คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
สุวัฒน์ วรรธนะหทัย

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 772 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 175/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หนังสือมอบอำนาจไม่สมบูรณ์หากไม่มีตราบริษัท แม้จะมีพยานรับรอง
ตามหนังสือมอบอำนาจตอนท้ายระบุว่า เพื่อเป็นหลักฐานในเรื่องดังกล่าวกรรมการผู้มีอำนาจได้ลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของบริษัทต่อหน้าโนตารีปับลิกประจำท้องถิ่น และยังมีข้อความว่า ลายมือชื่อ ตราประทับ และส่งมอบโดย อ. ผู้มีชื่อปรากฏข้างต้นต่อหน้าโนตารีปับลิก ตามคำฟ้องกับหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวแสดงว่าตามข้อบังคับของโจทก์ กรรมการผู้มีอำนาจจะลงลายมือชื่อผูกพันโจทก์ได้จะต้องประทับตราสำคัญของโจทก์ด้วย ฉะนั้น ในกรณีการมอบอำนาจให้บุคคลอื่นดำเนินคดีแทนนี้ โจทก์ต้องปฏิบัติตามข้อบังคับดังกล่าว ในเมื่อตามหนังสือมอบอำนาจดังกล่าว อ. ลงลายมือชื่อโดยไม่ได้ประทับตราสำคัญของโจทก์ การมอบอำนาจดังกล่าวของโจทก์จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
หนังสือมอบอำนาจโจทก์บรรยายฟ้องมาเพียงว่า รายละเอียดตามหนังสือมอบอำนาจนั้น โจทก์จะได้เสนอศาลในชั้นพิจารณาต่อไปโดยโจทก์ไม่ได้แนบสำเนาหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวมาท้ายฟ้อง จำเลยจึงไม่สามารถตรวจดูหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวและไม่สามารถยกเรื่องไม่มีตราสำคัญของโจทก์ประทับในหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การได้ นอกจากนี้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ ก็ได้ยกเรื่องหนังสือมอบอำนาจมาวินิจฉัยดังนี้ ถือได้ว่าปัญหาข้อนี้เป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ จำเลยจึงยกปัญหาข้อนี้ข้ออ้างอิงในการยื่นอุทธรณ์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 173/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของผู้ขนส่งร่วม: การขายพื้นที่บรรทุกสินค้าและผลประโยชน์ที่ได้รับ
แม้ข้อเท็จจริงจะรับฟังได้ตามที่จำเลยที่ 3 อุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 3 และบริษัท ล. เป็นนิติบุคคลแยกต่างหากกัน โดยจำเลยที่ 3 ประกอบธุรกิจรับขนคนโดยสาร ส่วนบริษัท ล. ประกอบธุรกิจรับขนของ แต่ที่ว่างสำหรับรรทุกของใต้ท้องเครื่องบินโดยสารของจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 ได้ขายพื้นที่ดังกล่าวแก่บริษัท ล. เพื่อไปบริการรับขนสินค้าในนามตนเอง เมื่อจำเลยที่ 2 ได้มอบหมายให้บริษัท ล. ขนส่งสินค้าดังกล่าวและบริษัท ล. ได้ดำเนินการส่งสินค้าดังกล่าวมากับเครื่องบินของจำเลยที่ 3 โดยใช้พื้นที่บรรทุกใต้ท้องเครื่องบินโดยสารที่จำเลยที่ 3 ขายให้ดังกล่าวขนสินค้า ดังนี้ เมื่อจำเลยที่ 3 เข้ามาเกี่ยวข้องกับสินค้าที่ถูกขนส่งนั้น โดยเป็นผู้มีหน้าที่ในการนำสินค้าจากที่แห่งหนึ่งไปยังอีกแห่งหนึ่งและได้รับผลประโยชน์ตอบแทนเพื่อบำเหน็จเป็นทางการค้าปกติของตน เช่นนี้ต้องถือว่าการส่งสินค้าครั้งนี้ จำเลยที่ 3 เป็นผู้ร่วมขนส่งด้วยทอดหนึ่ง โดยมีผู้ขนส่งหลายคนหลายทอด จำเลยที่ 3 จึงต้องร่วมรับผิดในการสูญหายของสินค้าดังกล่าวด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 618

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10711/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาใช้ลิขสิทธิ์: การเสนอและสนองรับข้อเสนอเพื่อต่ออายุสัญญาโดยไม่ต้องทำสัญญาเป็นหนังสือ
จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน ข้อพิพาทตามฟ้องสืบเนื่องจากโจทก์ทำสัญญาอนุญาตให้จำเลยที่ 1 ใช้ลิขสิทธิ์เพลงของโจทก์โดยกำหนดชำระค่าตอบแทน ต่อมาโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองว่าผิดสัญญาดังกล่าวเป็นคดีแพ่งที่ศาลแพ่งธนบุรีจนกระทั่งมีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน โจทก์ยืนยันข้อเท็จจริงมาในอุทธรณ์ว่าจำเลยที่ 2 มิได้เป็นคู่สัญญา จำเลยที่ 2 เป็นเพียงผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คเพื่อชำระค่าตอบแทนให้แก่โจทก์ตามสัญญาเท่านั้น จำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 จึงอยู่ในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1167 ประกอบด้วยมาตรา 820 ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 กระทำนอกขอบอำนาจแห่งฐานตัวแทน และไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ได้ประกอบการใช้ลิขสิทธิ์ของโจทก์ในฐานะส่วนตัว จำเลยที่ 2 จึงหาต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ด้วยไม่ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 ไม่มีอำนาจฟ้องแย้ง กับไม่มีสิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางขอให้บังคับตามฟ้องแย้งแก่จำเลยที่ 2 ด้วย
จำเลยที่ 1 ส่งหนังสือเรื่องแจ้งต่อสัญญาอนุญาตใช้ลิขสิทธิ์เพลงให้แก่โจทก์ทางโทรสารโดยมีข้อความแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 ว่า "...เนื่องจากขณะนี้เหลือเวลาอีกไม่ถึง 2 ปี ก็จะหมดอายุสัญญาให้ใช้ลิขสิทธิ์เพลงตามสัญญาประนีประนอมฯ ดังกล่าว โดยหนังสือฉบับนี้ข้าพเจ้าฯ ขอแจ้งให้ท่านทราบว่าข้าพเจ้าประสงค์จะใช้ลิขสิทธิ์เพลงทำเพลงเพื่อผลิตและจำหน่ายต่อไปอีก 11 ปี ตามสัญญาประนีประนอมฯ ในข้อ 7..." และสัญญาประนีประนอมยอมความระบุว่า "โจทก์ยินยอมให้ยืดระยะเวลาตามสัญญาให้จำเลยใช้ลิขสิทธิ์ออกไปอีก 1 ปี ถึงวันที่ 13 ตุลาคม 2543 และก่อนหมดระยะเวลา 6 เดือน หากจำเลยประสงค์จะใช้ลิขสิทธิ์ทำเพลงต่อไป จำเลยจะต้องไปติดต่อโจทก์เพื่อทำสัญญาใช้ลิขสิทธิ์ต่อไปอีก 11 ปี เป็นเงิน 22,000,000 บาท โดยในการจ่ายเงินให้ถือตามสัดส่วนของสัญญาฉบับเดิม หากจำเลยไม่ติดต่อถือว่าจำเลยไม่ประสงค์จะทำสัญญาใช้ลิขสิทธิ์กับโจทก์อีกต่อไป" มิได้มีข้อความที่เป็นการแสดงความประสงค์ของคู่สัญญาว่า เมื่อจำเลยที่ 1 ติดต่อโจทก์เพื่อทำสัญญาแล้วให้เป็นดุลพินิจของโจทก์ที่จะต่ออายุสัญญาให้อีกหรือไม่ก็ได้ แต่เป็นคำเสนอของโจทก์จะต่ออายุสัญญาให้ใช้ลิขสิทธิ์แก่จำเลยที่ 1 อันบ่งระยะเวลาให้ทำคำสนองซึ่งโจทก์ไม่อาจถอนได้ภายในระยะเวลาที่บ่งไว้ เมื่อจำเลยที่ 1 ส่งโทรสารถึงโจทก์ก่อนหมดระยะเวลา 6 เดือน ว่าประสงค์จะใช้ลิขสิทธิ์เพลงต่อไปอีก 11 ปี จึงเป็นการสนองรับคำเสนอของโจทก์ภายในกำหนดแล้ว เมื่อมิได้มีเงื่อนไขว่าการต่ออายุสัญญานั้นจะต้องทำสัญญากันเป็นหนังสือด้วย สัญญาให้ใช้ลิขสิทธิ์เพลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงเกิดขึ้นใหม่ตามเงื่อนไขและวิธีการที่ระบุในสัญญาให้ใช้ลิขสิทธิ์เพลงฉบับเดิม โดยไม่จำต้องทำสัญญาให้ใช้ลิขสิทธิ์เพลงกันใหม่เป็นหนังสืออีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8960/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อพิพาทสัญญาซื้อขายน้ำมัน: ศาลบังคับตามคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการได้ แม้ไม่ได้วินิจฉัยทุกประเด็นที่คู่ความอ้าง
ประเด็นข้อพิพาทที่ผู้คัดค้านอ้างเป็นข้อพิพาทที่เกิดจากหรือเกี่ยวข้องกับสัญญาซื้อขายน้ำมันปิโตรเลียมซึ่งจะต้องพิจารณาและชี้ขาดโดยอนุญาโตตุลาการตามข้อบังคับของสถาบันอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศแห่งกรุงลอนดอน (London Court of International Arbitration) ตามที่ระบุไว้ในข้อกำหนดและเงื่อนไขของสัญญาระหว่างผู้ร้องและผู้คัดค้าน จึงมิใช่ประเด็นข้อพิพาทที่ศาลจะวินิจฉัยในชั้นนี้ การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไม่วินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทดังกล่าวจึงชอบแล้ว
ที่ผู้คัดค้านอุทธรณ์ว่าศาลชั้นต้นพิจารณาแต่เพียงพยานหลักฐานที่ผู้คัดค้านนำสืบตามข้อต่อสู้ว่ารับฟังไม่ได้ ทั้งที่ผู้ร้องนำสืบไม่น่าเชื่อว่าผู้ร้องเป็นนิติบุคคลจริงเพราะไม่แสดงหนังสือรับรองนิติบุคคลที่ส่วนราชการซึ่งกำกับดูแลออกให้เป็นพยานหลักฐานนั้นเป็นการอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลเรื่องความเป็นผู้บกพร่องในเรื่องความสามารถของคู่สัญญาตามกฎหมายที่ใช้บังคับแก่คู่สัญญานั้น ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 43 (1) ซึ่งภาระการพิสูจน์ตกแก่ผู้คัดค้าน และการที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางจะรับฟังพยานหลักฐานที่คู่ความนำมาสืบแสดงอย่างไรย่อมเป็นดุลพินิจของศาล เมื่อไม่ปรากฏว่าศาลรับฟังพยานหลักฐานโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายว่าด้วยพยานหลักฐานแต่อย่างใด จึงไม่ต้องวินิจฉัยว่าคำพิพากษาของศาลฝ่าฝืนต่อบทกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 45 (2) หรือไม่ อุทธรณ์ข้อนี้ของผู้คัดค้านจึงต้องห้ามตามกฎหมาย
ที่ผู้คัดค้านอุทธรณ์ว่าศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไม่ได้วินิจฉัยประเด็นที่ผู้คัดค้านโต้แย้งว่าผู้คัดค้านไม่ได้รับสำเนาคำชี้ขาดจากอนุญาโตตุลาการ จึงถือว่าศาลมิได้วินิจฉัยข้อโต้แย้งทุกข้อทุกประเด็น เป็นคำพิพากษาที่ฝ่าฝืนต่อบทกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนนั้น ไม่ปรากฏว่าผู้คัดค้านได้โต้แย้งไว้ในคำคัดค้าน จึงเป็นการนำสืบนอกประเด็นคำคัดค้าน ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมิได้วินิจฉัยเรื่องดังกล่าวจึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7546/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจอนุญาโตตุลาการและขอบเขตการตรวจสอบคำสั่งของศาลในคดีอนุญาโตตุลาการ
การที่คณะอนุญาโตตุลาการมีคำสั่งไม่รับคำคัดค้านหรือข้อเรียกร้องแย้งของผู้ร้องซึ่งอยู่ในฐานะเป็นผู้คัดค้านในชั้นอนุญาโตตุลาการ เป็นกรณีที่คณะอนุญาโตตุลาการใช้ดุลพินิจตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 25 วรรคสอง ที่ให้อำนาจคณะอนุญาโตตุลาการดำเนินกระบวนพิจารณาใดๆ ได้ตามที่เห็นสมควรในเมื่อไม่มีบทบัญญัติใดในกฎหมายอนุญาโตตุลาการนั้นบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น ซึ่งเมื่อคณะอนุญาโตตุลาการมีคำสั่งดังกล่าวแล้วคู่พิพาทจะใช้สิทธิทางศาลมายื่นคำร้องขอให้ศาลที่มีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาได้ก็ต้องมีบทบัญญัติในพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการฯ ให้สิทธิคู่พิพาทยื่นคำร้องขอได้ เมื่อไม่มีบทบัญญัติใดในพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการฯ ให้สิทธิคู่พิพาทยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเกี่ยวกับกรณีนี้ ผู้ร้องก็ไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางให้มีคำสั่งให้คณะอนุญาโตตุลาการรับคำคัดค้านและข้อเรียกร้องแย้งของตน และหยุดการดำเนินกระบวนพิจารณาในชั้นอนุญาโตตุลาการในกรณีนี้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7457/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อพิพาทลิขสิทธิ์อุลตร้าแมน: ศาลพิพากษาจำเลยชดใช้ค่าเสียหายจากการละเมิดลิขสิทธิ์และเรียกร้องค่าเสียหายที่ไม่สมเหตุสมผล
