คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 90/44

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 3 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4822/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ แผนฟื้นฟูกิจการ: การลดหนี้, การชำระหนี้, และการไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ
ในชั้นพิจารณาให้ความเห็นชอบด้วยแผนของศาลล้มละลายกลาง เจ้าหนี้ได้อ้างปัญหาที่ว่าการจัดกลุ่มเจ้าหนี้ชอบหรือไม่ และแผนฟื้นฟูกิจการมีอำนาจปรับลดหนี้ภาษีอากรหรือไม่ไว้ในคำคัดค้านแล้ว เมื่อปัญหาดังกล่าวเป็นข้อสำคัญเกี่ยวกับการพิจารณาแผน การที่ศาลล้มละลายกลางมิได้ยกปัญหาดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยจึงไม่ชอบด้วยวิธีพิจารณาตามข้อกำหนดคดีล้มละลายฯ ข้อ 25 เมื่อมีการอุทธรณ์ปัญหานี้มาสู่ศาลฎีกาและข้อเท็จจริงต่าง ๆ ในสำนวนก็เพียงพอแก่การวินิจฉัยประกอบกับคดีฟื้นฟูกิจการจะต้องดำเนินกระบวนพิจารณาและมีคำพิพากษาโดยรวดเร็ว ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาเหล่านี้ไปเสียทีเดียวโดยไม่จำเป็นต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลล้มละลายกลางวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวก่อน
แผนฟื้นฟูกิจการได้จัดให้เจ้าหนี้อยู่ในกลุ่มเจ้าหนี้ราชการเนื่องจากสิทธิเรียกร้องหรือผลประโยชน์ที่มีสาระสำคัญเหมือนกันหรือทำนองเดียวกันกับเจ้าหนี้ราชการอื่น เมื่อเจ้าหนี้ได้รับสำเนาแผนและกำหนดวัน เวลา สถานที่และหัวข้อประชุมตามมาตรา 90/44ถือว่าเจ้าหนี้ได้รู้ถึงการจัดกลุ่มเจ้าหนี้ตามแผนแล้วถ้าเจ้าหนี้เห็นว่าการจัดกลุ่มเจ้าหนี้ไม่เป็นไปตามมาตรา 90/42 ทวิ วรรคหนึ่ง ก็อาจยื่นคำร้องขอต่อศาลภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้รู้ถึงการจัดกลุ่ม เพื่อขอให้ศาลสั่งให้จัดกลุ่มเจ้าหนี้เสียใหม่ แม้จะไม่ปรากฏชัดว่าเจ้าหนี้ได้รับแผนฟื้นฟูกิจการในวันใด แต่เมื่อเจ้าหนี้ได้เข้าร่วมประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาแผนในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2544 จึงถือได้ว่าเจ้าหนี้ได้ทราบถึงการจัดกลุ่มเจ้าหนี้ตามแผนแล้วในวันดังกล่าวหรือก่อนหน้านั้น เมื่อเจ้าหนี้เพิ่งมายื่นคำคัดค้านขอให้ศาลมีคำสั่งไม่เห็นชอบด้วยแผน ซึ่งมีคำคัดค้านในส่วนการจัดกลุ่มเจ้าหนี้มาด้วย โดยยื่นคำคัดค้านในวันที่ 13 มีนาคม 2544 การร้องคัดค้านการจัดกลุ่มของเจ้าหนี้จึงเป็นการยื่นเกินระยะเวลา 7 วัน นับแต่วันที่ได้รู้ถึงการจัดกลุ่ม การจัดกลุ่มเจ้าหนี้ตามแผนจึงถือเป็นอันยุติและถึงที่สุดตามมาตรา 90/42 ทวิ วรรคสอง แล้ว
ในการขอแก้ไขแผน เจ้าหนี้จะต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 90/45 และการที่ศาลจะพิจารณาแผนที่มีการแก้ไขแล้วได้นั้น แผนที่มีการแก้ไขแล้วจะต้องผ่านการยอมรับจากที่ประชุมเจ้าหนี้มาแล้วตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯมาตรา 90/46 แต่อย่างไรก็ตามการที่กฎหมายล้มละลายกำหนดให้ศาลเข้ามามีบทบาทในการควบคุมดูแลการฟื้นฟูกิจการเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่บุคคลที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายนั้น