คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.อ. ม. 213

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 522 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2696/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเรียงกระทงโทษอาญาที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ปฏิบัติผิดพลาด ศาลฎีกามีอำนาจแก้ไขให้ถูกต้องได้แม้คู่ความมิได้ยกขึ้น
ศาลชั้นต้นเรียงกระทงลงโทษจำเลยทั้งสองตาม ป.อ. มาตรา 91 ฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ให้ประหารชีวิต ฐานร่วมกันมีอาวุธปืน จำคุกคนละ 1 ปี ฐานร่วมกันพาอาวุธปืน จำคุกคนละ 6 เดือน รวมโทษทุกกระทงแล้ว ให้ประหารชีวิตจำเลยทั้งสองสถานเดียว แล้วจึงลดโทษให้หนึ่งในสามตาม ป.อ. มาตรา 78 ประกอบมาตรา 52 (1) เป็นจำคุกคนละตลอดชีวิตนั้นเป็นการไม่ชอบ เพราะที่ถูกต้องแล้วศาลชั้นต้นจะต้องลดโทษให้จำเลยทั้งสองเป็นรายกระทงก่อน แล้วจึงรวมโทษตาม ป.อ. มาตรา 91 (3) และศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น โดยมิได้พิพากษาแก้ไขให้ถูกต้อง ก็เป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความจะมิได้ยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขการเรียงกระทงลงโทษจำเลยที่ 2 เสียใหม่ให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และเนื่องจากเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจพิพากษาแก้ไขตลอดไปถึงจำเลยที่ 1 ที่ไม่ได้ฎีกาด้วยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2426/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องปลอมและใช้เอกสารปลอมร่วมกับเจ้าพนักงาน มีอำนาจแก้โทษจำเลยที่ไม่ฎีกาได้
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 นำหนังสือมอบอำนาจ ซึ่งยังไม่ได้กรอกข้อความใด ๆ และไม่มีบุคคลใดลงลายมือชื่อเป็นพยาน ให้โจทก์ลงลายมือชื่อในช่องผู้มอบอำนาจ แล้วจำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ปลอมหนังสือมอบอำนาจดังกล่าว โดยจำเลยที่ 1 กรอกข้อความอันเป็นเท็จว่า จำเลยที่ 1 มีอำนาจจำนองที่ดินตลอดจนให้ถ้อยคำต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ โดยมีจำเลยที่ 3 และที่ 4 ลงลายมือชื่อเป็นพยานและรับรองว่าโจทก์ลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจดังกล่าว ต่อมาจำเลยทั้งหกร่วมกันใช้หนังสือมอบอำนาจดังกล่าวไปแสดงต่อเจ้าพนักงานที่ดินว่าโจทก์มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนจำนองที่ดินแทน เจ้าพนักงานที่ดินหลงเชื่อ จึงจดข้อความอันเป็นเท็จตามคำบอกกล่าวของจำเลยทั้งหกลงในสัญญาจำนองอันเป็นเอกสารมหาชนหรือเอกสารราชการ ฟ้องโจทก์ดังกล่าวได้ระบุชัดแล้วว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยอื่นปลอมหนังสือมอบอำนาจและใช้หนังสือมอบอำนาจปลอมดังกล่าว กับแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่จดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารมหาชนหรือเอกสารราชการแล้ว จึงเป็นฟ้องที่สมบูรณ์ ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) แม้โจทก์จะไม่ได้บรรยายฟ้องให้ละเอียดว่าจำเลยที่ 2 มีส่วนรู้เห็นและหรือกระทำการใด ๆ ร่วมกับจำเลยที่ 1 ด้วยวิธีใด อย่างใด ก็เป็นเพียงรายละเอียดที่จะนำสืบในชั้นพิจารณาได้
จำเลยที่ 1 ฎีกาขอให้รอการลงโทษจำคุก แม้ฎีกาของจำเลยที่ 2 จะเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ก็ตาม แต่เมื่อจำเลยที่ 2 ฎีกาปัญหาข้อกฎหมายมาด้วย ศาลฎีกามีอำนาจวินิจฉัยกำหนดโทษจำเลยที่ 2 ให้เหมาะสมกับความผิดได้ โดยเห็นว่าจำเลยที่ 2 ได้บรรเทาผลร้ายที่เกิดขึ้นจนโจทก์ไม่ติดใจดำเนินคดีกับจำเลยที่ 2 อีก เห็นสมควรรอการลงโทษจำคุกให้จำเลยที่ 2 เพื่อให้โอกาสจำเลยที่ 2 กลับตัวเป็นพลเมืองดีต่อไป เมื่อจำเลยที่ 2 ฎีกา ส่วนจำเลยที่ 1 มิได้ฎีกาแต่การกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นตัวการร่วมกันเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจพิพากษาแก้โทษตลอดไปถึงจำเลยที่ 1 ที่มิได้ฎีกาด้วยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1756/2550 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีอาญา: เขตอำนาจสอบสวนต้องสอดคล้องกับสถานที่เกิดเหตุ
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวแก่ผู้มีชื่อหลายคน เจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยทั้งสองพร้อมยึดเมทแอมเฟตามีน และจับ ศ. อ. ณ. น. ภ. จ. และ ห. พร้อมยึดเมทแอมเฟตามีนที่บุคคลทั้งเจ็ดซื้อจากจำเลยทั้งสองได้ที่บ้านจำเลยที่ 2 ซึ่งอยู่ในท้องที่สถานีตำรวจนครบาลแสมดำ การมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จึงเกิดในท้องที่สถานีตำรวจนครบาลแสมดำทั้งสิ้น และโจทก์มิได้ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ร่วมกระทำความผิดกับ ส. และ ร. ดังนั้น แม้ ส. และ ร. ถูกจับในท้องที่สถานีตำรวจนครบาลบางบอน การกระทำของจำเลยที่ 1 ก็หาใช่ความผิดที่เป็นความผิดต่อเนื่องและกระทำต่อเนื่องกันในท้องที่ต่าง ๆ เกินกว่าท้องที่หนึ่งขึ้นไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 19 (3) ไม่ แต่การกระทำของจำเลยที่ 1 ปรากฏชัดแจ้งว่าเกิดในท้องที่สถานีตำรวจนครบาลแสมดำซึ่งอยู่ในเขตอำนาจของพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลแสมดำตาม ป.วิ.อ. มาตรา 18 วรรคสอง ประกอบมาตรา 2 (6) ที่จะเป็นผู้สอบสวน มิใช่อยู่ในเขตอำนาจของพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลบางบอนที่สอบสวน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120 เมื่อการสอบสวนไม่ชอบด้วยกฎหมายเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกาพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 2 ที่ถอนฎีกาไปแล้วได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7354/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดหลายกรรมต่างกันจากยาเสพติดและอาวุธปืน, การปรับบทกฎหมายยาเสพติด, และอำนาจศาลแก้ไขโทษจำเลยร่วม
เมทแอมเฟตามีนที่จำเลยที่ 1 มีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งเจ้าพนักงานตำรวจยึดได้จากบ้านของจำเลยที่ 1 เป็นคนละจำนวนกับเมทแอมเฟตามีนที่จำเลยที่ 1 จำหน่ายให้แก่สายลับและสามารถแยกเจตนาออกจากกันได้ จึงเป็นความผิดต่างกรรมกัน ส่วนความผิดฐานสนับสนุนให้ผู้อื่นร่วมกันเสพกัญชา ฐานมีกัญชาไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต และฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตนั้นเป็นการกระทำที่แยกต่างหากจากกัน จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน
ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้นได้มี พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 มาตรา 22 และมาตรา 27 ยกเลิกความในมาตรา 76 และมาตรา 92 แห่ง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 และให้ใช้ความใหม่แทน โดยศาลชั้นต้นปรับบทลงโทษแก่จำเลยที่ 1 ตามมาตรา 76 วรรคหนึ่ง ที่แก้ไขใหม่ และมาตรา 92 วรรคหนึ่ง ที่แก้ไขใหม่ มานั้นยังไม่ถูกต้อง เนื่องจากบทความผิดและบทกำหนดโทษจำคุกตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่กับกฎหมายเดิมไม่แตกต่างกัน จึงไม่เป็นคุณแก่จำเลยที่ 1 ต้องใช้กฎหมายในขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลยที่ 1 ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย เมื่อศาลอุทธรณ์ยังไม่ได้แก้ไขให้ถูกต้อง แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้าง ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและปรับบทให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และเนื่องจากจำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 เป็นตัวการร่วมกระทำความผิดที่จำเลยที่ 1 สนับสนุน เหตุดังกล่าวเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจพิพากษาแก้ไขตลอดไปถึงจำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 ซึ่งมิได้ฎีกาด้วยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6408/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อมูลช่วยเหลือคดีช่วยลดโทษจำคุกในคดียาเสพติด
ในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนจำเลยทั้งสามได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับภูมิลำเนาที่อยู่ รูปพรรณสัณฐาน และรายละเอียดอื่น ๆ ของ ช. ผู้ที่ว่าจ้างให้จำเลยทั้งสามขนยาเสพติดให้โทษของกลางไปส่งให้แก่ลูกค้า เมื่อพนักงานสอบสวนให้ดูรูปถ่ายของ ส. จำเลยทั้งสามยืนยันว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับ ข. จริง จนเป็นเหตุให้มีการออกหมายจับ ส. จากข้อเท็จจริงดังกล่าวนับว่าจำเลยทั้งสามได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อเจ้าพนักงานตำรวจและพนักงานสอบสวน จึงเห็นสมควรวางโทษต่ำกว่าที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 100/2 เมื่อเหตุที่ศาลฎีกาลดโทษให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี แม้ศาลฎีกาอนุญาตให้จำเลยที่ 1 ถอนฎีกาซึ่งมีผลเท่ากับจำเลยที่ 1 มิได้ฎีกาก็ตาม ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจพิพากษาไปถึงจำเลยที่ 1 ที่มิได้ฎีกาด้วยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 213 ประกอบด้วยมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5813/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิสูจน์ข้อเท็จจริงการจำหน่ายยาเสพติด: จำเลยต้องมีความผิดฐานครอบครองเพื่อจำหน่ายจริง จึงจะถือว่ามีการจำหน่าย
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 มีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนจำนวนดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 จากนั้นได้บรรยายความผิดของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 ว่าร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนจำนวนเดียวกันนั้นไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ทำให้เข้าใจได้ว่าความผิดของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 เกิดเพราะมีการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนของกลางจากจำเลยที่ 1 ให้แก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 แล้ว แต่ในทางนำสืบของโจทก์ยังไม่พอที่จะแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 ได้จำหน่ายเมทแอมเฟตามีนให้แก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 และศาลชั้นต้นเพียงพิพากษาว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 มีความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ยกฟ้องข้อหาอื่น ซึ่งมีความหมายว่า ยกฟ้องข้อหาจำหน่าย เมื่อโจทก์และจำเลยที่ 1 มิได้อุทธรณ์ในข้อหานี้ และศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน ข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ย่อมฟังเป็นยุติ แสดงว่ายังไม่อาจรับฟังว่าจำเลยที่ 1 ได้จำหน่ายเมทแอมเฟตามีนของกลางให้แก่จำเลยอื่นแล้วตามฟ้องโจทก์ การครอบครองเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวจึงยังอยู่กับจำเลยที่ 1 จำเลยอื่นจึงไม่อาจมีความผิดตามฟ้องโจทก์ และข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดีจึงมีผลถึงจำเลยที่ 5 ถึงที่ 7 ผู้มิได้ฎีกาด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3150/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจตนาเอารถจักรยานยนต์ไปเพื่อชำระหนี้ ไม่ใช่ลักทรัพย์ แม้ใช้วิธีการไม่ชอบธรรม
จำเลยที่ 1 ทวงเงินจาก อ. ไม่ได้ จึงพาพวกไปทวงเงินจาก อ. ในเวลาที่ต่อเนื่องกัน เมื่อ อ. ไม่ยอมคืนเงินและไม่ยอมออกมาพบจึงใช้อำนาจบังคับโดยพลการเอารถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายไปขณะนั้น แม้ข้อเท็จจริงปราฏว่าจำเลยที่ 1 กับพวกใช้กุญแจที่ไม่ใช้กุญแจรถจักรยานยนต์ของกลางติดเครื่องยนต์นำรถจักรยานยนต์ของกลางออกไป อีกทั้งรถจักรยานยนต์ของกลางมีราคา 26,000 บาท สูงกว่าจำนวนหนี้ 300 บาท อยู่มากก็ตาม จำเลยที่ 1 กับพวกคงไม่ได้คิดว่ารถจักรยานยนต์ของกลางมีราคาสูงเท่าใด หากแต่ต้องการเพียงให้ อ. ที่จำเลยที่ 1 เข้าใจว่าเป็นเจ้าของรถจักรยานยนต์นำเงินมาชำระหนี้ตนเท่านั้น การกระทำของจำเลยที่ 1 กับพวกจึงมิได้มีเจตนาเอารถจักรยานยนต์ของกลางไปโดยทุจริต ไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ตามฟ้อง และเหตุดังกล่าวเป็นเหตุในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจพิจารณาตลอดไปถึงจำเลยที่ 2 และที่ 3 ที่มิได้ฎีกาด้วยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5093/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ พยายามฆ่าโดยมีเจตนาทำร้าย, การกระทำโดยบันดาลโทสะไม่สำเร็จ, การรอการลงโทษจำคุกสำหรับผู้กระทำผิดร่วม
ก่อนเกิดเหตุโจทก์ร่วมนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ไปตามถนนทางสาธารณะกับเพื่อนและได้พบกับจำเลยทั้งสามโดยบังเอิญ จำเลยทั้งสามขับรถจักรยานยนต์ไล่ติดตามรถโจทก์ร่วมไปเป็นระยะทางไกลและนานพอสมควร อ้างว่าเพื่อสอบถามโจทก์ร่วมว่าด่าว่าอะไรจำเลยที่ 1 เมื่อถึงที่เกิดเหตุรถไล่ตามกันทัน จำเลยที่ 1 ใช้มีดดาบฟันถูกโจทก์ร่วมเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส พฤติการณ์ส่อแสดงว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันไล่ติดตามไปเพื่อทำร้ายโจทก์ร่วมมิใช่เพื่อสอบถาม ส่วนเหตุการณ์ที่โจทก์ร่วมกับพวกร่วมกันทำร้ายจำเลยที่ 1 ก็เกิดขึ้นก่อนเกิดเหตุคดีนี้เป็นเวลานานถึง 1 ปีมาแล้ว จำเลยที่ 1 จะอ้างว่าใช้มีดดาบฟันโจทก์ร่วมเพราะเหตุบันดาลโทสะตาม ป.อ. มาตรา 72 ไม่ได้ เพราะมิใช่การกระทำความผิดต่อโจทก์ร่วมผู้ข่มเหงตนในขณะนั้น
แม้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยทั้งสามจะได้ร่วมกระทำผิดด้วยกัน แต่จำเลยที่ 2 เป็นเพียงผู้ขับรถจักรยานยนต์ให้จำเลยที่ 1 นั่งซ้อนท้ายอยู่ตรงกลาง และมีจำเลยที่ 3 นั่งซ้อนท้ายสุดในขณะที่ไล่ติดตามรถโจทก์ร่วม โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 มิได้เป็นผู้ใช้อาวุธมีดดาบฟันโจทก์ร่วมด้วยตนเองแต่อย่างใด ประกอบกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 อายุยังน้อย และไม่ปรากฏว่าเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน เพื่อเห็นแก่อนาคตของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เมื่อศาลรอการลงโทษจำคุกให้จำเลยที่ 1 จึงเห็นสมควรรอการลงโทษจำคุกให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ด้วย และแม้คดีของจำเลยที่ 2 และที่ 3 จะยุติไปโดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 มิได้อุทธรณ์และฎีกาก็ตาม ศาลฎีกาก็มีอำนาจพิพากษาให้รอการลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1510/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำเลยร่วมทำร้ายร่างกาย ผู้เสียหายรับอันตรายสาหัส ศาลพิพากษาลงโทษเฉพาะผู้ลงมือโดยตรง
ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 3 ชกต่อยกับโจทก์ร่วม ส่วนจำเลยที่ 2 ใช้ไม้ตีโจทก์ร่วมโดยไม่มีหลักฐานใดที่บ่งชี้ให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 มีส่วนร่วมรู้เห็นว่าจำเลยที่ 1 มีและพกอาวุธปืนมาด้วย หรือได้มีการคบคิดกันมาก่อนว่าจะใช้อาวุธปืนยิงโจทก์ร่วม แม้จำเลยทั้งสามจะเกิดความไม่พอใจโจทก์ร่วมจากสาเหตุอย่างเดียวกันและนั่งรถมาด้วยกันก่อนเกิดเหตุ ทั้งยังขึ้นรถยนต์หลบหนีไปด้วยกันหลังเกิดเหตุ เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้พูดจาหรือกระทำการใดๆ อันอาจถือได้ว่าเป็นตัวการหรือผู้สนับสนุนจำเลยที่ 1 ในการพยายามฆ่าโจทก์ร่วม และการที่จำเลยที่ 1 ใช้อาวุธปืนยิงโจทก์ร่วมเป็นการกระทำของจำเลยที่ 1 ตามลำพัง อันเป็นการตัดสินใจของจำเลยที่ 1 โดยฉับพลันในขณะนั้นเอง ดังนั้น เมื่อโจทก์ร่วมรับอันตรายสาหัสจากการถูกจำเลยที่ 1 ใช้อาวุธปืนยิง มิใช่ผลโดยตรงอันเกิดจากการกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ร่วมกันทำร้ายร่างกายโจทก์ร่วมเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กายเท่านั้น จำเลยที่ 2 และที่ 3 คงมีความผิดฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายตาม ป.อ. มาตรา 295 ประกอบมาตรา 83 เพราะความผิดฐานพยายามฆ่ารวมการกระทำดังกล่าวซึ่งเป็นความผิดได้อยู่ในตัวตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย ประกอบมาตรา 215 และมาตรา 225
จำเลยที่ 3 ไม่ได้รับอนุญาตให้ฎีกาในความผิดตาม พ.ร.บ. อาวุธปืนฯ ซึ่งมีผลเท่ากับจำเลยที่ 3 มิได้ฎีกาในความผิดฐานนี้ แต่เมื่อจำเลยที่ 2 ได้รับอนุญาตให้ฎีกาในฐานความผิดฐานนี้แล้ว จึงเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดีศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 3 ด้วยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225
ศาลชั้นต้นมิได้อนุญาตให้ผู้เสียหายเข้าเป็นโจทก์ร่วมในความผิดต่อ พ.ร.บ. อาวุธปืนฯ เพราะโจทก์ร่วมมิใช่เป็นผู้เสียหายในความผิดฐานนี้ โจทก์ร่วมจึงไม่มีสิทธิฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามในความผิดฐานดังกล่าว
ความผิดฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่น เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาให้ลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสามคนละ 12 ปี และศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้ให้ลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสามคนละ 9 ปี ย่อมห้ามมิให้โจทก์ร่วมฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคสอง ฎีกาของโจทก์ร่วมเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการกำหนดโทษอันเป็นปัญหาข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามมิให้ฎีกา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9179/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องในความผิดแจ้งความเท็จ โจทก์ต้องเป็นผู้เสียหายโดยตรง
จำเลยที่ 3 แจ้งความอันเป็นเท็จต่อพนักงานสอบสวนว่า จำเลยที่ 3 ได้ขับรถจักรยานยนต์เฉี่ยวชนจำเลยที่ 4 ได้รับบาดเจ็บ เพื่อประสงค์ให้พนักงานสอบสวนจดข้อความอันเป็นเท็จลงในรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดี ซึ่งเป็นเอกสารราชการเพื่อใช้เป็นพยานหลักฐานเท่านั้น อันเป็นการกระทำต่อเจ้าพนักงานโดยตรง โดยจำเลยที่ 3 ไม่ได้เจาะจงว่ากล่าวถึงโจทก์เลย โจทก์จึงไม่ได้รับความเสียหายโดยตรง แม้ข้อความเท็จนั้นจะครบองค์ประกอบเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 137 และมาตรา 267 แต่ข้อความเท็จที่จำเลยแจ้งมิได้มีการกล่าวอ้างถึงการกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดที่กระทบกระเทือนถึงโจทก์ โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหาย
การที่จำเลยที่ 3 นำหนักฐานการแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงานตำรวจไปเป็นหลักฐานยื่นคำร้องขอรับค่าเสียหายจากโจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยรถจักรยานยนต์ของจำเลยที่ 3 อันเป็นการกระทำที่จะเกิดความเสียหายแก่โจทก์ แต่โจทก์ยังไม่ได้จ่ายค่าเสียหายให้จำเลยที่ 3 เพราะโจทก์ทราบมาก่อนฟ้องแล้วว่าจำเลยที่ 3 แจ้งความเท็จ ทั้งการกระทำของจำเลยที่ 3 ในส่วนหลังเกิดขึ้นหลังจากการกระทำผิดฐานแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงานตำรวจและเจ้าพนักงานตำรวจได้จดข้อความเท็จลงในเอกสารราชการสำเร็จแล้ว เป็นการกระทำอีกส่วนหนึ่งต่างหากจากการกระทำที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสี่ ดังนั้น จะนำเอาการกระทำผิดตาม ป.อ. มาตรา 137 และมาตรา 267 มาเป็นข้อพิจารณาว่าโจทก์เป็นผู้เสียหายส่วนนี้ไม่ได้ โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหายสำหรับความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานตาม ป.อ. มาตรา 137 และฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่จดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ใช้เป็นพยานหลักฐานตาม ป.อ. มาตรา 267 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยที่ 3 ไม่ได้ฎีกาให้มีผลถึงจำเลยที่ 3 ด้วยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 213 ประกอบกับมาตรา 225
of 53