คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.พ. ม. 151 วรรคหนึ่ง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 16 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4854/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าธรรมเนียมศาลต้องคืนเมื่อศาลอุทธรณ์ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและให้ดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่
จำเลยอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นโดยชำระค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์และค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นเพื่อให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาและมีคำพิพากษาหรือคำสั่งใหม่ และยกอุทธรณ์ของจำเลยโดยไม่ได้วินิจฉัยประเด็นแห่งอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์จึงต้องคืนค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์ทั้งหมดให้แก่จำเลยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 151 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1619/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลแขวง: ทุนทรัพย์เกิน 3 แสนบาท ทำให้ศาลต้องไม่รับฟ้อง
เขตอำนาจของศาลแขวงในส่วนคดีแพ่งมีบัญญัติไว้ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 17 ประกอบมาตรา 25 (4) ว่ามีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งซึ่งราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจำนวนเงินที่ฟ้องไม่เกินสามแสนบาท คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องและมีคำขอบังคับให้จำเลยทั้งสองรับผิดชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 300,000 บาท รวมทั้งเรียกดอกเบี้ยนับแต่วันกระทำละเมิดถึงวันฟ้องและนับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งสองจะชำระเสร็จ จำนวนเงินที่ฟ้องอันถือเป็นทุนทรัพย์ที่โจทก์เรียกร้องในศาลชั้นต้นย่อมต้องรวมถึงดอกเบี้ยนับแต่วันกระทำละเมิดจนถึงวันฟ้องด้วย ซึ่งเมื่อคำนวณค่าเสียหายรวมดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องแล้วคดีนี้มีทุนทรัพย์ที่โจทก์เรียกร้องมาเกินกว่าสามแสนบาท จึงเกินอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลแขวงที่จะพิจารณาพิพากษาได้ตามบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าวซึ่งศาลชั้นต้นต้องสั่งไม่รับฟ้อง การที่ศาลชั้นต้นรับฟ้องและพิจารณาพิพากษาคดีจึงเป็นการไม่ชอบ
เมื่อคดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและยกคำสั่งศาลชั้นต้นที่รับฟ้องคดีนี้ เป็นผลให้คำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่พิพากษายกฟ้องและให้โจทก์ใช้ค่าทนายความแทนจำเลยทั้งสองถูกลบล้างไป อันเป็นการสั่งไม่รับคำฟ้องของโจทก์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 151 วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้คืนค่าขึ้นศาลทั้งสองศาลและค่าธรรมเนียมใช้แทนแก่โจทก์ชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 874/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำสั่งให้วางหลักประกันเพื่อคัดค้านการบังคับคดี: ศาลฎีกายืนคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ยกอุทธรณ์ และแก้ไขคืนค่าธรรมเนียม
จำเลยยื่นคำร้องขอเพิกถอนการขายทอดตลาด ศาลชั้นต้นเห็นว่ากรณีมีพยานหลักฐานเบื้องต้นแสดงว่าคำร้องไม่มีมูลและยื่นเข้ามาเพื่อประวิงให้ชักช้า จึงมีคำสั่งให้จำเลยหาหลักประกันหรือนำเงินจำนวน 1,620,000 บาท มาวางต่อศาลภายในกำหนด 1 เดือน เพื่อเป็นหลักประกันการชำระค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ แต่จำเลยมิได้ปฏิบัติตามคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้จำเลยหาหลักประกันหรือนำเงินจำนวน 1,620,000 บาท มาวางต่อศาลย่อมเป็นที่สุด ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคห้า (เดิม) จำเลยไม่มีสิทธิอุทธรณ์ฎีกาได้อีก ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยมาเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลยโดยไม่ได้สั่งคืนค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์เป็นการไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 151 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4292/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลในคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา: การคืนค่าขึ้นศาลเมื่อศาลยกฟ้องคดีอาญา
พระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 19 วรรคสอง บัญญัติว่า "ศาลอาญา... มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาทั้งปวงที่มิได้อยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรมอื่น รวมทั้งคดีอื่นใดที่มีกฎหมายบัญญัติให้อยู่ในอำนาจของศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีอาญา แล้วแต่กรณี" และ ป.วิ.อ. มาตรา 40 บัญญัติว่า "การฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาจะฟ้องต่อศาลซึ่งพิจารณาคดีอาญาหรือต่อศาลที่มีอำนาจชำระคดีแพ่งก็ได้..." เมื่อคดีนี้โจทก์ฟ้องเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาต่อศาลอาญาซึ่งเป็นศาลชั้นต้นในคดีนี้ ศาลชั้นต้นย่อมมีอำนาจรับไว้ไต่สวนมูลฟ้องในคดีส่วนอาญา แต่เมื่อศาลชั้นต้นซึ่งมีอำนาจพิจารณาพิพากษาเฉพาะคดีอาญาไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่าคดีไม่มีมูลและพิพากษายกฟ้องคดีส่วนอาญาแล้ว ศาลชั้นต้นย่อมไม่มีอำนาจรับคดีส่วนแพ่งโดยลำพังไว้พิจารณา จึงต้องมีคำสั่งไม่รับฟ้องคดีส่วนแพ่งและคืนค่าขึ้นศาลทั้งหมดให้แก่โจทก์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 151 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9835/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำร้องขัดทรัพย์/ปล่อยทรัพย์สินที่ยึด ถือเป็นคำฟ้อง ต้องเสียค่าขึ้นศาล การยื่นคำร้องซ้ำถือเป็นกระบวนการไม่ถูกต้อง
คำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์สินที่ยึดหรือคำร้องขัดทรัพย์เป็นคำฟ้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 1 (3) ผู้ร้องจึงต้องเสียค่าขึ้นศาลตามทุนทรัพย์ที่เรียกร้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 149 วรรคหนึ่ง การที่ศาลชั้นต้นตรวจคำร้องขัดทรัพย์แล้วมีคำสั่งว่า กรรมสิทธิ์ในห้องชุดเป็นของจำเลย ไม่ได้ตกเป็นของผู้ร้อง ผู้ร้องไม่มีสิทธิขอให้ปล่อยทรัพย์สินที่ยึด ยกคำร้องขอ จึงเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นแห่งคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 131 (2) มีผลเป็นการพิพากษาคดีแล้ว มิใช่เป็นเรื่องที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำร้องขอตาม ป.วิ.พ. มาตรา 18 วรรคสอง กรณีจึงไม่ต้องด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 151 วรรคหนึ่ง ที่จะสั่งคืนค่าธรรมเนียมในศาลชั้นต้นให้แก่ผู้ร้องได้
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องขอแล้ว แทนที่ผู้ร้องจะใช้สิทธิอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้น แต่ผู้ร้องกลับเลือกที่จะยื่นคำร้องขัดทรัพย์ใหม่ จึงเป็นเรื่องที่ผู้ร้องดำเนินกระบวนพิจารณาไม่ถูกต้อง อันเป็นความผิดของผู้ร้องเอง การที่ผู้ร้องอุทธรณ์ขอให้คืนเงินค่าธรรมเนียมศาลครั้งแรกแก่ผู้ร้องนั้น เป็นการอุทธรณ์ในปัญหาเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมแต่อย่างเดียว โดยมิได้ยกเหตุว่า ค่าฤชาธรรมเนียมนั้นมิได้กำหนดหรือคำนวณให้ถูกต้องตามกฎหมาย ดังที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 168 อุทธรณ์ของผู้ร้องจึงต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6927/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ศาลมีอำนาจพิพากษายกฟ้องในชั้นไต่สวนมูลฟ้องได้ หากเห็นว่าคดีไม่มีมูลความผิด
แม้คดีอยู่ในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง ศาลชั้นต้นก็ต้องพิจารณาว่าคดีโจทก์มีมูลพอที่จะประทับฟ้องหรือไม่ แต่เมื่อศาลเห็นว่าการกระทำของจำเลยไม่มีมูลเป็นความผิดก็ชอบที่จะวินิจฉัยและพิพากษายกฟ้องไปได้เลยดังที่บัญญัติไว้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 167 ซึ่งศาลชั้นต้นได้ไต่สวนพยานหลักฐานโจทก์แล้ววินิจฉัยการกระทำของจำเลยทั้งหกตามที่โจทก์บรรยายฟ้องอันเป็นประเด็นแห่งคดี โดยเห็นว่าจำเลยทั้งหกไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้อง คดีโจทก์ไม่มีมูลที่จะฟ้องร้องให้จำเลยทั้งหกรับผิด จึงพิพากษายกฟ้องและยกคำขอส่วนแพ่ง จึงเป็นกรณีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 131 (2) ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 40 มิใช่คำสั่งไม่รับคำฟ้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 18 ที่จะต้องคืนค่าขึ้นศาลทั้งหมดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 151 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8276/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำสั่งศาลเกี่ยวกับการเพิกถอนการขายทอดตลาดเป็นที่สุดตามกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ทำให้ไม่อุทธรณ์ได้
คดีนี้ เมื่อจำเลยที่ 2 อุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้ยกคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดของจำเลยที่ 1 และที่ 2 และศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า คำสั่งของศาลตาม ป.วิ.พ. ตามมาตรา 309 ทวิ วรรคสอง เป็นที่สุด ย่อมต้องห้ามอุทธรณ์ จึงไม่รับอุทธรณ์ จำเลยที่ 2 จึงยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์ ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 1 ได้วินิจฉัยว่า เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 309 ทวิ วรรคสอง ย่อมเป็นที่สุดตามวรรคสี่ จึงให้ยกคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยที่ 2 จึงมีผลเป็นการที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ยืนตามคำปฏิเสธของศาลชั้นต้นโดยวินิจฉัยถึงเหตุเดียวกัน คำสั่งของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ย่อมเป็นที่สุดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 236 วรรคหนึ่ง จำเลยที่ 2 จึงฎีกาคัดค้านคำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่ได้
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์คำสั่งฉบับลงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2549 โดยมิได้สั่งเกี่ยวกับค่าธรรมเนียมศาลตาม ป.วิ.พ. มาตรา 151 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 832/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอุทธรณ์คำสั่งศาล ต้องวางเงินค่าธรรมเนียมตามคำพิพากษา แม้เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา
บทบัญญัติ ป.วิ.พ. มาตรา 229 ใช้บังคับแก่การอุทธรณ์คำพิพากษาและคำสั่งในทุกกรณี หาได้ใช้บังคับเฉพาะการอุทธรณ์คำพิพากษาและคำสั่งที่เป็นการวินิจฉัยชี้ขาดคดีเท่านั้นไม่ แม้เป็นคำสั่งในระหว่างพิจารณา ผู้อุทธรณ์ก็อยู่ในบังคับต้องนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งมาวางศาลพร้อมกับอุทธรณ์เช่นเดียวกัน ดังนั้น การที่จำเลยที่ 3 อุทธรณ์ของคำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีซึ่งเป็นคำสั่งในระหว่างพิจารณาเท่ากับขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 5 มีคำพิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและทำการสืบพยานจำเลยทั้งสามต่อไป การอุทธรณ์เช่นนี้ย่อมมีผลกระทบต่อคำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยตรง จำเลยที่ 3 จึงต้องนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตามคำพิพากษามาวางศาลพร้อมกับอุทธรณ์ตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว เมื่อจำเลยที่ 3 ไม่นำเงินค่าธรรมเนียมดังกล่าวมาวางพร้อมกับอุทธรณ์ อุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 จึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 มา ก็ไม่มีผลทำให้อุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายกลับเป็นอุทธรณ์ที่ชอบด้วยกฎหมายไปได้
การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 ย่อมจะต้องอยู่ในบังคับ ป.วิ.พ. มาตรา 151 วรรคหนึ่ง ที่จะต้องคืนค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์ให้แก่จำเลยที่ 3 ทั้งหมด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 699/2549 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรวมฟ้องหนี้หลายสัญญา การแยกฟ้องที่ไม่ชอบ และการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่เป็นธรรม
โจทก์ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ปฏิเสธไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์เนื่องจากเป็นอุทธรณ์คำสั่งระหว่างพิจารณา ศาลอุทธรณ์ภาค 2 มีคำสั่งยืนคำสั่งของศาลอุทธรณ์ภาค 2 ย่อมเป็นที่สุดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 236 วรรคหนึ่ง
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินบัญชีจำนวน 2 ฉบับ ซึ่งจำเลยใช้สัญญาบัญชีเดินสะพัด และสัญญาขายลดตั๋วสัญญาใช้เงินรวมกันมากับให้จำเลยชำระค่าเบี้ยประกันภัยทรัพย์ที่จำนองซึ่งโจทก์ชำระแทนจำเลยไปก่อน และมีคำขอให้บังคับจำนองแก่ทรัพย์ที่จำเลยนำมาจดทะเบียนจำนองเป็นประกันหนี้ดังกล่าวข้างต้น ซึ่งตามสำเนาสัญญาจำนอง ระบุว่า จำนองเพื่อเป็นประกันหนี้ของจำเลยซึ่งเป็นหนี้ผู้รับจำนองอยู่ในเวลานี้หรือในเวลาใดเวลาหนึ่งต่อไปในภายหน้า โดยไม่ได้แบ่งแยกว่าทรัพย์รายใดประกันหนี้ประเภทใดเป็นจำนวนเท่าใด การที่ศาลจะพิพากษาบังคับจำนองได้หรือไม่เพียงใด จำต้องพิจารณาก่อนว่ามูลหนี้ตามสัญญาแต่ละฉบับเมื่อรวมกันแล้วมียอดหนี้เป็นจำนวนเท่าใด มูลหนี้ที่โจทก์นำมาฟ้องในคดีนี้จึงเกี่ยวข้องกันพอที่จะรวมพิจารณาเข้าด้วยกันได้ โจทก์จึงชอบที่จะนำมูลหนี้ตามสัญญาทุกฉบับมารวมกันเป็นจำนวนทุนทรัพย์ที่เรียกร้องฟ้องเป็นคดีเดียวกันและชำระค่าขึ้นศาลตามจำนวนทุนทรัพย์ที่เรียกร้องในอัตราสูงสุดตามตาราง 1 ท้าย ป.วิ.พ. ข้อ (1) ก. ได้
การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โจทก์แยกฟ้องข้อหากู้เบิกเงินเกินบัญชีและขายลดตั๋วสัญญาใช้เงินออกเป็นแต่ละคดี กับให้เสียค่าขึ้นศาลตามรายคดีที่แยกฟ้องโดยอ้างเหตุผลว่าการรวมพิจารณาข้อหาเหล่านี้เข้าด้วยกันจะเป็นการไม่สะดวกโดยศาลชั้นต้นไม่ได้ฟังคู่ความทุกฝ่ายก่อนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 29 วรรคสอง และมีผลให้โจทก์ต้องเสียค่าขึ้นศาลเพิ่มขึ้นโดยโจทก์ไม่ควรจะต้องเสีย จึงเป็นกระบวนการพิจารณาที่ไม่ชอบ มีผลทำให้กระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นตั้งแต่การสั่งให้โจทก์แยกฟ้องแต่ละข้อหาออกเป็นแต่ละคดี กับให้โจทก์เสียค่าขึ้นศาลเป็นรายคดีที่แยกฟ้อง รวมทั้งการที่ศาลชั้นต้นอาศัยเหตุที่โจทก์ไม่ดำเนินการแยกฟ้องตามคำสั่งศาลดังกล่าวแล้วมีคำสั่งว่าโจทก์ทิ้งฟ้อง ให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบไปด้วย
เมื่อโจทก์ยื่นอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์เพราะเป็นอุทธรณ์คำสั่งระหว่างพิจารณา ศาลชั้นต้นก็ชอบที่จะมีคำสั่งให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ให้แก่โจทก์ การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับและศาลอุทธรณ์ภาค 2 ก็มิได้แก้ไขมานั้น จึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติของ ป.วิ.พ. มาตรา 151 วรรคหนึ่ง ปัญหาที่ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาโดยไม่ชอบดังกล่าวมานั้น เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. ในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรมและเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้โจทก์จะไม่ได้ยกขึ้นกล่าวอ้างในชั้นฎีกา แต่เมื่อความปรากฏแก่ศาลฎีกา ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจหยิบยกปัญหาดังกล่าวขึ้นวินิจฉัย และเห็นสมควรที่จะให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาเสียใหม่ให้ถูกต้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243 (2) ประกอบมาตรา 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5929/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ทุนทรัพย์ในชั้นฎีกาจำกัด, ศาลคืนค่าขึ้นศาล, ประเด็นค่าเสียหายเกินคำขอไม่ฟัง
แม้โจทก์ทั้งสี่ร่วมกันเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคู่ความในคดีเดียวกันเพราะโจทก์ทั้งสี่มีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 59 ก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาถึงข้ออ้างที่โจทก์ทั้งสี่ยกขึ้นเป็นหลักแห่งข้อหา เป็นเรื่องที่โจทก์แต่ละคนต่างใช้สิทธิเฉพาะตัว และเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายเฉพาะตัวของโจทก์แต่ละคนการพิจารณาทุนทรัพย์ว่าต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคหนึ่ง จึงต้องพิจารณาทุนทรัพย์พิพาทกันในชั้นฎีกาของโจทก์แต่ละคนแยกกัน หาใช่คิดทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาของโจทก์ทุกคนรวมกันไม่ เมื่อทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาสำหรับโจทก์แต่ละคนไม่เกิน 200,000 บาท และจำเลยทั้งสองฎีกาในประเด็นค่าเสียหาย เป็นการโต้เถียงดุลพินิจ เป็นฎีกาในข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามฎีกาตามบทกฎหมายดังกล่าวข้างต้น
การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่าการปลูกสร้างอาคารสูงของจำเลยทั้งสอง เป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสี่ได้รับความเสียหายและเดือดร้อนอย่างแสนสาหัส และมีคำขอท้ายฟ้องด้วยว่า การกระทำของจำเลยเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นการละเมิดต่อโจทก์ทั้งสี่ ดังนี้ แม้ตามคำขอจะมิได้มีข้อความระบุโดยชัดแจ้งเรื่องค่าทดแทน แต่การกระทำของจำเลยทั้งสองทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย หรือเดือดร้อนเกินที่ควรคิดหรือคาดหมายได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1337 มาด้วยก็ตาม ก็พอถือได้ว่ามีประเด็นพิพาทเรื่องค่าทดแทนความเสียหาย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1337 ด้วย
คดีมีทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกาเพียง 465,000 บาท เมื่อศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงประเด็นค่าเสียหายจำนวน 340,000 บาท จึงต้องสั่งคืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาให้แก่จำเลยทั้งสองผู้ฎีกา ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 151 วรรคหนึ่ง
of 2