คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.พ.พ. ม. 600

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 46 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3612/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คดีค้ำประกัน: การระงับหนี้ลูกหนี้ไม่ทำให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นความรับผิดหากยังมีหนี้คงค้าง
การฟ้องร้องให้ผู้รับจ้างรับผิดเพื่อการที่ทำชำรุดบกพร่องอันมีอายุความ 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 601 นั้น ใช้บังคับแก่กรณีที่เกิดขึ้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 600 กล่าวคือต้องเป็นกรณีที่มิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นในสัญญา แล้วการชำรุดบกพร่องปรากฏขึ้นภายหลังส่งมอบงานให้แก่ผู้ว่าจ้างในสภาพเรียบร้อยถูกต้องตามสัญญาแล้ว มิใช่ความชำรุดบกพร่องที่เกิดขึ้นเพราะผู้รับจ้างปฏิบัติหรือทำงานไม่ถูกต้องตามสัญญา สัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับบริษัท ร. ข้อ 6 มีความว่า เมื่องานแล้วเสร็จบริบูรณ์และผู้ว่าจ้างได้รับมอบงานจากผู้รับจ้างหรือจากผู้รับจ้างรายใหม่ในกรณีที่มีการบอกเลิกสัญญาตามข้อ 5 หากมีเหตุชำรุดบกพร่องหรือเสียหายเกิดขึ้นภายในกำหนด 1 ปี นับถัดจากวันที่ได้รับมอบงานดังกล่าว ซึ่งความชำรุดบกพร่องหรือเสียหายนั้นเกิดจากความบกพร่องของผู้รับจ้างอันเกิดจากการใช้วัสดุที่ไม่ถูกต้องหรือทำไว้ไม่เรียบร้อยหรือทำไว้ไม่ถูกต้องตามมาตรฐานแห่งหลักวิชา ผู้รับจ้างจะต้องรีบทำการแก้ไขให้เป็นที่เรียบร้อยโดยไม่ชักช้าโดยผู้ว่าจ้างไม่ต้องออกเงินใด ๆ ในการนี้ทั้งสิ้น หากผู้รับจ้างบิดพลิ้วไม่กระทำการดังกล่าวภายในกำหนด 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งเป็นหนังสือจากผู้ว่าจ้างหรือไม่ทำการแก้ไขให้เรียบร้อยภายในเวลาที่ผู้ว่าจ้างกำหนด ให้ผู้ว่าจ้างมีสิทธิกระทำการนั้นเองหรือจ้างผู้อื่นให้ทำงานนั้นโดยผู้รับจ้างต้องเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย โจทก์บรรยายฟ้องว่า ความชำรุดบกพร่องเสียหายเกิดจากการที่บริษัท ร. ใช้วัสดุไม่ถูกต้องหรือทำงานไม่เรียบร้อยไม่ถูกต้องตามมาตรฐานแห่งหลักวิชาเป็นจำนวนมาก อันเป็นการฟ้องโดยอาศัยมูลแห่งความชำรุดบกพร่องที่เกิดจากการดำเนินการตามสัญญาจ้างของบริษัท ร. โดยตรง มิใช่ความชำรุดบกพร่องที่เกิดขึ้นภายหลังจากที่บริษัท ร. ส่งมอบงานที่รับจ้างที่ถูกต้องสมบูรณ์ไร้ข้อบกพร่องให้แก่โจทก์แล้ว คำฟ้องของโจทก์จึงเป็นการฟ้องเรียกค่าจ้างตามที่มีข้อสัญญาตกลงกันไว้เป็นพิเศษ ซึ่งโจทก์และบริษัท ร. ผูกพันต้องปฏิบัติต่อกันอีกส่วนหนึ่งต่างหาก ไม่ใช่กรณีตาม ป.พ.พ. มาตรา 600 ที่จะนำอายุความตามมาตรา 601 มาใช้บังคับ และไม่มีบทบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะจึงต้องใช้บทบัญญัติเรื่องอายุความทั่วไป 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 และตามมาตรา 193/12 บัญญัติว่า อายุความให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป ดังนี้ แม้จะนับแต่วันที่ 28 มิถุนายน 2538 ซึ่งโจทก์พบความชำรุดบกพร่อง อันเป็นวันที่โจทก์อาจใช้สิทธิเรียกร้องได้เป็นครั้งแรกจนถึงวันที่โจทก์ฟ้องบังคับแก่จำเลยที่ 2 คือวันที่ 16 มิถุนายน 2548 ยังเป็นเวลาไม่เกิน 10 ปี คำฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
