คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2534 ม. 47

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 46 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4905-4927/2545 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจ่ายค่าชดเชยโดยไม่ชอบตามกฎหมายและอายุความการฟ้องเรียกคืนฐานลาภมิควรได้
โจทก์เป็นรัฐวิสาหกิจรับโอนจำเลยซึ่งเป็นลูกจ้างประจำฝึกการบินพลเรือนในประเทศไทย กรมการบินพาณิชย์ มาเป็นพนักงานของโจทก์เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2536 ต่อมาโจทก์ออกข้อบังคับสถาบันการบินพลเรือนว่าด้วยสิทธิประโยชน์เกี่ยวกับค่าชดเชยของพนักงาน พ.ศ. 2539 ให้มีผลย้อนหลังไปใช้บังคับแก่จำเลยตั้งแต่วันดังกล่าวโดยมีบทเฉพาะกาลว่าพนักงานที่รับโอนมาจากกรมการบินพาณิชย์ เมื่อมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ให้มีสิทธิได้รับค่าชดเชยโดยนับระยะเวลาการทำงานต่อเนื่อง การที่โจทก์จ่ายค่าชดเชยให้แก่จำเลยที่ครบเกษียณอายุในวันที่ 30 กันยายน 2536 โดยเข้าใจว่าจำเลยมีสิทธิได้รับตามข้อบังคับข้างต้นซึ่งโจทก์เชื่อว่าเป็นระเบียบข้อบังคับที่ใช้บังคับได้ตามกฎหมาย ทั้งที่แท้จริงแล้วจำเลยไม่มีสิทธิได้รับเพราะการประกาศใช้ข้อบังคับฉบับนี้ไม่ได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงการคลังและขัดต่อพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันการบินพลเรือน พ.ศ. 2535 ไม่มีผลใช้บังคับ จึงเป็นกรณีที่จำเลยได้รับค่าชดเชยเนื่องจากโจทก์กระทำเพื่อชำระหนี้โดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ และเป็นทางทำให้โจทก์เสียเปรียบ จึงเป็นการได้รับมาในฐานลาภมิควรได้ ไม่ใช่กรณีจำเลยยึดถือค่าชดเชยไว้โดยไม่มีสิทธิอันจะทำให้โจทก์มีสิทธิติดตามเอาค่าชดเชยคืนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 โจทก์ชอบที่จะใช้สิทธิเรียกเอาค่าชดเชยคืนจากจำเลยได้ตามมาตรา 406 โดยโจทก์ต้องฟ้องคดีภายใน 1 ปี นับแต่โจทก์รู้ว่าตนมีสิทธิเรียกคืนตามมาตรา 419 เมื่อผู้ว่าการของโจทก์ซึ่งมีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ได้รับทราบหนังสือกระทรวงการคลังในวันที่ 21 พฤศจิกายน 2540 แจ้งว่าข้อบังคับสถาบันการบินพลเรือนฉบับข้างต้นประกาศใช้โดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงการคลังและขัดต่อพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันการบินพลเรือน พ.ศ. 2535 ไม่มีผลใช้บังคับ โจทก์จ่ายค่าชดเชยให้แก่จำเลยเป็นการจ่ายให้แก่ผู้ไม่มีสิทธิได้รับ ถือได้ว่าโจทก์รู้ว่าตนมีสิทธิเรียกเอาค่าชดเชยคืนจากจำเลยตั้งแต่วันที่ 21 พฤศจิกายน 2540 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2543 พ้นกำหนด 1 ปีแล้ว คดีจึงขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2632-2654/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เงินเดือนค่าจ้างสุดท้ายสำหรับคำนวณเงินตอบแทนความชอบคือเงินเดือนที่จ่ายจริง ไม่ใช่เงินเดือนที่เลื่อนขั้นเพื่อใช้คำนวณบำเหน็จ
เดิมจำเลยจ่ายเงินเดือนให้แก่พนักงานก่อนวันจ่ายเงินเดือนทางราชการ 1 วัน ตามคำสั่ง เรื่อง ระเบียบการจ่ายเงินเดือนพนักงานธนาคารออมสิน ต่อมาจำเลยมีคำสั่งใหม่ ยกเลิกคำสั่งเดิมและกำหนดให้จ่ายเงินเดือนให้แก่พนักงานในวันที่ 25 ของทุกเดือน เงินเดือนที่จำเลยจ่ายให้แก่พนักงานในวันที่ 25 ของแต่ละเดือน จึงเป็นเงินเดือนค่าจ้างสำหรับเดือนนั้น ๆ ทั้งเดือน ไม่ใช่เงินเดือนค่าจ้างเพียงแค่วันที่ 25 ของแต่ละเดือน การพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนพนักงานในปีที่ครบเกษียณอายุของจำเลยที่กำหนดว่า "การเลื่อนขั้นเงินเดือนตามคำสั่งนี้ให้ขึ้นให้ในวันที่ 30 กันยายน ของปีที่พนักงานผู้นั้นครบเกษียณอายุ โดยให้อยู่ในเงื่อนไขที่จะไม่มีการจ่ายเงินเดือนที่เพิ่มให้ และให้นำไปใช้เฉพาะการคำนวณบำเหน็จหรือบำนาญเท่านั้น" มีวัตถุประสงค์เพื่อให้พนักงานของจำเลยที่ต้องเกษียณอายุได้รับการพิจารณาความดีความชอบในการเลื่อนขั้นเงินเดือนเพียงเพื่อประโยชน์ในอันที่จะได้รับบำเหน็จหรือบำนาญเพิ่มขึ้น โดยให้นำเงินเดือนที่ได้รับการพิจารณาเลื่อนขั้นแล้วมาเป็นเกณฑ์คำนวณบำเหน็จหรือบำนาญเท่านั้น เงินที่ได้รับหลังจาก เกษียณอายุแล้วเป็นการจ่ายตอบแทนความชอบที่ได้ปฏิบัติงานมาจนครบเกษียณอายุ ถือไม่ได้ว่าเป็นเงินเดือนค่าจ้าง เพราะมิใช่จ่ายเป็นการตอบแทนการทำงาน การที่โจทก์ฟ้องโดยถือเอาอัตราเงินเดือนที่ได้รับการเลื่อนขั้นเงินเดือน ในปีที่ครบเกษียณอายุ มาคำนวณเป็นเงินเพื่อตอบแทนความชอบในการทำงานจึงไม่ถูกต้อง โดยต้องคิดคำนวณจากอัตราเงินเดือนที่ได้รับจริงเมื่อวันที่ 25 กันยายน ดังกล่าว
of 5