คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
ปดารณี ลัดพลี

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 319 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14226-14228/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างต้องเป็นการไม่ให้ทำงานและไม่จ่ายค่าจ้าง กรณีนี้จำเลยยังให้โอกาสปรับปรุงงาน โจทก์ไม่ประสงค์ทำงานต่อ จึงไม่ถือเป็นการเลิกจ้าง
การที่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหัวหน้างานเรียกโจทก์ทั้งสามไปตักเตือนเกี่ยวกับการทำงานและทำหนังสือทัณฑ์บนไว้เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2551 มีข้อความว่าจำเลยที่ 1 ภาคทัณฑ์โจทก์ทั้งสามเพื่อรอดูผลงานในอีก 1 เดือน หากระยะเวลาภาคทัณฑ์สิ้นสุดลงและผลงานไม่ประสบความสำเร็จ จำเลยที่ 1 จะพิจารณายกเลิกสัญญาจ้างเป็นรายบุคคลนั้น เป็นการแสดงว่าจำเลยที่ 1 ให้โจทก์ทั้งสามทำงานต่อไปโดยให้โอกาสปรับปรุงการทำงานเป็นเวลา 1 เดือน เมื่อครบกำหนดจึงจะพิจารณาว่าสมควรเลิกจ้างโจทก์ทั้งสามหรือไม่เท่านั้น แต่การที่โจทก์ทั้งสามแจ้งต่อลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ในวันที่ 17 มิถุนายน 2551 ว่าจะไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขในหนังสือทัณฑ์บนนั้นแสดงให้เห็นว่าโจทก์ทั้งสามไม่ประสงค์จะทำงานกับจำเลยที่ 1 อีกต่อไป แม้ในวันดังกล่าวโจทก์ทั้งสามจะได้รับแจ้งด้วยว่าจำเลยที่ 2 ไม่ให้โจทก์ทั้งสามเข้าไปเกี่ยวข้องกับงานของจำเลยที่ 1 อีก และจะให้โจทก์ทั้งสามรวบรวมเฉพาะผลงานของตนเองเท่านั้น ก็เป็นสิทธิของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ในฐานะหัวหน้างานที่จะมอบหมายให้โจทก์ทั้งสามรับผิดชอบงานใดในระหว่างปรับปรุงการทำงานก็ได้ และแม้ต่อมาวันที่ 18 มิถุนายน 2551 โจทก์ทั้งสามจะได้รับแจ้งจากลูกจ้างจำเลยที่ 1 ตำแหน่งเลขานุการ ขณะที่กำลังรออยู่บริเวณชั้นล่างว่าโจทก์ทั้งสามไม่ต้องขึ้นไปทำงาน โจทก์ทั้งสามจึงเดินออกจากที่ทำงานไปแล้วไม่กลับมาทำงานอีก โดยในวันที่ 9 กรกฎาคม 2551 โจทก์ทั้งสามขอเข้าพบจำเลยที่ 2 เพื่อขอทราบความชัดเจนว่าจะให้ทำงานต่อไปหรือไม่ แต่จำเลยที่ 2 ก็ไม่ยอมให้เข้าพบนั้น โจทก์ทั้งสามก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องขอเข้าพบจำเลยที่ 2 เพื่อให้ยืนยันว่าประสงค์จะให้โจทก์ทั้งสามทำงานต่อไปอีกหรือไม่เพราะจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ได้แสดงเจตนาชัดแจ้งตามหนังสือทัณฑ์บนแล้วว่าให้โอกาสโจทก์ทั้งสามปรับปรุงการทำงานอีก 1 เดือน นับแต่วันที่ 16 มิถุนายน 2551 จึงจะพิจารณาการทำงานต่อไปหรือบอกเลิกจ้างสัญญาจ้าง ส่วนการที่จำเลยที่ 1 จ่ายค่าจ้างให้โจทก์ทั้งสามถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2551 ก็เป็นเพียงการจ่ายค่าจ้างตามกำหนดจ่ายซึ่งยังอยู่ภายในระยะเวลาที่ให้โจทก์ทั้งสามปรับปรุงการทำงานเท่านั้น เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ได้กระทำการใดอันเป็นการแสดงเจตนาว่าไม่ประสงค์ให้โจทก์ทั้งสามทำงานอีกต่อไปอย่างเด็ดขาดและไม่จ่ายค่าจ้างให้อันจะถือว่าเป็นการเลิกจ้างโจทก์ทั้งสามตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 วรรคสอง พฤติการณ์ตามข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงเป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 ยังประสงค์ให้โจทก์ทั้งสามทำงานต่อไปแต่โจทก์ทั้งสามไม่ประสงค์ที่จะทำงานกับจำเลยที่ 1 อีกต่อไปเองตั้งแต่วันที่ 18 มิถุนายน 2551 กรณียังถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์ทั้งสาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13665/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแบ่งมรดกโดยการครอบครองเป็นส่วนสัด และการพิสูจน์ภาระการรับผิดชอบของผู้รับมรดก
โจทก์ทั้งสองเป็นบุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้วและเป็นผู้สืบสันดานของ ร. ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1627 โจทก์ทั้งสองย่อมเป็นทายาทที่มีสิทธิรับมรดกของ ร. เมื่อจำเลยไม่โต้เถียงว่าที่ดินพิพาทไม่ใช่ทรัพย์มรดกของ ร. เพียงแต่ต่อสู้ว่าโจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาท เนื่องจากโจทก์ทั้งสองได้รับทรัพย์มรดกอื่นของ ร. ไปแล้ว อันเป็นการกล่าวอ้างว่าผู้เป็นทายาทของ ร. ต่างตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกด้วยการเข้าครอบครองทรัพย์มรดกเป็นส่วนสัด ตามความใน ป.พ.พ. มาตรา 1750 วรรคหนึ่ง ภาระการพิสูจน์ว่าโจทก์ทั้งสองได้รับทรัพย์มรดกอื่นของ ร. จนเป็นที่พอใจของโจทก์ทั้งสองย่อมตกอยู่แก่จำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13598/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การซื้อขายที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินที่ขัดต่อ พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินฯ ทำให้ผู้ซื้อไม่มีอำนาจฟ้อง
ที่ดินพิพาทอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดิน ซึ่งตาม พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 28 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ภายในระยะเวลาสามปี นับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตปฏิรูปที่ดินตามมาตรา 25 ใช้บังคับ ห้ามมิให้ผู้ใดจำหน่ายด้วยประการใด ๆ หรือก่อให้เกิดภาระติดพันใด ๆ ซึ่งที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน..." เมื่อ พ.ร.ฎ.กำหนดเขตที่ดินพิพาทให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดินมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 9 กันยายน 2536 การทำสัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2539 จึงอยู่ในระยะเวลาสามปี นับแต่วันที่ พ.ร.ฎ.กำหนดเขตปฏิรูปที่ดินใช้บังคับ สัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 หรือแม้สัญญาซื้อขายนี้จะเป็นนิติกรรมอำพรางการกู้ยืมเงินโดยมอบที่ดินพิพาทเป็นหลักประกันตามที่ฝ่ายจำเลยนำสืบต่อสู้ ต่างก็เป็นนิติกรรมที่เป็นการจำหน่ายหรือก่อให้เกิดภาระติดพันใด ๆ ซึ่งที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน จึงเป็นการต้องห้ามตามมาตรา 28 วรรคหนึ่ง นิติกรรมนั้นจึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 โจทก์จึงไม่อาจมีสิทธิใด ๆ ในที่ดินพิพาท ที่ดินดังกล่าวยังคงอยู่ในการจัดการดูแลของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดนครศรีธรรมราช โจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหาย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 3

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13581/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิลูกจ้างในการเลือกฟ้องคดีแรงงาน หรือยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน และการถอนคำร้องก่อนฟ้องคดี
ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 123 ถึง 125 มีลักษณะกำหนดให้ลูกจ้างจะต้องเลือกใช้สิทธิทางใดทางหนึ่งระหว่างใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาลแรงงานหรือจะยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานก็ได้แต่เพียงทางเดียว จะใช้สิทธิพร้อมกันทั้งสองทางไม่ได้ แม้โจทก์ได้ยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานแล้ว ก็ไม่มีบทบัญญัติใดบังคับให้โจทก์ต้องดำเนินการให้สิ้นสุดกระบวนการโดยจะถอนคำร้องแล้วมาใช้สิทธิทางศาลอีกไม่ได้ ดังนั้น การที่โจทก์ยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานแล้วถอนคำร้องดังกล่าวก่อนยื่นคำฟ้องคดีนี้ในขณะยื่นคำฟ้องจึงไม่มีคำร้องอยู่ในระหว่างการพิจารณาของพนักงานตรวจแรงงาน โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13277/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบุกรุกที่ดิน: ผลของคำพิพากษาคดีแพ่งผูกพันคดีอาญา และอายุความฟ้องร้อง
เดิมที่ดินพิพาทเคยเป็นของ จ. มาก่อน จำเลยที่ 1 บุกรุกเข้าไปในที่ดินพิพาทและถูก จ. ฟ้องขับไล่ออกจากที่ดิน หลังจากนั้นศาลชั้นต้นพิพากษาขับไล่จำเลยที่ 1 และบริวารออกจากที่ดินพิพาท คดีถึงที่สุด คำพิพากษาในคดีแพ่งย่อมมีผลผูกพันจำเลยทั้งสามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ทั้งจำเลยทั้งสามเบิกความยอมรับว่า จ. เคยฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสามออกจากที่ดินพิพาท และยอมรับว่าศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาขับไล่จำเลยทั้งสามและคดีถึงที่สุดแล้ว คำเบิกความของจำเลยทั้งสามเป็นการยอมรับอยู่ในตัวว่า ศาลมีคำพิพากษาชี้ขาดว่าที่ดินพิพาทเป็นของ จ. เมื่อ จ. ขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ จำเลยทั้งสามเข้าไปครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท จำเลยทั้งสามจึงมีความผิดฐานร่วมกันบุกรุก ที่จำเลยทั้งสามต่อสู้ว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินคนละแปลงจึงขัดแย้งกับคำเบิกความของจำเลยทั้งสามเอง ไม่อาจรับฟังได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13083/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาบริการประกันชีวิตขัดต่อ พ.ร.บ.ประกันชีวิต การจ่ายค่าตอบแทนล่วงหน้าทำให้โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้อง
พ.ร.บ.ประกันชีวิต พ.ศ.2535 มาตรา 33 บัญญัติว่า "ห้ามมิให้บริษัทกระทำการดังกล่าวต่อไปนี้... (7) จ่ายเงินหรือทรัพย์สินอื่นใดล่วงหน้าให้แก่บุคคลใดเป็นค่านายหน้าหรือค่าตอบแทนสำหรับงานที่จะทำให้แก่บริษัท" และมาตรา 93 บัญญัติว่า "บริษัทใดฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรา 33 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 500,000 บาท และถ้าเป็นกรณีการกระทำความผิดต่อเนื่องให้ปรับอีกไม่เกินวันละ 20,000 บาท ตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่" การที่โจทก์ทำสัญญาว่าจ้างจำเลยที่ 1 ให้สรรหาและฝึกอบรมบุคลากรเพื่อทำหน้าที่เป็นตัวแทนหาลูกค้า และทำหน้าที่เป็นผู้บริหารงานขายให้แก่โจทก์ โดยโจทก์จ่ายเงินเป็นค่าจ้างหรือค่าตอบแทนล่วงหน้าให้แก่จำเลยที่ 1 ไปก่อน จึงขัดต่อบทกฎหมายมาตราดังกล่าว ถือได้ว่าโจทก์กระทำการเพื่อชำระหนี้อันเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมาย โจทก์จึงไม่อาจเรียกคืนได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 411

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11994/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดกรรมเดียวจากการปลอมและใช้เอกสารสิทธิเพื่อบังคับให้ส่งมอบที่ดิน ศาลฎีกายกประเด็นความสงบเรียบร้อยและแก้ไขโทษ
การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันปลอมสัญญากู้และสัญญาซื้อขาย แล้วจำเลยที่ 1 นำเอกสารดังกล่าวไปเป็นหลักฐานฟ้องโจทก์ก็ด้วยเจตนาที่จะบังคับให้โจทก์ส่งมอบการครอบครองที่ดินให้แก่จำเลยที่ 1 เมื่อโจทก์ไม่มีหลักฐานแสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น จึงเชื่อได้ว่าการกรอกข้อความในเอกสารทั้งสองฉบับดังกล่าวทำในคราวเดียวกัน แม้จะเขียนวันที่คนละวันก็ตาม ส่วนการใช้เอกสารทั้งสองฉบับของจำเลยที่ 1 ก็ใช้ในคราวเดียวกัน และการปลอมเอกสารสิทธิทั้งสองฉบับดังกล่าวก็เพื่อใช้เป็นพยานหลักฐานประกอบกันด้วยเจตนาเดียวคือบังคับตามสัญญาซื้อขาย การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นความผิดกรรมเดียว การที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานใช้เอกสารสิทธิปลอม 2 ฉบับ เป็นความผิด 2 กระทง และลงโทษจำเลยที่ 2 ฐานปลอมเอกสารสิทธิ 2 กระทง จึงไม่ถูกต้อง ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ฝ่ายจำเลยที่ 1 และที่ 2 มิได้ยกขึ้นกล่าวอ้าง ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 225 ประกอบมาตรา 195 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10565/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแก้ไขคำให้การ, ครอบครองปรปักษ์, และการซื้อที่ดินโดยสุจริต ศาลฎีกาวินิจฉัยเรื่องกรรมสิทธิ์ในที่ดิน
เดิมจำเลยให้การว่า จำเลยไม่ได้สร้างรั้วคอนกรีตล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ทั้งสอง แต่หลังจากที่มีการรังวัดสอบแนวเขตที่ดินจนทราบว่าจำเลยสร้างรั้วล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ทั้งสองแล้ว จำเลยขอแก้ไขคำให้การเดิมและฟ้องแย้งขอให้ศาลพิพากษาว่า จำเลยได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินของโจทก์ทั้งสองโดยการครอบครอง คำร้องขอแก้ไขคำให้การของจำเลยไม่เป็นการขอแก้ไขคำให้การในข้อสาระสำคัญ ตรงกันข้ามกลับเป็นการยอมรับข้อเท็จจริงตามคำฟ้องว่า จำเลยสร้างรั้วล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ทั้งสองจริง เพียงแต่ยกข้อต่อสู้ใหม่ขึ้นกล่าวอ้างว่า จำเลยครอบครองที่ดินส่วนนั้นมานานเกินกว่าสิบปีจนได้กรรมสิทธิ์แล้ว ทั้งเป็นการยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การก่อนมีการชี้สองสถาน ไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินคดีของโจทก์ทั้งสองให้โจทก์ทั้งสองเสียเปรียบในการดำเนินคดี
จำเลยเพิ่งเข้าไปอยู่ในที่ดินของจำเลยเมื่อปี 2539 นับถึงวันฟ้องแล้วยังไม่ครบสิบปีตามที่ ป.พ.พ. มาตรา 1382 บัญญัติไว้ จำเลยยังไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินของโจทก์ทั้งสองโดยการครอบครอง เมื่อจำเลยที่ 2 สร้างรั้วล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ที่ 2 เป็นเนื้อที่ 12 ตารางวา ซึ่งทางราชการประเมินราคาที่ดินไว้ตารางวาละ 13,000 บาท คิดเป็นมูลค่า 156,000 บาท ทุนทรัพย์ของโจทก์ที่ 2 จึงไม่เกินสองแสนบาท ต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคหนึ่ง แม้ศาลชั้นต้นจะสั่งรับฎีกาของโจทก์ที่ 2 มา ศาลฎีกาก็ไม่รับวินิจฉัยให้
แม้คดีของโจทก์ที่ 2 ต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง แต่เมื่อพยานหลักฐานที่จะพิสูจน์ให้เห็นว่าโจทก์ที่ 1 ซื้อที่ดินมาโดยสุจริตหรือไม่ เป็นพยานหลักฐานชุดเดียวที่เกี่ยวพันไปถึงโจทก์ที่ 2 ด้วย เพราะโจทก์ทั้งสองซื้อที่ดินแต่ละแปลงมาพร้อมกัน ยิ่งไปกว่านั้นโจทก์ทั้งสองยังมีหนังสือฉบับเดียวกันแจ้งให้จำเลยรื้อรั้วออกไปจากที่ดินของโจทก์ทั้งสอง หากไม่วินิจฉัยไปถึงโจทก์ที่ 2 อาจส่งผลให้คำพิพากษาสำหรับโจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 ขัดแย้งกัน ซึ่ง ป.วิ.พ. มาตรา 146 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 246 และ 247 ให้ถือคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลที่สูงกว่ามาใช้บังคับ ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปถึงโจทก์ที่ 2 ด้วยว่าโจทก์ที่ 2 ซื้อที่ดินมาโดยสุจริตหรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9523/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนสิทธิเรียกร้องและอำนาจฟ้องของบริษัทบริหารสินทรัพย์ การรับผิดในเบี้ยปรับจากการประมูลทอดตลาด
การที่เจ้าพนักงานบังคับคดี กรมบังคับคดี ทำสัญญาซื้อขายทรัพย์จำนองกับจำเลยที่ 1 ถือว่าเจ้าพนักงานบังคับคดี กรมบังคับคดี กระทำในฐานะเป็นผู้แทนธนาคาร ท. ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีเดิม เมื่อจำเลยที่ 1 ผู้เข้าสู้ราคาสูงสุดในการขายทอดตลาดชั้นเดิมละเลยไม่นำเงินค่าซื้อทรัพย์ส่วนที่เหลือมาชำระตามสำเนาสัญญาซื้อขาย จนเจ้าพนักงานบังคับคดีต้องขายทอดตลาดทรัพย์จำนองซ้ำอีกครั้งหนึ่งและได้เงินสุทธิไม่คุ้มราคาและค่าขายทอดตลาดชั้นเดิม ย่อมทำให้ธนาคาร ท. เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีเดิมได้รับความเสียหายเนื่องจากเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดครั้งหลังน้อยกว่าครั้งก่อน ทำให้ธนาคาร ท. ไม่ได้รับชำระหนี้ตามคำพิพากษาจนครบถ้วน จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดในส่วนที่ขาดตามที่ระบุในสัญญาและตาม ป.พ.พ. มาตรา 516 การกระทำของจำเลยที่ 1 ถือได้ว่าเป็นการโต้แย้งสิทธิของธนาคาร ท. โจทก์ในคดีเดิมตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55
จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า โจทก์รับโอนหนี้จากธนาคาร ท. หลังจากคดีเดิมสิ้นสุดแล้ว โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องนั้น ในปัญหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับอำนาจฟ้องซึ่งเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ แม้จะมิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคสอง ประกอบมาตรา 247 พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 มาตรา 7 บัญญัติว่า "ในการโอนสินทรัพย์ไปให้บริษัทบริหารสินทรัพย์ ถ้ามีการฟ้องบังคับสิทธิเรียกร้องเป็นคดีอยู่ในศาล ให้บริษัทบริหารสินทรัพย์เข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนในคดีดังกล่าว ... และในกรณีที่ศาลได้มีคำพิพากษาบังคับตามสิทธิเรียกร้องนั้นแล้ว ก็ให้เข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษานั้น" ดังนั้น แม้คดีเดิมธนาคาร ท. อยู่ระหว่างบังคับคดีแก่จำเลยที่ 1 ธนาคาร ท. สามารถโอนสิทธิเรียกร้องที่มีต่อจำเลยที่ 1 ซึ่งศาลได้มีคำพิพากษาบังคับตามสิทธิเรียกร้องแล้วให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ที่จัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 ได้ โจทก์มีสิทธิที่จะขอเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาโดยบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว และการเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาโดยผลของกฎหมายในกรณีนี้ หาได้ขัดต่อบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ภาค 4 ในเรื่องการบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง และหาได้ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 แต่ประการใดไม่ โจทก์ในฐานะตัวการย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีนี้ได้โดยไม่จำต้องเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีเดิมก่อน
หนังสือสัญญาซื้อขายระบุให้ผู้ซื้อทรัพย์ต้องรับผิดในกรณีที่ผู้ซื้อทรัพย์ผิดสัญญา และเจ้าพนักงานบังคับคดีนำทรัพย์ดังกล่าวออกขายทอดตลาดครั้งใหม่หากได้ราคาสุทธิต่ำกว่าครั้งก่อนเท่าใด ผู้ซื้อทรัพย์เดิมต้องรับผิดในส่วนที่ขาดนั้น ซึ่งเป็นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 516 ข้อตกลงดังกล่าวเป็นการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้า ในกรณีที่ผู้ซื้อผิดสัญญา ถือว่าเป็นเบี้ยปรับอย่างหนึ่งซึ่งหากกำหนดไว้สูงเกินส่วน ศาลย่อมมีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8415/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การคืนทรัพย์สินจากการฉ้อโกง: จำเลยต้องชดใช้เงินที่ได้จากการฉ้อโกงให้ครบถ้วน แม้ทรัพย์สินจะไม่ได้สูญเสียไปโดยตรง
จำเลยที่ 2 กับพวกร่วมกันฉ้อโกงเงิน 2,000,000 บาท ไปจากโจทก์ร่วม ทรัพย์สิน 47 รายการ คิดเป็นเงิน 473,000 บาท ที่จำเลยที่ 2 กับพวกได้มาจากการนำเงินที่ฉ้อโกงโจทก์ร่วมไปซื้อมาไว้ในครอบครองไม่ใช่ทรัพย์สินที่โจทก์ร่วมสูญเสียไปเนื่องจากการกระทำผิดของจำเลยที่ 2 จึงไม่อาจคืนทรัพย์สินดังกล่าวให้แก่โจทก์ร่วมได้
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ไม่ได้คืนทรัพย์สิน 47 รายการ ให้แก่โจทก์ร่วม แต่มิได้พิพากษาให้จำเลยที่ 2 คืนเงินในจำนวนเท่ากับราคาทรัพย์สิน 47 รายการ ให้แก่โจทก์ร่วมด้วยเป็นการไม่ชอบ เพราะจะทำให้โจทก์ร่วมได้รับเงินที่โจทก์ร่วมสูญเสียไปเนื่องจากการกระทำผิดของจำเลยที่ 2 กับพวกคืนจากจำเลยที่ 2 กับพวกไม่ครบถ้วน ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นกล่าวอ้าง ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
of 32