พบผลลัพธ์ทั้งหมด 772 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3246/2550
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
เครื่องหมายการค้าไม่คล้ายกัน แม้มีรูปช้างเป็นส่วนประกอบ และสินค้าต่างประเภท ศาลยืนคำพิพากษายกฟ้อง
เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบเครื่องหมายการค้ารูปช้างอยู่ภายในวงกลมประดิษฐ์เป็นรูปเพชร และคำว่าตราช้างเพชร ของจำเลยที่ 1 กับเครื่องหมายการค้ารูปช้างในวงกลมซ้อนกันสองชั้น มีคำในวงกลมรอบนอกว่า บริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด และ THE SIAM CEMENT CO., LTD. กับคำอื่น ๆ ที่เป็นส่วนประกอบปลีกย่อยเครื่องหมายการค้ารูปช้างในวงกลม และรูปช้างในกรอบหกเหลี่ยมมีเส้นไขว้ มีคำว่า เครือซีเมนต์ไทย และเครื่องหมายการค้ารูปช้างในกรอบหกเหลี่ยมมีเส้นไขว้ของโจทก์ซึ่งจดทะเบียนไว้ก่อนแล้ว จะเห็นได้ชัดว่ามีรูปลักษณะและคำไม่เหมือนกันโดยเฉพาะเครื่องหมายการค้ารูปช้างในกรอบหกเหลี่ยมมีเส้นไขว้ของโจทก์กับเครื่องหมายการค้ารูปช้างในวงกลมของโจทก์ ซึ่งเป็นวงกลมซ้อนกันสองชั้น มีคำในระหว่างวงกลมรอบนอกและรอบใน แต่เครื่องหมายการค้ารูปช้างของจำเลยที่ 1 อยู่ในวงกลมชั้นเดียว ไม่มีคำในวงกลม และมีรูปประดิษฐ์เพชรในวงกลม ซึ่งแตกต่างกัน และเครื่องหมายการค้าดังกล่าวของจำเลยที่ 1 ไม่คล้ายกับเครื่องหมายการค้ารูปช้างในวงกลมของโจทก์ แม้จะมีรูปช้างเป็นส่วนประกอบสาระสำคัญหรือจุดเด่นเช่นเดียวกัน แต่ช้างเป็นสัตว์ตามธรรมชาติ หากอยู่ในท่ายืน แล้วมองอย่างผิวเผินย่อมคล้ายกัน อย่างไรก็ตาม ก็ต้องพิจารณาส่วนประกอบที่เป็นสาระสำคัญหรือจุดเด่นอื่นของเครื่องหมายการค้าที่มีอยู่ด้วย ซึ่งจะเห็นได้ว่าเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 มีรูปประดิษฐ์รูปเพชรแปดเหลี่ยมในวงกลม แต่เครื่องหมายการค้าของโจทก์ไม่มี ส่วนเครื่องหมายการค้ารูปช้างในกรอบหกเหลี่ยมมีเส้นไขว้ของโจทก์ แม้มีรูปเหลี่ยมเช่นกัน แต่ก็มีหกเหลี่ยมและไม่อยู่ในวงกลมเช่นของจำเลยที่ 1 แม้โดยผิวเผินจะคล้ายในส่วนที่ว่าเป็นเครื่องหมายรูปช้างในกรอบเหลี่ยม แต่ก็แตกต่างกันในส่วนสาระสำคัญอื่นดังกล่าวข้างต้น สำหรับเสียงเรียกขาน แม้เครื่องหมายการค้าของโจทก์จะเรียกว่า ตราช้าง และสินค้าของโจทก์ที่ใช้เครื่องหมายการค้าเหล่านั้นจะเรียกว่า สินค้าตราช้าง แต่ช้างเป็นสัตว์ประจำชาติของไทย โอกาสที่สินค้าของผู้อื่นที่เรียกว่าสินค้าตราช้างก็อาจมีได้เพื่อให้เรียกชื่อกะทัดรัด และละข้อความต่อไปไว้ในฐานเป็นที่เข้าใจ โจทก์จะกล่าวอ้างว่าเสียงเรียกขานเหมือนกัน แล้วหวงกันผู้อื่นที่ใช้รูปช้างประกอบเป็นส่วนสาระสำคัญของเครื่องหมายการค้าไม่ให้ใช้หาได้ไม่ ในเมื่อส่วนประกอบสาระสำคัญอื่นของเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 ยังอาจทำให้เรียกขานว่าเป็นตราช้างเพชร ตามคำที่ใช้และขอจดทะเบียนได้ นอกจากนั้นเมื่อพิจารณาที่ตัวสินค้า แม้โจทก์จะจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารูปช้างในกรอบหกเหลี่ยมมีเส้นไขว้ในจำพวก 50 (เก่า) ใช้กับสินค้าทั้งจำพวก (ยกเว้นกระดุม ไม้จิ้มฟัน ดินน้ำมัน ชอล์กขีดผ้า ชอล์กฝนหัวคิวบิลเลียด) ส่วนจำเลยที่ 1 ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ากับสินค้าพื้นรองเท้า หูรองเท้า ถุง กล้อง กระเป๋า และสินค้าทั้งมวลที่อยู่ในจำพวกนี้ ซึ่งเป็นสินค้าต่างชนิดกัน ทั้งได้ความว่า โจทก์ผลิตและจำหน่ายสินค้าประเภทปูนซีเมนต์และวัสดุก่อสร้าง