เมื่อได้คำนึงถึงเพื่อประโยชน์ในการฟื้นฟูกิจการหรือเพื่อให้การฟื้นฟูกิจการดำเนินการต่อไปได้ ทั้งกรณีมีเหตุจำเป็นและสมควร ศาลมีอำนาจสั่งให้รับคำขอแก้ไขแผนที่ยื่นล่วงเลยระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้เพื่อให้ที่ประชุมเจ้าหนี้พิจารณาก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนหรือไม่ ได้
พระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 90/27 และ 90/60 ประสงค์ให้หนี้ที่อาจขอรับชำระหนี้ได้ทุกประเภทซึ่งเกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการเข้ามาอยู่ในระบบการฟื้นฟูกิจการทั้งหมด แม้ว่าหนี้นั้นจะเป็นหนี้ภาษีอากรก็ตาม ทั้งนี้เพื่อให้หนี้สินของลูกหนี้ที่มีอยู่แล้วได้รับการชำระสะสางภายใต้กรอบของแผนฟื้นฟูกิจการให้เสร็จไปนอกจากนี้กรณีใดที่พระราชบัญญัติล้มละลายฯ ต้องการให้มูลหนี้ภาษีอากรมีสิทธิเหนือเจ้าหนี้ธรรมดาหรือคุ้มครองสิทธิของเจ้าหนี้ภาษีอากรเป็นพิเศษกฎหมายก็จะบัญญัติไว้ชัดแจ้ง เมื่อกฎหมายไม่ได้ให้สิทธิหรือคุ้มครองแก่เจ้าหนี้ภาษีอากรในมูลหนี้ซึ่งเกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการเป็นพิเศษ ภายใต้บังคับของมาตรา 90/58(2) ประกอบด้วยมาตรา 130(6) สิทธิของเจ้าหนี้จึงมีฐานะเช่นเดียวกับเจ้าหนี้อื่น ทั้งเมื่อพระราชบัญญัติล้มละลายฯ หมวด 3/1 ว่าด้วยกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ได้บัญญัติผลของการที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนไว้เป็นการเฉพาะโดยชัดแจ้งแล้วตามมาตรา 90/60 วรรคหนึ่ง จึงไม่อาจนำมาตรา 56 ในเรื่องผลของการประนอมหนี้ก่อนล้มละลายมาใช้ได้
การที่พิจารณาว่าหากดำเนินการตามแผนสำเร็จแล้ว เจ้าหนี้จะได้รับชำระหนี้ไม่น้อยกว่ากรณีศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายหรือไม่ จะต้องนำมูลค่าที่แท้จริงของสินทรัพย์ที่ลูกหนี้มีอยู่ทั้งหมดมาประกอบการพิจารณา ในกรณีที่ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายนั้นจะต้องมีการนำทรัพย์สินที่ลูกหนี้มีอยู่มาดำเนินการขายทอดตลาดในลักษณะบังคับขายแต่ตามแผนฟื้นฟูกิจการนั้นจะต้องมีการดำเนินกิจการของลูกหนี้ในวันที่จะก่อให้เกิดรายได้มาชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้เพิ่มขึ้น การฟื้นฟูกิจการตามแผนเมื่อการดำเนินการตามแผนสำเร็จแล้วเจ้าหนี้จะได้รับชำระหนี้ไม่น้อยกว่ากรณีทีศาลมีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย แผนฟื้นฟูกิจการจึงชอบด้วยพระราชบัญญัติล้มละลายฯมาตรา 90/58(3)
แผนฟื้นฟูกิจการเป็นเพียงข้อตกลงร่วมกันของบรรดาเจ้าหนี้ ลูกหนี้เกี่ยวกับวิธีการในการชำระหนี้ตลอดการปรับโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้ หามีฐานะเป็นกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับไม่ การที่เจ้าหนี้คัดค้านว่าแผนฟื้นฟูกิจการขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงมิใช่เป็นการโต้แย้งว่าบทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 6 