เมื่อข้อเท็จจริงตามสำนวนปรากฏว่า ผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทโจทก์ลงลายมือชื่อเป็นผู้แต่งทนายความ โดยระบุในใบแต่งทนายความให้ ม. เป็นทนายความ และให้มีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาแทนโจทก์รวมถึงการใช้สิทธิในการอุทธรณ์ ซึ่งใบแต่งทนายความของโจทก์ดังกล่าวมีเจ้าพนักงานโนตารีปับลิกแห่งกรุงโตเกียวรับรองลายมือชื่อผู้แต่งทนายความ และมีหนังสือรับรองเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศ ประเทศญี่ปุ่น และหนังสือรับรองของสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโตเกียว รับรองต่อกันมาตามลำดับ อันเป็นการดำเนินการตามพิธีการแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งเกี่ยวกับเอกสารที่ทำในต่างประเทศครบถ้วนแล้ว โดยจำเลยทั้งสี่มิได้โต้แย้งเป็นอย่างอื่น จึงฟังได้ว่าโจทก์แต่งตั้ง ม. ให้มีอำนาจตามที่ระบุในใบแต่งทนายความจริง เมื่อใบแต่งทนายความระบุให้ ม. มีอำนาจใช้สิทธิในการอุทธรณ์แทนโจทก์ ม. จึงมีอำนาจลงลายมือชื่อเป็นผู้อุทธรณ์ ผู้เรียงและผู้พิมพ์ได้
เมื่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งไม่รับฟ้องแย้งของจำเลยที่ 3 และมีคำพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งคดีอาญาและคดีแพ่ง จำเลยที่ 3 และที่ 4 จึงเป็นฝ่ายชนะคดี และไม่มีส่วนได้เสียในฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงไม่มีส่วนได้เสียอันจะอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ประกอบกับคำฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 และที่ 4 มิได้มีคำขอให้บังคับโจทก์ต้องรับผิดแก่จำเลยที่ 3 และที่ 4 นอกเหนือไปจากที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษา คำฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 และที่ 4 จึงไม่เป็นการโต้แย้งคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง และเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม พ.ศ.2474 มาตรา 4 ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่บริษัทโจทก์สร้างสรรค์ผลงานอุลตร้าแมน บัญญัติว่า "ผู้ประพันธ์ ให้กินความถึงผู้แต่งเพลงดนตรี ผู้ทำหรือก่อให้เกิดซึ่งศิลปกรรม เช่น ช่างเขียน ช่างภาพหุ่น สถาปนิก ฯลฯ ด้วย" และมาตรา 10 บัญญัติว่า ผู้ประพันธ์มีสิทธิแต่ผู้เดียวที่จะมอบอำนาจให้ผู้อื่นทำวรรกรรม วิทยาศาสตรกรรมหรือศิลปกรรมของตนเป็นภาพยนตร์แสดงให้ประชาชนดู ดังนั้นในการสร้างงานศิลปกรรมหรืองานภาพยนตร์ การมีส่วนร่วมทำหรือร่วมก่อให้เกิดงานศิลปกรรมหรืองานภาพยนตร์จึงเป็นสาระสำคัญของการที่จะได้มาซึ่งลิขสิทธิ์ของผู้สร้างสรรค์ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า ลิขสิทธิ์ให้ความคุ้มครองการแสดงออกซึ่งความคิดในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง แต่มิได้ให้ความคุ้มครองสิ่งที่เป็นเพียงความคิด เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ร่วมสร้างสรรค์ผลงานอุลตร้าแมนพิพาท เพียงการที่จำเลยที่ 2 อ้างว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการสร้างสรรค์ผลงานอุลตร้าแมน โดยเสนอความคิดในการสร้างสรรค์ผลงานอุลตร้าแมน อันเป็นการให้ความช่วยเหลือเสนอความคิดในฐานะที่เป็นคนรู้จักสนิทสนมกัน โดยไม่ปรากฏแน่ชัดว่าได้มีการนำแนวความคิดตามที่จำเลยที่ 2 เสนอไปใช้ในการสร้างผลงานอุลตร้าแมนจริงหรือไม่ ยังรับฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 2 ได้ลงทุนลงแรงหรือมีส่วนร่วมทำหรือร่วมก่อให้เกิดผลงานอุลตร้าแมน และฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้ร่วมกับโจทก์สร้างสรรค์ผลงานอุลตร้าแมนตั้งแต่เริ่มแรก
การพิจารณาว่าสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในลิขสิทธิ์ผลงานอุลตร้าแมนระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ลงวันที่ 4 มีนาคม 2519 เป็นเอกสารปลอมหรือไม่นั้น ต้องนำประเพณีและวิธีการปฏิบัติในการทำธุรกิจเพื่อหาผลประโยชน์จากงานอันมีลิขสิทธิ์หรือเครื่องหมายการค้าอุลตร้าแมน และผลการตรวจพิสูจน์ลายมือชื่อโดยผู้เชี่ยวชาญ และการหาข้อพิรุธจากข้อความที่ปรากฏในสัญญาดังกล่าว กับพยานแวดล้อมอื่นๆ มาพิจารณาประกอบกัน เช่น การที่จำเลยที่ 2 ไม่ได้ใช้สิทธิตามสัญญาพิพาทแสวงหาประโยชน์จากผลงานอุลตร้าแมนในฐานะเจ้าของลิขสิทธิ์หรือผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธินับจากวันทำสัญญาพิพาทล่วงพ้นไปถึง 20 ปี แต่กลับเพิ่งกล่าวอ้างถึงสัญญาพิพาทต่อโจทก์หลังจากที่ น. ซึ่งจำเลยที่ 2 อ้างว่าลงลายมือชื่อในสัญญาดังกล่าวถึงแก่ความตายไปแล้วประมาณ 1 ปี ในขณะที่ฝ่ายโจทก์ดำเนินการใช้สิทธิและจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ามาโดยตลอดโดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 นำสัญญาพิพาทมากล่าวอ้างโต้แย้ง การที่จำเลยที่ 2 ขออนุญาตใช้สิทธิในผลงานอุลตร้าแมนที่ระบุไว้ในสัญญาพิพาทต่อโจทก์อีกหลังจากทำสัญญาพิพาทแล้ว การที่จำเลยที่ 2 ไปจดแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ในผลงานอุลตร้าแมนต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญาหลังจากที่ น. ถึงแก่ความตายไม่กี่วัน โดยไม่ได้ระบุถึงลิขสิทธิ์ในผลงานอุลตร้าแมนตามสัญญาพิพาท การที่ผู้เชี่ยวชาญตรวจพิสูจน์ลายมือชื่อในสัญญาพิพาทเปรียบเทียบกับเอกสารที่มีลายมือชื่อของ น. แล้วมีความเห็นว่า มิใช่ลายมือชื่อของบุคคลคนเดียวกัน ข้อพิรุธเกี่ยวกับข้อความในสัญญาพิพาท ทั้งชื่อสัญญา ชื่อผลงานอุลตร้าแมนและรายละเอียดเกี่ยวกับจำนวนตอนที่ไม่ถูกต้อง การไม่กำหนดเวลาและค่าตอบแทนในการโอนลิขสิทธิ์หรืออนุญาตให้ใช้สิทธิซึ่งผิดปกติวิสัยของการทำธุรกิจ และการทำสัญญาโอนลิขสิทธิ์หรืออนุญาตให้ใช้สิทธิย้อนหลังอันจะมีผลกระทบต่อบุคคลภายนอก และผิดปกติวิสัยของการทำสัญญาโอนลิขสิทธิ์หรือสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในลิขสิทธิ์ เป็นต้น จึงมีเหตุผลเชื่อได้ว่าสัญญาพิพาทเป็นเอกสารที่ถูกทำปลอมขึ้นทั้งฉบับ จำเลยที่ 1 และที่ 2 หาอาจมีสิทธิที่จะแสวงหาประโยชน์ใดๆ จากผลงานอุลตร้าแมนตามสัญญาพิพาทไม่
แม้โจทก์ฟ้องทั้งคดีอาญาและคดีแพ่งมาในคดีเดียวกัน แต่ในคดีส่วนอาญาโจทก์มีหน้าที่ต้องนำสืบพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ให้ศาลเห็นได้โดยปราศจากความสงสัยตามสมควรว่า จำเลยทั้งสี่กระทำความผิดตามฟ้อง เมื่อได้ความว่าจำเลยที่ 1 พิมพ์เผยแพร่สมุดภาพระบายสีภาพอุลตร้าแมนหลังจากวันที่โจทก์ทำหนังสือเอกสารหมาย ล.12 หรือ จ.25 ได้ไม่นาน ซึ่งเนื้อความในเอกสารดังกล่าวระบุเกี่ยวกับการอนุญาตให้จำเลยที่ 2 มีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในการใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินรวมทั้งอุลตร้าแมนพิพาทด้วย แม้หนังสือดังกล่าวไม่มีผลเป็นการรับรองสิทธิของจำเลยที่ 2 แต่การทำหนังสือดังกล่าวในระหว่างที่ยังพิพาทกันเรื่องลิขสิทธิ์ในผลงานอุลตร้าแมนและยังไม่มีคำวินิจฉัยของศาลชี้ขาด อาจทำให้จำเลยที่ 2 และจำเลยอื่นเข้าใจได้ว่ามีสิทธิทำซ้ำและดัดแปลงรูปภาพผลงานอุลตร้าแมน ทั้งจำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาอนุญาตให้จำเลยที่ 4 ใช้สิทธิอย่างเปิดเผยเป็นลายลักษณ์อักษรด้วย จึงต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้แก่จำเลยทั้งสี่ เมื่อข้อเท็จจริงยังรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสี่กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 27 (1) ประกอบมาตรา 69 วรรคสอง และมาตรา 31 (1) ประกอบมาตรา 70 วรรคสอง ตามฟ้อง จึงไม่มีค่าปรับที่จำเลยทั้งสี่ต้องชำระตามคำพิพากษา และกรณีไม่อาจสั่งให้ของกลางตกเป็นของโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 75 ได้
เมื่อโจทก์เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในผลงานอุลตร้าแมนโดยเป็นผู้สร้างสรรค์แต่เพียงผู้เดียว จำเลยที่ 2 มิได้เป็นผู้สร้างสรรค์ร่วม และสัญญาพิพาทเป็นเอกสารปลอม จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่มีสิทธิที่จะแสวงหาประโยชน์ใดๆ จากผลงานอุลตร้าแมนโดยมิได้รับอนุญาตจากโจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงมิใช่ผู้เสียหายที่จะมีอำนาจฟ้องแย้งเรียกร้องค่าเสียหายจากโจทก์ได้
จำเลยที่ 4 เป็นเพียงผู้จัดพิมพ์สมุดภาพระบายสีหาใช่ผู้โอนขายหรือผู้อนุญาตให้ผู้อื่นใช้ลิขสิทธิ์ของโจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าขาดรายได้หรือผลประโยชน์จากค่าตอบแทนการโอนขายลิขสิทธิ์หรืออนุญาตให้ผู้อื่นใช้ลิขสิทธิ์และทำให้งานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ด้อยคุณค่าลงจากจำเลยที่ 4 แต่จำเลยที่ 2 เป็นผู้อนุญาตให้จำเลยที่ 4 ใช้สิทธิในผลงานอุลตร้าแมนโดยการจัดพิมพ์สมุดภาพระบายสี ย่อมทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายส่วนนี้แก่โจทก์ตามสมควรแก่พฤติการณ์แห่งรูปคดี
จำเลยที่ 4 จัดพิมพ์สมุดภาพระบายสีโดยเข้าใจและเชื่อโดยสุจริตว่า จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้อนุญาตให้ใช้สิทธิเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในผลงานอุลตร้าแมน และไม่ได้ความว่าความเข้าใจว่าตนมีสิทธิจัดพิมพ์สมุดภาพระบายสีของจำเลยที่ 4 เป็นไปโดยประมาทเลินเล่อ กับไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 4 ได้รับผลกำไรจากการนี้หรือไม่ เพียงใด จำเลยที่ 4 จึงไม่ต้องรับผิดในทางแพ่งฐานกระทำละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ โจทก์จึงไม่อาจเรียกร้องค่าขาดประโยชน์อันพึงได้รับจากการจัดพิมพ์สมุดภาพระบายสีออกจำหน่ายเพื่อประโยชน์ทางการค้าจากจำเลยที่ 4 ได้อีก
ค่าใช้จ่ายในการชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในผลงานอุลตร้าแมนที่โจทก์เสียไป เป็นผลสืบเนื่องจากการที่จำเลยที่ 2 กล่าวอ้างความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในผลงานอุลตร้าแมนต่อลูกค้าของโจทก์และบุคคลทั่วไป จึงถือได้ว่าเป็นค่าใช้จ่ายอันจำเป็นในการบังคับตามสิทธิของเจ้าของลิขสิทธิ์ ซึ่งศาลมีอำนาจสั่งให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ทำละเมิดลิขสิทธิ์โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าวแก่โจทก์ได้ ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 64
สำหรับค่าเสียหายจากการที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 แจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนแล้วเรียกเก็บเงินจากผู้ขายหรือจำหน่ายสินค้าที่มีตัวอุลตร้าแมนนั้น เมื่อจำเลยที่ 3 เป็นเพียงผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 2 ให้ร้องทุกข์ดำเนินคดี จึงไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัว และผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการกระทำดังกล่าวคือผู้ที่ถูกจำเลยที่ 2 แจ้งความร้องทุกข์และเรียกเก็บเงินหาใช่โจทก์ไม่ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายนี้
การขอให้บังคับให้จำเลยทั้งสี่ละเว้นการกระทำต่างๆ เกี่ยวกับลิขสิทธิ์ในผลงานอุลตร้าแมนพิพาทหลังจากวันที่โจทก์ฟ้องคดีนี้เป็นต้นไป เป็นเรื่องการกระทำในอนาคตซึ่งยังมิได้มีการโต้แย้งสิทธิของโจทก์อยู่ในขณะที่โจทก์ฟ้อง โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้บังคับเช่นนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6985/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับฟังพยานหลักฐานในคดีทรัพย์สินทางปัญญา: บันทึกถ้อยคำยืนยันจากต่างประเทศ
