คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.พ.พ. ม. 193/12 ที่แก้ไขใหม่

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 1 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2969/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องเรียกค่าอากรศุลกากร: เจตนาหลีกเลี่ยงอากร vs. การสำแดงรุ่นรถยนต์ไม่ถูกต้อง
ป.รัษฎากร มาตรา 88 (เดิม) และมาตรา 87 (3) (เดิม) ซึ่งเกี่ยวกับภาษีการค้าได้กำหนดขั้นตอนให้เจ้าพนักงานประเมินต้องแจ้งการประเมินให้ผู้เสียภาษีทราบโดยระบุให้ทำเป็นหนังสือ จึงเป็นหน้าที่ของเจ้าพนักงานประเมินต้องแจ้งการประเมินเป็นหนังสือแก่ผู้เสียภาษีว่าจะต้องเสียภาษีประเภทใด เป็นเงินเท่าใด เพื่อให้ผู้เสียภาษีมีโอกาสตรวจสอบและโต้แย้งโดยการอุทธรณ์การประเมิน ดังนั้น การประเมินภาษีของเจ้าพนักงานจะสมบูรณ์และเกิดหนี้ที่ผู้เสียภาษีอากรต้องชำระก็ต่อเมื่อได้มีหนังสือแจ้งการประเมินแก่ผู้เสียภาษีอากรโดยชอบแล้ว การแจ้งการประเมินเป็นหนังสือจึงต้องกระทำให้เสร็จสมบูรณ์ภายในอายุความ จำเลยยื่นใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2532 เจ้าพนักงานประเมินของโจทก์ที่ 1 ประเมินให้จำเลยชำระภาษีการค้าเพิ่มเติมเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2533 แต่มิได้แจ้งการประเมินดังกล่าวแก่จำเลย เพิ่งมีหนังสือแจ้งการประเมินในวันที่ 4 สิงหาคม 2542 และส่งให้จำเลยทราบได้ในวันที่ 2 ธันวาคม 2542 จึงเป็นการแจ้งการประเมินเมื่อพ้น 10 ปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการการค้า ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 88 ทวิ (2) (เดิม) การประเมินภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลของโจทก์ที่ 1 จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
การที่จำเลยนำเข้ารถยนต์พิพาทโดยสำแดงรุ่นไม่ถูกต้องไม่ได้เกิดจากการหลีกเลี่ยง หรือพยายามหลีกเลี่ยงอากร สิทธิของโจทก์ที่ 1 ที่จะเรียกเงินอากรที่ขาดเพราะเหตุอันเกี่ยวกับชนิด คุณภาพ ปริมาณ น้ำหนัก หรือราคาแห่งของใด ๆ จึงมีอายุความ 10 ปี นับแต่วันนำของเข้า ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 10 วรรคสาม จำเลยนำรถยนต์คันพิพาทเข้ามาในราชอาณาจักรเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2532 และยื่นใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2532 แต่โจทก์ทั้งสองฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2543 จึงเกิน 10 ปี นับแต่วันนำเข้า ฟ้องของโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีศุลกากรจึงขาดอายุความ