คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ม. 30 (2)

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4748/2549 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเผยแพร่เพลงละเมิดลิขสิทธิ์หลังหมดอายุสติกเกอร์อนุญาต ถือเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์
สติกเกอร์ที่ติดอยู่ที่ตู้เพลงจำเลยหมดอายุเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2547 ดังนั้น ตั้งแต่วันที่ 20 เมษายน 2547 จนถึงวันเกิดเหตุวันที่ 4 มิถุนายน 2547 จำเลยจึงไม่ได้รับอนุญาตให้เผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานเพลงของโจทก์ร่วม การที่จำเลยนำวีดีโอซีดีที่มีผู้ทำซ้ำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วมออกเผยแพร่ต่อสาธารณชน จึงมีความผิดตาม พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ฯ มาตรา 30 (2) และมาตรา 70 วรรคสอง หาใช่เป็นกรณีที่จำเลยได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิอยู่ก่อนและสติกเกอร์ขาดอายุการใช้งานจึงเป็นการผิดสัญญาในทางแพ่งไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1614/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ละเมิดลิขสิทธิ์โปรแกรมคอมพิวเตอร์: การจำกัดขอบเขตความผิดและทรัพย์สินที่ต้องตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์
จำเลยนำโปรแกรมคอมพิวเตอร์ซึ่งเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายมาบันทึกลงในหน่วยความจำเครื่องคอมพิวเตอร์ อันเป็นการทำซ้ำงานโปรแกรมคอมพิวเตอร์ซึ่งเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฯ มาตรา 30 (1) และมีความผิดตามมาตรา 69 วรรคสอง ส่วนการที่จำเลยเปิดให้บริการแก่ลูกค้าเป็นการทำให้ปรากฏซึ่งงานดนตรีกรรมเพลงชุดพิพาท โดยไม่มีการทำให้ปรากฏซึ่งชุดคำสั่งที่เป็นงานโปรแกรมคอมพิวเตอร์ จึงมิใช่กรณีที่จะเป็นความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ด้วยการเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานโปรแรมคอมพิวเตอร์ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฯ มาตรา 30 (2) ประกอบมาตรา 69 วรรคสอง
โปรแกรมคอมพิวเตอร์เป็นงานที่เกิดจากการแสดงออกซึ่งความคิดจึงเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหาย ส่วนสิ่งที่ศาลจะให้ตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์ได้ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฯ มาตรา 75 นั้น หมายถึงสิ่งซึ่งเป็นวัตถุที่ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหาย เมื่อจำเลยนำโปรแกรมคอมพิวเตอร์ซึ่งมีผู้ทำหรือดัดแปลงขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายมาบันทึกลงในหน่วยบันทึกความจำของเครื่องคอมพิวเตอร์ หน่วยบันทึกความจำของเครื่องคอมพิวเตอร์ดังกล่าวจึงเป็นเป็นสิ่งที่ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ เมื่อยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยอยู่ จึงต้องพิพากษาให้หน่วยบันทึกความจำเครื่องคอมพิวเตอร์นี้ตกเป็นของผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฯ มาตรา 75