คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ม. 17 วรรคสี่

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 9 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6609/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างลูกจ้างกรณีฝ่าฝืนระเบียบอย่างร้ายแรง: นายจ้างมีสิทธิเลิกจ้างโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย
การที่โจทก์ให้ ณ. เปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันกับธนาคารจำเลย สาขาพาราไดซ์ พาร์ค และเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันกับธนาคาร ท. สาขาหนึ่งพัน โดยโจทก์ออกค่าใช้จ่ายให้จากนั้นให้ ณ. สั่งจ่ายเช็คธนาคาร ท. จำนวนเงิน 50,000,000 บาท ให้ตนเองแล้วโจทก์นำเช็คดังกล่าวเรียกเก็บเงินที่ธนาคารจำเลย สาขาซีคอนสแควร์ เพื่อเข้าบัญชีของ ณ. ที่ธนาคารจำเลยสาขาพาราไดซ์ พาร์ค ทั้งที่โจทก์รู้อยู่แล้วว่าเงินในบัญชีของ ณ. ไม่พอจ่ายตามเช็คและยังกระทำในลักษณะเดียวกันนี้อีกสามครั้งโดยมีเจตนาเพื่อเพิ่มยอดเงินฝากของธนาคารจำเลย สาขาพาราไดซ์ พาร์ค อันเป็นการสร้างผลงาน (KPI) ของโจทก์ ถือได้ว่าเป็นการกระทำที่ไม่ซื่อสัตย์สุจริตทำให้ตนเองได้รับประโยชน์ว่าสามารถดำเนินงานได้ตามเป้าหมาย การกระทำของโจทก์ส่งผลให้จำนวนเงินที่จำเลยรับฝากผิดไปจากความเป็นจริงทำให้การแปลผลการประกอบการของจำเลยไม่ตรงความจริงตามไปด้วย ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของตลาดเงิน จำเลยประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์ซึ่งต้องอาศัยความเชื่อถือไว้วางใจจากประชาชนเป็นสำคัญ การกระทำดังกล่าวอาจทำให้จำเลยขาดความเชื่อถือไว้วางใจในการประกอบธุรกิจส่งผลให้เกิดความเสียหายร้ายแรงได้ เป็นการกระทำฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานที่ระบุไว้ว่าพนักงานต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต พนักงานผู้ใดปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริตเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้ประโยชน์อันมิควรได้เป็นการทุจริตต่อหน้าที่และผิดวินัยอย่างร้ายแรง และที่ระบุไว้ว่าพนักงานผู้ใดจงใจในการปฏิบัติหน้าที่ ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ฝ่าฝืนระเบียบ ข้อบังคับของธนาคารอาจเป็นเหตุให้ธนาคารได้รับความเสียหายถือเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง อีกทั้งการที่โจทก์มอบรหัสประจำตำแหน่ง (Password) ของตนเองให้ ว. เพื่อใช้อนุมัติรายการนำฝากเช็คดังกล่าวเข้าบัญชีนั้น โจทก์เป็นผู้จัดการสาขา รหัสประจำตำแหน่ง (Password) ของโจทก์สามารถใช้ทำธุรกรรมการเงินของสาขาได้ทั้งหมด ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดความเสียหายทางการเงินสูงมาก การกระทำดังกล่าวเป็นการฝ่าฝืนระเบียบการปฏิบัติงานประจำวันของสำนัก/สาขา ที่ระบุไว้ว่าห้ามบอกกล่าวหรือแสดงสัญลักษณ์ใด ๆ อันทำให้ผู้อื่นล่วงรู้ User ID และ Password ของตนเอง มิฉะนั้นจะถือว่ามีความผิดอย่างร้ายแรง และที่ระบุไว้ว่าในระหว่างวันทำการ หากเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติหน้าที่ใด ๆ มีความจำเป็น ต้องมอบหมายงานให้เจ้าหน้าที่ท่านอื่นปฏิบัติงานแทน ห้ามมอบหมาย Password ของตนเองอย่างเด็ดขาด การกระทำของโจทก์ทั้งสองกรณีเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ระเบียบ หรือคำสั่งของจำเลยอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมกรณีที่ร้ายแรงแล้ว ดังนั้น การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุดังกล่าวจึงเป็นการเลิกจ้างโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 วรรคหนึ่ง (4)