การที่จำเลยที่ 3 ได้รับเวนคืนหนังสือค้ำประกันซึ่งเป็นเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งหนี้นั้น แม้จะเข้าข้อสันนิษฐานตาม ป.พ.พ. มาตรา 327 วรรคสามว่า หนี้ตามสัญญาค้ำประกันเป็นอันระงับสิ้นไปแล้ว แต่ข้อสันนิษฐานตามบทบัญญัติมาตราดังกล่าวมิใช่ข้อสันนิษฐานเด็ดขาด หากปรากฏข้อเท็จจริงเป็นอย่างอื่นก็ย่อมฟังตามข้อเท็จจริงนั้นได้ เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ว่าจำเลยที่ 1 ยังมีภาระต้องชำระหนี้ที่จำเลยที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกันตามหนังสือค้ำประกันดังกล่าวแก่โจทก์ และหนี้ดังกล่าวมิได้ระงับไปด้วยเหตุประการอื่นใด จำเลยที่ 1 ยังคงต้องชำระหนี้นั้นแก่โจทก์ เพียงเหตุที่จำเลยที่ 3 ผู้ค้ำประกันได้รับเวนคืนหนังสือค้ำประกันกลับคืนมาไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ ก็หาส่งผลให้จำเลยที่ 3 หลุดพ้นจากความรับผิดในหนี้ค้ำประกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 698 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13619/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องค่าเสียหายจากการชำรุดบกพร่องของงานก่อสร้าง: แยกพิจารณาตามสัญญาหรือกฎหมายทั่วไป
การฟ้องร้องให้ผู้รับจ้างรับผิดเพื่อการที่ทำชำรุดบกพร่องตามสัญญาจ้างทำของอันมีอายุความ 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 601 นั้น ใช้บังคับแก่เฉพาะกรณีความรับผิดเพื่อการที่ทำชำรุดที่เกิดขึ้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 600 กล่าวคือ ในกรณีที่มิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นในสัญญาและงานที่ทำปรากฏการชำรุดบกพร่องขึ้นภายหลัง 1 ปี นับแต่วันส่งมอบหรือที่ปรากฏขึ้นภายใน 5 ปี สำหรับสิ่งปลูกสร้างในพื้นดิน กรณีตามคำฟ้องโจทก์เป็นการฟ้องตามข้อสัญญาซึ่งกำหนดความรับผิดเพื่อการที่ทำชำรุดบกพร่องไว้เป็นอย่างอื่น กรณีดังกล่าวจึงไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะต้องใช้อายุความทั่วไปคือ 10 ปี ตามมาตรา 193/30 คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2526/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องค่าเสียหายจากการซ่อมแซมอาคารชำรุด: ไม่ใช่ 1 ปี แต่ใช้ 10 ปีตามสัญญา
โจทก์จ้างจำเลยที่ 1 ออกแบบก่อสร้าง ทำการก่อสร้างและควบคุมการก่อสร้างอาคารที่ทำการสื่อสารโทรคมนาคมยานนาวาตามสัญญาว่าจ้าง โดยมีข้อตกลงในการประกันผลงานในข้อ 5.3 ซึ่งให้สิทธิโจทก์ในฐานะผู้ว่าจ้างในการดำเนินการแก้ไขซ่อมแซมหรือดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดได้เองในกรณีที่เกิดการชำรุดเสียหายแก่อาคารซึ่งเหตุชำรุดเสียหายเกิดจากความบกพร่องของผู้รับจ้าง และโจทก์ได้แจ้งให้ผู้รับจ้างต้องรีบทำการแก้ไข ซ่อมแซมภายในระยะเวลาที่ผู้ว่าจ้างกำหนดแล้ว แต่ผู้รับจ้างไม่ดำเนินการแก้ไขซ่อมแซมความชำรุดบกพร่องให้เสร็จภายในเวลาที่โจทก์กำหนด โดยผู้รับจ้างยินยอมรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด นอกจากนี้สัญญาว่าจ้างข้อ 10.2 ในกรณีที่ผู้รับจ้างไม่ปฏิบัติตามสัญญา ยังให้สิทธิโจทก์ที่จะว่าจ้างผู้อื่นมาทำงานแทนผู้รับจ้างได้โดยมิต้องบอกกล่าวหรือให้ผู้รับจ้างยินยอมแต่อย่างใด และค่าใช้จ่ายทั้งหมดผู้รับจ้างยินยอมให้โจทก์เรียกร้องจากผู้รับจ้างทั้งหมด สัญญาข้อที่ 10.2 นี้อยู่ในส่วนของเงื่อนไขทั่วไปของสัญญาว่าจ้าง จึงไม่ใช่ใช้เฉพาะกรณีที่งานของจำเลยที่ 1 ยังไม่แล้วเสร็จเท่านั้น แต่ใช้ได้ตลอดเวลาที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 ยังมีนิติสัมพันธ์กันอยู่และยังเป็นข้อตกลงตามสัญญาอย่างหนึ่งที่ให้สิทธิโจทก์ในการว่าจ้างบุคคลภายนอกทำงานแทนผู้รับจ้างได้ในกรณีที่ผู้รับจ้างไม่ปฏิบัติตามสัญญา สำหรับกรณีคำฟ้องของโจทก์ไม่ใช่เป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหายเพื่อการที่ทำชำรุดพบพร่องอันมีอายุความ 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 601 เพราะบทบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับกรณีที่เกิดขึ้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 600 กล่าวคือ ถ้ามิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นในสัญญา เมื่อได้ส่งมอบงานกันแล้วปรากฏว่างานที่ว่าจ้างมีการชำรุดบกพร่องเกิดขึ้นภายหลังจึงกำหนดให้ฟ้องคดีภายใน 1 ปี นับแต่วันการชำรุดบกพร่องปรากฏขึ้น แต่กรณีคำฟ้องของโจทก์เป็นการฟ้องเรียกค่าจ้างตามที่มีข้อสัญญาตกลงกันไว้เป็นพิเศษ โจทก์และจำเลยที่ 1 ต้องปฏิบัติตามสัญญานั้นซึ่งผูกพันกันอีกส่วนหนึ่งต่างหากตามสัญญา กรณีนี้จึงไม่ใช่เป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหายเพื่อการที่ทำชำรุดบกพร่องซึ่งมีอายุความ 1 ปี ตามมาตรา 601 ทั้งกรณีของโจทก์ไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความทั่วไปคือ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 ดังนั้น เมื่อโจทก์พบความชำรุดบกพร่องในวันที่ 9 สิงหาคม 2545 และแจ้งให้จำเลยที่ 1 ทำการซ่อมแซมแก้ไขอาคารรวม 2 ครั้งแล้วแต่จำเลยที่ 1 เพิกเฉย โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะว่าจ้างบุคคลภายนอกทำการซ่อมแซมแทนจำเลยที่ 1 ได้ ซึ่งจำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดชอบค่าจ้างที่โจทก์เสียไปทั้งหมดตามสัญญาข้างต้น โจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2549 ซึ่งนับแต่วันที่พบความชำรุดบกพร่องถึงวันฟ้องยังไม่เงิน 10 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4308/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องชำรุดบกพร่อง: สัญญาพิเศษ VS. ป.พ.พ. มาตรา 601
