คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.พ.พ. ม. 306 วรรคหนึ่ง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 16 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3884/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนสิทธิเรียกร้องโดยมิได้ทำเป็นหนังสือ และสิทธิการรับมรดกของทายาทประเภทต่างๆ
แม้หากฟังได้ว่าผู้ตายบอกยกเงินค่าที่ดินที่จะได้รับจากจำเลยให้แก่โจทก์ แต่เนื่องจากเป็นหนี้ที่จำเลยมีต่อผู้ตายแล้วยังมิได้ชำระ การให้เงินค่าขายที่ดินดังกล่าวแก่โจทก์อันเป็นสิทธิเรียกร้องของผู้ตายที่มีต่อจำเลยจึงเป็นการโอนสิทธิเรียกร้องตาม ป.พ.พ. มาตรา 306 วรรคหนึ่ง เมื่อการโอนสิทธิเรียกร้องของผู้ตายให้แก่โจทก์ไม่มีการทำเป็นหนังสือย่อมไม่มีผลผูกพันผู้ตาย จำเลยซึ่งเป็นทายาทและลูกหนี้ของผู้ตาย ไม่มีหน้าที่ต้องชำระเงินค่าที่ดินส่วนที่เหลือให้แก่โจทก์ เมื่อผู้ตายมีจำเลยและ ท. เป็นทายาทประเภทพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับผู้ตาย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1629 (3) โจทก์ซึ่งเป็นทายาทของผู้ตายประเภทคู่สมรส จึงมีสิทธิได้รับมรดกกึ่งหนึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1635 (2) โจทก์ได้รับเงินกึ่งหนึ่งของทรัพย์มรดกของผู้ตาย จึงถือได้ว่าโจทก์ได้รับมรดกของผู้ตายตามสิทธิของโจทก์แล้ว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3349-3350/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาซื้อขาย, การให้สัตยาบัน, ตัวแทน, อนุญาโตตุลาการ: ศาลยืนคำพิพากษาตามคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการ
ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่า พฤติการณ์ที่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. ผู้ร้อง และผู้คัดค้านปฏิบัติต่อกันมีลักษณะเป็นการตกลงกันโดยปริยายระหว่างคู่สัญญาสามฝ่ายให้ผู้คัดค้านเข้ามาเป็นคู่สัญญาซื้อขายไอน้ำและไฟฟ้า เป็นการแปลงหนี้ใหม่โดยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้โดยทำเป็นสัญญาระหว่างผู้ร้องกับผู้คัดค้านโดยชอบตาม ป.พ.พ. มาตรา 350 ที่ผู้คัดค้านอุทธรณ์อ้างว่า น. กระทำในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. มิได้กระทำในฐานะกรรมการบริษัทผู้คัดค้าน เป็นอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจรับฟังพยานหลักฐานของศาล และไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นกรณีใดกรณีหนึ่งที่ให้อุทธรณ์ได้ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 45 (1) ถึง (5) ผู้คัดค้านอุทธรณ์อ้างว่า ผู้คัดค้านมิได้รับโอนสิทธิเรียกร้องหรือความรับผิดมาจากห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. และหากมีการโอนสิทธิเรียกร้องแต่การโอนมิได้ทำเป็นหนังสือตาม ป.พ.พ. มาตรา 306 วรรคหนึ่ง จึงไม่ผูกพันผู้คัดค้านนั้น ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ผู้คัดค้านมีสิทธิยกขึ้นอุทธรณ์ได้
