คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.รัษฎากร ม. 40 (1)

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 44 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3867/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีภาษีอากร: การเปลี่ยนแปลงแนวทางปฏิบัติของเจ้าพนักงานประเมินและการยื่นคำร้องขอคืนภาษีเกินกำหนด
วันที่ 4 กรกฎาคม 2549 โจทก์ยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษี (ค.10) วันที่ 2 สิงหาคม 2549 จำเลยแจ้งว่า โจทก์ยื่นคำร้องเกิน 3 ปี จึงไม่อนุมัติให้คืนภาษี วันที่ 17 สิงหาคม 2549 โจทก์อุทธรณ์คำสั่ง วันที่ 21 เมษายน 2551 จำเลยแจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์ว่า กรณีของโจทก์ไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและโจทก์ต้องยื่นคำร้องขอคืนภายใน 3 ปี ต่อมาวันที่ 7 พฤษภาคม 2554 โจทก์มีหนังสือขอให้ทบทวนคำสั่งไม่คืนเงินภาษีอากร วันที่ 8 มีนาคม 2556 จำเลยมีหนังสือแจ้งว่า โจทก์ยื่นคำร้องเกิน 3 ปี คำสั่งแจ้งไม่คืนเงินภาษีอากรชอบแล้ว การปฏิบัติของจำเลยต่อการที่โจทก์มีหนังสือขอให้จำเลยทบทวนคำสั่งไม่คืนเงินภาษีอากรเช่นนี้ มีลักษณะที่พอให้เข้าใจได้ว่า จำเลยรับพิจารณาคำร้องขอทบทวนหรือขอให้พิจารณาใหม่ของโจทก์ โดยไม่ปรากฏชัดว่าโจทก์รู้ถึงเหตุที่อาจขอให้พิจารณาใหม่ แล้วยื่นคำร้องขอให้พิจารณาใหม่ต่อจำเลยเกินกว่า 90 วัน จากนั้นจำเลยก็มีคำตอบแจ้งแก่โจทก์ตามหนังสือที่ กค 0707 (อธ.1)/2916 ลงวันที่ 8 มีนาคม 2558 อันถือเป็นคำสั่งทางปกครองเช่นกัน โดยตามหนังสือของจำเลยฉบับนี้ก็มีข้อความระบุว่า ถ้าหากประสงค์จะฟ้องโต้แย้งคำสั่งนี้ให้ทำคำฟ้องเป็นหนังสือยื่นต่อศาลภายใน 90 วัน นับแต่ได้รับแจ้งคำสั่งหรือทราบคำสั่ง และโจทก์ก็ยื่นฟ้องคดีนี้ภายในกำหนดเวลาดังกล่าว โดยมีคำขอให้เพิกถอนคำสั่งทางปกครองของจำเลยตามหนังสือแจ้งแก่โจทก์ฉบับนี้ โดยระบุในคำขอท้ายฟ้องว่าขอให้เพิกถอนหนังสือแจ้งไม่คืนภาษีแก่โจทก์และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ที่ กค 0707 (อธ.1)/2916 ลงวันที่ 8 มีนาคม 2556 ซึ่งเป็นคำสั่งของจำเลยคนละคำสั่งกับที่จำเลยแจ้งตอบอุทธรณ์ของโจทก์ในครั้งแรกเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2551 ทั้งนี้ โดยโจทก์ได้ยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีอากรไว้ก่อนแล้ว ถือได้ว่าโจทก์ได้ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 9 ประกอบมาตรา 7 (3) โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6578/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ขอบเขตค่าจ้างและหน้าที่ออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย กรณีนายจ้างชำระภาษีแทนลูกจ้าง
ภาษีเงินได้ที่จำเลยออกให้แก่โจทก์เป็นเงินที่จำเลยจ่ายให้แก่ส่วนราชการเพื่อปฏิบัติตามกฎหมายและเป็นการจ่ายให้แทนโจทก์ มิได้จ่ายให้แก่โจทก์ จึงเป็นเงินประเภทอื่นมิใช่เงินที่จำเลยและโจทก์ตกลงจ่ายให้แก่กันเป็นค่าตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้าง จึงไม่ใช่ค่าจ้างตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5
ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 50 กำหนดเป็นหน้าที่ของผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 หักภาษีเงินได้ไว้ทุกคราวที่จ่ายเงินได้พึงประเมิน และมาตรา 50 ทวิ กำหนดให้ผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายที่ได้หักไว้แล้วในปีภาษีให้แก่ผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย เมื่อค่าจ้างและเงินภาษีที่จำเลยยอมชำระแทนโจทก์เป็นเงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงานซึ่งถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) จำเลยจึงมีหน้าที่หักภาษีเงินได้ไว้ทุกคราว และมีหน้าที่ออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายที่ได้หักไว้แล้วให้แก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7535/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เงินค่าตอบแทนเหมาจ่ายแทนรถประจำตำแหน่งถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากร
ทางราชการจ่ายเงินค่าพาหนะเหมาจ่ายเป็นรายเดือนเท่ากันทุกเดือนแก่เฉพาะข้าราชการระดับสูงที่มีสิทธิได้รับรถประจำตำแหน่ง ถือเป็นเงินที่โจทก์ได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้นจากการทำงานนอกเหนือไปจากเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งซึ่งคิดคำนวณเป็นเงินได้ เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตาม มาตรา 39 และ 40 (1) ทั้งไม่ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีตาม มาตรา 42 และกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ.2509) ฯ ทั้งนี้เพราะการได้รับเงินค่าตอบแทนเหมาจ่ายฯ กับการได้รับรถประจำตำแหน่งแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ อันเป็นเหตุให้เกิดผลทางกฎหมายในอันที่จะถือเป็นเงินได้พึงประเมินหรือไม่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง เพราะเงินค่าตอบแทนเหมาจ่าย ฯ เป็นประโยชน์ที่ตกเป็นกรรมสิทธิ์แก่โจทก์โดยตรง ไม่มีข้อบังคับหรือจำกัดการใช้จ่ายเงินนี้ของโจทก์แต่อย่างใดเลย โจทก์อาจนำไปซื้อหรือเช่าซื้อรถยนต์ลักษณะใด ประเภทใด ราคาเท่าใดโดยปราศจากข้อจำกัดและอาจเหลือเงินเป็นประโยชน์แก่ตน เมื่อพ้นตำแหน่งก็ยังมีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิในรถยนต์ที่ซื้อหรือเช่าซื้อเป็นประโยชน์เฉพาะตน แต่การได้รับรถประจำตำแหน่ง ผู้รับเพียงได้ใช้รถของทางราชการซึ่งต้องอยู่ภายใต้ข้อบังคับระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยรถราชการ พ.ศ.2523 ข้อ 13 ที่กำหนดว่ารถประจำตำแหน่งให้ใช้ในการปฏิบัติราชการในตำแหน่งหน้าที่ หรือที่ได้รับมอบหมายโดยชอบหรืองานที่เกี่ยวเนื่องโดยตรงกับงานในตำแหน่งหน้าที่หรือฐานะที่ดำรงตำแหน่งนั้น รวมตลอดถึงการใช้เพื่อเดินทางไปกลับระหว่างที่พักและสำนักงาน และเพื่อการอื่นที่จำเป็นและเหมาะสมแก่การดำรงตำแหน่งหน้าที่ในหมู่ราชการและสังคม คืออยู่ในข้อบังคับให้ใช้เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ราชการเป็นสำคัญ เปรียบได้กับกรณีข้าราชการใช้เครื่องใช้สำนักงาน ไฟฟ้า เครื่องปรับอากาศของทางราชการในการปฏิบัติหน้าที่ราชการเพื่อให้ได้ผลงานตามวัตถุประสงค์ตามระเบียบราชการ ผู้ได้รับรถประจำตำแหน่งต้องเป็นข้าราชการที่มีความรับผิดชอบสูงระดับรองอธิบดี อธิบดีและปลัดกระทรวงถือเป็นทรัพยากรบุคคลที่สำคัญยิ่งที่ทางราชการควรอำนวยความสะดวกให้เพื่อสามารถทุ่มเทเวลาทำงานให้ได้ประโยชน์สูงสุดแก่ทางราชการ และไม่มีเหตุอันสมควรต้องคิดแยกประโยชน์แก่ทางราชการและตัวบุคคลในกรณีนี้ ซึ่งในความเป็นจริงก็ไม่อาจแยกออกได้เพื่อคำนวณเป็นเงินได้เพื่อให้ข้าราชการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแต่อย่างใด และเมื่อพ้นตำแหน่งข้าราชการที่ได้รับรถประจำตำแหน่งก็ไม่มีสิทธิในรถประจำตำแหน่งอีกเลย
การที่หลักเกณฑ์การคำนวณค่าตอบแทนเหมาจ่าย ฯ ตามหนังสือของกระทรวงการคลังได้รวมถึงค่าซ่อมบำรุงรักษา ค่าน้ำมันหล่อลื่น ค่าเบี้ยประกันและค่าพนักงานขับรถนั้น เป็นแต่เพียงวิธีการคิดถึงค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่ผู้มีสิทธิได้รถประจำตำแหน่งจะต้องจ่ายหากต้องซื้อรถยนต์เป็นของตนเองแทนรถประจำตำแหน่งให้เหมาะสมและเป็นธรรมแก่ผู้มีสิทธิได้รถประจำตำแหน่งที่จะได้เงินดังกล่าวแทนเท่านั้น และหากโจทก์ซื้อรถยนต์กับต้องจ่ายค่าใช้จ่ายดังกล่าว ก็เป็นกรณีที่โจทก์กับผู้ได้รับเงินค่าใช้จ่ายต่าง ๆ จากโจทก์ต่างมีเงินได้และต้องเสียภาษีจากเงินได้พึงประเมินของแต่ละคนอันเป็นปกติในระบบจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามกฎหมายจึงหาเป็นการจัดเก็บภาษีซ้ำซ้อนไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6860/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากเงินฝากและเงินเดือนที่ไม่ได้ยื่นแบบชำระภาษี และการหลีกเลี่ยงภาษีร่วมกันระหว่างผู้รับเงินได้และนายจ้าง
เจ้าพนักงานประเมินได้หลักฐานว่าโจทก์มีเงินได้พึงประเมินเป็นเงินเดือนและค่าน้ำมันรถยนต์ที่ได้รับจากห้าง ส. ซึ่งเป็นนายจ้าง เป็นเงินได้ตามมาตรา 40 (1) แห่ง ป.รัษฎากร และนำเงินฝากเข้าบัญชีโจทก์ซึ่งโจทก์ไม่สามารถนำสืบพิสูจน์ได้ว่าเป็นเงินได้ประเภทใด จึงถือเป็นเงินได้ตามมาตรา 40 (8) วิธีการตรวจสอบและประเมินภาษีนั้น เป็นการตรวจสอบและประเมินภาษีตามมาตรา 19 ถึง 27 แห่ง ป.รัษฎากร ไม่ใช่เป็นการตรวจสอบและประเมินโดยวิธีพิเศษ โดยกำหนดจำนวนเงินได้สุทธิขึ้น อันจะต้องได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรเสียก่อนตามมาตรา 49 แห่ง ป.รัษฎากร
โจทก์มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) และ (8) เป็นจำนวนตามการประเมินในแต่ละปีภาษีพิพาท ซึ่งโจทก์ไม่สามารถพิสูจน์หักล้างได้ว่ามิใช่เงินได้ของโจทก์ เงินฝากดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่ได้รับ จึงเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 39 แห่ง ป.รัษฎากร
เมื่อโจทก์มีรายการเงินฝากในบัญชีซึ่งโจทก์ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นเงินได้ประเภทใด จึงถือเป็นเงินได้ตามมาตรา 40 (8) โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องยื่นแบบชำระภาษีครึ่งปีตามมาตรา 56 ทวิ
แม้ห้าง ส. มิได้หักภาษี ณ ที่จ่ายและนำส่ง โจทก์เป็นผู้มีหน้าที่ต้องยื่นแบบและชำระภาษี แต่โจทก์ไม่ยื่นแบบและชำระภาษี โจทก์จึงต้องรับผิดชำระภาษีตามการประเมิน
โจทก์และห้าง ส. ร่วมกันหลีกเลี่ยงภาษี จึงไม่สมควรงดเบี้ยปรับ ส่วนเงินเพิ่มยังไม่มีเหตุอันสมควรให้งดหรือลด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6220/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิการหักค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ผู้มีเงินได้เลือกหักจากประเภทใดก็ได้ตามกฎหมาย
