คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
สุวัฒน์ วรรธนะหทัย

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 772 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6272/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับขนทางทะเล: จำเลยไม่ได้เป็นผู้ขนส่งตาม พ.ร.บ.การรับขนฯ แม้จะจัดการขนส่งให้ผู้ซื้อ
ข้อพิพาทคดีนี้เกิดขึ้นจากการขนส่งทางทะเลจากประเทศอิตาลีมายังประเทศไทย จึงตกอยู่ภายใต้บังคับแห่ง พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 ซึ่งตามมาตรา 3 ให้คำนิยามไว้ว่า ผู้ขนส่ง หมายความว่า บุคคลซึ่งประกอบการรับขนของทางทะเลเพื่อบำเหน็จเป็นทางค้าปกติ โดยทำสัญญารับขนของทางทะเลกับผู้ส่งของ คดีนี้ผู้ซื้อสั่งซื้อสินค้าจำพวกไวน์ 1,200 กล่อง จากผู้ขาย ซึ่งอยู่ที่ประเทศอิตาลีแล้วผู้ซื้อได้ว่าจ้างจำเลยที่ 1 ให้จัดการขนส่งสินค้าที่สั่งซื้อมาให้ตน โดยผู้ซื้อไม่ใช่ผู้ส่งของหรือผู้ส่งสินค้า การที่จำเลยที่ 1 ตกลงทำสัญญากับผู้ซื้อหรือผู้รับสินค้ารับจัดการขนสินค้าไวน์จากประเทศอิตาลีมาให้แก่ผู้ซื้อในประเทศไทย จึงถือไม่ได้ว่าสัญญาดังกล่าวเป็นสัญญารับขนทางทะเลและจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขนส่งตามบทกฎหมายดังกล่าว ทั้งข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยที่ 1 ได้ติดต่อจำเลยที่ 2 ให้ว่าจ้างจำเลยที่ 3 รับขนสินค้ารายนี้อีกทอดหนึ่ง โดยจำเลยที่ 1 เพียงแต่แจ้งให้ผู้ซื้อทราบและผู้ซื้อได้แจ้งไปยังผู้ขายว่าจำเลยที่ 3 จะไปรับขนสินค้าจากผู้ขายบรรทุกลงเรือเดินทะเลของจำเลยที่ 4 เท่านั้น ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ร่วมทำการขนส่งสินค้าดังกล่าวแม้เพียงช่วงระยะทางช่วงใดช่วงหนึ่ง ประกอบกับใบตราส่งที่ออกโดยจำเลยที่ 3 และที่ 4 ก็มิได้ระบุชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขนส่งแต่อย่างใด ส่วนการที่ผู้ซื้อต้องนำเงินค่าระวางมาชำระแก่จำเลยที่ 1 ก่อน จำเลยที่ 1 จึงออกใบสั่งปล่อยสินค้าให้ ก็เป็นวิธีการที่จำเลยที่ 1 กำหนดขึ้นเพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าเมื่อสินค้ามาถึงท่าเรือปลายทางแล้วจะได้รับชำระค่าระวางพาหนะจากผู้ซื้อซึ่งเป็นผู้ว่าจ้างเท่านั้น ทั้งการที่ข้อเท็จไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้จ่ายค่าระวางพาหนะให้แก่จำเลยที่ 3 และที่ 4 อย่างไร หรือไม่ ยังไม่พอให้รับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขนส่งที่ได้ประกอบกิจการการร่วมขนส่งสินค้าพิพาทกับจำเลยที่ 3 และที่ 4 ส่วนจำเลยที่ 2 นั้น ได้ความเพียงว่าจำเลยที่ 2 ได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 1 ให้ติดต่อจำเลยที่ 3 ให้รับขนส่งสินค้ารายนี้ ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 เข้ามาเกี่ยวข้องกับการขนส่งสินค้าพิพาทไม่ว่าในทางใดอีก จึงไม่พอฟังว่าจำเลยที่ 2 ได้ร่วมขนส่งกับจำเลยที่ 3 และที่ 4 เช่นกัน ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางฟังว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้รับจัดการขนส่ง มิใช่ผู้ขนส่งนั้นชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6271/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของตัวแทนขนส่งสินค้า กรณีสินค้าเสียหายจากน้ำท่วมขณะอยู่ในความดูแลรักษา
