คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ม. 134

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 7 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4047-4053/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม การจงใจทำให้นายจ้างเสียหาย และการฝ่าฝืนข้อบังคับบริษัท
การพิจารณาเรื่องการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49 ต้องพิจารณาว่ามีสาเหตุแห่งการเลิกจ้างหรือไม่ และสาเหตุดังกล่าวเพียงพอแก่การเลิกจ้างหรือไม่เป็นสำคัญ ซึ่งอาจเป็นเหตุที่เกิดขึ้นจากการกระทำของลูกจ้างเอง หรือเหตุอื่นที่มิใช่ความผิดของลูกจ้างก็ได้
จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งเจ็ดเพราะเหตุที่หยุดงานเพื่อชุมนุมเรียกร้องที่หน้าบริษัทจำเลยโดยไม่มีเหตุสมควรและไม่ชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยที่ห้ามพนักงานจำเลยชุมนุมกันภายในบริษัท และห้ามพนักงานหยุดงานประท้วงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งโจทก์ทั้งเจ็ดฝ่าฝืนคำสั่งของจำเลยที่ให้โจทก์ทั้งเจ็ดกลับเข้าทำงาน ซึ่งเหตุแห่งการเลิกจ้างดังกล่าวเป็นเหตุที่เกิดจากการกระทำของโจทก์ทั้งเจ็ดที่เพียงพอแก่การเลิกจ้างได้ ส่วนการที่จำเลยไม่เลิกจ้างหรือลงโทษพนักงานอื่นที่ร่วมชุมนุมเรียกร้องกับโจทก์ทั้งเจ็ดนั้น เป็นดุลพินิจในการบริหารจัดการของจำเลยจึงไม่ใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
กรณีที่ลูกจ้างจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย เมื่อลูกจ้างได้กระทำการอันเป็นการจงใจให้นายจ้างได้รับความเสียหายแล้ว ไม่ว่าความเสียหายจะเกิดขึ้นตามความประสงค์ของลูกจ้างแล้วหรือไม่ ก็ต้องด้วยพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119(2) แล้ว
โจทก์ทั้งเจ็ดชุมนุมกันที่หน้าบริษัทจำเลยโดยไม่ได้แจ้งข้อเรียกร้องตามกฎหมายและไม่ได้เข้าทำงานในวันที่ 14 วันที่ 15 และวันที่ 17 มิถุนายน 2543 การละทิ้งหน้าที่ของโจทก์ทั้งเจ็ดย่อมมีผลกระทบกระเทือนต่อกิจการของจำเลยมิให้ดำเนินไปได้ตามปกติทำให้จำเลยขาดรายได้ จึงถือได้ว่าโจทก์ทั้งเจ็ดจงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหายส่วนการฝ่าฝืนข้อบังคับของจำเลยในข้อวินัย 1.4(1)(2) แม้ข้อบังคับดังกล่าวจะไม่ได้ระบุว่าเป็นกรณีร้ายแรงแต่ก็ไม่ได้ระบุว่าการฝ่าฝืนข้อบังคับในข้อนี้เป็นกรณีไม่ร้ายแรงซึ่งกรณีจะถือว่าร้ายแรงหรือไม่ต้องพิจารณาจากการกระทำของโจทก์ทั้งเจ็ด การที่โจทก์ทั้งเจ็ดชุมนุมกันภายในบริษัทจำเลยและหยุดงานประท้วงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเป็นการฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 34 ซึ่งมีโทษทางอาญาตามมาตรา 134 จึงเป็นกรณีร้ายแรง