คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
สุวัฒน์ วรรธนะหทัย

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 772 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 269/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลียนเครื่องหมายการค้า: ศาลแก้ไขบทลงโทษ โดยใช้เฉพาะ พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า แทนการอ้างอิงประมวลกฎหมายอาญา
เมื่อจำเลยทั้งสองมีความผิดตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 109 และ 110 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 274 และ 275 แต่มาตรา 3 วรรคสอง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ให้ใช้มาตรา 109 และ 110 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวแทนบทบัญญัติในส่วนที่เกี่ยวกับการเลียนเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนภายในราชอาณาจักรตามมาตรา 274 และการปฏิบัติต่อสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าดังกล่าวตามมาตรา 275 แห่งประมวลกฎหมายอาญาแล้ว ในการปรับบทกฎหมายจึงไม่ต้องอ้างบทบัญญัติในมาตรา 274 และ 275 อีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8777/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ลักษณะบ่งเฉพาะของเครื่องหมายการค้า 'NETBURST' และอำนาจการพิจารณาของนายทะเบียน
โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นเครื่องหมายการค้าที่มีลักษณะบ่งเฉพาะสามารถรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้ และขอให้ยกเลิกคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า และรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ดังนี้ เป็นเรื่องของการฟ้องเพื่อให้ยกเลิกคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า หาได้เป็นการฟ้องเพื่อบังคับให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 6 และที่ 12 ต้องรับผิดในฐานะส่วนตัว นอกจากนี้คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าไม่มีสถานะเป็นบุคคลตามกฎหมาย และโจทก์ฟ้องจำเลยอื่น ๆ ซึ่งเป็นกรรมการของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าก็เป็นเรื่องที่กฎหมายเปิดช่องให้กระทำได้ จำเลยทั้งสิบห้า จึงไม่อาจกล่าวอ้างเหตุที่จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 6 และที่ 12 ไม่ได้เข้าร่วมประชุมมาปฏิเสธอำนาจฟ้องของโจทก์
คำว่า "NETBURST" เป็นคำที่โจทก์ประดิษฐ์ขึ้น ไม่ได้เป็นคำศัพท์ที่มีและใช้อยู่โดยปรากฏในพจนานุกรม ดังนั้น การที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าพิจารณาความหมายของคำว่า "NETBURST" โดยแยกคำเป็นภาคส่วนแล้วนำความหมายของแต่ละภาคส่วนตามที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าพิจารณาเลือกมารวมกันเพื่อให้ความหมายของคำดังกล่าวโดยไม่ปรากฏหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนว่าเหตุใดจึงหยิบยกความหมายนั้น ๆ มาใช้ จึงไม่ถูกต้องเพราะทั้งคำว่า "NET" และคำว่า "BURST" ยังมีความหมายอื่น ๆ อีก ทั้งเกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้องกับคอมพิวเตอร์การนำคำดังกล่าวมารวมกันจึงไม่อาจทราบได้แน่ชัดว่าหมายถึงสิ่งใด ดังนั้น คำว่า NETBURST ไม่เป็นคำที่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าตามที่โจทก์ขอจดทะเบียนโดยตรง แต่มีลักษณะบ่งเฉพาะ