มิได้ผลิตสินค้าประเภทรองเท้าออกจำหน่าย กลุ่มลูกค้าของโจทก์เป็นประชาชนที่ต้องการซื้อวัสดุก่อสร้างซึ่งเป็นคนละกลุ่มเป้าหมายของลูกค้าของจำเลยที่ 1 ฉะนั้น สาธารณชนผู้ใช้สินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 จึงไม่อาจหลงผิดว่าเป็นสินค้าของโจทก์ แม้เครื่องหมายการค้าของโจทก์จะใช้แพร่หลาย จึงเห็นว่าเครื่องหมายการ่คารูปช้างอยู่ในวงกลมประดิษฐ์เป็นรูปเพชร และคำว่า ตราช้างเพชร ตามคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 ที่ยื่นขอจดทะเบียนไม่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้ารูปช้างในวงกลม และรูปช้างในกรอบหกเหลี่ยมของโจทก์ที่จดทะเบียนแล้วจนถึงนับได้ว่าเป็นการลวงสาธารณชนตามตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้าฯ แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ 3)ฯ มาตรา 4 ประกอบ พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้าฯ มาตรา 119 (2)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3034/2550
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
คำฟ้องละเมิดลิขสิทธิ์ที่ไม่ชัดเจน ขาดรายละเอียดงานและเจ้าของลิขสิทธิ์ ทำให้จำเลยไม่เข้าใจข้อหา
โจทก์บรรยายฟ้องมีสาระสำคัญเพียงว่าเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2547 เวลากลางคืนหลังเที่ยงต่อเนื่องกัน จำเลยทั้งสามร่วมกันละเมิดลิขสิทธิ์ในงานแพร่เสียงแพร่ภาพของผู้เสียหายทั้งห้า ด้วยการส่งหรือรับภาพด้วยคลื่นความถี่ ด้วยวิธีการแพร่กระจายไปในตัวนำไฟฟ้า ในงานอันเป็นลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายทั้งห้าเหตุเกิดที่ ต.หายยา อ.เมืองเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ คำฟ้องของโจทก์ดังกล่าวจึงมีความชัดแจ้งเพียงเฉพาะข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้นๆ แต่เมื่อมิได้บรรยายให้ชัดเจนว่า งานแพร่เสียงแพร่ภาพอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายแต่ละรายที่ถูกละเมิดในช่วงเวลาและสถานที่ดังกล่าวคือรายการใดบ้าง และรายการใดเป็นลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายรายใด มีรายละเอียดของลักษณะงานพอสังเขปเช่นใด จึงเป็นคำฟ้องที่ไม่อาจทำให้จำเลยทั้งสามเข้าใจและต่อสู้ถึงการมีลิขสิทธิ์ในรายการแต่ละรายการและความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายแต่ละราย รวมทั้งลักษณะการกระทำอันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ต่องานแพร่เสียงแพร่ภาพส่วนที่มีลิขสิทธิ์ได้ ถือไม่ได้ว่าฟ้องของโจทก์บรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยทั้งสามได้กระทำผิด และข้อเท็จจริงอีกทั้งรายละเอียดที่เกี่ยวกับบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องพอสมควรเท่าที่จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี คำฟ้องของโจทก์จึงไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศฯ มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3033/2550
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การโอนสิทธิเรียกร้องต้องระบุรายละเอียดหนี้ให้ชัดเจน หากระบุไม่ชัดเจนถือว่าไม่มีอำนาจฟ้อง
