คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 ม. 6 (2)

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 5 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8824/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแสวงหาประโยชน์จากการค้าประเวณีต้องมีเจตนาขูดรีดบุคคล การรับเงินค่าค้าประเวณีเพื่อส่งคืนให้ผู้เสียหายไม่ถือเป็นการแสวงหาประโยชน์
บทนิยาม "แสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ" ตามมาตรา 4 (เดิม) แห่ง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 ที่ใช้บังคับในขณะเกิดเหตุ หมายความว่า การแสวงหาประโยชน์จากการค้าประเวณี การผลิตหรือเผยแพร่วัตถุหรือสื่อลามก การแสวงหาประโยชน์ทางเพศในรูปแบบอื่น การเอาคนลงเป็นทาส การนำคนมาขอทาน การบังคับใช้แรงงานหรือบริการ การบังคับตัดอวัยวะเพื่อการค้า หรือการอื่นใดที่คล้ายคลึงกันอันเป็นการขูดรีดบุคคล ไม่ว่าบุคคลนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม คดีคงได้ความว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันติดต่อเกี่ยวกับสถานที่และบุคคลให้ผู้เสียหายค้าประเวณี แต่งหน้าแต่งตาให้ผู้เสียหายและพาผู้เสียหายไปส่งเพื่อค้าประเวณีกับรับเงินค่าค้าประเวณีส่งมอบให้ผู้เสียหายเท่านั้น การที่จำเลยที่ 2 หักเงินเพียงเท่าที่ผู้เสียหายยืมจำเลยที่ 1 ไว้คืนแก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นความชอบธรรมที่เจ้าหนี้จะได้รับชำระหนี้จากลูกหนี้โดยปกติทั่วไป เมื่อเหลือเงินเท่าใดจำเลยที่ 2 คืนแก่ผู้เสียหายทั้งสิ้น แต่ผู้เสียหายขอฝากส่วนที่เหลือนั้นไว้แก่จำเลยที่ 2 เอง โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองได้รับผลประโยชน์อื่นใดโดยตรงจากการค้าประเวณีของผู้เสียหาย จึงไม่มีลักษณะเป็นการแสวงหาประโยชน์จากการค้าประเวณีของผู้เสียหาย อันเป็นการขูดรีดบุคคลตามบทนิยามดังกล่าว การกระทำของจำเลยทั้งสองย่อมไม่เป็นความผิดฐานสมคบและร่วมกันค้ามนุษย์ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มาตรา 6 (2) เดิม, 9, 52 (เดิม) และไม่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4057/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานค้ามนุษย์และพรากผู้เยาว์เพื่อการอนาจาร การปรับบทความผิดตามกฎหมาย
การพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจารอันจะเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 283 ทวิ วรรคสอง ต้องเป็นการกระทำเพื่อสนองความใคร่ของตนเองหรือผู้ร่วมกระทำความผิดกับตน เมื่อจำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันเป็นธุระจัดหาและพาผู้เสียหายที่ 1 ไปเพื่อให้กระทำการค้าประเวณี อันเป็นการกระทำเพื่อสนองความใคร่ของผู้อื่น มิใช่เพื่อสนองความใคร่ของจำเลยทั้งสองกับพวก การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 283 วรรคสาม แต่ไม่เป็นความผิดตาม มาตรา 283 ทวิ วรรคสอง ส่วนความผิดฐานร่วมกันเป็นธุระจัดหา ล่อไป หรือพาไปซึ่งเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีเพื่อให้กระทำการค้าประเวณี โดยขู่เข็ญ ใช้อำนาจครอบงำผิดคลองธรรม หรือใช้วิธีข่มขืนใจด้วยประการใด ๆ ฐานค้ามนุษย์โดยร่วมกันกระทำความผิดตั้งแต่สามคนขึ้นไป และฐานเพื่อสนองความใคร่ของผู้อื่น ร่วมกันเป็นธุระจัดหา ล่อไป หรือพาไปเพื่อการอนาจารซึ่งเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี โดยขู่เข็ญ ใช้อำนาจครอบงำผิดคลองธรรม หรือใช้วิธีข่มขืนใจด้วยประการใด ๆ อันเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษจำเลยทั้งสองฐานเพื่อสนองความใคร่ของผู้อื่น ร่วมกันเป็นธุระจัดหา ล่อไป หรือพาไปเพื่อการอนาจารซึ่งเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี โดยขู่เข็ญ ใช้อำนาจครอบงำผิดคลองธรรม หรือใช้วิธีข่มขืนใจด้วยประการใด ๆ ตาม ป.อ. มาตรา 283 วรรคสาม ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90 ปัญหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกายกขึ้นอ้างและแก้ไขให้ถูกต้องได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13648/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การค้ามนุษย์โดยการบังคับใช้แรงงาน: การกระทำต้องครบองค์ประกอบความผิด - ข่มขืนใจ, ใช้กำลัง, หรือทำให้ไม่อาจขัดขืนได้