ป.รัษฎากร มาตรา 42 ทวิ เป็นบทบัญญัติให้สิทธิแก่ผู้มีเงินได้พึงประเมินที่จะได้รับประโยชน์ในการหักค่าใช้จ่ายจากเงินได้ของตน ทั้งที่เป็นเงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงานตามมาตรา 40 (1) และเงินได้เนื่องจากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำหรือจากการรับทำงานให้ตามมาตรา 40 (2) โดยยอมให้หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาได้ร้อยละ 40 แต่จะหักค่าใช้จ่ายจากเงินได้ทั้งสองประเภทรวมกันได้ไม่เกิน 60,000 บาท โดยมิได้กำหนดหลักเกณฑ์และรายละเอียดเป็นการบังคับว่าต้องหักจากเงินได้พึงประเมินประเภทใด ในสัดส่วนเท่าใด หรือต้องถัวเฉลี่ยกันอย่างไร ผู้มีเงินได้พึงประเมินจึงมีสิทธิที่จะเลือกว่าควรหักค่าใช้จ่ายจากเงินได้ประเภทใด จำนวนเท่าใด ในกรณีที่มีเงินได้พึงประเมินที่อาจหักค่าใช้จ่ายได้ทั้งสองประเภทเพื่อประโยชน์ในการบรรเทาภาระภาษีของตน ดังนั้น กรณีที่โจทก์แยกยื่นรายการและเสียภาษีต่างหากจากสามีตามมาตรา 57 เบญจ เฉพาะส่วนที่เป็นเงินได้พึงประเมินประเภทเงินเดือนตามมาตรา 40 (1) โดยมีเงินได้พึงประเมินอื่นด้วย โจทก์จึงมีสิทธิเลือกหักค่าใช้จ่ายจากเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) ประเภทเดียวเต็มจำนวน 60,000 บาท ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 42 ทวิ วรรคหนึ่ง ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6220/2549 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิหักค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา: ผู้เสียภาษีมีสิทธิเลือกหักค่าใช้จ่ายจากเงินได้ประเภทใดประเภทหนึ่งเต็มจำนวนได้
ป.รัษฎากรฯ มาตรา 42 ทวิ เป็นบทบัญญัติให้สิทธิแก่ผู้มีเงินได้พึงประเมินที่จะได้รับประโยชน์ในการหักค่าใช้จ่ายจากเงินได้ของตน ทั้งที่เป็นเงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงานไม่ว่าจะเป็นเงินเดือน ค่าจ้าง ตามมาตรา 40 (1) และเงินได้เนื่องจากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำหรือจากการรับทำงานให้ไม่ว่าจะเป็นค่านายหน้า เบี้ยประชุม ตามมาตรา 40 (2) โดยยอมให้หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาได้ร้อยละ 40 แต่จะหักค่าใช้จ่ายจากเงินได้ทั้งสองประเภทดังกล่าวรวมกันได้ไม่เกิน 60,000 บาท โดยมิได้กำหนดหลักเกณฑ์และรายละเอียดเป็นการบังคับว่าต้องหักจากเงินได้พึงประเมินประเภทใด ในสัดส่วนเท่าใด หรือต้องถัวเฉลี่ยกันอย่างไร ดังนี้ จึงหาใช่ว่ากรณีมีเงินได้พึงประเมินทั้งสองประเภทจะต้องถัวเฉลี่ยกันดังที่จำเลยเข้าใจและยึดเป็นแนวปฏิบัติไม่ เมื่อกฎหมายเปิดช่องไว้เช่นนี้จึงเท่ากับมอบอำนาจในการตัดสินใจให้แก่ผู้มีเงินได้พึงประเมินว่าควรเลือกหักค่าใช้จ่ายในเงินได้ประเภทใดอย่างไร ในกรณีที่ผู้นั้นมีเงินได้พึงประเมินที่อาจหักค่าใช้จ่ายได้ทั้งสองประเภท ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ในการบรรเทาภาระภาษีตามเจตนารมณ์ของกฎหมายในส่วนนี้ ดังเช่นกรณีที่โจทก์เลือกหักค่าใช้จ่ายจากเงินได้ตามมาตรา 40 (1) เต็มจำนวน 60,000 บาท ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 42 ทวิ วรรคหนึ่ง เพียงประเภทเดียว ไม่ประสงค์จะหักค่าใช้จ่ายตามสิทธิจากเงินได้ในมาตรา 40 (2) ซึ่งสามีโจทก์มีหน้าที่และความรับผิดชอบในการยื่นรายการและเสียภาษีในส่วนเงินได้พึงประเมินของโจทก์ผู้เป็นภริยาตามความในมาตรา 57 ตรี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 871/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายของจำเลยในการชำระหนี้ตามคำพิพากษาศาลแรงงาน
