คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.รัษฎากร ม. 71 (1)

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 84 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5519/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีโดยอาศัยแบบแสดงรายการภาษีที่มิได้ยื่นโดยจำเลย ผู้ยื่นไม่ใช่จำเลย เจ้าพนักงานประเมินไม่มีอำนาจ
คดีนี้เจ้าพนักงานประเมินได้ทำการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มและประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลจำเลยที่ 1 แม้ภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีเงินได้นิติบุคคลจะเป็นภาษีอากรประเมิน ซึ่งเมื่อจำเลยที่ 1 ได้รับแจ้งการประเมินและยื่นอุทธรณ์การประเมินดังกล่าวแล้ว ต่อมาจำเลยที่ 1 มิได้อุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต่อศาลตามมาตรา 30 (2) แห่ง ป.รัษฎากร ย่อมมีผลทำให้หนี้ภาษีอากรที่ถูกประเมินดังกล่าวเป็นหนี้ภาษีค้าง อันจะถูกโจทก์ยึดหรืออายัดและขายทอดตลาดทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ได้ตามมาตรา 12 แห่ง ป.รัษฎากร และจำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิยกขึ้นต่อสู้ในชั้นศาลก็ตาม แต่เมื่อโจทก์นำคดีมาฟ้องให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าภาษีตามการประเมิน ซึ่งจำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธว่าลายมือชื่อในแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.30) และแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคล (ภ.ง.ด.50) ฉบับพิพาทมิใช่ลายมือชื่อของกรรมการของจำเลยที่ 1 แต่เป็นลายมือชื่อปลอม ภาระการพิสูจน์จึงตกแก่โจทก์ที่จะต้องนำพยานเข้าสืบเพื่อให้รับฟังได้ตามที่โจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ยื่นแบบแสดงรายการฉบับพิพาทอันเป็นเหตุแห่งการประเมินรายนี้ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 มิได้เป็นผู้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.30) และแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคล (ภ.ง.ด.50) ฉบับพิพาท การแจ้งการประเมินของโจทก์ที่ให้จำเลยที่ 1 เสียภาษีพร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม ตามหนังสือแจ้งภาษีมูลค่าเพิ่มและหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคล รวมทั้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จึงไม่ชอบ เพราะโจทก์ไม่มีฐานรายรับหรือรายได้ที่จะใช้อำนาจประเมินภาษีจากจำเลยที่ 1 ตามข้ออ้างในคำฟ้องของโจทก์ จำเลยทั้งสองย่อมไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9150/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีจากกำไรที่จำหน่าย การประเมินโดยวิธีอื่นเมื่อไม่สามารถคำนวณกำไรสุทธิได้ และการนำบทบัญญัติอนุสัญญาภาษีซ้อนมาใช้
บทบัญญัติแห่ง ป.รัษฎากร มิได้ห้ามเจ้าพนักงานประเมินแก้ไขการออกหมายเรียกที่ผิดพลาดให้ถูกต้องได้ เจ้าพนักงานประเมินยกเลิกหมายเรียกฉบับเดิมและออกหมายเรียกฉบับใหม่ เพราะเห็นว่าหมายเรียกฉบับเดิมมีข้อบกพร่องเนื่องจากไม่ครอบคลุมถึงการไต่สวนในส่วนภาษีอากรที่โจทก์ไม่ยื่นรายการ มิใช่เพราะการเรียกตรวจสอบตามหมายเรียกฉบับเดิมได้เสร็จสิ้นลงแล้ว จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการออกหมายเรียกโจทก์มาตรวจสอบไต่สวนซ้ำกับปีที่เคยออกหมายเรียกไปแล้ว เจ้าพนักงานประเมินย่อมมีอำนาจแก้ไขโดยยกเลิกหมายเรียกฉบับเดิมและออกหมายเรียกฉบับใหม่อีกครั้ง เพื่อสั่งให้โจทก์นำบัญชีหรือพยานหลักฐานอื่นอันควรแก่เรื่องการจำหน่ายเงินกำไรมาแสดงได้ตามมาตรา 23
เจ้าพนักงานประเมินออกหมายเรียกตรวจสอบภาษีอากรโจทก์พร้อมขออนุมัติขยายระยะเวลาการออกหมายเรียกเนื่องมีเหตุอันควรสงสัยว่าโจทก์มีเจตนาหลีกเลี่ยงอากร ซึ่งผู้อำนวยการสำนักบริหารธุรกิจขนาดใหญ่ ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมสรรพากร ได้อนุมัติให้ขยายเวลาการออกหมายเรียกตรวจสอบตามมาตรา 19 แห่ง ป.รัษฎากร แล้ว โดยบทบัญญัติดังกล่าวมิได้กำหนดว่าเจ้าพนักงานประเมินจะต้องขออนุมัติขยายเวลาการออกหมายเรียกภายในระยะเวลา 2 ปี และคำสั่งของอธิบดีกรมสรรพากรที่อนุมัติให้ขยายเวลาออกหมายเรียกดังกล่าวเป็นเพียงการสั่งการภายในส่วนราชการ ยังไม่มีผลเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ระหว่างกรมสรรพากรและผู้ยื่นรายการที่จะทำให้ผู้ยื่นรายการมีหน้าที่ต้องชำระภาษีอากร จึงไม่ถือเป็นคำสั่งทางปกครองที่จะต้องแจ้งให้โจทก์ทราบ การที่เจ้าพนักงานประเมินออกหมายเรียกตรวจสอบภาษีอากรสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2543 เกินกว่า 2 ปี แต่ไม่เกิน 5 ปีนับแต่วันที่ได้ยื่นรายการจึงชอบแล้ว
ส่วนการออกหมายเรียกสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2544 เจ้าพนักงานประเมินได้ขออนุมัติขยายระยะเวลาการออกหมายเรียกและออกหมายเรียกใหม่ ซึ่งได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรแล้ว แม้จะเป็นการอนุมัติภายหลังจากที่โจทก์ยื่นอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ แต่เจ้าพนักงานประเมินก็ได้ยกเลิกการประเมินภาษีสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีดังกล่าว ซึ่งเป็นผลมาจากการตรวจสอบตามหมายเรียกเดิมนี้ไปด้วย และคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ก็มีมติให้จำหน่ายคำอุทธรณ์แล้ว ต้องถือเสมือนไม่มีการประเมินที่จะทำให้เสียหายแก่โจทก์ ทั้งโจทก์ยังคงมีสิทธิที่จะอุทธรณ์การประเมินครั้งใหม่ตามหมายเรียกฉบับใหม่ต่อไป การออกหมายเรียกตรวจสอบใหม่ของเจ้าพนักงานประเมินสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2544 เกินกว่า 2 ปี แต่ไม่เกิน 5 ปี นับแต่วันที่ได้ยื่นรายการจึงชอบแล้วเช่นกัน
ส่วนกรณีจำหน่ายเงินกำไรนั้น เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยออกหมายเรียกและทำการประเมินตามมาตรา 23 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งเป็นกรณีไม่มีกำหนดเวลาในการออกหมายเรียก การออกหมายเรียกตรวจสอบในส่วนนี้จึงชอบแล้ว
ข้อที่โจทก์หยิบยกอ้างว่าคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ยังมิได้วินิจฉัยเป็นเพียงเหตุผลข้ออื่นและรายละเอียดที่โจทก์กล่าวอ้างเพิ่มเติมจากเดิมเพื่อสนับสนุนคำอุทธรณ์ฉบับเดิม เมื่อคำวินิจฉัยอุทธรณ์เพียงพอที่จะเข้าลักษณะเป็นเหตุผลแห่งการวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์แล้ว แม้เหตุผลจะแตกต่างจากข้ออ้างของโจทก์ แต่ก็เป็นการโต้แย้งในประเด็นเรื่องเดียวกันซึ่งเหตุผลย่อมแตกต่างกันไป ถือได้ว่าเป็นการวินิจฉัยโดยจัดให้มีเหตุผลตามมาตรา 37 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 แล้ว
พ.ร.ฎ.ออกตามความใน ป.รัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 18) พ.ศ.2505 มาตรา 3 บัญญัติให้ยกเว้นภาษีอากรตาม ป.รัษฎากร แก่บุคคลตามสัญญาว่าด้วยการเว้นการเก็บภาษีซ้อนที่รัฐบาลไทยได้ทำไว้หรือจะได้ทำกับรัฐบาลต่างประเทศ ซึ่งอนุสัญญาระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศสเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงการรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้ ข้อ 7 วรรคหนึ่ง ระบุว่า เงินได้ที่จะต้องเสียภาษีในประเทศไทย จะต้องเป็นเงินได้ที่เกิดจากการประกอบธุรกิจในประเทศไทยโดยผ่านสถานประกอบการถาวร อีกทั้งจะต้องเก็บจากกำไรเพียงเท่าที่พึงถือว่าเป็นของสถานประกอบการถาวรนั้นเท่านั้น โจทก์และกิจการร่วมค้าทำสัญญากับบริษัท ท. เพื่อการวิศวกรรม ออกแบบ และการติดตั้ง เคเบิลใยแก้วในโครงการส่วนขยายโครงข่ายสื่อสัญญาณสำหรับชุดเคเบิลใยแก้วนำแสง ซึ่งได้ลงนามในสัญญาที่ทำไว้ฉบับเดียวกัน และเมื่อพิจารณาข้อสัญญาดังกล่าวเป็นลักษณะของการจ้างทำของจนสำเร็จที่ตกลงให้ผู้รับจ้างเป็นผู้จัดหาสัมภาระ ไม่มีข้อความตอนใดระบุให้เห็นชัดแจ้งว่าคู่สัญญามีเจตนาแยกเป็นสัญญาซื้อขายสัมภาระและสัญญาจ้างทำของออกจากกัน แม้การจัดหาเคเบิลใยแก้วเป็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ เนื่องจากสินค้าผลิตจากโรงงานในต่างประเทศของโจทก์ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า การจัดหาเคเบิลใยแก้วของโจทก์เป็นส่วนหนึ่งของการประกอบธุรกิจรับจ้างทำของในประเทศไทย ค่าเคเบิลใยแก้วจึงเป็นรายได้จากการประกอบธุรกิจในประเทศไทย และปรากฏจากสัญญาว่า โจทก์มีสำนักงานในประเทศไทย มี บ. ผู้จัดการทั่วไปเป็นผู้แทน สำนักงานโจทก์โดย บ. ได้เข้าไปมีส่วนร่วมตั้งแต่การเจรจาต่อรองทำสัญญารายพิพาทด้วย จึงเข้าลักษณะที่โจทก์มีสถานประกอบการถาวรประเภท ค) สำนักงาน ตามข้อ 5 แห่งอนุสัญญาฉบับดังกล่าวแล้ว นอกจากนี้สาขาโจทก์ในประเทศไทยอันเป็นสถานประกอบการถาวรประเภท ข) สาขา ตามข้อ 5 แห่งอนุสัญญาฉบับดังกล่าว ยังได้เข้าดำเนินการในส่วนการรับจ้างติดตั้งทั้งหมด ซึ่งถือเป็นการประกอบธุรกิจตามสัญญาเดียวกันที่ไม่อาจแบ่งแยกได้ เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นวิสาหกิจที่ประกอบธุรกิจในประเทศไทยโดยผ่านทางสถานประกอบการถาวรซึ่งตั้งอยู่ในประเทศไทย กำไรของวิสาหกิจจึงย่อมต้องเสียภาษีในประเทศไทย ตามข้อ 7 แห่งอนุสัญญาฉบับดังกล่าว