แม้ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยจัดให้ผู้เสียหายอยู่อาศัยและไม่ให้ผู้เสียหายออกจากบ้านจำเลยก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่า นับแต่วันแรกที่ผู้เสียหายทำงานกับจำเลยจนถึงวันที่ผู้เสียหายทำงานกับจำเลยครบ 7 เดือน จำเลยได้กระทำการใดอันเป็นการข่มขืนใจให้ผู้เสียหายทำงานโดยทำให้ผู้เสียหายกลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของผู้เสียหาย โดยขู่เข็ญด้วยประการใด ๆ โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือโดยทำให้ผู้เสียหายอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้แต่อย่างใด คงได้ความแต่เพียงว่า จำเลยให้ผู้เสียหายทำงานตั้งแต่เวลา 4 นาฬิกา จนถึง 24 นาฬิกา ให้รับประทานอาหาร 2 มื้อ และไม่จ่ายเงินเดือนให้ผู้เสียหายเท่านั้น ส่วนการทำงานเดือนที่ 8 ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เหตุที่จำเลยทำร้ายผู้เสียหายมาจากผู้เสียหายทำงานไม่เรียบร้อยและพูดขอเงินค่าจ้างจากจำเลย อันเป็นการลงโทษผู้เสียหายเท่านั้น จึงมิใช่เป็นการใช้กำลังประทุษร้ายผู้เสียหายเพื่อให้ผู้เสียหายทำงานให้จำเลย การกระทำของจำเลยจึงยังไม่ครบองค์ประกอบความผิดฐานค้ามนุษย์ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มาตรา 6 (2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 777/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การสมคบค้ามนุษย์ต้องมีเจตนาและส่วนร่วมในการวางแผนตั้งแต่ต้น การรับตัวผู้เสียหายภายหลังไม่ถือเป็นความผิดสมคบ
การกระทำใดที่จะเป็นความผิดฐานสมคบโดยตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มาตรา 6 (2) และมาตรา 9 จะต้องได้ความว่าผู้นั้นมีส่วนร่วมรู้เห็น ร่วมวางแผน ตัดสินใจร่วมกันหรือแบ่งหน้าที่กันทำ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหาประโยชน์จากการค้าประเวณี หรือการแสวงหาประโยชน์ทางเพศในรูปแบบอื่น อันเป็นการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบตามความหมายในมาตรา 4 เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยมีส่วนร่วมรู้เห็น ร่วมวางแผนหรือเกี่ยวข้องกับการที่เด็กหญิง น. ไปชักชวนหรือใช้อุบายหลอกลวงผู้เสียหายที่ 1 เพื่อให้ไปขายบริการทางเพศ โดยจำเลยรับผู้เสียหายที่ 1 ขึ้นรถยนต์พาเข้าโรงแรมเพื่อร่วมประเวณีกับผู้เสียหายที่ 1 อันเป็นความผิดต่างหากเฉพาะตัวจำเลยที่เกิดขึ้นหลังจาก เด็กหญิง น. และ ช. กระทำการเป็นธุระจัดหาผู้เสียหายที่ 1 ให้ไปค้าประเวณีอันเป็นความผิดฐานค้ามนุษย์สำเร็จลงแล้ว พยานหลักฐานโจทก์จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยสมคบกับเด็กหญิง น. และ ช. กระทำความผิดฐานค้ามนุษย์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3753/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค้าเด็กข้ามชาติ: ศาลฎีกาพิพากษาโทษจำเลยร่วมกันกระทำผิด มีการใช้กฎหมายใหม่และพิจารณาโทษเดิม
การที่จำเลยที่ 2 ร่วมกันกับจำเลยที่ 1 และที่ 3 ลักลอบนำเด็กทารกข้ามแดนไปในประเทศมาเลเซียเพื่อส่งให้แก่นาง อ. พี่สาวจำเลยที่ 2 จึงเป็นความผิดฐานสมคบกันกระทำความผิดเกี่ยวกับการค้าเด็ก และฐานรับไว้ จำหน่าย เป็นธุระจัดหา และพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปโดยทุจริต แต่การกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำโดยมีเจตนาเดียวเพื่อจะส่งเด็กทารกไปให้นาง อ. จึงเป็นการกระทำกรรมเดียว เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย และเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษามาตลอดไปถึงจำเลยที่ 1 และที่ 3 ที่มิได้ฎีกาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง และ 213 ประกอบมาตรา 225
ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาได้มี พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มาตรา 3 ยกเลิก พ.ร.บ.มาตรการในการป้องกันและปราบปรามการค้าหญิงและเด็ก พ.ศ.2540 แต่ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มาตรา 6 (2) ยังคงบัญญัติให้การกระทำความผิดเกี่ยวกับการค้าเด็กตามฟ้องเป็นความผิดโดยมีบทลงโทษตามมาตรา 52 วรรคสาม ระวางโทษจำคุกตั้งแต่แปดปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนหกหมื่นบาทถึงสามแสนบาท จึงเป็นกรณีกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิด แต่เนื่องจากความผิดเกี่ยวกับการค้าเด็กตาม พ.ร.บ.มาตรการในการป้องกันและปราบปรามการค้าหญิงและเด็ก พ.ศ.2540 มาตรา 7 ระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ จึงเป็นกรณีที่กฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่เป็นคุณแก่จำเลย ต้องใช้กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลยตาม ป.อ. มาตรา 3
การที่โจทก์มีคำขอท้ายฎีกาขอให้ศาลฎีกาพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 ให้ลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 3 ตามฟ้อง จึงพอแปลได้ว่า โจทก์ขอให้ศาลฎีกาลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 3 ในความผิดฐานอื่นที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายกฟ้องนั่นเอง แต่ฎีกาของโจทก์ดังกล่าวมิได้โต้แย้งคัดค้านว่าศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาไม่ชอบอย่างไร และไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 เพราะเหตุใด จึงเป็นฎีกาที่มิได้คัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 อันเป็นการไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 216 แม้ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของโจทก์ส่วนนี้ไว้ ศาลฎีกาก็ไม่รับวินิจฉัยให้