คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ม. 66 วรรคสอง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 74 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15397/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแบ่งยาเสพติดจากจำนวนเดิมเพื่อจำหน่าย ไม่ถือเป็นความผิดต่างกรรม
ยาเสพติดให้โทษที่จำเลยนำมาเพื่อจำหน่าย 20 เม็ด เป็นจำนวนเดียวกันกับที่จำเลยมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย 141 เม็ด การที่จำเลยแบ่งแยกออกมาจากจำนวนเดียวกันเพื่อนำไปจำหน่ายโดยยังไม่มีการจำหน่ายนั้น เป็นเจตนาเดียวกับที่จำเลยมีอยู่เดิมแล้ว ไม่ทำให้การกระทำของจำเลยเป็นการครอบครองยาเสพติดให้โทษเพื่อจำหน่ายอีกกรรมหนึ่งต่างหาก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14087/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลในการแก้ไขโทษหลังคดีถึงที่สุด: ผลของ พ.ร.บ.ล้างมลทิน และข้อยกเว้น ป.วิ.อ. มาตรา 190
ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาถึงที่สุดเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2550 ว่าจำเลยที่ 1 มีความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2), 66 วรรคสอง จำคุก 7 ปี และปรับ 400,000 บาท เพิ่มโทษกึ่งหนึ่งเป็นจำคุก 10 ปี 6 เดือน และปรับ 600,000 บาท ลดโทษให้กึ่งหนึ่งคงจำคุก 5 ปี 3 เดือน และปรับ 300,000 บาท ต่อมาวันที่ 4 มิถุนายน 2551 จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องว่าจำเลยที่ 1 ได้รับประโยชน์ตาม พ.ร.บ.ล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550 จึงไม่อาจเพิ่มโทษจำเลยที่ 1 ได้นั้น เห็นว่า คดีนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษและเพิ่มโทษจำเลยที่ 1 จนคดีถึงที่สุดแล้ว จึงไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงแก้ไขการเพิ่มโทษในคดีหลังได้ และเมื่อศาลอ่านคำพิพากษาจนคดีถึงที่สุดแล้ว ศาลนั้นจะแก้ไขคำพิพากษาเกี่ยวกับการเพิ่มโทษหาได้ไม่ เพราะไม่ใช่การแก้ไขถ้อยคำที่เขียนหรือพิมพ์ผิดพลาดซึ่งขัดต่อ ป.วิ.อ. มาตรา 190 และกรณีดังกล่าวไม่ต้องด้วยบทบัญญัติแห่ง ป.อ. มาตรา 3 (1) ที่จะทำให้ศาลมีอำนาจยกคดีขึ้นพิจารณาและพิพากษาใหม่ได้
(ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 13/2553)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12534/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การครอบครองยาเสพติดเพื่อจำหน่าย: การส่งมอบสมบูรณ์แม้ผู้รับถูกควบคุมตัว
จำเลยกับ พ. มีเจตนาที่จะกระทำความผิดทางอาญาโดยร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายจึงสั่งซื้อและชำระเงินจำนวน 7,000 บาท ให้แก่ จ. ผู้ขาย แต่ จ. ยังไม่สามารถส่งมอบเมทแอมเฟตามีนให้เพราะยังไม่มี จึงผัดว่าจะส่งมอบเมทแอมเฟตามีนให้ในภายหลัง โดย จ. จะนำแมทแอมเฟตมีนตามีนไปซุกซ่อนไว้ที่มาตรวัดน้ำประปาหน้าบ้านเช่าที่จำเลยกับ พ. เคยไปรับแมทแอมเฟตามีนกันมาก่อน จำเลยจึงลงมือกระทำความผิดไปตลอดแล้ว และการที่ จ. ได้นำเมทแอมเฟตามีนที่สั่งซื้อไว้ไปซุกซ่อนที่มาตรวัดน้ำประปาหน้าบ้านเช่าและโทรศัพท์มาแจ้งแก่จำเลยกับ พ. ให้จำเลยกับ พ. ไปเอาได้ เจ้าพนักงานตำรวจจึงนำจำเลยกับ พ. ไปยังสถานที่ดังกล่าวและยึดเมทแอมเฟตามีนจำนวน 60 เม็ด ที่ซุกซ่อนไว้เป็นของกลาง ถือว่าการส่งมอบแมทแอมเฟตามีนให้แก่จำเลยกับ พ. มีผลสมบูรณ์เป็นความผิดสำเร็จตั้งแต่ จ. แจ้งให้จำเลยกับ พ. ทราบว่าได้นำเมทแอมเฟตามีนของกลางไปซุกซ่อนที่มาตรวัดน้ำประปานั้นแล้ว แม้ขณะที่ จ. แจ้งให้ทราบนั้น จำเลยกับ พ. ถูกเจ้าพนักงานตำรวจควบคุมตัวอยู่ ก็ไม่มีผลทำให้จำเลยกับ พ. ไม่สามารถครอบครองเมทแอมเฟตามีนของกลางได้แต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7295/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาต้องห้าม: โต้เถียงข้อเท็จจริงใหม่หลังรับสารภาพขัด พ.ร.บ.วิธีพิจารณาความแพ่ง/อาญา
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในข้อหาความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จำนวน 6 ซอง น้ำหนักสุทธิ 6.859 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 6.655 กรัม ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย โดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย อันต้องด้วยบทกำหนดโทษตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 66 วรรคสอง ที่มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงจำคุกตลอดชีวิตและปรับตั้งแต่สี่แสนบาทถึงห้าล้านบาท ซึ่งข้อหาความผิดตามฟ้องมิใช่เป็นคดีที่มีอัตราโทษอย่างต่ำจำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไป หรือโทษสถานที่หนักกว่านั้น เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพในชั้นพิจารณา โดยไม่ปรากฏว่าคำให้การรับสารภาพของจำเลยไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไร และไม่ปรากฏข้อเท็จจริงต่อศาลชั้นต้นว่าจำเลยมิได้กระทำผิด หรือการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามฟ้องหรือมีเหตุอื่นตามกฎหมายที่จำเลยไม่ควรต้องรับโทษตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง ศาลชั้นต้นย่อมพิพากษาลงโทษจำเลยตามฟ้องโดยไม่สืบพยานหลักฐานต่อไปได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง และข้อเท็จจริงย่อมรับฟังเป็นยุติได้ว่าจำเลยมีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ฎีกาของจำเลยที่ว่า เมทแอมเฟตามีนของกลางไม่สามารถนับได้เป็นจำนวนหน่วยการใช้และโจทก์ไม่นำสืบจึงต้องฟังเป็นคุณว่าจำเลยมีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อเสพ จึงเป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงเป็นอย่างอื่นนอกจากที่จำเลยให้การรับสารภาพ และเป็นการฎีกาข้อเท็จจริงขึ้นมาใหม่ มิใช่ข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ จึงเป็นฎีกาที่ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 15 แม้ผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อนุญาตให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลฎีกาก็ไม่มีอำนาจรับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7007/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ บทสันนิษฐานเด็ดขาดการครอบครองยาเสพติดเพื่อจำหน่าย, อายุความความผิดปรับ, และการแก้ไขคำพิพากษา
ยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จำนวน 15 เม็ด ของกลางเป็นแอมเฟตามีนหรืออนุพันธ์แอมเฟตามีนที่ผสมอยู่จำนวน 15 หน่วยการใช้ มีน้ำหนักรวม 4.480 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 1.457 กรัม กรณีต้องด้วย พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2) ที่บัญญัติว่า "การผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ตามปริมาณดังต่อไปนี้ ให้ถือว่า เป็นการผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย... (2) แอมเฟตามีนหรืออนุพันธ์แอมเฟตามีนมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ตั้งแต่สามร้อยเจ็ดสิบห้ามิลลิกรัมขึ้นไป..." ซึ่งเป็นบทสันนิษฐานเด็ดขาด แม้ทางนำสืบของโจทก์จะได้ความเพียงว่า มีผู้แจ้งว่าจำเลยจำหน่ายยาเสพติดให้โทษโดยไม่มีพยานหลักฐานอื่นที่ส่อแสดงว่าจำเลยมีพฤติการณ์จำหน่ายยาเสพติดให้โทษก็ตาม จำเลยก็มีความผิดฐานมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย
ข้อหาความผิดตาม ป.อ. มาตรา 371 มีระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งร้อยบาท มีอายุความ 1 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 95 (5) คดีนี้จำเลยกระทำความผิดเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2545 นับถึงวันฟ้องคือวันที่ 16 มกราคม 2547 คดีของโจทก์ในความผิดดังกล่าว จึงเป็นอันขาดอายุความ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไป ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (6) ชอบที่ศาลจะต้องยกฟ้องโจทก์สำหรับความผิดดังกล่าว ปัญหาข้างต้นเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง ประกอบ มาตรา 215, 225
ศาลชั้นต้นลงโทษปรับจำเลยเกินแปดหมื่นบาท โดยพิพากษาว่าไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตาม ป.อ. มาตรา 29, 30 แต่มิได้ระบุให้กักขังเกิน 1 ปี หรือไม่ เช่นนี้จะกักขังเกิน 1 ปี ไม่ได้ ศาลฎีกาเห็นสมควรระบุในคำพิพากษาให้ชัดเจน เพื่อไม่ให้มีปัญหาในชั้นบังคับตามคำพิพากษา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15002/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ องค์ประกอบความผิดยาเสพติด, การบรรยายฟ้อง, การล้างมลทิน, และอำนาจแก้ไขปรับบทของศาลฎีกา
โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าเมทแอมเฟตามีนมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้เท่าใด จึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ฯ มาตรา 66 วรรคสอง ซึ่งบัญญัติว่า เมทแอมเฟตามีนดังกล่าวจะต้องมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ตั้งแต่ 375 มิลลิกรัม กรณีจึงไม่อาจลงโทษจำเลยตามมาตรา 66 วรรคสองได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง เพราะเกินคำขอและมิได้กล่าวในฟ้อง จึงต้องลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ฯ มาตรา 66 วรรคหนึ่ง
โจทก์มีคำขอให้เพิ่มโทษจำเลยเนื่องจากจำเลยเคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดของศาลชั้นต้นให้ลงโทษจำคุก 6 เดือน ฐานลักทรัพย์ เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2545 และจำเลยได้กระทำความผิดในขณะที่มีอายุเกินกว่า 17 ปี จำเลยพ้นโทษคดีดังกล่าวไปแล้ว ภายในเวลาห้าปีนับแต่วันพ้นโทษ จำเลยกลับมากระทำความผิดในคดีนี้ขึ้นอีกนั้น เนื่องจากในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ได้มี พ.ร.บ.ล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา ฯ ใช้บังคับ และบทบัญญัติมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ. ดังกล่าวให้ล้างมลทินให้แก่บรรดาผู้ต้องโทษในกรณีความผิดต่าง ๆ ซึ่งได้กระทำก่อนหรือในวันที่ 5 ธันวาคม 2550 และได้พ้นโทษไปแล้วก่อนหรือในวันที่ พ.ร.บ. ดังกล่าวใช้บังคับ (วันที่ 5 ธันวาคม 2550) โดยให้ถือว่าผู้นั้นมิได้เคยถูกลงโทษในกรณีความผิดนั้น ๆ ดังนั้นเมื่อความผิดที่ศาลชั้นต้นจำคุกจำเลยที่โจทก์อาศัยเป็นเหตุขอให้เพิ่มโทษ จำเลยได้พ้นโทษไปก่อนวันที่ พ.ร.บ. ข้างต้นใช้บังคับ จำเลยย่อมได้รับประโยชน์ตามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ. ดังกล่าว จึงเพิ่มโทษจำเลยไม่ได้ ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1901/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแบ่งกรรมและบทลงโทษคดียาเสพติด: เจตนา, กรรมเดียว, ความผิดใหม่, และการใช้กฎหมายที่แก้ไขใหม่
การที่จำเลยทั้งสองร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน 20,000 เม็ด ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ เมทแอมเฟตามีน 20,061 เม็ด ที่จำเลยทั้งสองร่วมกันมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย แต่หลังจากที่จำเลยทั้งสองร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน 20,000 เม็ด เสร็จสิ้นไปแล้ว จำเลยทั้งสองยังร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนที่เหลือจากการจำหน่ายอีก 61 เม็ด ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายต่อไป จึงเป็นการกระทำความผิดที่เกิดขึ้นใหม่แยกต่างหากจากกัน คือฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนฐานหนึ่งและฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายอีกฐานหนึ่ง ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความไม่ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจปรับบทให้ถูกต้อง แต่ไม่อาจลงโทษอีกกรรมหนึ่งได้ เพราะจะเป็นการเพิ่มเติมโทษแก่จำเลยทั้งสองโดยโจทก์ไม่ได้ฎีกา ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง, 212 ประกอบมาตรา 225
โจทก์มีคำขอให้ริบรถยนต์และลูกกุญแจรถยนต์ของกลางซึ่งศาลชั้นต้นยกคำขอของโจทก์ เมื่อโจทก์มิได้อุทธรณ์ ปัญหาเรื่องการริบของกลางดังกล่าวย่อมยุติ จึงต้องคืนของกลางแก่เจ้าของตาม ป.วิ.อ. มาตรา 186 (9) ประกอบ มาตรา 215 และ 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4053/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การใช้กฎหมายยาเสพติดที่แก้ไขใหม่กับคดีที่กระทำผิดก่อนการแก้ไข กฎหมายที่ใช้ต้องเป็นคุณแก่จำเลย
ศาลชั้นต้นลงโทษประหารชีวิต ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นจำคุกตลอดชีวิตและปรับ 3,000,000 บาท เป็นการแก้เฉพาะโทษ ซึ่งเป็นกรณีศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขเล็กน้อยและให้ลงโทษจำคุกจำเลยเกินห้าปี คดีต้องห้ามมิให้โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคสอง ที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายเป็นจำนวนมาก และจำเลยให้การรับสารภาพเพราะจำนนต่อหลักฐาน ขอให้ลงโทษประหารชีวิต เป็นฎีกาคัดค้านดุลพินิจในการลงโทษ เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามฎีกาตามบทบัญญัติดังกล่าว
ขณะจำเลยกระทำความผิด การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคสอง (เดิม) ซึ่งต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิตหรือประหารชีวิตตามมาตรา 66 วรรคสอง (เดิม) ต่อมาในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้นมี พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2545 มาตรา 8 และมาตรา 19 ยกเลิกความในมาตรา 5 และมาตรา 66 และให้ใช้ข้อความใหม่ซึ่งแตกต่างจากเดิมโดยมีผลให้การกระทำความผิดของจำเลยเป็นความผิดตามมาตรา 15 วรรคสาม (2) (ที่แก้ไขใหม่) และต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิตและปรับ 1,000,000 บาท ถึง 5,000,000 บาท หรือประหารชีวิต ตามมาตรา 66 วรรคสาม (ที่แก้ไขใหม่) ซึ่งระวางโทษหนักกว่าระวางโทษตามมาตรา 66 วรรคสอง (เดิม) เนื่องจากมีระวางโทษปรับเพิ่มมาด้วย กรณีจึงต้องใช้กฎหมายที่ใช้ในขณะจำเลยกระทำความผิดที่เป็นคุณแก่จำเลยบังคับแก่จำเลยตาม ป.