คำว่า NETBURST มีลักษณะบ่งเฉพาะ นายทะเบียนต้องดำเนินการเกี่ยวกับคำขอจดทะเบียนของโจทก์ตามขั้นตอนต่าง ๆ ซึ่งมีอีกหลายขั้นตอน โจทก์ยังไม่มีสิทธิขอให้บังคับนายทะเบียนเครื่องหมายการค้ารับจดทะเบียนให้เลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8575-8576/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การทำงานบริการสังคมแทนค่าปรับต้องยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้น และอำนาจศาลฎีกาในการแก้ไขคำพิพากษาเกี่ยวกับของกลาง
การที่ศาลจะมีคำสั่งให้จำเลยทำงานบริการสังคมหรือทำงานสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับนั้น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 30/1 บัญญัติให้ผู้ต้องโทษซึ่งไม่มีเงินชำระค่าปรับต้องยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นที่พิพากษาคดี และเมื่อศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นเป็นการสมควร ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งให้ผู้นั้นทำงานบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับ จึงเป็นเรื่องที่จำเลยต้องดำเนินการตามขั้นตอนของบทบัญญัติดังกล่าว เมื่อจำเลยมิได้ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นที่พิพากษาคดี จำเลยจึงยังไม่มีสิทธิอุทธรณ์ในปัญหานี้
จำเลยกระทำละเมิดสิทธิ์ของผู้เสียหาย โดยนำวิดีโอซีดีภาพยนตร์ (วีซีดี) และดิจิตอลวิดีโอดิสก์ภาพยนตร์ (ดีวีดี) ที่บันทึกภาพและเสียงภาพยนตร์ของกลางซึ่งเป็นของผู้เสียหาย ซึ่งได้มีผู้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายออกขาย เสนอขาย และมีไว้เพื่อขายแก่บุคคลทั่วไป โดยจำเลยรู้อยู่แล้วว่าภาพยนตร์ดังกล่าวเป็นงานที่ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหาย ของกลางดังกล่าวเป็นสิ่งที่ได้ทำขึ้นอันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ และต้องตกเป็นของผู้เสียหาย ซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 75 ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาริบของกลางจึงไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8084/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อัตราดอกเบี้ยสัญญาซื้อขาย, การคิดดอกเบี้ยผิดสัญญา, การบังคับคดี, และขอบเขตความรับผิดของผู้ค้ำประกัน
สัญญาทรัสต์รีซีท ข้อ 4 ระบุข้อตกลงเกี่ยวกับอัตราแลกเปลี่ยนไว้ 4 ประการ โดยกำหนดให้โจทก์เป็นฝ่ายเลือก แต่สำหรับแนวทาง 2 ประการ คือ อัตราแลกเปลี่ยนที่ตกลงกันไว้โดยเฉพาะ และอัตราที่ได้กำหนดไว้แนบท้ายหนังสือนั้น ไม่ปรากฏว่ามีการตกลงกันไว้โดยเฉพาะ และอัตราที่ได้กำหนดไว้แนบท้ายหนังสือนั้น ไม่ปรากฏว่ามีการตกลงหรือกำหนดระบุแนบท้ายไว้แต่อย่างใด จึงยังคงเหลือแนวทางการใช้อัตราแลกเปลี่ยนที่โจทก์อาจเลือกใช้อัตราแลกเปลี่ยนได้ตามสัญญาดังกล่าวอีกเพียง 2 แนวทาง กล่าวคือ ใช้อัตราแลกเปลี่ยนที่โจทก์ต้องชำระค่าสินค้าแทนจำเลยที่ 1 หรือใช้อัตราแลกเปลี่ยนของธนาคารโจทก์ในวันครบกำหนดชำระเงินตามสัญญาทรัสต์รีซีทเท่านั้น การที่ธนาคารตัวแทนโจทก์ในต่างประเทศได้จ่ายเงินค่าสินค้าให้แก่ผู้ขายแล้วหักเงินในบัญชีเงินฝากของโจทก์ในต่างประเทศเท่ากับว่าโจทก์ได้จ่ายเงินไปเป็นเงินเยนอันเป็นเงินตราต่างประเทศ โดยไม่ปรากฏว่าโจทก์ใช้เงินไทยชำระหนี้ดังกล่าวไปและไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ใช้เงินไทยไปชำระหนี้ดังกล่าวให้แก่ธนาคารตัวแทนโจทก์ไปเมื่อใด หนี้จำนวนเงินที่โจทก์จ่ายไปจึงยังคงเป็นหนี้เงินต่างประเทศอยู่ เมื่อไม่มีข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอัตราแลกเปลี่ยนอันจะถือได้ว่าเป็นอัตราแลกเปลี่ยนที่โจทก์ต้องชำระค่าสินค้าแทนจำเลยที่ 1 จึงไม่มีเหตุที่จะใช้อัตราแลกเปลี่ยนเงินเยนเป็นเงินไทยในวันที่ธนาคารตัวแทนโจทก์ได้จ่ายเงินแทนโจทก์หรือในวันที่ธนาคารตัวแทนโจทก์หักบัญชีเงินฝากของโจทก์ในต่างประเทศตามที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์แต่อย่างใด ดังนั้น โจทก์จึงชอบที่จะเลือกใช้อัตราแลกเปลี่ยนในวันครบกำหนดชำระตามสัญญาทรัสต์รีซีทได้อีกทางหนึ่งตามที่มีข้อตกลงกันไว้ในสัญญาทรัสต์รีซีทข้อ 4
ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระดอกเบี้ยในอัตราต่าง ๆ ตามประกาศของธนาคารโจทก์ ดังที่ปรากฏในรายงานการคำนวณภาระหนี้ของลูกค้าและในอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 14 ธันวาคม 2543 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ตามประกาศธนาคารโจทก์นั้น เป็นอัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้าที่ผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งควรเป็นเบี้ยปรับที่หากสูงเกินส่วนศาลย่อมพิจารณาลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ แต่ตามสัญญาทรัสต์รีซีทจะเห็นได้ว่า ข้อความในสัญญาทรัสต์รีซีทข้อ 4 มีลักษณะเป็นการกำหนดให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินที่โจทก์ได้จ่ายค่าสินค้าแทนจำเลยที่ 1 ไปตามเลตเตอร์ออฟเครดิตคืนให้แก่โจทก์ โดยกำหนดให้จำเลยที่ 1 เริ่มชำระดอกเบี้ยนับแต่วันที่โจทก์ได้ชำระค่าสินค้าแทนจำเลยที่ 1 เป็นต้นไป ซึ่งกรณีเช่นนี้หากจำเลยที่ 1 ชำระเงินแก่โจทก์ครบถ้วนภายในกำหนดเวลาที่โจทก์บอกกล่าวทวงถาม ย่อมไม่ถือว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้แก่โจทก์ ส่วนกรณีที่จำเลยที่ 1 ตกเป็นผู้ผิดนัดชำระหนี้แก่โจทก์ ก็มีสัญญาข้อ 7 ระบุถึงการชำระดอกเบี้ยในกรณีผิดนัดไว้อีกข้อหนึ่งต่างหาก โดยระบุว่าให้ใช้อัตราตามที่กำหนดในข้อ 4 สัญญาทรัสต์รีซีทข้อ 4 นี้ เป็นข้อสัญญาที่ระบุถึงอัตราดอกเบี้ยที่โจทก์มีสิทธิคิดเอาแก่จำเลยที่ 1 ในช่วงที่จำเลยที่ 1 ยังไม่ผิดนัดชำระหนี้แก่โจทก์ และในการเรียกดอกเบี้ยของโจทก์ซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์ โจทก์จะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด ตาม พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 มาตรา 14 (2) และในข้อ 3 ของประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่องการกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด ฉบับลงวันที่ 20 ตุลาคม 2536 ที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 14 (2) แห่งพระราชบัญญัติ ดังกล่าว และเป็นประกาศที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่ทำสัญญาทรัสต์รีซีทคดีนี้จนถึงวันฟ้อง เมื่อพิจารณาถึงหลักเกณฑ์การเรียกดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยดังกล่าวและข้อความเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยตามสัญญาทรัสต์รีซีท ข้อ 4 ที่ระบุว่า "อัตราสูงสุด" ประกอบกับข้อความที่ขยายความคำว่า "อัตราสูงสุด" ว่า "ที่ธนาคาร (โจทก์) ประกาศกำหนดภายใต้ประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย เกี่ยวกับการกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด" จึงหมายถึง อัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่ถูกต้องภายใต้หลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยออกประกาศกำหนดไว้ให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยฉบับลงวันที่ 20 ตุลาคม 2536 ดังกล่าว อันได้แก่อัตราดอกเบี้ยสูงสุดสำหรับลูกค้าทั่วไป (ที่ไม่ผิดนัด) ตามที่ปรากฏในประกาศธนาคารโจทก์ฉบับต่าง ๆ นั่นเอง และเมื่อสัญญาทรัสต์รีซีทข้อ 7 ที่ตกลงกันว่าในกรณีผิดนัดให้คิดดอกเบี้ยในอัตราตามที่กำหนดในข้อ 4 ก็ย่อมหมายถึงอัตราดอกเบี้ยสูงสุดสำหรับลูกค้าทั่วไป (ที่ไม่ผิดนัด) ตามประกาศธนาคารโจทก์เช่นเดียวกัน แต่ปรากฏว่าในการคิดดอกเบี้ยของโจทก์แก่จำเลยที่ 1 ในอัตราต่าง ๆ ตามรายงานการคำนวณภาระหนี้ของลูกหนี้ โจทก์คิดดอกเบี้ยแก่จำเลยที่ 1 ในอัตราสำหรับลูกค้าที่ผิดนัดซึ่งไม่ถูกต้อง เพราะแม้เป็นช่วงเวลาภายหลังจากที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดแล้ว โจทก์ก็มีสิทธิคิดดอกเบี้ยแก่จำเลยที่ 1 ไม่เกินอัตราดอกเบี้ยสูงสุดสำหรับลูกค้าทั่วไป (ที่ไม่ผิดนัด) ตามประกาศธนาคารโจทก์เท่านั้น ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาในส่วนดอกเบี้ยมาดังกล่าวจึงไม่ถูกต้อง และปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นสมควรหยิบยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้
จำเลยที่ 1 เป็นลูกหนี้ชั้นต้น ส่วนจำเลยที่ 2 ถึง 4 เป็นผู้ค้ำประกันโดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 หนี้ของจำเลยทั้งสี่ในคดีนี้เป็นหนี้ที่ไม่อาจแบ่งแยกได้ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศจึงเห็นสมควรพิพากษาให้มีผลถึงจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ที่มิได้อุทธรณ์ด้วย ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 245 (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8003/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนลิขสิทธิ์เพลงคาราโอเกะโดยเด็ดขาดและการละเมิดลิขสิทธิ์จากการผลิตซ้ำโดยไม่ได้รับอนุญาต
จำเลยโอนลิขสิทธิ์ดนตรีกรรมเพลงพิพาท ทั้งคำร้องทำนองซึ่งขับร้องโดยนักร้องชื่อ ก. ในส่วนของคาราโอเกะทุกรูปแบบให้แก่โจทก์ที่ 2 เมื่อตามข้อสัญญาลิขสิทธิ์เพลงข้อ 1 ระบุข้อห้ามไว้ด้วยว่า "การโอนลิขสิทธิ์นี้เป็นการโอนตลอดอายุสัญญาแห่งลิขสิทธิ์ซึ่งผู้โอนลิขสิทธิ์ไม่มีสิทธิที่จะนำไปขายหรือจัดทำเอง รวมทั้งอนุญาตให้ผู้อื่นไปจัดทำ" ฉะนั้น การที่จำเลยร่วมกับพวกอนุญาตให้นาย ช. ใช้มาสเตอร์เทปเพลงพิพาทพร้อมลิขสิทธิ์ คือ ทั้งตามคำร้อง ทำนองเพลงพิพาทที่ขับร้องโดยนักร้องชื่อ ก. ไปทำการบันทึกเสียงและภาพทำเป็นคาราโอเกะได้ด้วยดังกล่าว จึงเป็นการกระทำผิดสัญญาลิขสิทธิ์ต่อโจทก์ที่ 2
การกระทำของจำเลยที่จงใจมอบหมายภริยาจำเลยให้นำมาสเตอร์เทปเพลง 2 เพลง เช่นเดียวกับที่ได้โอนลิขสิทธิ์โดยเด็ดขาดให้โจทก์ที่ 2 ไปแล้ว คือ เพลง น. และเพลง ส. ซึ่งขับร้องโดยนักร้องชื่อ ก. ไปให้บุคคลภายนอก ซึ่งจำเลยสามารถคาดหมายได้ว่าบุคคลภายนอกต้องนำมาสเตอร์เทปดังกล่าวไปผลิตเป็นวิดีโอซีดีคาราโอเกะออกจำหน่ายในท้องตลาดแข่งขันกับโจทก์ที่ 2 เพราะกำลังเป็นที่นิยมแพร่หลายในหมู่ประชาชน จากนั้นบุคคลภายนอกก็ผลิตวิดีโอซีดีคาราโอเกะออกจำหน่ายแข่งขันกับโจทก์ที่ 2 ดังที่จำเลยคาดหมาย ถือว่าจำเลยกับพวกร่วมกันละเมิดลิขสิทธิ์คาราโอเกะของโจทก์ที่ 2

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7814/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลียนแบบเครื่องหมายการค้า การใช้ภาพ คำ ข้อความ และสีคล้ายกัน ทำให้สาธารณชนสับสน ถือเป็นการละเมิดสิทธิ
โจทก์ที่ 1 ทำหนังสือสัญญาอนุญาตให้โจทก์ที่ 2 ใช้สิทธิในเครื่องหมายการค้า หลังจากที่ พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มีผลใช้บังคับ มาตรา 68 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว บัญญัติว่า เจ้าของเครื่องหมายการค้าได้จดทะเบียนแล้วจะทำสัญญาอนุญาตให้บุคคลอื่นใช้สิทธิในเครื่องหมายการค้าของตนได้ แต่ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อนายทะเบียน ดังนั้น เมื่อโจทก์ทั้งสองเพิ่งยื่นคำขอและได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในเครื่องหมายการค้าเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2544 ภายหลังจากที่มีการฟ้องคดีนี้จึงเท่ากับว่าขณะยื่นฟ้องคดีนี้ จำเลยทั้งเจ็ดไม่ได้โต้แย้งสิทธิของโจทก์ที่ 2 ในเครื่องหมายการค้าตามที่กล่าวอ้างในฟ้อง โจทก์ที่ 2 จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งเจ็ด
ลักษณะเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ 1 ตามทะเบียนเครื่องหมายการค้าบนขวดน้ำยาล้างจานเป็นภาพมะนาวอยู่ด้านบนภาพของจานช้อนอยู่ด้านล่าง คำว่า ซันไลต์ อยู่กลางมีข้อความผลิตภัณฑ์ล้างจาน ข้อความว่าขัดคราบมันและกลิ่นคาว และข้อความว่าล้างจานชามกองใหญ่ได้ใสสะอาด และมีกลุ่มของสีเป็นสีแดง สีเขียว สีน้ำเงิน และสีเหลือง ทั้งภาพ คำ ข้อความและกลุ่มสีทั้งหมดรวมกันเป็นเครื่องหมายการค้าเดียว จำเลยที่ 1 เพิ่งนำเครื่องหมายการค้าคำว่า ทีไลม ไปใช้กับภาพ คำ ข้อความและกลุ่มสี รวมเป็นเครื่องหมายการค้าเดียวแล้วนำไปใช้กับสินค้าน้ำยาล้างจาน หลังจากโจทก์ที่ 1 ใช้เครื่องหมายการค้ามานานหลายปี โดยมีภาพมะนาวอยู่ด้านบน ภาพกองจาน ช้อน แก้ว อยู่ด้านล่าง มีคำว่า ทีไลม อยู่ในตำแหน่งตรงกลางเช่นเดียวกับคำว่า ซันไลต์ โดยมีขนาดตัวอักษรใกล้เคียงกัน ข้อความว่าผลิตภัณฑ์ล้างจานชามกองใหญ่ได้สะอาดก็มีเช่นเดียวกับของโจทก์ที่ 1 ส่วนที่โจทก์ที่ 1 ใช้คำว่า "ขจัดคราบน้ำมันและกลิ่นคาว" จำเลยก็เลี่ยงเป็นว่า "กำจัดคราบน้ำมันและกลิ่นคาว" และกลุ่มของสีจำเลยที่ 1 ใช้สีแดง เขียว น้ำเงิน และเหลือง โดยวางตำแหน่งและการเรียงสีในลักษณะที่คล้ายกันมาก เมื่อนำภาพ คำ ข้อความและกลุ่มของสีเหล่านี้ไปใช้กับขวดบรรจุสินค้าประเภทเดียวกันคือน้ำยาล้างจานที่มีลักษณะเช่นเดียวกันกับของโจทก์ที่ 1 ย่อมเป็นที่เห็นได้ชัดเจนว่าลักษณะโดยรวมของการใช้เครื่องหมายการค้าทั้งหมดเป็นการจงใจเลียนแบบเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ 1 ไม่ใช่การพัฒนาการตลาดขึ้นเอง ย่อมเป็นการลวงสาธารณชนให้สับสนหลงผิดว่าสินค้าของจำเลยที่ 1 คือสินค้าของโจทก์ที่ 1

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6982/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องคดีรับขนของทางทะเล: การเรียกจำเลยร่วมและการสะดุดหยุดของอายุความ
ตาม พ.ร.บ. การรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 46 สิทธิเรียกร้องเอาค่าเสียหายเพื่อการเสียหายแห่งของที่รับขนตามสัญญารับขนของทางทะเล ถ้าไม่ได้ฟ้องคดีต่อศาลภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ผู้ขนส่งได้ส่งมอบของให้เป็นอันขาดอายุความ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าผู้ขนส่งได้ส่งมอบสินค้าที่รับขนตั้งแต่วันที่ 13 สิงหาคม 2543 แต่โจทก์เพิ่งมายื่นคำร้องขอให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางเรียกจำเลยร่วม (ผู้ขนส่งอื่น) เข้ามาในคดีนี้เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2545 โจทก์จึงขอเรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดีเกิน 1 ปี นับแต่วันที่ผู้ขนส่งได้ส่งมอบสินค้าแม้โจทก์จะฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 (ผู้ขนส่ง) เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2544 ภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ผู้ขนส่งได้ส่งมอบสินค้าภายในกำหนดอายุความดังกล่าวก็ตาม แต่การที่โจทก์ฟ้องคดีเพื่อให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ชำระหนี้ก็หาทำให้อายุความสำหรับจำเลยร่วมสะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (2) ไม่ เพราะกำหนดอายุความย่อมเป็นไปเพื่อเป็นคุณและโทษแก่ลูกหนี้แต่ละคนโดยเฉพาะ และกำหนดอายุความสำหรับจำเลยร่วมต้องถือตามวันที่โจทก์ขอให้เรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดีซึ่งเป็นวันเริ่มต้นคดีเพื่อให้จำเลยร่วมชำระหนี้ ดังนั้น เมื่อโจทก์มีคำร้องขอให้เรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (3) เกินกว่า 1 ปี นับแต่วันที่ผู้ขนส่งได้ส่งมอบสินค้าพิพาทให้แก่ผู้รับตราส่ง คดีโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยร่วมจึงขาดอายุความตามมาตรา 46 ดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6980/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การละเมิดเครื่องหมายการค้า แม้สัญญาอนุญาตจะโมฆะ แต่เจ้าของเครื่องหมายยังฟ้องละเมิดได้ หากจำเลยใช้เครื่องหมายต่อหลังบอกเลิก
แม้ว่าโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของเครื่องหมายบริการ "เลมอนกรีน (LEMON GREEN)" ที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วได้อนุญาตให้จำเลยใช้เครื่องหมายบริการดังกล่าวโดยมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อนายทะเบียนอันเป็นผลให้สัญญาดังกล่าวเป็นโมฆะก็ตาม แต่คดีนี้โจทก์ไม่ได้ฟ้องบังคับสิทธิหรือกล่าวอ้างสิทธิตามสัญญาแต่อย่างใด แต่ฟ้องกล่าวหาจำเลยกระทำละเมิดสิทธิในเครื่องหมายบริการของโจทก์ โดยจำเลยยังคงใช้เครื่องหมายบริการของโจทก์ หลังจากที่โจทก์ได้แจ้งบอกเลิกการอนุญาตให้ใช้แล้ว โจทก์ในฐานะเจ้าของเครื่องหมายบริการที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วซึ่งมีสิทธิแต่ผู้เดียวในการใช้เครื่องหมายบริการนั้นสำหรับบริการที่ได้จดทะเบียนไว้ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 80 ประกอบมาตรา 44 ย่อมมีสิทธิฟ้องว่าจำเลยละเมิดสิทธิในเครื่องหมายบริการของโจทก์ได้
การที่จำเลยเคยใช้เครื่องหมายบริการของโจทก์ทั้งหมดให้ประชาชนได้เห็นแล้วต่อมาจำเลยเพียงแต่ลอกป้ายส่วนที่เป็นรูปและคำว่า "LEMON" ออกโดยป้ายต่างๆ ยังติดตั้งอยู่ที่เดิม ย่อมทำให้บุคคลทั่วไปที่เคยเห็นป้ายร้านค้าของจำเลยดังกล่าวเข้าใจได้ว่าร้านค้าของจำเลยยังเป็นร้าน LEMON GREEN อยู่ส่วนรูปและคำว่า "LEMON" ที่หายไปนั้นก็อาจเข้าใจว่าเป็นเพราะป้ายได้รับความเสียหายเท่านั้น ถือว่าจำเลยยังใช้เครื่องหมายบริการของโจทก์อยู่อันเป็นการละเมิดต่อโจทก์
