คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.จัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 ม. 39

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1934/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยกเลิกสัญญาจ้างงานเนื่องจากตรวจพบสารเสพติดในร่างกายลูกจ้างหลังทำงานไปแล้ว มิใช่ผิดสัญญา
สัญญาจ้างแรงงานที่ว่า ในกรณีลูกจ้างไม่ผ่านการตรวจสุขภาพโดยแพทย์ตรวจพบว่าเป็นโรคที่ทางการไต้หวันไม่อนุญาตให้ทำงาน นายจ้างสามารถยกเลิกสัญญาและส่งลูกจ้างกลับประเทศไทย โดยลูกจ้างจะได้รับค่าบริการและค่าใช้จ่ายคืนนั้น จะต้องเป็นกรณีตรวจพบโรคต่าง ๆ ตามเงื่อนไขในสัญญาซึ่งสามารถตรวจพบได้ก่อนตกลงทำสัญญา หากตรวจพบแล้วผู้จัดหางานก็ชอบที่จะไม่ตกลงทำสัญญากับคนหางานแต่กรณีของโจทก์เป็นการตรวจพบมอร์ฟินซึ่งเป็นสารเสพติดในร่างกายภายหลังจากที่โจทก์ได้ทำงานที่ประเทศไต้หวันแล้ว 16 วัน จึงไม่เป็นการตรวจพบโรคตามที่ระบุไว้ในสัญญาการที่โจทก์ใช้สารเสพติดจึงเป็นกรณีโจทก์ฝ่าฝืนสัญญาจ้างแรงงาน โดยเจตนาฝ่าฝืนกฎหมายและระเบียบของประเทศไต้หวัน ซึ่งจำเลยผู้เป็นนายจ้างสามารถยกเลิกสัญญาและส่งโจทก์กลับประเทศไทยได้ โดยไม่ต้องคืนค่าบริการและค่าใช้จ่ายให้โจทก์
พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 มาตรา 39 และมาตรา 46 บัญญัติขึ้นเพื่อคุ้มครองคนหางานให้ได้ทำงานตามที่ตกลงกันไว้ในสัญญาและเป็นบทบังคับให้ผู้จัดหางานต้องจัดให้คนหางานได้ทำงานตามข้อตกลงในสัญญาแต่โจทก์ได้ทำงานแล้ว 16 วัน ฉะนั้น การที่โจทก์ไม่ได้รับอนุญาตให้ทำงานต่อไปเนื่องจากการตรวจพบมอร์ฟินในร่างกาย จึงเกิดจากการกระทำของโจทก์เอง ไม่อยู่ในวิสัยที่จำเลยจะรับผิดชอบได้ มิใช่กรณีจำเลยซึ่งเป็นผู้จัดหางานไม่สามารถจัดให้โจทก์ซึ่งเป็นคนหางานได้ทำงานตามที่ตกลงกัน อันจะถือว่าเป็นการปฏิบัติผิดสัญญาตามความหมายแห่งบทบัญญัติในมาตราทั้งสองนั้น จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามข้อสัญญาและตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าบริการและค่าใช้จ่ายคืนจากจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1934/2546 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยกเลิกสัญญาจ้างงานเนื่องจากตรวจพบสารเสพติด ไม่ถือเป็นการปฏิบัติผิดสัญญาของผู้จัดหางาน
สัญญาจ้างแรงงานข้อที่กำหนดว่า ในกรณีลูกจ้างไม่ผ่านการตรวจสุขภาพ โดยแพทย์ตรวจพบว่าเป็นโรคที่ทางการไต้หวันไม่อนุญาตให้ทำงาน เช่น วัณโรค กามโรค? นายจ้างสามารถยกเลิกสัญญาและส่งลูกจ้างกลับประเทศโดยลูกจ้างจะได้รับค่าบริการและค่าใช้จ่ายคืนนั้น ต้องเป็นกรณีตรวจพบโรคต่าง ๆ ตามเงื่อนไขในสัญญาซึ่งสามารถตรวจพบได้ก่อนตกลงทำสัญญา หากตรวจพบแล้วผู้จัดหางานก็ชอบที่จะไม่ตกลงทำสัญญากับคนหางานได้ กรณีของโจทก์เป็นการตรวจพบมอร์ฟิน ซึ่งเป็นสารเสพติดและไม่ได้ความว่าจำเป็นต้องใช้หรือได้รับอนุญาตจากแพทย์ในการรักษาโรคหรืออาการเจ็บป่วย จึงไม่เป็นการตรวจพบโรคตามข้อสัญญาดังกล่าว แต่เป็นกรณีโจทก์ฝ่าฝืนสัญญาจ้างแรงงานในข้อที่ว่าเจตนาฝ่าฝืนกฎหมายและระเบียบของประเทศไต้หวัน ซึ่งตามสัญญานายจ้างสามารถยกเลิกสัญญาและส่งโจทก์กลับประเทศไทยได้โดยไม่ต้องคืนค่าบริการและค่าใช้จ่ายให้โจทก์
โจทก์ได้ทำงานแล้ว 16 วัน การที่โจทก์ไม่ได้รับอนุญาตให้ทำงานต่อไปเนื่องจากการตรวจพบมอร์ฟินในร่างกาย จึงเกิดจากการกระทำของโจทก์เอง ไม่อยู่ในวิสัยที่จำเลยจะรับผิดชอบได้ และมิใช่กรณีจำเลยผู้จัดหางานไม่สามารถจัดให้โจทก์ซึ่งเป็นคนหางานได้ทำงานตามที่ตกลงกัน อันจะถือว่าเป็นการปฏิบัติผิดสัญญาตามความหมายของ พ.ร.บ. จัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 มาตรา 39 และมาตรา 46 โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าบริการและค่าใช้จ่ายคืนจากจำเลย