คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.พ.พ. ม. 1727 วรรคหนึ่ง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 10 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2150/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจัดการมรดกเสร็จสิ้นแล้ว ห้ามถอนผู้จัดการมรดก แม้มีเหตุทุจริต
การร้องขอให้ศาลสั่งถอนผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1727 วรรคหนึ่ง ผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใดต้องร้องขอเสียก่อนที่การปันมรดกเสร็จสิ้นลง เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าผู้ร้องได้ปันทรัพย์มรดกทั้งหมดแล้วโดยไม่มีทรัพย์มรดกของผู้ตายหลงเหลือให้จัดการอีกต่อไป จึงถือได้ว่าผู้ร้องในฐานะผู้จัดการมรดกได้จัดการมรดกเสร็จสิ้นแล้ว แม้ผู้คัดค้านจะอ้างเหตุว่าผู้ร้องยื่นคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกโดยมีเจตนาทุจริตปกปิดผู้คัดค้านและบุตรซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตาย ทั้งได้โอนทรัพย์มรดกให้แก่ผู้ไม่มีสิทธิ หรือมีเหตุอื่นตามกฎหมายอันอาจเป็นเหตุในการร้องขอถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกได้ก็ตาม ก็ไม่อาจถือได้ว่าการปันมรดกรายดังกล่าวยังไม่เสร็จสิ้น การที่ผู้คัดค้านยื่นคำร้องขอถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกภายหลังการปันมรดกเสร็จสิ้นแล้วย่อมต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าว
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 3/2561)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4067/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแต่งตั้งผู้จัดการมรดก: พิจารณาความน่าเชื่อถือและประโยชน์แก่กองมรดกเหนือสิทธิเจ้าของร่วม
เมื่อผู้ตายยังมีทายาทโดยธรรมและร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายเข้ามาเช่นนี้ ผู้ร้องซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมย่อมสมควรเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายยิ่งกว่าผู้คัดค้านซึ่งเป็นเพียงเจ้าของรวมในทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกันมากับผู้ตายในช่วงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น ทั้งทรัพย์สินที่มีชื่อผู้ตายถือกรรมสิทธิ์หรือมีสิทธิครอบครองผู้คัดค้านอ้างว่าเป็นของมารดาผู้คัดค้านและผู้ตาย เป็นทรัพย์สินของผู้คัดค้าน และเป็นทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกันกับผู้ตาย แสดงว่าผู้คัดค้านมีข้อโต้แย้งสิทธิในทรัพย์สินของผู้ตายเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอกและผู้คัดค้านเอง ไม่ใช่กระทำไปเพื่อประโยชน์แก่กองมรดก ซึ่งย่อมเป็นอุปสรรคต่อการรวบรวม จัดการและแบ่งทรัพย์มรดกให้ทายาทโดยธรรมของผู้ตาย นอกจากนี้ในคดีที่ผู้ร้องและผู้คัดค้านต่างใช้สิทธิฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันชีวิตนั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้ยกฟ้องของผู้คัดค้านด้วยเหตุผลว่าผู้คัดค้านมีส่วนเกี่ยวข้องกับการปลอมลายมือชื่อของผู้ตาย น่าเชื่อว่าผู้คัดค้านวางแผนทำสัญญาประกันชีวิตให้ผู้ตายเพื่อต้องการได้รับประโยชน์จากเงื่อนไขในกรมธรรม์มากกว่าทำสัญญาประกันชีวิตเพื่อสร้างความมั่นคงในชีวิตให้ผู้ตาย ผู้คัดค้านใช้สิทธิโดยไม่สุจริต จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทน และผู้ร้องยังฟ้องผู้คัดค้านต่อศาลชั้นต้นในข้อหาเบิกความเท็จ นำสืบหรือแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีที่ฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนดังกล่าว ยิ่งแสดงให้เห็นว่าผู้คัดค้านเป็นผู้ไม่สมควรเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
