คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 ม. 183

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 8 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 415/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว: ข้อจำกัดการฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงหลังศาลอุทธรณ์ยืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 340 วรรคแรก ประกอบมาตรา 340 ตรี และมาตรา 83 จำคุกคนละ 7 ปี 6 เดือน อาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 142 (1) เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นการส่งตัวจำเลยทั้งสองไปฝึกอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนเขต 4 จังหวัดขอนแก่น มีกำหนดขั้นต่ำ 3 ปี ขั้นสูง 4 ปี ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นอันเป็นศาลเยาวชนและครอบครัวใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนแทนการลงโทษทางอาญาแก่จำเลยซึ่งไม่เป็นการลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 18 ต้องถือว่าศาลชั้นต้นมิได้พิพากษาให้ลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองเกินห้าปี เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 และมาตรา 183 ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่าพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมารับฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิดนั้น เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทบัญญัติดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาของจำเลยทั้งสองมา เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย พิพากษายกฎีกาของจำเลยทั้งสอง
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 17/2559)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10127/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกำหนดโทษเด็กและเยาวชน: ศาลฎีกาตัดสินข้อผิดพลาดในการวินิจฉัยข้อเท็จจริงเรื่องคดีก่อนหน้า
จำเลยที่ 3 กระทำความผิดในคดีหมายเลขแดงที่ 95/2556 เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2556 กระทำความผิดคดีนี้เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2555 ถือว่า จำเลยที่ 3 กระทำความผิดคดีนี้ก่อนคดีหมายเลขแดงที่ 95/2556 ดังนั้นการที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 นำข้อมูลการแสดงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเด็กหรือเยาวชนของสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดฉะเชิงเทรามาใช้ประกอบดุลพินิจกำหนดโทษและวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนแก่จำเลยที่ 3 ว่ากระทำความผิดคดีนี้เป็นครั้งที่ 2 นั้น เป็นการวินิจฉัยข้อเท็จจริงผิดจากพยานหลักฐานในสำนวน เป็นการไม่ชอบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243 (3) (ก), 247 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 และ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6
แม้ฎีกาของจำเลยที่ 3 เป็นฎีกาที่ขอให้รอการลงโทษ หรือ รอการกำหนดโทษ หรือ คุมประพฤติ อันเป็นฎีกาโต้แย้งดุลพินิจของศาลเกี่ยวกับวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชน จะต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 180, 183 และไม่อาจฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษา ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 221 ได้ เพราะ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว บัญญัติไว้เป็นการเฉพาะแล้ว แต่เมื่อจำเลยที่ 3 ฎีกาปัญหาข้อกฎหมายมา ศาลฎีกาเห็นควรวินิจฉัยเกี่ยวกับโทษและวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนที่ใช้บังคับแก่จำเลยที่ 3 ให้เหมาะสมได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10126/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาต้องห้าม: การโต้แย้งดุลพินิจศาลเกี่ยวกับวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนฯ
ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย แต่โทษจำคุกให้รอการกำหนดโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ให้คุมความประพฤติจำเลยไว้มีกำหนด 1 ปี โดยวางเงื่อนไขคุมความประพฤติ ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย แต่เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยไปควบคุมเพื่อฝึกและอบรม อันเป็นการกำหนดให้ใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนแทนการลงโทษทางอาญา ตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 142 (1) การที่จำเลยฎีกาขอให้จำเลยปรับปรุงตัวเองอยู่กับครอบครัวแทนการส่งตัวไปควบคุมเพื่อฝึกและอบรม เป็นฎีกาที่โต้แย้งดุลพินิจของศาลเกี่ยวกับวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนตาม มาตรา 180 ต้องห้ามฎีกาตามมาตรา 183 ประกอบมาตรา 180 และไม่มีบทบัญญัติใดให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลางหรือผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาดังกล่าวได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7111/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอนุญาตฎีกาที่ไม่ถูกต้องในคดีเยาวชนและครอบครัว และผลกระทบต่อการพิจารณาคดี
คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกรวม 5 ปี 6 เดือน อาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 142 (1) ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยไปควบคุมเพื่อฝึกและอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน เขต 4 จังหวัดขอนแก่น มีกำหนด 3 ปี นับแต่วันพิพากษา ริบของกลาง และศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน จึงเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 4 ใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนโดยเปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งจำเลยไปฝึกและอบรมซึ่งมิใช่การลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 18 ต้องถือว่าศาลล่างทั้งสองมิได้ลงโทษจำคุกจำเลยเกิน 5 ปี จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 และมาตรา 183 ซึ่งกรณีนี้จำเลยจะฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 221 แต่คดีนี้จำเลยยื่นคำร้องพร้อมคำฟ้องฎีกาต่อศาลชั้นต้นขอให้ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกา และผู้พิพากษาหัวหน้าศาลชั้นต้นสั่งอนุญาตให้จำเลยฎีกาซึ่งไม่ถูกต้อง แต่อย่างไรก็ดีปรากฏว่าคดีนี้ศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยขยายระยะเวลายื่นฎีกาได้จนถึงวันที่ 28 สิงหาคม 2558 และจำเลยยื่นคำร้องพร้อมคำฟ้องฎีกาต่อศาลชั้นต้นในวันที่ 19 สิงหาคม 2558 ซึ่งหากผู้พิพากษาหัวหน้าศาลชั้นต้นพิจารณาสั่งคำร้องของจำเลยโดยถูกต้องว่าไม่มีอำนาจอนุญาตให้จำเลยฎีกาได้ และศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฎีกาของจำเลยแต่แรกแล้ว จำเลยย่อมมีเวลาเพียงพอที่จะแก้ไขข้อผิดพลาดบกพร่องดังกล่าวด้วยการยื่นคำร้องพร้อมคำฟ้องฎีกาเพื่อขอให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ภาค 4 อนุญาตให้จำเลยฎีกาได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 221 จึงเห็นสมควรให้โอกาสจำเลยยื่นคำร้องพร้อมคำฟ้องฎีกาต่อศาลชั้นต้นเสียใหม่ให้ถูกต้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8932/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาเรื่องค่าเสียหายคดีข่มขืน: การยินยอมของผู้เสียหายไม่มีผลทางกฎหมาย และประเด็นการฎีกาที่ต้องห้าม
พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 183 บัญญัติว่า "คดีที่ศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาคแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวได้พิพากษาหรือมีคำสั่งให้ฎีกาคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นไปยังศาลฎีกาได้ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความเหมือนคดีธรรมดา เว้นแต่กรณีที่ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามมาตรา 180" นอกจากนี้ มาตรา 6 ยังบัญญัติให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับแก่การพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวกรณีไม่มีบทบัญญัติไว้โดยเฉพาะ ดังนั้น เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาคดีส่วนแพ่ง ปัญหาว่าคดีของโจทก์ร่วมต้องห้ามฎีกาหรือไม่จึงต้องอยู่ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติว่า "ในคดีที่ราคาทรัพย์สินหรือจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาทหรือไม่เกินจำนวนที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา ห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริงเว้นแต่ผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีนั้นในศาลอุทธรณ์ได้มีความเห็นแย้งหรือผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นก็ดี ศาลอุทธรณ์ก็ดีได้รับรองไว้หรือรับรองในเวลาตรวจฎีกาว่า มีเหตุสมควรที่จะฎีกาได้..." การที่โจทก์ร่วมฎีกาโต้แย้งดุลพินิจในการกำหนดค่าเสียหายจึงเป็นปัญหาข้อเท็จจริงและทุนทรัพย์ไม่เกินสองแสนบาท ต้องห้ามฎีกาปัญหาข้อเท็จจริง แต่เมื่อผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ร่วมฎีกาปัญหาข้อเท็จจริงพอแปลได้ว่ารับรองให้โจทก์ร่วมฎีกาปัญหาข้อเท็จจริงตามบทบัญญัติดังกล่าวข้างต้นนั่นเอง ฎีกาของโจทก์ร่วมจึงไม่ต้องห้ามฎีกา
ป.อ. มาตรา 277 วรรคแรก บัญญัติว่า "ผู้ใดกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งมิใช่ภริยาหรือสามีของตน โดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ยินยอมเป็นความผิด" แสดงว่า กฎหมายมุ่งคุ้มครองเด็กอายุน้อยเป็นกรณีพิเศษโดยไม่ให้ความสำคัญแก่ความยินยอมของเด็ก ดังนั้น แม้ผู้เสียหายที่ 3 ยินยอมมีเพศสัมพันธ์กับจำเลย การกระทำของจำเลยก็ยังเป็นการกระทำที่ละเมิดต่อกฎหมาย จึงยังคงเป็นการละเมิดต่อผู้เสียหายที่ 3 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 โจทก์ร่วมในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้เสียหายที่ 3 ย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องขอเรียกค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8620/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจำกัดสิทธิฎีกาในคดีเยาวชน และการบังคับคดีตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่กำหนดระยะเวลาฝึกอบรมที่ไม่ชัดเจน
คดีนี้ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 288, 80 ประกอบมาตรา 83, 358, 371 พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคสาม, 72 ทวิ วรรคสอง เรียงกระทงลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 91 รวมจำคุก 5 ปี 12 เดือน เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยไปควบคุมเพื่อฝึกอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนเขต 2 (จังหวัดราชบุรี) มีกำหนดขั้นต่ำ 3 ปี ขั้นสูง 4 ปี หากอายุเกิน 24 ปีบริบูรณ์ ให้ส่งไปจำคุกตามระยะเวลาที่เหลือ ซึ่งการเปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวไปฝึกอบรมและจากนั้นส่งตัวไปจำคุกยังเรือนจำเช่นนี้เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนต้องถือว่าศาลชั้นต้นมิได้พิพากษาให้ลงโทษจำคุกจำเลยเกิน 5 ปี ดังนั้น เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 183
ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยไปควบคุมเพื่อฝึกอบรมมีกำหนดขั้นต่ำ 3 ปี ขั้นสูง 4 ปี หากอายุเกิน 24 ปีบริบูรณ์ ให้ส่งไปจำคุกตามระยะเวลาที่เหลือโดยไม่ได้ระบุว่า คือกำหนดระยะเวลาขั้นต่ำหรือขั้นสูงนั้น เป็นการไม่ชัดแจ้ง จึงกำหนดให้เป็นส่งตัวจำเลยไปจำคุกตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 142 วรรคท้าย จนครบกำหนดระยะเวลาขั้นต่ำที่เหลืออยู่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6360/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฎีกาในคดีเยาวชน: หลักเกณฑ์การพิจารณาคำร้องขอให้ฎีกาเมื่อศาลล่างมีคำสั่งห้ามฎีกา
หลักเกณฑ์การฎีกาตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 180 (2) ประกอบมาตรา 183 ต้องแยกพิจารณาว่าเป็นการฎีกาเฉพาะส่วนเกี่ยวกับวิธีการสำหรับเด็กหรือฎีกาโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานว่าไม่ได้กระทำผิด หากฎีกาเฉพาะส่วนเกี่ยวกับวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนต้องห้ามฎีกาเว้นแต่กำหนดเวลาฝึกอบรมเกินกว่าสามปี หรือกำหนดเวลาฝึกอบรมเป็นขั้นต่ำขั้นสูงและขั้นสูงเกินกว่าสามปี หากฎีกาว่าไม่ได้กระทำความผิด ต้องพิจารณาตาม ป.วิ.อ. ซึ่งในกรณีศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นและยังคงกำหนดให้ส่งจำเลยไปฝึกอบรมซึ่งต้องห้ามฎีกาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง จำเลยย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นเพื่อขอให้ผู้พิพากษาที่พิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาหรือทำความเห็นแย้งในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิเคราะห์ว่าข้อความที่ตัดสินเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลสูงสุดและอนุญาตให้ฎีกาได้ตามมาตรา 221 ซึ่งผู้พิพากษาที่พิจารณาคดีในศาลชั้นต้นมีหน้าที่พิจารณาเพียงว่าข้อความที่ตัดสินเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลสูงสุดหรือไม่เท่านั้น การที่ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าคดีไม่ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงและยกคำร้อง จึงเป็นการสั่งคดีโดยผิดหลงและเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ ถือว่าไม่ได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายว่าด้วยคำพิพากษาและคำสั่ง ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยยกคำสั่งของศาลชั้นต้น และมีคำสั่งให้ศาลชั้นต้นดำเนินการให้ถูกต้องได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243 (1) และ 247 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 และพ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1260/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจตนาทำร้าย vs. พยายามฆ่า และการรอการลงโทษในคดีเยาวชน
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 288 ประกอบ มาตรา 80, 83 จำคุก 5 ปี ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งจำเลยไปฝึกและอบรมมีกำหนด 4 ปี ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ส่งจำเลยไปฝึกและอบรมมีกำหนดขั้นต่ำ 2 ปี ขั้นสูง 3 ปี กรณีเป็นการแก้ไขเฉพาะระยะเวลาการฝึกอบรมซึ่งไม่ใช่โทษตาม ป.อ. มาตรา 18 จึงเป็นการแก้ไขเล็กน้อยและต้องถือว่าศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน 5 ปี ต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วย พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 183 และมาตรา 6 ที่จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการลงโทษของศาลซึ่งเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าว
เจตนาฆ่าโดยเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น ผู้กระทำต้องเล็งเห็นผลของการกระทำแล้วว่าจะทำให้ผู้ถูกกระทำถึงแก่ความตายได้ ซึ่งเป็นผลที่เห็นได้ชัดว่าจะเกิดขึ้น มิใช่เพียงแค่อาจจะเกิดขึ้นเท่านั้น การที่จำเลยกับพวกร่วมกันถีบรถจักรยานยนต์ที่ผู้เสียหายทั้งสองขับด้วยความเร็ว 70 กิโลเมตรต่อชั่วโมงซึ่งเป็นความเร็วไม่มาก ทำให้ผู้เสียหายทั้งสองไถลไปตามไหล่ทางที่มีหญ้าขึ้นปกคลุม และได้รับบาดแผลถลอกเป็นส่วนใหญ่ คงมีแต่ผู้เสียหายที่ 2 ที่นิ้วมือขวาฉีกด้วยเท่านั้น จึงเป็นพฤติการณ์ที่แสดงว่าจำเลยเพียงเจตนาทำร้ายเท่านั้น
แม้จำเลยจะฎีกาได้เฉพาะปัญหาข้อกฎหมาย หากศาลฎีกาเห็นว่าศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยหนักเกินไปย่อมมีอำนาจพิพากษาลงโทษจำเลยให้เหมาะสมแก่ความผิดโดยรอการลงโทษให้ได้