คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 ม. 31

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4040/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การริบเรือในความผิดศุลกากร: ข้อจำกัดขนาดระวางบรรทุกและองค์ประกอบความผิด
โจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยนำหรือยอมให้ผู้อื่นนำของที่ต้องเสียภาษีลงในเรือหรือออกจากเรือในทะเล ซึ่งอาจเป็นทางแก่การฉ้อประโยชน์รายได้ของแผ่นดิน หรือเป็นการหลีกเลี่ยง ข้อจำกัด หรือข้อห้าม ซึ่งเป็นองค์ประกอบของความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากรฯ มาตรา 31 เพียงแต่ระบุในคำขอท้ายฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามมาตราดังกล่าวเท่านั้น เป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) ศาลจึงพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดดังกล่าวไม่ได้
มาตรา 32 แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 ซึ่งใช้บังคับขณะเกิดการกระทำความผิดคดีนี้บัญญัติว่า เรือชนิดใด ๆ อันมีระวางบรรทุกไม่เกินสองร้อยห้าสิบตัน? หากใช้ในการย้ายถอน ซ่อนเร้น หรือขนของที่ยังมิได้เสียค่าภาษี หรือที่ต้องจำกัด หรือต้องห้าม ท่านว่าให้ริบเสียสิ้น? แสดงว่า พ.ร.บ.ศุลกากรได้บัญญัติถึงการริบเรือที่นำมาใช้ในการกระทำความผิดตามบทมาตราดังกล่าวไว้เป็นพิเศษโดยชัดแจ้งว่า เฉพาะเรือที่มีระวางบรรทุกไม่เกิน 250 ตันเท่านั้น ที่จะพึงริบได้ ดังนั้น การริบเรือที่มีระวางบรรทุกเกิน 250 ตัน จึงไม่อาจกระทำได้ ซึ่งจะเห็นเจตนารมณ์ของบทกฎหมายดังกล่าวได้จากมาตรา 32 วรรคสอง ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.ศุลกากร (ฉบับที่ 16) พ.ศ. 2542 มาตรา 4 ที่บัญญัติว่า ถ้าเรือที่ได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำตามวรรคหนึ่งมีระวางบรรทุกเกินสองร้อยห้าสิบตัน ให้ศาลมีอำนาจสั่งริบเรือนั้นได้ตามสมควรแก่การกระทำความผิด
มาตรา 120 แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 บัญญัติว่า เมื่อใดบทบัญญัติพระราชบัญญัติศุลกากรแตกต่างกับบทกฎหมายหรือพระราชบัญญัติอื่น ให้ยกเอาบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ กรณีจึงไม่อาจนำบทบัญญัติเรื่องการริบทรัพย์สินตาม ป.อ. มาตรา 33 (1) มาใช้บังคับแก่คดีนี้ซึ่งเป็นเรื่องการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากรฯ มาตรา 27 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10330/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เครื่องคีบตุ๊กตาเป็นสินค้าต้องห้ามนำเข้าตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ เนื่องจากมีลักษณะเป็นเครื่องเล่นเกมที่ทำให้เกิดผลแพ้ชนะได้
ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ ว่าด้วยการนำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักร (ฉบับที่ 122) พ.ศ. 2540 กำหนดสินค้าต้องห้ามคือ เครื่องเล่นเกม ซึ่งใช้เครื่องกล พลังไฟฟ้า พลังแสงสว่าง หรือพลังอื่นใด ทั้งที่เป็นเครื่องครบชุดสมบูรณ์ หรือมีลักษณะอันเป็นสาระสำคัญที่ทำให้เห็นได้ว่าเป็นเครื่องครบชุดสมบูรณ์หรือแต่บางส่วน ตามพิกัดอัตราอากรขาเข้าประเภทย่อย 9504.30 , 9504.901 และ 9504.909 ของประเภท 95.04 ซึ่งโดยสภาพจะใช้เล่นอันจะทำให้แพ้ชนะกันได้ไม่ว่าด้วยการนับแต้ม หรือเครื่องหมายใด ๆ หรือไม่ก็ตาม เครื่องคีบตุ๊กตาของโจทก์เป็นสินค้าในพิกัดที่ 95.04 เมื่อมีลักษณะการทำงานให้ผู้เล่นหยอดเหรียญ แล้วกดปุ่มให้เครื่องคนตุ๊กตา จากนั้นผู้เล่นจะยกตัวคีบตุ๊กตาไปคีบตุ๊กตา หากคีบได้จะได้ตุ๊กตา หากคีบไม่ได้จะเสียเงิน 10 บาทให้เจ้าของตู้ เครื่องเล่นของโจทก์จึงเพื่อประสงค์จะเล่นให้ได้ตุ๊กตาในตู้เท่านั้น การเล่นเพิ่มให้ได้ตุ๊กตาจึงเป็นการเล่นเพียงให้เกิดผลแพ้ชนะได้ ถือได้ว่าเจ้าของเครื่องเป็นผู้เล่นอีกฝ่ายหนึ่ง เครื่องคีบตุ๊กตาจึงเป็นของต้องห้ามนำเข้ามาในราชอาณาจักร