คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.ฎ.กำหนดอำนาจ สิทธิ และประโยชน์ของบริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด พ.ศ.2546 ม. 6

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8368/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน: การส่งหนังสือแจ้งผู้มีส่วนได้เสียเป็นสำคัญ
พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 59 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้นำ ป.วิ.พ. มาใช้บังคับโดยอนุโลม ซึ่งรวมถึงการยื่นและการส่งคำคู่ความและเอกสารตามมาตรา 67 ถึงมาตรา 83 อัฏฐ ด้วย การที่ภายหลังจากศาลรับคำร้องที่พนักงานอัยการผู้ร้องยื่นต่อศาล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินต้องมีหนังสือแจ้งให้ผู้คัดค้านทั้งสามรวมทั้ง ฐ. ซึ่งอาจอ้างว่าเป็นเจ้าของหรือมีส่วนได้เสียในทรัพย์สินทราบเพื่อใช้สิทธิยื่นคำร้องคัดค้านนั้น คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลแล้ว การส่งหนังสือของเลขาธิการจึงเป็นการส่งคำคู่ความหรือเอกสารในการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นประการหนึ่ง เพียงแต่ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 บัญญัติกำหนดไว้โดยเฉพาะให้เลขาธิการส่งโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ ทั้งยังบัญญัติไว้เป็นพิเศษว่าให้ส่งไปยังที่อยู่ครั้งสุดท้ายของผู้นั้นเท่าที่ปรากฏในหลักฐาน การส่งหนังสือของเลขาธิการทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับย่อมมีผลเป็นการส่งตามหลักเกณฑ์การนำจ่ายสิ่งของทางไปรษณีย์ที่กำหนดในไปรษณียนิเทศ พ.ศ.2557 ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะมีการส่งหนังสือทางไปรษณีย์ในคดีนี้ ซึ่งกำหนดให้ต้องนำจ่ายด้วยการส่งมอบหนังสือให้แก่ผู้รับที่มีชื่อระบุอยู่บนจ่าหน้า หรือผู้ได้รับมอบฉันทะจากผู้รับหรือผู้แทนของผู้รับ โดยต้องนำจ่าย ณ ที่ทำการหรือ ณ ที่อยู่ของผู้รับตามไปรษณียนิเทศ พ.ศ.2557 ข้อ 59 ถึงข้อ 63 ดังนั้น การส่งหนังสือของเลขาธิการไปยังผู้คัดค้านทั้งสามและ ฐ. ที่ส่งไม่ได้เพราะบ้านปิดและไม่มีผู้มารับที่ที่ทำการไปรษณีย์ในกำหนดเวลา อันเป็นการนำจ่ายให้แก่ผู้รับไม่ได้และพนักงานไปรษณีย์ต้องส่งหนังสือคืนผู้ฝากตามข้อ 64 นั้น จึงถือไม่ได้ว่ามีการส่งหนังสือให้แก่ผู้คัดค้านทั้งสามและ ฐ. ตามที่กำหนดใน พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 49 วรรคห้า โดยเมื่อมีข้อขัดข้องในการส่งหนังสือแก่ผู้มีส่วนได้เสีย อันเป็นข้อขัดข้องในการส่งคำคู่ความและเอกสารตาม ป.วิ.พ. จึงชอบที่เลขาธิการจะแจ้งให้ผู้ร้องแถลงต่อศาลชั้นต้นเพื่อมีคำสั่งให้ดำเนินการส่งโดยวิธีอื่นตามที่กำหนดใน ป.วิ.พ. ต่อไป ส่วนที่ศาลชั้นต้นลงประกาศคำร้องในหนังสือพิมพ์ เป็นการประกาศให้บุคคลภายนอกอื่นที่อาจอ้างว่าเป็นเจ้าของหรือมีส่วนได้เสียในทรัพย์สินที่ขอให้ตกเป็นของแผ่นดินได้ทราบ เพื่อยื่นคำคัดค้านเข้ามาในคดี มิได้หมายถึงผู้คัดค้านทั้งสามกับพวก จะถือว่าผู้คัดค้านทั้งสามและ ฐ. ทราบคำร้องของผู้ร้องหาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3873/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การส่งหนังสือแจ้งประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มไปยังสำนักงานผู้ชำระบัญชีของบริษัทที่เลิกแล้ว ถือเป็นการส่งโดยชอบ
โจทก์จดทะเบียนเลิกบริษัทจดรายการที่ตั้งของสำนักงานผู้ชำระบัญชีคือเลขที่ 87/149 อาคารออลซีซั่น กรุงเทพมหานคร ถือว่าโจทก์ได้เลือกเอาที่ตั้งดังกล่าวเป็นภูมิลำเนาเฉพาะการเกี่ยวกับการชำระบัญชีและถือว่าเอกสารรายการจดทะเบียนดังกล่าวเป็นเอกสารมหาชนที่เจ้าพนักงานทำขึ้นเพื่อประโยชน์ของประชาชน การจดทะเบียนเลิกบริษัทถือว่าบริษัทยังคงอยู่ตราบเท่าเวลาที่จำเป็นในการชำระบัญชี ผู้ชำระบัญชีมีอำนาจทำการแทนโจทก์ การที่จำเลยที่ 1 ส่งหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มแก่โจทก์ไปยังภูมิลำเนาเฉพาะการเกี่ยวกับการชำระบัญชีทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับย่อมเป็นการส่งที่ชอบด้วย ป.รัษฎากร มาตรา 8 วรรคหนึ่ง และมีบุคคลลงชื่อรับไว้ โดยระบุว่าเป็นพนักงาน ซึ่งเป็นไปตามข้อกำหนดของไปรษณีย์นิเทศ พ.ศ.2553 ออกโดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ไปรษณีย์ พ.ศ.2477 มาตรา 22 ประกอบมาตรา 6 แห่ง พ.ร.ฎ.กำหนดอำนาจ สิทธิ และประโยชน์ของบริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด พ.ศ.2546 ซึ่งใช้บังคับในขณะนั้น ตามหมวด 6 ระบบงานไปรษณีย์ การนำจ่ายสิ่งของทางไปรษณีย์ข้อ 64 ในกรณีนำจ่าย ณ ที่อยู่ของผู้รับ บริษัทถือว่าบุคคลต่อไปนี้ เป็นผู้แทนของผู้รับ ข้อ 64.1 บุคคลซึ่งอยู่ในบ้านเรือนเดือนกันกับผู้รับ 64.2 บุคคลซึ่งทำงานอยู่ในสถานที่เดียวกันกับผู้รับ 64.3 เจ้าหน้าที่รับรองหรือผู้ดูแลของโรงแรมหรืออาคาร 64.4 ผู้ทำหน้าที่เวรรับส่งหรือเวรรักษาการณ์ของหน่วยงานหรืออาคาร เมื่อได้ปฏิบัติตามวิธีดังกล่าวข้างต้นให้ถือว่าเป็นอันได้รับแล้วตาม ป.รัษฎากร มาตรา 8 วรรคสาม
การที่ผู้ชำระบัญชีของโจทก์ย้ายสำนักงานไปยังเลขที่ 345/13 ตรอกต้นโพธิ์ กรุงเทพมหานคร นานถึงหนึ่งปีเศษ จึงแจ้งย้ายที่อยู่ของผู้ชำระบัญชี ก็เป็นกรณีหลังจากถือว่าโจทก์ได้รับหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มโดยชอบแล้ว เป็นความบกพร่องของโจทก์เอง ดังนั้น คำสั่งของรัฐมนตรีที่ไม่อนุญาตให้ขยายหรือเลื่อนกำหนดเวลาอุทธรณ์แก่โจทก์จึงชอบแล้ว อนึ่ง อำนาจตาม ป.รัษฎากร มาตรา 3 อัฏฐ วรรคสอง เป็นอำนาจของรัฐมนตรีที่จะพิจารณาสั่ง หากคำสั่งของรัฐมนตรีไม่ชอบ โจทก์ก็มีสิทธิฟ้องขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งดังกล่าวได้ แต่มิใช่เป็นอำนาจของศาลที่จะพิจารณาสั่งขยายกำหนดเวลาอุทธรณ์แก่โจทก์โดยอาศัยมาตรา 3 อัฏฐ วรรคสอง