คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 ม. 34

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 3 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5911/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ นายจ้างมีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการลูกจ้างเข้าประกันสังคมตามกฎหมายประกันสังคม
พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 33 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ลูกจ้างซึ่งมีอายุไม่ต่ำกว่าสิบห้าปีบริบูรณ์และไม่เกินหกสิบปีบริบูรณ์เป็นผู้ประกันตน และมาตรา 34 บัญญัติให้นายจ้างซึ่งมีลูกจ้างที่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ยื่นแบบรายการแสดงรายชื่อผู้ประกันตน อัตราค่าจ้าง และข้อความอื่นตามแบบที่เลขาธิการกำหนดต่อสำนักงานภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ลูกจ้างนั้นเป็นผู้ประกันตน เมื่อจำเลยเป็นนายจ้างโจทก์ จำเลยจึงต้องยื่นแบบรายการแสดงรายชื่อโจทก์ อัตราค่าจ้าง และข้อความอื่นตามที่มาตรา 34 บัญญัติไว้ การที่จำเลยไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติดังกล่าวย่อมทำให้โจทก์ไม่ได้รับสิทธิประโยชน์อันจะพึงมีในฐานะเป็นผู้ประกันตน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4198/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สถานะนายจ้างตามพรบ.ประกันสังคม กรณีเหมาค่าแรงและควบคุมดูแลการทำงาน
การที่จะถือว่าผู้ประกอบกิจการอยู่ในฐานะนายจ้างของลูกจ้างของผู้รับเหมาค่าแรงตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 มาตรา 35 และมีหน้าที่ต้องยื่นแบบรายการตามมาตรา 34 และจ่ายเงินสมทบสำหรับลูกจ้างของผู้รับเหมาค่าแรงต่อสำนักงานประกันสังคม คนงานที่มาทำงานให้แก่ผู้ประกอบกิจการจะต้องเป็นลูกจ้างของผู้รับเหมาค่าแรง
โจทก์เป็นผู้ประกอบการค้าข้าวเมื่อโจทก์จะต้องขนข้าวลงเรือให้แก่ผู้ซื้อจากต่างประเทศ โจทก์จะว่าจ้าง ส. เป็นผู้รับเหมาค่าแรงทำการขนข้าวลงเรือ ส. จะแจ้งให้ ท. ไปจัดหากรรมกรตามจำนวนพอเหมาะกับปริมาณข้าวที่จะขนถ่ายลงเรือมาแบกขน ก่อนขนข้าวลงเรือกรรมกรจะต้องผสมข้าวด้วยเครื่องจักรภายในโกดังของโจทก์และบรรจุใส่กระสอบผ่านสายพานและให้กรรมกรรอแบกกระสอบข้าวจากปลายสายพานไปลงเรือ การทำงานดังกล่าวทั้งหมดของกรรมกรอยู่ภายใต้การควบคุมและสั่งการของ ส. ส. จึงมีอำนาจบังคับบัญชาเหนือกรรมกรทุกคน ประกอบกับ ส.เพียงผู้เดียวเป็นคนจ่ายค่าจ้างให้แก่กรรมกรที่มาแบกข้าวแต่ละวัน นิติสัมพันธ์ระหว่างส. กับกรรมกรดังกล่าวเข้าลักษณะจ้างแรงงานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 575 ส. จึงเป็นนายจ้างของกรรมกรทั้งหมด เมื่อปรากฏว่าส. ควบคุมกรรมกรให้ทำงานในโกดังอันเป็นสถานประกอบกิจการของโจทก์และใช้เครื่องมือที่สำคัญสำหรับใช้ทำงานที่โจทก์เป็นผู้จัดทำ โดยการทำงานดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งในธุรกิจของโจทก์ ดังนี้ โจทก์ย่อมอยู่ในฐานะนายจ้างของกรรมกรทั้งหมดด้วยตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 มาตรา 35 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4198/2546 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ นายจ้างตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม: การว่าจ้างเหมาค่าแรงและลักษณะนายจ้าง-ลูกจ้าง
ผู้ประกอบกิจการที่จะอยู่ในฐานะนายจ้างของคนงานรับเหมาค่าแรง ตามมาตรา 35 แห่ง พ.ร.บ. ประกันสังคม พ.ศ. 2533 ต้องเป็นผู้ประกอบกิจการที่ได้ว่าจ้างเหมาค่าแรงให้แก่ผู้รับเหมาค่าแรงรายใดรายหนึ่งเป็นผู้จัดหาคนงานให้แก่ผู้ประกอบกิจการ หรือผู้รับเหมาค่าแรงนำงานอันเป็นธุรกิจ หรือกระบวนการผลิตของผู้ประกอบกิจการไปให้คนงานของผู้รับเหมาค่าแรงทำในสถานประกอบกิจการหรือสถานที่ทำงานโดยใช้เครื่องมือที่สำคัญในการทำงานของผู้ประกอบกิจการ และคนงานเหล่านั้นต้องมีฐานะเป็นลูกจ้างของผู้รับเหมาค่าแรงด้วย
โจทก์เป็นผู้ประกอบธุรกิจค้าข้าว ในการขนข้าวลงเรือไปขายให้แก่ลูกค้าที่อยู่ต่างประเทศ โจทก์ว่าจ้าง ส. จีนเต็งใหญ่เป็นผู้รับเหมาค่าแรงขน ส. จะให้ ท. จีนเต็งหัวหน้าสายเป็นคนจัดหาคนงานซึ่งสมัครใจรับจ้างรายวันเฉพาะกิจเป็นคราว ๆ มาขนข้าวสาร โดยก่อนขนข้าวสารลงเรือ คนงานต้องผสมข้าวสารด้วยเครื่องจักรของโจทก์และบรรจุใส่กระสอบผ่านสายพานในโกดังของโจทก์ อันเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับใช้ทำงานที่โจทก์เป็นผู้จัดหา แล้วแบกกระสอบข้าวสารไปลงเรือ การทำงานของคนงานจึงอยู่ภายใต้การควบคุมและสั่งการของ ส. ส. ย่อมมีอำนาจบังคับบัญชาเหนือคนงานทุกคน ประกอบกับ ส. เป็นคนจ่ายค่าจ้างให้แก่คนงานที่มาแบกขนข้าวสารแต่ละวัน นิติสัมพันธ์ระหว่าง ส. กับคนงานจึงเข้าลักษณะจ้างแรงงาน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 575 ส. มีฐานะเป็นนายจ้างของคนงาน และเมื่อการทำงานดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งในธุรกิจของโจทก์ โจทก์จึงอยู่ในฐานะนายจ้างของคนงานทั้งหมดด้วย เมื่อขณะเกิดเหตุโจทก์มีลูกจ้างเกิน 10 คน โจทก์ย่อมมีหน้าที่ตาม พ.ร.บ. ประกันสังคม พ.ศ. 2533 ต้องแจ้งการเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงนายจ้าง กรณีเปลี่ยนวันที่มีหน้าที่ชำระเงินสมทบ และชำระเงินสมทบให้แก่จำเลย