คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
อรรถพงษ์ กุลโชครังสรรค์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 50 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10322/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจการขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินตาม พ.ร.บ.ฟอกเงิน แม้เคยยื่นคำร้องตามกฎหมายอื่นแล้วแต่ไม่เป็นผล ไม่ถือเป็นร้องซ้ำ
พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 58 วรรคหนึ่ง มีความหมายว่า ในกรณีที่ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเป็นทรัพย์สินที่ต้องดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินนั้นตามกฎหมายอื่น หากการดำเนินการนั้นไม่เป็นผล ก็ให้ดำเนินการกับทรัพย์สินนั้นต่อไปโดยขอให้ตกเป็นของแผ่นดินตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ซึ่งการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินตาม พ.ร.บ.ความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา พ.ศ.2535 ที่บัญญัติให้ประเทศไทยอาจให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศผู้ร้องขอในเรื่องที่เกี่ยวกับการดำเนินการริบหรือยึดทรัพย์สิน ตามคำร้องขอความช่วยเหลือจากต่างประเทศ ก็เป็นการดำเนินการตามกฎหมายอื่น แม้ผู้ร้องเคยร้องขอให้ยึดทรัพย์สินของผู้คัดค้านตาม พ.ร.บ.ความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา พ.ศ.2535 ต่อศาลจังหวัดเชียงใหม่มาก่อน แต่ศาลจังหวัดเชียงใหม่มีคำพิพากษาให้ยกคำร้องและศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน คดีถึงที่สุด ก็เป็นกรณีที่การดำเนินการตามกฎหมายอื่นไม่เป็นผล ผู้ร้องจึงมีอำนาจร้องขอให้ทรัพย์สินของผู้คัดค้านตกเป็นของแผ่นดินได้โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 58 ดังกล่าว ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่ให้อำนาจผู้ร้องไว้โดยเฉพาะ ดังนั้น การยื่นคำร้องคดีนี้จึงไม่เป็นร้องซ้ำ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9591/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนชื่อบุคคลที่ถูกกำหนดจากบัญชีดำผู้ก่อการร้ายเมื่อเสียชีวิต พฤติการณ์เปลี่ยนแปลง
พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย พ.ศ.2556 มาตรา 5 วรรคสอง บัญญัติว่า "ให้สำนักงานทบทวนรายชื่อบุคคลที่ถูกกำหนดตามวรรคหนึ่ง ถ้าเห็นว่ามีพฤติการณ์เปลี่ยนแปลงไปให้สำนักงานโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการธุรกรรมพิจารณาส่งเรื่องให้พนักงานอัยการพิจารณายื่นคำร้องฝ่ายเดียวขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนรายชื่อผู้นั้นออกจากรายชื่อบุคคลที่ถูกกำหนด" การที่ ม. ซึ่งเป็นผู้ถูกศาลสั่งให้เป็นบุคคลที่ถูกกำหนดถึงแก่ความตายย่อมทำให้พฤติการณ์เกี่ยวข้องกับการก่อการร้ายของ ม. หมดสิ้นไป จึงเป็นกรณีที่พฤติการณ์เกี่ยวข้องกับการก่อการร้ายของบุคคลที่ถูกกำหนดเปลี่ยนแปลงไป ศาลย่อมมีคำสั่งให้เพิกถอนชื่อ ม. ออกจากรายชื่อบุคคลที่ถูกกำหนด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9590/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนชื่อบุคคลที่ถูกกำหนดจากบัญชีดำก่อการร้ายหลังเสียชีวิต พฤติการณ์เปลี่ยนแปลง
พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย พ.ศ.2556 มาตรา 5 บัญญัติว่า "ในกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าผู้ใดมีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับการก่อการร้าย หรือการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย หรือดำเนินการแทนหรือตามคำสั่งหรือภายใต้การควบคุมของบุคคลนั้น ให้สำนักงานโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการธุรกรรมพิจารณาส่งรายชื่อผู้นั้นให้พนักงานคณะกรรมการธุรกรรมพิจารณาส่งรายชื่อผู้นั้นให้พนักงานอัยการพิจารณายื่นคำร้องฝ่ายเดียว ขอให้ศาลมีคำสั่งเป็นบุคคลที่ถูกกำหนด และถ้าปรากฏแก่ศาลว่ามีพยานหลักฐานอันควรเชื่อได้ดังต่อไปนี้ ให้ศาลมีคำสั่งตามที่ขอ
(1) ผู้นั้นมีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับการก่อการร้าย หรือการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย หรือ
