คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.ควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2542 ม. 22

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 1 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5687/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกานี้เกี่ยวกับการดำเนินคดีอาญาเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้า การปลอมแปลงเครื่องหมายการค้า และการจำหน่ายสินค้าปลอม โดยศาลฎีกาได้พิจารณาแก้ไขโทษและยกฟ้องบางข้อหา
ตามพระราชบัญญัติควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2542 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 3 ธันวาคม 2542 ซึ่งมาตรา 3 ให้ยกเลิก พระราชบัญญัติว่าด้วยการเก็บรักษาน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2474 กับพระราชบัญญัติว่าด้วยการเก็บรักษาน้ำมันเชื้อเพลิงฉบับที่ 2 พ.ศ. 2496 ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2508 ฉบับที่ 4 พ.ศ. 2520 และฉบับที่ 5พ.ศ. 2530 เมื่อโจทก์ยื่นฟ้องคดีเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2543 หลังวันที่พระราชบัญญัติควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2542 ใช้บังคับแล้ว 1 ปีเศษ โดยบรรยายฟ้องว่า จำเลยกับพวกร่วมกันมีเก็บไว้เพื่อจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงชนิดไม่น่ากลัวอันตราย มีปริมาณเกินกว่า 10,000 ลิตร ไว้ในสถานที่เก็บน้ำมันโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงาน และขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเก็บรักษาน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2474ซึ่งถูกยกเลิกไปก่อนแล้ว โดยมิได้บรรยายฟ้องให้ปรากฏว่าการกระทำของจำเลยยังคงเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2542 ที่บัญญัติขึ้นใช้ในภายหลัง แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพก็รับฟังไม่ได้ว่าการกระทำของจำเลยในระหว่างเวลาที่พระราชบัญญัติว่าด้วยการเก็บรักษาน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2474 ยังมีผลใช้บังคับอยู่นั้นยังคงเป็นความผิดตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง ต้องถือว่าจำเลยพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรคสอง ส่วนการกระทำของจำเลยนับแต่วันที่ พระราชบัญญัติควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2542 บัญญัติขึ้นใช้ภายหลังและยกเลิก พระราชบัญญัติว่าด้วยการเก็บรักษาน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2474 แล้ว โจทก์ยังบรรยายฟ้องว่า จำเลยกระทำความผิดและขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเก็บรักษาน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2474 ซึ่งถูกยกเลิกไป จึงมีผลเท่ากับโจทก์ไม่ได้อ้างบทกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำของจำเลยระหว่างวันเวลาดังกล่าวเป็นความผิดจึงเป็นคำฟ้องที่ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ มาตรา 26ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(6) ต้องยกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานนี้
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยหลอกลวงให้ผู้ซื้อสินค้าเข้าใจผิดว่าสินค้าที่จำเลยผลิตขึ้นนั้นเป็นของบริษัท ส. และบริษัท ฮ. ผู้เสียหาย โดยใช้ป้ายโฆษณาที่มีตราเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหายติดที่สินค้า อันเป็นการใช้ฉลากซึ่งมีเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหายในการขายสินค้าเพื่อลวงให้ผู้ซื้อเข้าใจผิดนั้นถือว่าเป็นการกระทำที่มีเจตนาเดียวกันในความผิดฐานเสนอจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอม กับฐานใช้ฉลากในการขายสินค้าเพื่อให้เกิดความเข้าใจผิดในแหล่งกำเนิด สภาพ คุณภาพ ปริมาณของสินค้าดังกล่าว เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท มิใช่ความผิดหลายกรรมต่างกัน