คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.พ. ตาราง 1 ข้อ 2 (ก) ท้าย ป.วิ.พ.

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 3 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2869/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิบังคับจำนองหลังขายทอดตลาด: จำเลยมีสิทธิไถ่ถอน/โจทก์บังคับคดีได้ แต่ไม่ใช่ฟ้องซ้ำ
คดีก่อนโจทก์ฟ้อง พ. และนาวาอากาศตรี พ. ให้ชำระหนี้และบังคับจำนองต่อศาลชั้นต้นเป็นคดีหมายเลขแดงที่ 16255/2536 คดีถึงที่สุดแล้วจำเลยเป็นผู้ซื้อทรัพย์สินจากการขายทอดตลาดในคดีหมายเลขแดงที่ 5957/2537 ที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของ พ. นำยึดออกขายทอดตลาด ดังนี้ โจทก์ผู้ทรงสิทธิจำนองย่อมมีสิทธิที่จะบังคับเอาแก่ตัวทรัพย์นั้นได้ แต่หาทำให้จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ในฐานะผู้จำนองแต่อย่างใดไม่ ฐานะของจำเลยเป็นเพียงผู้รับโอนทรัพย์สินซึ่งจำนองอันมีสิทธิและหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. ลักษณะ 12 หมวด 4 มิใช่ว่าโจทก์จะอาศัยความเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ 16255/2536 ของศาลชั้นต้น ติดตามบังคับแก่ทรัพย์สินนั้นได้ทันที จำเลยมิได้เป็นคู่ความในคดีดังกล่าว ทั้งประเด็นแห่งคดีเป็นคนละอย่างกัน กรณีหาใช่เรื่องการสืบสิทธิที่จะถือว่าเป็นเรื่องที่คู่ความเดียวกันรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันไม่ ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีหมายเลขแดงที่ 16255/2536 ของศาลชั้นต้น ไม่เป็นการต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา เมื่อศาลฎีกาวินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์ไม่เป็นฟ้องซ้ำแล้ว จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาและวินิจฉัยประเด็นอื่นที่ยังมิได้วินิจฉัยแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี อุทธรณ์ปัญหาข้อกฎหมายของโจทก์เช่นนี้เป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ต้องเสียค่าขึ้นศาล 200 บาท ตามตาราง 1 ข้อ 2 (ก) ท้าย ป.วิ.พ.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2477/2548 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาไม่รับเนื่องจากจำเลยไม่ปฏิบัติตาม ป.วิ.พ. มาตรา 234 และศาลฎีกามีอำนาจวินิจฉัยแทนศาลชั้นต้น
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีคำสั่งยกคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยโดยเห็นว่าจำเลยยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งโดยไม่ได้นำเงินมาชำระตามคำพิพากษาหรือหาประกันให้ไว้ต่อศาลชั้นต้น เป็นการไม่ปฏิบัติตาม ป.วิ.พ. มาตรา 234 จำเลยจึงชอบที่จะฎีกาโต้แย้งคัดค้านคำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค 3 ที่ยกคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยเท่านั้น ส่วนปัญหาที่ว่าคำพิพากษาตามยอมของศาลชั้นต้นชอบหรือไม่ ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ยังมิได้วินิจฉัย จำเลยไม่อาจฎีกาโต้แย้งคัดค้านได้ แม้จำเลยฎีกาในปัญหานี้มาก็ถือว่าเป็นฎีกาที่เกินเลยมา ศาลฎีกาไม่อาจวินิจฉัยให้ได้
ฎีกาจำเลยที่ว่าคำสั่งของศาลอุทธรณ์ภาค 3 ที่ยกคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยเนื่องจากไม่ปฏิบัติตาม ป.วิ.พ. มาตรา 234 ชอบหรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมาย ซึ่งถือเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ต้องเสียค่าขึ้นศาล 200 บาท ตามบัญชีท้าย ป.วิ.พ. ตาราง 1 ข้อ 2 (ก) แม้ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งให้จำเลยเสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาอย่างคดีมีทุนทรัพย์ แต่จำเลยไม่เสียภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนดก็ถือไม่ได้ว่าจำเลยเพิกเฉยไม่ดำเนินคดีภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด อันเป็นการทิ้งฟ้องฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 174 (2), 247
การตรวจสั่งรับหรือไม่รับฎีกาเป็นอำนาจหน้าที่ของศาลชั้นต้นสั่งแทนศาลฎีกา แต่เมื่อคดีขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาโดยที่ศาลชั้นต้นยังไม่มีคำสั่งรับฎีกาของจำเลย ศาลฎีกาเห็นสมควรมีคำสั่งรับและวินิจฉัยฎีกาของจำเลยไปเสียทีเดียวโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งใหม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1747/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อุทธรณ์ขอให้ไต่สวนคำร้องใหม่ ถือเป็นการขอให้พิจารณาคดีใหม่ ต้องวางค่าธรรมเนียมตาม ป.วิ.พ. มาตรา 229
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ของจำเลย จำเลยจึงอุทธรณ์ขอให้ศาลอุทธรณ์ย้อนสำนวนให้ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ของจำเลย อุทธรณ์ของจำเลยดังกล่าวมีผลเท่ากับให้ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและพิจารณาคดีใหม่ จำเลยจึงต้องนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตามคำพิพากษาหรือคำสั่งมาวางศาลพร้อมอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 229 เมื่อจำเลยไม่นำเงินค่าธรรมเนียมดังกล่าวมาวางศาลพร้อมอุทธรณ์ จึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งให้รับอุทธรณ์ของจำเลยก็ตาม ก็เป็นการรับอุทธรณ์มาโดยไม่ชอบ
การที่จำเลยฎีกาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ให้ยกอุทธรณ์ของจำเลยนั้น เป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ต้องเสียค่าขึ้นศาลเพียง 200 บาท ตามตาราง 1 ข้อ 2 (ก) ท้าย ป.วิ.พ.