ในการพิจารณาว่าโจทก์มีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาตาม ป.พ.พ. มาตรา 583 และ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 17 มิใช่พิจารณาว่าหากการเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมแล้ว โจทก์ก็มีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจากจำเลยดังที่โจทก์อ้าง เมื่อโจทก์ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ระเบียบ หรือคำสั่งของจำเลยอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมกรณีร้ายแรงแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตาม ป.พ.พ. มาตรา 583 และ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 17 วรรคสี่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4155-4157/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกระทำผิดวินัยร้ายแรง กรณีใช้รหัสผ่านผู้อื่นลงเวลาทำงาน ย่อมเป็นเหตุเลิกจ้างได้
โจทก์ที่ 2 และโจทก์ที่ 3 แจ้งรหัสผ่านของตนให้โจทก์ที่ 1 แล้วโจทก์ที่ 1 ใช้รหัสผ่านนั้นบันทึกเวลาเข้าทำงานแทนโจทก์ที่ 2 และโจทก์ที่ 3 ในโปรแกรม Hris ของจำเลยซึ่งเป็นระบบออนไลน์ ข้อมูลที่บันทึกถูกเก็บรวมกันไว้ทั้งประเทศ
การใช้รหัสผ่านเป็นการยืนยันว่าผู้ใช้รหัสผ่านเป็นใคร ผู้ใช้รหัสผ่านนั้นอยู่ ณ จุดที่ป้อนข้อมูลลงเวลาทำงานเมื่อเวลา วัน เดือน ปีใด ผู้ป้อนข้อมูลเข้าโปรแกรมจึงต้องซื่อตรงต่อตนเองในการป้อนรหัสผ่านและข้อมูลด้วยตนเอง
การที่โจทก์ที่ 1 ใช้รหัสผ่านของโจทก์ที่ 2 และโจทก์ที่ 3 ที่แจ้งไว้ป้อนข้อมูลลงเวลาเข้าทำงานแทนโจทก์ที่ 2 และโจทก์ที่ 3 แสดงว่าในขณะฟ้องข้อมูลโจทก์ที่ 2 และโจทก์ที่ 3 ไม่ได้อยู่ ณ จุดที่ป้อนข้อมูล การยืนยันตัวด้วยการป้อนรหัสผ่านจึงเป็นเท็จ ข้อมูลเวลาเข้าทำงานของโจทก์ที่ 2 และโจทก์ที่ 3 ก็เป็นข้อมูลเท็จเพราะโจทก์ที่ 2 และโจทก์ที่ 3 ไม่ได้เข้าทำงานตามเวลา วัน เดือน ปี ที่ป้อนเข้าสู่โปรแกรมจริง โจทก์ทั้งสามร่วมกันกระทำการโดยไม่ซื่อตรงต่อตนเอง เมื่อข้อมูลเท็จถูกบันทึกไว้ในฐานข้อมูลของจำเลย การประมวลผลข้อมูลจากโปรแกรมจึงคลาดเคลื่อนบิดเบือนไปจากความจริงอันเกิดจากฐานข้อมูลเท็จ
จำเลยออกมาตรฐานความปลอดภัยระบบสารสนเทศแจ้งให้ลูกจ้างถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด โดยกำหนดระดับชั้นความลับของรหัสผ่านเป็นระดับ "ลับ" และระบุว่ารหัสผ่านคือปัจจัยสำคัญของความปลอดภัยทางคอมพิวเตอร์ เป็นด่านแรกในการป้องกันการเข้าถึงระบบสารสนเทศของจำเลย ต้องไม่เปิดเผยรหัสผ่านแก่ผู้อื่น สมาชิกครอบครัว หรือเพื่อนร่วมงาน อันเป็นการกำหนดเพื่อความปลอดภัยของข้อมูลที่บันทึกในฐานข้อมูลของจำเลยทั้งในด้านตัวผู้ใช้งานต้องเป็นเจ้าของรหัสผ่านเอง และป้องกันไม่ให้ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องเข้าถึงฐานข้อมูลด้วยการที่ผู้ใช้งานต้องใช้รหัสผ่าน ทั้งนี้เพื่อรักษาความปลอดภัยของฐานข้อมูล ด้วยความสำคัญของรหัสผ่านและความถูกต้องของฐานข้อมูล การกระทำของโจทก์ทั้งสามจึงเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ระเบียบ หรือคำสั่งของจำเลยอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมในกรณีร้ายแรง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15117-15120/2558 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างลูกจ้างฐานไม่ปฏิบัติตามระเบียบจนเกิดความเสียหาย ถือเป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุผลสมควร
โจทก์ทั้งสามเป็นลูกจ้างของจำเลยปฏิบัติงานฝ่ายพัสดุที่โรงงานหลังคาเหล็ก จำเลยมีขั้นตอนการดำเนินงานให้พนักงานฝ่ายพัสดุปฏิบัติตามเพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับจำเลย การที่โจทก์ทั้งสามไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนการดำเนินงาน จนทำให้พัสดุขาดหายไปคิดเป็นเงินจำนวนมาก แม้สาเหตุที่พัสดุขาดหายไปอาจเกิดจากการทุจริตของผู้อื่นก็ตาม แต่การที่โจทก์ทั้งสามไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนการดำเนินงานของจำเลยก็ย่อมเป็นการเปิดโอกาสให้พัสดุสูญหายได้ง่ายขึ้น และหากโจทก์ทั้งสามปฏิบัติตามขั้นตอนการดำเนินงานของจำเลยอย่างเคร่งครัดแล้วพัสดุอาจจะไม่ขาดหายก็ได้ทั้งการที่โจทก์ทั้งสามยังยึดติดกับการปฏิบัติอย่างเดิมๆ เช่นเคยปฏิบัติมาก็แสดงให้เห็นว่าโจทก์ทั้งสามไม่นำพาต่อระเบียบ หรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมอันจะทำให้การบริหารจัดการงานของนายจ้างไม่สามารถดำเนินการให้สัมฤทธิ์ผลได้ การกระทำของโจทก์ทั้งสามแม้จะไม่ปรากฏว่ากระทำโดยทุจริต แต่ก็ถือได้ว่าเป็นการฝ่าฝืนระเบียบหรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมเป็นกรณีที่ร้ายแรง จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ทั้งสามได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 วรรคหนึ่ง (4) และเมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสามตามมาตรา 119 จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามมาตรา 67 ทั้งการกระทำของโจทก์ทั้งสามดังกล่าวยังเป็นการกระทำประการอื่นอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ทั้งสามได้โดยมิต้องบอกกล่าวล่วงหน้า ตาม ป.พ.พ. มาตรา 583 จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ทั้งสาม
จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสามเนื่องจากโจทก์ทั้งสามไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนการดำเนินงานของจำเลย จนทำให้พัสดุขาดหายไปคิดเป็นเงินจำนวนมาก อันเป็นการฝ่าฝืนระเบียบหรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมเป็นกรณีที่ร้ายแรง และเป็นการกระทำประการอื่นอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต การเลิกจ้างโจทก์ทั้งสาม จึงเป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุผลสมควรเพียงพอ ไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9586/2544 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ลูกจ้างรายวันบอกเลิกจ้างก่อนกำหนดจ่ายค่าจ้าง นายจ้างไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าหากไม่มีสิทธิรับค่าจ้างในช่วงนั้น
พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 17 วรรคสี่ ที่บัญญัติว่า "การบอกเลิกสัญญาจ้างตามวรรคสอง นายจ้างอาจจ่ายค่าจ้างให้ตามจำนวนที่จะต้องจ่ายจนถึงเวลาเลิกสัญญาตามกำหนดที่บอกกล่าวและให้ลูกจ้างออกจากงานทันทีได้และให้ถือว่าการจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างตามวรรคนี้ เป็นการจ่ายสินจ้างให้แก่ลูกจ้างตามมาตรา 582 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์" หมายความว่า เมื่อนายจ้างให้ลูกจ้างออกจากงานทันทีในวันบอกเลิกจ้าง นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างที่นายจ้างมีหน้าที่ต้องจ่ายจนถึงวันที่เลิกสัญญาจ้างโดยให้ถือว่าค่าจ้างที่จ่ายนี้เป็นสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า
นายจ้างบอกเลิกจ้างลูกจ้างรายวันซึ่งกำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 15 และวันสิ้นเดือน เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2542 เป็นการบอกเลิกจ้างก่อนวันที่ 15 เมษายน 2542 อันเป็นกำหนดจ่ายค่าจ้าง และจะมีผลเป็นการเลิกสัญญาจ้างกันในวันที่ 30 เมษายน 2542 อันเป็นกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไปข้างหน้า แต่ในช่วงวันที่ 8 เมษายน 2542 ถึงวันที่ 16 พฤษภาคม 2542 เป็นช่วงปิดเทอม ลูกจ้างรายวันไม่ต้องมาทำงานและไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างเนื่องจากลูกจ้างรายวันจะได้รับค่าจ้างเฉพาะวันที่มาทำงาน เมื่อนายจ้างไม่มีหน้าที่ต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างรายวันในช่วงดังกล่าว นายจ้างจึงไม่ต้องจ่าย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่ลูกจ้าง