คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน พ.ศ.2515 (3)

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 5 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5738-5742/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าบริการไม่ใช่ค่าจ้าง, ค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย, การคำนวณค่าจ้างและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า
โจทก์ที่ 2 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ได้รับค่าอาหารเดือนละ 600 บาท ซึ่งจ่ายเท่ากันเป็นประจำทุกเดือนนอกเหนือจากเงินเดือน ค่าอาหารจึงเป็นค่าจ้าง ส่วนค่าบริการเป็นเงินที่จำเลยที่ 1 เรียกเก็บจากลูกค้าที่มาใช้บริการในอัตราร้อยละ 10 จำเลยที่ 1 หักเป็นเงินสวัสดิการพนักงานไว้ร้อยละ 22 ส่วนที่เหลือนำมาแบ่งให้พนักงาน เงินค่าบริการจึงเป็นเงินของลูกค้าที่มาใช้บริการ ไม่ใช่เงินที่จำเลยที่ 1 จ่ายตอบแทนการทำงานของพนักงานผู้เป็นลูกจ้าง แม้จำเลยที่ 1 จะหักเงินค่าบริการไว้ร้อยละ 22 เป็นสวัสดิการพนักงานก็ไม่ทำให้เงินค่าบริการกลายเป็นเงินที่จำเลยที่ 1 จ่ายตอบแทนการทำงานของพนักงาน เงินค่าบริการจึงไม่ใช่ค่าจ้าง นำมาเป็นฐานคำนวณค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าไม่ได้ ดังนั้น ค่าจ้างของโจทก์ที่ 1 และที่ 3 จึงเท่ากับเงินเดือนที่ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงมา ไม่จำต้องวินิจฉัยต่อไปว่าที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยรวมเงินค่าบริการเข้ากับเงินเดือนของโจทก์ที่ 1 และที่ 3 โดยโจทก์ที่ 1 และที่ 3 ไม่ได้ระบุว่ามีเงินค่าบริการไว้ในคำฟ้อง เป็นการพิพากษาเกินคำขอหรือไม่เพราะไม่ทำให้ผลแห่งคำพิพากษาเปลี่ยนแปลงไป
จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์ทั้งสามเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2541 ซึ่งเป็นวันก่อนที่ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มีผลใช้บังคับ จึงต้องบังคับตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะที่จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์ทั้งสาม เมื่อโจทก์ที่ 1 และที่ 3 ทำงานเป็นลูกจ้างจำเลยที่ 1 ติดต่อกันครบ 3 ปีขึ้นไป จำเลยที่ 1 ต้องจ่ายค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน โจทก์ที่ 2 ทำงานเป็นลูกจ้างจำเลยที่ 1 ติดต่อกันครบ 120 วัน แต่ไม่ครบ 1 ปี จำเลยที่ 1 ต้องจ่ายค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 30 วัน ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 46 (3) (1)