หนี้ค่าจ้างค้างจ่าย เงินสะสม สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยที่จำเลยจะต้องชำระแก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง ล้วนแต่เป็นเงินที่โจทก์ฟ้องเรียกร้องให้จำเลยชำระอันเนื่องมาจากการที่จำเลยกับโจทก์มีนิติสัมพันธ์กันในฐานะนายจ้างกับลูกจ้าง ถือว่าเป็นเงินที่โจทก์ได้เนื่องจากการจ้างแรงงานตามที่บัญญัติไว้ใน ป.รัษฎากรฯ มาตรา 40 (1) ซึ่งกำหนดให้เป็นเงินได้พึงประเมิน จำเลยผู้จ่ายเงินดังกล่าวให้โจทก์ตามคำพิพากษาย่อมมีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายตาม ป.รัษฎากรฯ มาตรา 50 ประกอบด้วยมาตรา 3 จตุทศ ซึ่งเป็นหน้าที่ที่จำเลยจะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย แม้จำเลยจะมิได้อ้างเรื่องการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายไว้ในชั้นพิจารณา แต่เมื่อจำเลยจะต้องชำระหนี้ตามคำพิพากษาจำเลยก็สามารถหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12104/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ การหักภาษี ณ ที่จ่าย และสิทธิในการขอคืนภาษี
สัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์จำเลยได้ระบุถึงเงินช่วยเหลือที่จำเลยจะต้องจ่ายให้โจทก์ไว้ในข้อ 1 ว่า "โจทก์ตกลงรับเงินช่วยเหลือที่จำเลยเสนอจ่ายเป็นเงิน 3,000,000 บาท โดยจำเลยจะนำเงินจำนวนดังกล่าวมาวางที่ศาลแรงงานกลางภายในวันที่ 16 กรกฎาคม 2545" เท่านั้น มิได้มีข้อความว่าเงินจำนวนดังกล่าวเป็นเงินสุทธิที่จำเลยจะจ่ายให้แก่โจทก์หรือจำเลยจะชำระภาษีแทนโจทก์แต่อย่างใด ข้อความดังกล่าวเป็นข้อความที่ชัดเจน ไม่มีข้อสงสัยหรืออาจตีความได้สองนัย จึงไม่อาจนำบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 368 มาตีความให้เป็นอย่างอื่นได้ จำเลยยอมจ่ายเงินช่วยเหลือให้โจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความก็เพราะถูกโจทก์ฟ้องเรียกร้องเงินอันเนื่องมาจากการที่โจทก์จำเลยมีนิติสัมพันธ์กันในฐานะนายจ้างกับลูกจ้าง ถือได้ว่าเป็นเงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงานซึ่งเป็นเงินได้พึงประเมินตาม ป. รัษฎากรฯ มาตรา 40 (1) จำเลยผู้จ่ายเงินได้จึงมีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตาม ป. รัษฎากรฯ มาตรา 50 ประกอบมาตรา 3 จตุทศ นำส่ง ณ ที่ว่าการอำเภอซึ่งรวมถึงที่ว่าการเขตภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้จ่ายเงินตามมาตรา 52 การที่จำเลยจ่ายเงินให้โจทก์ 1,890,000 บาท โดยหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายไว้ 1,110,000 บาท และนำส่งสรรพากรเขตปทุมวัน จึงเป็นการชำระหนี้ครบถ้วนตามคำพิพากษาตามยอมแล้วหากโจทก์เห็นว่าตนได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีตามอนุสัญญาภาษีซ้อนระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลสหรัฐอเมริกาหรือถูกหักภาษีไว้เกินกว่าจำนวนที่ควรต้องเสีย โจทก์ชอบที่จะยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานประเมินเพื่อขอรับเงินจำนวนที่เกินนั้นคืนได้ภายใน 3 ปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งปีซึ่งถูกหักภาษีเกินไปตามมาตรา 63