ป.พ.พ. มาตรา 306 ได้บัญญัติถึงวิธีการโอนสิทธิเรียกร้องไว้ว่า การโอนหนี้อันจะพึงต้องชำระแก่เจ้าหนี้คนหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจงนั้น ถ้าไม่ทำเป็นหนังสือ ท่านว่าไม่สมบูรณ์ ซึ่งโจทก์มีหนังสือแจ้งการโอนสิทธิเอกสารหมาย จ.7 เป็นหลักฐานที่อ้างว่าธนาคาร ด. ได้โอนสิทธิเรียกร้องที่ธนาคาร ด. มีต่อจำเลยให้แก่โจทก์แล้ว แต่อย่างไรก็ตามเอกสารหมาย จ.7 มีข้อความระบุถึงหนี้ที่มีการโอนสิทธิเรียกร้องกันไว้แต่เพียงว่า "รายละเอียดของสัญญาสินเชื่อและสัญญาหลักประกันที่ธนาคารได้โอนให้ผู้รับโอน รวมถึงแต่ไม่จำกัดเฉพาะสัญญาและเอกสารดังกล่าวต่อไปนี้" ซึ่งข้อความดังกล่าวไม่อาจเข้าใจความหมายได้ว่าหมายถึงหนี้สินเชื่อประเภทใดบ้าง เพียงแต่มีข้อความต่อไปว่า "หนังสือสัญญาเบิกเงินเกินบัญชี ฉบับลงวันที่ 3 มีนาคม 2537" มิได้มีข้อความใดกล่าวถึงหนี้ตามสัญญาเลตเตอร์ออฟเครดิตและสัญญาทรัสต์รีซีทตามที่โจทก์ฟ้อง จึงไม่อาจแปลความหมายได้ว่า ข้อความดังกล่าวรวมถึงหนี้ตามฟ้องด้วย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยรับผิดตามสัญญา
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2039/2550
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อนุญาโตตุลาการ: ศาลต้องให้โอกาสคู่ความคัดค้านคำร้องขอจำหน่ายคดีก่อนมีคำสั่ง
พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 14 วรรคหนึ่ง มิได้บัญญัติว่า คำขอให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีเพื่อให้คู่สัญญาไปดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการอาจทำได้แต่ฝ่ายเดียว ดังนั้น ก่อนที่จะไต่สวนหรือมีคำสั่ง ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางชอบที่จะให้โอกาสโจทก์คัดค้านคำร้องดังกล่าวของจำเลยก่อนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 21 (2) โดยมีคำสั่งให้ส่งสำเนาคำร้องแก่โจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2039/2550 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การจำหน่ายคดีอนุญาโตตุลาการ: ศาลต้องให้โอกาสคู่ความคัดค้านก่อนมีคำสั่ง
ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการฯ มาตรา 14 วรรคหนึ่ง มิได้บัญญัติว่า คำขอดังกล่าวอาจทำได้แต่ฝ่ายเดียว ดังนั้น ก่อนที่จะไต่สวนหรือมีคำสั่ง ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางชอบที่จะให้โอกาสโจทก์คัดค้านก่อนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 21 (2) โดยมีคำสั่งให้ส่งสำเนาคำร้องเช่นว่านั้นแก่โจทก์ล่วงหน้า หากจะคัดค้านประการใดให้ยื่นเข้ามาภายในเวลาที่กำหนด การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางเพียงแต่หมายแจ้งวันนัดพร้อมไปยังโจทก์จึงเป็นที่เห็นได้ว่าโจทก์ไม่มีโอกาสโต้แย้งคัดค้านคำร้องดังกล่าวของจำเลยได้ทันเพราะเพิ่งได้รับสำเนาคำร้องในวันนั้น ทั้งไม่ปรากฏว่าศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไต่สวนแล้วได้ความว่า ไม่มีเหตุที่ทำให้สัญญาอนุญาโตตุลาการนั้นเป็นโมฆะหรือใช้บังคับไม่ได้ หรือมีเหตุที่ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญานั้นได้ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางจะมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีได้ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการฯ มาตรา 14 วรรคหนึ่ง แต่อย่างใด จึงเป็นกรณีที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรมและที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนในการพิจารณาคดี
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2038/2550