(2) ผู้นั้นดำเนินการแทนหรือตามคำสั่งหรือภายใต้การควบคุมของบุคคลที่ถูกกำหนดตาม (1) หรือตามมาตรา 4
ให้สำนักงานทบทวนรายชื่อบุคคลที่ถูกกำหนดตามวรรคหนึ่ง ถ้าเห็นว่ามีพฤติการณ์เปลี่ยนแปลงไป ให้สำนักงานโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการธุรกรรมพิจารณาส่งเรื่องให้พนักงานอัยการพิจารณายื่นคำร้องฝ่ายเดียวขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนรายชื่อผู้นั้นออกจากรายชื่อบุคคลที่ถูกกำหนด
ตามบทบัญญัติวรรคสองดังกล่าว เห็นได้ว่า ถ้าพฤติการณ์ของบุคคลที่ถูกกำหนดตามวรรคหนึ่งเปลี่ยนแปลงไป สำนักงานโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการธุรกรรมมีอำนาจพิจารณาส่งเรื่องให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องฝ่ายเดียวขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนรายชื่อผู้นั้นออกจากรายชื่อบุคคลที่ถูกกำหนดได้ สำหรับคดีนี้ ป. ถูกศาลสั่งให้เป็นบุคคลที่ถูกกำหนด เนื่องจากมีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับการก่อการร้ายโดยร่วมอยู่ในขบวนการก่อการร้ายจนศาลออกหมายจับไว้หลายคดี การที่ ป.ถึงแก่ความตาย ย่อมทำให้พฤติการณ์เกี่ยวข้องกับการก่อการร้ายของ ป. หมดสิ้นไป จึงเป็นกรณีที่พฤติการณ์เกี่ยวข้องกับการก่อการร้ายของบุคคลที่ถูกกำหนดเปลี่ยนแปลงไปตามที่บัญญัติไว้ในวรรคสอง ศาลย่อมมีคำสั่งเพิกถอนชื่อ ป. ออกจากรายชื่อบุคคลที่ถูกกำหนด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9589/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนรายชื่อบุคคลที่ถูกกำหนดฐานเกี่ยวข้องกับการก่อการร้ายเมื่อถึงแก่ความตาย
พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย พ.ศ.2556 มาตรา 5 วรรคสอง บัญญัติว่า "ให้สำนักงานทบทวนรายชื่อบุคคลที่ถูกกำหนดตามวรรคหนึ่ง ถ้าเห็นว่ามีพฤติการณ์เปลี่ยนแปลงไปให้สำนักงานโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการธุรกรรมพิจารณาส่งเรื่องให้พนักงานอัยการพิจารณายื่นคำร้องฝ่ายเดียวขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนรายชื่อผู้นั้นออกจากรายชื่อบุคคลที่ถูกกำหนด" การที่ อ. ซึ่งเป็นผู้ถูกศาลสั่งให้เป็นบุคคลที่ถูกกำหนดถึงแก่ความตาย ย่อมทำให้พฤติการณ์เกี่ยวข้องกับการก่อการร้ายของ อ. หมดสิ้นไป จึงเป็นกรณีที่พฤติการณ์เกี่ยวข้องกับการก่อการร้ายของบุคคลที่ถูกกำหนดเปลี่ยนแปลงไป ศาลย่อมมีคำสั่งให้เพิกถอนชื่อ อ. ออกจากรายชื่อบุคคลที่ถูกกำหนด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4079/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกระทำละเมิดจากเหตุทะเลาะวิวาท ศาลต้องพิจารณาจากข้อเท็จจริงในคดีอาญาประกอบ
มูลคดีนี้ มีข้อเท็จจริงเดียวกับมูลคดีที่พนักงานอัยการจังหวัดจันทบุรีฟ้องจำเลยนี้ในคดีอาญาข้อหาฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา คดีนี้จึงเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่งศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 เมื่อศาลฎีกามีคำพิพากษาคดีส่วนอาญาว่า จำเลยกับผู้ตายต่างสมัครใจทะเลาะวิวาทกัน คดีนี้ศาลจึงต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาดังกล่าว เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏในคดีส่วนอาญาว่า ขณะผู้ตายวิ่งขึ้นจากสระน้ำมาทะเลาะวิวาทกับจำเลย ผู้ตายมีอาวุธปืนด้วย เช่นนี้ การที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายจึงเกินเลยไปจากที่ผู้ตายสมัครใจทะเลาะวิวาทกับจำเลย การกระทำของจำเลยจึงเป็นการละเมิดต่อผู้ตายและโจทก์ทั้งสี่ซึ่งเป็นทายาท จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ทั้งสี่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3274/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การถอนการบังคับคดีหลังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์กลับคำพิพากษาศาลชั้นต้น และหน้าที่ชำระค่าธรรมเนียมอายัด
โจทก์เป็นเจ้าหนี้ของจำเลยตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นและเป็นผู้ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดเงินฝากธนาคารของจำเลย การที่จำเลยได้หาประกันมาให้สำหรับเงินจำนวนพอชำระหนี้ตามคำพิพากษาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 231 วรรคสาม นั้น ก็เพื่อมิให้ถูกบังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้จำเลยชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ในระหว่างอุทธรณ์ ซึ่งตามบทกฎหมายดังกล่าวให้ศาลมีคำสั่งงดการบังคับคดีไว้ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 295 (1) ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งให้งดการบังคับคดีและแจ้งคำสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทราบ เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงให้งดการบังคับคดีไว้ตามคำสั่งศาลชั้นต้นโดยให้ถอนการอายัดเงินฝากธนาคารของจำเลย หากคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่มีการบังคับคดีอยู่ไม่ถูกกลับในชั้นที่สุด ค่าธรรมเนียมในกรณีอายัดเงินแล้วไม่มีการขายหรือจำหน่าย ย่อมตกแก่จำเลยในฐานะลูกหนี้ตามคำพิพากษาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 169/2 วรรคหนึ่ง แต่ในคดีนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความรวม 80,000 บาทมีผลทำให้โจทก์กลับมาเป็นลูกหนี้ของจำเลยตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ แม้ต่อมาโจทก์และจำเลยได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความตกลงยุติข้อพิพาทโดยโจทก์ไม่ประสงค์จะดำเนินคดีและเรียกร้องใด ๆ จากจำเลยอีกต่อไป และให้ผู้วางเงินค่าฤชาธรรมเนียมหรือเงินใด ๆ ตามคำพิพากษามีสิทธิขอรับเงินดังกล่าวคืนจากศาลได้ก็ตาม ก็มีผลเพียงเป็นการยุติการดำเนินคดีของโจทก์และให้โจทก์หรือจำเลยมีสิทธิขอรับเงินค่าฤชาธรรมเนียมหรือเงินใด ๆ ที่วางไว้ตามคำพิพากษาคืนจากศาลเท่านั้น ไม่มีผลเป็นการลบล้างคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ที่ให้ยกฟ้องแต่อย่างใด ดังนั้น โจทก์และจำเลยย่อมต้องผูกพันตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ดังกล่าว โจทก์จึงไม่สามารถดำเนินการบังคับคดีไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นได้อีกและทำให้การบังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ดำเนินไปแล้วถูกเพิกถอนไปกรณีเช่นนี้จึงต้องถือว่าเป็นการถอนการบังคับคดีไปด้วยเหตุคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่อยู่ในระหว่างบังคับคดีนั้นถูกกลับในชั้นที่สุดโดยคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 295 (3) อันเป็นการถอนการบังคับคดีนอกจากกรณีตามมาตรา 295 (1) ซึ่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 169 /2 วรรคสี่ บัญญัติให้โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาผู้ขออายัดเป็นผู้รับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมในการบังคับคดี โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องเสียค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีกรณีอายัดเงินแล้วไม่มีการขายหรือจำหน่าย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2415/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เงินสงเคราะห์ตกทอดหลังเสียชีวิต ไม่ใช่ทรัพย์สินที่บังคับคดีได้
เงินสงเคราะห์ตกทอดที่การรถไฟแห่งประเทศไทยต้องจ่ายให้แก่ทายาทของจำเลยที่ 1 ผู้มีสิทธิได้รับตามข้อบังคับการรถไฟแห่งประเทศไทยเกิดขึ้นเนื่องจากการถึงแก่ความตายของจำเลยที่ 1 เงินสงเคราะห์ตกทอดดังกล่าวจึงไม่ใช่ทรัพย์สินหรือสิทธิที่จำเลยที่ 1 มีอยู่ในระหว่างมีชีวิตหรือมีอยู่ขณะตาย จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 มีสิทธิเรียกร้องในเงินสงเคราะห์ตกทอดต่อการรถไฟแห่งประเทศไทยอันจะทำให้โจทก์มีสิทธิขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 310 ทวิ กรณีจึงไม่ต้องด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 286 ซึ่งเป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับเงินหรือสิทธิเรียกร้องเป็นเงินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาที่ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีแต่อย่างใด โจทก์จึงไม่มีสิทธิขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดเงินสงเคราะห์ตกทอดดังกล่าว คำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่ไม่อายัดให้นั้นชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 438/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การซื้อขายความ (Litigation Funding) และโมฆะเนื่องจากผู้รับโอนไม่มีอำนาจตามกฎหมาย
ป.พ.พ. มาตรา 303 บัญญัติว่า สิทธิเรียกร้องนั้นท่านว่าจะพึงโอนกันได้ เว้นไว้แต่สภาพแห่งสิทธินั้นเองจะไม่เปิดช่องให้โอนกันได้ ตามบทบัญญัติดังกล่าวแม้กฎหมายให้สิทธิแก่เจ้าหนี้สามารถโอนสิทธิเรียกร้องที่มีต่อลูกหนี้ให้แก่ผู้รับโอนได้ โดยมิได้บัญญัติว่าการโอนสิทธิเรียกร้องนั้นจะต้องมีค่าตอบแทนและผู้รับโอนจะต้องเป็นสถาบันการเงินหรือบริษัทบริหารสินทรัพย์และจะต้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียในมูลหนี้ที่รับโอนก็ตาม แต่กฎหมายมีข้อยกเว้นไว้ว่า ถ้าสภาพแห่งสิทธิเรียกร้องนั้นเองไม่เปิดช่องให้โอนกันได้หรือเป็นสิทธิเฉพาะตัวหรือมีกฎหมายห้ามโอนแล้วย่อมไม่สามารถกระทำได้ตามบทมาตราดังกล่าว สิทธิเรียกร้องที่โจทก์รับโอนมาจากบริษัทบริหารสินทรัพย์ ส. เป็นสิทธิเรียกร้องที่ธนาคาร อ. มีต่อบริษัท ป. ซึ่งรวมถึงสิทธิเรียกร้องที่ธนาคาร อ. ได้ฟ้องบริษัท ป. ต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ กลางและต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้และคดีทั้งสองอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล ประกอบกับได้ความว่าโจทก์รับซื้อสินทรัพย์ด้อยคุณภาพคดีนี้มีมูลหนี้จำนวนประมาณ 312,000,000 บาท โดยซื้อมาเพียง 30,000,000 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ต่ำกว่ามูลหนี้มาก ดังนั้น การโอนสิทธิเรียกร้องระหว่างโจทก์กับบริษัทบริหารสินทรัพย์ ส. จึงไม่ใช่การโอนสิทธิเรียกร้องกันโดยปกติธรรมดาตาม ป.พ.พ. มาตรา 303 วรรคหนึ่ง หากแต่เป็นการซื้อขายความในการดำเนินคดีทั้งสองคดีแก่บริษัท ป. เมื่อโจทก์ไม่ใช่บริษัทบริหารสินทรัพย์ตาม พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 หรือนิติบุคคลที่มีกฎหมายบัญญัติให้มีอำนาจทำสัญญารับโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้ในคดีหรือสินทรัพย์ด้อยคุณภาพเพื่อนำมาบริหารหรือจำหน่ายจ่ายโอนได้ การรับโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวของโจทก์จึงขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15324/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิจารณาคดีใหม่: การส่งหมายที่ไม่ชอบและกรอบเวลาการยื่นคำขอจากพฤติการณ์นอกเหนือควบคุม
จำเลยยื่นคำขอให้พิจารณาคดีใหม่โดยอ้างว่า ไม่จงใจขาดนัดยื่นคำให้การ ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า การส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องไม่ชอบ เป็นการไม่ปฏิบัติตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 74 (2) ให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 จึงเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นไม่ได้พิจารณาคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 199 เบญจ คำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้พิจารณาคดีใหม่และคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 จึงไม่เป็นที่สุด ตามบทบัญญัติแห่งมาตราดังกล่าว
เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2555 พนักงานเดินหมายได้นำคำบังคับไปส่งให้แก่จำเลยที่บ้านเลขที่ 370/207 หมู่ที่ 21 ตำบลบ้านเป็ด อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น ซึ่งเป็นภูมิลำเนาของจำเลยตามคำฟ้องโดยวิธีปิดหมายตามคำสั่งศาลชั้นต้น ต่อมาวันที่ 28 มกราคม 2557 จำเลยยื่นคำขอให้พิจารณาคดีใหม่อ้างว่า จำเลยมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านเลขที่ 370/207 หมู่ที่ 21 ตำบลบ้านเป็ด อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น แต่มิใช่ที่อยู่ที่แท้จริงเพราะจำเลยพักอาศัยอยู่ที่ราชอาณาจักรเดนมาร์กตลอดมาไม่เคยเดินทางกลับประเทศไทยเป็นเวลา 5 ปีแล้ว เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2556 ป. น้าจำเลยโทรศัพท์บอกว่าคนดูแลบ้านของจำเลยเห็นโจทก์กับพวกเข้าไปในบ้านจำเลย หลังจากตรวจสอบแล้วปรากฏว่าบ้านและที่ดินถูกยึด จำเลยติดต่อทนายความจึงทราบว่าถูกโจทก์เป็นคดีนี้ อันเป็นกล่าวอ้างว่ากรณีมีพฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้ที่ทำให้จำเลยไม่สามารถยื่นคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ภายในสิบห้าวันนับจากวันที่ได้ส่งคำบังคับตามคำพิพากษาให้แก่จำเลย ซึ่งจำเลยจะต้องบรรยายให้ชัดแจ้งว่าพฤติการณ์นั้นได้สิ้นสุดลงเมื่อใด เพื่อแสดงให้เห็นว่าจำเลยได้ยื่นคำขอภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่พฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้สิ้นสุดลงหรือไม่ แต่ในคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ของจำเลยดังกล่าวไม่ปรากฏว่าพฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้นั้นได้สิ้นสุดลงเมื่อใด ทั้งในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2556 จำเลยได้แต่งตั้งทนายความยื่นคำร้องขอถ่ายเอกสารต่าง ๆ ในสำนวนเพื่อยื่นคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ จึงต้องถือว่าพฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้ดังกล่าวได้สิ้นสุดอย่างช้าในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2556 แล้ว แต่จำเลยเพิ่งยื่นคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ในวันที่ 28 มกราคม 2557 จึงพ้นกำหนดสิบห้าวันนับแต่วันที่พฤติการณ์นั้นได้สิ้นสุดลง คำขอให้พิจารณาคดีใหม่ของจำเลยจึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 199 จัตวา วรรคหนึ่ง ปัญหาว่าคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14884/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาแบ่งทรัพย์สินจากการหย่าโดยความยินยอมมีผลสมบูรณ์ แม้ยังมิได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาบังคับคดีกระทบสิทธิไม่ได้
ผู้ร้องกับจำเลยที่ 1 หย่ากันโดยความยินยอมของทั้งสองฝ่าย ป.พ.พ. มาตรา 1532 (ก) บัญญัติให้จัดการแบ่งทรัพย์สินของสามีภริยาตามที่มีอยู่ในเวลาจดทะเบียนการหย่า ข้อตกลงตามสำเนาบันทึกด้านหลังทะเบียนการหย่าระหว่างผู้ร้องกับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ยินยอมยกที่ดินโฉนดเลขที่ 32498 พร้อมสิ่งปลูกสร้างเลขที่ 6/82 ให้เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้อง เป็นสัญญาแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาตามบทมาตราดังกล่าว มิใช่สัญญาให้ทรัพย์สินอันจะต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จึงจะสมบูรณ์ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 525 เมื่อนายทะเบียนจดทะเบียนหย่าให้แล้ว ถือว่าทั้งสองฝ่ายได้จัดการแบ่งทรัพย์สินกันเรียบร้อยแล้ว ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างจึงเป็นของผู้ร้องแต่เพียงผู้เดียว การที่จำเลยที่ 1 ยังมิได้จดทะเบียนโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างส่วนของตนให้แก่ผู้ร้อง มีผลเพียงทำให้การได้มาโดยนิติกรรมซึ่งอสังหาริมทรัพย์ของผู้ร้องยังไม่บริบูรณ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคหนึ่ง เท่านั้น แต่สิทธิของผู้ร้องตามสัญญาแบ่งทรัพย์สินที่นายทะเบียนจดทะเบียนหย่าให้แล้วและผู้ร้องได้ครอบครองทรัพย์เพียงผู้เดียวตลอดมา ทั้งเป็นผู้ชำระหนี้จำนองและไถ่ถอนจำนองจากธนาคาร ก. ถือได้ว่าผู้ร้องเป็นผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 ผู้ร้องไม่ใช่ผู้ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรมและโจทก์เป็นเพียงเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยที่ 1 ซึ่งนำยึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์เท่านั้น โจทก์มิใช่ผู้รับโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างอันมีค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว โจทก์จึงมิใช่บุคคลภายนอกที่ได้รับความคุ้มครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 ดังนั้น แม้ผู้ร้องจะมิได้จดทะเบียนการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง ส่วนของจำเลยที่ 1 ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก็ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้โจทก์ได้ โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะบังคับให้กระทบถึงสิทธิของผู้ร้องไม่ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 โจทก์จึงไม่มีสิทธิยึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษา ผู้ร้องมีสิทธิเรียกร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึดได้
of 5