การที่กรรมการผู้มีอำนาจร่วมกันลงลายมือชื่อและประทับตราบริษัทโจทก์ในใบแต่งทนายความแต่งตั้ง ว. เป็นทนายโจทก์และ ว. ลงลายมือชื่อเป็นโจทก์ฟ้องคดีนี้ ถือเป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ด้วยตนเองโดยแต่งตั้ง ว. เป็นทนายความให้ว่าความและดำเนินกระบวนพิจารณาคดีนี้แทนตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 60 วรรคหนึ่ง ไม่ใช่กรณีที่โจทก์มอบอำนาจให้ ว. เป็นผู้แทนโจทก์ตามมาตรา 60 วรรคสอง ซึ่งต้องมีหนังสือมอบอำนาจ
ปัญหาว่า คำฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ จำเลยที่ 3 อุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 3 ยื่นคำให้การว่า คำฟ้องของโจทก์เคลือบคลุม ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางชอบที่จะวินิจฉัยชี้ขาดกฎหมายเบื้องต้นให้ยกฟ้องโจทก์ได้ การสั่งให้โจทก์แก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องมาใหม่โดยอาศัย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 30 ประกอบข้อกำหนดคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2540 ข้อ 6 และวินิจฉัยว่าคำฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม เป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่า กระบวนพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีบัญญัติไว้โดยเฉพาะใน พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 ซึ่งมาตรา 26 ได้บัญญัติรับรองในส่วนการดำเนินคดีแพ่งไว้ว่า กระบวนพิจารณาในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ. นี้ และข้อกำหนดตามมาตรา 30 ในกรณีที่ไม่มีบทบัญญัติและข้อกำหนดดังกล่าว ให้นำบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ.มาใช้บังคับโดยอนุโลม ในข้อกำหนดคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2540 ซึ่งออกตามความในมาตรา 30 แห่ง พ.ร.บ. ดังกล่าว ข้อ 6 ได้กำหนดหลักเกณฑ์ของคำฟ้องใน คดีแพ่งไว้ว่า คำฟ้องที่แสดงให้พอเข้าใจได้ถึงสภาพแห่งข้อหา ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาและคำขอบังคับ ให้ถือว่าเป็นคำฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อพิจารณาคำฟ้องของโจทก์ที่เสนอต่อศาลแต่แรกแล้ว เป็นคำฟ้องที่พอเข้าใจได้แล้วว่า ความเสียหายของสินค้านั้นเป็นเงิน 846,110 บาท ส่วนจะคำนวณอย่างไร มีหลักฐานอ้างอิงหรือไม่ เป็นเรื่องที่โจทก์สามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณา ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่า คำฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วย กรณีไม่อาจนำหลักเกณฑ์ของคำฟ้องในคดีแพ่งทั่วไปตาม ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง มาใช้บังคับแก่คดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศได้ และการที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางสั่งให้โจทก์แก้ไขคำฟ้องให้ชัดเจนขึ้นเป็นการใช้อำนาจตามข้อกำหนด ข้อ 6 วรรคสอง เพื่อประโยชน์แก่จำเลยที่ 3 เอง อุทธรณ์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาว่า สินค้าพิพาทได้รับความเสียหายขณะอยู่ในความดูแลรักษาของจำเลยที่ 3 หรือไม่ เห็นว่า การขนส่งคดีนี้เป็นการขนส่งในเทอม CY/CY หรือ FCL/FCL ผู้ซื้อหรือผู้รับตราส่งมีหน้าที่รับตู้สินค้าจากจำเลยที่ 3 ไปเปิดยังโรงงานหรือโกดังของผู้รับตราส่ง ส่วนจำเลยที่ 3 มีหน้าที่ส่งมอบตู้สินค้าให้แก่ผู้รับตราส่งในสภาพเรียบร้อย การเปิดตู้ของเจ้าหน้าที่ศุลกากรมิใช่การตรวจเพื่อส่งมอบสินค้าพิพาทให้แก่ผู้รับตราส่ง กรณีนี้เป็นการขนส่งสินค้าในระบบตู้สินค้าเทอม CY/CY หรือ FCL/FCL การที่ผู้รับตราส่ง รับตู้สินค้าไปจากจำเลยที่ 3 โดยไม่มีข้อทักท้วงเรื่องความเสียหายของสินค้า จึงไม่อาจถือได้ว่าสินค้าพิพาทมิได้เสียหายในขณะนั้นและผู้รับตราส่งรับมอบสินค้าไปจากจำเลยที่ 3 โดยมิได้อิดเอื้อน ข้อบังคับว่าด้วยระเบียบความปลอดภัยการใช้ท่าเรือบริการและความสะดวกต่างๆ ของกิจการท่าเรือ ข้อ 53 ที่ว่าบุคคลใดรับมอบสินค้าไปจากจำเลยที่ 3 โดยไม่อิดเอื้อน และข้อ 57 วรรคสอง (ข) ที่ว่าถ้าผู้รับสินค้าไม่เรียกร้องค่าเสียหายเป็นหนังสือภายใน 7 วัน นับแต่วันรับมอบสินค้า จำเลยที่ 3 จะไม่รับผิดชอบ ไม่อาจนำมาใช้บังคับแก่การรับมอบตู้สินค้าจากจำเลยที่ 3 เพื่อนำไปเปิดที่โรงงานของผู้รับตราส่งอย่างเช่นกรณีนี้ได้ เพราะตู้สินค้าไม่ใช่สินค้าตามความหมายของข้อบังคับดังกล่าว ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าความเสียหายของสินค้าพิพาทเกิดขึ้นขณะที่ตู้สินค้าพิพาทอยู่ในความดูแลรักษาของจำเลยที่ 3 ซึ่งมีหน้าที่รับดูแลรักษาสินค้า เมื่อจำเลยที่ 3 ไม่สามารถป้องกันมิให้น้ำท่วมขังและซึมเข้าไปในภายตู้สินค้า ทำให้สินค้าพิพาทเปียกชื้นได้รับความเสียหายจำเลยที่ 3 จึงต้องรับผิดในความเสียหายของสินค้าพิพาท
คำให้การของจำเลยที่ 3 บรรยายข้อต่อสู้เรื่องอายุความไว้เพียงว่า โจทก์ได้ฟ้องร้องเกินกว่ากำหนดอายุความฝากทรัพย์และอายุความละเมิดแล้วโจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้อง ทั้งเป็นคำให้การที่มิได้แสดงเหตุแห่งการขาดอายุความว่าคดีโจทก์ขาดอายุความเพราะอะไร ทำไมถึงขาดอายุความ ถือเป็นคำให้การที่ไม่ ชัดแจ้งไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งปัญหาเรื่องคดีขาดอายุความเป็นปัญหาข้อเท็จจริงที่คู่ความต้อง นำสืบ และหากเป็นปัญหาข้อกฎหมายก็ไม่ใช่ข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลไม่อาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไม่รับวินิจฉัยปัญหาเรื่องอายุความชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4856/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความเสียหายสินค้าเกิดจากจัดเรียงไม่เหมาะสม ผู้ขนส่งไม่ต้องรับผิด
