คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.พ.พ. ม. 1635 (2)

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 6 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3884/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนสิทธิเรียกร้องโดยมิได้ทำเป็นหนังสือ และสิทธิการรับมรดกของทายาทประเภทต่างๆ
แม้หากฟังได้ว่าผู้ตายบอกยกเงินค่าที่ดินที่จะได้รับจากจำเลยให้แก่โจทก์ แต่เนื่องจากเป็นหนี้ที่จำเลยมีต่อผู้ตายแล้วยังมิได้ชำระ การให้เงินค่าขายที่ดินดังกล่าวแก่โจทก์อันเป็นสิทธิเรียกร้องของผู้ตายที่มีต่อจำเลยจึงเป็นการโอนสิทธิเรียกร้องตาม ป.พ.พ. มาตรา 306 วรรคหนึ่ง เมื่อการโอนสิทธิเรียกร้องของผู้ตายให้แก่โจทก์ไม่มีการทำเป็นหนังสือย่อมไม่มีผลผูกพันผู้ตาย จำเลยซึ่งเป็นทายาทและลูกหนี้ของผู้ตาย ไม่มีหน้าที่ต้องชำระเงินค่าที่ดินส่วนที่เหลือให้แก่โจทก์ เมื่อผู้ตายมีจำเลยและ ท. เป็นทายาทประเภทพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับผู้ตาย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1629 (3) โจทก์ซึ่งเป็นทายาทของผู้ตายประเภทคู่สมรส จึงมีสิทธิได้รับมรดกกึ่งหนึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1635 (2) โจทก์ได้รับเงินกึ่งหนึ่งของทรัพย์มรดกของผู้ตาย จึงถือได้ว่าโจทก์ได้รับมรดกของผู้ตายตามสิทธิของโจทก์แล้ว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2671/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแบ่งมรดกโดยผู้จัดการมรดกที่ไม่ได้รับความยินยอมจากทายาทอื่น และการปฏิบัติหน้าที่ของผู้จัดการมรดก
การที่ ล. กับจำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกันทำสัญญาประนีประนอมยอมความในศาลตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกและจำเลยถอนตัวจากการเป็นผู้จัดการมรดก แม้ศาลจะพิพากษาตามยอมแล้ว เมื่อปรากฏว่าโจทก์ไม่ได้ให้ความยินยอมทั้งไม่ได้ลงลายมือชื่อในสัญญาดังกล่าวย่อมไม่มีผลผูกพันโจทก์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 ทั้งกรณีดังกล่าวถือว่า ล. และจำเลยปฏิบัติผิดหน้าที่ผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1719 ดังนั้น โจทก์ในฐานะทายาทโดยธรรมผู้มีส่วนได้เสียและมีสิทธิได้รับทรัพย์มรดกย่อมฟ้องขอแบ่งทรัพย์มรดกที่จำเลยได้รับไปได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1745 ประกอบมาตรา 1363
ป.พ.พ. มาตรา 1613 บัญญัติว่า การสละมรดกนั้น จะทำแต่เพียงบางส่วนหรือทำโดยมีเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลาไม่ได้ การที่ ล. ยอมแบ่งทรัพย์มรดกดังกล่าวให้แก่จำเลยก็เพื่อให้จำเลยพ้นจากการเป็นผู้จัดการมรดก และจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับทรัพย์มรดกส่วนอื่น ๆ อีก เป็นการต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว จึงถือไม่ได้ว่า ล. สละมรดก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3566-3567/2542

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิในที่ดินจากการทำพินัยกรรมโมฆะ การครอบครองปรปักษ์ และการครอบครองโดยเจตนาเป็นเจ้าของ
น. ผู้ตายทำพินัยกรรมยกที่ดินแปลงที่ 1 ที่ 3 ซึ่งเป็นที่ดิน น.ส. 3 และที่ดินแปลงที่ 4 ซึ่งเป็นที่ดินมีโฉนดให้แก่โจทก์ทั้งสองและนาง จ. ภริยาผู้ตาย ส่วนที่ดินแปลงที่ 2 ซึ่งเป็นที่ดิน น.ส. 3 นั้นให้ขายเพื่อนำไปใช้จัดงานศพผู้ตาย แต่เนื่องจากพินัยกรรมดังกล่าวไม่ได้ลงวัน เดือน ปี ที่ทำจึงไม่ถูกต้องตามแบบที่กำหนดตาม ป.พ.พ. มาตรา 1656 พินัยกรรมดังกล่าวจึงเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 1705 แต่ถึงแม้พินัยกรรมดังกล่าวจะเป็นโมฆะ นาง จ. ก็มีสิทธิในที่ดินดังกล่าวในฐานะคู่สมรสตาม ป.พ.พ. มาตรา 1625 และ 1635 (2)
โจทก์ทั้งสองครอบครองที่ดินแปลงที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ร่วมกับนาง จ. มาตลอด โดยถือว่าที่ดินดังกล่าวเป็นของตนตามพินัยกรรม และโจทก์ทั้งสองได้ครอบครองที่ดินแปลงที่ 2 โดยถือว่าเป็นของตนตามที่นาง จ. ยกให้เนื่องจากโจทก์ทั้งสองได้จ่ายค่าจัดงานศพของ น. แม้พินัยกรรมของ น. จะเป็นโมฆะ และการยกให้ของนาง จ. จะไม่สมบูรณ์เนื่องจากมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ แต่การครอบครองที่ดินของโจทก์ทั้งสองก็เป็นการครอบครองโดยเจตนายึดถือเพื่อตน โจทก์ทั้งสองจึงได้สิทธิครอบครองในที่พิพาทแปลงที่ 1 และที่ 3 ครึ่งหนึ่ง กับได้สิทธิครอบครองที่ดินแปลงที่ 2 ตามที่นาง จ. ยกให้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1367 ส่วนที่ดินแปลงที่ 4 โจทก์ทั้งสองก็ได้ครอบครองร่วมกับนาง จ. โดยสงบและเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันมาเป็นเวลากว่า 10 ปี โจทก์ทั้งสองจึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 ตามส่วนที่ น. ทำพินัยกรรมให้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3683/2535

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนนิติกรรมซื้อขายทรัพย์มรดกและสินสมรส, อายุความมรดก, สิทธิของทายาทและผู้รับโอน
การแบ่งสินสมรสระหว่างสามีภริยาที่อยู่กินกันก่อนใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 5 ต้องแบ่งกันตามกฎหมายลักษณะผัวเมีย เมื่อต่างฝ่ายต่างไม่มีสินเดิม ฝ่ายชายได้ 2 ส่วนฝ่ายหญิงได้ 1 ส่วน
การยกให้ที่ดินที่ไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เป็นการไม่ปฏิบัติตามแบบที่กฎหมายกำหนด จึงไม่สมบูรณ์ สำหรับปัญหาการครอบครองปรปักษ์นั้น มิใช่เป็นข้อที่ยกขึ้นว่ากันมาในศาลล่าง ต้องห้ามมิให้ฎีกา จึงไม่รับวินิจฉัย
สินสมรสในส่วนของ ป. นั้น แม้จำเลยที่ 1 จะเป็นผู้จัดการมรดกของ ท. สามีของป. จำเลยที่ 1 ก็ไม่มีสิทธิที่จะจัดการจำหน่ายจ่ายโอนได้เพราะมิใช่มรดกของ ท. การที่จำเลยที่ 1โอนทรัพย์สินส่วนนี้ของ ป.ให้แก่จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 โอนให้จำเลยที่ 3 ต่อมา จึงไม่มีผลให้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินส่วนนี้เปลี่ยนแปลงไป โดยไม่ต้องคำนึงว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 รับโอนโดยสุจริตและมีค่าตอบแทนหรือไม่
สำหรับสินสมรสส่วนของ ท.นั้น เป็นมรดกของ ท. ซึ่ง ป.ภริยาของ ท. กับจำเลยที่ 1 น้องของ ท.มีสิทธิได้รับคนละกึ่งหนึ่ง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1635 (2) จำเลยที่ 1ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ท.มีสิทธิและหน้าที่ในการจัดการทรัพย์มรดกของ ท.โดยทายาทย่อมมีความผูกพันต่อบุคคลภายนอกในกิจการทั้งหลายอันผู้จัดการมรดกได้ทำไปภายในขอบอำนาจตามป.พ.พ. มาตรา 1724 การขายทรัพย์มรดกเป็นเรื่องอยู่ภายในขอบอำนาจของผู้จัดการมรดกอย่างหนึ่งดังที่ ป.พ.พ. มาตรา 1736 และมาตรา 1740 บัญญัติให้อำนาจไว้ แต่ถ้าผู้จัดการมรดกโอนขายทรัพย์มรดกให้แก่ผู้อื่นโดยไม่สุจริตหรือโดยสมยอมกัน ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกซึ่งอยู่ในฐานะเจ้าหนี้และเป็นฝ่ายต้องเสียเปรียบ ย่อมมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนได้ตาม ป.พ.พ.มาตรา 237
จำเลยที่ 3 รับโอนที่ดิน น.ส.3 ก. ซึ่งเป็นสินสมรสของ ท.และ ป.จากจำเลยที่ 2 โดยไม่ปรากฏว่าได้สมรู้หรือคบคิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 หรือรับโอนโดยไม่สุจริตอย่างไร ทั้งเป็นการรับโอนโดยมีค่าตอบแทน แม้การโอนก่อนหน้านี้ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 จะไม่สุจริต ก็ไม่อาจเพิกถอนการโอนระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 3 ในส่วนที่เป็นมรดกของ ท.ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 238 คงต้องเพิกถอนเฉพาะการโอนในส่วนที่เป็นสินสมรสส่วนของ ป. 1 ส่วน เท่านั้น