ที่โจทก์มีคำขอท้ายฟ้องว่า หากจำเลยไม่ดำเนินการถอดป้ายและลบเครื่องหมายบริการของโจทก์ออกจากร้านค้าของจำเลย โจทก์ขอถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยให้โจทก์เข้าไปถอดป้ายและลบเครื่องหมายบริการของโจทก์ดังกล่าวได้โดยจำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายทั้งหมดนั้น หากโจทก์จะกระทำการดังกล่าวย่อมเป็นการละเมิดสิทธิในทรัพย์สินของจำเลยโดยไม่มีบทบัญญัติในกฎหมายใดให้อำนาจแก่โจทก์ดำเนินการเช่นนั้นได้ คำขอในส่วนนี้ของโจทก์ จึงเป็นคำขอที่ไม่อาจพิพากษาบังคับให้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6695/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การคิดดอกเบี้ยผิดสัญญา: ศาลฎีกาแก้ไขคำพิพากษาให้คิดดอกเบี้ยตามอัตราที่ตกลงกัน แม้จำเลยมิได้อุทธรณ์
ตามคำฟ้องของโจทก์ปรากฏว่า การคิดดอกเบี้ยของโจทก์ตามสัญญาทรัสต์รีซีทและตั๋วแลกเงิน เป็นการคิดในอัตราสินเชื่อผิดนัด แต่อัตราดอกเบี้ยที่ระบุไว้ในสัญญาทรัสต์รีซีทเป็นอัตราดอกเบี้ยไม่ผิดนัด โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 ผู้ทำสัญญาเลตเตอร์ออฟเครดิตและสัญญาทรัสต์รีซีทกับโจทก์และจากจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ในฐานะผู้ค้ำประกันการชำระหนี้ตามสัญญาเลตเตอร์ออฟเครดิตและสัญญาทรัสต์รีซีทในอัตราดอกเบี้ยไม่ผิดนัด การที่โจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ในอัตราสินเชื่อผิดนัดตามประกาศธนาคารโจทก์เอกสารหมาย จ. 58 เป็นการคิดดอกเบี้ยผิดไปจากสัญญาที่ระบุไว้โดยไม่มีสิทธิที่จะคิดได้โดยชอบ จึงเป็นการคิดดอกเบี้ยโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยที่ 1 มิได้อุทธรณ์ แต่ศาลฎีกาแผนกทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นสมควรหยิบยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขเสียให้ถูกต้อง ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบด้วยมาตรา 26 และ ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6605/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การวางเงินประกันค่าฤชาธรรมเนียมในคดีทรัพย์สินทางปัญญาของผู้ล้มละลาย: ศาลมีอำนาจสั่งให้กองทรัพย์สินวางเงินได้
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 253 ให้โจทก์และโจทก์ร่วมซึ่งมีฐานะเป็นจำเลยสำหรับฟ้องแย้งของจำเลย มีสิทธิที่จะยื่นคำร้องขอให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งให้จำเลยในฐานะโจทก์ฟ้องแย้งวางเงินต่อศาล หรือหาประกันมาให้เพื่อการชำระค่าฤชาธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายได้
จำเลยถูกพิทักทรัพย์เด็ดขาดเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ใช้ดุลพินิจเข้าว่าคดีของจำเลยต่อไปตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 25 แล้ว กองทรัพย์สินของจำเลยที่ตกอยู่ในอำนาจการจัดการของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ซึ่งเป็นคู่ความในคดีย่อมต้องผูกพันในค่าฤชาธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นตามคำพิพากษา เนื่องจากคดียังไม่เป็นที่ยุติว่าจำเลยจะต้องรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายดังกล่าวหรือไม่ เพียงใด ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งตามคำร้องของโจทก์และโจทก์ร่วมให้จำเลยในฐานะโจทก์ฟ้องแย้งวางเงินต่อศาลหรือหาประกันมาให้เพื่อการชำระค่าฤชาธรรมเนียมและค่าใช้จ่าย เป็นการสั่งให้กองทรัพย์สินของจำเลยในคดีล้มละลายเป็นผู้วาง ไม่ใช่กระบวนพิจารณาชั้นขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายที่จะต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 93
of 78