คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.อ. ม. 213

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 522 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2633-2634/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานและทำร้ายร่างกาย: ศาลพิจารณาการกระทำเป็นรายบุคคลและปรับบทลงโทษ
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองในความผิดฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้เสียหายซึ่งกระทำการตามหน้าที่ตาม ป.อ. มาตรา 296 แต่ความผิดดังกล่าวย่อมรวมถึงการใช้กำลังทำร้ายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ตามมาตรา 391 ด้วย ถือได้ว่าความผิดตามฟ้องรวมการกระทำหลายอย่างซึ่งแต่ละอย่างอาจเป็นความผิดได้อยู่ในตัวเอง เมื่อทางพิจารณาได้ความว่าการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดตามมาตรา 391 ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยทั้งสองในการกระทำตามที่พิจารณาได้ความได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
ข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยที่ 1 เป็นคนแรกที่วิ่งเข้ามาต่อยผู้เสียหาย หลังจากนั้นผู้เสียหายถูกกลุ่มวัยรุ่นพยายามรุมล้อมให้เข้าไปในบริเวณที่มืด แต่ผู้เสียหายวิ่งหนีไปบริเวณสามแยกที่มีแสงสว่างจากไฟฟ้าสาธารณะริมถนน จากนั้นจึงถูกจำเลยที่ 2 กับวัยรุ่นอีกคนหนึ่งวิ่งเข้ามาต่อย พฤติการณ์ของจำเลยทั้งสองและวัยรุ่นอีกคนหนึ่งที่เข้ามาต่อยผู้เสียหายดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าเป็นการตัดสินใจกระทำไปตามลำพังของจำเลยแต่ละคนโดยมิได้คบคิดกัน จึงถือไม่ได้ว่าเป็นตัวการร่วมกันกระทำความผิด จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่โดยใช้กำลังประทุษร้ายตาม ป.อ. มาตรา 138 วรรคสอง เท่านั้น จะปรับบทลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 140 วรรคแรก ซึ่งเป็นบทลงโทษผู้กระทำความผิดตามมาตรา 138 วรรคสอง โดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สามคนขึ้นไปไม่ได้ แม้จำเลยที่ 2 มิได้ฎีกาปัญหานี้ แต่เป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 2 ที่มิได้ฎีกาด้วยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15717/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจตนาบุกรุกทำลายทรัพย์สิน ไม่ถึงขั้นปล้นทรัพย์ ศาลปรับบทลงโทษ
จำเลยที่ 2 กับพวกมีเจตนาบุกรุกเข้าไปทำร้ายคนในบ้านผู้เสียหาย เมื่อไม่พบก็นำรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายไปเผา มิใช่มุ่งเอาประโยชน์จากทรัพย์จึงไม่ใช่เอาทรัพย์ไปโดยเจตนาทุจริต ถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 กับพวกมีเจตนาลักทรัพย์ของผู้เสียหาย การกระทำดังกล่าวจึงไม่เป็นความผิดฐานปล้นทรัพย์ตามฟ้อง
จำเลยที่ 2 กับพวกอีกประมาณ 10 คน บุกรุกเข้าไปในบริเวณบ้านพักอันเป็นเคหสถานที่อยู่อาศัยของผู้เสียหายในเวลากลางคืนและใช้อาวุธปืนขู่เข็ญว่าจะทำร้ายผู้เสียหายและกลับออกไปพร้อมนำรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายไปด้วยกัน เป็นการเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นโดยไม่มีเหตุอันสมควรอันเป็นความผิดฐานบุกรุกตาม ป.อ. มาตรา 365 (2) (3) แต่เนื่องจากโจทก์มีคำขอท้ายฟ้องให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตาม ป.อ. มาตรา 364 จึงมิอาจลงโทษจำเลยที่ 2 ตามฐานความผิดดังกล่าวซึ่งมีโทษหนักกว่าที่โจทก์ขอและถือเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์จะให้ลงโทษ จึงลงโทษจำเลยทั้งสองในความผิดฐานบุกรุกตาม ป.อ. มาตรา 364 เท่านั้น
จำเลยที่ 2 กับพวกเผารถจักรยานยนต์เป็นความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ซึ่งเป็นเจตนาแยกต่างหากจากเจตนาแรกที่บุกรุกเข้าไปจะทำร้ายบุคคลที่อยู่ในบ้านผู้เสียหาย จึงเป็นความผิดต่างกรรมกัน แต่ข้อแตกต่างระหว่างความผิดฐานปล้นทรัพย์และฐานทำให้เสียทรัพย์ มิได้แตกต่างกันในสาระสำคัญ ทั้งจำเลยที่ 2 ก็มิได้หลงต่อสู้ ศาลฎีกามีอำนาจปรับบทลงโทษจำเลยที่ 2 ในฐานความผิดที่ถูกต้อง และมีบทลงโทษเบากว่าที่โจทก์ฟ้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสาม
เมื่อศาลฟังว่าจำเลยที่ 2 มิได้กระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์ แต่กระทำความผิดฐานบุกรุกและ ทำให้เสียทรัพย์ ย่อมเป็นเหตุในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกาจึงมีอำนาจพิพากษาให้มีผลถึงจำเลยที่ 1 ซึ่งร่วมกระทำผิดแต่มิได้ฎีกาให้ได้รับประโยชน์ดุจจำเลยที่ 2 ผู้ฎีกาได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9366/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาไม่ชอบ หากจำเลยฎีกาให้ยกฟ้องจำเลยอื่นร่วมด้วย การดำเนินคดีกับจำเลยหลบหนีไม่ชอบด้วยวิธีพิจารณา
เมื่อศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกาเพื่อขอให้ศาลฎีกาพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 3 และที่ 4 เสียด้วย เป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะการฎีกาในปัญหาใดต่อศาลฎีกา เป็นปัญหาเฉพาะตัวของจำเลยแต่ละคน จึงถือว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่มีข้อโต้แย้งและคัดค้านว่าศาลอุทธรณ์พิจารณาและพิพากษาคดีในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ถูกต้องและผิดต่อกฎหมายอย่างใด ที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ศาลชั้นต้นออกหมายจับจำเลยที่ 3 และที่ 4 เพราะมีพฤติการณ์หลบหนี และมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ 3 และที่ 4 ชั่วคราว การดำเนินกระบวนพิจารณาต่อจากนั้นไม่ได้กระทำโดยเปิดเผยต่อหน้าจำเลยที่ 3 และที่ 4 ถือว่ายังไม่ได้มีการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 4 ในศาลชั้นต้น เมื่อไม่ได้มีการยกคดีในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 3 และที่ 4 ขึ้นพิจารณา การที่ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาคดีต่อจากนั้นจึงไม่เกี่ยวกับจำเลยที่ 3 และที่ 4 คงเป็นเรื่องที่ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาคดีในส่วนของจำเลยอื่นที่ไม่ได้ถูกจำหน่ายคดี แม้หากคดีนี้จะฟังข้อเท็จจริงได้ดังที่จำเลยที่ 3 และที่ 4 อ้าง ว่าจำเลยที่ 3 และที่ 4 ไม่มีความผิดเช่นเดียวกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็ตาม ก็ไม่อาจถือเป็นเหตุในลักษณะคดีตาม ป.วิ.อ. มาตรา 213 ให้มีผลถึงจำเลยที่ 3 และที่ 4 ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7429/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การละเมิดลิขสิทธิ์งานแพร่เสียงแพร่ภาพ การพิสูจน์องค์ประกอบความผิด การรับสิทธิจากผู้มีอำนาจ
โจทก์ร่วมที่ 3 และที่ 4 เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายของประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นประเทศภาคีในอนุสัญญากรุงเบิร์น กับเป็นประเทศภาคีในความตกลงว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้า อันเป็นอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองลิขสิทธิ์ ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ด้วย ได้ทำและนำออกสู่สาธารณชนซึ่งรายการกีฬาทางโทรทัศน์ช่อง "ESPN" กับ "STAR SPORTS" และรายการข่าวทางโทรทัศน์ข่าว "CNN" ตามลำดับ โดยการแพร่เสียงแพร่ภาพทางโทรทัศน์ จึงเป็นผู้สร้างสรรค์ซึ่งมีลิขสิทธิ์ร่วมกับบริษัทยูบีซี (UBC) ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นทรูวิชันส์ (true visions) ทำความตกลงการมีสิทธิเด็ดขาดแต่ผู้เดียวในการให้บริการแพร่เสียงแพร่ภาพรายการโทรทัศน์ช่องดังกล่าวแก่สมาชิกผู้รับบริการภายในเขตประเทศไทย แต่จำเลยทั้งสองได้รับสิทธิการแพร่เสียงแพร่ภาพรายการโทรทัศน์ทั้ง 3 ช่องดังกล่าวมาจาก ล. ที่ประเทศมาเลเซีย โดยจ่ายค่าตอบแทนให้ ล. ทั้งปรากฏตามทางนำสืบของโจทก์ร่วมที่ 3 และที่ 4 ด้วยว่า การรับภาพและเสียงนั้น หากที่จอเครื่องรับโทรทัศน์ไม่ปรากฏเครื่องหมาย "UBC" แสดงว่าเป็นการรับภาพและเสียงจากต้นกำเนิดโดยตรง กรณีมีเหตุผลให้เชื่อว่าจำเลยทั้งสองได้รับสิทธิการแพร่เสียงแพร่ภาพรายการช่องดังกล่าวมาจาก ล. ที่ประเทศมาเลเซีย จำเลยทั้งสองจึงมิได้กระทำการแพร่เสียงแพร่ภาพซ้ำแก่งานของโจทก์ร่วมที่ 3 และที่ 4 ที่ได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฯ การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดและไม่เป็นความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์เพื่อการค้าดังที่โจทก์ฟ้อง ส่วนปัญหาว่าจำเลยทั้งสองได้รับสิทธิการแพร่ภาพแพร่เสียงจาก ล. มาโดยชอบหรือไม่ ล. ได้รับมอบสิทธิจากโจทก์ร่วมที่ 3 และที่ 4 ให้ทำการแพร่เสียงแพร่ภาพรายการโทรทัศน์ช่องดังกล่าวแต่ผู้เดียวในประเทศมาเลเซียและมีสิทธิอนุญาตช่วงให้จำเลยทั้งสองทำการแพร่เสียงแพร่ภาพซ้ำในประเทศไทยหรือไม่ เป็นเรื่องที่โจทก์ที่ 3 และที่ 4 อาจไปว่ากล่าวเอาแก่ ล. หรือไม่ต่อไป เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิดตามฟ้อง ของกลางจึงไม่ใช่สิ่งที่ได้ใช้ในการกระทำความผิดไม่อาจริบได้ ต้องคืนของกลางทั้งหมดแก่เจ้าของ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1874/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ลดโทษจำเลยจากความช่วยเหลือตำรวจ ยึดยาเสพติด และการรวมโทษทางอาญาที่ถูกต้อง
เมื่อเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้พร้อมเมทแอมเฟตามีนจำนวน 20,000 เม็ด จำเลยที่ 1 และที่ 2 นำเจ้าพนักงานตำรวจไปขุดดินยึดเมทแอมเฟตามีนได้อีกจำนวน 76,000 เม็ด ที่ฝังดินไว้บริเวณป่าละเมาะท้ายหมู่บ้านซึ่งเมทแอมเฟตามีนจำนวนนี้หากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ได้ให้ข้อมูลและนำเจ้าพนักงานตำรวจไปตรวจยึดย่อมเป็นการยากที่เจ้าพนักงานตำรวจจะทราบและตรวจยึดได้เองทั้งยังทำให้เมทแอมเฟตามีนจำนวน 76,000 เม็ด ไม่มีโอกาสแพร่ระบาดต่อไปอีกนับว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ผู้กระทำความผิดผู้ใดให้ข้อมูลที่สำคัญที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อเจ้าพนักงานตำรวจ สมควรวางโทษจำเลยที่ 2 ต่ำกว่าที่ศาลล่างกำหนดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 100/2 เมื่อเหตุที่ศาลฎีกาลดโทษให้จำเลยที่ 2 เป็นเหตุอยู่ในลักษณะคดีแม้ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งไม่รับฎีกาของจำเลยที่ 1 ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจพิพากษาไปถึงจำเลยที่ 1 ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225
ป.อ. มาตรา 91 บัญญัติใจความว่า ความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิด แต่ไม่ว่าจะมีการเพิ่มโทษ ลดโทษ หรือลดมาตราส่วนโทษด้วยหรือไม่ก็ตาม เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วโทษจำคุกทั้งสิ้นต้องไม่เกินกำหนดดังนี้ ...(3) ห้าสิบปีสำหรับกรณีความผิดกระทงที่หนักที่สุดมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกิน 10 ปี ขึ้นไป เว้นแต่กรณีที่ศาลลงโทษจำคุกตลอดชีวิต ฉะนั้น ศาลชั้นต้นชอบที่จะลดโทษให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นรายกระทงก่อนแล้วจึงรวมโทษ การที่ศาลชั้นต้นพิพากษารวมโทษเสียก่อนแล้วจึงลดโทษให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงไม่ชอบด้วย ป.อ. มาตรา 91 (3) ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้ไขมานั้นถูกต้องแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1838/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การใช้ปืนผิดกฎหมายร่วมกันฆ่าผู้อื่น ศาลฎีกาแก้ไขบทลงโทษให้ถูกต้องตามกฎหมาย
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันใช้อาวุธปืนที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ยิงผู้ตาย การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงเป็นความผิดฐานร่วมกันใช้อาวุธปืนที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ในการกระทำความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนตาม ป.อ. มาตรา 289 (4) อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 78 วรรคสามด้วย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่ปรับบทลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในความผิดฐานดังกล่าวจึงไม่ชอบ และความผิดฐานร่วมกันมีอาวุธปืนที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในครอบครองโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายความผิดฐานร่วมกันใช้อาวุธปืนดังกล่าวไปฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน และความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ถือว่าเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทต้องลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนตาม ป.อ. มาตรา 289 (4) ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดเพียงบทเดียวตาม ป.อ. มาตรา 90 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในความผิดฐานร่วมกันมีอาวุธปืนที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในครอบครองแยกต่างกรรมกับความผิดฐานอื่นจึงไม่ถูกต้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 ประกอบมาตรา 225 โดยไม่เพิ่มเติมโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 และเมื่อโจทก์ฟ้องและนำสืบว่าจำเลยที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำความผิดฐานนี้ จึงเป็นเหตุในลักษณะคดีศาลฎีกาพิพากษาให้มีผลถึงจำเลยที่ 3 ซึ่งมิได้ฎีกาด้วย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1201/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ พยานหลักฐานไม่เพียงพอฟังว่ามีการปล้นทรัพย์ ศาลยกฟ้องข้อหาปล้นทรัพย์ แต่ลงโทษทำร้ายร่างกาย
ข้อเท็จจริงในคดีนี้รับฟังไม่ได้ว่ามีการกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์ จึงลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในความผิดฐานปล้นทรัพย์ไม่ได้อันเป็นเหตุในลักษณะคดีแม้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ได้ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในข้อหาดังกล่าวได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225 แต่คดีนี้ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติโดยไม่มีฝ่ายใดฎีกาว่าจำเลยทั้งสามกับพวกรุมชกต่อยใช้ไม้และขวดเบียร์ตีทำร้ายร่างกายผู้เสียหายทั้งสอง เป็นเหตุให้ผู้เสียหายทั้งสองได้รับอันตรายแก่กาย ศาลย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยทั้งสามในความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนได้รับอันตรายแก่กายได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3986-3987/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานทำไม้หวงห้าม-ลักทรัพย์เป็นกรรมเดียว โทษจำคุกตาม พ.ร.บ.ป่าไม้
ความผิดฐานลักทรัพย์จะเกิดขึ้นได้จะต้องมีการจัดโค่นต้นยางลงก่อน ดังนั้นความผิดฐานทำไม้หวงห้ามโดยไม่ได้รับอนุญาตและความผิดฐานลักทรัพย์ จึงเกิดขึ้นในคราวเดียวกัน ไม่สามารถแยกเจตนาออกจากกันได้ เป็นการกระทำที่มีเจตนาเดียวการกระทำของจำเลยที่ 4 จึงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษฐานทำไม้หวงห้ามโดยไม่ได้รับอนุญาตตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90 และเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 5 ถึงที่ 8 ที่มิได้ฎีกาด้วยได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 213 ประกอบด้วยมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3499/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การปรับบทลงโทษตามมาตรา 269/7, การแก้ไขโทษจำคุกโดยศาลอุทธรณ์ และอำนาจศาลฎีกาในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมาย
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 แก้ไขเฉพาะโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานร่วมกันใช้และฐานร่วมกันนำเข้าบัตรอิเล็กทรอนิกส์ปลอมจากกระทงละ 2 ปี และ 4 ปี เป็นกระทงละ 1 ปี และ 3 ปี ตามลำดับ อันเป็นการแก้ไขเล็กน้อย เมื่อแต่ละกระทงยังคงลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ไม่เกินห้าปี จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง
โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 1 กับพวกร่วมกันปลอม นำเข้า และใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ปลอมที่ผู้ออกได้ออกให้แก่ผู้มีสิทธิใช้ เพื่อใช้ประโยชน์ในการชำระค่าสินค้า ค่าบริการหรือหนี้อย่างอื่นแทนการชำระด้วยเงินสด อันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 269/7 ซึ่งบัญญัติให้ผู้กระทำต้องระวางโทษหนักกว่าที่บัญญัติไว้ในความผิดดังกล่าวกึ่งหนึ่ง เมื่อจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ร่วมกับพวกกระทำความผิดตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว แต่ศาลชั้นต้นมิได้ปรับบทลงโทษจำเลยที่ 1 ตามบทบัญญัติดังกล่าวและศาลอุทธรณ์ภาค 5 มิได้แก้ไขให้ถูกต้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้าง ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัย และแก้ไขโดยปรับบทให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 แต่โจทก์มิได้ฎีกาในข้อนี้ ศาลฎีกาจึงไม่อาจวางโทษจำคุกให้หนักขึ้นตามบทบัญญัติของกฎหมายที่แก้ไขดังกล่าวได้ เพราะจะเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลยที่ 1 และเนื่องจากเป็นเหตุในลักษณะคดี ศาลฎีกาเห็นสมควรพิพากษาให้มีผลถึงจำเลยที่ 2 ที่มิได้ฎีกาด้วยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212 และมาตรา 213 ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1934/2552 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ผลของคำพิพากษาฎีกาที่พิพากษาตลอดไปถึงจำเลยอื่นที่ไม่ได้ฎีกา: วันที่คดีถึงที่สุด
ในการพิจารณาคดีของศาลฎีกา หากจำเลยผู้หนึ่งฎีกาคัดค้านคำพิพากษา ซึ่งให้ลงโทษจำเลยหลายคนในความผิดฐานเดียวกัน หากคดีนั้นศาลฎีกาใช้อำนาจตาม ป.วิ.อ. มาตรา 213 พิพากษากลับหรือแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ไม่ลงโทษหรือลดโทษให้จำเลยที่ฎีกาและพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่มิได้ฎีกาด้วย เพราะเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในส่วนของจำเลยอื่นที่มิได้ฎีกาจึงยังไม่ถือว่าเป็นที่สุดเมื่อครบกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 147 วรรคสอง ประกอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 15 เมื่อศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 ให้จำเลยที่ 1 ฟังเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2546 แม้จำเลยที่ 1 ไม่ฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 เมื่อศาลฎีกาเห็นว่ามีเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดีและพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 1 ที่มิได้ฎีกาด้วยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225 แล้ว คดีในส่วนของจำเลยที่ 1 จึงเป็นที่สุดเมื่อศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาฎีกาให้จำเลยที่ 1 ฟัง การที่ศาลชั้นต้นระบุในหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดของจำเลยที่ 1 ว่าคดีถึงที่สุดวันที่ 22 ธันวาคม 2547 อันเป็นวันที่ศาลชั้นต้นได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยที่ 1 ฟัง จึงเป็นการชอบด้วยกฎหมาย
of 53