การที่ศาลใช้ดุลพินิจตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกนั้น นอกจากจะต้องเป็นบุคคลผู้มีคุณสมบัติไม่ต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 1718 แล้ว ศาลยังจะต้องพิเคราะห์ถึงเหตุอื่น ๆ เพื่อประโยชน์แก่กองมรดกที่จะต้องจัดการนั้นด้วย ทั้งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1727 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใดจะร้องขอให้ศาลสั่งถอนผู้จัดการมรดก เพราะเหตุผู้จัดการมรดกละเลยไม่ทำการตามหน้าที่ หรือเพราะเหตุอย่างอื่นที่สมควรก็ได้ แต่ต้องร้องขอเสียก่อนที่การปันมรดกเสร็จสิ้นลง ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยว่าการที่ผู้ตายถึงแก่ความตาย เป็นเหตุให้ผู้คัดค้านได้รับประโยชน์จากการทำสัญญาประกันชีวิตของผู้ตายแต่ผู้เดียวสูงถึง 22,000,000 บาทเศษ อันเป็นเรื่องผิดปกติทั้งๆ ที่ผู้คัดค้านเป็นภริยาซึ่งอยู่กินฉันสามีภริยาก่อนผู้ตายจะเสียชีวิตเพียง 2 ปีเศษ อีกทั้งสาเหตุที่ผู้ตายถูกคนร้ายยิงจนถึงแก่ความตายยังมีข้อเคลือบแคลงสงสัยว่าผู้คัดค้านมีส่วนรู้เห็นที่ผู้ตายถูกยิงหรือไม่ จึงเป็นการวินิจฉัยถึงความน่าเชื่อถือในตัวผู้คัดค้านว่าสมควรเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายหรือไม่ ส่วนการวินิจฉัยว่าผู้คัดค้านมีข้อโต้แย้งว่าทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างอยู่กินฉันสามีภริยาไม่ใช่ทรัพย์มรดกของผู้ตาย และกิจการโรงเรียนกวดวิชาขาดทุนและปิดกิจการไปแล้ว ประกอบกับการที่ผู้ร้องยื่นฟ้องผู้คัดค้านข้อหาเบิกความเท็จ แสดงว่าต่างมีพฤติการณ์เป็นปฏิปักษ์ต่อกันเกี่ยวกับทรัพย์มรดกของผู้ตาย การจัดการมรดกร่วมกันมีข้อขัดข้อง ไม่อาจจัดการแบ่งปันทรัพย์มรดกกันต่อไปได้ ทั้งหมดเหล่านี้ย่อมเป็นการวินิจฉัยถึงเหตุอื่นๆ เพื่อประโยชน์แก่กองมรดกที่จะต้องจัดการต่อไปประกอบการตั้งผู้จัดการมรดกหรือการเพิกถอนผู้จัดการมรดกคนใดคนหนึ่ง ไม่เป็นการวินิจฉัยนอกสำนวน และเมื่อประเด็นที่ว่า ผู้คัดค้านละเลยต่อหน้าที่ในการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายหรือไม่ ไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง ศาลอุทธรณ์ภาค 8 จึงไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3444/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนการซื้อขายและจำนองที่ดินอันเกิดจากหนังสือมอบอำนาจปลอม และสิทธิของเจ้าของที่ดินที่แท้จริง
คดีนี้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าโจทก์มิได้ลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจที่ยังไม่ได้กรอกข้อความมอบให้แก่จำเลยที่ 2 ถือว่าจำเลยที่ 2 ปลอมหนังสือมอบอำนาจโดยมิได้เกิดจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของโจทก์ ซึ่งการที่จำเลยที่ 2 ไม่ได้โต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นที่ว่า จำเลยที่ 2 ปลอมหนังสือมอบอำนาจของโจทก์แล้วนำไปใช้จดทะเบียนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 โดยมิชอบก็ดี และการที่จำเลยที่ 1 ไม่โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับโจทก์ก็ดี ย่อมก่อให้เกิดผลว่า การซื้อขายที่ดินพิพาทตามสำเนาหนังสือสัญญาขายที่ดิน เป็นการซื้อขายที่ดินที่ไม่มีผลผูกพันคู่สัญญา กล่าวคือ จำเลยที่ 1 ไม่อาจอ้างได้ว่าตนเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทแทนโจทก์มาตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม 2541 ซึ่งเป็นวันทำสัญญา โดยโจทก์ยังคงเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทมาตลอด เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดินพิพาทและไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทมาตั้งแต่เริ่มแรก การที่จำเลยที่ 3 รับจำนองที่ดินพิพาทไว้จากจำเลยที่ 1 ในเวลาอีก 2 วันต่อมา คือวันที่ 25 มีนาคม 2541 จึงมิใช่การรับจำนองจากผู้เป็นเจ้าของในขณะนั้น อันเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 705 ดังนี้ การจำนองที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 1 จึงไม่มีผลทำให้จำเลยที่ 3 ยกสิทธิจำนองขึ้นต่อสู้โจทก์ผู้เป็นเจ้าของที่ดินพิพาทได้ โดยไม่ต้องคำนึงว่าจำเลยที่ 3 รับจำนองที่ดินพิพาทมาโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนหรือไม่ การที่จำเลยที่ 1 จดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทไว้แก่จำเลยที่ 3 เป็นการกระทำที่ไม่เกี่ยวกับโจทก์และจำเลยที่ 2 มิใช่ตัวแทนของโจทก์ในการจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาท ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 หยิบยก ป.พ.พ. มาตรา 822 ประกอบมาตรา 821 ซึ่งเป็นบทบัญญัติในเรื่องความรับผิดของตัวการและตัวแทนต่อบุคคลภายนอกมาปรับแก่คดีว่า โจทก์จะขอให้เพิกถอนนิติกรรมจำนองที่ดินพิพาทที่จำเลยที่ 3 ผู้รับจำนองได้กระทำการโดยสุจริตมิได้ จึงเป็นการไม่ถูกต้องและเมื่อคดีฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 นำที่ดินพิพาทไปจำนองไว้แก่จำเลยที่ 3 โดยมิชอบด้วยกฎหมาย กรณีจึงมีเหตุให้ต้องเพิกถอนการจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 3 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาไม่เพิกถอนนิติกรรมจำนองดังกล่าวมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2569/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เงื่อนไขในพินัยกรรมที่ขัดแย้งกับกฎหมาย และสิทธิของผู้มีส่วนได้เสียในการจัดการมรดก
พินัยกรรมของ พ. ที่ว่า ทรัพย์เหล่านี้ขอยกให้ผู้ตายรักษาไว้เพื่อตกทอดแก่ลูกหลานผู้สืบสกุลต่อไป ต่อมาผู้ตายทำพินัยกรรมขอยกให้ผู้ร้องรักษาไว้เพื่อตกทอดแก่ลูกหลานผู้สืบสกุลต่อไป ถือเป็นข้อกำหนดตั้งผู้รับพินัยกรรม คือผู้ตายและผู้ร้องตามลำดับ ข้อความในพินัยกรรมทั้งสองในส่วนที่ว่า รักษาไว้เพื่อตกทอดแก่ลูกหลานผู้สืบสกุลต่อไปนั้น เป็นเงื่อนไขให้ผู้รับพินัยกรรมจำหน่ายทรัพย์สินที่ยกให้โดยพินัยกรรมแก่บุคคลอื่น ป.พ.พ. มาตรา 1707 ให้ถือว่าเงื่อนไขนั้นเป็นอันไม่มีเลย เมื่อพินัยกรรมกำหนดให้ทรัพย์มรดกตามพินัยกรรมของ พ. ตกได้แก่ผู้ตายเพียงคนเดียวและผู้ตายทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกดังกล่าวให้แก่ผู้ร้องเพียงผู้เดียว โดยข้อความต่อท้ายที่ว่า "ให้รักษาไว้เพื่อตกทอดแก่ลูกหลานผู้สืบสกุลต่อไป" ถือเป็นเงื่อนไขที่เป็นอันไม่มีเลย ผู้คัดค้านย่อมไม่มีสิทธิใด ๆ ในทรัพย์มรดกของผู้ตาย กรณีจึงถือว่าผู้คัดค้านมิใช่ผู้มีส่วนได้เสียที่มีอำนาจยื่นคำร้องขอให้ถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1727 วรรคหนึ่ง การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยว่า พินัยกรรมตัดผู้คัดค้านจากการเป็นผู้มีสิทธิรับมรดกเพื่อจะนำไปฟังว่าผู้คัดค้านมิใช่เป็นผู้มีส่วนได้เสียที่จะมีสิทธิร้องขอถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดก จึงมิใช่การวินิจฉัยนอกประเด็นแห่งคดี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14777/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ พินัยกรรมยกทรัพย์สินตัดทายาทโดยธรรม แม้ผู้คัดค้านเป็นบุตรที่ผู้ตายรับรอง ก็ไม่มีสิทธิในมรดก
พินัยกรรมระบุยกทรัพย์สินทั้งหมดของผู้ตายให้แก่บุตรทั้งสาม คือ เด็กหญิง บ. เด็กชาย ฉ. และเด็กหญิง ก. ดังนั้นแม้จะฟังว่า ผู้คัดค้านเป็นบุตรของผู้ตายที่ผู้ตายรับรองแล้วอันถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1627 ซึ่งมีฐานะเป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตายตามมาตรา 1629 (1) ก็ตาม ผู้คัดค้านก็ถูกตัดมิให้รับมรดก ตามมาตรา 1608 วรรคสอง ผู้คัดค้านจึงไม่ใช่ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียอันจะมีสิทธิยื่นคำร้องคัดค้านและร้องขอให้ตั้งผู้จัดการมรดก ตามมาตรา 1713 และ 1727 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13399/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การปันมรดกเสร็จสิ้นแล้ว ผู้มีส่วนได้เสียไม่สามารถร้องขอถอนผู้จัดการมรดกได้
การร้องขอให้ศาลสั่งถอนผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1727 วรรคหนึ่ง ผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใดในกองมรดกต้องร้องขอเสียก่อนที่การปันมรดกเสร็จสิ้นลง เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าการปันทรัพย์มรดกรายนี้ได้เสร็จสิ้นลงแล้วก่อนที่ผู้คัดค้านจะมายื่นคำร้องขอถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดก ที่ผู้คัดค้านฎีกาว่าการจัดการมรดกยังไม่เสร็จสิ้น เพราะผู้ร้องยักยอกทรัพย์มรดกไปเป็นของผู้ร้องและสามีเพียงฝ่ายเดียว ซึ่งเป็นการจัดการมรดกโดยทุจริตไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้ข้ออ้างดังกล่าวอาจเป็นเหตุในการร้องขอถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกได้ก็ตาม แต่หาเป็นเหตุทำให้การจัดการมรดกยังไม่เสร็จสิ้นลงแต่อย่างใด ไม่เช่นนั้นแล้วก็เท่ากับเป็นการขยายอายุความมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 ออกไปอีกไม่สิ้นสุดเพราะเหตุที่กองมรดกอยู่ในระหว่างจัดการโดยมีผู้จัดการมรดกครอบครองแทนตามมาตรา 1748

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18893/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องของผู้จัดการมรดก: ต้องได้รับอนุญาตจากศาลหรือมีมติร่วมกัน หากฟ้องเอง ศาลต้องยกฟ้อง
ป.พ.พ. มาตรา 1726 บัญญัติว่า "ถ้าผู้จัดการมรดกมีหลายคน การทำหน้าที่ของผู้จัดการมรดกนั้นต้องถือเอาเสียงข้างมาก...ถ้าเสียงเท่ากัน เมื่อผู้มีส่วนได้เสียร้องขอ ก็ให้ศาลเป็นผู้ชี้ขาด" ข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์และจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกร่วมกันตามคำสั่งศาล การฟ้องคดีเป็นอำนาจหน้าที่ของผู้จัดการมรดกประการหนึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1736 วรรคสอง ดังนั้น โจทก์แต่ผู้เดียวไม่มีอำนาจยื่นฟ้องเพียงลำพัง แม้การกระทำของจำเลยที่ 1 จะเป็นปฏิปักษ์และเสียหายต่อกองมรดกก็ตาม เพราะโจทก์สามารถยื่นคำร้องต่อศาลแสดงเหตุขัดข้องเพื่อขออนุญาตฟ้องหรือขอให้ศาลถอดถอนจำเลยที่ 1 จากการเป็นผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1727 วรรคหนึ่ง ได้ นอกจากนี้โจทก์อาจใช้สิทธิความเป็นทายาทฟ้องคดีในฐานะส่วนตัวเพื่อให้จำเลยที่ 1 รับผิดในการจัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง ก็ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2972/2544 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การถอนผู้จัดการมรดก: อำนาจฟ้องและกรอบเวลาตาม ป.พ.พ. มาตรา 1727
คดีร้องขอถอนผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1727 วรรคหนึ่ง ซึ่งจะต้องมีเหตุที่จะถอนและต้องร้องขอก่อนที่การปันมรดกเสร็จสิ้นลงเป็นเรื่องอำนาจฟ้อง ไม่ใช่คดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกที่จะต้องฟ้องภายในห้าปีนับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง ซึ่งเป็นเรื่องสิทธิเรียกร้อง ประเด็นแห่งคดีร้องขอถอนผู้จัดการมรดกจึงมีเพียงว่า มีเหตุให้ถอนผู้จัดการมรดกและร้องขอถอนผู้จัดการมรดกได้ร้องก่อนการปันมรดกเสร็จสิ้นหรือไม่ โดยไม่มีประเด็นเรื่องสิทธิเรียกร้องคดีขาดอายุความฟ้องร้องหรือไม่ แม้ผู้ร้องจะกล่าวอ้างมาในคำคัดค้านการร้องขอถอนผู้จัดการมรดกก็เป็นเรื่องเกินเลยไม่เกี่ยวกับประเด็น การที่ศาลล่างหยิบยกเรื่องคดีขาดอายุความการจัดการมรดกตามมาตรา 1733 วรรคสอง ขึ้นวินิจฉัย จึงเป็นการไม่ชอบ
เมื่อการปันมรดกเสร็จสิ้นลงแล้ว การใช้สิทธิขอถอนผู้จัดการมรดกของผู้คัดค้านจึงพ้นกำหนดเวลาตาม ป.พ.พ. มาตรา 1727 วรรคหนึ่ง ผู้คัดค้านจึงไม่มีสิทธิร้องขอถอนผู้ร้องออกจากตำแหน่งผู้จัดการมรดก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3292/2538

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ พินัยกรรม, การตัดทายาท, ผู้จัดการมรดก, การไม่มีส่วนได้เสีย, การเพิกถอนคำสั่งศาล
ตามพินัยกรรมเอกสารหมายค.9และค.11ทั้งสองฉบับกำหนดให้ผู้คัดค้านที่1เป็นผู้จัดการมรดกและให้ผู้คัดค้านที่2เป็นผู้รับมรดกทั้งหมดของผู้ตายแต่เพียงผู้เดียวแม้จะฟังว่าพินัยกรรมเอกสารหมายค.11ไม่มีผลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1686เพราะมีข้อกำหนดในการก่อตั้งทรัสต์ขึ้นก็ตามพินัยกรรมฉบับนี้ย่อมไม่มีผลเป็นการเพิกถอนพินัยกรรมตามเอกสารหมายค.9ซึ่งไม่มีข้อกำหนดในการก่อตั้งทรัสต์ขึ้นทั้งไม่ปรากฏว่าคู่ความได้โต้แย้งว่าเป็นพินัยกรรมที่ไม่สมบูรณ์ใช้บังคับไม่ได้แต่อย่างใดพินัยกรรมตามเอกสารหมายค.9จึงสมบูรณ์ใช้บังคับได้ตามกฎหมายเมื่อพินัยกรรมดังกล่าวกำหนดให้ผู้คัดค้านที่2เป็นผู้รับมรดกทั้งหมดของผู้ตายแต่เพียงผู้เดียวเช่นนี้ย่อมต้องถือว่าผู้ร้องทั้งสองซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตายผู้ที่มิได้รับประโยชน์จากพินัยกรรมเป็นผู้ถูกตัดมิให้รับมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1608วรรคท้ายผู้ร้องทั้งสองจึงเป็นทายาทที่ไม่มีส่วนได้เสียในกองมรดกของผู้ตายย่อมไม่มีอำนาจที่จะร้องขอต่อศาลให้ตั้งผู้ร้องทั้งสองเป็นผู้จัดการมรดกได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1713วรรคหนึ่งจึงมีเหตุสมควรที่จะถอนผู้ร้องทั้งสองออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1727วรรคหนึ่ง ปัญหาว่ามีเหตุที่จะตั้งผู้คัดค้านที่1เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายหรือไม่ปรากฏว่าผู้คัดค้านที่1ได้ดำเนินการโอนเงินของผู้ตายซึ่งมีอยู่ในธนาคารในประเทศไทยไปเข้ากองมรดกของผู้ตายหมดแล้วและหุ้นของผู้ตายในบริษัทในประเทศไทยบริษัทดังกล่าวก็ถูกพิพากษาให้ล้มละลายแล้วจึงไม่มีทรัพย์สินของผู้ตายในประเทศไทยให้จัดการมรดกได้ผู้คัดค้านที่1เชื่อว่าไม่มีความจำเป็นแล้วที่จะมีผู้จัดการมรดกของผู้ตายในประเทศไทยดังนี้เมื่อผู้คัดค้านที่1ยืนยันชัดแจ้งว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมีผู้จัดการมรดกของผู้ตายในประเทศไทยย่อมไม่มีเหตุที่จะตั้งให้ผู้คัดค้านที่1เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3292/2538 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจัดการมรดกและการตัดสิทธิทายาทโดยธรรมเนื่องจากพินัยกรรม
ตามพินัยกรรมเอกสารหมาย ค.9 และ ค.11 ทั้งสองฉบับกำหนดให้ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดก และให้ผู้คัดค้านที่ 2 เป็นผู้รับมรดกทั้งหมดของผู้ตายแต่เพียงผู้เดียว แม้จะฟังว่าพินัยกรรม เอกสารหมาย ค.11 ไม่มีผลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1686 เพราะมีข้อกำหนดในการก่อตั้งทรัสต์ขึ้นก็ตาม พินัยกรรมฉบับนี้ย่อมไม่มีผลเป็นการเพิกถอนพินัยกรรมตามเอกสารหมาย ค.9 ซึ่งไม่มีข้อกำหนดในการก่อตั้งทรัสต์ขึ้น ทั้งไม่ปรากฎว่าคู่ความได้โต้แย้งว่าเป็นพินัยกรรมที่ไม่สมบูรณ์ใช้บังคับไม่ได้แต่อย่างใด พินัยกรรมตามเอกสารหมาย ค.9 จึงสมบูรณ์ใช้บังคับได้ตามกฎหมาย เมื่อพินัยกรรมดังกล่าวกำหนดให้ผู้คัดค้านที่ 2 เป็นผู้รับมรดกทั้งหมดของผู้ตายแต่เพียงผู้เดียวเช่นนี้ย่อมต้องถือว่าผู้ร้องทั้งสองซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตายผู้ที่มิได้รับประโยชน์จากพินัยกรรมเป็นผู้ถูกตัดมิให้รับมรดก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา1608 วรรคท้าย ผู้ร้องทั้งสองจึงเป็นทายาทที่ไม่มีส่วนได้เสียในกองมรดกของผู้ตายย่อมไม่มีอำนาจที่จะร้องขอต่อศาลให้ตั้งผู้ร้องทั้งสองเป็นผู้จัดการมรดกได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713 วรรคหนึ่ง จึงมีเหตุสมควรที่จะถอนผู้ร้องทั้งสองออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ตามประมวลกฎหมายแพ่ง-และพาณิชย์ มาตรา 1727 วรรคหนึ่ง
ปัญหาว่ามีเหตุที่จะตั้งผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายหรือไม่ ปรากฎว่า ผู้คัดค้านที่ 1 ได้ดำเนินการโอนเงินของผู้ตายซึ่งมีอยู่ในธนาคารในประเทศไทยไปเข้ากองมรดกของผู้ตายหมดแล้ว และหุ้นของผู้ตายในบริษัทในประเทศไทย บริษัทดังกล่าวก็ถูกพิพากษาให้ล้มละลายแล้ว จึงไม่มีทรัพย์สินของผู้ตายในประเทศไทยให้จัดการมรดกได้ ผู้คัดค้านที่ 1 เชื่อว่าไม่มีความจำเป็นแล้วที่จะมีผู้จัดการมรดกของผู้ตายในประเทศไทย ดังนี้ เมื่อผู้คัดค้านที่ 1 ยืนยันชัดแจ้งว่า ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมีผู้จัดการมรดกของผู้ตายในประเทศไทย ย่อมไม่มีเหตุที่จะตั้งให้ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย