คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 ม. 5

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 5 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3882/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เขตอำนาจศาลคดีขนส่งระหว่างประเทศ: ศาลไทยมีอำนาจพิจารณา แม้มีข้อตกลงระบุฟ้องที่ฮ่องกง
แม้ข้อตกลงในใบตราส่งจะระบุให้นำข้อพิพาทที่เกิดขึ้นฟ้องต่อศาลเมืองฮ่องกง แต่ตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 5 และมาตรา 7 (5) ให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งเกี่ยวกับการขนส่งระหว่างประเทศ คดีนี้โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 2 ผู้ขนส่งซึ่งอยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาอยู่ต่างประเทศให้รับผิดชดใช้ค่าเสียหายจากการที่สินค้าได้เสียหายหรือสูญหายในระหว่างการขนส่งตามสัญญารับขนของทางทะเลระหว่างประเทศไทยกับประเทศสเปนอันเป็นการขนส่งระหว่างประเทศ และให้จำเลยที่ 1 ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ที่กรุงเทพมหานครในฐานะตัวแทนผู้ทำสัญญารับขนดังกล่าวแทนจำเลยที่ 2 ซึ่งอยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาอยู่ต่างประเทศให้ร่วมรับผิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 824 มูลคดีจึงเกิดจากสัญญารับขนของทางทะเลที่ทำในราชอาณาจักรไทย กฎหมายที่ใช้บังคับคือกฎหมายไทย พยานหลักฐานต่าง ๆ ก็อยู่ในเขตอำนาจศาลไทยเป็นส่วนใหญ่ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางซึ่งเป็นศาลที่มีเขตอำนาจย่อมพิจารณาพิพากษาข้อพิพาทที่เกิดขึ้นได้ด้วย หาจำต้องนำคดีไปฟ้องยังศาลเมืองฮ่องกงแต่เพียงแห่งเดียวเท่านั้นไม่
กรณีพิพาทเป็นการขนส่งทางทะเลอันเป็นการขนส่งระหว่างประเทศ และปรากฏว่าคู่กรณีฝ่ายหนึ่งคือบริษัท อ. เป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย กฎหมายที่ใช้บังคับกับสัญญารับขนของทางทะเลดังกล่าวจึงต้องเป็น พ.ร.บ. การรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 ตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3882/2549 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขนส่งทางทะเล: ความรับผิดของผู้ขนส่ง, อายุความฟ้องร้อง, และการจำกัดความรับผิดตามกฎหมาย
โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 2 ผู้ขนส่งซึ่งอยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาอยู่ต่างประเทศรับผิดชดใช้ค่าเสียหายจากการที่สินค้าได้เสียหายและสูญหายไปในระหว่างการขนส่งตามสัญญารับขนของทางทะเลระหว่างประเทศไทยไปยังประเทศสเปนอันเป็นการขนส่งระหว่างประเทศ และให้จำเลยที่ 1 ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ที่กรุงเทพมหานครในฐานะตัวแทนผู้ทำสัญญารับขนดังกล่าวแทนจำเลยที่ 2 ซึ่งอยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาอยู่ต่างประเทศร่วมรับผิด โดยผลของ ป.พ.พ. มาตรา 824 จึงเป็นการฟ้องคดีแพ่งเกี่ยวกับการขนส่งระหว่างประเทศ โจทก์จึงมีสิทธินำคดีมาฟ้องต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางซึ่งมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับการขนส่งระหว่างประเทศตามมาตรา 5 และมาตรา 7 (5) แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศฯ แม้ใบตราส่งจะระบุว่าต้องใช้กฎหมายของเมืองฮ่องกง แต่กรณีพิพาทเป็นการขนส่งทางทะเลจากที่แห่งหนึ่งในราชอาณาจักรไปยังที่อีกแห่งหนึ่งนอกราชอาณาจักร และปรากฏว่าคู่กรณีฝ่ายหนึ่งซึ่งเป็นผู้ส่งของเป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยกฎหมายที่ใช้บังคับกับสัญญารับขนของทางทะเลจึงต้องเป็น พ.ร.บ.การรับขนของทางทะลฯ ตามมาตรา 4

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3537/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลไทยฟ้องคดีกู้ยืมระหว่างประเทศ, การใช้กฎหมายต่างประเทศ, และการคิดอัตราแลกเปลี่ยน
