 คณะกรรมการการเลือกตั้ง หาได้มีบทมาตราใดบัญญัติรับรองให้คณะกรรมการการเลือกตั้งมีฐานะเป็นนิติบุคคลไม่
ตามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ได้นิยามความหมายของ "เจ้าหน้าที่" ว่า หมายความว่า ข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้างหรือผู้ปฏิบัติงานประเภทอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นการแต่งตั้งในฐานะเป็นกรรมการหรือฐานะอื่นใดซึ่งเมื่อพิจารณาประกอบ พ.ร.ฎ.กำหนดหน่วยงานของรัฐตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 พ.ศ.2540 ที่กำหนดให้สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นหน่วยงานของรัฐด้วย ดังนั้นจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ในฐานะกรรมการการเลือกตั้งซึ่งมีอำนาจหน้าที่ตามมาตรา 10 (1) แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2550 ในอันที่จะควบคุมและดำเนินการจัดหรือจัดให้มีการเลือกตั้ง หรือสนับสนุนการสรรหาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น แล้วแต่กรณี รวมทั้งการออกเสียงประชามติให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม กับมีอำนาจหน้าที่วางระเบียบและดำเนินการหรือสั่งการเพื่อกำกับดูแลกิจการต่าง ๆ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 10 (2) ถึง (17) และมีอำนาจหน้าที่อื่น ๆ ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 11 ถึงมาตรา 25 แล้ว และตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 236 (9) บัญญัติให้คณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจดำเนินการอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติได้ โดยมีความในวรรคสองและวรรคสามให้อำนาจคณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจแต่งตั้งบุคคล คณะบุคคล หรือผู้แทนองค์การเอกชนให้ดำเนินการเพื่อประโยชน์แห่งการปฏิบัติหน้าที่การสืบสวนสอบสวนเพื่อวินิจฉัยชี้ขาดได้ การที่คณะกรรมการการเลือกตั้งออกคำสั่งคณะกรรมการการเลือกตั้งที่ 334/2551 เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการไต่สวนเพื่อแต่งตั้งจำเลยที่ 5 ถึงที่ 9 เป็นกรรมการไต่สวนเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานประกอบ การพิจารณาก่อนดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 วรรคสาม จำเลยที่ 5 ถึงที่ 9 จึงมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายที่จะทำการไต่สวน แสวงหา และรวบรวมพยานหลักฐาน จำเลยที่ 2 ถึงที่ 9 มีฐานะเป็น "เจ้าหน้าที่" สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 และตาม พ.ร.ฎ.กำหนดหน่วยงานของรัฐตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 พ.ศ.2540 และการกระทำที่โจทก์บรรยายมาในฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 9 กระทำละเมิดต่อโจทก์นั้น แม้หากเป็นความจริงก็เป็นการฟ้องกล่าวหาจำเลยที่ 2 ถึงที่ 9 กระทำละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งเข้าเกณฑ์ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 5 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติให้โจทก์ต้องฟ้องหน่วยงานคือ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งโดยตรง จะฟ้องจำเลยที่ 2 ถึงที่ 9 ซึ่งเป็น "เจ้าหน้าที่" ให้รับผิดเป็นการส่วนตัวไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12979/2558 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่: การดูแลผู้เยาว์และการปฏิบัติหน้าที่โดยประมาท
ป.พ.พ. มาตรา 430 ครูบาอาจารย์ นายจ้าง หรือบุคคลอื่นซึ่งรับดูแลบุคคลผู้ไร้ความสามารถอยู่เป็นนิตย์ชั่วครั้งคราว จำต้องรับผิดร่วมกับผู้ไร้ความสามารถในการละเมิด ซึ่งได้กระทำลงในระหว่างที่อยู่ในความดูแลของตน บุคคลซึ่งรับดูแลต้องมีเจตนาที่จะรับดูแลบุคคลผู้ไร้ความสามารถ อาจเกิดจากหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด ตามสัญญา ตามวิชาชีพ หรือตามพฤติการณ์ ส่วนบุคคลผู้ไร้ความสามารถหมายถึง ผู้เยาว์ ผู้วิกลจริต จำเลยที่ 1 อายุ 14 ปี ถือว่าเป็นผู้เยาว์ การที่จ่าสิบตำรวจ ว. ขับรถยนต์ของทางราชการนำจำเลยที่ 1 กับพวกไปส่งสถานพินิจฯ เป็นหน้าที่ตามที่กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากำหนดไว้ แต่ไม่มีเจตนาที่จะรับดูแลจำเลยที่ 1 จึงไม่อยู่ในบังคับแห่งมาตรา 430 พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 5 วรรคหนึ่ง เป็นเรื่องหน่วยงานของรัฐต้องรับผิดต่อผู้เสียหายในผลแห่งละเมิดที่เจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ ในกรณีนี้ผู้เสียหายอาจฟ้องหน่วยงานของรัฐดังกล่าวได้โดยตรง แต่จะฟ้องเจ้าหน้าที่ไม่ได้ จ่าสิบตำรวจ ว. ลงจากรถ โดยดับเครื่องยนต์ แต่ไม่ได้นำกุญแจรถยนต์ติดตัวไปด้วย เป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 หลบหนี โดยขับรถยนต์ของทางราชการไปและก่อให้เกิดความเสียหาย การที่จำเลยที่ 1 หลบหนีเป็นการบกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่ของจ่าสิบตำรวจ ว. การที่จำเลยที่ 1 กระทำโดยประมาทเลินเล่อขับรถไปก่อให้เกิดความเสียหายเป็นการกระทำของจำเลยที่ 1 เอง ผลแห่งละเมิดมิได้เกิดจากจ่าสิบตำรวจ ว. ได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ จำเลยที่ 4 จึงไม่ต้องรับในผลแห่งละเมิด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12979/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ขอบเขตความรับผิดของเจ้าพนักงานตำรวจและหน่วยงานรัฐต่อละเมิดของผู้ต้องหาเด็ก
เจ้าพนักงานตำรวจนำตัวผู้เยาว์ส่งสถานพินิจฯ เป็นหน้าที่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากำหนดไว้ไม่มีเจตนารับดูแลผู้เยาว์ เมื่อผู้เยาว์หลบหนีไปทำละเมิด เจ้าพนักงานตำรวจไม่ต้องรับผิดเพราะไม่อยู่ในบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 430 ส่วนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไม่ต้องรับผิดเพราะเป็นเพียงความบกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานตำรวจไม่ได้ทำละเมิดโดยตรงที่หน่วยงานของรัฐจะต้องรับผิดตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 5 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10942-10943/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของคู่สัญญาเช่าและการชดใช้ค่าเสียหายจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ ความรับผิดของผู้เช่าและผู้ให้เช่า
แม้จำเลยที่ 2 จะแปรรูปเป็นบริษัทไปแล้วแต่มาตรา 26 แห่ง พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542 และหมายเหตุท้ายพระราชบัญญัติก็ยังกำหนดให้จำเลยที่ 2 เป็นรัฐวิสาหกิจอยู่เช่นเดิม เมื่อจำเลยที่ 2 ให้การยืนยันมาตั้งแต่แรกว่าเป็นรัฐวิสาหกิจ ดังนั้น ก็ยังถือว่าจำเลยที่ 2 เป็นหน่วยงานของรัฐตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 4 เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างจึงเป็นพนักงานของจำเลยที่ 2 โจทก์ทั้งสองฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดไม่ได้ตามมาตรา 5 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องร่วมกับจำเลยที่ 2 รับผิดต่อโจทก์ทั้งสอง
ในการทำสัญญาเช่า การที่จำเลยร่วมผู้ให้เช่าตกลงกับจำเลยที่ 2 ผู้เช่าว่าจำเลยร่วมตกลงยอมรับผิดต่อผู้โดยสารในรถยนต์ที่นำมาให้เช่าและบุคคลภายนอกในความเสียหายที่จำเลยที่ 1 ลูกจ้างจำเลยที่ 2 กระทำละเมิดขับรถยนต์ที่เช่าไปก่อความเสียหายขึ้น เป็นสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอกตาม ป.พ.พ. มาตรา 374 ไม่ถือว่าเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมไม่มีผลบังคับตามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 และไม่ใช่ความตกลงที่ทำไว้ล่วงหน้าเป็นข้อความยกเว้นมิให้จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดเพื่อกลฉ้อฉลหรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของตนในอันจะถือว่าเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 373 เนื่องจากจำเลยที่ 2 ก็ยังต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองในเหตุละเมิดที่จำเลยที่ 1 กระทำขึ้นในครั้งนี้ เมื่อเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอก การที่จำเลยที่ 1 ลูกจ้างจำเลยที่ 2 กระทำละเมิดในทางการที่ว่าจ้างโดยขับรถยนต์กระบะที่เช่าไปก่อความเสียหายแก่โจทก์ทั้งสอง จำเลยที่ 2 ในฐานะคู่สัญญาจึงมีสิทธิฟ้องบังคับให้จำเลยร่วมชดใช้ค่าเสียหายที่จำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองได้ กรณีไม่ใช่เป็นสัญญาเฉพาะตัวโดยตรง ดังนั้น แม้จำเลยร่วมไม่ใช่ลูกจ้างจำเลยที่ 2 ในอันที่จะใช้สิทธิไล่เบี้ย แต่ก็ถือว่าจำเลยที่ 2 อาจฟ้องจำเลยร่วมเพื่อใช้ค่าสินไหมทดแทน จึงเข้ากรณี ป.วิ.พ. มาตรา 57 (3) ก ที่จำเลยที่ 2 มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นหมายเรียกจำเลยร่วมเข้ามาเป็นจำเลยร่วมกับจำเลยที่ 2 ได้
ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระค่าเสียหาย หากจำเลยที่ 2 ไม่ชำระให้จำเลยร่วมและจำเลยที่ 3 ชำระแทนเป็นการไม่ชอบเนื่องจากกรณีไม่ใช่ผู้ค้ำประกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5726/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ละเมิดจากเจ้าหน้าที่, ความรับผิดของหน่วยงาน, อายุความ, ความเสียหายจากการประกอบธุรกิจ
คำฟ้องของโจทก์ระบุว่าใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ เอกสารที่จำเลยที่ 2 ทำปลอมขึ้นได้กระทำที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา แต่จำเลยที่ 1 นำรถยนต์ทั้งสองคันดังกล่าวมาขายให้แก่โจทก์ที่ร้านของโจทก์ที่อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ร้านของโจทก์ดังกล่าวจึงมีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุอันเป็นที่มาแห่งการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ ถือได้ว่ามูลคดีเกิดขึ้นที่อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งอยู่ในเขตอำนาจศาลชั้นต้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 4 (1)
สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติว่าขาดอายุความเมื่อพ้นหนึ่งปีนับแต่วันที่ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือเมื่อพ้นสิบปีนับแต่วันทำละเมิด และในวรรคสองที่ว่า แต่ถ้าเรียกร้องค่าเสียหายในมูลอันเป็นความผิดที่มีโทษตามกฎหมายลักษณะอาญา และมีกำหนดอายุความทางอาญายาวกว่า ก็ให้เอาอายุความที่ยาวกว่ามาบังคับนั้น คงใช้บังคับได้แต่ในกรณีการเรียกร้องค่าเสียหายในมูลละเมิดจากตัวผู้กระทำผิดหรือร่วมกระทำผิดโดยเฉพาะเท่านั้น มิได้รวมถึงการเรียกร้องจากผู้อื่นซึ่งมิได้เป็นผู้กระทำผิดหรือร่วมในการกระทำผิดด้วย
จำเลยที่ 4 มิได้เป็นผู้กระทำผิดหรือร่วมในการกระทำผิด เพียงแต่เป็นหน่วยงานของรัฐต้นสังกัดของจำเลยที่ 2 ซึ่งถูกโจทก์กล่าวหาว่ากระทำการโดยทุจริตหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ปลอมใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์พิพาททำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ซึ่งตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 5 วรรคหนึ่ง กำหนดให้หน่วยงานของรัฐดังกล่าวต้องรับผิดทางแพ่งต่อผู้เสียหายในผลแห่งละเมิดที่เจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ด้วยเท่านั้นหาได้บัญญัติให้หน่วยงานของรัฐต้องรับผิดร่วมกับเจ้าหน้าที่ของตนซึ่งเป็นผู้กระทำละเมิดดังเช่นในฐานะนายจ้างกับลูกจ้างไม่ จึงไม่อาจนำกำหนดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 มาใช้บังคับแก่กรณีนั้นได้ แต่เนื่องจากตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มิได้บัญญัติอายุความฟ้องร้องหน่วยงานของรัฐไว้โดยเฉพาะ จึงต้องนำกำหนดอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 มาใช้บังคับแก่กรณีนี้ แม้จำเลยที่ 2 และที่ 4 จะให้การต่อสู้ว่า โจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้พึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนคือ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ตั้งแต่วันที่ 31 มกราคม 2548 แต่โจทก์นำคดีนี้มาฟ้องเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2550 ยังไม่พ้นกำหนดสิบปี คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4373/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องหน่วยงานรัฐตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ - ไม่ใช่ความรับผิดนายจ้างลูกจ้าง
ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 5 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ผู้เสียหายในทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำไปในทางปฏิบัติหน้าที่ ฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากหน่วยงานรัฐโดยตรง แต่ห้ามมิให้ฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากเจ้าหน้าที่รัฐนั้น เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดในขณะที่ปฏิบัติหน้าที่ จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดต่อโจทก์ในผลแห่งละเมิดที่จำเลยที่ 1 ได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 5 วรรคหนึ่ง ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวหาได้บัญญัติให้จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ผู้กระทำละเมิดดังเช่นในฐานะนายจ้างกับลูกจ้างไม่ จึงไม่อาจกำหนดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่ง มาใช้บังคับ แต่เนื่องจากตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มิได้บัญญัติอายุความฟ้องร้องหน่วยงานรัฐได้โดยเฉพาะ จึงต้องนำกำหนดอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 มาใช้บังคับแก่กรณีนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17950/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของหน่วยงานรัฐต่อละเมิดของเจ้าหน้าที่ และขอบเขตค่าเสียหายจากละเมิด
ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาว่าจำเลยร่วมไม่ต้องรับผิด ทั้งข้อวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ไม่ได้กระทบกระเทือนสิทธิของจำเลยร่วม จำเลยร่วมจึงไม่มีสิทธิฎีกา
ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ผู้ทำละเมิดเป็นลูกจ้างกองน้ำบาดาล ในสังกัดจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐที่มีฐานะเป็นกรม จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดต่อผู้เสียหายในผลละเมิดที่จำเลยที่ 1 ทำตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 4 และมาตรา 5 วรรคหนึ่ง แม้ต่อมาจะมี พ.ร.ฎ.ให้โอนกองน้ำบาดาลไปสังกัดจำเลยร่วม ก็เป็นการเปลี่ยนแปลงเฉพาะฐานะของกองน้ำบาดาล ความรับผิดของจำเลยที่ 2 ในฐานะนิติบุคคลที่จำเลยที่ 1 สังกัดในขณะเกิดเหตุยังมีผลผูกพันต่อไป
สำหรับค่าขาดแรงงานไม่ใช่ค่าขาดไร้อุปการะตาม ป.พ.พ. มาตรา 443 วรรคสาม เมื่อไม่ปรากฏว่าขณะผู้ตายทั้งสองยังมีชีวิตได้ช่วยดำเนินกิจการของโจทก์ที่ 4 โจทก์ที่ 4 จึงไม่สามารถเรียกค่าขาดแรงงาน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15899/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ในคดีละเมิด: การกระทำผ่านผู้แทนของหน่วยงานของรัฐ
คำฟ้องของโจทก์เป็นเรื่องละเมิด เรียกค่าเสียหาย โดยบรรยายชัดแจ้งว่า จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ใช้ให้พนักงานของจำเลยที่ 1 ใส่กุญแจประตูทางเข้าบริเวณที่เช่า เป็นเหตุให้โจทก์ไม่สามารถเข้าออก ใช้สอยและผลิตสินค้าในที่เช่าได้ เป็นการกล่าวหาว่าจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อโจทก์ และยอมรับว่าจำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลหน่วยงานของรัฐ จำเลยที่ 2 เป็นผู้อำนวยการซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐใช้ให้พนักงานของจำเลยที่1 กระทำการดังกล่าว แม้จะบรรยายในลักษณะว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำละเมิดก็ตาม จำเลยที่ 2 เป็นผู้แทนจำเลยที่ 1 การแสดงออกถึงวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 1 ย่อมผ่านทางจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้อำนวยการผู้รับผิดชอบโดยตรง กรณีต้องด้วยมาตรา 5 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ที่บัญญัติให้หน่วยงานของรัฐต้องรับผิดต่อผู้เสียหายในผลแห่งละเมิดที่เจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ โจทก์ชอบที่จะฟ้องจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐได้โดยตรง จำเลยที่ 2 ปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ในขอบเขตของตนจึงไม่ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2
of 8