การฟ้องร้องให้ผู้รับจ้างรับผิดเพื่อการที่ทำชำรุดบกพร่องอันมีอายุความ 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 601 นั้น ใช้บังคับแก่กรณีที่เกิดขึ้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 600 กล่าวคือ ต้องเป็นกรณีที่มิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นในสัญญา แล้วงานที่ทำเกิดการชำรุดบกพร่องขึ้นภายหลังส่งมอบ แต่กรณีตามคำฟ้องของโจทก์เป็นการฟ้องตามข้อสัญญาซึ่งกำหนดความรับผิดเพื่อการที่ทำชำรุดบกพร่องไว้เป็นอย่างอื่น อันเป็นข้อสัญญาที่ตกลงกันไว้เป็นพิเศษอีกส่วนหนึ่งต่างหาก ซึ่งผูกพันคู่สัญญาให้ต้องปฏิบัติตาม หาใช่เป็นเพียงข้อตกลงเปลี่ยนแปลงกำหนดเวลาซึ่งผู้รับจ้างต้องรับผิดเพื่อการที่ทำชำรุดบกพร่องให้แตกต่างไปจากที่กำหนดไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 600 ไม่ เมื่อไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้กำหนดอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7172/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาเหมางาน: ผู้รับเหมาผิดสัญญาเนื่องจากงานไม่เรียบร้อย ผู้ว่าจ้างมีสิทธิเรียกเงินคืนตามสัดส่วน
ความชำรุดบกพร่องตาม ป.พ.พ. มาตรา 601 หมายความถึงความชำรุดบกพร่องซึ่งเกิดขึ้นตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 598 , 599 และ 600 อันหมายถึงความชำรุดบกพร่องในตัวทรัพย์ที่ผู้รับจ้างส่งมอบให้กับผู้ว่าจ้างครบถ้วนแล้ว มิใช่หมายถึงการไม่ปฏิบัติให้ครบถ้วนตามสัญญา
ที่จำเลยฎีกาว่า ว. ตัวแทนโจทก์รับมอบงานก่อสร้างบ้านจากจำเลยโดยมิได้อิดเอื้อน จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 598 นั้น เห็นว่า กรณีนี้เป็นเรื่องโจทก์ฟ้องอ้างว่าจำเลยผิดสัญญาเพราะไม่ปฏิบัติงานให้เรียบร้อยตามสัญญา หาใช่ฟ้องให้จำเลยรับผิดในความชำรุดบกพร่องของงานที่ทำ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาเพราะไม่ปฏิบัติงานให้เรียบร้อยตามสัญญาจริง โจทก์จึงมีสิทธิเรียกเงินคืนจากจำเลยตามสัดส่วนของงานที่ยังไม่ได้ทำให้เรียบร้อยตามสัญญาได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4087/2546 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาจ้างเหมา: ผู้รับจ้างต้องแก้ไขงานชำรุดตามสัญญา หากไม่ทำตาม ผู้ว่าจ้างมีสิทธิจ้างผู้อื่น แต่ต้องแจ้งให้แก้ไขก่อน
ตามหนังสือสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างเอกสารหมาย จ. 6 ข้อ 6 ระบุว่า "ภายในกำหนด 12 เดือน นับแต่วันที่ผู้ว่าจ้างได้รับมอบงานนี้จากผู้รับจ้างเป็นต้นไป ถ้ามีเหตุชำรุดเสียหายแก่งานจ้างนี้โดยผู้รับจ้างทำไว้ไม่เรียบร้อยหรือใช้สัมภาระที่ไม่ดี ผู้รับจ้างจะทำการแก้ไขใหม่ทันทีโดยไม่คิดราคาสิ่งของสัมภาระและค่าแรงงานจากผู้ว่าจ้างอีก ถ้าผู้รับจ้างบิดพริ้วไม่จัดการแก้ไขหรือซ่อมให้เป็นที่เรียบร้อยภายในกำหนดเวลาที่ได้รับแจ้งเป็นหนังสือจากผู้ว่าจ้าง ผู้ว่าจ้างมีอำนาจจ้างผู้อื่นทำแทนต่อไป โดยผู้รับจ้างยินยอมจ่ายเงินค่าจ้างในการแก้ไขเท่าที่สร้างจริงโดยสิ้นเชิง" จากข้อตกลงดังกล่าวมีความหมายว่า ภายใน 12 เดือน นับแต่วันรับมอบงานที่ก่อสร้าง ถ้ามีความชำรุดเสียหายเกิดขึ้นแก่งานที่ก่อสร้าง