คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
ปดารณี ลัดพลี

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 319 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18217/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิขอคืนรถยนต์ของกลางของผู้ให้เช่าซื้อที่ไม่รู้เห็นเป็นใจกับการกระทำผิดของผู้เช่าซื้อ
ผู้ร้องเป็นผู้ให้เช่าซื้อรถยนต์ของกลาง แม้ผู้ร้องมิได้นำสืบให้เห็นว่า ฉ. ผู้เช่าซื้อชำระค่าเช่าซื้อให้ผู้ร้องแล้วกี่งวด เป็นเงินจำนวนเท่าใดและยังค้างชำระอยู่จำนวนเท่าใด ก็มิใช่ข้อที่แสดงให้เห็นว่าผู้ร้องรู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 และที่ 3 และการที่ผู้ร้องรับชำระค่าเช่าซื้อหลังจากที่รถยนต์ของกลางถูกยึดแล้ว ก็มิใช่เป็นการบ่งชี้ว่าผู้ให้เช่าซื้อกระทำโดยไม่สุจริตเสมอไป เมื่อโจทก์ไม่มีพยานมานำสืบหักล้างให้เห็นเป็นอย่างอื่น จึงฟังได้ว่าผู้ร้องไม่ได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิด และผู้ร้องจะบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อกี่ครั้งหรือเมื่อบอกเลิกสัญญาแล้วผู้ร้องจะดำเนินคดีทางแพ่งเรียกค่าเสียหายตามสัญญาเช่าซื้อจาก ฉ. หรือไม่ ย่อมเป็นสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อที่ผู้ร้องจะใช้หรือไม่ใช้ก็ได้ เมื่อผู้ร้องเป็นเจ้าของรถยนต์ของกลางย่อมมีสิทธิติดตามเอาทรัพย์สินของกลางที่ให้เช่าซื้อคืนได้ การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอคืนรถยนต์ของกลางจึงเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ของผู้ร้องโดยตรง พฤติการณ์แห่งคดียังถือไม่ได้ว่าผู้ร้องใช้สิทธิโดยไม่สุจริต เมื่อผู้ร้องไม่ได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 และที่ 3 จึงต้องคืนรถยนต์ของกลางให้ผู้ร้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18043/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับสารภาพในชั้นพิจารณาคดี และการแก้คำให้การหลังจากการตกลงกับผู้เสียหาย
จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพโดยทนายความจำเลยทั้งสองเป็นผู้จัดทำคำให้การให้ และศาลชั้นต้นได้สอบถามจำเลยทั้งสองพร้อมบันทึกไว้ในรายงานกระบวนพิจารณา ประกอบกับจำเลยทั้งสองแถลงว่าประสงค์ที่จะเจรจาเรื่องยอดหนี้ในส่วนแพ่งและขอผ่อนชำระเงินให้ผู้เสียหาย ขอให้นัดพร้อม ต่อมาผู้เสียหายกับจำเลยทั้งสองตกลงกันโดยผู้เสียหายเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสองเป็นเงิน 400,000 บาท จำเลยทั้งสองขอเวลาหาเงินมาชำระให้ผู้เสียหายสักระยะหนึ่ง ศาลชั้นต้นอนุญาต แต่เมื่อถึงวันนัดจำเลยทั้งสองไม่ชำระเงินให้ผู้เสียหายตามที่ตกลงกันไว้ เมื่อกระบวนพิจารณากระทำในศาลโดยเปิดเผย จึงเป็นการให้การรับสารภาพด้วยความสมัครใจและมิได้สำคัญผิด เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพโดยไม่สมัครใจ จึงไม่อาจยกเป็นข้อต่อสู้ได้ แม้จำเลยทั้งสองจะให้การหรือไม่เป็นสิทธิของจำเลยทั้งสองก็ตาม แต่เมื่อจำเลยทั้งสองให้การต่อศาลแล้ว การขอแก้คำให้การจำเลยทั้งสองสามารถกระทำได้ต่อเมื่อมีเหตุอันสมควรตาม ป.วิ.อ. มาตรา 163 วรรคสอง มิใช่เป็นไปตามอำเภอใจของจำเลยทั้งสอง อีกทั้งเป็นดุลพินิจของศาลถ้าเห็นสมควรจึงอนุญาตให้แก้ได้ การที่จำเลยทั้งสองยื่นคำให้การใหม่ เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2555 โดยขอถอนคำให้การเดิมที่ให้การรับสารภาพและให้การใหม่เป็นปฏิเสธฟ้องโจทก์ ซึ่งมีผลเป็นการแก้คำให้การหลังจากที่ได้ให้การรับสารภาพและตกลงกับผู้เสียหายได้แล้ว โดยอ้างเหตุว่าจำเลยทั้งสองไม่ได้กระทำความผิด ผู้ที่กระทำความผิดที่โจทก์และจำเลยทั้งสองทราบคือ พ. กับพวก ซึ่งข้ออ้างของจำเลยทั้งสองแสดงว่าจำเลยทั้งสองรู้แต่แรกแล้วว่าผู้กระทำความผิดเป็นใคร