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อำนาจฟ้องกรมฯ แทนคณะกรรมการพิจารณาการทุ่มตลาด: การฟ้องกรมฯ เพื่อเพิกถอนคำวินิจฉัยถือว่าเป็นการฟ้องกรรมการและเลขานุการ
ตามกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ฯ ได้กำหนดให้กรมจำเลยมีอำนาจหน้าที่ดำเนินมาตรการป้องกันและตอบโต้ทางการค้าเพื่อรักษาผลประโยชน์ทางการค้า โดยให้มีสำนักมาตรการปกป้องและตอบโต้ทางการค้าเป็นส่วนราชการในกรมจำเลย ดังนี้ จะเห็นได้ว่า การดำเนินการทั้งปวงเกี่ยวกับการปกป้องและตอบโต้การทุ่มตลาดและอุดหนุนตามกฎหมาย เป็นอำนาจหน้าที่โดยตรงของส่วนราชการในกรมจำเลย ทั้งตาม พ.ร.บ.การตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศฯ ได้บัญญัติถึงอำนาจหน้าที่ของกรมจำเลยในส่วนที่ 2 การเริ่มต้นกระบวนพิจารณา และส่วนที่ 3 การไต่สวนการทุ่มตลาดและความเสียหายไว้ว่า ให้ผู้ยื่นคำขอให้คณะกรรมการดำเนินการพิจารณาตอบโต้การทุ่มตลาดยื่นคำขอต่อกรมจำเลยและกำหนดให้กรมจำเลยเป็นผู้พิจารณาคำขอในเบื้องต้นว่ามีรายละเอียดหรือหลักฐานครบถ้วนถูกต้องหรือไม่ จากนั้นให้กรมจำเลยเสนอคำขอต่อคณะกรรมการเพื่อพิจารณาและเมื่อคณะกรรมการมีคำวินิจฉัยว่าคำขอมีมูลเกี่ยวกับการทุ่มตลาดและความเสียหายแล้ว ตามกฎหมายยังกำหนดให้กรมจำเลยเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการไต่สวนในประเด็นการทุ่มตลาดและความเสียหาย เสร็จแล้วให้กรมจำเลยสรุปผลการไต่สวนและเสนอความเห็นต่อคณะกรรมการเพื่อพิจารณาวินิจฉัยต่อไป และแม้คณะกรรมการพิจารณาการทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งมี รมต. ว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธานกรรมการจะมีอำนาจหน้าที่เป็นอิสระ ไม่ได้อยู่ในการกำกับดูแลของกรมจำเลย แต่คณะกรรมการดังกล่าวก็มีอธิบดีกรมจำเลยเป็นกรรมการและเลขานุการ ทั้งยังมีข้าราชการจากกรมจำเลยเป็นผู้ช่วยเลขานุการ เมื่อพิจารณาถึงอำนาจหน้าที่ของกรมจำเลยดังกล่าวข้างต้นแล้ว อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศซึ่งเป็นผู้แทนกรมจำเลยจึงเป็นกรรมการที่มีบทบาทสำคัญในเนื้อหางานของคณะกรรมการดังกล่าว ประกอบกับการฟ้องกรมจำเลยก็เท่ากับเป็นการฟ้องอธิบดีกรมจำเลยซึ่งเป็นกรรมการและเลขานุการในคณะกรรมการพิจารณาการทุ่มตลาดและการอุดหนุน จึงถือว่าเป็นการฟ้องคณะกรรมการพิจารณาการทุ่มตลาดและการอุดหนุนแล้วไม่จำต้องฟ้องกรรมการทุกคนและการที่โจทก์ฟ้องเฉพาะกรมจำเลยดังกล่าว กรมจำเลยก็สามารถให้การต่อสู้คดีชี้แจงเหตุผลโต้แย้งคำฟ้องของโจทก์ได้แล้ว ไม่ทำให้คณะกรรมการดังกล่าวเสียเปรียบแต่อย่างใด ทั้งยังมีผลให้การดำเนินกระบวนพิจารณาเป็นไปด้วยความรวดเร็ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องกรมจำเลยเพื่อขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยชั้นที่สุดของคณะกรรมการพิจารณาการทุ่มตลาดและการอุดหนุนที่เรียกเก็บอากรตอบโต้การทุ่มตลาดในการนำเข้าสินค้าบล็อกแก้วชนิดใส ตามพิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่ 7016.900.001 ที่มีแหล่งกำเนิดจากสาธารณรัฐอินโดนีเซียได้ โดยไม่จำต้องฟ้องกรรมการทุกคน การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งงดสืบพยานและพิพากษายกฟ้องเป็นการไม่ชอบ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1384/2550
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ละเมิดสิทธิบัตร: กรรมวิธีผลิตข้อต่อเหล็กเส้นที่มีลักษณะทางเทคนิคแตกต่างเล็กน้อย ไม่ถือเป็นการประดิษฐ์ใหม่