แต่การที่เจ้าหนี้ได้คัดค้านว่าแผนไม่อาจปรับลดยอดหนี้ภาษีอากรได้และแผนฟื้นฟูกิจการขัดต่อรัฐธรรมนูญนั้น พออนุมานได้ว่าเจ้าหนี้คัดค้านว่าพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 90/58 อันเป็นบทบัญญัติว่าด้วยการให้ความเห็นชอบด้วยแผนขัดต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งปัญหาดังกล่าวศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยไว้แล้วว่าบทบัญญัติมาตรา 90/58 ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญศาลสามารถใช้ดุลพินิจเห็นชอบด้วยแผนดังกล่าวได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2524/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การนัดประชุมเจ้าหนี้, การแก้ไขแผน, และดุลพินิจศาลในการเห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการ
ในการนัดประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาแผนสามารถแบ่งแยกการนัดประชุมเจ้าหนี้ออกเป็น 2 ช่วง คือ การนัดประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรกและการนัดประชุมเจ้าหนี้ในคราวที่ได้เลื่อนไป ในการประกาศโฆษณากำหนดนัดประชุมในหนังสือพิมพ์รายวันที่แพร่หลายอย่างน้อย 1 ฉบับล่วงหน้าก่อนวันประชุมไม่น้อยกว่า 10 วันตามมาตรา 90/44 วรรคหนึ่งใช้เฉพาะกับการนัดประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรกเมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้รับแผนพร้อมสำเนาจากผู้ทำแผนเพื่อปรึกษาลงมติว่าจะยอมรับแผนหรือไม่หรือจะแก้ไขอย่างไรเท่านั้นส่วนในการนัดประชุมเจ้าหนี้ในคราวที่ได้เลื่อนไปนั้น หากว่าในการนัดประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรกได้ดำเนินการโดยชอบตามมาตรา 90/44 วรรคหนึ่งแล้ว การนัดประชุมเจ้าหนี้ในคราวที่ได้เลื่อนไปนั้น ก็ไม่ต้องประกาศโฆษณาในหนังสือพิมพ์รายวันอีก ในการประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาแผน เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้นัดประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาแผนครั้งแรกเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2543 เวลา 13.00 นาฬิกา เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้โฆษณากำหนดการประชุมในหนังสือพิมพ์รายวันแล้ว ต่อมาผู้ทำแผนและลูกหนี้ขอแก้ไขแผนและในวันประชุมเจ้าหนี้ ลูกหนี้และเจ้าหนี้ยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขอเลื่อนการประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาแผน เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อนุญาตให้เลื่อนไปนัดประชุมเจ้าหนี้ในวันที่ 23 พฤศจิกายน 2543 เวลา 13.00 นาฬิกา เช่นนี้ การประชุมเจ้าหนี้ในคราวที่ได้เลื่อนมา จึงไม่ต้องดำเนินการโฆษณากำหนดการประชุมในหนังสือพิมพ์รายวันที่แพร่หลายอีก
วิธีการประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการนั้นพระราชบัญญัติล้มละลายฯหมวด 3/1 ไม่ได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะจึงต้องนำพระราชบัญญัติล้มละลายฯ หมวด 1ส่วนที่ 3 มาใช้บังคับโดยอนุโลมตามมาตรา 90/2 วรรคสอง ซึ่งในบทบัญญัติส่วนดังกล่าวมาตรา 30 ได้กำหนดให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นประธานในการประชุม เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงเป็นผู้เสนอหัวข้อให้ที่ประชุมเจ้าหนี้พิจารณาและควบคุมการประชุมเจ้าหนี้ให้เป็นไปโดยเรียบร้อย แม้ว่าคำขอแก้ไขแผนของลูกหนี้จะมีประเด็นต่าง ๆ รวม20 ประเด็น แต่เมื่อที่ประชุมเจ้าหนี้ไม่ได้เสนอ ให้ลงมติเป็นรายประเด็นหรือรวมกัน จึงเป็นดุลพินิจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่จะพิจารณาตัวประเด็นต่าง ๆ ในคำขอแก้ไขแผนฉบับดังกล่าวตลอดจนความเกี่ยวพันของประเด็นเหล่านั้นในคำขอว่าจะให้ลงมติแยกหรือรวมก็ได้ การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ให้เจ้าหนี้ลงมติคำขอแก้ไขแผนของลูกหนี้รวมกันไปทั้ง 20 ประเด็น จึงเป็นการใช้ดุลพินิจที่ชอบด้วยกฎหมาย
ตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 90/57 ไม่ได้บังคับศาลว่าจะต้องดำเนินการไต่สวนคดีทุกคดีก่อนที่จะมีคำสั่งว่าเห็นชอบด้วยแผนหรือไม่ แต่บทบัญญัติดังกล่าวเปิดโอกาสให้เป็นดุลพินิจของศาลในการที่จะพิจารณาว่า ข้อสาระสำคัญในการที่จะให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบด้วยแผนนั้นมีอยู่ครบถ้วนหรือไม่ หากศาลเห็นว่าครบถ้วนแล้วก็ไม่ต้องไต่สวนพยานหลักฐานเพื่อให้คดีฟื้นฟูกิจการล่าช้าออกไป การที่ศาลล้มละลายกลางเห็นว่าข้อเท็จจริงในสำนวนประกอบกับพยานเอกสารที่คู่ความได้อ้างมานั้นเพียงพอในการวินิจฉัยที่จะให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบด้วยแผนแล้วก็ไม่จำต้องไต่สวนพยานอีก คำสั่งงดไต่สวนของศาลล้มละลายกลางจึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1117/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการ, การยอมรับแผนโดยเจ้าหนี้, และอำนาจศาลในการให้ความเห็นชอบแผน
ปัญหาที่ว่าเจ้าหนี้รายใดจะมีสิทธิคัดค้านการเห็นชอบด้วยแผนหรือไม่นั้น เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ผู้ร้องขอทั้งห้าและผู้ทำแผนสามารถยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 28 ประกอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคสอง
ตามแผนฟื้นฟูกิจการได้จัดให้เจ้าหนี้รายที่ 207 อยู่ในกลุ่มที่ 12 สิทธิของเจ้าหนี้ในกลุ่มนี้ที่จะได้รับชำระหนี้ดังเช่นสัญญาเดิมคงมีเฉพาะกำหนดชำระหนี้การค้า แต่ไม่รวมถึงอัตราดอกเบี้ยแต่อย่างใด เมื่อตามสำนวนปรากฏว่าเจ้าหนี้รายที่ 207 ขอรับชำระหนี้ในมูลหนี้ตั๋วแลกเงินและหนี้เงินกู้ TPI - ANZ BANK พร้อมด้วยดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัด เจ้าหนี้รายที่ 207 จึงมิใช่เจ้าหนี้ที่ขอรับชำระหนี้เฉพาะต้นเงินในหนี้การค้าตามแผนฟื้นฟูกิจการ ทั้งในแผนฟื้นฟูกิจการเล่มที่ 1 หน้าที่ 4 ในส่วนหมายเหตุได้ระบุไว้ชัดแจ้งว่า เจ้าหนี้ที่เป็นบุคคลที่เกี่ยวข้องในส่วนของภาคผนวก 3 ซึ่งหมายถึงเจ้าหนี้ในกลุ่มที่ 12 เป็นเจ้าหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากการฟื้นฟูกิจการ เช่นนี้ เจ้าหนี้รายที่ 207 จึงมิใช่เจ้าหนี้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/46 