สัญญาซื้อขายไอน้ำและไฟฟ้า ระหว่างห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. กับผู้ร้อง คู่สัญญาแต่ละฝ่ายต่างมีหนี้ที่จะต้องปฏิบัติต่อกันตามสัญญา ห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. มิได้อยู่ในฐานะเป็นเจ้าหนี้ผู้มีสิทธิเรียกร้องให้ผู้ร้องปฏิบัติตามสัญญาได้แต่ฝ่ายเดียว การโอนหนี้ตามสัญญาดังกล่าวย่อมไม่อาจกระทำได้แต่โดยโอนสิทธิเรียกร้องตาม ป.พ.พ. มาตรา 306 วรรคหนึ่ง หากกระทำได้แต่ด้วยวิธีแปลงหนี้ใหม่ การแปลงหนี้ใหม่ด้วยเปลี่ยนตัวลูกหนี้นั้น ป.พ.พ. มาตรา 350 บัญญัติเพียงจะทำเป็นสัญญาระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้คนใหม่ก็ได้ แต่จะทำโดยขืนใจลูกหนี้เดิมหาได้ไม่ ดังนี้ การแปลงหนี้ใหม่โดยเปลี่ยนตัวลูกหนี้จากห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. มาเป็นผู้คัดค้าน แม้มิได้ทำสัญญาเป็นหนังสือระหว่างผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าหนี้กับผู้คัดค้านซึ่งเป็นลูกหนี้คนใหม่ แต่ก็มิได้เป็นการทำขึ้นโดยขืนใจห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. ซึ่งเป็นลูกหนี้เดิมแล้ว จึงเป็นการแปลงหนี้ใหม่ด้วยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้โดยชอบด้วยบทบัญญัติดังกล่าวแล้ว มีผลให้ข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการซึ่งเป็นข้อหนึ่งของสัญญาซื้อขายไอน้ำและไฟฟ้า ย่อมผูกพันผู้คัดค้านซึ่งเป็นผู้รับโอนตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 13 ที่ผู้คัดค้านอุทธรณ์ว่า สัญญาซื้อขายไอน้ำและไฟฟ้าระหว่างผู้ร้องกับผู้คัดค้านยังไม่เกิด เป็นอุทธรณ์นอกเหนือไปจากที่ผู้คัดค้านยกขึ้นอ้างในคำคัดค้าน ทั้งไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นกรณีใดกรณีหนึ่งที่ให้อุทธรณ์ได้ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 45 (1) ถึง (5)
อุทธรณ์ของผู้คัดค้านที่ว่า อ. กรรมการผู้ร้องลงลายมือชื่อในสัญญาซื้อขายไอน้ำและไฟฟ้า โดยไม่ประทับตราสำคัญของบริษัทผู้ร้อง จึงไม่มีผลผูกพันคู่สัญญา ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับอำนาจฟ้อง อันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ผู้คัดค้านมีสิทธิยกขึ้นอุทธรณ์ได้ แม้ อ. กรรมการผู้ร้องลงลายมือชื่อในสัญญาซื้อขายไอน้ำและไฟฟ้าโดยมิได้ประทับตราสำคัญของผู้ร้อง เป็นการไม่ถูกต้องตามข้อบังคับของบริษัทผู้ร้องอันได้จดทะเบียนไว้ก็ตาม แต่ ป.พ.พ. มาตรา 1167 บัญญัติให้ความเกี่ยวพันกันในระหว่างกรรมการและบริษัท และบุคคลภายนอกนั้น ให้บังคับตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยตัวแทน กรณีจึงเป็นเรื่อง อ.ในฐานะตัวแทนลงลายมือชื่อในสัญญาดังกล่าวแทนผู้ร้องซึ่งเป็นตัวการโดยปราศจากอำนาจหรือนอกเหนือขอบอำนาจ การที่ผู้ร้องได้ยอมรับและปฏิบัติตามสัญญาดังกล่าวมาโดยตลอด จึงเป็นข้อแสดงว่าผู้ร้องได้ให้สัตยาบันแก่การนั้นแล้ว สัญญาซื้อขายไอน้ำและไฟฟ้าย่อมมีผลผูกพันผู้ร้องซึ่งเป็นตัวการ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 823 ผู้ร้องจึงมีสิทธิยื่นคำเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการตามข้อสัญญาดังกล่าวได้
