คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 ม. 34/1

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 6 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1247/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลฎีกาจำกัดเฉพาะการวินิจฉัยคุณสมบัติผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้งเท่านั้น
พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาฯ มาตรา 34 และ 34/1 กำหนดให้ศาลฎีการับวินิจฉัยเฉพาะกรณีที่มีการโต้แย้งกันเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งเท่านั้น หาได้กำหนดให้ศาลฎีกามีอำนาจรับวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับการสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อด้วยไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 893/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลฎีกาในกรณีเพิกถอนคุณสมบัติผู้สมัครหลังเลือกตั้ง: ศาลไม่มีอำนาจวินิจฉัยคำวินิจฉัยของ กกต. หลังวันเลือกตั้ง
พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาฯ มาตรา 34 วรรคหนึ่ง ให้อำนาจศาลฎีการับวินิจฉัยคำร้องของผู้สมัครในกรณีที่ผู้สมัครไม่มีชื่อเป็นผู้สมัครในประกาศของผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้ง กับมาตรา 34/1 วรรคหนึ่ง ให้อำนาจศาลฎีการับวินิจฉัยคำร้องของผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งในกรณีที่ขอให้ศาลฎีกาวินิจฉัยให้เพิกถอนการสมัครรับเลือกตั้งของผู้สมัคร ซึ่งทั้งสองกรณีผู้ร้องจะต้องยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาก่อนวันเลือกตั้งเท่านั้น กรณีตามคำร้องของผู้ร้อง ปรากฏว่าผู้ร้องเป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งในวันเลือกตั้งอยู่ก่อนแล้ว และผู้ร้องได้รับการเลือกตั้งด้วยคะแนนสูงสุดในเขตเลือกตั้งที่ 3 จังหวัดกาญจนบุรี แต่เพิ่งมาถูกคณะกรรมการการเลือกตั้งวินิจฉัยว่าผู้ร้องขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 107 (4) และมีคำสั่งให้งดการประกาศผลการเลือกตั้งกับให้มีการเลือกตั้งใหม่ภายหลังจากวันเลือกตั้ง ในกรณีนี้ไม่มีบทกฎหมายใดให้อำนาจศาลฎีกาที่จะสั่งเพิกถอนคำวินิจฉัยและคำสั่งของคณะกรรมการการเลือกตั้งดังกล่าวได้ จึงไม่มีประโยชน์ที่ศาลฎีกาจะให้รับคำร้องของผู้ร้องไว้พิจารณาต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 538/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. กรณีถูกถอนสถานภาพผู้สำเร็จการศึกษาและกระทบคุณสมบัติ
ข้อกำหนดเกี่ยวกับการพิจารณาและวินิจฉัยสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2547 ข้อ 14 ที่กำหนดให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งต้องส่งสำเนาคำร้องและแจ้งกำหนดวันเวลานัดและศาลที่จะยื่นคำร้องให้ผู้สมัครทราบก่อนวันนัดยื่นคำร้องไม่น้อยกว่า 3 วัน เป็นกรณีที่ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดหรือศาลแพ่งก่อนวันเลือกตั้งมากกว่า 10 วันทำการ แต่คดีนี้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งยื่นคำร้องก่อนวันเลือกตั้งไม่มากกว่า 10 วันทำการ พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2541 มาตรา 34/1 กำหนดว่า ก่อนการเลือกตั้ง ถ้าผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งเห็นว่าผู้สมัครขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ให้ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาเพื่อพิจารณาวินิจฉัยให้เพิกถอนการสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้นได้ ประกอบด้วยข้อกำหนดเกี่ยวกับการพิจารณาและวินิจฉัยสิทธิรับสมัครรับเลือกตั้ง คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2547 ข้อ 14 วรรคสุดท้าย กำหนดให้ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาโดยตรง ผู้ร้องจึงสามารถยื่นคำร้องได้ตามกฎหมายและกรณีไม่อยู่ภายใต้บังคับของข้อ 14 วรรคหนึ่งและวรรคสอง การยื่นคำร้องของผู้ร้องจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว
ผู้คัดค้านสมัครรับเลือกตั้งโดยอาศัยคุณสมบัติของผู้สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า คือ ได้รับปริญญารัฐประศาสนศาสตร์บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และปริญญาศิลปศาสตร์มหาบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง ดังนั้น เมื่อสถานภาพการเป็นผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีของผู้คัดค้านถูกถอน และปริญญาบัตรเลขที่ 6/2543 ที่ออกให้แก่ผู้คัดค้านได้ถูกยกเลิกตามประกาศมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชแล้ว การถอนสถานภาพการเป็นผู้สำเร็จการศึกษาและยกเลิกปริญญาบัตรดังกล่าวย่อมมีผลตราบเท่าที่ยังไม่มีการเพิกถอน หรือสิ้นผลลงโดยเรื่องเวลาหรือโดยเหตุอื่นตาม พ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 มาตรา 42 วรรคสอง เมื่อไม่ปรากฏว่าการถอนสถานภาพการเป็นผู้สำเร็จการศึกษาและการยกเลิกปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชเป็นการกระทำที่ปราศจากอำนาจหรือมิชอบด้วยกฎหมาย อีกทั้งมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชยังไม่ดำเนินการอย่างใดอันอาจมีผลให้การถอนสถานภาพการเป็นผู้สำเร็จการศึกษาและการยกเลิกปริญญาบัตรได้ถูกเพิกถอนหรือสิ้นผลลง การเพิกถอนสถานภาพการเป็นผู้สำเร็จการศึกษาและการยกเลิกปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชจึงยังมีผลอยู่ ผู้คัดค้านจึงไม่มีคุณสมบัติเป็นผู้สำเร็จการศึกษารัฐประศาสนศาสตร์บัณฑิตของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
แม้มหาวิทยาลัยรามคำแหงมิได้ดำเนินการถอนสถานภาพการเป็นผู้สำเร็จการศึกษาหลักสูตรปริญญาศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต (รัฐศาสตร์) และปริญญาบัตรก็ตาม แต่การรับผู้คัดค้านเข้าศึกษาในหลักสูตรดังกล่าวเป็นการรับโดยอาศัยวุฒิการศึกษารัฐประศาสนศาสตร์ (รัฐศาสตร์) ของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ในเมื่อสถานภาพการเป็นผู้สำเร็จการศึกษาและปริญญาบัตรรัฐประศาสนศาสตร์ (รัฐศาสตร์) ดังกล่าว ถูกถอนโดยชอบด้วยกฎหมายซึ่งมีผลให้ผู้คัดค้านไม่มีสถานะเป็นผู้จบปริญญาตรีแล้ว มหาวิทยาลัยรามคำแหงย่อมไม่อาจรับผู้คัดค้านเข้าศึกษาหลักสูตรปริญญาโทได้ การเป็นผู้สำเร็จการศึกษาและปริญญาศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชารัฐศาสตร์ของผู้คัดค้านจึงตกไปในตัว ผู้คัดค้านจึงไม่มีคุณสมบัติเป็นผู้สำเร็จการศึกษาปริญญาศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชารัฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัยรามคำแหง อีกเช่นกัน ที่ผู้ร้องเห็นว่า ผู้คัดค้านไม่มีคุณสมบัติเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มาตรา 107 (3) ชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 538/2548 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. กรณีถูกถอนสถานภาพผู้สำเร็จการศึกษาปริญญาตรี
ตามข้อกำหนดเกี่ยวกับการพิจารณาและวินิจฉัยสิทธิสมัครรับเลือกตั้งคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลอืกตั้งของผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาฯ ข้อ 14 ที่กำหนดให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งต้องส่งสำเนาคำร้องและแจ้งกำหนดวันเวลานัดและศาลที่จะยื่นคำร้องให้ผู้สมัครทราบก่อนวันนัดยื่นคำร้องไม่น้อยกว่า 3 วัน เป็นกรณีที่ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดหรือศาลและแพ่งก่อนวันเลือกตั้งมากกว่า 10 วันทำการ แต่คดีนี้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งยื่นคำร้องก่อนวันเลือกตั้งไม่มากกว่า 10 วันทำการ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาฯ มาตรา 34/1 กำหนดว่า ก่อนการเลือกตั้งถ้าผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งเห็นว่าผู้สมัครขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ให้ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาเพื่อพิจารณาวินิจฉัยให้เพิกถอนการสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้นได้ ประกอบกับข้อกำหนดเกี่ยวกับการพิจารณาและวินิจฉัยสิทธิสมัครรับเลือกตั้งฯ ข้อ 14 วรรคสุดท้าย กำหนดให้ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาโดยตรง ผู้ร้องจึงสามารถยื่นคำร้องได้ตามกฎหมายและกรณีไม่อยู่ภายใต้บังคับของข้อ 14 วรรคหนึ่งและวรรคสอง
สถานภาพการเป็นผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีของผู้คัดค้านถูกถอนและปริญญาบัตรที่ออกให้แก่ผู้คัดค้านได้ถูกยกเลิกตามประกาศมหาวิทยาลัยแล้วการถอนสภาพการเป็นผู้สำเร็จการศึกษาและยกเลิกปริญญาบัตรดังกล่าวย่อมมีผลตราบเท่าที่ยังไม่มีการเพิกถอนหรือสิ้นผลลงโดยเรื่องเวลาหรือโดยเหตุอื่นตาม พ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ มาตรา 42 วรรคสอง เมื่อไม่ปรากฏว่าการถอนสถานภาพการเป็นผู้สำเร็จการศึกษาและการยกเลิกปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยเป็นการกระทำที่ปราศจากอำนาจหรือมิชอบด้วยกฎหมาย อีกทั้งมหาวิทยาลัยยังไม่ดำเนินการอย่างใดอันอาจมีผลให้การถอนสภาพการเป็นผู้สำเร็จการศึกษาและการยกเลิกปริญญาบัตรได้ถูกเพิกถอนหรือสิ้นผลลง การเพิกถอนสถานภาพการเป็นผู้สำเร็จการศึกษาและการยกเลิกปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยจึงยังมีผลอยู่ ผู้คัดค้านจึงไม่มีคุณสมบัติเป็นผู้สำเร็จการศึกษาปริญญาตรี
(คำสั่งศาลฎีกา)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 462/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คุณสมบัติผู้สมัครรับเลือกตั้ง: การเป็นสมาชิกพรรคการเมืองต้องต่อเนื่อง 90 วัน
ผู้ร้องยืนยันข้อเท็จจริงและคุณสมบัติของผู้คัดค้านตามคำร้องแล้วว่า ผู้คัดค้านพ้นจากการเป็นสมาชิกพรรคไทยรักไทยเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2547 ผู้คัดค้านจึงมิได้เป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งแต่เพียงพรรคเดียวนับถึงวันสมัครรับเลือกตั้งเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 90 วัน ผู้คัดค้านน่าจะขาดคุณสมบัติเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มาตรา 107 (4) คำร้องของผู้ร้องมิได้เพียงขอให้ศาลฎีกาช่วยตรวจสอบคุณสมบัติของผู้คัดค้านเท่านั้น แต่ขอให้ศาลฎีกาเพิกถอนการรับสมัครเลือกตั้งของผู้คัดค้านด้วย คำร้องของผู้ร้องจึงมีสภาพเป็นคำร้องตามกฎหมาย ชอบด้วย พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2541 มาตรา 34/1 แล้ว
ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน มาตรา 107 (4) ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งแต่เพียงพรรคเดียวนับถึงวันสมัครรับเลือกตั้งเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 90 วัน เมื่อข้อเท็จจริงน่าเชื่อว่า ผู้คัดค้านเพิ่งส่งหนังสือลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคไทยรักไทยไปถึงพรรคไทยรักไทยในวันที่ 19 ตุลาคม 2547 ผู้คัดค้านสมัครเป็นสมาชิกพรรคชาติไทยเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2547 เมื่อนับแต่วันที่ผู้คัดค้านลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคไทยรักไทยในวันที่ 19 ตุลาคม 2547 ถึงวันที่ผู้คัดค้านสมัครรับเลือกตั้งในวันที่ 10 มกราคม 2548 ผู้คัดค้านจึงเป็นสมาชิกพรรคชาติไทยเพียงพรรคเดียวเป็นเวลาติดต่อกันถึงวันสมัครรับเลือกตั้งน้อยกว่า 90 วัน ผู้คัดค้านจึงขาดคุณสมบัติเป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มาตรา 107 (4)
(คำสั่งศาลฎีกา)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 220/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิการยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาในคดีเลือกตั้ง: ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง vs. ผู้อำนวยการการเลือกตั้ง
การยื่นคำร้องขอให้ศาลฎีกาวินิจฉัยเกี่ยวกับคดีเลือกตั้งตาม พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิ พ.ศ. 2541 นั้น มีได้ 2 กรณี คือ กรณีที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาผู้ใดไม่มีชื่อเป็นผู้สมัครในประกาศของผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งผู้สมัครผู้นั้นมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลฎีกาวินิจฉัยสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของตนได้ตามมาตรา 34 วรรคหนึ่ง และกรณีที่ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งได้ประกาศรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาแล้ว แต่ต่อมาปรากฏหลักฐานว่าผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้หนึ่งผู้ใด ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งดังกล่าวมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลฎีกาเพิกถอนการสมัครรับเลือกตั้งของผู้สมัครผู้นั้นได้ตามมาตรา 34/1 วรรคหนึ่ง
การที่ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งยื่นคำร้องขอให้ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พ. มีคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการที่ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งไม่ดำเนินการสืบสวนสอบสวนและยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาเพื่อให้มีคำวินิจฉัยคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัคร รับเลือกตั้งของ พ. ตามที่ผู้ร้องขอให้ตรวจสอบ เป็นคำร้องที่ไม่ต้องด้วยมาตรา 34 วรรคหนึ่ง และมาตรา 34/1 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2541 ผู้ร้อง จึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาเพื่อให้มีคำวินิจฉัยได้