พบผลลัพธ์ทั้งหมด 34 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 78/2565
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ฟ้องอาญาไม่สมบูรณ์-ศาลแพ่งเกินอำนาจ: การพิจารณาคดีอาญา-แพ่งที่เกี่ยวข้องกัน
เมื่อพิจารณาองค์ประกอบความผิดฐานฉ้อโกงตามคำบรรยายฟ้องของโจทก์แล้ว ลำพังเพียงการที่จำเลยแจ้งโจทก์ว่าไม่มีรางวัลของจำเลยตามใบรับรองการถูกรางวัลและไม่มีหลักฐานการดำเนินการทางกฎหมายของจำเลยแก่บริษัทต่างประเทศชื่อ E ทำให้โจทก์ไม่ได้รับเงินรางวัล ก็ยังไม่อาจสรุปข้อเท็จจริงจากคำบรรยายฟ้องได้ว่า จำเลยมีพฤติการณ์ใด ๆ อันแสดงถึงการกระทำโดยทุจริตหลอกลวงโจทก์ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง โดยจำเลยเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องเกี่ยวกับการออกใบรับรองการถูกรางวัลที่บริษัท E ส่งมาให้แก่โจทก์อย่างไร และการกระทำของจำเลยประการใดที่ทำให้จำเลยได้รับทรัพย์สินไปจากโจทก์ หรือทำให้โจทก์ต้องทำ ถอนหรือทำลายเอกสารสิทธินั้น ฟ้องโจทก์จึงขาดข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญขององค์ประกอบความผิดฐานฉ้อโกง เป็นฟ้องที่ไม่สมบูรณ์ตามกฎหมาย ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)
คดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ในกรณีศาลที่พิจารณาคดีอาญาไม่รับฟ้องคดีส่วนอาญาไว้พิจารณาหรือพิพากษายกฟ้องคดีส่วนอาญา การพิจารณาว่าศาลนั้นมีอำนาจรับฟ้องคดีส่วนแพ่งไว้พิจารณาพิพากษาต่อไปหรือไม่ ต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. ว่าด้วยเขตอำนาจศาล ตามมาตรา 2 (1) ว่าศาลนั้นมีอำนาจที่จะพิจารณาพิพากษาคดีนั้นได้ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรมหรือไม่ คดีนี้ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องคดีส่วนอาญา และโจทก์ขอให้บังคับจำเลยชดใช้เงินรางวัล 18,117,213.87 บาท พร้อมดอกเบี้ย 90,586.06 บาท ซึ่งเกินกว่าอำนาจที่ผู้พิพากษาคนเดียวจะพิจารณาพิพากษา การที่ศาลชั้นต้นโดยผู้พิพากษานายเดียวพิพากษายกฟ้องในคดีส่วนแพ่งซึ่งมีทุนทรัพย์เกิน 300,000 บาท เท่ากับเป็นการใช้อำนาจวินิจฉัยประเด็นแห่งคดีในทางเนื้อหาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคท้าย จึงเป็นการไม่ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 25 (4) และทำให้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ในส่วนนี้ไม่ชอบไปด้วย ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 252 และ ป.วิ.อ. มาตรา 40
คดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ในกรณีศาลที่พิจารณาคดีอาญาไม่รับฟ้องคดีส่วนอาญาไว้พิจารณาหรือพิพากษายกฟ้องคดีส่วนอาญา การพิจารณาว่าศาลนั้นมีอำนาจรับฟ้องคดีส่วนแพ่งไว้พิจารณาพิพากษาต่อไปหรือไม่ ต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. ว่าด้วยเขตอำนาจศาล ตามมาตรา 2 (1) ว่าศาลนั้นมีอำนาจที่จะพิจารณาพิพากษาคดีนั้นได้ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรมหรือไม่ คดีนี้ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องคดีส่วนอาญา และโจทก์ขอให้บังคับจำเลยชดใช้เงินรางวัล 18,117,213.87 บาท พร้อมดอกเบี้ย 90,586.06 บาท ซึ่งเกินกว่าอำนาจที่ผู้พิพากษาคนเดียวจะพิจารณาพิพากษา การที่ศาลชั้นต้นโดยผู้พิพากษานายเดียวพิพากษายกฟ้องในคดีส่วนแพ่งซึ่งมีทุนทรัพย์เกิน 300,000 บาท เท่ากับเป็นการใช้อำนาจวินิจฉัยประเด็นแห่งคดีในทางเนื้อหาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคท้าย จึงเป็นการไม่ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 25 (4) และทำให้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ในส่วนนี้ไม่ชอบไปด้วย ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 252 และ ป.วิ.อ. มาตรา 40
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5469/2564
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อำนาจศาลตามมาตรา 277 ป.วิ.พ. กับการบังคับคดี: ศาลไม่สามารถวินิจฉัยกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินและมีคำสั่งอายัดได้
โจทก์ยื่นคำร้องโดยมุ่งประสงค์ขอให้ศาลทำการไต่สวนและออกหมายเรียกจำเลยทั้งสองกับบุคคลอื่นมาให้ถ้อยคำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 277 โดยกล่าวอ้างว่าจำเลยที่ 1 ขายสินค้าแล้วนำเงินเข้าฝากในบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 2 กับบุคคลอื่นอันเป็นกรณีมีเหตุอันควรสงสัยว่า ทรัพย์สินใดเป็นของจำเลยที่ 1 ลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือไม่ ซึ่งมาตรา 277 บัญญัติให้ศาลทำการไต่สวนออกหมายเรียกลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบุคคลอื่นที่เชื่อว่าอยู่ในฐานะที่จะให้ถ้อยคำอันจะเป็นประโยชน์มาให้ถ้อยคำหรือส่งเอกสารหรือวัตถุพยานซึ่งอยู่ในความยึดถือหรืออำนาจของผู้นั้นเพื่อให้ได้ความเกี่ยวกับกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาเพื่อประโยชน์ในการบังคับคดีตามคำพิพากษาเท่านั้น เมื่อคดีนี้ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งเรียกบุคคลผู้เคยเป็นกรรมการผู้ถือหุ้นและพนักงานบัญชีของจำเลยที่ 1 มาให้ถ้อยคำและทำการไต่สวนเกี่ยวกับการขายสินค้าและการนำเงินเข้าบัญชีเงินฝากดังกล่าวอันเป็นการอนุญาตตามคำร้องของโจทก์แล้ว ศาลจึงไม่จำต้องมีคำสั่งใด ๆ ตามคำร้องของโจทก์อีก ส่วนการที่ตามทางไต่สวนจะได้ข้อเท็จจริงเป็นประการใดเป็นเรื่องที่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะต้องไปดำเนินการขอยึดหรืออายัดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาตามที่พิจารณาได้ความต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีตามมาตรา 298 ต่อไป โดยมาตรา 277 หาได้บัญญัติให้อำนาจศาลในการมีคำวินิจฉัยว่าทรัพย์สินใดเป็นของลูกหนี้ตามคำพิพากษาและมีคำสั่งอายัดทรัพย์สินดังกล่าวไปเสียทีเดียวดังที่ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษามาไม่ ที่ศาลอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยว่า เงินในบัญชีเงินฝากธนาคารเป็นของจำเลยที่ 1 และมีคำพิพากษาให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอายัดเงินในบัญชีเงินฝากธนาคารทั้งสองดังกล่าวโดยให้โจทก์วางเงินประกันความเสียหายมานั้น เป็นการไม่ชอบ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4790/2564
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การจำแนกประเภทอาวุธปืนและสิ่งเทียมอาวุธปืน, การสืบพยานเพิ่มเติมแม้จำเลยรับสารภาพ, และอำนาจย้อนสำนวนของศาล
ตามคำบรรยายฟ้องของโจทก์ระบุว่า จำเลยมีและพกพาอาวุธปืนแบลงก์กัน ขนาด 9 มม. P.A.K. ผลิตเลียนแบบปืนพกออโตเมติก ไม่มีเครื่องหมายทะเบียน เลขหมายประจำปืน 0000170629 พร้อมซองกระสุนปืน 1 อัน และกระสุนปืนออโตเมติก (BLANK) ขนาด 9 มม. P.A. 16 นัด ติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน และทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร ซึ่งจากคำบรรยายฟ้องของโจทก์ที่ระบุข้อเท็จจริงและรายละเอียดเกี่ยวกับสิ่งของว่าของกลางถูกผลิตขึ้นเพื่อเลียนแบบอาวุธปืนพกออโตเมติก ของกลางดังกล่าวจึงอาจเป็นเพียงสิ่งซึ่งมีรูปและลักษณะอันน่าจะทำให้หลงเชื่อว่าเป็นอาวุธปืนเพราะเกิดจากการกระทำเลียนแบบ แม้โจทก์จะกล่าวอ้างว่าของกลางดังกล่าวเป็นอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนตามกฎหมาย และเมื่อศาลอ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟัง จำเลยจะให้การรับสารภาพตามฟ้องโดยโจทก์จำเลยต่างแถลงไม่ติดใจสืบพยานก็ตาม แต่ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง หาได้มีความหมายว่า ในชั้นพิจารณา คดีที่มิได้กำหนดอัตราโทษอย่างต่ำไว้ให้จำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไปหรือโทษสถานที่หนักกว่านั้นดังเช่นคดีนี้ ถ้าจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ศาลจะต้องพิพากษาโดยไม่สืบพยานหลักฐานต่อไปเท่านั้นไม่ หากศาลเห็นว่ากรณีมีข้อสงสัยว่าจำเลยอาจมิได้กระทำความผิดหรือการกระทำของจำเลยอาจไม่เป็นความผิด ศาลชั้นต้นก็ควรใช้อำนาจของศาลค้นหาความจริงด้วยการสืบพยานเพิ่มเติมในประเด็นดังกล่าวจนสิ้นกระแสความเสียก่อนที่จะมีคำพิพากษาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 228 หรือศาลอุทธรณ์ภาค 7 อาจมีคำสั่งให้ศาลชั้นต้นสืบพยานแล้วส่งสำนวนมายังศาลอุทธรณ์ภาค ๗ เพื่อวินิจฉัยต่อไปตามมาตรา 208 (1) ซึ่งกรณีดังกล่าวอาจทำให้ผลแห่งคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองเปลี่ยนแปลงไปด้วย เพราะของกลางที่เป็นอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนกับสิ่งเทียมอาวุธปืนมีความรับผิดทางอาญาตามข้อหาที่โจทก์ฟ้องแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เมื่อคดีนี้ขึ้นมาสู่ศาลฎีกาแล้วก็ชอบที่ศาลฎีกาจะย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาสืบพยานและพิพากษาใหม่ ทั้งนี้ ป.วิ.อ. มาตรา 208 (2) ประกอบมาตรา 225