การขนส่งสินค้าพิพาทนี้เป็นการขนส่งแบบ CY/CY คือ ผู้ส่งรับตู้สินค้าจากผู้ขนส่งนำไปบรรจุสินค้าเข้าตู้สินค้าเอง แล้วผู้ส่งนำตู้สินค้าที่บรรจุสินค้าและปิดผนึกตู้สินค้าแล้วมาส่งมอบแก่ผู้ขนส่ง ผู้ขนส่งได้รับตู้สินค้าในสภาพเรียบร้อยบรรทุกลงเรือเดินทะเล เจ้าหน้าที่ท่าเรือรับมอบตู้สินค้าที่บรรจุสินค้าพิพาทจากผู้ขนส่งหรือตัวแทนของผู้รับตราส่งมิได้บันทึกว่าตู้สินค้าดังกล่าวมีความเสียหายหรือผิดปกติแต่อย่างใด แสดงว่าตู้สินค้ามีสภาพปกติตั้งแต่ส่งมอบให้แก่ผู้ขนส่งจนถึงส่งมอบให้แก่ผู้รับตราส่งที่ปลายทาง สินค้าพิพาททั้งหมดมีอยู่จำนวน 44 แผ่นไม้รองสินค้า สินค้าพิพาทแต่ละแผ่นไม้รองสินค้ามีน้ำหนักมากกว่า 300 กิโลกรัม มีเพียง 3 แผ่นไม้รองสินค้าเท่านั้น ที่มีน้ำหนัก 136.5 กิโลกรัม และ 241.5 กิโลกรัม สินค้าพิพาททั้งหมดผู้ส่งเป็นผู้จัดเรียงไว้ในตู้สินค้า โดยวางซ้อนกัน 2 ชั้นได้หมดทั้ง 44 แผ่นไม้รองสินค้า แต่โครงสร้างการหีบห่อสินค้าพิพาทมิได้จัดไว้เพื่อรองรับการกดทับวัตถุที่มีน้ำหนักมากๆ จากด้านบนได้อย่างปลอดภัยและมั่นคงแข็งแรงเพียงพอ โดยเฉพาะวัตถุที่มีน้ำหนักมากกว่า 300 กิโลกรัม การที่ผู้ส่งจัดวางสินค้าพิพาทซ้อนกัน 2 ชั้น ในลักษณะ 1 แผ่นไม้รองสินค้า ต่อ 1 แผ่นไม้รองสินค้า ในตู้สินค้าจึงมีความเสี่ยงสูงในการที่แผ่นไม้ 2 ท่อน ที่วางเป็นรูปกากบาทด้านบนของสินค้าพิพาทชั้นล่างจะไม่สามารถรับน้ำหนักของสินค้าพิพาทแต่ละแผ่นไม้รองสินค้าที่อยู่ด้านบนได้ หากมีการโยกเอียงให้ไม้ประกบด้านข้างของสินค้าพิพาทที่อยู่บนแผ่นไม้รองสินค้าพิพาทชั้นล่างเคลื่อนไปจากแนวตั้งตรงที่ 90 องศา ข้อเท็จจริงจากรายงานการสำรวจภัยพบว่าการจัดวางสินค้าพิพาทมิได้มีลักษณะ 1 แผ่นไม้รองสินค้าต่อ 1 แผ่นไม้รองสินค้า แต่มีการจัดวางสินค้าพิพาทชั้นล่างเพียง 21 แผ่นไม้รองสินค้า แต่ในชั้นที่ 2 หรือชั้นบนมีสินค้าพิพาทจัดวางไว้ถึง 23 แผ่นไม้รองสินค้า แสดงให้เห็นว่า สินค้าพิพาท 1 แผ่นไม้รองสินค้า ที่วางอยู่ชั้นล่างบางส่วน ต้องรองรับน้ำหนักของสินค้าพิพาทด้านบนมากกว่า 1 แผ่นไม้รองสินค้า ดังนั้น โอกาสที่สินค้าพิพาทที่อยู่ด้านล่างจะไม่สามารถรับน้ำหนักของสินค้าพิพาทที่อยู่ด้านบนมีอยู่มากขึ้นอีก เมื่อตู้สินค้ามีการถูกยกเคลื่อนย้ายแต่ละครั้ง อาจทำให้สินค้าพิพาทด้านบนเคลื่อนไหว ทำให้ไม้ประกบด้านข้างของสินค้าพิพาทที่อยู่ด้านล่างเคลื่อนที่ และไม่อาจรับน้ำหนักของสินค้าพิพาทด้านบนได้จึงมีการยุบหักของไม้ประกบกันกระแทกด้านข้างและด้านบนของสินค้าพิพาทชั้นล่าง ทำให้แผ่นไม้รองสินค้าของสินค้าด้านบนยุบตัวลงกระแทกกับสินค้าพิพาทที่อยู่ด้านล่าง ทำให้สินค้าพิพาทด้านล่างเสียหาย ทำให้แผ่นไม้รองสินค้าดังกล่าวถูกแรงกดทับของตัวสินค้าแตกหักเสียหายไปพร้อมกับตัวสินค้าด้วย ความเสียหายของสินค้าพิพาทจึงมิได้เกิดจากกระบวนการขนส่งหรือการเคลื่อนย้ายตู้สินค้าที่ไม่ระมัดระวัง แต่เกิดจากความผิดของผู้ส่งของที่บรรจุสินค้าพิพาทเข้าตู้สินค้าโดยจัดเรียงสินค้าไม่เหมาะสม ทำให้สินค้าพิพาทกดทับกันเกิดความเสียหาย ความเสียหายของสินค้าพิพาทตามฟ้องจึงเกิดจากความผิดของผู้ส่ง ผู้ขนส่งไม่ต้องรับผิดในความเสียหายของสินค้าพิพาทตาม พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 52 (9)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3017/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกานี้เกี่ยวข้องกับการวางโทษทวีคูณ, การล้างมลทิน, และการบังคับคดีปรับที่ผิดลำดับตามกฎหมาย
การให้ถ้อยคำของผู้ต้องหาในชั้นสอบสวนเป็นสิทธิของผู้ต้องหาที่จะให้การอย่างไรหรือไม่ให้การก็ได้ ในกรณีที่ผู้ต้องหาให้การเหมือนๆ กันหรือทำนองเดียวกัน บันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของผู้ต้องหาย่อมมีโอกาสเหมือนหรือคล้ายกัน และในการทำความเห็นสั่งฟ้องคดี หากพนักงานอัยการเห็นว่าการสอบสวนไม่ชอบ ไม่ถูกต้อง ย่อมจะส่งสำนวนการสอบสวนกลับไปให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนเพิ่มเติมหรือปฏิบัติเสียใหม่ให้ถูกต้อง ประกอบกับวิทยาการสมัยใหม่ที่เอกสารสอบสวนสองฉบับจะมีข้อความตรงกันย่อมเกิดขึ้นได้ เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ได้ปฏิเสธว่าไม่ได้ลงชื่อในบันทึกคำให้การของผู้ต้องหา ย่อมถือว่าการสอบสวนคดีนี้ชอบแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา มี พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 ออกใช้บังคับ โดยมาตรา 3 ยกเลิก พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2521 แต่ตามมาตรา 27 ของกฎหมายใหม่ยังคงบัญญัติห้ามมิให้บุคคลใดรับคนต่างด้าวเข้าทำงานเช่นเดียวกันกับกฎหมายเดิม เว้นแต่คนต่างด้าวซึ่งมีใบอนุญาตทำงาน กรณีจึงไม่ถือว่ากฎหมายใหม่ยกเลิกความผิดของจำเลยที่ 1 อย่างไรก็ตามโทษปรับในความผิดฐานรับคนต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตเข้าทำงาน ตามกฎหมายเดิมเป็นคุณแก่จำเลยที่ 1 มากกว่า จึงต้องใช้โทษปรับตามกฎหมายเดิมบังคับแก่จำเลยที่ 1 ตาม ป.อ. มาตรา 3
ก่อนคดีนี้ จำเลยที่ 1 เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดในความผิดฐานปลอมเครื่องหมายการค้าและมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอม ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้าฯ ลงโทษปรับ 240,000 บาท และต้องคำพิพากษาในความผิดเดียวกัน ให้ลงโทษจำคุก 3 เดือน และปรับ 22,500 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 1 ปี คดีนี้ จำเลยที่ 1 กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้าฯ อีก ซึ่งพ้นโทษในคดีก่อนยังไม่ครบ 5 ปี กรณีต้องมีการวางโทษทวีคูณแก่จำเลยที่ 1 ในคดีนี้ แต่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา มี พ.ร.บ.ล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550 ออกใช้บังคับ โดยมาตรา 4 บัญญัติให้ล้างมลทินให้แก่บรรดาผู้ต้องโทษในกรณีความผิดต่างๆ ซึ่งได้กระทำก่อนหรือในวันที่ 5 ธันวาคม 2550 และได้พ้นโทษไปแล้วก่อนหรือในวันที่พระราชบัญญัติฉบับนี้ใช้บังคับ โดยให้ถือว่าผู้นั้นมิได้เคยถูกลงโทษในกรณีความผิดนั้นๆ ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า เมื่อจำเลยที่ 1 กระทำความผิดคดีนี้หลังจากได้ชำระค่าปรับครบถ้วนและพ้นกำหนดรอการลงโทษจำคุกในคดีก่อนที่โจทก์อาศัยเป็นเหตุขอให้วางโทษทวีคูณคดีนี้แล้ว ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ต้องโทษและได้พ้นโทษในคดีก่อนไปแล้วก่อนที่พระราชบัญญัตินี้จะใช้บังคับและได้รับการล้างมลทินโดยถือว่าจำเลยที่ 1 มิเคยถูกลงโทษในความผิดนี้มาก่อนตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว จึงไม่อาจวางโทษทวีคูณแก่จำเลยที่ 1 ในคดีนี้ได้
ป.อ. มาตรา 29 บัญญัติว่า "ผู้ใดต้องโทษปรับและไม่ชำระค่าปรับภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ศาลพิพากษา ผู้นั้นจะต้องถูกยึดทรัพย์สินใช้ค่าปรับ หรือมิฉะนั้นจะต้องถูกกักขังแทนค่าปรับ..." การที่ศาลทรัพย์สินฯ พิพากษาว่า "หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับให้กักขังแทนค่าปรับ" ไปเสียเลย จึงเป็นการบังคับค่าปรับผิดลำดับตามบทกฎหมาย ต้องแก้เป็นว่า หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการ ตาม ป.อ. มาตรา 29, 30 หากจะกักขังให้กักขังแทนค่าปรับไม่เกิน 1 ปี
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 6/2553)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1563/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การปลอมเอกสารราชการและยักยอกทรัพย์: การพิจารณาความผิดกรรมเดียวหรือหลายกรรม
ต้นขั้วใบเสร็จรับเงินค่าน้ำประปาเป็นเอกสารที่จำเลยทำขึ้นเพื่อแสดงตัวเลขปริมาตรน้ำประปาที่ใช้และจำนวนเงินค่าน้ำประปาที่ผู้ใช้น้ำประปาจะต้องชำระเพื่อใช้อ้างแสดงประกอบการนำส่งค่าน้ำประปาให้แก่สมุห์บัญชีของผู้เสียหายเท่านั้น ต้นขั้วใบเสร็จรับเงินค่าน้ำประปาดังกล่าวจึงมิใช่เอกสารที่เป็นหลักฐานแห่งการก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวนหรือระงับซึ่งสิทธิ มิใช่เอกสารสิทธิตามความใน ป.อ. มาตรา 1 (9) เมื่อจำเลยปลอมต้นขั้วใบเสร็จรับเงินค่าน้ำประปาของผู้เสียหายซึ่งเป็นการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะหน่วยงานราชการ การกระทำของจำเลยจึงเป็นเพียงปลอมเอกสารราชการและใช้เอกสารราชการปลอม ไม่ใช่เป็นการปลอมเอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการและใช้เอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการปลอม
จำเลยปลอมต้นขั้วใบเสร็จรับเงินค่าน้ำประปาซึ่งจำเลยใช้เรียกเก็บเงินค่าน้ำประปาจากผู้ใช้น้ำประปาแต่ละรอบเดือนจำนวนหลายฉบับ รวม 28 ครั้ง และนำเอกสารราชการปลอมไปใช้อ้างแสดงประกอบการนำส่งค่าน้ำประปาให้แก่เจ้าหน้าที่สมุห์บัญชีของผู้เสียหายเพื่อนำส่งเงินที่มีจำนวนน้อยกว่าจำนวนเงินที่จำเลยเรียกเก็บจากผู้ใช้น้ำประปาแต่ละราย แล้วเบียดบังเอาเงินของผู้เสียหายไปรวม 28 ครั้ง ต่างวันเวลากัน การปลอมเอกสารราชการและใช้เอกสารราชการปลอมกับยักยอกในแต่ละครั้งย่อมเป็นความผิดสำเร็จอยู่ในตัวและมีเจตนาก่อให้เกิดผลต่างกัน การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1273/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของผู้ขนส่งทางทะเลกรณีสินค้าเสียหายจากตู้สินค้าชำรุด ผู้ขนส่งไม่อาจอ้างข้อจำกัดความรับผิดได้
การขนส่งสินค้าแบบ ซีเอฟเอส/ซีเอฟเอส ซึ่งผู้ขนส่งเป็นผู้รับสินค้าจากผู้ส่งทำการตรวจนับและบรรจุสินค้าเข้าตู้ที่ท่าเรือต้นทาง ผู้ขนส่งต้องตรวจสอบตู้สินค้าว่าอยู่ในสภาพเรียบร้อยเหมาะสมกับสินค้าที่ใช้บรรจุแล้ว และเมื่อขนส่งสินค้าไปถึงท่าเรือปลายทางผู้ขนส่งจะเป็นผู้เปิดตู้เพื่อขนถ่ายสินค้าออกจากตู้เพื่อเตรียมส่งมอบแก่ผู้รับตราส่ง เมื่อความเสียหายของสินค้าเกิดขึ้นจากการที่หลังคาตู้ที่ใช้บรรจุสินค้าพิพาทมีรูรั่ว ซึ่งเป็นความบกพร่องของผู้ขนส่งที่ละเลยไม่จัดเตรียมตู้สินค้าให้ดีเหมาะสมกับสภาพสินค้าที่ตนรับขน แต่กลับนำตู้สินค้าที่ชำรุดมีรูรั่วมาใช้บรรจุสินค้าพิพาท ทั้งที่รู้ว่าอาจเกิดความเสียหายกับสินค้าที่บรรจุภายในตู้นั้นได้ จำเลยทั้งสองในฐานะผู้ขนส่งจึงไม่อาจอ้างข้อจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่ง ตาม พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 60 (1) ประกอบ มาตรา 58 มาเป็นประโยชน์แก่ตนได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1199/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ภาระจำยอม การใช้สิทธิเกินขอบเขต และหน้าที่เจ้าของภารยทรัพย์ในการรักษาสิทธิของเจ้าของสามยทรัพย์
ที่ดินพิพาทเป็นทางภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ โจทก์ย่อมมีสิทธิใช้ทางพิพาทได้ แต่การที่โจทก์ก่อสร้างเพิงเก็บสินค้าในที่ดินพิพาทเพื่อประโยชน์ของโจทก์แต่เพียงผู้เดียวเป็นการทำให้เกิดภาระเพิ่มขึ้นแก่ที่ดินพิพาทอันเป็นภารยทรัพย์ ทำให้เจ้าของภารยทรัพย์เสียหาย แม้โจทก์จะก่อสร้างเพิงเก็บสินค้าดังกล่าวมาก่อนที่ดินพิพาทจะตกเป็นของจำเลย แต่เมื่อจำเลยบอกกล่าวให้โจทก์รื้อถอนเพิงเก็บสินค้าแล้วโจทก์ไม่ปฏิบัติตาม จึงเป็นการทำละเมิดแก่จำเลย
การที่ อ. เจ้าของที่ดินคนก่อนก่อสร้างรั้วคอนกรีตกีดขวางทางภาระจำยอม ย่อมเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวกทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เมื่อที่ดินพิพาทโอนมาเป็นของจำเลย จำเลยจึงมีหน้าที่รื้อถอนรั้วคอนกรีตออกไปจากที่ดินพิพาท ส่วนการที่จำเลยสร้างโครงหลังคาเหล็กยึดกับผนังโรงงานของจำเลยซึ่งอยู่ติดกับที่ดินพิพาทโดยไม่มีเสาหรือส่วนหนึ่งส่วนใดของโครงเหล็กติดตั้งอยู่บนที่ดินพิพาทนั้นไม่ทำให้ประโยชน์ในการใช้ทางภาระจำยอมของโจทก์ลดลงหรือเสื่อมความสะดวก โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยรื้อถอนโครงเหล็กหลังคา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 720/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิยึดหน่วงสินค้าจากการขนส่งทางทะเลเมื่อลูกหนี้มีสถานะเป็นคนสินล้นพ้นตัว
โจทก์ซึ่งเป็นผู้จัดการขนส่งมีหน้าที่ตามสัญญารับขนของทางทะเลที่จะต้องดำเนินการให้มีการส่งมอบสินค้าที่ท่าปลายทางแก่ผู้รับตราส่ง การที่โจทก์มีคำสั่งให้ระงับการส่งมอบใบตราส่งแก่ผู้รับตราส่งมีผลให้สินค้ายังคงอยู่ในความครอบครอบของโจทก์ ซึ่งโจทก์มีสิทธิตาม พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 15 ที่จะยึดหน่วงสินค้าไว้จนกว่าจะได้รับชำระค่าระวางและอุปกรณ์แห่งค่าระวางหรือจนกว่าผู้รับตราส่งจะได้จัดให้มีประกันตามสมควร โดยการใช้สิทธิยึดหน่วงนี้จะกระทำได้สำหรับหนี้ที่เป็นคุณประโยชน์แก่โจทก์เกี่ยวด้วยสินค้าที่โจทก์ครอบครองอยู่ อันได้แก่หนี้ค่าระวางและค่าบริการการขนส่งสินค้าครั้งที่ 19 เท่านั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 241 วรรคหนึ่ง และแม้โจทก์จะไม่มีสิทธิยึดหน่วงสินค้าดังกล่าวไว้เพื่อเรียกร้องให้จำเลยชำระค่าระวางและค่าบริการการขนส่งครั้งก่อน ๆ แต่พฤติการณ์ที่จำเลยค้างชำระค่าระวาง ค่าขนส่ง ค่าบริการ และค่าดำเนินการการขนส่งสินค้าก่อนหน้านั้นอีก 18 ครั้ง เพราะจำเลยประสบปัญหาทางธุรกิจนั้น นับได้ว่าจำเลยเป็นคนสินล้นพ้นตัวไม่สามารถใช้หนี้แก่โจทก์ได้ตามความหมายของ ป.พ.พ. มาตรา 243 แล้ว โจทก์ย่อมมีสิทธิตามบทกฎหมายดังกล่าวที่จะยึดหน่วงสินค้าที่ขนส่งไว้ได้ แม้ในขณะนั้นหนี้ค่าระวางและค่าบริการการขนส่งครั้งที่ 19 จะยังไม่ถึงกำหนดชำระก็ตาม การที่โจทก์ใช้สิทธิยึดหน่วงสินค้าด้วยการไม่ส่งมอบใบตราส่งให้แก่ลูกค้าของจำเลยที่ท่าปลายทาง จึงเป็นการใช้สิทธิโดยชอบด้วยกฎหมาย ถือไม่ได้ว่าโจทก์ผิดสัญญารับขนของทางทะเล

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15491/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลงโทษความผิดหลายกระทงจากการปล้นทรัพย์และการฆ่า โดยแยกพิจารณาความผิดของจำเลยแต่ละคน
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันปล้นทรัพย์รถจักรยานยนต์ของผู้ตาย โดยใช้อาวุธตีประทุษร้ายผู้ตาย โดยมีเจตนาฆ่าผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน หากทางพิจารณาฟังได้ว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันฆ่าผู้ตาย และร่วมกันลักรถจักรยานยนต์ของผู้ตายไป ถือได้ว่าความผิดตามฟ้องรวมการกระทำหลายอย่างซึ่งแต่ละอย่างเป็นความผิดได้อยู่ในตัวเอง ศาลย่อมลงโทษจำเลยทั้งสามในการกระทำตามที่ทางพิจารณาได้ความก็ได้ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันฆ่าผู้ตายและร่วมกันลักรถจักรยานยนต์ของผู้ตาย แต่ให้ลงโทษเพียงกระทงเดียวในความผิดฐานฆ่าผู้ตายซึ่งเป็นบทหนักที่สุด แม้โจทก์ไม่ฎีกา ก็มิได้หมายความว่าความผิดฐานลักทรัพย์ยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 มิได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ฆ่าผู้ตาย แต่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันลักรถจักรยานยนต์ของผู้ตาย ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์ในเวลากลางคืนได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15235/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของผู้ขนส่งสินค้าที่ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ข้อจำกัดความรับผิดใช้ไม่ได้
แม้การขนส่งสินค้าตามฟ้องผู้ขายหรือผู้เอาประกันภัยตกลงว่าจ้างจำเลยให้ทำการขนส่งแบบสินค้าทั่วไป โดยมีเงื่อนไขข้อจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งในความเสียหายหรือสูญหายของสินค้าที่ขนส่งก็ตาม แต่เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยปล่อยปละละเลยไม่ดูแลรักษาสินค้าตามฟ้องอันเป็นการผิดวิสัยผู้ประกอบวิชาชีพขนส่งทำให้สินค้าตามฟ้องสูญหาย ถือเป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง สัญญาขนส่งทางอากาศตามฟ้องมีข้อตกลงจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งไม่เกิน 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อการขนส่งสินค้าครั้งนี้ แต่สัญญาขนส่งทางอากาศเป็นลักษณะของสัญญาต่างตอบแทนอย่างหนึ่ง ย่อมตกอยู่ภายใต้บังคับแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 373 ดังนั้น ข้อจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งตามสัญญาขนส่งทางอากาศตามฟ้อง ย่อมไม่อาจใช้บังคับได้ในกรณีที่ผู้ขนส่งกระทำการโดยฉ้อฉลหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ข้อจำกัดดังกล่าวจึงไม่อาจใช้บังคับแก่จำเลยได้
of 78