โจทก์มีอำนาจจ้างผู้อื่นแก้ไขซ่อมแซมงานได้ โดยมีเงื่อนไขว่า โจทก์ซึ่งเป็นผู้ว่าจ้างต้องมีหนังสือแจ้งจำเลยที่ 1 ผู้รับจ้างให้แก้ไขซ่อมแซมภายในเวลาที่กำหนดก่อนแล้วจำเลยที่ 1 ไม่แก้ไขซ่อมแซม แต่หนังสือที่โจทก์แจ้งแก่จำเลยที่ 1 เป็นเพียงหนังสือแจ้งเกี่ยวกับเรื่องจำเลยที่ 1 ก่อสร้างบางรายการไม่ถูกต้องตามแบบ ไม่ดำเนินการเก็บงานให้เรียบร้อย จะให้บริษัท ป. เข้าดำเนินการตรวจสอบซ่อมแซมและก่อสร้างให้เรียบร้อยถูกต้องตามแบบโดยจำเลยที่ 1 ต้องเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายเท่านั้น ถึงจะมีบางฉบับระบุด้วยว่ามีความเสียหายเกิดขึ้น แต่ก็ไม่มีรายละเอียดว่าเป็นความเสียหายส่วนใดของงานก่อสร้าง และแม้บางฉบับโจทก์จะได้สรุปความเสียหายให้จำเลยที่ 1 ทราบถึงรายละเอียดงานก่อสร้างซ่อมแซม และขอให้จำเลยที่ 1 ส่งผู้ควบคุมงานเพื่อตรวจสอบงานก่อสร้างบางอย่างที่ไม่สามารถตรวจสอบได้ก็ตาม แต่ในขณะที่โจทก์มีหนังสือฉบับดังกล่าวก็เป็นระยะเวลาภายหลังที่โจทก์ตัดสินใจให้บริษัท ป. เข้าซ่อมแซมงานก่อสร้างแล้ว ดังนั้น หนังสือที่โจทก์มีถึงจำเลยที่ 1 จึงไม่ใช่หนังสือที่โจทก์แจ้งให้จำเลยที่ 1 แก้ไขซ่อมแซมความชำรุดเสียหายงานก่อสร้างภายในเวลาที่กำหนดตาม เงื่อนไขในสัญญาจ้างเหมาก่อสร้าง เอกสารหมาย จ. 6 ข้อ 6 เท่ากับว่าโจทก์มิได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในสัญญา เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ได้แก้ไขซ่อมแซมงานก่อสร้างที่ชำรุดเสียหาย จึงไม่อาจถือได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1469/2542 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดจากสัญญาจ้างกำจัดปลวก: ความชำรุดบกพร่องและการขาดอายุความ
ความชำรุดบกพร่องตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ.มาตรา 601หมายถึง ความชำรุดบกพร่องอันเกิดขึ้นตามที่บัญญัติไว้ในมาตราก่อน ๆ คือ มาตรา598, 599 และ 600 อันหมายถึงความชำรุดบกพร่องในตัวทรัพย์ที่ผู้รับจ้างส่งมอบให้แก่ผู้ว่าจ้างตามสัญญาจ้างครบถ้วนแล้ว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยผิดสัญญาที่ไม่ตรวจภายในอาคารคลังพัสดุให้ละเอียดว่ามีปลวกขึ้นหรือไม่ จำเลยจึงไม่เห็นปลวกในจุดที่ปลวกกัดกินผ้าดิบของโจทก์และไม่กำจัดปลวกให้หมดสิ้น กับไม่ใส่ยาเคมีป้องกันมิให้ปลวกขยายพันธุ์ให้ทั่วบริเวณสถานที่ตามข้อตกลงในสัญญาจ้างกำจัดและป้องกันปลวก ซึ่งขณะปลวกกัดกินผ้าดิบยังอยู่ในอายุสัญญาจ้างดังกล่าว ตามคำฟ้องของโจทก์จึงเป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดที่ไม่ปฏิบัติให้ครบถ้วนตามสัญญา กรณีไม่ต้องด้วย ป.พ.พ.มาตรา601 ดังนี้เมื่อจำเลยไม่ปฏิบัติให้ครบถ้วนตามสัญญา จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา ต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายที่ผ้าดิบของโจทก์ถูกปลวกกัดกินเสียหายแก่โจทก์ สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายดังกล่าวนี้ไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีกำหนดอายุความ10 ปี ตาม ป.พ.พ.มาตรา 193/30 และนับแต่วันที่โจทก์พบปลวกกัดกินผ้าดิบเสียหายถึงวันฟ้อง คดียังไม่พ้นกำหนด 10 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1469/2542