อุทธรณ์ของผู้คัดค้านที่ว่า การตั้ง ส. เป็นอนุญาโตตุลาการเพื่อชี้ขาดข้อพิพาทไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 โดยผู้คัดค้านอุทธรณ์ว่า ในวันนัดสืบพยานนัดสุดท้าย เมื่อความปรากฏเหตุที่ผู้คัดค้านแถลงคัดค้าน ส. อนุญาโตตุลาการถึงเหตุอันควรสงสัยถึงความเป็นกลางหรือความเป็นอิสระ คณะอนุญาโตตุลาการจดบันทึกในรายงานการประชุมเป็นภาษาอังกฤษและแทรกข้อความไว้ในรายงานดังกล่าวว่าสอบถามคู่กรณีแล้วไม่คัดค้านถึงความเป็นกลางและความเป็นอิสระของอนุญาโตตุลาการ โดยผู้คัดค้านไม่ได้สังเกตเห็นข้อความดังกล่าว กรณีนับเป็นความบกพร่องของผู้คัดค้านเอง ทั้งไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นกรณีใดกรณีหนึ่งที่ให้อุทธรณ์ได้ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 45 (1) ถึง (5)
อุทธรณ์ของผู้คัดค้านที่ว่า ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้บังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการให้ผู้คัดค้านชำระเงินในส่วนที่เป็นค่าซื้อกิจการของผู้ร้องในราคา 238,303,046 บาท ทั้ง ๆ ที่ตามสัญญาซื้อขายไอน้ำและไฟฟ้า ข้อ 10 ห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. มีสิทธิซื้อกิจการของผู้ร้องได้ในราคา 30,000,000 บาท จึงไม่ตรงตามสัญญานั้น อุทธรณ์ของผู้คัดค้านในข้อนี้ปรากฏว่า คณะอนุญาโตตุลาการกำหนดราคาประเมินกิจการของผู้ร้องตามสัญญาซื้อขายไอน้ำและไฟฟ้า โดยราคาค่าซื้อ/ซื้อกิจการประกอบด้วยองค์ประกอบ 2 ส่วน คือเงินที่ต้องชำระตามข้อ 10 และข้อ 14.3 เมื่อผู้คัดค้านมิได้กล่าวอ้างว่า การกำหนดราคาดังกล่าวของคณะอนุญาโตตุลาการไม่ชอบหรือไม่ถูกต้องตรงไหน อย่างไร จึงเป็นอุทธรณ์ยกข้อเท็จจริงบางส่วนขึ้นกล่าวอ้างว่าการกำหนดค่าซื้อกิจการของคณะอนุญาโตตุลาการเกินขอบเขตของสัญญาอนุญาโตตุลาการ มีผลเท่ากับเป็นอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการในการกำหนดค่าสินไหมทดแทนจากการซื้อกิจการตามข้อ 14.3 ไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นกรณีใดกรณีหนึ่งที่ให้อุทธรณ์ได้ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 45 (1) ถึง (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 20799/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิเรียกร้องประกันหนี้ vs. การบังคับคดีก่อนใช้สิทธิ ผู้มีสิทธิเรียกร้องยังมิได้บังคับใช้สิทธิยันเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ได้
สัญญาโอนสิทธิเรียกร้องเงินฝากเป็นประกันทั้งสองสัญญามีข้อตกลงโอนสิทธิเรียกร้องเงินตามบัญชีเงินฝากออมทรัพย์สองบัญชี ให้แก่ผู้คัดค้านเป็นผู้รับโอนโดยเฉพาะเจาะจงและผู้คัดค้านได้บอกกล่าวการโอนไปยังบริษัท บ. และ ฟ. ซึ่งเป็นลูกหนี้ของจำเลยตามสัญญาจ้างแล้ว การโอนสิทธิเรียกร้องจึงมีผลครบถ้วนสมบูรณ์ที่จะยกขึ้นต่อสู้ลูกหนี้หรือบุคคลภายนอกได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 306 วรรคหนึ่ง แต่การโอนสิทธิเรียกร้องของผู้คัดค้านที่รับโอนสิทธิมาก็เพื่อเป็นประกันหนี้สินของจำเลยที่มีต่อผู้คัดค้านเท่านั้น