คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ม. 23

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 133 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5993/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจัดเวลาทำงานและวันหยุดของลูกจ้างงานขนส่งทางบก ต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน และกฎกระทรวง
โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์จัดให้ลูกจ้างขับรถขนส่งเป็นกะ กะละ 24 ชั่วโมง แล้วหยุดในวันรุ่งขึ้น 24 ชั่วโมง จำเลยซึ่งเป็นพนักงานตรวจแรงงานเข้าตรวจสอบแล้วเห็นว่าขัดต่อ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 23 จึงมีคำสั่งให้โจทก์ประกาศเวลาทำงานปกติของลูกจ้างให้ถูกต้อง โจทก์เห็นว่าคำสั่งของจำเลยไม่ถูกต้องเพราะโจทก์ปฏิบัติตามกฎหมายแล้ว จำเลยให้การว่าคำสั่งของจำเลยชอบแล้ว ศาลแรงงานกลางกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่ามีเหตุเพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานหรือไม่ เพียงใด แล้ววินิจฉัยว่างานของโจทก์เป็นงานขนส่งทางบกตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 22 และมาตรา 23 ซึ่งตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2541) ข้อ 2 ระบุให้นายจ้างกำหนดเวลาเริ่มต้นและเวลาสิ้นสุดการทำงานปกติของลูกจ้างในงานขนส่งทางบกวันหนึ่งไม่เกินแปดชั่วโมง โจทก์ให้ลูกจ้างขับรถขนส่งทำงานติดต่อกันถึงวันละ 24 ชั่วโมง จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย คำพิพากษาของศาลแรงงานกลางจึงไม่นอกฟ้องนอกประเด็นชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 52 แล้ว
พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 28 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ให้นายจ้างจัดให้ลูกจ้างมีวันหยุดประจำสัปดาห์ สัปดาห์หนึ่งไม่น้อยกว่าหนึ่งวัน โดยวันหยุดประจำสัปดาห์ต้องมีระยะห่างกันไม่เกินหกวัน นายจ้างและลูกจ้างอาจตกลงกันล่วงหน้ากำหนดให้มีวันหยุดประจำสัปดาห์วันใดก็ได้" การที่โจทก์ให้ลูกจ้างทำงานกะละ 24 ชั่วโมง แล้วโจทก์ให้ลูกจ้างได้หยุดพักผ่อนเพียง 24 ชั่วโมงด้วย แล้วถือเอาว่าการให้หยุดพักผ่อนเพียง 24 ชั่วโมงนี้เท่ากับจัดให้ลูกจ้างมีวันหยุดประจำสัปดาห์แล้วไม่น้อยกว่า 1 วัน จึงเป็นการไม่ได้กำหนดเวลาเริ่มต้นและเวลาสิ้นสุดการทำงานปกติของลูกจ้างในงานขนส่งทางบกซึ่งกำหนดวันหนึ่งไม่เกินแปดชั่วโมง และไม่ได้จัดให้ลูกจ้างมีวันหยุดประจำสัปดาห์ สัปดาห์หนึ่งไม่น้อยกว่าหนึ่งวัน ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 23 วรรคหนึ่ง, มาตรา 28 วรรคหนึ่ง และกฎกระทรวง ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2541) ออกตามความใน พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ข้อ 2

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12115-12180/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าล่วงเวลา: งานผลิตสารเคมีอันตรายต้องมีความเสี่ยงสูงและสัมผัสสารเคมีเป็นเวลานาน จึงจะเข้าข่ายต้องจ่ายค่าล่วงเวลา
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานออกกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2541) โดยอาศัยอำนาจตามความใน พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 6 และ 23 วรรคหนึ่ง เพื่อให้ความคุ้มครองแก่ลูกจ้างซึ่งทำงานที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพและความปลอดภัยของลูกจ้างไม่ให้ทำงานเช่นว่านั้นเป็นระยะเวลานานเกินสมควร การกำหนดให้งานผลิตสารเคมีอันตรายเป็นงานที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพและความปลอดภัยของลูกจ้างตามกฎกระทรวงดังกล่าวก็เพื่อคุ้มครองลูกจ้างที่ทำงานเกี่ยวข้องกับสารเคมีไม่ให้ได้รับหรือสัมผัสกับสารเคมีเป็นระยะเวลานานเกินสมควร งานผลิตสารเคมีอันตรายจึงหมายความรวมถึงงานที่ใช้สารเคมีอันตรายเป็นวัตถุดิบในการผลิตด้วย แต่ทั้งนี้โดยสภาพของงานต้องมีความเสี่ยงอันตรายสูงหรือมีภาวะแวดล้อมในการทำงานเกินมาตรฐานความปลอดภัยที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา 103 ซึ่งไม่สามารถปรับปรุงแก้ไขที่แหล่งกำเนิดได้ และต้องจัดให้มีการป้องกันที่ตัวบุคคล แต่ปัจจุบันยังไม่มีกฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา 103 ใช้บังคับ จึงต้องใช้ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ความปลอดภัยในการทำงานเกี่ยวกับภาวะแวดล้อม (สารเคมี) ซึ่งออกโดยอำนาจตามความในข้อ 2 (7) แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 ลงวันที่ 16 มีนาคม 2515 บังคับ ตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 166
จำเลยให้โจทก์ทำงานเกี่ยวกับการผลิตสินค้าที่ต้องใช้สารเคมีอันตรายเป็นวัตถุดิบ แต่การผลิตเป็นระบบปิด โจทก์ไม่ได้สัมผัสกับสารเคมีอันตรายเป็นเวลานาน จึงมิใช่กรณีที่โดยสภาพของงานมีความเสี่ยงอันตรายสูง ทั้งการตรวจวัดภาวะแวดล้อมในการทำงานก็ปรากฏว่าเสียง แสงสว่าง ความร้อน ปริมาณความเข้มของฝุ่นปนเปื้อนและสารเคมีในสถานประกอบกิจการของจำเลยไม่เกินมาตรฐานที่กำหนดในประกาศกระทรวงมหาดไทยดังกล่าว และจำเลยได้จัดให้ลูกจ้างสวมอุปกรณ์ป้องกันภัยส่วนบุคคลแล้ว งานที่โจทก์ทำจึงมิใช่งานที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพและความปลอดภัยของลูกจ้างตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 23 โจทก์ทำงานไม่เกินวันละ 8 ชั่วโมง จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12115-12180/2547 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าล่วงเวลา: งานใช้สารเคมีอันตรายต้องมีความเสี่ยงสูงและสัมผัสสารเคมีจริง จึงจะเข้าข่ายต้องจ่ายค่าล่วงเวลา
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานออกกฎกระทรวง ฉบับที่ 2ฯ โดยอาศัยอำนาจตามความใน พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 6 และ 23 วรรคหนึ่ง เพื่อให้ความคุ้มครองแก่ลูกจ้าง ซึ่งทำงานที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพและความปลอดภัยของลูกจ้างไม่ให้ทำงานเช่นว่านั้นเป็นระยะเวลานานเกินสมควร การกำหนดให้งานผลิตสารเคมีอันตรายเป็นงานที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพและความปลอดภัยของลูกจ้างตามกฎกระทรวงดังกล่าว ก็เพื่อคุ้มครองลูกจ้างที่ทำงานเกี่ยวข้องกับสารเคมีไม่ให้ได้รับหรือสัมผัสกับสารเคมีเป็นระยะเวลานานเกินสมควร งานผลิตสารเคมีอันตรายจึงหมายความรวมถึงงานที่ใช้สารเคมีอันตรายเป็นวัตถุดิบในการผลิตด้วย แต่ทั้งนี้โดยสภาพของงานต้องมีความเสี่ยงอันตรายสูงหรือมีภาวะแวดล้อมในการทำงานเกินมาตรฐานความปลอดภัยที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา 103 ซึ่งไม่สามารถปรับปรุงแก้ไขที่แหล่งกำเนิดได้ และต้องจัดให้มีการป้องกันที่ตัวบุคคล แต่ปัจจุบันยังไม่มีกฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา 103 ใช้บังคับ จึงต้องใช้ประกาศกระทรางมหาดไทย เรื่อง ความปลอดภัยในการทำงานเกี่ยวกับภาวะแวดล้อม (สารเคมี) ซึ่งออกโดยอำนาจตามความในข้อ 2 (7) แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 ลงวันที่ 16 มีนาคม 2515 บังคับ ตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 166
จำเลยให้โจทก์ทำงานเกี่ยวกับการผลิตสินค้าที่ต้องใช้สารเคมีอันตรายเป็นวัตถุดิบแต่การผลิตเป็นระบบปิด โจทก์ไม่ได้สัมผัสกับสารเคมีอันตรายเป็นเวลานาน จึงมิใช่กรณีที่โดยสภาพของงานมีความเสี่ยงอันตรายสูง ทั้งการตรวจวัดภาวะแวดล้อมในการทำงานก็ปรากฏว่าเสียง แสงสว่าง ความร้อน ปริมาณความเข้มของฝุ่นปนเปื้อนและสารเคมีในสถานประกอบกิจการของจำเลยไม่เกินมาตรฐานที่กำหนดในประกาศกระทรางมหาดไทยดังกล่าว และจำเลยได้จัดให้ลูกจ้างสวมอุปกรณ์ป้องกันภัยส่วนบุคคลแล้ว งานที่โจทก์ทำจึงมิใช่งานที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพและความปลอดภัยของลูกจ้างตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 23 โจทก์ทำงานไม่เกินวันละ 8 ชั่วโมง จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลา
of 14