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 บัญญัติว่า กระบวนพิจารณาในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้และข้อกำหนดตามมาตรา 30 ในกรณีที่ไม่มีบทบัญญัติและข้อกำหนดดังกล่าว ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง... มาใช้บังคับโดยอนุโลม ป.วิ.พ. มาตรา 85 บัญญัติว่า คู่ความฝ่ายที่มีหน้าที่นำสืบข้อเท็จจริง ย่อมมีสิทธิที่จะนำพยานหลักฐานใดๆ มาสืบได้ภายใต้บังคับแห่งประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นอันว่าด้วยการรับฟังพยานหลักฐานและการยื่นพยานหลักฐาน และมาตรา 104 บัญญัติว่าให้ศาลมีอำนาจเต็มในอันที่จะวินิจฉัยว่าพยานหลักฐานที่คู่ความนำมาสืบนั้นจะเกี่ยวกับประเด็นและเป็นอันเพียงพอให้เชื่อฟังเป็นยุติได้หรือไม่ แล้วพิพากษาคดีไปตามนั้น นอกจากนี้ในข้อกำหนดคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2540 ข้อ 31 ยังกำหนดให้คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งขออนุญาตต่อศาลเสนอบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นของผู้ให้ถ้อยคำซึ่งมีถิ่นที่อยู่ในต่างประเทศแทนการนำบุคคลนั้นมาเบิกความเป็นพยานต่อหน้าศาลได้ ซึ่งโจทก์ก็ขออนุญาตต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางยื่นบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นของ ม. พร้อมเอกสารแนบท้ายเป็นพยานแทนการนำพยานปากนี้มาเบิกความต่อหน้าศาล และศาลได้อนุญาตซึ่งจำเลยทั้งสามไม่ได้คัดค้าน ดังปรากฏในรายงานกระบวนพิจารณาอันแสดงว่าเป็นพยานหลักฐานที่เกี่ยวกับประเด็น ศาลจึงรับฟังบันทึกถ้อยคำเอกสารพร้อมเอกสารแนบท้ายได้ในฐานะเป็นพยานเอกสารที่โจทก์นำสืบในชั้นพิจารณาของศาล โดยไม่จำเป็นต้องเคยยื่นหรืออ้างส่งเป็นหลักฐานในชั้นพิจารณาของนายทะเบียนและของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามาก่อนแต่อย่างใด ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าและมิให้รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอดังกล่าว ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามฟังไม่ขึ้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6572/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การละเมิดสิทธิบัตร: การประเมินขอบเขตการคุ้มครองตามข้อถือสิทธิและการพิจารณาคุณสมบัติประโยชน์ใช้สอย
จากบทบัญญัติ พ.ร.บ.สิทธิบัตร ฯ มาตรา 36 ทวิ ผลิตภัณฑ์ที่ให้อาหารสัตว์ปีกของจำเลยที่ 1 จะถือว่าละเมิดสิทธิบัตรการประดิษฐ์ที่ให้อาหารสัตว์ปีกของโจทก์ ต่อเมื่อการประดิษฐ์ผลิตภัณฑ์ที่ให้อาหารสัตว์ปีกของจำเลยที่ 1 มีขอบเขตของการประดิษฐ์ตามที่ระบุในข้อถือสิทธิของสิทธิบัตรการประดิษฐ์ที่ให้อาหารสัตว์ปีกของโจทก์ ขอบเขตของการประดิษฐ์ตามข้อถือสิทธิในสิทธิบัตรของโจทก์มีเพียงใดจะต้องพิจารณาลักษณะของการประดิษฐ์ตามที่ระบุในรายละเอียดการประดิษฐ์และรูปเขียนประกอบด้วย ขอบเขตของการประดิษฐ์ดังกล่าวย่อมคลุมถึงลักษณะของการประดิษฐ์ที่แม้จะมิได้ระบุในข้อถือสิทธิโดยเฉพาะเจาะจง แต่เป็นสิ่งที่มีคุณสมบัติประโยชน์ใช้สอย และทำให้เกิดผลทำนองเดียวกับลักษณะของการประดิษฐ์ที่ระบุในข้อถือสิทธิตามความเห็นของบุคคลที่มีความชำนาญในระดับสามัญในศิลปะหรือวิทยาการที่เกี่ยวข้องกับการประดิษฐ์นั้นด้วย สิทธิบัตรการประดิษฐ์ที่ให้อาหารสัตว์ปีกของโจทก์มีข้อถือสิทธิรวม 11 ข้อ ส่วนผลิตภัณฑ์ให้อาหารสัตว์ปีกของจำเลยที่ 1 ที่ได้รับสิทธิบัตรในประเทศสหรัฐอเมริกานั้นเมื่อเปรียบเทียบกับขอบเขตของการประดิษฐ์ตามที่ระบุในข้อถือสิทธิของสิทธิบัตรที่ให้อาหารสัตว์ปีกของโจทก์แล้ว จะเห็นได้ว่าการปรับความตื้นและลึกของกระทะที่ให้อาหารสัตว์ปีกของจำเลยที่ 1 และตามข้อถือสิทธิข้อ 2 และรูปที่ 9 ของสิทธิบัตรของจำเลยที่ 1 มีวิถีทางในการปรับโดยมีชิ้นส่วนที่มีการเชื่อมกันโดยไม่มีการเคลื่อนไหวตามกันระหว่างวงแหวนและกระทะอาหารเช่นเดียวกับข้อถือสิทธิในสิทธิบัตรของโจทก์ข้อ 1, 2 และ 4 ทั้งกรรมวิธีการใช้ที่ให้อาหารสัตว์ปีกของจำเลยที่ 1 ก็ไม่ต่างกับกรรมวิธีตามข้อถือสิทธิในสิทธิบัตรของโจทก์ข้อ 10 และ 11 โดยโครงสร้างหลักและกรรมวิธีการใช้ ตลอดจนประโยชน์ใช้สอยของผลิตภัณฑ์ที่ให้อาหารสัตว์ปีกของจำเลยที่ 1 เป็นเช่นเดียวกับของโจทก์ แม้จะมีข้อแตกต่างกันในข้อปลีกย่อยก็ถือได้ว่าผลิตภัณฑ์ที่ให้อาหารสัตว์ปีกของจำเลยที่ 1 มีขอบเขตของการประดิษฐ์เช่นเดียวกับที่ระบุในข้อถือสิทธิของสิทธิบัตรการประดิษฐ์ที่ให้อาหารสัตว์ปีกของโจทก์ การที่จำเลยที่ 1 ประดิษฐ์ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวและให้จำเลยที่ 3 นำเข้ามาในราชอาณาจักรจึงเป็นการร่วมกันละเมิดสิทธิบัตรของโจทก์ แม้จำเลยที่ 1 จะได้รับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวในประเทศสหรัฐอเมริกาและดินแดนไต้หวัน แต่จำเลยที่ 1 ก็มิได้อ้างว่าได้รับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ดังกล่าวมาก่อนโจทก์ จึงไม่มีผลทำให้การกระทำของจำเลยที่ 1 ไม่เป็นการละเมิดสิทธิบัตรของโจทก์ เมื่อโจทก์ได้รับสิทธิบัตรดังกล่าวจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ของประเทศไทยแล้ว โจทก์ย่อมมีสิทธิได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร ฯ มาตรา 36 ที่บุคคลอื่นจะละเมิดมิได้ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 หยุดการกระทำการละเมิดสิทธิบัตรการประดิษฐ์ที่ให้อาหารสำหรับสัตว์ปีก และวิธีการนำเอาลูกไก่เข้าไปในกรงเลี้ยง ตามสิทธิบัตรของโจทก์ โดยห้ามผลิตและนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ละเมิดสิทธิบัตรจึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6337/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาประกันภัยและการส่งมอบสินค้า: ความคุ้มครองยังคงมีผลตลอดระยะเวลาขนส่ง แม้กรรมสิทธิ์จะโอนไปแล้ว
สิทธิตามสัญญาซึ่งกฎหมายบัญญัติต่างลักษณะกัน เมื่อเข้าลักษณะใดต้องใช้ลักษณะนั้นบังคับ จะยกเอาบทบัญญัติในเรื่องกรรมสิทธิ์โอนไปยังผู้ซื้อแล้วหรือไม่ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ลักษณะซื้อขายมาเป็นข้อวินิจฉัยสิทธิของผู้ขายอันเกิดแต่สัญญาประกันภัยไม่ได้ ในเรื่องสิทธิของผู้เอาประกันภัยอันเกิดแต่สัญญาประกันภัยจะมีเพียงใดก็ต้องเป็นไปตามสัญญาประกันภัย เมื่อโจทก์ที่ 1 (ผู้ขาย) และจำเลย (ผู้รับประกันภัย) ได้ตกลงประกันภัยทุกชนิดที่อาจเกิดขึ้นตลอดระยะเวลาที่ผู้ขนส่งทำการขนส่งสินค้าจากต้นทางกรุงเทพมหานครถึงปลายทางที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ความคุ้มครองตามเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัยจึงไม่สิ้นสุดลงเมื่อโจทก์ที่ 1 มอบสินค้าให้แก่ผู้ขนส่งตามเงื่อนไขการซื้อขายแบบเอฟ. โอ. บี. แต่การคุ้มครองจะมีตลอดเวลาที่ผู้ขนส่งทำการขนส่งจากต้นทางกรุงเทพมหานครถึงปลายทางที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อสินค้าสูญหายในระหว่างการขนส่ง จำเลยผู้รับประกันภัยต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามสัญญา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6190/2550 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาอนุญาตใช้เครื่องหมายการค้าต้องจดทะเบียน มิฉะนั้นเป็นโมฆะ และไม่มีอำนาจฟ้องละเมิด
ในขณะที่มีการละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าพิพาท สิทธิของโจทก์มีเพียงตามสัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้าพิพาทที่ยังมิได้จดทะเบียนต่อนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าเท่านั้น บทบัญญัติตามมาตรา 68 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้าฯ กำหนดให้สัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้าต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อนายทะเบียน สัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้าที่ยังมิได้จดทะเบียนดังกล่าวย่อมตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 152 โจทก์จึงไม่มีสิทธิตามสัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวและไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยว่าละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้านั้น
of 78