และในระหว่างที่เป็นประกันหนี้ของจำเลยหากจำเลยไม่ผิดสัญญาที่มีต่อผู้คัดค้าน ผู้คัดค้านก็ยังไม่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องที่รับโอนเงินดังกล่าว และเงินจำนวนดังกล่าวยังอยู่ในบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ของจำเลยทั้งสองบัญชี กรณีจึงเป็นเรื่องที่ผู้คัดค้านยังไม่ได้บังคับตามสิทธิเรียกร้อง แต่ได้ถูกโจทก์ซึ่งเป็นผู้ใช้สิทธิเรียกร้องฟ้องคดีต่อศาลจนศาลมีคำพิพากษาแล้วทำการอายัดบังคับชำระหนี้ไปก่อนที่ผู้คัดค้านจะใช้สิทธิเรียกร้อง เมื่อผู้คัดค้านเป็นเพียงผู้มีสิทธิเรียกร้องโดยยังมิได้บังคับใช้สิทธิเรียกร้องจึงไม่อาจใช้ยันต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีที่ทำการอายัดไปก่อนได้ ดังนี้ ผู้คัดค้านจึงไม่มีสิทธิได้รับคืนเงินที่กรมบังคับคดีอายัดไปจากบัญชีทั้งสอง และมีหน้าที่ต้องโอนเงินที่เหลือในบัญชีทั้งสองให้แก่กรมบังคับคดี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11632/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ละเมิดจากการโอนสิทธิเรียกร้องและการมอบอำนาจโดยไม่มีสิทธิ จำเลยต้องร่วมกันรับผิดคืนเงิน
คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2539 โจทก์ตรวจรับมอบผ้างวดที่ 1 ตามสัญญาที่จำเลยที่ 1 ส่งมอบไว้เรียบร้อยแล้ว ครั้นเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2539 จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้แทนจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ในฐานะส่วนตัวได้ร่วมกันหลอกลวงฉ้อโกงและจงใจทำละเมิดต่อโจทก์โดยแสดงข้อความเท็จและปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง กล่าวคือจำเลยทั้งสองร่วมกันทำหนังสือมอบอำนาจให้พนักงานของจำเลยที่ 1 ไปขอรับค่าสินค้างวดที่ 1 จากโจทก์โดยแจ้งต่อโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 มีสิทธิรับเงินค่าสินค้างวดที่ 1 ซึ่งเป็นความเท็จ เพราะความจริงแล้วจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องค่าสินค้านั้นไปให้ผู้อื่นก่อนแล้ว จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิขอรับชำระหนี้ค่าสินค้าจากโจทก์อีก การกระทำของจำเลยทั้งสองดังกล่าวเป็นการกระทำความผิดฐานฉ้อโกงตาม ป.อ. และเป็นการจงใจทำละเมิดต่อโจทก์ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนหรือชดใช้เงินค่าสินค้าผ้างวดที่ 1 พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ ดังนี้ จึงเป็นการฟ้องให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดฐานละเมิด และให้คืนทรัพย์สินอันผู้เสียหายต้องเสียไปเพราะละเมิด ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 ประกอบมาตรา 438
พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 2 ร่วมเดินทางไปกับหัวหน้างานบัญชีของบริษัทสยามเจเนอรัลแฟคตอริ่ง จำกัด (มหาชน) ผู้รับโอนสิทธิเรียกร้อง เพื่อไปส่งมอบหนังสือบอกกล่าวการโอนสิทธิเรียกร้องให้แก่กองพลาธิการ กรมตำรวจ ย่อมบ่งชี้ชัดว่าจำเลยที่ 2 รู้อยู่แล้วว่า การโอนสิทธิเรียกร้องในการรับเงินค่าสินค้าจากโจทก์ของจำเลยที่ 1 ให้แก่บริษัทสยามเจเนอรัลแฟคตอริ่ง จำกัด (มหาชน) มีผลสมบูรณ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 306 วรรคหนึ่ง อันเป็นผลให้สิทธิเรียกร้องของจำเลยที่ 1 ในการรับเงินค่าสินค้าผ้าจากโจทก์ตกเป็นของบริษัทสยามเจเนอรัลแฟคตอริ่ง จำกัด (มหาชน) และจำเลยที่ 1 หมดสิทธิที่จะรับเงินดังกล่าวจากโจทก์แล้ว ดังนั้นต่อมาเมื่อโจทก์ตรวจรับมอบสินค้างวดที่ 1 จากจำเลยที่1 แล้ว เจ้าหน้าที่ของโจทก์ได้โทรศัพท์แจ้งให้จำเลยที่ 2 ทราบเพื่อให้ไปรับเงินค่าผ้าในงวดที่ 1 อีก ไม่ว่าจะเป็นเพราะความผิดพลาดในการตรวจสอบเอกสาร หรือความเข้าใจผิดใดก็ตาม การที่จำเลยที่ 2 ในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 1 มอบอำนาจให้พนักงานของจำเลยที่ 1 ไปรับเงินจากกองพลาธิการ กรมตำรวจ แทนจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิที่จะรับเงินจำนวนดังกล่าวจากโจทก์ได้อีก การกระทำของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวย่อมเป็นการกระทำในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 โดยมีเจตนาที่ไม่สุจริตอันถือได้ว่าจำเลยที่ 2 กระทำต่อโจทก์โดยผิดกฎหมายทำให้โจทก์เสียหาย จึงเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ทำละเมิดจึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 นิติบุคคลเจ้าของกิจการที่จำเลยที่ 2 เป็นผู้กระทำการแทนรับผิดคืนเงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 และมาตรา 1167 ประกอบมาตรา 427

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7817/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนสิทธิเรียกร้องและการปฏิบัติตามขั้นตอนการแจ้งและการยินยอมตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ.2542 มาตรา 10 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ในกรณีที่มีการฟ้องคดีต่อศาลใด ถ้าคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องเห็นว่าคดีดังกล่าวอยู่ในเขตอำนาจของอีกศาลหนึ่ง ให้ยื่นคำร้องต่อศาลที่รับฟ้องก่อนวันสืบพยานสำหรับศาลยุติธรรม แต่จำเลยที่ 3 ไม่ได้ยื่นคำร้อง เป็นกรณีที่ไม่ได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติดังกล่าว จึงไม่อาจฎีกาในปัญหานี้ได้
เมื่อจำเลยที่ 3 รับว่าโจทก์ได้แจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องเป็นหนังสือแก่จำเลยที่ 3 แล้ว โจทก์จึงยกการโอนสิทธิเรียกร้องขึ้นเป็นข้อต่อสู้จำเลยที่ 3 ได้ โดยไม่จำต้องให้จำเลยที่ 1 มีหนังสือแจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องแก่จำเลยที่ 3 หรือจำเลยที่ 3 ต้องให้ความยินยอมด้วยเป็นลายลักษณ์อักษรและจำเลยที่ 1 ย่อมหมดสิทธิที่จะรับเงินตามสัญญาจ้างทันที จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นลูกหนี้มีหน้าที่ต้องชำระหนี้ให้โจทก์ จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิจะมาระงับไม่ให้จำเลยที่ 3 จ่ายเงินให้โจทก์ เมื่อจำเลยที่ 3 จ่ายเงินให้แก่จำเลยที่ 1 ไป จึงไม่อาจบอกปัดความรับผิดโดยอ้างว่าจำเลยที่ 1 มีหนังสือแจ้งให้ระงับการจ่ายเงิน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1732/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนสิทธิเรียกร้อง: ผู้รับโอนมีสิทธิแจ้งการโอนแก่ลูกหนี้ได้ แม้สัญญาระบุให้ผู้โอนเป็นผู้แจ้ง
แม้จะได้ความตามสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องว่า โจทก์ตกลงให้เป็นหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ผู้โอนสิทธิเรียกร้อง แต่เพียงฝ่ายเดียวที่จะต้องบอกกล่าวแจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 3 ในฐานะลูกหนี้ทราบ แต่ข้อตกลงดังกล่าวเป็นเพียงข้อสัญญาที่ตกลงให้เป็นหน้าที่ของผู้รับโอนที่จะต้องเป็นผู้บอกกล่าวแจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องให้ลูกหนี้ทราบเท่านั้น โจทก์ในฐานะที่รับโอนสิทธิเรียกร้องย่อมอาศัยอำนาจตาม ป.พ.พ. มาตรา 306 วรรคหนึ่ง แล้วบอกกล่าวการโอนเป็นหนังสือไปยังจำเลยที่ 3 ในฐานะลูกหนี้ของจำเลยที่ 1 ได้อีกทางหนึ่งเช่นกัน เมื่อโจทก์แจ้งบอกกล่าวการโอนสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 3 ทราบแล้ว การโอนสิทธิเรียกร้องย่อมสมบูรณ์และผูกพันจำเลยที่ 3

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6507/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนสิทธิเรียกร้องหนี้ การพิสูจน์ลายมือชื่อ และดอกเบี้ยตามสัญญา
จำเลยทั้งสี่ต้องรับผิดตามสัญญากู้เงินและสัญญาค้ำประกันต่อบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ส. โจทก์รับโอนสิทธิเรียกร้องที่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ส. มีต่อจำเลยทั้งสี่และได้บอกกล่าวการโอนสิทธิเรียกร้องไปยังจำเลยทั้งสี่แล้ว โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งสี่ชำระหนี้ตามสัญญากู้เงินและสัญญาค้ำประกันแก่โจทก์ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 306 วรรคหนึ่ง ทั้งนี้ไม่ว่าจำเลยทั้งสี่จะตกลงด้วยหรือไม่ก็ตาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4872/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนสิทธิเรียกร้องและการอายัดสิทธิ: ผลกระทบต่อการบังคับคดี
การที่จำเลยโอนสิทธิเรียกร้องที่จะได้รับเงินจากผู้ร้องตามสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีก่อนของศาลชั้นต้นให้แก่บริษัท ท. โดยบริษัทดังกล่าวมีหนังสือแจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องให้ผู้ร้องทราบแล้ว การโอนสิทธิเรียกร้องรายนี้ย่อมสมบูรณ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 306 วรรคหนึ่ง และหากการโอนสิทธิเรียกร้องรายนี้ยังไม่มีการยกเลิกกันโดยชอบ สิทธิของจำเลยที่จะได้รับชำระหนี้จากผู้ร้องซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาในคดีก่อนนั้นย่อมตกเป็นของบริษัท ท. จำเลยจึงไม่มีสิทธิที่จะรับเงินตามคำพิพากษาในคดีนั้นจากผู้ร้องแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิอายัดสิทธิเรียกร้องดังกล่าวได้ การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งอายัดสิทธิเรียกร้องดังกล่าวไปยังผู้ร้องจึงเป็นการไม่ชอบ ผู้ร้องมีสิทธิยื่นคำร้องให้เพิกถอนคำสั่งอายัดดังกล่าวได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6346/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแปลงหนี้ด้วยเปลี่ยนตัวเจ้าหนี้ต้องทำเป็นหนังสือ การฟ้องสัญญากู้เงินที่ไม่สมบูรณ์