การตรวจพิสูจน์เหล็กเส้นของกลางของโจทก์ที่ 1 และของจำเลยที่ 6 เปรียบเทียบกันพบว่ากรรมวิธีการผลิตข้อต่อแบบเชิงกลของแท่งเหล็กเส้นเสริมแรงสำหรับคอนกรีตโดยใช้เกลียวละเอียดของจำเลยที่ 6 เป็นการประดิษฐ์ที่มีลักษณะทางเทคนิคที่แตกต่างจากกรรมวิธีการผลิตที่ใช้เกลียวธรรมดาหรือเกลียวหยาบของโจทก์ที่ 1 ในรายละเอียดเพียงเล็กน้อย และเป็นเพียงลักษณะของการใช้กรรมวิธีการทำให้เกิดผลทำนองเดียวกันได้กับของโจทก์ที่ 1 ส่วนการทำเกลียวของจำเลยที่ 6 ให้หน้าตัดเส้นผ่าศูนย์กลางแท่งเหล็กเส้นที่โคนหรือร่องเกลียวมีขนาดเล็กกว่าของแท่งเหล็กเส้นเดิมก่อนขยายปลายก็เป็นเพียงกรรมวิธีที่มีลักษณะทางเทคนิคที่แตกต่างไปเล็กน้อย และเป็นเพียงลักษณะของกรรมวิธีที่ทำให้เกิดผลทำนองเดียวกันได้เช่นกัน
กรรมวิธีการผลิตของจำเลยที่ 6 ที่ให้แตกต่างไปจากกรรมวิธีของโจทก์ที่ 1 เป็นเพียงแต่การหาหรือใช้กรรมวิธีอื่นที่ทดแทนกรรมวิธีของโจทก์ที่ 1 ไม่ก่อให้เกิดคุณสมบัติในการใช้งานเพิ่มเติมขึ้นเป็นพิเศษยิ่งกว่าคุณสมบัติของผลิตภัณฑ์ที่ใช้กรรมวิธีของโจทก์ที่ 1 แต่อย่างใด บุคคลอื่นที่มีความชำนาญในระดับสามัญในศิลปะหรือวิทยาการเกี่ยวกับการประดิษฐ์ ซึ่งไม่จำต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญก็เห็นได้ว่า ผลิตภัณฑ์ที่ใช้กรรมวิธีการผลิตของจำเลยที่ 6 มีคุณสมบัติ ประโยชน์ใช้สอยและทำให้เกิดผลทำนองเดียวกับผลิตภัณฑ์ที่ใช้กรรมวิธีการผลิตของโจทก์ที่ 1 ตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 36 ทวิ วรรคสอง การผลิตข้อต่อแท่งเหล็กเส้นเสริมคอนกรีตของจำเลยที่ 6 จึงละเมิดสิทธิบัตรการประดิษฐ์ในกรรมวิธีตามสิทธิบัตรของโจทก์ที่ 1
กรรมวิธีการผลิตของจำเลยที่ 6 ที่ให้แตกต่างไปจากกรรมวิธีของโจทก์ที่ 1 เป็นเพียงแต่การหาหรือใช้กรรมวิธีอื่นที่ทดแทนกรรมวิธีของโจทก์ที่ 1 ไม่ก่อให้เกิดคุณสมบัติในการใช้งานเพิ่มเติมขึ้นเป็นพิเศษยิ่งกว่าคุณสมบัติของผลิตภัณฑ์ที่ใช้กรรมวิธีของโจทก์ที่ 1 แต่อย่างใด บุคคลอื่นที่มีความชำนาญในระดับสามัญในศิลปะหรือวิทยาการเกี่ยวกับการประดิษฐ์ ซึ่งไม่จำต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญก็เห็นได้ว่า ผลิตภัณฑ์ที่ใช้กรรมวิธีการผลิตของจำเลยที่ 6 มีคุณสมบัติ ประโยชน์ใช้สอยและทำให้เกิดผลทำนองเดียวกับผลิตภัณฑ์ที่ใช้กรรมวิธีการผลิตของโจทก์ที่ 1 ตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 36 ทวิ วรรคสอง การผลิตข้อต่อแท่งเหล็กเส้นเสริมคอนกรีตของจำเลยที่ 6 จึงละเมิดสิทธิบัตรการประดิษฐ์ในกรรมวิธีตามสิทธิบัตรของโจทก์ที่ 1
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1204/2550
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ศาลฎีกาแก้โทษจำเลยในคดีเครื่องหมายการค้าและยาสูบ โดยชี้ว่าการลงโทษตามบทมาตราผิดและปรับบทลงโทษไม่ถูกต้อง
โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าบุหรี่ซิกาแรตที่มีเครื่องหมายการค้าสองยี่ห้อซึ่งปลอมเครื่องหมายการค้าที่แท้จริงของผู้เสียหายที่จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักร อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้าฯ มาตรา 110 (1) ประกอบมาตรา 108 แต่โจทก์อ้างบทมาตรา 111 มาในคำขอท้ายฟ้องอันเป็นการอ้างบทมาตราผิด และศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานดังกล่าวตามมาตรา 111 ประกอบมาตรา 108 ซึ่งเป็นบทมาตราผิดไปตามที่โจทก์ขอ
การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางปรับบทลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.ยาสูบฯ ไม่ถูกต้อง เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและลงโทษจำเลยตามบทมาตราที่ถูกต้องได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศฯ มาตรา 45 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคห้า, 195 วรรคสอง
การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางปรับบทลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.ยาสูบฯ ไม่ถูกต้อง เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและลงโทษจำเลยตามบทมาตราที่ถูกต้องได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศฯ มาตรา 45 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคห้า, 195 วรรคสอง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1145/2550
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การคิดค่าสินไหมทดแทนประกันภัย: สินค้าเสียหายจนต้องซื้อใหม่ ไม่ต้องหักค่าซาก
จำเลยให้การว่า สินค้าที่รับประกันภัยไม่ได้เสียหายโดยสิ้นเชิง สามารถซ่อมแซมให้ใช้การได้โดยเสียค่าซ่อมไม่เกิน 1,297,375 บาท โดยจำเลยไม่ได้ให้การว่า ซากสินค้าเป็นของโจทก์และต้องหักค่าซากสินค้าออกจากค่าเสียหาย คดีจึงไม่มีประเด็นข้อพิพาทให้ต้องวินิจฉัยเรื่องการหักค่าซากสินค้า
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 773-776/2550
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า: ลักษณะบ่งเฉพาะและผลของการใช้เครื่องหมาย
แม้ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้าฯ มาตรา 18 วรรคหนึ่ง จะบัญญัติให้คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าเป็นที่สุดก็ตาม แต่หากคำวินิจฉัยดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ผู้อุทธรณ์ย่อมมีสิทธินำคดีมาฟ้องเพื่อให้ศาลเพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการดังกล่าวได้ คดีนี้โจทก์อ้างว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์ทั้งสี่เครื่องหมายเป็นเครื่องหมายประเภทรูปร่างและรูปทรงของวัตถุ และมีลักษณะทำให้ประชาชนหรือผู้ใช้สินค้าทราบและเข้าใจว่าสินค้าของโจทก์แตกต่างจากสินค้าอื่น ทั้งได้ใช้และโฆษณาแพร่หลายทั่วไปมานานจึงมีลักษณะบ่งเฉพาะ เท่ากับโจทก์ฟ้องกล่าวอ้างว่าคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าเป็นคำวินิจฉัยที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย การที่คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าวินิจฉัยยืนตามคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่ไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ทั้งสี่คำขอเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์ผู้อุทธรณ์ย่อมมีสิทธินำคดีมาฟ้องต่อศาลเพื่อขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยนั้นได้และการใช้สิทธิทางศาลในกรณีเช่นนี้ ไม่มีบทบัญญัติใดใน พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้าฯ หรือในกฎหมายอื่นบัญญัติให้โจทก์ต้องใช้สิทธิทางศาลหรือฟ้องคดีภายใน 90 วัน นับแต่วันทราบคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า โจทก์ย่อมมีสิทธิยื่นฟ้องคดีนี้ได้แม้การยื่นฟ้องคดีนี้จะยื่นเมื่อพ้นกำหนด 90 วัน นับแต่วันที่โจทก์ทราบคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า