คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
สุวัฒน์ วรรธนะหทัย

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 772 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11745/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องละเมิดลิขสิทธิ์ต้องระบุรายละเอียดอายุการคุ้มครองลิขสิทธิ์และเจ้าของลิขสิทธิ์ให้ชัดเจน
โจทก์บรรยายฟ้องในข้อ 1 ว่า บริษัท ฟ. ผู้เสียหายเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายประเทศญี่ปุ่น และเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในฐานะผู้สร้างสรรค์งานศิลปกรรม (ศิลปประยุกต์) ภาพยนตร์การ์ตูนชื่อ โดราเอมอน และบรรยายฟ้องข้อ 2 ว่า เมื่อวันเวลาเกิดเหตุ จำเลยละเมิดลิขสิทธิ์ในงานสร้างสรรค์ประเภทงานศิลปกรรม จิตรกรรม ภาพการ์ตูนดังกล่าวของผู้เสียหายโดยนำสินค้าประเภทกระเป๋าสตางค์และกิ๊บติดผมที่มีรูปการ์ตูนดังกล่าวที่ละเมิดลิขสิทธิ์ซึ่งมีผู้ทำซ้ำและดัดแปลงขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหาย ออกขาย เสนอขาย มีไว้เพื่อขายแก่บุคคลทั่วไป อันเป็นการกระทำเพื่อแสวงหากำไรในทางการค้า ดังนี้ ฟ้องโจทก์ดังกล่าวจึงยังเป็นที่สงสัยว่าผู้เสียหายเป็นผู้สร้างสรรค์และเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในภาพการ์ตูนดังกล่าวในงานใดแน่ เนื่องจากโจทก์บรรยายฟ้องต่างกันในเรื่องงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหาย หากผู้เสียหายเป็นผู้สร้างสรรค์ศิลปกรรมประเภทงานศิลปประยุกต์และงานภาพยนตร์การ์ตูนดังกล่าวตามฟ้องข้อ 1 และงานศิลปกรรม จิตรกรรม ภาพการ์ตูนดังกล่าวตามฟ้องข้อ 2 โจทก์ก็ต้องบรรยายด้วยว่า ได้สร้างสรรค์งานเมื่อใด หรือได้มีการนำงานดังกล่าวออกโฆษณาครั้งแรกเมื่อใด เนื่องจากงานอันมีลิขสิทธิ์ตามที่โจทก์ฟ้องมีกำหนดระยะเวลาในการให้ความคุ้มครองไว้แน่นอนตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 โดยระยะเวลาดังกล่าวอาจจะเริ่มนับตั้งแต่สร้างสรรค์งานหรือนำงานนั้นออกโฆษณาครั้งแรก ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับประเภทของงานที่สร้างสรรค์นั้น ๆ ซึ่งหากงานดังกล่าวตามที่โจทก์ฟ้องหมดอายุการคุ้มครองแล้วจะตกเป็นสาธารณสมบัติซึ่งบุคคลทั่วไปสามารถนำงานดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ได้โดยไม่ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ เมื่อโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าผู้เสียหายได้สร้างสรรค์งานที่อ้างว่าตนเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ ไม่ว่าจะเป็นงานศิลปประยุกต์ งานภาพยนตร์ หรืองานจิตรกรรมเมื่อใด และนำงานดังกล่าวออกโฆษณาเป็นครั้งแรกตั้งแต่เมื่อใด เพื่อยืนยันว่าขณะเกิดเหตุงานดังกล่าวยังอยู่ในอายุการคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 และโจทก์ไม่ได้บรรยายให้ชัดแจ้งว่า ผู้เสียหายเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานสร้างสรรค์ประเภทงานศิลปกรรม จิตรกรรมภาพการ์ตูนดังกล่าวที่จำเลยละเมิดลิขสิทธิ์ โดยเพียงบรรยายฟ้องว่า ผู้เสียหายเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานสร้างสรรค์ประเภทงานศิลปกรรม (ศิลปประยุกต์) และงานภาพยนตร์การ์ตูนดังกล่าวเท่านั้น ฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องที่ขาดข้อเท็จจริงที่เป็นสาระสำคัญอันเป็นองค์ประกอบความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์โดยการขายหรือมีไว้เพื่อขายซึ่งงานที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อการค้าตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 70 วรรคสอง ประกอบมาตรา 31 (1) ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11692/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาซื้อขายน้ำมันล่วงหน้า: การกำหนดค่าปรับที่เหมาะสมและความเสียหายที่แท้จริง
หนังสือรับรองข้อความที่นายทะเบียนเก็บรักษาไว้ตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 ออกโดยนายทะเบียนการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พนักงานเจ้าหน้าที่ได้ทำขึ้น ถือเป็นเอกสารมหาชน ดังนั้น สำเนาหนังสือรับรองดังกล่าวที่ทนายโจทก์รับรองความถูกต้อง ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นของแท้และถูกต้อง เมื่อจำเลยทั้งสองมิได้นำพยานหลักฐานมาสืบให้เห็นว่าหนังสือรับรองข้อความมีข้อความไม่ถูกต้องอย่างไร ย่อมต้องฟังว่าเป็นหนังสือรับรองที่แท้จริงและถูกต้อง ข้อความในหนังสือที่รับรองว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลจดทะเบียน ณ สหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือย่อมรับฟังได้
โจทก์อ้างสำเนาหนังสือมอบอำนาจช่วงเป็นพยานเอกสารโดยจำเลยทั้งสองมิได้คัดค้านการนำเอกสารมาสืบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 125 ศาลย่อมรับฟังสำเนาเอกสารเป็นพยานหลักฐานโดยไม่ต้องปิดอากรแสตมป์ เมื่อศาลมิได้รับฟังต้นฉบับหนังสือมอบอำนาจช่วงเป็นพยานหลักฐาน ต้นฉบับหนังสือมอบอำนาจช่วงจะปิดอากรแสตมป์หรือไม่ ปิดอากรแสตมป์แล้วไม่ได้ขีดฆ่าหรือไม่ ย่อมไม่มีผลให้การรับฟังสำเนาหนังสือมอบอำนาจช่วงเป็นพยานเปลี่ยนแปลงไป
แม้เอกสารท้ายฟ้องถือเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้อง แต่เอกสารท้ายฟ้องส่วนที่เป็นภาษาอังกฤษเป็นการรับรองการมอบอำนาจของโจทก์ที่ทำในต่างประเทศโดยโนตารีปับลิกแห่งกรุงลอนดอน ซึ่งคำฟ้องโจทก์บรรยายเป็นภาษาไทยไว้ชัดเจนว่า โจทก์ได้แต่งตั้งและมอบอำนาจให้ ว. กระทำการแทนโจทก์รวมทั้งมีอำนาจมอบอำนาจช่วงได้ ซึ่งจำเลยทั้งสองก็ได้ให้การต่อสู้คดีไว้แล้วว่าการมอบอำนาจไม่ว่าการมอบอำนาจภายในหรือภายนอกราชอาณาจักร มิได้กระทำโดยผู้มีอำนาจ ลายมือชื่อผู้มอบอำนาจปลอมและตราประทับไม่ใช่ตราประทับที่แท้จริง การที่ไม่มีคำแปลหนังสือมอบอำนาจท้ายฟ้องเป็นภาษาไทย ก็ไม่มีผลทำให้ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม
โจทก์กับจำเลยที่ 1 ตกลงทำสัญญากันว่าในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งในอนาคต จำเลยที่ 1 ตกลงสั่งซื้อน้ำมันจากโจทก์ตามราคาที่กำหนดไว้ในสัญญา และโจทก์ก็ตกลงจะขายให้จำเลยที่ 1 ในราคาดังกล่าว เมื่อถึงช่วงเวลาตามสัญญาคู่สัญญาก็ต้องปฏิบัติตามข้อตกลงต่อกัน ฝ่ายใดไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงในสัญญาถือว่าเป็นฝ่ายผิดสัญญา สัญญาดังกล่าวไม่มีลักษณะเป็นการพนันขันต่อ จึงใช้บังคับได้ ไม่เป็นโมฆะ
ค่าปรับคือ ค่าเสียหายที่คู่สัญญาตกลงกันไว้ล่วงหน้า กำหนดให้ฝ่ายที่ปฏิบัติผิดสัญญาต้องชดใช้ค่าปรับที่กำหนดไว้ให้แก่คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งการที่ศาลจะกำหนดให้ฝ่ายที่ผิดสัญญารับผิดชำระค่าปรับเพียงใด ศาลจะต้องคำนึงถึงความเสียหายที่แท้จริงที่เกิดขึ้นแก่คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง ไม่เฉพาะแต่ความเสียหายในเชิงทรัพย์สิน
โจทก์เป็นผู้ค้าน้ำมันรายใหญ่ของประเทศ มีการสั่งซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงจากต่างประเทศหรือในประเทศมาจำหน่ายให้แก่ลูกค้ารายย่อยในประเทศไทยจำนวนมากเป็นธรรมดาที่โจทก์ต้องมีการเจรจาตกลงสั่งซื้อน้ำมันล่วงหน้าจากผู้ผลิตน้ำมันจากต่างประเทศ ซึ่งโจทก์ต้องยอมรับความเสี่ยงเรื่องการขึ้นลงของน้ำมันในตลาดโลกและอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศซึ่งเคลื่อนไหวตลอดเวลา การแนะนำลูกค้าให้ทำสัญญาซื้อขายน้ำมันล่วงหน้าจากโจทก์ ถือเป็นการแบ่งเบาภาระและความเสี่ยงอันเกิดจากราคาน้ำมันของโจทก์ไปให้แก่ลูกค้าของโจทก์นั่นเอง สัญญาซื้อขายดังกล่าวไม่เข้าลักษณะของสัญญาที่ไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 จึงไม่อาจนำบทบัญญัติดังกล่าวมาใช้บังคับ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11149/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กรรมสิทธิ์ที่ดินใต้คลอง: แม้ที่ดินถูกน้ำเซาะแต่เจ้าของยังมีสิทธิหวงกันได้
การที่เนื้อที่ดินของโจทก์ถูกน้ำเซาะกลายสภาพเป็นคลอง แต่โจทก์ยังแสดงการหวงกันอยู่ โดยการปักเสาแสดงอาณาเขตไว้ไม่ประสงค์ให้เป็นที่สาธารณประโยชน์ ที่ดินใต้คลองในส่วนนั้นก็ยังถือเป็นที่ดินของโจทก์ โจทก์ย่อมมีสิทธิหวงกันไม่ให้ผู้ใดมาตักดินหรือทำลายแนวเขตที่ดินของโจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10488/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของผู้ขนส่งทางทะเล กรณีส่งมอบสินค้าล่าช้า ผู้ขนส่งต้องรับผิดไม่เกินค่าระวาง
แม้การระบุถึงวันที่สินค้าพิพาทจะถึงท่าเรือปลายทาง ระบุคำว่า อีทีเอ 24.11.10 ซึ่งหมายถึง กำหนดวันโดยประมาณที่เรือจะเดินทางไปถึงท่าเรือปลายทางวันที่ 24 พฤศจิกายน 2553 อันเป็นธรรมเนียมปฏิบัติในการขนส่งสินค้าทางทะเลที่ผู้ขนส่งไม่สามารถยืนยันวันส่งมอบสินค้าที่ท่าเรือปลายทางหรือวันที่เรือเดินทางไปถึงท่าเรือปลายทางที่แน่นอนได้ แต่หากตัวแทนของจำเลยไม่ขนถ่ายสินค้าของโจทก์ลงเรือผิดลำ สินค้าของโจทก์ย่อมไปถึงท่าเรือปลายทางตามกำหนดวันที่ประมาณการไว้ เหตุที่สินค้าของโจทก์ไปถึงท่าเรือปลายทางในวันที่ 2 ธันวาคม 2553 มิใช่เหตุล่าช้าในการเดินเรือซึ่งตามปกติย่อมเกิดขึ้นได้ แต่เกิดขึ้นเพราะความบกพร่องและความประมาทเลินเล่อของผู้ขนส่ง กรณีจึงเป็นการส่งมอบที่ชักช้ากว่าระยะเวลาที่ได้ตกลงกันไว้ และทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเพราะผู้ซื้อยกเลิกสัญญาซื้อขาย