อ. บิดาโจทก์มอบหมายให้จำเลยเป็นตัวแทนไปติดต่อขอเช่าที่ราชพัสดุจากกรมธนารักษ์และมอบเงินจำนวน 4,000,000 บาท ให้แก่จำเลยไปใช้เป็นค่าดำเนินการและค่าเช่าพื้นที่ จำเลยจึงเป็นตัวแทนของ อ. เงินที่จำเลยรับมาจาก อ. จึงเป็นเงินที่จำเลยรับไว้เกี่ยวด้วยการเป็นตัวแทนซึ่งจำเลยสัญญาว่าจะส่งคืนให้เนื่องจากกิจการที่ทำการแทนไม่สำเร็จลุล่วง จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องส่งเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่ อ. ซึ่งเป็นตัวการตาม ป.พ.พ. มาตรา 810 วรรคหนึ่ง การที่โจทก์กับจำเลยเจรจาตกลงทำสัญญากู้เงินกัน โดยระบุว่าโจทก์ให้จำเลยกู้ยืมเงินเท่ากับจำนวนเงินที่จำเลยมีหน้าที่ต้องส่งคืนให้แก่ อ. จึงเป็นการแปลงหนี้ใหม่ด้วยเปลี่ยนตัวเจ้าหนี้จาก อ. มาเป็นโจทก์และเปลี่ยนมูลหนี้ตามสัญญาตัวแทนมาเป็นมูลหนี้ตามสัญญากู้เงิน ซึ่งการแปลงหนี้ใหม่ด้วยเปลี่ยนตัวเจ้าหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 349 วรรคสาม นั้น ต้องบังคับด้วยบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 306 วรรคหนึ่ง ว่าด้วยโอนสิทธิเรียกร้องโดยต้องทำเป็นหนังสือ แต่ไม่ปรากฏว่า อ. ได้โอนหนี้ที่จำเลยมีอยู่แก่ตนให้แก่โจทก์โดยทำเป็นหนังสือ จึงไม่เป็นการโอนหนี้ที่สมบูรณ์ แม้จะได้ความว่า อ. มอบหมายให้โจทก์ดำเนินการเรื่องนี้ทั้งหมด โจทก์ก็มีฐานะเป็นเพียงตัวแทน อ. ทั้งไม่ปรากฏว่า อ. ดำเนินกิจการโรงเรียนร่วมกับโจทก์อันจะถือว่าจำเลยเป็นตัวแทนโจทก์ด้วย และการทำสัญญากู้เงินก็ไม่ปรากฏว่า อ. มีส่วนเกี่ยวข้องหรือร่วมรู้เห็นด้วยแต่ประการใด ดังนี้เมื่อจำเลยไม่มีหนี้ที่จะต้องรับผิดต่อโจทก์ย่อมไม่มีหนี้เดิมที่จะแปลงเป็นมูลหนี้ตามสัญญากู้เงินได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยรับผิดชำระหนี้ตามสัญญากู้เงินดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6053/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแปลงหนี้จากจ้างทำของเป็นกู้ยืม ทำให้สิทธิเรียกร้องระงับ โอนสิทธิไม่ได้
การที่จำเลยว่าจ้าง น. ให้เป็นตัวแทนเรียกค่าเสียหายจาก ก. โดยจำเลยทำเป็นสัญญากู้เงิน น. ไว้ เท่ากับว่ามีการแปลงหนี้ใหม่จากหนี้จ้างทำของมาเป็นหนี้เงินกู้ หนี้จ้างทำของจึงระงับไปด้วยการแปลงหนี้ใหม่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 349 วรรคหนึ่ง เมื่อจำเลยบอกเลิกสัญญากู้เงินกับ น. ก่อน น. โอนสิทธิเรียกร้องให้โจทก์ หนี้ตามสัญญากู้เงินจึงระงับ น. ไม่อาจโอนสิทธิเรียกร้องที่โจทก์ยืนยันมาในคำฟ้องว่าระงับไปแล้วให้แก่โจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจนำสัญญากู้เงินดังกล่าวมาฟ้องบังคับจำเลย
of 2