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องค่าเสียหายจากสัญญาจ้างกำจัดปลวก: ศาลวินิจฉัยเป็นคดีผิดสัญญา มีอายุความ 10 ปี
ความชำรุดบกพร่องตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 601 หมายถึง ความชำรุดบกพร่องอันเกิดขึ้นตามที่บัญญัติไว้ในมาตราก่อน ๆ คือ มาตรา 598,599 และ 600 อันหมายถึงความชำรุดบกพร่อง ในตัวทรัพย์ที่ผู้รับจ้างส่งมอบให้แก่ผู้ว่าจ้างตามสัญญาจ้าง ครบถ้วนแล้ว โจทก์ฟ้องว่า จำเลยผิดสัญญาที่ไม่ตรวจภายในอาคารคลังพัสดุให้ละเอียดว่ามีปลวกขึ้นหรือไม่ จำเลยจึงไม่เห็นปลวกในจุดที่ปลวกกัดกินผ้าดิบของโจทก์และไม่กำจัดปลวกให้หมดสิ้น กับ ไม่ใส่ยาเคมีป้องกันมิให้ปลวกขยายพันธุ์ให้ทั่วบริเวณสถานที่ตามข้อตกลงในสัญญาจ้างกำจัดและป้องกันปลวกซึ่งขณะปลวกกัดกินผ้าดิบยังอยู่ในอายุสัญญาจ้างดังกล่าว ตามคำฟ้อง ของโจทก์จึงเป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดที่ ไม่ปฏิบัติให้ครบถ้วนตามสัญญา กรณีไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 601 ดังนี้เมื่อจำเลยไม่ปฏิบัติให้ครบถ้วนตามสัญญา จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายที่ผ้าดิบของโจทก์ถูกปลวกกัดกินเสียหายแก่โจทก์ สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายดังกล่าวนี้ไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีกำหนดอายุความ10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 และนับแต่วันที่โจทก์พบปลวกกัดกินผ้าดิบเสียหายถึงวันฟ้อง คดียังไม่พ้นกำหนด 10 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2031/2541

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความสัญญาจ้างและขอบเขตความรับผิดของผู้รับเหมา รวมถึงการหักกลบค่าจ้าง
โจทก์บรรยายคำฟ้องว่า จำเลยที่ 1 สร้างระบบปรับอากาศไว้ ชำรุดบกพร่อง ไม่สามารถใช้งานได้ตามปกติ มีการกลั่นตัว เป็นหยดน้ำตามส่วนต่าง ๆ ของระบบปรับอากาศ และหยด ลงทำให้ผ้าเพดานเสียหาย หัวจ่ายลมเย็นขึ้นรา นอกจากความชำรุดเสียหายเกิดจากความบกพร่อง ในการทำงานของจำเลยที่ 1 แล้วยังเกิดเพราะจำเลยที่ 2 ออกแบบก่อสร้างไม่ถูกต้องตามหลักวิชาและวิธีปฏิบัติทางสถาปัตยกรรมและวิศวกรรม เพราะจำเลยที่ 2 ออกแบบโดยไม่คำนึงถึงสภาพที่ตั้งของอาคารที่ก่อสร้างซึ่งอยู่ในเขตที่มีฝนตกชุกเกือบทั้งปี อากาศมีความชื้นสูงจำเลยที่ 2 ออกแบบความหนาของฉนวนที่ใช้หุ้มท่อต่าง ๆในระบบปรับอากาศไม่เพียงพอในการป้องกันมิได้เกิดการกลั่นตัวเป็นหยดน้ำ เป็นคำฟ้องที่แจ้งชัดในสภาพของข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา คือความบกพร่องในการก่อสร้างของจำเลยที่ 1 และความบกพร่อง ของการออกแบบของจำเลยที่ 2 แล้ว ทั้งโจทก์ได้บรรยายความ เสียหายที่โจทก์ต้องซ่อมแซมและจ้างผู้อื่นซ่อมแซมเป็น ยอดความเสียหายที่ขอบังคับให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ชดใช้แก่โจทก์ เป็นการบรรยายคำขอบังคับไว้ชัดแจ้งแล้วเช่นกันคำฟ้องโจทก์จึงไม่ใช่คำฟ้องเคลือบคลุม ตามสัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีข้อตกลงเรื่องความชำรุดบกพร่องไว้ในสัญญาว่า หากงานก่อสร้าง ที่จำเลยที่ 1 รับจ้างทำและจำเลยที่ 2 เป็นผู้ออกแบบ และควบคุมเกิดความชำรุดบกพร่องภายใน 1 ปี นับแต่ วันส่งมอบและโจทก์มีหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ซ่อมแซมแก้ไขแล้ว แต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ซ่อมแซม แก้ไขหรือซ่อมแซมแก้ไขแล้ว แต่ไม่เรียบร้อย โจทก์มีสิทธิจ้างผู้อื่นซ่อมแซมแก้ไขแทนได้ และจำเลยที่ 1 และที่ 2 จะต้องรับผิดชอบในค่าจ้างที่โจทก์ต้องจ่ายให้แก่ ผู้อื่นนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 มิได้ปฏิบัติตามข้อตกลง ย่อมถือว่าเป็นการผิดสัญญา โจทก์ย่อมฟ้องได้ตามข้อสัญญา กรณีจึงไม่ใช่เรื่องที่จะนำอายุความตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 600 และ 601 มาใช้บังคับ เพราะบทบัญญัติแห่งมาตราทั้งสองใช้บังคับ เฉพาะกรณีที่ไม่มีข้อตกลงในสัญญาเป็นอย่างอื่น กรณีในคดีนี้เป็นเรื่องมิได้มีบทบัญญัติเรื่องอายุความ ไว้โดยเฉพาะ จึงต้องนำบทบัญญัติเรื่องอายุความทั่วไป 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 ที่ใช้บังคับในขณะที่โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้มาใช้บังคับ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1273/2541

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ซ่อมเปียโนโบราณ: การตีความสัญญา ความจำเป็นในการซ่อมแซม และการชำระค่าจ้าง
โจทก์มีหนังสือถึงอธิบดีกรมศิลปากร ขอซ่อมเปียโน พิพาทแจ้งว่าโจทก์มีความสามารถที่จะซ่อมเปียโน ให้อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ มิได้มีการระบุขอซ่อมเพื่อรักษาสภาพของเก่าตามสัญญาว่าจ้างฉบับพิพาท โจทก์ก็ระบุให้ซ่อมโดยอนุรักษ์ของเก่าเท่าที่ทำได้โดยไม่มีรายละเอียดว่าส่วนใดห้ามเปลี่ยนส่วนใดให้เปลี่ยนได้การตกลงว่าจ้างซ่อมเปียโน เก่าเพื่อให้ใช้ได้โดยสมบูรณ์และให้รักษาของเก่าด้วยเช่นนี้จึงเป็นเรื่องยาก โดยเฉพาะเปียโน อายุมากกว่า 180 ปี หมดสภาพการใช้งานโดยสิ้นเชิงแล้ว เมื่อการกำหนดรายละเอียดในการซ่อม ไม่ปรากฎในสัญญาจ้างโดยชัดแจ้ง จึงต้องอยู่ในดุลพินิจของ ช่างผู้ชำนาญจะพิจารณา หากรักษาของเก่ามากเปียโน ก็ใช้งาน ไม่ได้ หากจะให้ใช้งานได้สภาพของเก่าจะหมดลง การที่จำเลย ให้ช่างเปลี่ยนชุดแป้นลิ่มนิ้วทั้งสองด้าน ทั้งที่ชุดแป้นลิ่มนิ้วด้านหนึ่งยังพอใช้ได้แต่หากใช้แป้นลิ่มนิ้วเก่า เปียโน จะได้เสียง ไม่สมบูรณ์ตามสัญญาจ้าง จึงถือเป็นความจำเป็นอันมิอาจก้าวล่วงได้ นอกจากนี้ตามสัญญาว่าจ้างตกลงค่าจ้างแน่นอน ทั้งตามข้อสัญญามิได้มีข้อกำหนดว่าชิ้นส่วนที่ชำรุดดังกล่าวจะต้องส่งคืนโจทก์ การซ่อมแซมของจำเลยจึงถือได้ว่าเป็นไปตามข้อตกลงในสัญญาจ้างแล้ว และเมื่อการบอกเลิกสัญญาของโจทก์เป็นไปโดยมิชอบ โจทก์จึงต้องชำระค่าจ้างที่ค้างแก่จำเลย
of 5