การขนส่งสินค้าทางทะเล ผู้ขนส่งมีหน้าที่ขนส่งสินค้าจากท่าเรือต้นทางไปถึงท่าเรือปลายทางตามกำหนดเวลาที่ตกลงกับผู้ส่งสินค้า การเปลี่ยนถ่ายสินค้าจากเรือเดินทะเลลำหนึ่งไปบรรทุกลงเรือเดินทะเลอีกลำหนึ่งหรือกว่านั้น ย่อมต้องเกิดขึ้นเป็นเรื่องปกติเพื่อให้สินค้าถูกขนส่งไปถึงท่าเรือปลายทางโดยไม่เกิดความเสียหายและภายในกำหนดเวลาที่ประมาณการไว้ การขนถ่ายสินค้าลงเรือเดินทะเลผิดลำ จึงเป็นเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นได้โดยเฉพาะสินค้าของโจทก์ถูกบรรจุภายในตู้คอนเทนเนอร์ร่วมกับสินค้าของผู้อื่น เป็นเรื่องการจัดการผิดพลาด แม้จะมิได้เกิดขึ้นบ่อยครั้ง แต่ผู้ขนส่งสามารถนำสินค้าของโจทก์ไปถึงท่าเรือปลายทางในวันที่ 2 ธันวาคม 2553 ช้ากว่าเวลาที่ประมาณการไว้ 8 วัน จึงยังไม่พอฟังได้ว่า การส่งมอบชักช้าดังกล่าวเกิดขึ้นเพราะความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของผู้ขนส่ง
การที่จำเลยไม่สามารถนำสินค้าของโจทก์ไปถึงท่าเรือปลายทางได้ภายในเวลาที่ตกลงกัน ทำให้ผู้ซื้อสินค้าของโจทก์ยกเลิกการซื้อขาย ปฏิเสธไม่ยอมรับสินค้า ทำให้โจทก์เสียหายสิ้นเชิงเพราะสินค้าดังกล่าวไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์หรือจำหน่ายให้แก่บุคคลได้ แต่เมื่อโจทก์ผู้ส่งสินค้าไม่ได้แจ้งราคาสินค้าที่ขนส่งให้ผู้ขนส่งทราบ ทั้งไม่ปรากฏผู้ขนส่งมีเจตนาจะให้เกิดการส่งมอบสินค้าล่าช้า หรือเป็นการละเลยไม่เอาใจใส่ ทั้งที่รู้ว่าการส่งมอบชักช้านั้นอาจเกิดขึ้นได้ ความรับผิดของจำเลยในการส่งมอบชักช้า จึงอยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 58 วรรคสาม คือ รับผิดไม่เกินค่าระวางทั้งหมดตามสัญญารับขนของทางทะเลที่จำเลยทำไว้กับโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7036/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การถูกกำจัดมิให้ได้มรดก, อายุความมรดก, การแบ่งมรดก, สิทธิทายาท, การแก้ไขคำพิพากษา
กำหนดอายุความมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 ที่บัญญัติห้ามมิให้ฟ้องคดีมรดก เมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่เจ้ามรดกตาย หรือนับแต่ทายาทโดยธรรมได้รู้หรือควรรู้ถึงความตายของเจ้ามรดก แต่ห้ามมิให้ฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนดสิบปีนับแต่เมื่อเจ้ามรดกตายนั้น ใช้บังคับสำหรับกรณีที่ทายาทฟ้องเรียกร้องทรัพย์มรดกจากทายาทที่ครอบครองทรัพย์มรดกซึ่งยังมิได้แบ่งปันกัน แต่สำหรับกรณีที่มีการแต่งตั้งผู้จัดการมรดกเพื่อรวบรวมทรัพย์มรดกมาแบ่งปันแก่ทายาทนั้น ตราบใดที่ยังมิได้มีการแบ่งปันทรัพย์มรดกหรือการแบ่งปันทรัพย์มรดกยังไม่แล้วเสร็จ ถือว่าทรัพย์มรดกอยู่ระหว่างการจัดการมรดกทายาทย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้ผู้จัดการมรดกแบ่งปันทรัพย์มรดกเมื่อใดก็ได้ ไม่มีกำหนดอายุความ เมื่อที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกยังมิได้จัดสรรแบ่งปันแก่ทายาท จึงถือว่าอยู่ในระหว่างการจัดการทรัพย์มรดกของผู้จัดการมรดก อายุความตามมาตรา 1754 จึงไม่นำมาใช้บังคับ คดีโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความมรดก
แม้จำเลยต้องถูกกำจัดมิให้ได้มรดกในที่ดินพิพาท แต่การถูกกำจัดมิให้รับทรัพย์มรดกนั้นเป็นเรื่องเฉพาะของจำเลย ผู้สืบสันดานของจำเลยสืบมรดกแทนจำเลยต่อไปได้ ข้อเท็จจริงได้ความจากทางนำสืบของจำเลยว่า จำเลยมีบุตรทั้งหมด 4 คน จึงถือว่าจำเลยมีผู้สืบสันดานที่สามารถสืบมรดกแทนจำเลยเสมือนหนึ่งว่าจำเลยตายแล้วได้ตามมาตรา 1607 เมื่อทายาทของ ก. เจ้ามรดกมีทั้งหมด 10 คน แม้ ส. ทายาทคนหนึ่งได้ตายไปก่อนที่ ก. ถึงแก่ความตาย แต่ ส. ก็มีผู้สืบสันดานเข้ารับมรดกแทนที่ ส่วนจำเลยซึ่งเป็นทายาทของ ก. คนหนึ่งถูกกำจัดมิให้ได้มรดกที่ดินพิพาท แต่จำเลยก็มีผู้สืบสันดานมรดกแทนที่จำเลยได้ ดังนั้น ที่ดินพิพาทจึงต้องแบ่งเป็น 10 ส่วนเท่าจำนวนทายาทของ ก. โจทก์ทั้งสามจึงมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งในที่ดินพิพาทคนละ 1 ใน 10 ส่วน
คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โดยพิพากษาให้จำเลยไปจดทะเบียนแบ่งที่ดินพิพาทให้โจทก์ทั้งสาม หากจำเลยไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา ย่อมเป็นการพิพากษาตามคำขอบังคับของโจทก์ทั้งสามที่ให้ใส่ชื่อโจทก์ทั้งสามถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินพิพาท หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยครบถ้วนแล้ว ไม่จำเป็นต้องกำหนดเงื่อนไขในกรณีที่จำเลยไม่สามารถปฏิบัติการตามคำพิพากษาดังกล่าวได้ต่อไปอีก ทั้งการถูกกำจัดมิให้รับมรดกเป็นการวินิจฉัยถึงสิทธิในการรับมรดกของทายาท ไม่จำเป็นต้องระบุไว้ในคำพิพากษาเพื่อบังคับคดี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6509/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สินสมรสจากสิทธิเรียกร้องตามสัญญาประนีประนอมยอมความ และการแบ่งมรดก
เมื่อขณะที่ศาลจังหวัดชลบุรีได้พิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความที่ ท. กับจำเลยตกลงกันว่า จำเลยจะจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 11852 เนื้อที่ 3 ไร่ ให้แก่ ท. นั้น ท. กับโจทก์เป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย แม้ ท. จะถึงแก่ความตายไปก่อนที่จะถึงกำหนดจดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์ตามข้อตกลงในสัญญาประนีประนอมยอมความและปัจจุบันยังมิได้มีการจดทะเบียนการได้มาซึ่งที่ดินตามสัญญาประนีประนอมยอมความกับพนักงานเจ้าหน้าที่ก็ตาม แต่ก็ไม่ทำให้สิทธิของ ท. ที่จะได้รับที่ดินตามสัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งมีอยู่ก่อนแล้วต้องสูญสิ้นไป และสิทธิที่จะบังคับคดีเอาแก่ที่ดินตามคำพิพากษาตามยอมเป็นทรัพย์สินอย่างหนึ่งที่ ท. กับโจทก์ได้มาในระหว่างสมรส จึงเป็นสินสมรสตาม ป.พ.พ. มาตรา 1474 (1) ซึ่งย่อมมีผลทำให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 11852 เนื้อที่ 3 ไร่ ที่ ท. จะได้รับตามสิทธินั้นตกเป็นสินสมรสระหว่าง ท. กับโจทก์ด้วยเช่นเดียวกัน โจทก์จึงมีส่วนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกับ ท. ในที่ดินดังกล่าวคนละครึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4622/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดทางละเมิดของตัวการต่อการกระทำของตัวแทน กรณีจัดงานเลี้ยงและเกิดเพลิงไหม้
คดีนี้โจทก์ร่วมทั้งสองร้องขอให้บังคับจำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายแก่ทรัพย์สินมาด้วย ซึ่งเป็นคำขอบังคับในคดีส่วนแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 วรรคหนึ่ง และมาตรา 47 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า คำพิพากษาคดีส่วนแพ่งต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่ง โดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าจำเลยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดหรือไม่ แม้จำเลยที่ 2 มิได้กระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้เกิดเพลิงไหม้ทรัพย์สินของโจทก์ร่วมทั้งสองเสียหาย แต่ข้อเท็จจริงก็ได้ความว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดงานเลี้ยงฉลองเทศกาลปีใหม่ขึ้นที่บ้านของตนเอง การจุดพลุเป็นพิธีการส่วนหนึ่งของการเปิดงาน การที่จำเลยที่ 2 ใช้ให้จำเลยที่ 1 ทำการจุดพลุ อันเป็นสัญญาณเริ่มต้นเปิดงานต้องถือว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 ในการจุดพลุเปิดงานเลี้ยงฉลองเทศกาลปีใหม่ที่จำเลยที่ 2 จัดให้มีขึ้น เมื่อจำเลยที่ 1 ทำการจุดพลุโดยประมาทเป็นเหตุให้เกิดเพลิงไหม้ทรัพย์สินของโจทก์ร่วมทั้งสองเสียหาย อันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ร่วมทั้งสอง จำเลยที่ 2 ในฐานะตัวการย่อมต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในผลแห่งละเมิดที่จำเลยที่ 1 ได้กระทำไปตามคำสั่งที่จำเลยที่ 2 ใช้ให้กระทำแทนจำเลยที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 425 ประกอบมาตรา 427 จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วมทั้งสองด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3799/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำฟ้องหมิ่นประมาททางโทรศัพท์: การระบุสถานที่เกิดเหตุที่ชัดเจน
การกระทำความผิดอาญาบางอย่าง ผู้กระทำผิดอาจกระทำได้โดยลำพังคนเดียว โดยไม่มีพยานรู้เห็น คดีนี้ โจทก์บรรยายฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยกล่าวข้อความหมิ่นประมาทโจทก์ทางโทรศัพท์ต่อ ค. บุคคลที่สามซึ่งโทรศัพท์มาจากประเทศญี่ปุ่น ขณะนั้นจำเลยอยู่ในประเทศไทย ทำงานอยู่ที่บริษัท อ. แต่ไม่ทราบแน่ชัดว่าวันดังกล่าวจำเลยอยู่ที่ไหน จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ที่บริษัท ซ. เห็นได้ว่าโจทก์ได้บรรยายสถานที่เกิดเหตุว่าเหตุเกิดที่ประเทศญี่ปุ่นและประเทศไทย แต่จะเกิดเหตุที่บริษัทที่จำเลยทำงานอยู่หรือเกิดที่ภูมิลำเนาของจำเลยหรือที่ใดในประเทศไทย ไม่ทราบแน่ชัด ซึ่งจำเลยสามารถรู้และเข้าใจได้ถึงข้อที่จำเลยถูกกล่าวหา เพราะคำฟ้องได้กล่าวถึงบุคคลและสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดซึ่งจำเลยทราบอยู่แล้ว คำฟ้องโจทก์ได้กล่าวถึงรายละเอียดเกี่ยวกับสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำความผิดรวมทั้งบุคคลที่เกี่ยวข้องพอสมควรเท่าที่จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2045/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับตามคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการ และขอบเขตการเรียกร้องแย้งเพิ่มเติมหลังมีคำชี้ขาด
การที่ผู้คัดค้านได้ยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้องของผู้ร้องและเรียกร้องแย้งให้ผู้ร้องชำระเงินให้ผู้คัดค้านอีกจำนวน 430,010.25 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันยื่นคำคัดค้านเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จนั้น ข้อเรียกร้องแย้งดังกล่าวเป็นประเด็นที่ผู้คัดค้านได้เคยเรียกร้องแย้งในชั้นอนุญาโตตุลาการและคณะอนุญาโตตุลาการได้วินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นดังกล่าวไว้แล้ว คำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการจึงผูกพันคู่พิพาททั้งสองฝ่ายตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 41 หากผู้คัดค้านไม่เห็นด้วยกับคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการอาจทำได้โดยการร้องขอให้ศาลที่มีเขตอำนาจเพิกถอนคำชี้ขาดตามมาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ซึ่งบัญญัติว่า "การคัดค้านคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการอาจทำได้โดยการขอให้ศาลที่มีเขตอำนาจเพิกถอนคำชี้ขาดตามที่บัญญัติไว้ในมาตรานี้..." หรือคัดค้านการร้องขอบังคับตามคำชี้ขาดเพื่อให้ศาลมีคำสั่งปฏิเสธไม่รับบังคับตามคำชี้ขาดตามมาตรา 43 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ซึ่งบัญญัติว่า "ศาลมีอำนาจทำคำสั่งปฏิเสธไม่รับบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการไม่ว่าคำชี้ขาดนั้นจะได้ทำขึ้นในประเทศใด ถ้าผู้ซึ่งจะถูกบังคับตามคำชี้ขาดพิสูจน์ได้ว่า..." การที่ผู้คัดค้านยื่นคำร้องแย้งขอให้บังคับผู้ร้องชำระเงินให้ผู้คัดค้านตามที่ได้เคยต่อสู้และเรียกร้องแย้งไว้ในชั้นอนุญาโตตุลาการอีกถือไม่ได้ว่าเป็นการร้องขอให้ศาลเพิกถอนคำชี้ขาดตามมาตรา 40 หรือคัดค้านการร้องขอบังคับตามคำชี้ขาดเพื่อให้ศาลมีคำสั่งปฏิเสธไม่รับบังคับตามคำชี้ขาดตามมาตรา 43 แห่ง พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 แต่อย่างใด ผู้คัดค้านจึงไม่อาจเรียกร้องแย้งขอให้ศาลบังคับให้ผู้ร้องชดใช้เงินดังกล่าวได้ ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้รับเฉพาะคำคัดค้านคำร้องขอให้ศาลบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการเท่านั้น ส่วนที่เกี่ยวกับคำร้องแย้ง มีคำสั่งไม่รับในส่วนนี้จึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12709/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เลตเตอร์ออฟเครดิต: ธนาคารปฏิบัติหน้าที่ถูกต้องตามเงื่อนไข แม้ผู้ขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตยังไม่ได้รับเอกสาร
การฟ้องคดีเพื่อเรียกร้องทรัพย์สินให้กลับมาเป็นของลูกหนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการจัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้เพื่อให้การฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้สำเร็จลุล่วง ไม่ถือว่าเป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดภาระในทรัพย์สินของลูกหนี้ ผู้บริหารแผนจึงมีอำนาจฟ้องคดีได้ โดยไม่ต้องขออนุญาตจากศาลล้มละลายกลางก่อน โดยเป็นการฟ้องคดีในนามของโจทก์มิใช่ในนามของผู้บริหารแผน
ข้อกำหนด UCP 500 ข้อ 3 และข้อ 4 แสดงให้เห็นสภาพของสัญญาเลตเตอร์ออฟเครดิตซึ่งเป็นสัญญาที่แยกต่างหากจากสัญญาซื้อขายหรือสัญญาอื่นอันเป็นมูลหนี้ที่ก่อให้เกิดการชำระหนี้ด้วยเครดิต ธนาคารตามสัญญาเลตเตอร์ออฟเครดิตจะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือผูกพันตามสัญญาซื้อขายหรือสัญญาอื่น แต่จะต้องปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับเอกสารตามที่ระบุไว้ในสัญญาเลตเตอร์ออฟเครดิต และจะไม่เกี่ยวข้องกับสินค้า บริการ หรือการปฏิบัติอื่นใด ซึ่งเอกสารนั้นอาจเกี่ยวพันไปถึง
ข้อกำหนด UCP 500 ข้อ 15 ระบุว่า ธนาคารผู้ตรวจเอกสารไม่ต้องรับภาระหรือรับผิดชอบต่อแบบฟอร์ม ความครบถ้วน ความถูกต้อง เป็นของแท้ เป็นของปลอม หรือการก่อให้เกิดผลตามกฎหมายของเอกสาร นั้น หมายความว่า การทำหน้าที่ของจำเลยทั้งสองเกี่ยวกับเอกสารนั้น ถ้าเอกสารนั้นมีความสมบูรณ์และตรงตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในสัญญาเลตเตอร์ออฟเครดิต ก็มีภาระผูกพันต้องชำระเงินตามสัญญาเลตเตอร์ออฟเครดิต โดยไม่ต้องรับผิดชอบเกี่ยวกับแบบฟอร์มของเอกสาร ความแท้จริงของเอกสาร การปลอมแปลงของเอกสาร ปัญหากฎหมายของเอกสาร ลักษณะ ประเภทสินค้า ปริมาณ น้ำหนัก คุณภาพ สภาพของสินค้า การบรรจุหีบห่อ การขนส่ง หรือมูลค่าของสินค้าที่ส่งมอบให้แก่กัน
พิธีปฏิบัติของธนาคารตามมาตรฐานสากลเพื่อการตรวจสอบเอกสารภายใต้เครดิตที่มีเอกสารประกอบหรือ ISBP ข้อ 9 ให้การแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อมูลในเอกสารบุคคลผู้ออกเอกสารจะต้องลงลายมือชื่อกำกับการแก้ไข และทำได้ด้วยการขูดลบ ขีดฆ่า หรือเพิ่มเติมในข้อความ การที่หนังสือฉบับนี้ฉีกขาดออกจากกันโดยถูกตัดหรือกรีดด้วยของมีคม ทำให้กระดาษชิ้นที่ถูกตัดหลุดออกเป็นช่องสี่เหลี่ยม แต่มีการนำกระดาษชิ้นที่หลุดออกมาต่อใหม่ด้วยเทปพลาสติกใส การฉีกขาดดังกล่าวจึงมิได้มีลักษณะเป็นการฉีกทำลายเอกสาร ดังนั้น เอกสารหรือข้อความในเอกสารจึงมิได้เสียไป ทั้งข้อความและความหมายของเอกสารดังกล่าวมิได้มีการแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงไปแต่อย่างใด จึงไม่จำเป็นต้องให้ผู้ออกเอกสารลงลายมือชื่อกำกับรับรองความถูกต้องตามข้อ 9 ของข้อกำหนด ISBP ถือได้ว่าหนังสือดังกล่าวเป็นเอกสารที่ถูกต้องตามข้อตกลงและเงื่อนไขในเลตเตอร์ออฟเครดิต
แม้โจทก์จะเคยขอให้จำเลยที่ 1 แจ้งให้จำเลยที่ 2 ชะลอการจ่ายเงินให้แก่ผู้รับประโยชน์ไว้ก่อน เพราะโจทก์ยังไม่ได้รับเอกสารการขนส่งสินค้าจากผู้ขาย และจำเลยที่ 2 แจ้งว่าได้ยกเลิกการจ่ายเงินให้แก่ผู้รับประโยชน์แล้ว แต่ต่อมาจำเลยที่ 2 ก็ได้รับแจ้งจากจำเลยที่ 1 ว่าได้รับเอกสารที่ผู้รับประโยชน์ยื่นขอรับเงินที่จำเลยที่ 2 จัดส่งไปให้แล้ว และเห็นว่าเอกสารดังกล่าวถูกต้องตามข้อกำหนดและเงื่อนไขของเลตเตอร์ออฟเครดิตแล้ว จึงได้จ่ายเงินไป การจ่ายเงินของจำเลยที่ 2 จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามเลตเตอร์ออฟเครดิตอย่างมีเหตุผลในฐานะธนาคารตัวแทนของธนาคารผู้เปิดเลตเตอร์ออฟเครดิต จำเลยทั้งสองมิได้ปฏิบัติผิดสัญญาเลตเตอร์ออฟเครดิต ทั้งมิได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาท การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่อาจถือว่าเป็นการละเมิดต่อโจทก์ได้
of 78