คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
สุวัฒน์ วรรธนะหทัย

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 772 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15233/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กรรมสิทธิ์ทรัพย์สินในสถานีบริการน้ำมัน: ส่วนควบ vs. ทรัพย์ที่เคลื่อนย้ายได้ และการบังคับคดี
ข้อสัญญาที่โจทก์ตกลงให้สิทธิจำเลยที่ 1 ดำเนินกิจการสถานีบริการน้ำมันของโจทก์ภายใต้ชื่อทางการค้าว่า "เอสโซ่" นั้น ผลิตภัณฑ์น้ำมันที่จำเลยที่ 1 จำหน่ายในสถานีบริการน้ำมันเป็นสินค้าของโจทก์ แม้จะมีการใช้เครื่องหมายการค้า "เอสโซ่" ก็เป็นการใช้เครื่องหมายการค้าโดยโจทก์เอง มิใช่กรณีที่จำเลยที่ 1 จัดหาสินค้าเองแล้วนำเครื่องหมายการค้าของโจทก์มาใช้กับสินค้าของจำเลยที่ 1 แต่อย่างใด สัญญาให้ใช้สิทธิดำเนินการสถานีบริการน้ำมันดังกล่าวจึงมิใช่สัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้า แม้จะไม่จดทะเบียนต่อนายทะเบียนก็หาตกเป็นโมฆะไม่
โจทก์ทำสัญญาเช่าที่ดินเพื่อปลูกสร้างสถานีบริการน้ำมัน โดยมีข้อตกลงว่า เมื่อครบอายุสัญญาเช่าที่ดินแล้ว ยอมให้สิ่งปลูกสร้างบนที่ดินตกเป็นเจ้าของที่ดิน ดังนั้นเมื่อครบอายุสัญญาเช่าที่ดิน สถานีบริการน้ำมันรวมทั้งส่วนควบ ย่อมตกเป็นกรรมสิทธิ์แก่เจ้าของที่ดิน เมื่อถังน้ำมัน 9 ถัง ฝังอยู่ใต้พื้นดินและป้ายโฆษณาใหญ่ที่ปักยึดติดลงไปในดินอย่างมั่นคง ซึ่งตามสภาพจึงเป็นสาระสำคัญของการประกอบกิจการจำหน่ายน้ำมันไม่อาจแยกออกจากสถานีบริการน้ำมันได้ นอกจากการขุดทำลายพื้นผิวของสถานีบริการน้ำมัน จึงถือว่าทรัพย์ดังกล่าวเป็นส่วนควบของสถานีบริการน้ำมันย่อมตกเป็นของเจ้าของสถานีบริการน้ำมัน โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิเรียกให้จำเลยทั้งสองส่งคืนได้ ส่วนถังน้ำมันสำหรับใส่น้ำมันเสีย ฮ้อยท์ยกเปลี่ยนน้ำมันเครื่อง ปั๊มลม ถือไม่ได้ว่าเป็นสาระสำคัญของสถานีบริการน้ำมันและตู้จ่ายน้ำมัน แม้จะเป็นส่วนสาระสำคัญในการให้บริการจำหน่ายน้ำมัน แต่มีลักษณะที่มิได้ยึดติดแน่นกับที่ดินหรือสถานีบริการน้ำมันเป็นการถาวร สามารถยกเคลื่อนย้ายโดยไม่ต้องทุบทำลาย จึงไม่ถือเป็นส่วนควบของสถานีบริการน้ำมัน โจทก์จึงมีสิทธิเรียกให้จำเลยทั้งสองส่งคืนแก่โจทก์ได้
ส่วนที่ศาลล่างพิพากษาว่า หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา ให้โจทก์เข้าไปรื้อถอนขนย้ายเครื่องบริภัณฑ์ซึ่งติดตั้งอยู่ที่สถานีบริการน้ำมันนั้น เห็นว่า ไม่มีกฎหมายให้อำนาจโจทก์เข้าไปดำเนินการบังคับคดีเองได้ คำพิพากษาส่วนนี้จึงไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12534/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การครอบครองยาเสพติดเพื่อจำหน่าย: การส่งมอบสมบูรณ์แม้ผู้รับถูกควบคุมตัว
จำเลยกับ พ. มีเจตนาที่จะกระทำความผิดทางอาญาโดยร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายจึงสั่งซื้อและชำระเงินจำนวน 7,000 บาท ให้แก่ จ. ผู้ขาย แต่ จ. ยังไม่สามารถส่งมอบเมทแอมเฟตามีนให้เพราะยังไม่มี จึงผัดว่าจะส่งมอบเมทแอมเฟตามีนให้ในภายหลัง โดย จ. จะนำแมทแอมเฟตมีนตามีนไปซุกซ่อนไว้ที่มาตรวัดน้ำประปาหน้าบ้านเช่าที่จำเลยกับ พ. เคยไปรับแมทแอมเฟตามีนกันมาก่อน จำเลยจึงลงมือกระทำความผิดไปตลอดแล้ว และการที่ จ. ได้นำเมทแอมเฟตามีนที่สั่งซื้อไว้ไปซุกซ่อนที่มาตรวัดน้ำประปาหน้าบ้านเช่าและโทรศัพท์มาแจ้งแก่จำเลยกับ พ. ให้จำเลยกับ พ. ไปเอาได้ เจ้าพนักงานตำรวจจึงนำจำเลยกับ พ. ไปยังสถานที่ดังกล่าวและยึดเมทแอมเฟตามีนจำนวน 60 เม็ด ที่ซุกซ่อนไว้เป็นของกลาง ถือว่าการส่งมอบแมทแอมเฟตามีนให้แก่จำเลยกับ พ. มีผลสมบูรณ์เป็นความผิดสำเร็จตั้งแต่ จ. แจ้งให้จำเลยกับ พ. ทราบว่าได้นำเมทแอมเฟตามีนของกลางไปซุกซ่อนที่มาตรวัดน้ำประปานั้นแล้ว แม้ขณะที่ จ. แจ้งให้ทราบนั้น จำเลยกับ พ. ถูกเจ้าพนักงานตำรวจควบคุมตัวอยู่ ก็ไม่มีผลทำให้จำเลยกับ พ. ไม่สามารถครอบครองเมทแอมเฟตามีนของกลางได้แต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11317/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแก้ไขคำให้การและการฟ้องแย้งในคดีทรัพย์สินทางปัญญา: การยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การและการรับฟ้องแย้ง
การขอแก้ไขคำให้การต้องยื่นคำร้องขอต่อศาลก่อนวันนัดชี้สองสถานหรือก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่า 7 วัน ในกรณีที่ไม่มีการชี้สองสถาน ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 180 เมื่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางนัดชี้สองสถานหรือนัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 8 มีนาคม 2553 แต่เมื่อถึงวันนัด ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งงดชี้สองสถานและให้เลื่อนคดีไปนัดสืบพยานโจทก์ในวันอื่น วันที่ 8 มีนาคม 2553 ย่อมมิใช่วันชี้สองสถานหรือวันสืบพยาน ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 180 จำเลยจึงยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การในวันดังกล่าวได้
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยและห้ามจำเลยใช้ ยื่นคำขอจดทะเบียน หรือเกี่ยวข้องในทางใดๆ กับเครื่องหมายการค้าที่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ การที่จำเลยฟ้องแย้งขอให้บังคับโจทก์ชดใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยโดยอ้างว่า โจทก์ฟ้องคดีโดยไม่สุจริตทำให้จำเลยสูญเสียรายได้ เนื่องจากต้องเก็บสินค้าที่วางจำหน่ายในท้องตลาดระหว่างรอฟังผลของคดี เป็นฟ้องแย้งโดยอาศัยเหตุที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้เป็นข้ออ้าง ฟ้องแย้งจึงเป็นเรื่องอื่นไม่เกี่ยวข้องกับคำฟ้องเดิมพอที่จะรวมการพิจารณาและชี้ขาดตัดสินเข้าด้วยกันได้ ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสาม และมาตรา 179 วรรท้าย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10668/2553 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ศาลฎีกาพิพากษากลับคำตัดสินเดิม ชี้การวินิจฉัยเหตุสุดวิสัยเป็นอำนาจอนุญาโตตุลาการ การบังคับตามคำชี้ขาดไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการโดยอ้างว่า คำวินิจฉัยชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากการอ้างเหตุสุดวิสัยมาเป็นข้อยกเว้นความรับผิดของผู้คัดค้านที่คณะอนุญาโตตุลาการยกขึ้นกล่าวอ้างในคำวินิจฉัยชี้ขาดไม่ถือเป็นเหตุสุดวิสัย ทั้งเอกสารที่คณะอนุญาโตตุลาการนำมาพิจารณาเป็นเอกสารที่ไม่อาจรับฟังได้ การบังคับตามคำชี้ขาดดังกล่าวจึงไม่เป็นธรรมต่อผู้ร้อง อันเป็นการโต้แย้งการรับฟังพยานหลักฐานและเนื้อหาในประเด็นข้อพิพาทที่คณะอนุญาโตตุลาการได้วินิจฉัย มิใช่การโต้แย้งตามกรณีในมาตรา 40 (1) (ก) ถึง (จ) แห่งพ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 จึงไม่มีเหตุที่ผู้ร้องจะขอให้ศาลเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการตามบทมาตราดังกล่าวได้
คณะอนุญาโตตุลาการเสียงข้างมากมีคำวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทระหว่างผู้ร้องกับผู้คัดค้านว่า มีเหตุสุดวิสัยที่เป็นเหตุให้ผู้คัดค้านส่งมอบงานล่าช้า จึงวินิจฉัยให้ผู้ร้องคืนค่าปรับให้แก่ผู้คัดค้านพร้อมด้วยดอกเบี้ย เป็นการวินิจฉัยชี้ขาดว่ามีเหตุสุดวิสัยตามที่ตกลงกันในสัญญาที่เป็นเหตุให้ผู้คัดค้านยังไม่อาจชำระหนี้ได้หรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับข้อตกลงในสัญญา มิได้ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ตาม มาตรา 40 (2) (ข) แห่ง พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่ามิได้มีเหตุสุดวิสัยดังที่คณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัย การบังคับตามคำชี้ขาดจึงขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน นั้น จึงเป็นการเข้าไปวินิจฉัยเนื้อหาในประเด็นข้อพิพาทที่เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะอนุญาโตตุลาการโดยเฉพาะ จึงเป็นการไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10668/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ขอบเขตการวินิจฉัยของศาลกับการบังคับตามคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการ: เหตุสุดวิสัยในสัญญา
คำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการในข้อพิพาทเรื่องการส่งมอบเครื่องฝึกบินจำลองว่า มีเหตุสุดวิสัยเกี่ยวกับการยื่นขอและรับใบอนุญาตส่งออกจนไม่สามารถดำเนินการตามสัญญาได้ นั้น เป็นคำชี้ขาดว่ามีเหตุสุดวิสัยตามที่ตกลงกันในสัญญาที่เป็นเหตุให้ผู้คัดค้านไม่อาจชำระหนี้ตามกำหนดเวลาในสัญญา ซึ่งเป็นเรื่องวินิจฉัยเกี่ยวกับข้อตกลงในสัญญา หาใช่เป็นการวินิจฉัยแปลความถึงเหตุสุดวิสัยขัดต่อ ป.พ.พ. มาตรา 8 ไม่ การยอมรับหรือการบังคับคดีตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการดังกล่าวจึงไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ตามมาตรา 40 (2) ข แห่ง พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการฯ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8973/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของผู้ขนส่งทางทะเลต่อความเสียหายสินค้า: การจำกัดความรับผิดและหน่วยการขนส่ง
จำเลยที่ 3 ได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 1 ให้ขนส่งสินค้าพิพาททางทะเลจากท่าเรือที่ประเทศสิงคโปร์มาท่าเรือแหลมฉบัง และดำเนินการขนถ่ายตู้สินค้ามาที่ลานพักสินค้าลาดกระบังเพื่อรอส่งมอบให้ผู้รับตราส่ง จำเลยที่ 3 จึงมีฐานะเป็นผู้ขนส่งอื่นตามนิยามในมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534
ตู้ที่ใช้บรรจุสินค้าพิพาทมีรูรั่วและมิได้ถูกจัดเก็บในสถานที่หรือสภาพที่จะปลอดภัยต่อสินค้าที่บรรจุอยู่ภายใน จึงเป็นเหตุให้มีน้ำซึมไหลผ่านรูรั่วด้านบนลงไปในตู้สินค้า ทำให้สินค้าพิพาทเปียกน้ำเสียหายก่อนที่ผู้รับตราส่งจะได้รับมอบสินค้า ดังนั้น เมื่อเหตุแห่งความเสียหายของสินค้าเกิดขึ้นในระหว่างสินค้าพิพาทอยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ผู้ขนส่ง
เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าผู้ส่งของได้แจ้งราคาสินค้าที่ขนส่งให้ผู้ขนส่งทราบและผู้ขนส่งยอมรับโดยแสดงราคาสินค้านั้นไว้ในใบตราส่ง ความรับผิดของผู้ขนส่งในความเสียหายของสินค้าพิพาทต้องถูกจำกัดไว้เพียง 10,000 บาท ต่อหนึ่งหน่วยการขนส่ง หรือกิโลกรัมละ 30 บาทต่อน้ำหนักสุทธิแห่งสินค้าพิพาท แล้วแต่ว่าเงินจำนวนใดจะมากกว่ากันตาม พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 58 สินค้าที่เสียหายเป็นแผ่นฉนวนทองแดงบรรจุอยู่ในหีบห่อ 12 หีบห่อ หีบห่อละ 50 ชิ้น วางซ้อนกันและห่อหุ้มด้วยกระดาษสีน้ำตาลและพลาสติกใสรัดด้วยสายรัดพลาสติกวางอยู่บนพัลเล็ตโดยห่อหุ้มรวมกันเป็นห่อเดียว ไม่สามารถเห็นสินค้าแต่ละชิ้นจากภายนอกได้ การขนส่งห่อดังกล่าวสามารถขนส่งไปได้โดยลำพัง ประกอบกับตามใบตราส่งก็ไม่ได้ระบุจำนวนและลักษณะของหน่วยการขนส่งที่รวมกันนั้นไว้ให้เข้าใจได้ชัดเจน กรณีย่อมถือว่าสินค้าพิพาทดังกล่าว 1 หีบห่อ เป็นหนึ่งหน่วยการขนส่ง ไม่ใช่ 1 พัลเล็ต เป็นหนึ่งหน่วยการขนส่งหรือแต่ละชิ้นที่อยู่ในหีบห่อเป็น 1 หน่วยการขนส่ง ความรับผิดของผู้ขนส่งย่อมจำกัดไว้เพียง 10,000 บาท ต่อ 1 กล่อง
เนื่องจากความรับผิดของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ในความเสียหายของสินค้าพิพาทถือเป็นการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ จึงสมควรให้คำพิพากษามีผลไปถึงจำเลยที่ 1 ซึ่งมิได้อุทธรณ์ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8972/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การชำระหนี้จากการรับตราส่งสินค้าและการหักกลบหนี้ โดยให้ชำระหนี้ตาม L/C เป็นลำดับแรก
จำเลยที่ 1 ขอให้โจทก์ซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์ออกเลตเตอร์ออฟเครดิตให้แก่จำเลยที่ 1 เพื่อชำระค่าสินค้ารถยนต์ที่จำเลยที่ 1 สั่งซื้อจากต่างประเทศ เมื่อสินค้าถึงท่าเรือกรุงเทพ โจทก์ได้ชำระเงินค่าสินค้าให้แก่ธนาคารในต่างประเทศไปแล้ว และรับมอบใบตราส่งสำหรับสินค้าและรายการบรรจุสินค้าไว้จากธนาคารในต่างประเทศ ดังนี้ การที่โจทก์อยู่ในฐานะผู้รับตราส่งสินค้ารถยนต์ก็เพื่อเป็นหลักประกันการชำระหนี้ตามเลตเตอร์ออฟเครดิตที่จำเลยที่ 1 ขอให้โจทก์ชำระเงินค่าสินค้ารถยนต์แทนจำเลยที่ 1 ไปก่อน สินค้ารถยนต์ตามใบตราส่งจึงเป็นการประกันหนี้ตามคำขอให้ออกเลตเตอร์ออฟเครดิตของจำเลยที่ 1 เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาไม่ชำระหนี้และไม่มาติดต่อขอรับเอกสารเพื่อไปขอออกสินค้า และต่อมาโจทก์นำสินค้ารถยนต์ดังกล่าวออกขายเพื่อชำระหนี้แก่โจทก์ โจทก์ต้องนำเงินที่ได้จากการขายรถยนต์ไปชำระหนี้ตามคำขอเลตเตอร์ออฟเครดิตอันเป็นมูลเหตุให้มีการส่งมอบรถยนต์มาทางเรือเดินทะเลนั้น ไม่มีสิทธิที่จะนำเงินที่ได้จากการขายสินค้าไปหักกับหนี้รายอื่นหรือหักกับหนี้ของจำเลยที่ 2 ที่มีต่อโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8151/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานปลอมเครื่องหมายการค้าและมีไว้เพื่อจำหน่ายเป็นความผิดหลายกรรม ศาลต้องเรียงกระทงลงโทษตามกฎหมาย