เจ้าพนักงานประเมินเรียกให้สาขาโจทก์ในประเทศไทยส่งเอกสารเกี่ยวกับต้นทุนสินค้าที่โจทก์นำเข้ามาประกอบธุรกิจในประเทศไทยเพื่อตรวจสอบภาษีที่จะต้องเสียในนามโจทก์ แต่โจทก์มิได้ส่งเอกสารหลักฐานเกี่ยวกับต้นทุนสินค้าเคเบิลใยแก้วให้แก่เจ้าพนักงานประเมิน ย่อมทำให้เจ้าพนักงานตรวจสอบไม่สามารถคำนวณกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิในรอบระยะเวลาบัญชีพิพาทในส่วนการจัดหาเคเบิลใยแก้วได้ เจ้าพนักงานประเมินจึงมีเหตุที่จะนำบทบัญญัติมาตรา 71 (1) มาใช้บังคับโดยอนุโลมตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 66 วรรคสอง แห่ง ป.รัษฎากร ส่วนที่เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของรัฐผู้ทำสัญญาอาจแลกเปลี่ยนข้อสนเทศอันจำเป็นแก่การปฏิบัติการตามอนุสัญญาและตามกฎหมายภายในเกี่ยวกับภาษีอากรตามข้อ 26 แห่งอนุสัญญาภาษีซ้อนฉบับดังกล่าวก็ไม่เป็นการลบล้างอำนาจของเจ้าพนักงานประเมินที่มีอยู่ตามมาตรา 66 วรรคสอง ประกอบมาตรา 71 (1) ไปได้ และแม้ตามอนุสัญญาภาษีซ้อน จะไม่มีข้อบทใดกำหนดให้ประเมินภาษีโดยวิธีการตามมาตรา 71 (1) แต่อนุสัญญาฉบับดังกล่าวก็มิได้มีข้อบทใดกำหนดให้ใช้วิธีการแบ่งผลกำไรทั้งสิ้นของวิสาหกิจไปยังสถานประกอบการถาวรหรือวิธีการคำนวณอย่างอื่นในกรณีที่ไม่สามารถคำนวณกำไรสุทธิได้ไว้เป็นการเฉพาะ จึงย่อมนำบทบัญญัติใน ป.รัษฎากร มาใช้บังคับแก่กรณีได้เท่าที่ไม่ขัดกับส่วนอื่นของอนุสัญญาภาษีซ้อนฉบับดังกล่าว ประกอบกับโจทก์ก็มิได้นำสืบพิสูจน์ว่ากำไรสุทธิของโจทก์ในความเป็นจริงมีจำนวนน้อยกว่าภาษีที่ประเมินตามมาตรา 71 (1) การที่เจ้าพนักงานประเมินใช้อำนาจประเมินกำไรสุทธิโจทก์ในอัตราร้อยละ 5 ของยอดรายรับก่อนหักรายจ่ายตามมาตรา 66 วรรคสอง ประกอบมาตรา 71 (1) จึงถูกต้องและเหมาะสมแล้ว
กำไรสุทธิที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 65 แห่ง ป.รัษฎากร คือกำไรสุทธิที่คำนวณจากรายได้รายจ่ายจากกิจการทุกส่วนของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น ๆ มิใช่แยกคำนวณเป็นรายกิจการไป โจทก์จึงชอบที่ต้องจะคำนวณกำไรขาดทุนสุทธิจากรายได้รายจ่ายของการจัดหาเคเบิลใยแก้วรวมกันไปกับการรับจ้างทำของด้วย และเมื่อรายได้ในส่วนการจัดหาเคเบิลใยแก้วของโจทก์เป็นกรณีที่ไม่สามารถคำนวณกำไรสุทธิได้ กรณีก็ย่อมถือได้ว่ารายได้ทั้งหมดของโจทก์สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีพิพาทนั้นไม่สามารถจะคำนวณกำไรสุทธิได้ไปด้วย เจ้าพนักงานประเมินจึงมีอำนาจประเมินภาษีในอัตราร้อยละ 5 ของยอดรายรับทั้งหมดของรอบระยะเวลาบัญชีพิพาท ตามมาตรา 66 วรรคสอง ประกอบมาตรา 71 (1) ซึ่งการประเมินตามมาตรา 71 (1) นี้ ไม่คำนึงว่ารายรับส่วนหนึ่งส่วนใดของรอบระยะเวลาบัญชีจะมีกำไรหรือขาดทุน ดังนั้น เจ้าพนักงานประเมินจึงต้องนำยอดรายรับจากการรับจ้างทำของในรอบระยะเวลาบัญชีพิพาทที่โจทก์อ้างว่าขาดทุนมารวมเป็นฐานรายรับในการประเมินภาษีตามมาตรา 71 (1) ด้วยหาใช่ต้องแยกกิจการรับจ้างทำของออกมาคำนวณรายได้หักด้วยรายจ่ายดังที่โจทก์อ้าง
คดีนี้เจ้าพนักงานประเมินใช้อำนาจประเมินภาษีตาม ป.รัษฎากร มาตรา 71 (1) ย่อมต้องถือว่าโจทก์ไม่มีสิทธิเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในรอบระยะเวลาบัญชีพิพาทโดยคำนวณจากยอดกำไรสุทธิ แต่ต้องเสียโดยคำนวณจากยอดรายรับก่อนหักรายจ่ายใด ๆ ในอัตราร้อยละ 5 ซึ่งกรณีเช่นนี้เป็นการเสียภาษีโดยไม่คำนึงถึงรายจ่ายใด ๆ ดังนั้นโจทก์จึงไม่อาจนำรายจ่ายซึ่งโจทก์อ้างว่าเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารและการจัดการทั่วไป ตามที่ระบุไว้ในมาตรา 7 วรรคสาม แห่งอนุสัญญาภาษีซ้อนฉบับดังกล่าวมาหักจากยอดรายรับได้
โจทก์ต้องคำนวณกำไรขาดทุนสุทธิจากรายได้รายจ่ายของการจัดหาเคเบิลใยแล้วรวมกันไปกับการรับจ้างทำของด้วย แม้โจทก์จะอ้างว่าการรับจ้างทำของจะมีผลขาดทุนก็ตาม แต่เมื่อรวมกับการจัดหาเคเบิลใยแก้วซึ่งไม่สามารถคำนวณกำไรหรือขาดทุนได้แล้ว กรณีไม่อาจจะรับฟังเป็นยุติได้ว่าโจทก์ไม่มีเงินกำไรในรอบระยะเวลาบัญชีพิพาท เงินที่โจทก์ได้รับจากบริษัท ท. จึงมิใช่เฉพาะส่วนที่เป็นเงินค่าต้นทุนเคเบิลใยแก้วเท่านั้น แต่เป็นเงินที่เป็นส่วนของเงินกำไรหรือถือได้ว่าเป็นเงินกำไรรวมอยู่ด้วย โจทก์จึงต้องเสียภาษีในจำนวนเงินกำไรที่จำหน่ายนั้นตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 70 ทวิ แห่ง ป.รัษฎากร
การที่โจทก์ชำระภาษีไม่ถูกต้องเนื่องมาจากโจทก์ไม่พิสูจน์ต้นทุนสินค้าและกำไรของโจทก์ซึ่งเป็นเรื่องที่โจทก์ทราบดีอยู่แล้ว เป็นเหตุให้เจ้าพนักงานประเมินไม่สามารถคำนวณกำไรสุทธิที่แท้จริงของโจทก์ได้ จึงต้องใช้การประเมินโดยวิธีอื่น แล้วโจทก์ก็อาศัยบทบัญญัติอนุสัญญาภาษีซ้อนมาเป็นข้อโต้แย้งการประเมินเพื่อจะไม่ต้องเสียภาษี อันเป็นลักษณะของการพยายามปกปิดจำนวนเงินกำไรที่แท้จริง และหาทางตีความสัญญารายพิพาทไปในทางที่จะนำบทบัญญัติอนุสัญญาภาษีซ้อนมาใช้อ้างเพื่อประโยชน์แก่ตน นอกจากนี้จำนวนเงินภาษีที่โจทก์ชำระไม่ถูกต้องดังกล่าวก็เป็นจำนวนสูงมาก และยังเป็นเวลาต่อเนื่องกันหลายรอบระยะเวลาบัญชี จึงไม่มีเหตุสมควรที่จะงดหรือลดเบี้ยปรับให้แก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4275/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีหลังล้มละลาย: เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต้องปฏิบัติตามกฎหมายภาษี และการไม่ให้ความร่วมมือทำให้ถูกประเมินตามกฎหมาย
ภายหลังศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดบริษัท ล. แล้ว บริษัทดังกล่าวมีเงินได้จากค่าเช่า ค่าบริการและดอกเบี้ย ภาระภาษีของบริษัท ล. ดังกล่าว จำเลยไม่จำต้องยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้ตามมาตรา 91 แห่ง พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 และไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายใดให้บริษัทที่ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดและอยู่ระหว่างการจัดการของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีธุรกิจเฉพาะ แต่อย่างใด เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ต้องปฏิบัติตาม ป.รัษฎากร เช่นเดียวกับกรณีก่อนศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้เด็ดขาด ส่วนการปลดจากการล้มละลายทำให้บุคคลล้มละลายหลุดพ้นจากหนี้ทั้งปวงอันพึงขอชำระได้ เว้นแต่หนี้ภาษีอากร จังกอบของรัฐบาลหรือเทศบาลตามที่บัญญัติไว้ตามมาตรา 77 แห่ง พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 นั้น เป็นคนละขั้นกรณีกับวิธีการจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ หาใช่เป็นบทบังคับให้จำเลยซึ่งเป็นเจ้าหนี้ภาษีอากรใช้สิทธิตามบทบัญญัติดังกล่าวโดยไม่มีอำนาจแจ้งการประเมินและเรียกเก็บภาษีจากบริษัทที่ถูกศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด และแม้โจทก์จะเอาอาคารของลูกหนี้ออกให้เช่าเพื่อรักษาสภาพทรัพย์สินระหว่างรอการขายทอดตลาด แต่บริษัท ล. ยังคงสภาพเป็นบริษัทอยู่ จึงต้องเสียภาษีจากการคำนวณรายได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการที่กระทำในรอบระยะเวลาบัญชีที่ต้องเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 66 วรรคหนึ่ง แห่ง ป.รัษฎากร ในกรณีที่บริษัท ล. ไม่ยื่นรายการที่จำเป็นต้องใช้ในการคำนวณภาษี เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินร้อยละ 5 ของยอดรายรับก่อนหักรายจ่ายใด ๆ หรือยอดขายก่อนหักรายจ่ายใด ๆ ของรอบระยะเวลาบัญชีตามมาตรา 71 (1) แห่ง ป.รัษฎากร ได้ เมื่อบริษัท ล. เป็นผู้ประกอบการที่มีรายรับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีธุรกิจเฉพาะ ตามบทบัญญัติแห่ง ป.รัษฎากร มาตรา 77/2 และมาตรา 91/2 แล้ว เจ้าพนักงานประเมินย่อมมีอำนาจประเมินให้บริษัทดังกล่าวต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีธุรกิจเฉพาะได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8273/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษี การยึดเอกสาร และการวินิจฉัยอุทธรณ์ซ้ำ ศาลแก้ไขการประเมินและเบี้ยปรับบางส่วน
การที่เจ้าพนักงานประเมินออกหมายเรียกให้โจทก์นำบัญชีและเอกสารต่างๆ ไปมอบให้เจ้าพนักงานประเมินโดยให้เวลาแก่โจทก์ในการปฏิบัติตามหมายเรียกดังกล่าวน้อยกว่า 7 วัน นับแต่วันส่งหมาย มีผลเพียงว่าโจทก์ไม่จำต้องปฏิบัติตามภายในระยะเวลาที่กำหนดในหมายเรียกนั้น และจะถือว่าโจทก์มีความผิดเพราะไม่ปฏิบัติตามหมายเรียกไม่ได้เท่านั้น หาทำให้การออกหมายเรียก การตรวจสอบและการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินเสียไปทั้งหมดไม่
คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีอำนาจพิจารณาทบทวนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินตามคำอุทธรณ์ของผู้ต้องเสียภาษีอากร แล้วมีคำวินิจฉัยชี้ขาดอย่างใดอย่างหนึ่งคือยกคำอุทธรณ์ของผู้ต้องเสียภาษีอากรในกรณีที่เห็นว่าการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินถูกต้องชอบด้วยกฎหมายแล้วประการหนึ่ง ปลดภาษีตามการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินตามคำอุทธรณ์ของผู้ต้องเสียภาษีอากรในกรณีที่เห็นว่าผู้ต้องเสียภาษีอากรไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีหรือไม่มีภาษีต้องเสียประการหนึ่ง หรือให้แก้ไขการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินในกรณีที่เห็นว่าการประเมินมีข้อผิดพลาดหรือไม่ถูกต้องด้วยเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งอีกประการหนึ่ง ซึ่งกรณีหลังนี้คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์อาจแก้ไขโดยกำหนดจำนวนภาษี เบี้ยปรับและเงินเพิ่มใหม่ไปทีเดียว หรืออาจแก้ไขโดยให้เจ้าพนักงานประเมินทำการประเมินใหม่ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และคำวินิจฉัยชี้ขาดของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ก็ได้ หาใช่ว่าจะต้องวินิจฉัยชี้ขาดโดยกำหนดจำนวนภาษี เบี้ยปรับและเงินเพิ่มใหม่ให้เสร็จเด็ดขาดไปสถานเดียวไม่ การที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยชี้ขาดให้เจ้าพนักงานประเมินทำการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลของโจทก์ใหม่ด้วยวิธีคำนวณหากำไรสุทธิ เพราะเห็นว่าการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินที่ประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลของโจทก์ในอัตราร้อยละ 5 ของยอดรายรับก่อนหักรายจ่ายเป็นการไม่ถูกต้องจึงเป็นคำวินิจฉัยอุทธรณ์ที่ชอบด้วยกฎหมาย
คำฟ้องโจทก์โต้เถียงคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์โดยตรงว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะวินิจฉัยในประเด็นปัญหาที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เคยวินิจฉัยไว้แล้วในคำวินิจฉัยอุทธรณ์ครั้งแรก เมื่อคำให้การจำเลยไม่ได้โต้เถียงข้อเท็จจริงในส่วนนี้ ข้ออ้างของโจทก์ดังกล่าวจึงเป็นข้อกฎหมายและเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้โจทก์จะไม่ได้กล่าวข้อความนี้โดยชัดแจ้งในคำอุทธรณ์คัดค้านการประเมิน โจทก์ก็มีอำนาจฟ้องปัญหานี้ได้
โจทก์อุทธรณ์การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินครั้งแรกว่า เจ้าพนักงานของจำเลยยึดเอกสารและบัญชีไปจากโจทก์ ทำให้โจทก์ไม่สามารถยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคลภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด เมื่อโจทก์ได้รับเอกสารและบัญชีคืนมาก็ได้รีบยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคลทันที จึงขอให้งดเบี้ยปรับแก่โจทก์ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ว่า โจทก์ไม่มีเจตนาไม่ยื่นแบบไม่ทันกำหนดเวลา แต่เมื่อมีการประเมินใหม่และโจทก์อุทธรณ์การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินครั้งหลัง คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์กลับวินิจฉัยว่า โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการหลังจากพ้นกำหนด จึงถือว่าโจทก์ไม่ยื่นแบบแสดงรายการภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด คำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ในครั้งหลังเป็นการวินิจฉัยซ้ำในประเด็นปัญหาเดียวกันกับที่มีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ในครั้งแรกไปแล้ว เมื่อประมวลรัษฎากรไม่มีบทบัญญัติให้คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีอำนาจพิจารณาประเด็นปัญหาที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้เคยมีคำวินิจฉัยไปแล้วในการประเมินรายเดียวกัน ทั้งไม่ปรากฏว่าคำวินิจฉัยอุทธรณ์ครั้งแรกวินิจฉัยประเด็นปัญหาไม่ตรงตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏคำวินิจฉัยอุทธรณ์ครั้งหลังในส่วนที่วินิจฉัยว่าโจทก์ไม่ยื่นแบบแสดงรายการภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
หนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ที่พิพาทเป็นคำสั่งทางปกครองตาม พ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 5 ซึ่งอยู่ในบังคับต้องจัดให้มีเหตุผลตามที่บัญญัติในมาตรา 37 วรรคหนึ่ง เว้นแต่จะต้องด้วยกรณีตามมาตรา 37 วรรคสาม ปัญหาว่าคำสั่งทางปกครองฉบับใดได้รับยกเว้นไม่ต้องจัดให้มีเหตุผลตามบทบัญญัติดังกล่าวเป็นปัญหาข้อเท็จจริง และอาจแตกต่างกันไปแล้วแต่กรณี เมื่อคำฟ้องโจทก์ไม่ได้กล่าวบรรยายความข้อนี้ อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์จึงไม่ใช่ข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 ประกอบพ.ร.บ. จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 29.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1480/2549 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลกรณีไม่นำบัญชีเอกสารมาให้ตรวจสอบ และการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายการเก็บรักษาเอกสาร
อุทธรณ์ของโจทก์ที่อ้างว่าโจทก์ไม่สามารถแสดงใบกำกับภาษีได้เนื่องจากผู้รับจ้างจัดทำบัญชีและเอกสารคืนโจทก์ และโจทก์ไม่สามารถขอใบแทนใบกำกับภาษีจากผู้ออกใบกำกับภาษีได้ เพราะโจทก์ไม่ทราบว่ามีใบกำกับภาษีอะไรบ้างนั้น มิใช่กรณีที่ใบกำกับภาษีถูกทำลายโดยเหตุสุดวิสัย และไม่ใช่กรณีที่โจทก์ไม่สามารถขอใบแทนใบกำกับภาษีได้เนื่องจากผู้ออกใบกำกับภาษีไม่สามารถออกใบแทนใบกำกับภาษีได้เพราะเหตุสุดวิสัย จึงไม่เข้าข้อยกเว้น ตาม ป.รัษฎากรฯ มาตรา 82/5 ที่จะนำภาษีซื้อมาหักภาษีขายเพื่อคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม
เจ้าพนักงานประเมินตรวจสอบแล้วมีเหตุอันควรเชื่อว่าโจทก์แสดงรายการตามแบบที่ยื่นไว้ไม่ถูกต้องตามความจริงจึงออกหมายเรียกให้โจทก์นำบัญชีเอกสารหรือหลักฐานอื่นอันควรแก่เรื่องมาแสดงตาม ป.รัษฎากรฯ มาตรา 19 แต่โจทก์ส่งเพียงเอกสารบางส่วนจากพนักงานสอบสวนไปให้เจ้าพนักงานประเมิน เมื่อข้อความตามบทบัญญัติแห่ง ป.รัษฎากรฯ มาตรา 19 ประกอบมาตรา 71 (1) มิได้หมายความว่าเจ้าพนักงานประเมินจะใช้อำนาจประเมินตามมาตรา 71 (1) ได้เฉพาะกรณีที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลมิได้นำบัญชี เอกสารหรือหลักฐานใดๆ มาแสดงต่อเจ้าพนักงานเลย แต่ยังหมายความรวมถึงกรณีที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนำบัญชี เอกสารหรือหลักฐานใดๆ มายื่นต่อเจ้าพนักงานแล้วแต่ยังไม่เพียงพอแก่การคำนวณกำไรขาดทุนสุทธิด้วย เมื่อโจทก์ประกอบกิจการขายสินค้าเป็นผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชี จึงต้องเก็บรักษาบัญชีและเอกสารประกอบการลงบัญชีไว้ ณ สถานที่ประกอบธุรกิจของโจทก์ หากจะเก็บไว้ ณ สถานที่อื่นโจทก์จะต้องขออนุญาตต่อสารวัตรใหญ่บัญชีหรือสารวัตรบัญชีตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีกรมทะเบียนการค้ากำหนดตามข้อ 13 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 285ฯ การที่โจทก์มอบเอกสารหลักฐานทางบัญชีให้ผู้รับจ้างจัดทำบัญชีนำไปเก็บไว้ ณ สำนักงานบัญชี โดยไม่ได้ขออนุญาตตามกฎหมาย ย่อมเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 285 โจทก์จึงอ้างเอาเหตุที่ผู้รับจ้างจัดทำบัญชีไม่ยอมส่งเอกสารคืนโจทก์มาเป็นเหตุที่จะปฏิเสธไม่ส่งเอกสารให้เจ้าพนักงานตรวจสอบไม่ได้ และการไม่สามารถส่งเอกสารให้เจ้าพนักงานตรวจสอบดังกล่าวมิใช่เหตุสุดวิสัย แม้ในที่สุดโจทก์จะสามารถนำเอกสารบางส่วนจากพนักงานสอบสวนส่งไปให้เจ้าพนักงานตรวจสอบ แต่เอกสารบางส่วนดังกล่าวยังไม่เพียงพอที่จะคำนวณหากำไรขาดทุนสุทธิได้ เจ้าพนักงานประเมินย่อมมีอำนาจประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลของโจทก์ในอัตราร้อยละ 5 ของยอดรายรับก่อนหักรายจ่ายใดๆ ตาม ป.รัษฎากรฯ มาตรา 71 (1) ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1480/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีผู้เสียภาษีไม่สามารถส่งเอกสารประกอบการตรวจสอบได้ และการมอบเอกสารให้บุคคลอื่นโดยไม่ขออนุญาต
ข้ออ้างของโจทก์ที่ว่าไม่สามารถแสดงใบกำกับภาษีได้ เนื่องจาก อ. ไม่ยอมส่งมอบบัญชีและเอกสารคืนโจทก์ และโจทก์ไม่สามารถขอใบแทนใบกำกับภาษีจากผู้ออกใบกำกับภาษีได้เพราะโจทก์ไม่ทราบว่ามีใบกำกับภาษีอะไรบ้างนั้น ไม่ใช่กรณีที่ใบกำกับภาษีถูกทำลายโดยเหตุสุดวิสัย และไม่ใช่กรณีที่โจทก์ไม่สามารถขอใบแทนใบกำกับภาษีได้เนื่องจากผู้ออกใบกำกับภาษีไม่สามารถออกใบแทนใบกำกับภาษีได้เพราะเหตุสุดวิสัย จึงไม่เข้าข้อยกเว้นตาม ป. รัษฎากร มาตรา 82/5 (1) และประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 17) ข้อ 2 ที่จะนำภาษีซื้อมาหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/3
โจทก์ประกอบกิจการขายสินค้ามีหน้าที่จัดทำบัญชีและต้องเก็บรักษาบัญชีและเอกสารประกอบการลงบัญชีไว้ ณ สถานที่ประกอบธุรกิจของโจทก์ หากจะเก็บไว้ ณ สถานที่อื่นจะต้องขออนุญาตต่อสารวัตรใหญ่บัญชีหรือสารวัตรบัญชี ตามข้อ 13 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 285 การที่โจทก์มอบเอกสารหลักฐานทางบัญชีให้ อ. นำไปเก็บไว้ ณ สำนักงานของ อ. โดยไม่ได้ขออนุญาตตามกฎหมาย ย่อมเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติดังกล่าว โจทก์จะอ้างเอาเหตุที่ อ. ไม่ยอมส่งเอกสารคืนโจทก์มาเป็นเหตุที่ไม่อาจส่งเอกสารให้เจ้าพนักงานตรวจสอบไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9302/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีตามมาตรา 71(1) ป.รัษฎากร เมื่อผู้เสียภาษีไม่ส่งเอกสารประกอบการตรวจสอบ
หลังจากจำเลยที่ 1 ได้ออกหมายเรียกตรวจสอบภาษีให้กรรมการโจทก์ไปพบและส่งบัญชีพร้อมทั้งเอกสารไปให้ตรวจสอบ โจทก์ส่งสมุดบัญชีแยกประเภทไปให้จำเลยที่ 1 เพียง 1 เล่ม และผู้รับมอบอำนาจโจทก์ได้แจ้งต่อเจ้าพนักงานประเมินของจำเลยที่ 1 ว่าจะทำหนังสือขอให้เจ้าพนักงานประเมินไปตรวจสอบเอกสารอื่น ๆ ในสำนักงานของโจทก์ในภายหลัง แสดงว่าโจทก์ทราบดีว่ายังมีเอกสารที่จะต้องให้เจ้าพนักงานประเมินไปตรวจสอบอีก แต่โจทก์ก็ไม่ส่งไปให้ตรวจสอบ และมิได้แจ้งให้เจ้าพนักงานประเมินไปตรวจสอบ ณ สำนักงานของโจทก์แต่อย่างใด การที่โจทก์ไม่ส่งบัญชีเอกสารหรือหลักฐานอื่นมาให้เจ้าพนักงานประเมินทำการไต่สวนตามมาตรา 19 แห่ง ป.รัษฎากร เจ้าพนักงานประเมินจึงมีอำนาจประเมินภาษีของโจทก์ในอัตราร้อยละ 5 ของยอดรายรับก่อนหักรายจ่ายใด ๆ ได้ตาม ป.รัษฎากรมาตรา 71 (1)
โจทก์ประกอบกิจการขนส่งไม่ใช่ผู้ประกอบกิจการขายส่งสินค้าประเภทซึ่งเจ้าพนักงานประเมินสามารถหาหลักฐานเพื่อนำมาใช้ในการคำนวณกำไรสุทธิได้โดยง่ายเช่นเดียวกับกิจการขายส่งสุรา เบียร์ ยาสูบ น้ำมันเชื้อเพลิง ปูนซิเมนต์ เป็นต้น ตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 78/2541 เรื่อง ขอบเขตการใช้อำนาจตามมาตรา 71 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น จึงไม่อาจนำคำสั่งดังกล่าวมาใช้ในกรณีของโจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8923/2544 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจประเมินภาษีตามมาตรา 71 และการคำนวณเงินเพิ่มตามมาตรา 27 ชอบด้วยกฎหมาย
การใช้อำนาจประเมินภาษีตามประมวลรัษฎากร มาตรา 71 (1) กฎหมายบัญญัติให้เป็นดุลพินิจของเจ้าพนักงานประเมิน ดังจะเห็นได้จากบทบัญญัติในมาตรา 71 วรรคสอง ว่า ในกรณีที่เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินภาษีตามมาตรา 71 เจ้าพนักงานประเมินจะใช้ดุลพินิจประเมินให้เสียภาษีตามบทบัญญัติในมาตราอื่นก็ได้ ดังนั้น การที่เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยใช้อำนาจตามมาตรา 71 (1) ประเมินภาษีในอัตราร้อยละ 5 ของยอดรายรับก่อนหักรายจ่ายใด ๆ จึงเป็นการปฏิบัติไปตามมาตรา 71 (1) การกระทำของจำเลยจึงชอบด้วยกฎหมาย
ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 27 วรรคหนึ่งระบุว่า บุคคลใดไม่เสียหรือนำส่งภาษีภายในกำหนดเวลาตามที่บัญญัติไว้ในหมวดต่าง ๆ แห่งลักษณะนี้เกี่ยวกับภาษีอากรประเมินให้เสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องเสียหรือนำส่งโดยไม่รวมเบี้ยปรับ และในวรรคสามบัญญัติว่า การคำนวณเงินเพิ่มให้เริ่มนับเมื่อพ้นกำหนดเวลาการยื่นรายการหรือนำส่งภาษีจนถึงวันชำระหรือนำส่งภาษี ส่วนรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มาตรา 69 บัญญัติว่า บุคคลมีหน้าที่เสียภาษีอากรตามที่กฎหมายบัญญัติ ดังนั้น การที่เจ้าพนักงานของจำเลยคิดเงินเพิ่มจากโจทก์นับแต่วันพ้นกำหนดเวลาการยื่นรายการ จึงเป็นการปฏิบัติถูกต้องตามประมวลรัษฎากรและรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8327/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ รายได้จากค่าวัสดุอุปกรณ์ได้รับการยกเว้นภาษีตามสนธิสัญญาฯ การประเมินภาษีจากการจำหน่ายเงินกำไรไม่ชอบ
สัญญาซื้อขายที่โจทก์ทำกับองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย คู่สัญญามีเจตนาแยกเป็นสัญญาซื้อขายวัสดุอุปกรณ์และสัญญาจ้างทำของ ในส่วนสัญญาซื้อขายถือไม่ได้ว่าเกิดจากการประกอบธุรกิจโดยผ่านสถานประกอบการถาวรของโจทก์ซึ่งตั้งอยู่ในประเทศไทย เมื่อขณะทำสัญญาโจทก์ยังไม่มีสถานประกอบการถาวรตั้งอยู่ในประเทศไทย ดังนั้น รายได้จากค่าวัสดุอุปกรณ์โจทก์จึงได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีในประเทศไทยตามความตกลงระหว่างราชอาณาจักรไทยกับเบลเยี่ยมเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้ และพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากรฯ โจทก์จึงไม่ต้องนำรายได้ค่าวัสดุอุปกรณ์ในปี 2532 และปี 2533 มาเป็นฐานในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 71(1) สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2532 และปี 2533 ตามลำดับ
รายได้ค่าวัสดุอุปกรณ์โจทก์ได้รับยกเว้นภาษีตามความตกลงระหว่างราชอาณาจักรไทยกับเบลเยี่ยมเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้ และจำเลยไม่มีหลักฐานเกี่ยวกับการจำหน่ายเงินกำไรส่วนอื่นออกไปจากประเทศไทย การประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลจากการจำหน่ายเงินกำไรออกไปจากประเทศไทยตามมาตรา 70 ทวิ สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีดังกล่าว จึงไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1001/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ภาษีอากร: การประเมินภาษีจากรายรับที่ไม่ถูกต้อง และการซ้ำซ้อนของการประเมินเบี้ยปรับ
ชื่อผู้ประกอบการค้าที่เป็นเจ้าของบัตรชดเชยภาษี เลขประจำตัวผู้เสียภาษีที่ปรากฏอยู่ตอนบนของรายการเป็นของจำเลยและมีรายละเอียดเลขบัตรชดเชยภาษีพร้อมยอดเงินตามบัตรชดเชยภาษี เมื่อจำเลยไม่โต้แย้งคัดค้านจึงรับฟังได้ว่าจำเลยเป็นเจ้าของบัตรชดเชยภาษี จำเลยมีหน้าที่ต้องนำเงินตามมูลค่าบัตรภาษีตามเอกสารดังกล่าวมาคำนวณเสียภาษี แต่จำเลยไม่มาพบและไม่นำส่งบัญชีและเอกสารประกอบการลงบัญชีเมื่อได้รับหมายเรียกเพื่อตรวจสอบบัญชีจำเลยจึงต้องรับผิดเสียภาษีในอัตราร้อยละ 5 ของยอดรายรับดังกล่าวก่อนหักรายจ่ายใด ๆ ตามประมวลรัษฎากรฯ มาตรา 71(1)และต้องรับผิดเสียเงินเพิ่มร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของจำนวนภาษีที่ต้องเสีย นับแต่วันพ้นกำหนดและยื่นรายการสำหรับรอบระยะเวลาบัญชี แต่ไม่เกินจำนวนภาษีที่ต้องเสียจำนวนดังกล่าวตามมาตรา 22
จำเลยยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคล ภ.ง.ด.50เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2540 และแจ้งเลิกประกอบกิจการเมื่อวันที่ 16กันยายน 2540 จึงแสดงได้ว่าในรอบระยะเวลาบัญชีนี้จำเลยประกอบกิจการเต็มทั้งรอบระยะเวลาบัญชีจำเลยจึงมีหน้าที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการประมาณการกำไรสุทธิและชำระภาษีจากกึ่งหนึ่งของประมาณการกำไรสุทธิตามแบบ ภ.ง.ด.51 สำหรับรอบระยะเวลาหกเดือนเมื่อปรากฏว่าจำเลยไม่ยื่นแบบดังกล่าวตามมาตรา 67 ทวิ (1) จำเลยจึงต้องรับผิดเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 20 ของจำนวนภาษีที่ต้องชำระตามมาตรา 67 ทวิ (1) ตามมาตรา 67 ตรี แห่งประมวลรัษฎากรฯ
ประมวลรัษฎากรฯ มาตรา 67 ตรี ได้กำหนดบทลงโทษให้ผู้เสียภาษีชำระเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 20 ไว้เป็นการเฉพาะแล้วการที่เจ้าพนักงานประเมินได้ประเมินให้จำเลยชำระเบี้ยปรับในจำนวนภาษีเดียวกันอีกจึงเป็นการซ้ำซ้อน การประเมินเบี้ยปรับนี้จึงไม่ชอบ ปัญหานี้เป็นปัญหาว่าการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ อันเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยมิได้อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัยเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากรฯมาตรา 29 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 142(5)
of 9