ย่อมไม่มีเหตุที่จำเลยทั้งสองจะให้การรับสารภาพ เช่นนี้ เห็นได้ว่าเป็นการที่จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธเนื่องจากจำเลยทั้งสองไม่สามารถหาเงินมาชำระให้ผู้เสียหายตามที่ตกลงกันไว้ได้เพื่อให้มีการสืบพยานต่อไป ถือได้ว่าเป็นการกระทำเพื่อประวิงคดี จึงเป็นกรณีที่ไม่มีเหตุสมควร ไม่ชอบที่ศาลจะอนุญาตให้จำเลยแก้คำให้การ และคดีนี้มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี มิใช่เป็นคดีที่มีอัตราโทษอย่างต่ำจำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไป เมื่อจำเลยทั้งสองรับสารภาพในชั้นพิจารณา ศาลย่อมพิพากษาโดยไม่จำต้องสืบพยานหลักฐานต่อไปก็ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้จำเลยแก้คำให้การและพิพากษาคดีไปตามคำให้การรับสารภาพจึงชอบแล้ว
ในคดีส่วนแพ่งเมื่อโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตาม ป.อ. มาตรา 341 และมีคำขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันคืนหรือใช้เงินแก่ผู้เสียหาย จำนวน 2,060,000 บาท ซึ่งเป็นคำขอส่วนแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาที่โจทก์ฟ้อง เมื่อจำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพและศาลพิพากษาโดยไม่จำต้องสืบพยานหลักฐานต่อไป ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ตามฟ้องโจทก์ว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันฉ้อโกงเงินผู้เสียหายไปและผู้เสียหายยังไม่ได้รับเงินคืนจำนวน 2,060,000 บาท แม้ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นผู้เสียหายแถลงติดใจเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสองในส่วนแพ่งเป็นเงิน 400,000 บาท ก็เป็นผลสืบเนื่องจากการที่ผู้เสียหายและจำเลยทั้งสองเจรจาตกลงกันเท่านั้น มิใช่ผู้เสียหายไม่ได้รับความเสียหายทางแพ่งตามฟ้อง และเมื่อจำเลยทั้งสองไม่ชำระเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่ผู้เสียหาย ผู้เสียหายก็แถลงต่อศาลว่าผู้เสียหายยังติดใจให้จำเลยทั้งสองคืนหรือใช้เงินตามจำนวนที่โจทก์ขอท้ายฟ้อง ดังนี้ โจทก์จึงไม่ต้องสืบพยานหลักฐานในคดีส่วนแพ่งอีก
เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2554 ซึ่งเป็นวันเริ่มพิจารณาศาลชั้นต้นได้สอบจำเลยทั้งสองเรื่องทนายความแล้ว จำเลยทั้งสองแถลงว่าจะหาทนายความเอง ต่อมาวันที่ 17 ตุลาคม 2554 จำเลยทั้งสองแต่งตั้ง ต. เป็นทนายความ ดังนั้น จึงเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นได้ดำเนินการตาม ป.วิ.อ. มาตรา 173 วรรคสอง แล้ว ส่วนในวันนัดพร้อมหรือนัดฟังคำพิพากษา ต. ขอถอนตัวจากการเป็นทนายความของจำเลยทั้งสอง และศาลชั้นต้นอนุญาตก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองแถลงต่อศาลขอเลื่อนคดีเพื่อให้จำเลยทั้งสองแต่งตั้งทนายความคนใหม่เข้ามาดำเนินคดี แต่จำเลยทั้งสองกลับเจรจาตกลงกับผู้เสียหายเพื่อขอชำระเงินแก่ผู้เสียหายและขอเลื่อนการอ่านคำพิพากษาออกไป แสดงว่าจำเลยทั้งสองไม่ติดใจที่จะให้ทนายความดำเนินกระบวนพิจารณาคดีในวันดังกล่าว ทั้งต่อมาวันที่ 24 มกราคม 2555 ซึ่งเป็นวันนัดฟังคำพิพากษา จำเลยทั้งสองได้แต่งตั้งทนายความคนใหม่เข้ามาดำเนินกระบวนพิจารณา ดังนี้ การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นจึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16407/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจ้าพนักงานไม่มีหน้าที่ดูแลทรัพย์สินส่วนตัวนักเรียน การกระทำนอกเหนือหน้าที่ ไม่ถึงความผิด ม.157