ทวิ (2) เจ้าหนี้รายที่ 207 จึงมีสิทธิคัดค้านแผนได้ตามมาตรา 90/57 ส่วนเจ้าหนี้รายที่ 270 ตามแผนฟื้นฟูกิจการจัดให้อยู่ในกลุ่มที่ 14 คือเจ้าหนี้ที่ไม่ได้รับผลกระทบตามแผน จึงเป็นเจ้าหนี้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/46 ทวิ (1) ซึ่งกฎหมายให้ถือว่าเป็นเจ้าหนี้ที่ยอมรับแผน เจ้าหนี้รายที่ 270 จึงไม่มีสิทธิคัดค้านแผนตามมาตรา 90/57 แม้ว่าในการอุทธรณ์ของเจ้าหนี้รายที่ 270 นี้จะได้รับอนุญาตให้อุทธรณ์เป็นหนังสือจากอธิบดีผู้พิพากษาศาลล้มละลายกลางก็ตาม ก็ไม่ได้ก่อให้เกิดสิทธิแก่เจ้าหนี้รายนี้ในการอุทธรณ์แต่อย่างใด อุทธรณ์ของเจ้าหนี้รายที่ 270 จึงตกไป
ในการประกาศโฆษณากำหนดนัดประชุมในหนังสือพิมพ์รายวันที่แพร่หลายอย่างน้อย 1 ฉบับล่วงหน้าก่อนวันประชุมไม่น้อยกว่า 10 วัน ตามมาตรา 90/44 วรรคหนึ่งนั้น ใช้เฉพาะกับการนัดประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรก ส่วนในการนัดประชุมเจ้าหนี้ในคราวที่ได้เลื่อนไปนั้น หากว่าในการนัดประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรกได้ดำเนินการโดยชอบตามมาตรา 90/44 วรรคหนึ่งแล้ว การนัดประชุมเจ้าหนี้ในคราวที่ได้เลื่อนไปก็ไม่ต้องประกาศโฆษณากำหนดนัดประชุมในหนังสือพิมพ์รายวันอีก ปรากฏว่าในการนัดประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรกเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ดำเนินการโดยชอบตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/44 วรรคหนึ่งแล้ว แต่การประชุมดังกล่าวไม่แล้วเสร็จจึงมีการเลื่อนไป เช่นนี้การประชุมเจ้าหนี้ในคราวที่ได้เลื่อนไปจึงไม่ต้องดำเนินการโฆษณากำหนดนัดประชุมในหนังสือพิมพ์รายวันที่แพร่หลายอีกแต่อย่างใด
ในการมีคำสั่งหรือคำพิพากษานั้น ศาลล้มละลายกลางจะต้องวินิจฉัยคดีตามประเด็นซึ่งเจ้าหนี้ได้ยกขึ้นอ้างในคำคัดค้าน เมื่อประเด็นดังกล่าวเป็นประเด็นสำคัญในการพิจารณาว่าจะให้ความเห็นชอบด้วยแผนหรือไม่ การที่ศาลล้มละลายกลางยังมิได้พิจารณาประเด็นเรื่องการประกาศโฆษณากำหนดนัดประชุมซึ่งถือว่าเป็นประเด็นสำคัญจึงเป็นการไม่ชอบตามข้อกำหนดคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 19 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการอุทธรณ์คดีขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาประกอบกับประเด็นที่ศาลล้มละลายกลางยังไม่ได้วินิจฉัยนั้นเป็นประเด็นที่ลูกหนี้ได้คัดค้านและอุทธรณ์มายังศาลฎีกาด้วย ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหานี้ไปเสียทีเดียวโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลล้มละลายกลางวินิจฉัยก่อน
วิธีประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการนั้น พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 หมวด 3/1 ว่าด้วยกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ มิได้บัญญัติโดยเฉพาะกรณีจึงต้องนำ พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 หมวด 1 ส่วนที่ 3 ว่าด้วยการประชุมเจ้าหนี้มาบังคับใช้โดยอนุโลมตามมาตรา 90/2 วรรคสอง ซึ่งในบทบัญญัติส่วนดังกล่าว มาตรา 33 กำหนดให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นประธานในการประชุม เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงเป็นผู้เสนอหัวข้อให้ที่ประชุมเจ้าหนี้พิจารณาและควบคุมการประชุมเจ้าหนี้ให้เป็นไปโดยเรียบร้อย แม้ว่าคำขอแก้ไขแผนของลูกหนี้จะมีประเด็นต่าง ๆ รวม 20 ประเด็น แต่ที่ประชุมเจ้าหนี้ไม่ได้เสนอให้ลงมติเป็นรายประเด็นหรือรวมกัน กรณีจึงเป็นดุลพินิจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ซึ่งเป็นประธานในการประชุมที่จะพิจารณาถึงประเด็นต่าง ๆ ในคำขอแก้ไขแผนฉบับดังกล่าวตลอดจนความเกี่ยวพันของประเด็นเหล่านั้นในคำขอว่าจะให้มติแยกหรือรวมก็ได้
บทบัญญัติในมาตรา 90/57 แห่ง พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มิได้บังคับศาลว่าจะต้องดำเนินการไต่สวนพยานก่อนที่จะมีคำสั่งว่าเห็นชอบด้วยแผน แต่บทบัญญัติดังกล่าวเปิดโอกาสให้เป็นดุลพินิจของศาลในการที่จะพิจารณาว่าข้อสาระสำคัญที่ใช้ในการพิจารณาให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบกับแผนนั้นมีอยู่ครบถ้วนแล้วหรือไม่ หากศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญในการที่จะเห็นชอบด้วยแผนหรือไม่นั้นมีอยู่ครบถ้วนแล้วก็ไม่มีเหตุที่จะต้องไต่สวนพยานหลักฐานอันจะทำให้คดีฟื้นฟูกิจการล่าช้าออกไปแต่อย่างใด
กระบวนพิจารณาในการฟื้นฟูกิจการนั้น หลังจากที่ประชุมเจ้าหนี้ได้ยอมรับแผนด้วยมติพิเศษตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/46 แล้ว กฎหมายกำหนดให้แผนดังกล่าวจะต้องได้รับความเห็นชอบจากศาลอีกขั้นตอนหนึ่งตามบทบัญญัติในส่วนที่ 8 ว่าด้วยการพิจารณาให้ความเห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการ กรณีจึงเป็นการกำหนดให้ศาลเข้ามามีบทบาทในทางธุรกิจเพื่อจะได้วินิจฉัยตรวจสอบในการให้ความเห็นชอบด้วยแผนเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย และมอบดุลพินิจให้ตรวจสอบว่าสมควรจะให้ความเห็นชอบด้วยแผนนั้นหรือไม่ ศาลจึงมีอำนาจตรวจสอบถึงเนื้อหาของแผนตลอดจนโอกาสความเป็นไปได้ในการดำเนินการตามแผนด้วย มิใช่พิจารณาเพียงแต่ตรวจสอบรายการต่าง ๆ ว่ามีครบถ้วนตามรูปแบบหรือไม่
เมื่อปรากฏว่าในการดำเนินการประชุมเจ้าหนี้นั้นได้มีการประชุมโดยชอบ ที่ประชุมเจ้าหนี้ได้มีมติพิเศษยอมรับแผนฟื้นฟูกิจการ ทั้งแผนฟื้นฟูกิจการดังกล่าวมีรายการครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด และได้จัดสรรแบ่งชำระหนี้ให้แก่บรรดาเจ้าหนี้ทั้งหลายอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม จากการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการดังกล่าว ทำให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ไม่น้อยกว่ากรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย ทั้งแผนฟื้นฟูกิจการดังกล่าวมีโอกาสที่จะดำเนินการสำเร็จตามแผนได้และได้มีการทำแผนโดยสุจริต อีกทั้งการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการจะเป็นประโยชน์แก่เจ้าหนี้และประเทศชาติโดยส่วนรวม ที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนนั้น ชอบแล้ว
1/2