จำเลยที่ 2 รับโอนที่ดินมีโฉนดซึ่งเป็นสินสมรสของ ท.และ ป. จากจำเลยที่ 1 โดยทราบว่ายังมีผู้อื่นนอกจากจำเลยที่ 1 ที่มีสิทธิรับมรดกของ ท. และจำเลยที่ 1ยังมิได้จัดการแบ่งปันให้แก่ทายาทผู้มีสิทธิ จึงเป็นการกระทำโดยไม่สุจริต โจทก์ผู้รับมรดกแทนที่ของทายาทจึงมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนได้ แต่อย่างไรก็ตามจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้โอนในฐานะผู้จัดการมรดกมีส่วนได้ทรัพย์มรดกรายนี้ในฐานะทายาทด้วยครึ่งหนึ่ง จึงให้เพิกถอนการโอนเฉพาะในส่วนที่เกินสิทธิของจำเลยที่ 1 เท่านั้น ซึ่งจำเลยที่ 2 รับโอนที่ดินโฉนดนี้ไม่เต็มทั้งแปลงโดยรับโอนเพียง 16 ไร่เศษ ในจำนวน 22 ไร่เศษ กล่าวคือต้องเพิกถอนการโอนเฉพาะส่วนที่เกิน 1 ใน 3 ส่วน ของที่ดิน และเมื่อนำส่วนที่เพิกถอนไปรวมกับส่วนที่จำเลยที่ 1รับโอนไว้เองจำนวน 6 ไร่แล้ว ได้จำนวน 2 ใน 3 ส่วน ครบจำนวนตามสิทธิของโจทก์
จำเลยที่ 2 เป็นผู้รับโอนทรัพย์มรดกมาจากจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกจึงเป็นบุคคลซึ่งชอบที่จะใช้สิทธิของผู้จัดการมรดกยกอายุความมรดกขึ้นต่อสู้โจทก์ได้ ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1755 แต่อย่างไรก็ตาม สำหรับสินสมรสส่วนของ ป. 1 ส่วนนั้น ไม่ใช่ทรัพย์มรดกของ ท.จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่อาจอ้างอายุความมรดกมาตัดสิทธิ ป.เจ้าของหรือโจทก์ซึ่งเป็นทายาทของเจ้าของในการติดตามเอาทรัพย์สินคืน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 เกี่ยวกับสินสมรสส่วนของ ท. 2 ส่วน ซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของ ท.นั้น การที่จำเลยที่ 1 ครอบครองทรัพย์มรดกในระหว่างจัดการ ถือได้ว่าเป็นการครอบครองแทนทายาท จำเลยที่ 1 จะยกอายุความ 1 ปีตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 ขึ้นต่อสู้ทายาทไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3527/2535

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแบ่งมรดก, สินสมรส, และสินเดิมระหว่างสามีภรรยาหลังการเสียชีวิตของภรรยา
คดีก่อนที่โจทก์ที่ 2 ฟ้องจำเลยทั้งสองมีประเด็นข้อพิพาทว่าจำเลยที่ 1 เป็นบุตรของ ส. และ น. หรือไม่ กับมีเหตุที่จะเพิกถอนคำสั่งที่ตั้งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของ ส. และน. หรือไม่ ส่วนคดีนี้ประเด็นข้อพิพาทเป็นเรื่องโจทก์ทั้งสองฟ้องขอแบ่งมรดกของ ส. จากจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของส.และน.กับเรียกมรดกของส. คืนจากจำเลยทั้งสองที่รับโอนไปโดยมิชอบคนละประเด็นกับที่ได้วินิจฉัยในคดีก่อน จึงมิใช่เป็นการรื้อฟ้องร้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน ไม่เป็นฟ้องซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 ล. เป็นพี่สาวร่วมบิดามารดาเดียวกันกับ ส. เจ้ามรดกจึงเป็นทายาทโดยธรรม ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1629(3) เมื่อ ล.ตายก่อน ส. โจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นบุตรของ ล. จึงมีสิทธิรับมรดกของ ส. แทนที่ ล. ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1639 ที่ดินแปลงที่ น. ได้มาระหว่างอยู่กินเป็นสามีภรรยากับ ส.ก่อนจดทะเบียนสมรสกันย่อมมีกรรมสิทธิ์รวมกันคนละส่วน เมื่อ น.ตายก่อน ส. ส่วนที่เป็นของ น. จึงเป็นมรดกตกได้แก่จำเลยที่ 1บิดาของ น. ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรม และ ส. คนละกึ่งหนึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1635(2) ส. จึงมีส่วนกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงดังกล่าว 3 ใน 4 ส่วน เมื่อ ส. และ น. ต่างฝ่ายต่างมีสินเดิม การแบ่งเงินฝากในธนาคารซึ่งเป็นสินสมรสจึงต้องแบ่งกันคนละส่วน ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1625(1) ประกอบมาตรา 1517(เดิม) ส่วนของ น. ย่อมตกได้แก่จำเลยที่ 1 และ ส.คนละกึ่งหนึ่งส. จึงมีส่วนในเงินฝาก3 ใน 4 ส่วน การที่จำเลยที่ 1 ถอนเงินจากธนาคารไปทั้งหมด จำเลยที่ 1 จึงมีหน้าที่ต้องแบ่งเงินให้แก่โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นทายาทของ ส.3 ใน 4 ส่วน.