จำเลยได้รับมอบหมายให้ดูแลเกี่ยวกับการกู้ยืมเงินจากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาให้แก่นักเรียน โดยไม่มีหน้าที่โดยตรงที่ต้องเก็บรักษาสมุดบัญชีเงินฝากของนักเรียนไว้และไปถอนเงินจากธนาคารแทนนักเรียน การที่จำเลยบอกให้นักเรียนบางคนมอบสมุดบัญชีเงินฝากไว้ที่จำเลยและมอบอำนาจให้จำเลยไปถอนเงินจากธนาคารแทนแล้วให้นักเรียนไปขอเบิกจากจำเลยอีกทอดหนึ่ง จึงเป็นเรื่องที่จำเลยกระทำไปนอกเหนือหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมาย นอกจากนี้ เงินที่กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาโอนเข้าบัญชีเงินฝากของนักเรียน ยังถือว่าเป็นทรัพย์สินส่วนตัวของนักเรียน มิใช่เป็นทรัพย์สินของหน่วยงานราชการซึ่งจำเลยมีหน้าที่ดูแลรักษาอีกด้วย เมื่อจำเลยไม่มีหน้าที่ต้องดูแลรับผิดชอบเงินในบัญชีเงินฝากอันเป็นทรัพย์สินส่วนตัวของนักเรียน แม้จำเลยจะได้นำเงินดังกล่าวไปใช้หมุนเวียนเพื่อประโยชน์ส่วนตนก่อนที่จะถูกร้องเรียนและคืนให้นักเรียนในภายหลังหรือไม่ก็ตาม จำเลยก็ไม่มีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตตาม ป.อ. มาตรา 157

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15508/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยื่นคำร้องทุเลาการบังคับคดีในศาล ไม่ถือเป็นการแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงาน
การดำเนินกระบวนพิจารณาในศาล ถือว่าศาลทำหน้าที่เป็นเจ้าพนักงานในการยุติธรรมในการพิจารณาคดี มิได้ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานอย่างเจ้าพนักงานทั่วไป การที่จำเลยทั้งสองกับพวกยื่นคำร้องขอทุเลาการบังคับในคดีส่วนแพ่งอันเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาอย่างหนึ่งในศาล จึงมิใช่เป็นเรื่องการแจ้งความแก่เจ้าพนักงาน การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เข้าลักษณะความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานตาม ป.อ. มาตรา 137

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14997/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การริบยานพาหนะที่ใช้ในการกระทำความผิด: ศาลใช้ดุลพินิจตาม ป.อ. มาตรา 33(1) ได้
เมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 ร่วมกับพวกปล้นทรัพย์ของผู้เสียหาย โดยใช้รถจักรยานยนต์ 2 คัน ของกลางเป็นยานพาหนะเพื่อความสะดวกแก่การกระทำผิด หรือพาทรัพย์นั้นไป หรือเพื่อให้พ้นการจับกุม อันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 340 วรรคแรก ประกอบมาตรา 340 ตรี, 83 การที่ศาลชั้นต้นมิได้ริบรถจักรยานยนต์ 2 คัน ของกลาง เป็นการใช้ดุลพินิจตาม ป.อ. มาตรา 33 (1) เนื่องจากเห็นว่ามิใช่ทรัพย์สินที่จำเลยทั้งสามกับพวกใช้ในการกระทำความผิดโดยตรงเท่านั้น มิใช่เป็นเหตุให้ต้องปรับบทลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 340 วรรคแรกเพียงบทเดียว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14980/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เหตุสุดวิสัยในการยื่นอุทธรณ์ล่าช้า: ความผิดพลาดของทนายไม่ถือเป็นเหตุสุดวิสัย
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นอุทธรณ์ภายหลังจากที่กำหนดระยะเวลายื่นอุทธรณ์สิ้นสุดลงแล้ว ซึ่งการขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์เช่นนี้จะกระทำได้เฉพาะกรณีที่มีเหตุสุดวิสัยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 อ้างเหตุที่ทำให้ไม่สามารถยื่นอุทธรณ์ได้ภายในกำหนดระยะเวลาว่า เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2550 ทนายจำเลยที่ 1 และที่ 2 รับประทานยาแก้ไข้หวัดทำให้ง่วงซึมและจำวันที่ศาลอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์คลาดเคลื่อนไป โดยสำคัญผิดว่าจะครบกำหนดยื่นอุทธรณ์ในวันที่ 24 ตุลาคม 2550 นั้น เป็นความผิดพลาดบกพร่องของทนายจำเลยที่ 1 และที่ 2 เอง ไม่เป็นเหตุสุดวิสัยอันจะทำให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีสิทธิยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นอุทธรณ์เมื่อสิ้นระยะเวลาอุทธรณ์แล้วได้
ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยว่า หากศาลชั้นต้นขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่ 24 กันยายน 2550 ตามที่ขอ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็มีสิทธิยื่นอุทธรณ์ได้ถึงวันที่ 24 ตุลาคม 2550 เมื่อพิจารณาถึงการที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 จัดทำอุทธรณ์เสร็จและนำมายื่นต่อศาลชั้นต้นภายในวันที่ 24 ตุลาคม 2550 แล้ว กรณีพอฟังได้ว่ามีเหตุสุดวิสัยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 และอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ครั้งที่สองแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงขัดต่อข้อเท็จจริงตามที่ศาลชั้นต้นขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ให้ถึงวันที่ 22 ตุลาคม 2550 และขัดต่อบทบัญญัติของกฎหมายเพราะการสำคัญผิดในเรื่องวันเวลานัดศาลของคู่ความย่อมไม่เป็นเหตุสุดวิสัย อันเป็นการไม่ชอบ ดังนั้น การที่ต่อมาศาลอุทธรณ์ภาค 4 รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 แล้วพิพากษายืน และศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาล้วนเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14785/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความคดีโกงเจ้าหนี้และการไม่เป็นผู้เสียหายในคดีเบิกความเท็จ
ความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ โจทก์บรรยายฟ้องว่า เหตุเกิดวันที่ 25 มีนาคม 2542 แต่โจทก์ไม่ได้ร้องทุกข์เพราะประสงค์จะดำเนินคดีเอง การที่โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2549 โจทก์จะต้องนำสืบให้รับฟังได้ว่า โจทก์ฟ้องภายในสามเดือนนับแต่วันรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด เมื่อโจทก์ไม่ได้นำสืบให้เห็นเช่นนั้น คดีในความผิดฐานนี้จึงขาดอายุความตาม ป.อ. มาตรา 96 สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (6) ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองในฐานความผิดนี้ จึงไม่ถูกต้อง ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยที่ 2 มิได้ยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ แต่ยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และเหตุเรื่องคดีขาดอายุความเป็นเหตุในลักษณะคดี ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 1 ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 213 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
โจทก์เป็นเจ้าหนี้จำเลยที่ 1 ตามคำพิพากษาในคดีขอแบ่งสินสมรส และบังคับคดีโดยขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างอันเป็นสินสมรส แล้วนำเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดมาแบ่งปันตามส่วน โจทก์ย่อมมีสิทธิได้รับชำระหนี้จากเงินที่ได้จากการขายตามส่วนที่เป็นของตนเอง ส่วนการที่จำเลยทั้งสองทำบันทึกข้อตกลงฉบับลงวันที่ 25 มีนาคม 2542 ซึ่งมีลักษณะเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น หากจำเลยทั้งสองมีเจตนาก่อให้เกิดหนี้จริงก็เป็นหนี้ซึ่งจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดเป็นส่วนตัว การที่จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยที่ 1 ในคดีขอให้บังคับให้ชดใช้ค่าเสียหายอันเนื่องมาจากการปฏิบัติผิดข้อตกลงดังกล่าว ก็คงมีเพียงสิทธิบังคับคดีเอาจากสินส่วนตัวของจำเลยที่ 1 ก่อน เมื่อไม่พอจึงมีสิทธิบังคับเอาจากสินสมรสที่เป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1488 สิทธิในการบังคับคดีของจำเลยที่ 2 ย่อมไม่มีผลกระทบสิทธิในการได้รับชำระหนี้ของโจทก์ แม้จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ต่อศาลเยาวชนและครอบครัวกลางในคดีที่โจทก์ฟ้องขอแบ่งสินสมรสจากจำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 2 ก็คงมีสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้จากเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างอันเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เพียงเฉพาะที่เป็นส่วนของจำเลยที่ 1 ดังนั้น หากแม้ว่าจำเลยที่ 2 จะเบิกความอันเป็นเท็จต่อศาลเกี่ยวกับมูลหนี้ระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 2 ในคดีที่จำเลยที่ 2 ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายตามที่โจทก์กล่าวอ้างในฟ้องจริง ก็ไม่อาจทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายได้เลย โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหายและไม่มีอำนาจฟ้องในความผิดฐานเบิกความเท็จ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14783/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจำหน่ายเช็คปลอมและการเปลี่ยนแปลงฐานความผิดจากลักทรัพย์เป็นฉ้อโกงธนาคาร
การที่จำเลยมอบเช็คปลอมให้พนักงานของผู้เสียหายนำไปเบิกเงินจากธนาคารตามเช็คด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จว่า ลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายเป็นลายมือชื่อแท้จริงของ ธ. กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ร่วม เงินที่จำเลยได้ไปจึงเป็นเงินของธนาคารมิใช่เงินของโจทก์ร่วมตาม ป.พ.พ. มาตรา 672 จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานลักเงินของโจทก์ร่วมแต่เป็นความผิดฐานฉ้อโกงธนาคาร โจทก์ฟ้องว่าจำเลยลักเงินของโจทก์ร่วม แต่ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในทางพิจารณาฟังไม่ได้ว่าจำเลยลักเงินโจทก์ร่วม และฟังได้ว่าจำเลยฉ้อโกงธนาคารเป็นความผิดต่อผู้เสียหายต่างคนจากที่โจทก์บรรยายฟ้อง จึงเป็นข้อเท็จจริงแตกต่างจากที่กล่าวในฟ้องในสาระสำคัญ ไม่อาจลงโทษจำเลยฐานฉ้อโกงได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง และไม่อาจสั่งให้จำเลยคืนเงินแก่โจทก์ร่วมได้ ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยไม่ยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นอ้างได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบ มาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14553/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกำหนดความผิดกรรมเดียวและการวินิจฉัยข้อเท็จจริงโดยศาลอุทธรณ์และศาลฎีกา ห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดกรรมเดียวหรือไม่นั้น ศาลฎีกาจำต้องย้อนไปวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 ใช้เอกสารปลอมหลอกลวงต่อผู้เสียหาย 2 ครั้ง หรือไม่ ฎีกาของจำเลยที่ 1 เป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ฟังมา เพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยข้อกฎหมาย อันเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14517-14520/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรวมสำนวนคดีและการลงโทษจำคุกกระทงละเดือน ศาลฎีกาแก้ไขคำพิพากษาเนื่องจากนับโทษต่อกันเกินคำขอ
ศาลสั่งให้รวมการพิจารณาพิพากษาคดีที่โจทก์แยกฟ้องมารวมสี่สำนวน โดยโจทก์ไม่ได้ขอให้นับโทษจำเลยติดต่อกัน จึงนับโทษต่อกันไม่ได้เพราะเป็นการพิพากษาเกินคำขอตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำคุกจำเลยกระทงละ 1 เดือน รวม 9 กระทง จำคุก 9 เดือน นั้น มีผลเท่ากับนับโทษจำคุกจำเลยติดต่อกันทั้งสี่สำนวน จึงไม่ชอบ ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
of 32