อ. มาตรา 3 การที่ศาลล่างทั้งสองใช้กฎหมายที่แก้ไขใหม่บังคับแก่จำเลยจึงไม่ชอบด้วยบทบัญญัติดังกล่าว แม้คู่ความจะไม่ฎีกาในปัญหานี้และศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยฎีกาของโจทก์เพราะต้องห้ามตามกฎหมายก็ตาม แต่ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5487/2548 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การส่งมอบเฮโรอีนระหว่างผู้กระทำผิดร่วมกัน และการจำหน่ายยาเสพติดต่างประเทศ
จำเลยกับพวกส่งเฮโรอีนมีน้ำหนักสารบริสุทธิ์ 6,000 กรัม ไปให้ อ. โดยมีเจตนาเพื่อที่จะให้ อ. ส่งมอบแก่ลูกค้าผู้ซื้อต่อไป ดังนั้น ระหว่างจำเลยกับ อ. ต้องถือว่าเป็นการส่งมอบเฮโรอีนระหว่างผู้กระทำความผิดด้วยกันเองซึ่งไม่ถือว่าเป็นการจำหน่าย จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานจำหน่ายเฮโรอีน แต่การที่จำเลยส่งเฮโรอีนไปยังบริษัท น. ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อส่งมอบให้ อ. จัดส่งให้แก่ลูกค้าต่อไป แสดงว่าจำเลยมีเจตนาจำหน่ายเฮโรอีนและการกระทำของจำเลยเป็นขั้นตอนสุดท้ายของการดำเนินการส่งมอบเฮโรอีนใกล้ชิดต่อความผิดสำเร็จที่จะเกิดขึ้นถือได้ว่าเป็นการกระทำที่เลยขั้นตระเตรียมการแล้ว จำเลยจึงมีความผิดฐานร่วมกันพยายามจำหน่ายเฮโรอีน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5487/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สมคบกันมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและการพยายามจำหน่าย ศาลตัดสินโทษประหารชีวิต
จำเลยทั้งสองสมคบกันเป็นตัวการร่วมกับพวกกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดโดยร่วมกันมีเฮโรอีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ทั้งเฮโรอีนของกลางมีน้ำหนักสารบริสุทธิ์ถึง 6,000 กรัม ซึ่งเกินกว่า 20 กรัม จึงต้องด้วยข้อสันนิษฐานของกฎหมายโดยเด็ดขาดที่ให้ถือว่าเป็นการมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายอีกด้วย ส่วนความผิดฐานสมคบเป็นตัวการร่วมกับพวกจำหน่ายเฮโรอีนนั้น จำเลยทั้งสองกับพวกส่งเฮโรอีนจำนวนดังกล่าวไปให้แก่ อ. โดยมีเจตนาเพื่อที่จะให้ อ. ส่งมอบเฮโรอีนแก่ลูกค้าผู้ซื้อต่อไป ดังนั้น ระหว่างจำเลยทั้งสองกับ อ. ต้องถือว่าเป็นการส่งมอบเฮโรอีนของกลางระหว่างผู้กระทำความผิดด้วยกันเองซึ่งไม่ถือว่าเป็นการจำหน่าย จำเลยทั้งสองจึงไม่มีความผิดฐานร่วมกันจำหน่ายเฮโรอีน แต่การที่จำเลยทั้งสองร่วมกันส่งเฮโรอีนของกลางไปยังบริษัทบริษัทหนึ่งที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อส่งมอบให้แก่ อ. เพื่อจะจัดส่งให้แก่ลูกค้าต่อไปนั้น แสดงว่าจำเลยทั้งสองมีเจตนาร่วมกันจำหน่ายเฮโรอีน และการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นขั้นตอนสุดท้ายของการดำเนินการส่งมอบเฮโรอีนใกล้ชิดต่อความผิดสำเร็จที่จะเกิดขึ้น ถือได้ว่าเป็นการกระทำที่เลยขั้นตระเตรียมการแล้ว จำเลยทั้งสองจึงมีความผิดฐานร่วมกันพยายามจำหน่ายเฮโรอีนจำนวนเดียวกับที่ร่วมกันมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายนั้นอีกฐานหนึ่งด้วย แต่ความผิดฐานสมคบกันกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ความผิดฐานร่วมกันมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และความผิดฐานร่วมกันพยายามจำหน่ายเฮโรอีนเป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษในความผิดฐานร่วมกันมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90
of 8