ความผิดฐานปลอมเครื่องหมายการค้าเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 108 สำหรับความผิดฐานมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอม เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 110 (1) ซึ่งเป็นคนละมาตรากัน และแต่ละฐานความผิดอาจแยกการกระทำออกจากกันได้ เมื่อจำเลยที่ 3 ให้การรับสารภาพว่ากระทำความผิดตามฟ้อง การกระทำของจำเลยที่ 3 จึงเป็นความผิดหลายกรรมที่ศาลต้องเรียงกระทงลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 91 ส่วนความผิดฐานเอาชื่อ รูป รอยประดิษฐ์หรือข้อความใด ๆ ในการประกอบการค้าของผู้อื่นมาใช้นั้น แม้รูป "hp ทั้ง 3 รูป" กับ "canon" ตามเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหายทั้งสองจะเป็นรูป รอยประดิษฐ์ที่ใช้ในการประกอบการค้าของผู้เสียหายทั้งสองด้วยก็ตาม แต่เมื่อผู้เสียหายทั้งสองได้นำรูป รอยประดิษฐ์ดังกล่าวไปจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าจนมีสภาพเป็นเครื่องหมายการที่ได้จดทะเบียนไว้ในราชอาณาจักร อันมีผลทำให้ได้รับความคุ้มครองอย่างเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนที่หากผู้อื่นปลอมเครื่องหมายการค้าจะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 108 โดยเฉพาะแล้วจึงไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 272 (1) อีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6381/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องของนิติบุคคลต่างประเทศ: ศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ อนุญาตฟ้องได้ แม้ไม่มีภูมิลำเนาในไทย
นิติบุคคลตามกฎหมายต่างประเทศมีอำนาจฟ้องคดีต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางได้โดยไม่มีข้อจำกัดว่านิติบุคคลตามกฎหมายต่างประเทศนั้นต้องมีภูมิลำเนาหรือประกอบกิจการในประเทศไทย เมื่อโจทก์เป็นผู้ขนส่งและเป็นเจ้าของตู้สินค้าที่บรรจุสินค้าที่จำเลยสั่งซื้อจากผู้ขายที่สาธารณรัฐเกาหลีมายังประเทศไทย โดยใบตราส่งระบุว่าจำเลยเป็นผู้รับตราส่ง และเงื่อนไขการขนส่งเป็นแบบซีวาย/ซีวาย ซึ่งหมายความว่า เมื่อสินค้าถึงท่าปลายทางจำเลยซึ่งเป็นผู้รับตราส่งมีหน้าที่รับตู้สินค้าไปเปิดตรวจรับสินค้าที่สถานที่ของตนแล้วนำตู้สินค้ามาคืนแก่ผู้ขนส่ง เมื่อปรากฏว่าจำเลยได้ดำเนินพิธีการศุลกากรเพื่อรับสินค้าแล้ว แต่ไม่นำต้นฉบับใบตราส่งไปเวนคืนหรือให้ประกันเพื่อรับมอบสินค้า ทำให้ตัวแทนโจทก์ไม่สามารถออกใบปล่อยสินค้าได้ เป็นเหตุให้ตู้สินค้าของโจทก์คงค้างที่ท่าเรือ โจทก์ไม่สามารถใช้ประโยชน์ในตู้สินค้าดังกล่าวได้ โจทก์ย่อมได้รับความเสียหายและเป็นผู้ถูกโต้แย้งสิทธิ จึงมีอำนาจฟ้องคดีต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5397/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งสินค้าทางอากาศ: การพิสูจน์ความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง
โจทก์บรรยายฟ้องอ้างว่า จำเลยทั้งสองกระทำการโดยทุจริตหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงอันเป็นเหตุให้สินค้าที่โจทก์รับประกันภัยไว้สูญหายไปบางส่วนระหว่างการขนส่งสินค้า จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ โจทก์จึงมีภาระการพิสูจน์ เมื่อโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานมาสืบเพื่อสนับสนุนข้ออ้างของตน ข้อเท็จจริงย่อมรับฟังไม่ได้ว่าสินค้าพิพาทสูญหายจากการกระทำโดยทุจริตหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของจำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองสามารถยกข้อตกลงจำกัดความรับผิดด้านหลังใบรับขนของทางอากาศขึ้นอ้างเป็นประโยชน์แก่ตนได้ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่าข้อตกลงดังกล่าวตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 373 นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ
of 78