คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ม. 264

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 6 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6087/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับชำระหนี้ภาษีอากรในคดีล้มละลาย: อายุความ, เอกสาร, และความรับผิดของหุ้นส่วนผู้จัดการ
เจ้าหนี้เป็นหน่วยงานราชการครอบครองต้นฉบับเอกสารอยู่แล้ว ได้นำส่งสำเนาเอกสารอันเกิดจากการรับรองความถูกต้องของเจ้าหน้าที่ภายในหน่วยงานของรัฐ จึงรับฟังเอกสารที่เจ้าหนี้ส่งเป็นพยานเอกสารได้
เจ้าหนี้ได้มีหนังสือเตือนให้ลูกหนี้ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัด ศ. นำเงินภาษีอากรไปชำระตามแบบแจ้งการประเมินจำนวน 2 ครั้ง โดยลูกหนี้ได้รับหนังสือเตือนแล้ว เป็นกรณีที่เจ้าหนี้ได้ใช้สิทธิเรียกร้องให้ลูกหนี้ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการรับผิดในหนี้ภาษีอากรของห้าง นับจากวันที่ลูกหนี้ได้รับหนังสือเตือนครั้งแรกวันที่ 11 พฤศจิกายน 2537 ถึงวันที่เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้วันที่ 24 พฤษภาคม 2543 หนี้ดังกล่าวจึงยังไม่ขาดอายุความ 10 ปีตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/31 และมูลหนี้ค่าภาษีอากรดังกล่าวเป็นมูลหนี้ค่าภาษีอากรค้างชำระที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ 13 ธันวาคม 2542 อันเป็นวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด จึงไม่ต้องห้ามมิให้ขอรับชำระหนี้ตามมาตรา 94 แห่ง พ.ร.บ.ล้มละลายฯ และเป็นหนี้ที่หุ้นส่วนผู้จัดการต้องรับผิดร่วมกับห้างหุ้นส่วนจำกัด ศ. เมื่อห้างหุ้นส่วนจำกัด ศ. ผิดนัดชำระหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1070 ประกอบมาตรา 1077 (2) โดยเจ้าหนี้ไม่จำต้องไปใช้สิทธิเรียกร้องเอากับลูกหนี้ตามมาตรา 55 แห่ง ป.วิ.พ. แต่อย่างใด กรณีไม่ต้องด้วย มาตรา 88 และ 89 แห่ง พ.ร.บ.ล้มละลายฯ เพราะเจ้าหนี้ได้ใช้สิทธิดำเนินคดีกับตัวลูกหนี้โดยตรงแล้ว
การใช้อำนาจตาม ป.รัษฎากรฯ มาตรา 12 สั่งยึดและอายัดทรัพย์สินของลูกหนี้นำออกขายทอดตลาดเพื่อหักชำระหนี้ภาษีได้นั้น เป็นกระบวนการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหนี้ และลูกหนี้มิได้โต้แย้งจำนวนหนี้ค่าภาษีอากรที่เจ้าหนี้ได้แจ้งการประเมินเรียกให้ลูกหนี้ชำระแต่อย่างใด จึงไม่ได้มีปัญหาที่ศาลจะบังคับใช้กฎหมายตามมาตรา 12 แห่ง ป.รัษฎากรฯ ที่จะต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายมาตราดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5240/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลในการส่งคำโต้แย้งรัฐธรรมนูญ: ศาลยุติธรรมมีอำนาจวินิจฉัยเบื้องต้นก่อนส่งศาลรัฐธรรมนูญ
อำนาจในการสั่งรับหรือไม่รับคำโต้แย้งของคู่ความตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 264 วรรคหนึ่ง ไว้พิจารณา เป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 264 วรรคสอง แต่อำนาจในการวินิจฉัยว่าคำโต้แย้งของคู่ความเข้าหลักเกณฑ์ที่จะต้องส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยหรือไม่เป็นอำนาจของศาลยุติธรรมตามมาตรา 264 วรรคหนึ่ง มิใช่ว่าหากคู่ความมีคำโต้แย้งในเรื่องนี้อย่างไรแล้วศาลยุติธรรมจะต้องส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยทุกกรณีไป
คำโต้แย้งของจำเลยที่ 3 ที่กล่าวอ้างในคำร้องมีใจความเพียงว่า อุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 เป็นอุทธรณ์คำสั่งระหว่างพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226 มิใช่อุทธรณ์คำพิพากษาของศาลที่จะต้องนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แทนคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งมาวางศาลตามมาตรา 229 ดังนั้น บทบัญญัติมาตรา 229 ที่ใช้บังคับแก่คดีจึงขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 30 จำเลยที่ 3 จึงได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายไม่เท่าเทียมกัน บทบัญญัติมาตรา 229 ใช้บังคับไม่ได้ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 6 คำโต้แย้งดังกล่าวไม่ชัดแจ้งว่า บทบัญญัติมาตรา 229 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 30 อย่างไรหรือเป็นเพราะเหตุใดบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวก่อให้เกิดผลที่จะทำให้บุคคลไม่มีความเสมอกันในกฎหมายหรือได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายไม่เท่าเทียมกัน เป็นคำโต้แย้งที่ไม่ต้องด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 6 ประกอบมาตรา 264 ศาลปฏิเสธไม่ส่งคำโต้แย้งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้และคำสั่งของศาลมิใช่เป็นการวินิจฉัยว่าบทบัญญัติกฎหมายใดขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2273/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำสั่งระหว่างพิจารณาคดีและอำนาจศาลในการรับคำร้องขอวินิจฉัยความขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ
คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลจังหวัดนนทบุรี คำสั่งศาลจังหวัดนนทบุรีที่ยกคำร้องของโจทก์ที่ขอให้ส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ศาลจะใช้บังคับแก่คดีขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญเป็นคำสั่งก่อนศาลจังหวัดนนทบุรีมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดี แม้เป็นคำสั่งเกี่ยวกับคำร้องขอตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 264 ก็เป็นคำสั่งในขั้นตอนการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลยุติธรรม ต้องถือว่าเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์คำสั่งนั้นในระหว่างพิจารณาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 226

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2273/2548 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำสั่งระหว่างพิจารณาคดีและการไม่อุทธรณ์ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 226 กรณีคำร้องขอให้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ
คดีนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น คำสั่งศาลชั้นต้นที่ยกคำร้องของโจทก์ที่ขอให้ส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ศาลจะใช้บังคับแก่คีดขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ เป็นคำสั่งก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดี แม้เป็นคำสั่งเกี่ยวกับคำร้องขอตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 264 ก็เป็นคำสั่งในขั้นตอนการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลยุติธรรม ถือว่าเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์คำสั่งนั้นในระหว่างพิจารณา ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 226

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1412/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำสั่งศาลระหว่างพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ: คำสั่งที่ไม่ชอบและข้อจำกัดการอุทธรณ์
คดีอยู่ระหว่างพิจารณาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งยกคำร้องของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ที่ขอให้ส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ศาลจะใช้บังคับแก่คดีขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ เป็นคำสั่งก่อนศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดี จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์คำสั่งนั้นในระหว่างพิจารณาตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศพ.ศ.2539 มาตรา 38 ประกอบด้วย ป.พ.พ. มาตรา 226

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2446/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำสั่งศาลที่ไม่ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา ไม่อุทธรณ์ได้จนกว่ามีคำพิพากษา
การที่ศาลชั้นต้นยกคำร้องของจำเลยที่ให้ส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ศาลจะใช้บังคับแก่คดีขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ เป็นคำสั่งก่อนที่ศาลชั้นต้นจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดี จึงเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา แม้เป็นคำสั่งเกี่ยวกับคำร้องขอตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 264 ก็เป็นคำสั่งในขั้นตอนการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลยุติธรรม มิใช่คำสั่งไม่รับคำคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 18 หรือคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดในปัญหาข้อกฎหมายตาม ป.วิ.พ. มาตรา 24 คำสั่งระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นดังกล่าวจึงต้องห้ามอุทธรณ์จนกว่าศาลชั้นต้นจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดตัดสินคดีแล้วตาม ป.วิ.พ. มาตรา 226 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลายฯ มาตรา 14