การกู้เงินพิพาทมีผู้ให้กู้ร่วมกันหลายบริษัทซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ในประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์และประเทศมาเลเซีย ส่วนผู้กู้มีสำนักงานอยู่ในประเทศไทย การที่คู่สัญญาตกลงกันให้นำคดีเกี่ยวกับสัญญาทางธุรกิจการค้าระหว่างประเทศไปฟ้องยังศาลแห่งประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์จึงทำได้ตามหลักกฎหมายทั่วไประหว่างประเทศแต่ข้อตกลงเลือกศาลดังกล่าว คู่สัญญาไม่ได้ตกลงให้ฟ้องร้องยังศาลแห่งประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์เพียงศาลเดียวเด็ดขาดเพราะได้เปิดโอกาสให้ผู้ให้กู้ฟ้องผู้กู้ในศาลอื่นที่มีเขตอำนาจได้ด้วย การที่โจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นผู้ให้กู้ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นผู้กู้ต่อศาลในประเทศไทยจึงมีอำนาจทำได้ตามสัญญา
ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539มาตรา 5 วรรคสอง บัญญัติให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีเขตตลอดกรุงเทพมหานคร กับมาตรา 7(5) และ (6) บัญญัติให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งเกี่ยวกับการซื้อขาย แลกเปลี่ยนสินค้าหรือตราสารการเงินระหว่างประเทศ หรือการให้บริการระหว่างประเทศ เมื่อจำเลยทั้งสองมีภูมิลำเนาอยู่ในกรุงเทพและคดีพิพาทเป็นเรื่องการกู้ยืมเงินระหว่างประเทศ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางได้
กฎหมายของประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์มีอยู่อย่างไรเป็นหน้าที่ของคู่ความฝ่ายที่กล่าวอ้างว่าเป็นกรณีที่ศาลไทยต้องใช้กฎหมายดังกล่าวนำพยานผู้เชี่ยวชาญกฎหมายของประเทศนั้นมาสืบประกอบตัวบทกฎหมายที่จะใช้บังคับแก่คดีให้เป็นที่พอใจศาล เมื่อจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นฝ่ายกล่าวอ้างมิได้พิสูจน์กฎหมายนั้น ให้เป็นที่พอใจแก่ศาล ศาลจึงต้องใช้กฎหมายภายในของประเทศไทยมาบังคับแก่คดีตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ. 2481 มาตรา 8

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3537/2546 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับจำนำหุ้นจากสัญญาเงินกู้ การคิดอัตราแลกเปลี่ยน และการโต้แย้งการขายทอดตลาด
การกู้เงินรายนี้มีผู้ให้กู้หลายบริษัท ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ในประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์และประเทศมาเลเซีย ส่วนผู้กู้มีสำนักงานอยู่ในประเทศไทย ดังนั้นการที่คู่สัญญาตกลงกันให้นำคดีเกี่ยวกับสัญญาฉบับนี้ ซึ่งเป็นสัญญาทางธุรกิจการค้าระหว่างประเทศไปฟ้องยังศาลแห่งประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์จึงทำได้ตามหลักกฎหมายทั่วไประหว่างประเทศ แต่ข้อตกลงเลือกศาลตามสัญญาฉบับนี้คู่สัญญาไม่ได้ตกลงให้ฟ้องร้องยังศาลแห่งประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์เพียงศาลเดียวเด็ดขาด เพราะได้เปิดโอกาสให้ผู้ให้กู้ฟ้องร้องดำเนินคดีแก่ผู้กู้ในศาลอื่นที่มีเขตอำนาจได้ด้วย การที่โจทก์ทั้งสามยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลในประเทศไทยจึงมีอำนาจทำได้ตามสัญญาและเนื่องจากตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศฯ มาตรา 5 วรรคสองบัญญัติให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีเขตตลอดกรุงเทพมหานคร กับมาตรา 7(5) และ (6) บัญญัติให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับการซื้อขาย แลกเปลี่ยนสินค้าหรือตราสารการเงินระหว่างประเทศ หรือการให้บริการระหว่างประเทศ เมื่อจำเลยทั้งสองมีภูมิลำเนาอยู่ในกรุงเทพและคดีพิพาทเป็นเรื่องการกู้ยืมเงินระหว่างประเทศโจทก์มีอำนาจฟ้องต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางได้
กฎหมายของประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์ที่เกี่ยวกับคดีนี้มีอยู่อย่างไร เป็นหน้าที่ของคู่ความฝ่ายที่กล่าวอ้างว่าเป็นกรณีที่ศาลไทยต้องใช้กฎหมายดังกล่าวนำพยานผู้เชี่ยวชาญกฎหมายของประเทศนั้นมาสืบประกอบตัวบทกฎหมายที่จะใช้บังคับแก่คดีให้เป็นที่พอใจศาล เมื่อจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นฝ่ายกล่าวอ้างมิได้พิสูจน์กฎหมายนั้นให้เป็นที่พอใจศาล ศาลจึงต้องใช้กฎหมายภายในของประเทศไทยมาบังคับแก่คดีตามพระราชบัญญัติ ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมายฯ มาตรา 8

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9524/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนสิทธิเรียกร้อง, อัตราแลกเปลี่ยนเงิน, และขอบเขตคำพิพากษาในคดีทรัพย์สินทางปัญญา
ใบมอบอำนาจที่ทำในเมืองต่างประเทศไม่อยู่ในบังคับให้ต้องปิดอากรแสตมป์ตามประมวลรัษฎากร
หนังสือมอบอำนาจที่ทำในเมืองต่างประเทศมีเจ้าพนักงานโนตารีปับลิกลงชื่อเป็นพยานและมีใบสำคัญของรัฐบาลต่างประเทศที่เกี่ยวข้องแสดงว่าบุคคลที่เป็นพยานนั้นเป็นผู้มีอำนาจกระทำการได้ แม้จะไม่มีกงสุลไทยเป็นพยาน ก็ไม่มีเหตุอันควรสงสัยว่าใบมอบอำนาจนั้นจะไม่ใช่ใบมอบอำนาจอันแท้จริง จึงไม่ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 26 ประกอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 47 วรรคสาม การมอบอำนาจนั้นย่อมชอบด้วยกฎหมายแล้ว
แม้ข้อตกลงเกี่ยวกับอำนาจศาลตามสัญญาฉบับพิพาทที่กำหนดให้คู่สัญญาดำเนินการฟ้องร้องต่อศาลแห่งประเทศอังกฤษเพียงแห่งเดียว จะทำขึ้นก่อนที่จะมีการจัดตั้งและเปิดทำการศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้า- ระหว่างประเทศกลางก็ตาม แต่คดีนี้เกี่ยวด้วยหนี้เหนือบุคคล จำเลยทั้งหมดต่างมีภูมิลำเนาอยู่ในกรุงเทพมหานคร โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งหมดต่อศาลในประเทศไทย คือ ศาลแพ่งอันเป็นศาลที่จำเลยทั้งหมดมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 4(2) เดิม(มาตรา 4(1) ที่แก้ไขใหม่) ต่อมาเมื่อ พ.ร.บ. จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 ใช้บังคับศาลทรัพย์สิน-ทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางซึ่งมีเขตศาลตลอดกรุงเทพมหานคร และมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งเกี่ยวกับสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา จึงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาได้ตาม พ.ร.บ.มาตรา 5 และมาตรา 7(3) โจทก์ย่อมมีสิทธินำคดีนี้มาฟ้องต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง หาจำต้องนำไปฟ้องยังศาลแห่งประเทศอังกฤษแต่เพียงแห่งเดียวไม่
พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 68 วรรคสอง, 80 และ 94 ซึ่งบัญญัติให้สัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในเครื่องหมายการค้า เครื่องหมายบริการหรือเครื่องหมายร่วมเฉพาะที่ได้จดทะเบียนแล้วต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อนายทะเบียนด้วย มีผลใช้บังคับในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2535 แต่ขณะทำสัญญาบทกฎหมายดังกล่าวยังไม่ใช้บังคับ และกฎหมายที่ใช้บังคับเกี่ยวกับเครื่องหมายบริการขณะนั้นยังไม่มี เมื่อสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิไม่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย หรือเป็นการพ้นวิสัย หรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือ ศีลธรรมอันดีของประชาชน จึงใช้บังคับได้ และบทบัญญัติดังกล่าวเป็นกฎหมายสารบัญญัติ ไม่มีผลใช้บังคับย้อนหลังไม่ทำให้สัญญาซึ่งสมบูรณ์อยู่แล้วต้องเสียไปหรือตกเป็นโมฆะ
สัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิระหว่างบริษัทผู้อนุญาตกับจำเลยที่ 1 ผู้รับอนุญาตมีข้อตกลงว่า "ให้ผู้อนุญาตโอนสิทธิและภาระผูกพันของตนได้อย่างอิสระ" และได้มีการแจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ลูกหนี้ทราบโดยทางโทรสารและไปรษณีย์ลงทะเบียนแล้ว เมื่อไม่ปรากฏว่าสภาพแห่งสิทธินั้นเองจะไม่เปิดช่องให้โอนกันได้ บริษัทผู้อนุญาตให้ใช้สิทธิจึงโอนสิทธิเรียกร้องให้แก่ผู้รับโอนได้โดยชอบ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 303 วรรคแรก และเมื่อการโอนดังกล่าวมีการแจ้งเป็นหนังสือให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ลูกหนี้ทราบแล้วตามมาตรา 306 วรรคแรก การโอนนั้นจึงใช้ยันจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้
การโอนสิทธิและอนุญาตให้ใช้สิทธิในชื่อทางการค้า เครื่องหมายบริการ เครื่องหมายการค้า และสิทธิในระบบปฏิบัติการที่มีอยู่แล้วก่อนนำมาจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายบริการในประเทศไทยมิใช่การโอนสิทธิในเครื่องหมายบริการที่ได้รับการจดทะเบียน จึงไม่ต้องจดทะเบียนต่อนายทะเบียนตามแบบแห่งนิติกรรมดังที่กำหนดไว้มาตรา 51 วรรคสอง และ 68 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534
โจทก์มีคำขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้แก่โจทก์เป็นเงินดอลลาร์สหรัฐ เมื่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้า-ระหว่างประเทศวินิจฉัยว่าจำเลยต้องรับผิดชำระหนี้แก่โจทก์ ก็ชอบที่จะพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์เป็นเงินดอลลาร์สหรัฐตามคำขอบังคับของโจทก์ท้ายคำฟ้องเท่านั้น
แม้ลูกหนี้มีสิทธิชำระหนี้เงินดอลลาร์สหรัฐตามคำพิพากษาเป็นเงินบาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 196 วรรคแรก แต่การเปลี่ยนเงินก็ต้องเป็นไปตามมาตรา 196 วรรคสอง ที่ให้คิดตามอัตราแลกเปลี่ยนเงิน ณ สถานที่และในเวลาที่ใช้เงิน ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้เจ้าหนี้และลูกหนี้ได้เปรียบหรือเสียเปรียบกันอันเนื่องมาจากอัตราแลกเปลี่ยนเงิน การชำระหนี้ด้วยเงินไทยและการเปลี่ยนเงินเป็นปัญหาในชั้นบังคับคดี จึงไม่ต้องกำหนดไว้ในคำพิพากษา แต่การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำพิพากษาเกี่ยวกับการคิดอัตราแลกเปลี่ยนเงินดอลลาร์สหรัฐเป็นเงินบาทโดยให้คิดตามอัตราแลกเปลี่ยนเงินในวันที่มีคำพิพากษาซึ่งอาจมีอัตราแลกเปลี่ยนแตกต่างจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินในเวลาที่มีการใช้เงิน หากลูกหนี้ต้องชำระหนี้เป็นเงินบาทโดยใช้อัตราแลกเปลี่ยนเงินในวันอ่านคำพิพากษาซึ่งถ้าเงิน 1 ดอลลาร์สหรัฐ แลกเป็นเงินบาทได้มากกว่าในวันชำระเงินจริง ก็จะทำให้ลูกหนี้ต้องชำระหนี้ด้วยเงินบาทเป็นจำนวนสูงกว่าจำนวนเงินบาทที่คิดตามอัตราแลกเปลี่ยนในวันที่ใช้เงินและมีผลทำให้จำนวนเงินที่ต้องชำระหนี้เป็นเงินบาทนั้นคิดเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐสูงกว่าจำนวนเงินตามคำขอบังคับท้ายคำฟ้องของโจทก์อันถือเป็นการพิพากษาเกินไปหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ. จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและ วิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 26 ประกอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง และเป็นการมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวว่าด้วยคำพิพากษาและคำสั่งตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศฯ พ.ศ. 2539 มาตรา 45 ประกอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 243 (1) ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดอุทธรณ์ขึ้นมาศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศก็เห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้องเฉพาะกรณีที่จะมีผลให้เป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง