คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.ยกเว้นความผิดทางอาญาให้แก่ผู้นำอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน หรือวัตถุระเบิด ที่ไม่ได้รับอนุญาตหรือที่กฎหมายห้ามออกใบอนุญาต มามอบให้แก่ทางราชการ พ.ศ.2546 ม. 3 วรรคหนึ่ง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 3 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 711/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ยกเว้นความผิดอาวุธปืนตาม พรบ. ยกเว้นความผิดอาญา แต่ยังมีความผิดฐานพาอาวุธปืน
ขณะเกิดเหตุในคดีนี้ ได้มี พ.ร.บ.ยกเว้นความผิดทางอาญาให้แก้ผู้นำอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน หรือวัตถุระเบิด ที่ไม่ได้รับอนุญาตหรือที่กฎหมายห้ามออกใบอนุญาต มามอบให้แก่ทางราชการฯ ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 17 ตุลาคม 2546 โดยมาตรา 3 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ถ้าได้นำอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน หรือวัตถุระเบิดดังกล่าวมามอบให้แก่นายทะเบียนท้องที่ภายในกำหนดหกสิบวันนับแต่วันที่ พ.ร.บ. นี้ใช้บังคับ ให้ผู้นั้นได้รับยกเว้นจากความผิดทางอาญาตามกฎหมายว่าด้วยอาวุธปืนฯ แม้ขณะถูกจับกุมไม่ปรากฏว่าจำเลยจะนำอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนของกลางไปมอบให้แก่นายทะเบียนท้องที่ก็ตาม แต่เมื่อขณะเกิดเหตุในคดีนี้เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2546 ยังอยู่ในระยะเวลาที่จำเลยจะนำอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไปมอบให้แก่นายทะเบียนท้องที่ได้ จำเลยย่อมได้รับยกเว้นความผิดเฉพาะความผิดฐานมีอาวุธปืนตาม พ.ร.บ. ดังกล่าว แต่สำหรับความผิดฐานพาอาวุธปืนนั้น เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยจะนำอาวุธและเครื่องกระสุนปืนของกลางไปมอบให้แก่นายทะเบียนท้องที่ ย่อมถือว่าจำเลยพาอาวุธปืนของกลางติดตัวไปโดยไม่มีเหตุสมควร และไม่เป็นกรณีที่ต้องมีติดตัวเมื่อมีเหตุจำเป็นและเร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์ จำเลยจึงมีความผิดฐานพาอาวุธปืน ซึ่งเป็นความผิดทั้งตาม พ.ร.บ. อาวุธปืนฯ มาตรา 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง และ ป.อ. มาตรา 371

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 692/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ พ.ร.บ. ยกเว้นความผิดอาญาเกี่ยวกับอาวุธปืนและการพาอาวุธปืนโดยไม่มีเหตุสมควร
ขณะเกิดเหตุในคดีนี้ ได้มี พ.ร.บ. ยกเว้นความผิดทางอาญาให้แก่ผู้นำอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน หรือวัตถุระเบิด ที่ไม่ได้รับอนุญาตหรือที่กฎหมายห้ามออกใบอนุญาตมามอบให้แก่ทางราชการ พ.ศ. 2546 ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 17 ตุลาคม 2546 โดยมาตรา 3 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติว่า "ผู้ใดมีอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน ถ้าได้นำอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน หรือวัตถุระเบิดดังกล่าวมามอบให้แก่นายทะเบียนท้องที่ภายในกำหนดหกสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ผู้นั้นได้รับยกเว้นจากความผิดทางอาญาตามกฎหมายว่าด้วยอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน และกฎหมายว่าด้วยการควบคุมยุทธภัณฑ์" แม้ขณะถูกจับกุมไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยจะนำอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนของกลางไปมอบให้แก่นายทะเบียนท้องที่ตามที่โจทก์ฎีกาก็ตาม แต่เมื่อขณะเกิดเหตุยังอยู่ในระยะเวลาที่จำเลยจะนำอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนของกลางไปมอบให้นายทะเบียนท้องที่ได้ จำเลยย่อมได้รับยกเว้นความผิดเฉพาะความผิดฐานมีอาวุธปืนตามพระราชบัญญัติดังกล่าว แต่สำหรับความผิดฐานพาอาวุธปืนนั้น เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยจะนำอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนของกลางไปมอบให้แก่นายทะเบียนท้องที่ ย่อมถือว่าจำเลยพาอาวุธปืนของกลางติดตัวไปโดยไม่มีเหตุสมควร และไม่เป็นกรณีที่ต้องมีติดตัวเมื่อมีเหตุจำเป็นและเร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์ จำเลยจึงมีความผิดฐานพาอาวุธปืน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3865/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ พ.ร.บ.ยกเว้นความผิดอาญาอาวุธปืน: จำเลยอยู่ในระยะเวลาที่สามารถมอบอาวุธปืนได้ จึงได้รับยกเว้นความผิด
ขณะเกิดเหตุในคดีนี้ได้มี พ.ร.บ.ยกเว้นความผิดทางอาญาให้แก่ผู้นำอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน หรือวัตถุระเบิด ที่ไม่ได้รับอนุญาตหรือที่กฎหมายห้ามออกใบอนุญาตมามอบให้แก่ทางราชการฯ ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 17 ตุลาคม 2546 โดยมาตรา 3 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าวกำหนดให้นำวัตถุต้องห้ามดังกล่าวมามอบให้แก่นายทะเบียนท้องที่ภายในกำหนดหกสิบวันนับแต่วันที่ พ.ร.บ.นี้ใช้บังคับแล้ว ให้ผู้นั้นได้รับยกเว้นจากความผิดทางอาญาตามกฎหมายว่าด้วยอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน และกฎหมายว่าด้วยการควบคุมยุทธภัณฑ์ ดังนั้น เมื่อจำเลยมีอาวุธปืนและกระสุนปืนของกลางไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2546 ซึ่งยังอยู่ในระยะเวลาที่จำเลยจะนำอาวุธปืนและกระสุนปืนของกลางไปมอบให้แก่นายทะเบียนท้องที่ได้ จำเลยย่อมได้รับยกเว้นความผิดในความผิดฐานมีอาวุธปืน ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225