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 43/2547 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลือกเสียภาษีจากเงินชดเชยการเลิกจ้างและเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ไม่ใช่ผู้จ่ายรายเดียวกัน
โจทก์ได้รับเงินเพราะเหตุออกจากงาน 2 ประเภท คือ เงินชดเชยการเลิกจ้างซึ่งเป็นเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน และเงินที่จ่ายจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งเป็นเงินที่จ่ายจากกองทุนตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพซึ่งเป็นนิติบุคคลต่างหาก ไม่ใช่นายจ้างของโจทก์เป็นผู้จ่าย เงินทั้งสองประเภทดังกล่าวจึงไม่ใช่ผู้จ่ายรายเดียวกันตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 45) ข้อ 2 (ข) เมื่อโจทก์ได้รับเงินที่จ่ายจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในปีภาษี 2542 ซึ่งเป็นคนละปีภาษีกับที่โจทก์ได้รับเงินชดเชยการเลิกจ้าง โจทก์จึงชอบที่จะนำเงินได้ที่จ่ายจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ได้รับในปีภาษี 2542 มาเลือกเสียภาษีแยกต่างหากจากเงินได้อื่น ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 48 (5) ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2323/2544 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เงินช่วยเหลือจากการประนีประนอมยอมความไม่ใช่ค่าชดเชย จึงต้องเสียภาษี ณ ที่จ่าย
ป.รัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ข้อ 2 (51)
สัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์และจำเลยซึ่งศาลมีคำพิพากษาตามยอม ปรากฏว่าเงินจำนวน ที่จำเลยยอมจ่ายให้โจทก์ระบุว่าเป็นเงินช่วยเหลือ มิได้ระบุว่าเป็นเงินชดเชย และตามคำฟ้องนอกจากโจทก์ฟ้องเรียก ค่าชดเชยพร้อมดอกเบี้ยและเงินเพิ่ม แล้วยังฟ้องเรียกสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าพร้อมดอกเบี้ยและค่าเสียหายอีกด้วย ดังนั้น เงินที่จำเลยจ่ายให้โจทก์ดังกล่าวจึงมิใช่ค่าชดเชยหรือพอจะแปลได้ว่าเป็นค่าชดเชย เพราะไม่ปรากฏว่าการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างโดยโจทก์ไม่มีความผิดอันจะมีผลให้โจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชย เงินจำนวนดังกล่าวจึงไม่ได้รับยกเว้นรัษฎากร ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวงฉบับที่ 217 (พ.ศ. 2542) ออกตามความใน ป.รัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฏากร ข้อ 2 (51)
การที่จำเลยยอมจ่ายเงินช่วยเหลือแก่โจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความก็เพราะถูกโจทก์ฟ้องเรียกร้องเงินอันเนื่องมาจากการที่จำเลยกับโจทก์มีนิติสัมพันธ์กันในฐานะนายจ้างกับลูกจ้าง ถือได้ว่าเป็นเงินที่โจทก์ได้เนื่องจากการจ้างแรงงานตามที่บัญญัติไว้ใน ป.รัษฏากร มาตรา 40 (1) ซึ่งกำหนดให้เป็นเงินได้พึงประเมิน เมื่อไม่ปรากฏว่าเป็นเงินได้พึงประเมินประเภทที่ได้รับการยกเว้นให้ไม่ต้องเสียภาษีตาม ป.รัษฎากร มาตรา 42 จำเลยผู้จ่ายเงินดังกล่าวให้โจทก์ตามคำพิพากษาตามยอมจึงมีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายตาม ป.รัษฎากร มาตรา 50 ประกอบด้วยมาตรา 3 จตุทศ
of 5